ธรรมดาของโลก จะได้ไม่ต้องโศกสลด
เพราะเราต่างคบกันด้วยผลประโยชน์
ตั้งชื่อแสนจะเรียบร้อยแต่เนื้อหาแสนจะลึกซึ้ง
อย่าบอกใคร
คนเขียนไม่ได้รู้เอง แต่ พระอาจารย์ท่านสอนไว้
พระอภัยได้ปี่สุดสาคร ได้วิชายุทธ
แต่ข้าพเจ้าได้ "วิชามนุษย์"
เอาไว้ป้องกันตัว รู้เท่าทันสันดานคน
เอาไว้ทาแผลรักษายามถูกกัด จะได้ไม่อักเสบเป็นแผลเรื้อรัง
ผิดจากพ้อแม่ของเรา ใครหน้าไหนที่จะคบหาเรา
โดยไม่หวังผล...หาประโยชน์ โปรดอย่าคาดหวัง!
สังคมจมขี้ โดยปัจเจก เพราะติดอบายมุข
มัวเมากินสูบดื่มเสพย์ เที่ยวเตร่เฮฮา เพราะหลงใหลในกามคุณ กองอุจจาระแห่งรูปรสกลิ่นเสียงและสัมผัส
ทำให้แต่ละคนมีจิตวิญญาณอันอ่อนแอยิ่งกว่ากระดาษชำระ
แต่ถ้าโดยองค์รวมมอง ให้กว้างกว่านั้น
ก็เพราะติดโลกธรรม ๘ นั่นเอง
เป็นสูตรตัดเพชร แต่ ไม่ค่อยมีใครเอ่ยกล่าว
เพราะแต่ละคนต่างก็ล้วนติดหนัก
พูดไปก็เหมือนด่าตัวเอง แต่วันนี้ข้าพเจ้าขอกามิกาเซะตัวเอง
แม้ไม่พ้น แต่ก็ขอพ้นประจานสัก ๑ รอบ!
หากนักการเมือง-ผู้นำ ประชาชน มาเรียนรู้โลกธรรมสักเล็กน้อย
มาวิเคราะห์ เจาะลึกสักไม่กี่ชั่วโมง สังคมอาจจะมีโอกาสแล่นฉิว!
ผลประโยชน์ของคนเรา มีทั้งหยาบ มีทั้งละเอียด
มีทั้งเห็นง่าย มีทั้งเห็นยาก
"ลาภ"
เป็นเงินทอง-วัตถุ สิ่งของ
"ยศ"
เป็นตำแหน่งหน้าที่ การงาน
เป็นความอยากใหญ่ อยากโต
"สรรเสริญ"
เป็นความหิวกระหายในชื่อเสียง ในเกียรติยศ ในคำชมในการประจบเอาใจ
"สุข"
ลงคนเราอยากได้ อะไรก็หยุดไม่อยู่ แม้คนอื่นจะเดือดร้อน ก็ไม่นำพา...เข้าทำนอง
"กูพอใจ!"
เราพัฒนาประเทศชาติไป ไม่ถึงไหน
แค่ด่านแรก ก็ติดกัก เพราะต่างก็มีผลประโยชน์
แม้ไม่มีผลประโยชน์ที่เห็นง่าย ก็ยังไขว่คว้าชื่อเสียง
เกียรติยศที่เป็นผลประโยชน์ อันเห็นได้ยากขึ้น
ทำบุญติดป้ายชื่อก็ทำนองนี้แหละ
บุญถึงไม่เต็มเม็ด!
วันนี้เราจึงวัดค่าของคนที่
"ผลประโยชน์"
ให้ประโยชน์มากย่อมมีคุณค่า
มีประโยชน์มากย่อมมีคุณค่า
มีคุณค่า ก็ยิ่งซูฮก พินอบ พิเทา
ยอมเสียเวลาให้
งานศพบางงาน เขาวัดกันที่จำนวนคน
จำนวนพวงหรีด
ไปเพราะคนตายก็มี ไปเพราะคนเป็นก็เยอะ
งานวันเกิดยิ่งเห็นชัด นัดกันเข้าแถวอวยพร
แฮปปี้เบิร์ธเดย์ แม้บ้านอยู่ไกล ก็ต้องบากบั่นไปอวยพร
ผู้ใหญ่บางคนจดชื่อไว้เลย ใครมาเยี่ยม
มาหมอบ แสนสุดปลื้ม ใครไม่มา สุวานจดชื่อ!
"ความจงรักภักดี" วัดกันที่ไหน?
ระดับ "อนุบาล"
เขาวัดกันที่ "สินน้ำใจ" มีข้าวของติดไม้
ติดมือมาเสมอ
เจ้านายระดับต่ำ มักปูนบำเหน็จให้ลูกน้องพรรคนี้เสมอๆ
สร้างความแตกร้าวในหน่วยงาน ก็ไม่รู้ตัว งานเด่น แต่ไม่มีของฝาก ไปไกลๆ
!
ระดับ "ประถม"
เขาวัดกันที่ "การอุทิศเวลา"
เวลาของชีวิต ๑ วัน มีแค่ ๒๔ ชั่วโมง
จะบริจาคเวลาให้เราบ้าง ก็น่าจะดี
วันเกิด-วันตาย-วันป่วย-วันหัวเราะฯลฯ
มักจะมีขบวนการรดน้ำดำหัว มอบกระเช้า มิได้ขาด
เคยโกรธเคยเกลียด แต่ถึงวันสำคัญกลับมารอแต่เช้า
มาอวยพร มาขออโหสิ หากไม่ให้ก็ใจดำเกินไป
เป็นรูปแบบแห่งน้ำใจ เป็นพฤติกรรมแห่งการศิโรราบ
วิธีการนี้ แก้วิกฤติในพรรคในองค์กร
มานักต่อนัก
ใครไม่ไหลตามกระแส ถูกแป
กเป็นไม้บอนไซ
ก็เยอะ! ระดับ "มัธยม" วัดกันที่
"ช่วยแก้ปัญหา"
อยากได้อะไร บอกไป "ได้เลยฮ่ะ!"
เดือดร้อนเรื่องไหน พร้อม ขจัดปัดเป่า-แก้ไข
วิธีการนี้มีหัวใจ ๘ ห้อง ก็ให้เลยทั้ง
๘ ห้อง
จะมีปัญหาก็เมื่อไปเจอขุนนางตงฉิน
ผิดเป็นผิด ถูกเป็นถูก
พรรคพวกไม่เอา เอาแต่ ความถูกต้อง!
คนพวกนี้พรรคพวก ไม่รัก แต่ประชาชนเขารักของเขา
อยากไล่ออกจากพรรค แต่เกรงใจชาวบ้าน!
อยากเจริญก้าวหน้า สิทธิการิยะท่านว่า
ให้ศึกษาปฏิบัติทั้ง ๓ ระดับ ชีวิตทางโลกจะเจริญไม่มีที่สิ้นสุด!
เพราะฉะนั้น ก็อย่าสงสัย ที่สักวันจะต้องตัดสินเปลือกใครอยู่
ใครจะไป
ตัวเล็กก็ต้องไปก่อน คนทำประโยชน์น้อย ก็ต้องคัดออก
ใครที่โวยวาย เสียอกเสียใจ ไม่น่าสงสาร
แต่ชวนสมเพชเสียมากกว่า!
โตๆ กันขนาดนี้ ไยไม่รู้จัก พิษภัยแห่งโลกธรรม
ไยไม่เข้าใจวิธีคิดของมนุษย์ ทำอย่างกับตัวเองเป็นมนุษย์
ต่างดาว!
ระยะทางพิสูจน์ม้า กาลเวลาพิสูจน์คน
เมื่อต้องเลือกคนใดคนหนึ่ง จุดอ่อนที่สุดจึงต้องกำจัดออกไป!
เก่งทุกอย่างแต่คนเชียร์ น้อย
คนเชียร์มากแต่งานไม่เก่ง
งานพอได้แต่อยู่สายนายทุน
งานก็งั้นๆ แต่อยู่สายวังน้ำวน
เก่งดี แต่เป็นคนของเราเหมือนลูกเหมือนหลาน...ฯลฯ
จุดแข็งทุกจุด จุดอ่อนทุกจุด ต้องคำนวณผลได้ผลเสีย
คนเป็นหัวหน้า คงปวดหัวน่าดู ต้องคูณๆ
หารๆ สูตรซับซ้อน คนเป็นลูกน้อง ทำใจให้สบาย หากเจียมตน ก็คงเสียใจไม่เท่าไหร่
วันนี้คนเราชอบพันพัวนัวเนียไม่เลิก
ไม่เพราะรัก ก็เพราะชัง ไม่เพราะชังก็เพราะผลประโยชน์
ก็แค่นี้เอง ไม่ได้ลึกซึ้งอะไร แค่ยอมรับวิธีแห่งมนุษย์ปุถุชน
คนเดินดิน
อยากมีคุณค่า ต้องเพิ่มราคา
ทำตัวให้เป็นประโยชน์
ค่าของคนอยู่ที่ผลประโยชน์ ยิ่งมากก็ยิ่งมีค่า
ใครจะไหว้วาน ใช้ใครทำอะไร ก็ต้องพิจารณาตนให้รอบคอบ
มีประโยชน์แค่ไหน จนถึงกับให้คนอื่นมาใส่ใจ มาเสียเวลา?
พระคุณเจ้าผ่านมาพอดี ท่านให้ข้อคิดสรุปตบท้าย
"ค่าของคนอยู่ที่ผลของความดีนะโยม..."
วงมนุษย์ปุถุชน
จึงแตกกระเจิงด้วยประการฉะนี้!
(เราคิดอะไร
ฉบับที่ ๑๔๒พฤษภาคม ๒๕๔๕)
|