หน้าแรก >[09] การสื่อสาร > การเผยแพร่ธรรมะ >เราคิดอะไร

บทความชุดนี้ตั้งใจจะเขียนขึ้นเพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับธรรมชาติของ "อำนาจรัฐ" และชี้ให้เห็นช่องทาง ที่จะเป็นทางออก จากตรรกะแห่งความขัดแย้ง ของขุมอำนาจดังกล่าว จากรากฐานทางพุทธปรัชญา อันอาจกล่าวได้ว่า เป็นแนวคิด "เศรษฐศาสตร์การเมืองเชิงพุทธ"

ความคิดทางการเมืองในพุทธศาสนา สุนัย เศรษฐ์บุญสร้าง
เศรษฐศาสตร์การเมืองเชิงพุทธ ตอน ๑๗


เบญจลักษณรัฐ
ศาสตราจารย์ ดร.ชัยอนันต์ สมุทวณิชย์ นักรัฐศาสตร์ที่มีชื่อเสียงของไทย ได้เสนอกรอบแนวคิดเรื่อง "ไตรลักษณรัฐ" (Three dimentional State) เพื่ออธิบายถึงพันธกิจของรัฐ โดยวางอยู่บนพื้นฐานของ
สมมติฐานว่า มีพลัง ๓ ด้านในธรรมชาติที่ผลักดันให้มนุษย์มาอยู่ร่วมกันเป็นสังคมภายใต้อำนาจรัฐ

พลังทั้ง ๓ ด้านได้แก่ ความกลัว ความปรารถนาที่จะมีชีวิตอยู่รอดอย่างมีความสุข และความต้องการ ที่จะมีชีวิตอยู่ อย่างมีศักดิ์ศรี*

พลังขับดัน ๓ ประการนี้ เป็นพื้นฐานสำคัญแห่งการดำรงอยู่ของรัฐ เป็นเหตุผลสามด้านของการใช้อำนาจรัฐ และก็เป็นความคาดหวังสามด้านของผู้คนในสังคมที่ต้องการการตอบสนองจากรัฐด้วย กล่าวคือ

- ความกลัว ทำให้มนุษย์ต้องการหลักประกันความมั่นคงปลอดภัยจากรัฐ
- ความสุข ทำให้มนุษย์ต้องการการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีจากรัฐ
-ความมีศักดิ์ศรี ทำให้มนุษย์ต้องการการมีส่วนร่วมกับรัฐ

ถ้ามองกรอบความคิดเรื่อง "ไตรลักษณรัฐ" ดังกล่าว จากแนวคิดเรื่องความกลัว ๓ มิติในพลสูตร อังคุตตรนิกาย นวกนิบาต (ซึ่งสอดคล้องกับทฤษฎีความต้องการตามลำดับขั้น ๕ ประการ ของอับราฮัม เอส มาสโลว์ ดังที่ได้กล่าวมา ในบทความ ตอนที่แล้ว) จะเห็นว่าการมองพันธกิจพื้นฐานของรัฐ จากพลังขับดัน ๓ ด้านข้างต้น ยังไม่ครอบคลุมเพียงพอ ทั้งนี้เพราะความกลัว ที่แฝงอยู่ในจิตใจส่วนลึก ของมนุษย์นั้นมีหลาย
มิติที่สลับซับซ้อน เช่น ความกลัวว่า ชีวิตจะไม่มีความสุข หรือกลัวว่า จะมีชีวิตอยู่อย่างด้อยศักดิ์ศรี ก็เป็นส่วนหนึ่ง ของความกลัว ด้วยเช่นกัน เป็นต้น

ฉะนั้น การมองว่าพลังขับดัน ๓ ด้าน อันคือความกลัว ความปรารถนาที่จะมีชีวิตอยู่ อย่างมีความสุข และ การมีชีวิตอยู่ อย่างมีศักดิ์ศรี เป็นพลังขับดันพื้นฐาน ของธรรมชาติแห่งรัฐ จึงเป็นการจัดแบ่งประเภท ของพลังขับดัน ทางจิตวิทยา ที่มีบางมิติ ทับซ้อนกัน และไม่ครอบคลุมถึงความต้องการ ทางจิตวิทยาต่างๆ ของมนุษย์ อย่างกว้างขวางพอ

ถ้าอธิบายแรงขับทางจิตวิทยาที่ผลักดันให้มนุษย์มาอยู่รวมกัน เป็นระบบสังคม ภายใต้อำนาจรัฐ จากกรอบ แนวคิด ทางพุทธปรัชญา ที่ขยายความจากพลสูตร เราจะได้ตัวแบบ "เบญจลักษณรัฐ" (ที่น่าจะสมบูรณ์ กว่าตัวแบบ "ไตรลักษณรัฐ") เป็นกรอบแนวคิด ในการอธิบาย พันธกิจของรัฐ

ตัวแบบ "เบญจลักษณรัฐ" ชี้ให้เห็นว่าพลังขับดันทางจิตวิทยา ที่เกิดจากความกลัว ในจิตส่วนลึก ของมนุษย์ทั้ง ๕ มิติ คือ แรงผลักดัน ให้มนุษย์หันมาอยู่รวมกันเป็นระบบสังคม โดยการยึดโยง ของอำนาจรัฐ ซึ่งถ้าอำนาจรัฐ ที่เป็น ใจกลาง ของระบบสังคมนั้นๆ ไม่สามารถกระทำหน้าที่ (Function) เพื่อสนองตอบ ต่อการคลี่คลาย ความกลัว ในมิติใดมิติหนึ่ง หรือหลายมิติ ของผู้คนในสังคม ระบบสังคมการเมืองนั้น ก็จะปราศจาก เสถียรภาพ และ จะแตกสลายไปในที่สุด โดยมีระดับ ของการ ล่มสลาย ๓ ระดับคือ

ก. ระดับของผู้บริหารบ้านเมือง (Political authority) ซึ่งถ้าดำรงอยู่ต่อไปไม่ได้ ก็จะมีการเปลี่ยนคณะ ผู้บริหาร หรือ รัฐบาลชุดใหม่ ดังเช่นกรณีการเกิดเหตุจลาจล ช่วงเดือน พฤษภาคม ๒๕๓๕ จนโค่นล้มรัฐบาล ของพลเอก สุจินดา คราประยูร และเปลี่ยนแปลงรัฐบาลใหม่ เป็นต้น

ข. ระดับของระบบการเมืองการปกครอง (Political regime) ซึ่งถ้าดำรงอยู่ต่อไปไม่ได้ ก็จะมีการเปลี่ยนแปลง ลัทธิทางการเมือง หรือระบบการปกครองแบบใหม่ ดังเช่นกรณี การปฏิวัติเปลี่ยนแปลง การปกครองแผ่นดิน จากระบอบ สมบูรณาญาสิทธิราชย์ เป็นการปกครอง แบบประชาธิปไตย เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๕ เป็นต้น

ค. ระดับของประชาคมทางการเมือง (Political community) ซึ่งถ้าดำรงอยู่ต่อไปไม่ได้ ก็จะมีการเปลี่ยนแปลง ของรัฐชาติ (Nation-State) นั้นๆ ครั้งใหญ่ ดังเช่นกรณีการล่มสลายของสหภาพโซเวียต ในช่วงที่ผ่านมา เป็นต้น

พันธกิจพื้นฐานแห่งรัฐที่จะทำให้ระบบสังคมการเมืองนั้นๆ ดำรงอยู่ได้อย่างมั่นคง สามารถจำแนก ได้เป็น ๕ ด้านคือ

๑. พันธกิจด้านการลดอาชีวกภัย ในขณะที่มนุษย์มีธรรมชาติของความกลัวต่อภัย อันเนื่องด้วย การดำรงชีวิต กลัวต่อความอดอยากหิวโหย กลัวต่อการเจ็บไข้ได้ป่วย โดยไม่มียารักษา กลัวภัยต่างๆ ที่คุกคาม สวัสดิภาพ ในชีวิตและทรัพย์สินของตน ตลอดจนกลัวต่อความทุกข์ยากลำบาก และการไม่ได้รับความสุข ความสะดวก สบาย ในชีวิต ฯลฯ

ฉะนั้นจึงเป็นพันธกิจพื้นฐานประการแรกของรัฐที่จักต้องมีหน้าที่สร้างหลักประกันแห่งสวัสดิภาพ ในชีวิต และ ทรัพย์สิน ของประชาชน ต้องมีกลไก สำหรับป้องกัน การถูกรุกราน จากศัตรูภายนอก และปกป้องคุ้มครอง ความปลอดภัย ของประชาชน จากโจรผู้ร้าย ภายใน ต้องสร้างหลักประกัน ให้ผู้คนมีงานทำ เพื่อจะได้ มีปัจจัยพื้นฐาน สำหรับการยังชีพ มีหลักประกัน ในการดูแลรักษาพยาบาลประชาชน ยามเจ็บป่วย รวมทั้ง ต้องพัฒนา ระบบสาธารณูปโภค และสาธารณูปการต่างๆ ที่จะอำนวยความสุข ความสะดวกสบาย แก่ประชาชน ฯลฯ

หากรัฐใดกระทำหน้าที่ส่วนนี้ไม่สมบูรณ์ เช่น ปล่อยให้ประชาชนอดอยาก ผู้คนมีชีวิตอยู่ อย่างอัตคัด ฝืดเคือง ประชาชน ก็จะลุกฮือ ขึ้นโค่นล้มอำนาจรัฐ ดังกล่าว ดังเช่นการลุกฮือ ของประชาชน ชาวปารีส เพื่อโค่นล้ม อำนาจของ พระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๖ ในการปฏิวัติประชาธิปไตย ของฝรั่งเศสเมื่อปี ค.ศ. ๑๗๘๙ เป็นต้น

๒. พันธกิจด้านการลดอสิโลกภัย ในขณะที่มนุษย์เป็นสัตว์สังคม และมีธรรมชาติของความกลัว ต่อภาวะ แปลกแยก จากสังคม กลัวต่อการไม่ได้รับความยอมรับจากสังคม ส่งผลให้มนุษย์ มีแนวโน้ม ที่จะสร้างระบบ วัฒนธรรม ขนบธรรมเนียม ประเพณีต่างๆ ขึ้นมา เพื่อยึดโยงผู้คน ในสังคมนั้นๆ ให้เป็นเอกภาพ

ถ้ารัฐใดไม่สามารถกระทำหน้าที่สร้างระบบการศึกษาและการอบรม กล่อมเกลาทางสังคม (Socialization) ในทิศทางที่จะยึดโยง ให้ผู้คนในสังคมดังกล่าว มีความรู้สึก เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เป็นคนพวกพ้องเดียวกัน เพื่อลดภาวะความกลัว ต่อการรู้สึกแปลกแยก จากสังคมส่วนรวม จนนำไปสู่การเกาะยึดกับวัฒนธรรมย่อย เพื่ออาศัยเป็นกลไก บรรเทาความกลัวต่อความแปลกแยก จากระบบสังคมใหญ่ ในที่สุด ก็จะทำให้ ระบบ สังคมนั้น ปริแยกเป็นเสี่ยง และระบบสังคมการเมือง ดังกล่าว ก็จะล่มสลายลงในไม่ช้า เพราะปัญหา ความขัดแย้ง ทางเชื้อชาติบ้าง ขัดแย้งทางศาสนาบ้าง ขัดแย้งทางความคิด ความเชื่อในลัทธิ ทางการเมืองบ้าง ฯลฯ

๓. พันธกิจด้านการลดปริสสารัชภัย ในขณะที่มนุษย์ มีธรรมชาติของความกลัวต่อการสูญเสีย ภาวะแห่ง อัตตลักษณ์ และความดำรงอยู่ ของตัวตน ที่เป็น "ตัวกู-ของกู" (หรือกลัวต่อการมีปมด้อย อย่างใดอย่างหนึ่ง) ส่งผลให้มนุษย์ มีแนวโน้ม ตามธรรมชาติ ที่จะแสวงหา ความภาคภูมิใจ หรือ "ปมเขื่อง" ให้กับตัวตน ของตนเอง ในด้านใดด้านหนึ่ง

ถ้ารัฐไม่สามารถกระทำหน้าที่ เสริมสร้างให้ผู้คนในสังคม มีความรู้สึกภาคภูมิใจ ในสถานะแห่งตัวตน ของการเป็นสมาชิก ส่วนหนึ่งใน ประชารัฐนั้นๆ (อาทิ สร้างความรูสึกภาคภูมิใจ ในแง่มุมใด แง่มุมหนึ่ง ในฐานะ ที่ได้เกิดมา เป็นคนไทย เป็นต้น) รัฐนั้นๆ ก็จะดำรงอยู่ต่อไปอย่างมั่นคงได้ยาก

ประเทศบางประเทศที่แทบจะไม่มีจุดเด่นอะไร นอกจากมีทีมนักฟุตบอล ที่สามารถชนะการแข่งขัน ฟุตบอลโลก จนเป็นจุดสร้างความรู้สึก ภาคภูมิใจ ให้กับความเป็นตัวตน ของสมาชิกแห่งรัฐนั้นๆ ถ้าเกิดทีมฟุตบอล ของประเทศดังกล่าว พ่ายแพ้การแข่งขัน โดยมีสาเหตุมาจาก การที่รัฐไม่ให้ความสนับสนุน เท่าที่ควร เพียงแค่ สาเหตุเล็กๆ จากการแพ้ฟุตบอลเท่านี้ ก็อาจกลายเป็น ประเด็นทางการเมือง ที่นำไปสู่ การเกิดจลาจล โค่นล้มอำนาจ ของผู้บริหารบ้านเมืองได้

นอกจากนี้รัฐแต่ละรัฐจะต้องมีประมุขเพื่อกระทำหน้าที่เป็นตัวแทนในเชิงสัญลักษณ์ของรัฐ ตลอดจน ต้องมีรัฐพิธีต่างๆ ที่ดูยิ่งใหญ่ อลังการ แม้ว่าต้องใช้เงินจำนวนมากก็ตาม ทั้งนี้ก็เพราะ พิธีกรรม ทางการเมือง ดังกล่าว เป็นเครื่องสื่อแสดงถึง ตัวตนของรัฐ และสร้างความรู้สึกภาคภูมิใจ ให้กับตัวตน ของสมาชิก แห่งประชารัฐนั้นๆ อันจักนำไปสู่ ความมั่นคงของรัฐ

๔. พันธกิจด้านการลดมรณภัย ในขณะที่มนุษย์มีธรรมชาติของความกลัวต่อภาวะความตาย หรือการจะไม่ได้ ดำรง "ชีวิต" ต่อไปในเอกภพนี้ ทั้งๆที่ทุกคนรู้ตัวอยู่ว่าสักวันหนึ่งจะต้องตายอย่างแน่นอน ส่งผลให้มนุษย์ มีสัญชาตญาณ ของการสืบเผ่าพันธุ์ และแสวงหาทายาท เพื่อให้เป็นตัวแทน ส่วนหนึ่งแห่งชีวิต ของตนเอง ที่จะสืบทอด ดำรงเป็นอมตะต่อไป

รัฐจึงมีพันธะหน้าที่จักต้องปกป้องคุ้มครองอนุชนรุ่นต่อๆ ไป (ซึ่งเป็นเสมือนการคุ้มครองรักษาตัวตน ส่วนหนึ่ง แห่งชีวิต ของคนรุ่นนี้ด้วย) เพื่อให้สามารถดำรงชีวิตได้ อย่างเป็นปรกติสุข ในมิติของกาลเวลา ที่ยืนนานที่สุด

ถ้าผู้บริหารของรัฐใดละเลยการกระทำหน้าที่ส่วนนี้ สนใจแค่ความอยู่รอดและ การแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ยิ่งกว่าการวางแผน ในระยะยาว เพื่ออนาคตของอนุชนรุ่นหน้า ก็จะถูกตราหน้าได้ว่า เป็นเพียงแค่ นักการเมือง เท่านั้น ไม่ใช่รัฐบุรุษ และก็ยากที่จะสามารถดำรงอยู่ ในอำนาจอย่างมั่นคงสืบไป ในระยะยาว

๕. พันธกิจด้านการลดทุคติภัย ในขณะที่มนุษย์มีธรรมชาติของความกลัวต่อการเผชิญ กับภาวะ ความบีบคั้น เป็นทุกข์ จากปัญหาต่างๆ ที่อาจอุบัติขึ้นกับชีวิต ในขณะใดขณะหนึ่งข้างหน้า ส่งผลให้มนุษย์ ซึ่งเป็นสัตว์ ที่มีสติปัญญา และเหตุผล มีธรรมชาติแห่งความใฝ่รู้ ต้องการแสวงหาความรู้ ความเข้าใจ เกี่ยวกับความจริง ของชีวิต โลก และจักรวาล เพื่อจักได้ประจักษ์ถึงตำแหน่งแห่งที่ ของชีวิตตัวเองที่อุบัติขึ้นมา ในธรรมชาตินี้ ตลอดจนสามารถ ปฏิบัติต่อชีวิตได้อย่างถูกต้อง อันนำไปสู่การสร้างระบบความคิด ทางปรัชญา และลัทธิ ความคิดความเชื่อ ทางศาสนาต่างๆ ที่อธิบายแก่นสาร ของชีวิต

รัฐจึงมีพันธกิจประการสุดท้าย ที่จะต้องสร้างความชอบธรรมแห่งอำนาจรัฐ ให้สอดประสานสัมพันธ์ กับระบบ ความคิด ความเชื่อ เกี่ยวกับสถานะของชีวิต โลก และจักรวาล บนพื้นฐานของ ระบบความคิด ทางปรัชญา หรือศาสนา ที่ผู้คนส่วนใหญ่ ในสังคมนั้นๆ ยึดถือด้วย

ภายใต้สมมติฐานนี้ ขณะที่ระบบเศรษฐกิจ แบบทุนนิยมเสรี สอดประสาน กับรากฐานทางปรัชญา ของลัทธิ การเมือง แบบประชาธิปไตยตามทฤษฎี สัญญาประชาคม (Social Contract Theory ) การที่พรรค คอมมิวนิสต์จีน เปลี่ยนแนวทาง พัฒนาเศรษฐกิจ มาเป็นแบบทุนนิยมเสรีมากขึ้น ถึงแม้จะช่วยให้ เศรษฐกิจ ของจีน เติบโตอย่างรวดเร็ว ผู้คนกินดีอยู่ดีขึ้น อำนาจรัฐดูเหมือนจะเข้มแข็งมั่นคงมากขึ้น

แต่ในที่สุด ประชาชนจะเริ่มตั้งคำถาม ถึงความชอบธรรม ของที่มาแห่งอำนาจรัฐ ว่าทำไมต้องเป็น พรรค คอมมิวนิสต์จีน เพียงพรรคเดียวเท่านั้น ที่ผูกขาดยึดครองการบริหารประเทศ ทำไมไม่ให้สิทธิทางการเมือง แก่ประชาชน ในการเลือก ผู้บริหารบ้านเมืองของตน ต่อไปการชุมนุมท้าทายอำนาจรัฐ อย่างกรณี เทียนอันเหมิน หรือ เหว่ยตันกงในประเทศจีน จะเกิดมากขึ้นๆ และพรรคคอมมิวนิสต์จีน ที่ผูกขาดการปกครอง ประเทศจีน มานานหลายสิบปี ก็อาจจะหมดอำนาจไปในไม่ช้า เพราะสอบตก ในการปฏิบัติพันธกิจ ประการสุดท้ายของรัฐ ตามตัวแบบข้างต้น

การตอบสนองต่อการแก้ปัญหาความกลัวของมนุษย์ใน ๕ มิตินี้ อย่างสมดุล คือ พันธกิจของรัฐ ซึ่งถ้าผู้บริหาร บ้านเมืองใด เน้นการแก้ปัญหาในมิติหนึ่ง จนส่งผลกระทบ อย่างมีนัยสำคัญ ต่อการเพิ่มปัญหา ในอีกมิติหนึ่ง ก็จะนำไปสู่ความไร้เสถียรภาพ ของอำนาจรัฐได้ เช่นการพยายามแก้ปัญหาในมิติแรก เพื่อให้ผู้คนมีชีวิต ความเป็นอยู่ ที่ดีขึ้น ในทางเศรษฐกิจ ด้วยการทำให้การเมืองนิ่ง โดยการรัฐประหาร เพื่อรัฐจะได้สามารถ ใช้อำนาจ ตัดสินใจ เรื่องต่างๆ ได้อย่างเด็ดขาดรวดเร็ว แต่การทำรัฐประหารดังกล่าว จะส่งผลกระทบ ต่อพันธกิจ ด้านการสร้างความชอบธรรม ของที่มาแห่งอำนาจรัฐในมิติที่ ๕ จนทำให้รัฐนั้น ขาดเสถียรภาพ และอาจถูกประชาชน ลุกฮือขึ้นต่อต้าน จนดำรงอยู่ต่อไป ไม่ได้เป็นต้น
(อ่านต่อฉบับหน้า)