ทรัพย์จริงของชีวิต
แม้มากมี เงินทอง กองท่วมหัว
อย่าหลงตัว มัวเห็น เป็นทรัพย์แท้
แต่หากมี ศีลห้า เข้าท่าแน่
นี่สิแท้ ทรัพย์จริง ของชีวิต
พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ ณ พระเชต-วันมหาวิหาร ทรงเอ่ยถึงพราหมณ์
ผู้ทดลองศีลผู้หนึ่งว่า
ณ แคว้นโกศล พราหมณ์นั้นได้อาศัยพระเจ้าโกศลเลี้ยงชีวิต
เป็นผู้เข้าถึงพระพุทธ-พระธรรม-พระสงฆ์เป็นที่พึ่ง ถือศีล ๕ บริสุทธิ์
โดยศีลไม่ขาด ไม่ทะลุ ไม่ด่างพร้อย ด้วยเหตุแห่งความเป็นผู้มีศีล ๕
ดีแล้วนี่เอง พระราชา จึงทรงยกย่องเป็นอย่างยิ่ง และทรงเชิดชูไว้เนื้อเชื่อใจยิ่งนัก
อยู่มาวันหนึ่ง พราหมณ์นั้นเกิดอาการกิเลสมารมาผจญ
มิจฉาทิฐิลังเลสงสัยขึ้น ด้วยความคิดที่ว่า "พระเจ้าโกศล ทรงยกย่องสรรเสริญเรา
ยิ่งกว่าพราหมณ์คนอื่นๆ ทรงเห็นเราเป็นผู้ควรเคารพอย่างยิ่ง ก็เหตุที่ทรง
ยกย่องเราอย่างนี้ จะเป็นเพราะความมีคุณสมบัติอะไรของเรา เป็นเพราะชาติ
โคตร ตระกูล ศิลปะ หรือศีลของเรา กันแน่ เห็นทีเรา จะต้องทดลองดูให้รู้ความจริง"
ดังนั้นเอง วันหนึ่งเมื่อพราหมณ์เข้าเฝ้าพระราชาเสร็จแล้ว
ขณะจะกลับบ้านของตน ก็ได้หยิบเหรียญกษาปณ์ ทองคำ ไปหนึ่งเหรียญ จากแผงที่เก็บเงินของเหรัญญิก
(เจ้าหน้าที่การเงิน) ในวัง โดยมิได้บอกกล่าวแต่อย่างใดเลย แม้
เห็นๆ อยู่เหรัญญิกนั้นก็ไม่ได้พูดอะไรกับพราหมณ์ คงนั่งเฉยมองดูอยู่
ด้วยความเคารพในพราหมณ์
เช้าวันรุ่งขึ้น พราหมณ์ก็ลงมือกระทำอย่างเดิมอีก
แต่คราวนี้หยิบเพิ่มขึ้นเป็นสองเหรียญทอง เหรัญญิก ก็ยังนั่งมอง ดูเฉย
อยู่อย่างเดิมเช่นกัน
ย่างเข้าวันที่สาม ครั้งนี้พราหมณ์ตัดสินใจหยิบคว้าเหรียญทองไป
เต็มกำมือเลยทีเดียว ทีนี้แหละ เหรัญญิก ก็หมด ความยำเกรงอีกต่อไป
ส่งเสียงดังกับพราหมณ์ทันที "วันนี้เป็นวันที่สามแล้วนะ ที่ท่านฉกชิง
เอาทรัพย์สิน ของพระราชาไป"
แล้วตะโกนเสียงลั่นว่า "ช่วยกันจับโจรชิงทรัพย์ของพระราชาที
ช่วยกันจับโจรเร็วๆ เข้า พราหมณ์นี้เป็นโจร"
ผู้คนในวังจึงพากันแตกตื่น วิ่งมาคนละทิศคนละทางรุมจับพราหมณ์ไว้
แล้วขู่ตะคอกว่า "ท่านแสร้งทำตัว เป็นคนมีศีล มาซะตั้งนาน ที่แท้ก็หลอกลวงผู้คน
ไว้อย่างแนบเนียนเชียว"
ต่างพากันติเตียนว่ากล่าว แล้วจับมัดส่งตัวไปถวายแก่พระราชา
พอพระราชาทรงรับทราบเรื่องแล้ว ก็ทรงเร่าร้อน พระทัย ตรัสถามว่า "ดูก่อนพราหมณ์ก็เพราะเหตุไรเล่า
ท่านจึงกระทำกรรมทุศีลเช่นนี้ได้ เห็นทีเราจะต้อง สั่งลง พระราชอาญา
แก่ท่านแล้ว"
พราหมณ์ได้ฟังดังนั้น ก็รีบกราบทูลโดยเร็ว
"ขอเดชะ ต้นเหตุของเรื่องเป็นเพราะพระองค์ทรงยกย่อง ให้เกียรติ
แก่ข้าพระองค์ เป็นอย่างสูงนั่นเอง ทำให้เกิดความสงสัยว่า พระองค์ทรงยกย่องเพราะเหตุอะไร
ในความมีชาติ โคตร ตระกูล ศิลปะ หรือศีลของข้าพระองค์
ดังนั้นจึงได้ทดลองทำทุศีลเยี่ยงนั้น
และบัดนี้ข้าพระองค์ ก็รู้ได้อย่างชัดเจน แน่นอนแล้ว เพราะการที่พระองค์
ทรงพระกรุณา โปรดให้ลงพระราชอาญา แก่ข้าพระองค์นี่เอง เป็นข้อแสดงได้ว่า
ความยกย่อง ที่พระองค์ ทรงมอบ ให้นั้น เป็นเพราะศีล เพียงอย่างเดียวเท่านั้น
ไม่ใช่เพราะอย่างอื่นเลย"
หยุดชะงักนิดหนึ่ง แล้วตัดสินใจกราบทูลว่า
"ในโลกนี้ศีลเท่านั้นสูงสุด ศีลเป็นประมุข ก็เมื่อข้าพระองค์
ปรารถนา จะทำให้สมบูรณ์ด้วยศีล โดยยังดำรงตนอยู่ในเรือน บริโภคกามกิเลสอยู่
ก็คงไม่อาจกระทำศีล ให้สูงขึ้นได้แน่ ดังนั้น ในวันนี้แหละ ข้าพระองค์จะไปสู่พระวิหารเชตวัน
ขอบรรพชาในสำนักของพระศาสดา ได้โปรดทรงพระกรุณา พระราชทาน การบรรพชาแก่ข้าพระองค์ด้วยเถิด
พระเจ้าข้า"
ครั้นพระราชาทรงทราบความจริงแล้ว
ก็ทรงอนุญาตตามที่ขอ พราหมณ์นั้นจึงถวายกราบบังคมลา ออกมุ่งหน้า ไปสู่พระเชตวัน
มหาวิหารทันที
ข่าวคราวนี้ก็แพร่กระจายไปอย่างรวดเร็ว
เหล่าญาติและเพื่อนพ้องของพราหมณ์ จึงพากันติดตามไปห้อมล้อม ทัดทาน
พราหมณ์นั้นไว้ แต่ก็ไม่สำเร็จ
เมื่อบวชแล้ว พราหมณ์ไม่ทอดทิ้งการบำเพ็ญเพียรเลย
ไม่นานนักก็ได้บรรลุธรรม ได้เป็นพระอรหันต์องค์หนึ่ง
จึงไปเข้าเฝ้า พระบรมศาสดากราบทูลว่า
"ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ
บรรพชาของข้าพระองค์ถึงที่สุดแล้ว"
คำกล่าวแสดงถึงอรหัตผลนี้ จึงไปปรากฏในหมู่ภิกษุสงฆ์
มีการสนทนากันในธรรมสภาว่า "พราหมณ์ผู้อุปัฏฐาก (ผู้รับใช้) พระราชา
เมื่อได้ทดลองศีลของตนแล้ว ก็กราบทูลลา พระราชาออกบวช ได้ดำรงอยู่ในอรหัตผลแล้ว"
พระศาสดาเสด็จผ่านมาได้ยินเข้า ทรงทราบเรื่องแล้วตรัสว่า
"ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย แม้ในกาลก่อน ก็มีบัณฑิต กระทำเยี่ยงนี้
มาแล้วเหมือนกัน"
เหล่าภิกษุทูลอาราธนา พระพุทธองค์จึงทรงนำเรื่องในอดีต
มาตรัสเล่าดังต่อไปนี้
.............................................
ในอดีตกาล เมื่อพระเจ้าพรหมทัต เสวยราชสมบัติอยู่ในกรุงพาราณสี
พราหมณ์ปุโรหิตของพระองค์นั้น เป็นผู้มีจิตใจ
น้อมไปในทาน มีศีลเป็นนิสัย ถือศีล ๕ เป็นปกติ ไม่ขาด ไม่ทะลุ ไม่ด่างพร้อย
พระราชาจึงทรงยกย่อง เคารพท่าน ยิ่งกว่าพราหมณ์ คนอื่นๆ ทั้งหมด
แต่พราหมณ์ก็ยังคงสงสัยในการสรรเสริญของพระราชา
ว่าเป็นไปเพราะเหตุใด จึงได้ทดลอง หยิบเหรียญกษาปณ์ ทองคำไป เรื่องราว
เป็นทำนองเดียวกันนั่นแหละ จนกระทั่งถูกพวกราชบุรุษจับตัวมัดไว้ นำตัวเดินทาง
เข้าเฝ้า พระราชา
ในระหว่างทางนั้น มีพวกหมองู
แสดงอยู่ริมทาง กำลังบังคับงูให้แสดงลีลาอาการต่างๆ บางทีก็จับที่หางงู
จับที่คองู เอางูมาพันที่คอของตนก็มี พราหมณ์เห็นดังนั้น ก็อดไม่ได้ที่จะกล่าวเตือน
"ท่านทั้งหลาย อย่าไปจับงูที่หาง
อย่าจับ ที่คอ อย่าเอางูไปพันไว้ที่คอเลย เพราะหากโดนงูพิษนี้กัดเข้าแล้ว
ก็จะต้องเสียชีวิตแน่"
พวกหมองูอดขำไม่ได้ ย้อนตอบว่า "ท่านพราหมณ์
งูนี้เป็นงูมีศีล สมบูรณ์ด้วยมรรยาท ไม่ได้เป็นผู้ทุศีลอย่างท่าน
ที่หาประพฤติดีไม่ เป็นโจรฉกชิงพระราชทรัพย์ ถูกจับมัดนำตัวไปเยี่ยงนี้
งูพิษตัวนี้ มันไม่ทำร้าย พวกเราหรอก"
ฟังดังนั้นพราหมณ์ยิ่งเกิดปัญญาแจ่มแจ้งว่า
"แม้แต่พวกงูพิษที่ไม่กัดใคร
ไม่เบียดเบียนใคร ก็ยังชื่อว่ามีศีลได้ จะกล่าวไปไย ถึงพวกมนุษย์เล่า
ฉะนั้น ในโลกนี้ศีลเท่านั้นที่ชื่อว่าสูงสุด สิ่งอื่นที่จะยิ่งไปกว่าศีลนั้นไม่มี"
ครั้นพราหมณ์ถูกนำตัวไปอยู่ต่อหน้าพระราชาแล้ว
พระราชาตรัสถามว่า "ท่านพราหมณ์ นี่มันเรื่องอะไรกัน ทำไมท่าน
จึงถูกมัดตัวมาอย่างนี้"
พวกราชบุรุษจึงกราบทูลว่า "ขอเดชะ
พราหมณ์ผู้นี้เป็นโจรฉกชิงพระราชทรัพย์ พระเจ้าข้า"
พระเจ้าพรหมทัตทรงสดับแล้ว แทบไม่เชื่อพระกรรณ(หู)พระองค์เองเลย
แต่ก็ทรงรับสั่งว่า "หากเป็นเช่นนั้นจริง พวกเจ้า ก็จงทำตามพระราชอาญา
แก่พราหมณ์นี้ได้"
พราหมณ์ได้ฟังดังนั้น ก็รีบกราบทูลว่า
"ข้าแต่มหาราช ข้าพระองค์มิใช่โจร พระเจ้าข้า"
แล้วก็เล่าความจริงทั้งหมดให้ทรงทราบ
จนกระทั่งถึงความหมดสงสัย ในการที่พระราชาทรงยกย่องศีลเป็นใหญ่ มิใช่ยกย่องสิ่งอื่นเลย
จึงกราบทูลอีกว่า "ศีลเท่านั้นที่งดงาม
ศีลยอดเยี่ยมในโลก แม้แต่งูใหญ่ ที่มีพิษร้ายแรง หากเป็นสัตว์มีศีลแล้ว
ก็ไม่เบียดเบียนทำร้ายใครๆ เลย
ข้าพระองค์ก็จะสมาทานศีล
ที่บัณฑิตรับรองแล้วว่า เป็นความปลอดภัยในโลก เป็นคุณชาติ อันงาม ที่ทำให้
ผู้ประพฤติ ตามข้อปฏิบัติของพระอริยะนี้แล้ว บัณฑิตเรียกว่า ผู้มีศีล
บุคคลผู้มีศีล ย่อมเป็นที่รัก ของญาติทั้งหลาย ทั้งยังรุ่งเรืองในหมู่มิตร
เมื่อตายไปแล้ว ย่อมเข้าถึงสุคติ(ทางดำเนินไปดี) พระเจ้าข้า"
พราหมณ์ได้ประกาศคุณของศีลแล้ว ก็กราบทูลต่อไปว่า
"ในเรือนของข้าพระองค์มีทรัพย์จำนวนมาก ทั้งที่เป็นของ บิดามารดา
กับที่ทำงานได้มาด้วยตนเอง และทั้งที่พระองค์พระราชทานอีกด้วย แต่ทรัพย์ถึงจะหามาได้
มหาศาล สักเพียงใด ก็ไม่มีความเสร็จสิ้นจบได้เลย
บัดนี้เมื่อข้าพระองค์ทดลองศีลกระทั่งรู้ชัดแจ้งแล้วว่า
ในโลกนี้แม้ไม่มีชาติ โคตร ตระกูล ศิลปะ แต่ก็เป็นเพียง
ภาวะต่ำทราม จะมีก็แต่ศีลเท่านั้นประเสริฐสุด ดังนั้นข้าพระองค์จะออกบวช
ขอให้ทรงอนุญาต ข้าพระองค์ บวชเถิด พระเจ้าข้า"
แม้พระราชาทรงขอร้องแล้วๆ เล่าๆ
พราหมณ์ก็ยืนยันเช่นเดิม จึงจำต้องทรงอนุญาต ให้พราหมณ์ดีใจยิ่งนัก
รีบกลับบ้าน จัดการภารกิจที่ติดพันทั้งปวงให้เสร็จสิ้น แล้วออกเดินทางเพียงลำพัง
แสวงหาที่สงัด เพื่อออกบวช
ขณะที่ผ่านร้านขายเนื้อสัตว์แห่งหนึ่ง
ปรากฏมีเหยี่ยวตัวหนึ่ง บินโฉบเอาชิ้นเนื้อจากร้านนั้นแล้วบินหนีไป
บนท้องฟ้า ทันใดนั้นเอง ก็มีนกตะกรุมฝูงหนึ่ง
พากันตรงเข้าล้อมจิกตีเหยี่ยว ด้วยเล็บเท้าและจะงอยปาก เหยี่ยวนั้น
ไม่อาจ จะทน ต่อความเจ็บปวดทรมานได้ จำต้องปล่อยชิ้นเนื้อทิ้ง แล้วบินหนีไป
นกตะกรุมตัวหนึ่งจึงได้คาบเอาชิ้นเนื้อนั้นไว้
แต่ก็โดนนกตะกรุมตัวอื่นๆ พากันไล่จิกตีอีก จนต้องคายเนื้อ ชิ้นนั้น
ทิ้งบ้าง แล้วนกตัวอื่นๆ ก็พากันแย่งคาบต่อเอาไปอีก แต่ไม่ว่าจะเป็นนกตัวใดได้ชิ้นเนื้อนั้นไป
ก็ต้องถูกนกตัวอื่นๆ ติดตามแย่งชิงอีก หาความสุขสบายไม่ได้เลย เห็นดังนั้น
พราหมณ์ก็เกิดปัญญาขึ้นว่า
"ชิ้นเนื้อหน่อยหนึ่ง หากยังมีอยู่แก่เหยี่ยวเพียงใด
นกตะกรุมทั้งหลายก็จะพากันล้อมจิกอยู่เพียงนั้น โดยไม่ได้ ไปเบียดเบียน
นกตัวที่ไม่มีชิ้นเนื้อเลย
ขึ้นชื่อว่ากามทั้งหลาย
ก็เปรียบดังชิ้นเนื้อ หากใครยึดเอาไว้ ก็จะได้รับทุกข์ทรมาน ต่อเมื่อสละกามออกไปเสีย
ก็จะเป็นสุข ไม่มีความกังวล"
เมื่อออกพ้นจากเขตพระนครแล้ว ก็ตกเย็นพอดี
จึงขอพักนอนอยู่ในเรือนหลังหนึ่ง ซึ่งมีนางทาสี
(ทาสผู้หญิง) ชื่อว่า ปิงคลา
เป็นทาสอยู่ในเรือนนั้น
คืนนั้นเอง....นางปิงคลาได้นัดแนะกับชายหนุ่มคนหนึ่งไว้
เมื่องนางทำงานล้างเท้านายทั้งหลายแล้ว พวกนาย ก็พากัน นอนหลับ พักผ่อนหมดสิ้น
ส่วนนางปิงคลาก็มาเฝ้าคอย นั่งรอการมาของชายหนุ่มอยู่ที่ ธรณีประตู
ด้วยความคิดที่ว่า "ประเดี๋ยวเขาก็มา"
รอจนกระทั่งถึงเที่ยงคืนแล้ว....ถึงใกล้รุ่งก็แล้ว
ชายหนุ่มคนนั้นก็ยังไม่มา ในที่สุดนางก็หมดความหวัง และ ประกอบ กับความง่วง
จึงคิดว่า "เขาคงไม่มาแล้วเป็นแน่"
ตัดสินใจได้อย่างนี้แล้ว นางจึงนอนหลับไป
ซึ่งเหตุการณ์ทั้งหมดนี้ พราหมณ์ได้เฝ้าสังเกตดูอยู่เช่นกัน แล้วได้
พิจารณาว่า
"ผู้ไม่มีความหวังย่อมหลับเป็นสุข
หรือแม้ความหวังมีผลก็เป็นสุข นางทาสีนี้กระทำความหวังจนหมดหวังแล้ว
จึงหลับสบาย ขึ้นชื่อว่าความหวังในกิเลสทั้งหลาย
ย่อมเป็นทุกข์ ส่วนการไม่มีความหวังในกิเลสเท่านั้น ย่อมเป็นสุข"
เช้าแล้วพราหมณ์นั้นจึงออกเดินทางต่อไป
ผ่านเข้าป่าแห่งหนึ่ง ได้เห็นดาบสผู้หนึ่งนั่งเข้าฌาน
(สภาวะสงบ อันประณีตยิ่ง) อยู่ในป่านั้น ก็เกิดความรู้แจ้งเห็นจริงว่า
"ทั้งในโลกนี้และโลกหน้า ธรรมอันจะนำความสุขมาให้ ยิ่งไปกว่าสมาธิ
(จิตตั้งมั่นในศีล) ย่อมไม่มี ผู้มีจิตดีตั้งมั่นแล้ว ย่อมไม่เบียดเบียน
ทั้งคนอื่นและตัวเอง"
ดังนั้นพราหมณ์จึงเดินทางไปสู่ป่าหิมพานต์
ออกบวชเป็นฤาษี ละกามทั้งหลาย บำเพ็ญอภิญญา
(ความรู้ยิ่ง) และสมาบัติ (สภาวะสงบอันประณีตยิ่ง)
ให้บังเกิดขึ้นได้แล้ว จึงมีพรหมโลกเป็นที่ไปในเบื้องหน้า
............................................
พระศาสดาทรงนำชาดกนี้มาแสดงแล้ว ตรัสว่า "พระราชาในครั้งนั้น
ได้มาเป็นพระอานนท์ในบัดนี้ ส่วนพราหมณ์ ปุโรหิต ผู้ทดลองศีลนั้น ก็คือเราตถาคตนี่เอง"
(พระไตรปิฎกเล่ม
๒๗ "สีลวีมังสนชาดก ข้อ ๘๖"สีลวีมังสชาดก ข้อ ๔๖๙,๖๑๘ อรรถกถาแปลเล่ม
๕๖ หน้า ๒๙๗ เล่ม ๕๘ หน้า ๓๑๖,๕๘๓)
(เราคิดอะไร
ฉบับที่ ๑๔๒ พฤษภาคม ๒๕๔๕)
|