สมบัติจริง
หนึ่งเดียวของคน...
เงินมิใช่ทรัพย์ของคน
กรรมต่างหากคือทรัพย์แท้!
ท่านพูดออกมาได้อย่างไรนะ น่าสงสัยจัง ถ้ายังงั้น เชิญฟังไว้ให้เป็นบุญหูไว้บ้างก็แล้วกันท่านผู้เจริญทั้งหลาย...
ใครไม่เชื่ออย่าลบหลู่ แน่นอนครับ คนพูดย่อมไม่ธรรมดา ที่กล้าพูดผ่าเปรี้ยงออกมา
กลางสังคมบริโภคนิยม แห่งโลก ทุนนิยม อันยิ่งใหญ่ยิ่งทราม
แหม....นึกไปถึงป้ายโฆษณายักษ์ๆ
ที่ว่างเปล่าเหงาหงอย ถ้าเขาจะเอาสองคำนี้ไปติดไว้บ้าง ให้คนตาดีได้เบิ่งกัน
ทั่วเมือง คงจะเพิ่มสีสันแปลกหู ดูประหลาดตา ทั้งเชื่อว่า น่าจะเป็นมงคล
ไม่ใช่เล็กๆ
ไม่แน่นะ หลายๆ คนได้ถ่างตาดู อาจเกิดสะดุดใจ
รู้สึกสะอึกสำนึกดีใหม่ๆ ขึ้นมาจนกระทั่ง พากันพลิกผันชีวิต กล้าคิดใหม่
ทำใหม่ ไปไกลนำหน้ากว่ารัฐบาล เจ้าของคำขวัญ คิดใหม่ ทำใหม่ เพราะเอาเข้าจริงๆ
ท่านยังทำฝัน ให้เป็นจริงได้น้อยนิด
อันนี้มันน่าเห็นใจ ในเมื่อน้ำดีเพียงกระจิริด
จะให้มีฤทธิ์เกินหน้าพวกมากลากไปถึงไหนนัก มันยากตายชักเด้อ ปลงเสียเถอะ
พ่อจำเนียร สู้หันมาฟังคำพระตั้งหน้าพึ่งตัวเองเต็มๆ เสียก่อนจะดีกว่าเพื่อนเยอะเลย
ครับ ประเด็นวาทะทองสองวรรคที่ยกตั้งเป็นหัวข้อต้นเรื่องชวนคุยในที่นี้
ข้าพเจ้ารู้สึกส่วนตัวว่า ช่างโดนใจดีชะมัด
แต่ก็ไม่นึกว่าจะอินอยู่ผู้เดียวเงียบเชียบ
เลยอยากจะขยายนัยด้วยคนสักหน่อย ดูซิว่า สองประโยคทองนี้ มีอะไรลึกซึ้ง
ถึงสุดสำคัญ ประการใดบ้าง
เงินทองของมายาข้าวถั่วงาสิเป็นของจริง
ใครๆ ต่างเชื่อสนิทใจกันอยู่แทบทั้งนั้นว่า
เงินเป็นทรัพย์วิเศษของคน เป็นเหมือนแก้วสารพัดนึก บ้างไปไกลถึงกับว่า
เงินคือ พระเจ้าตัวจริงที่ช่วยได้ทันตาเห็น... ในขณะที่ความจริงแสนรู้ดีกันอยู่ว่า
มันเป็นเพียงสมมติขึ้นมา เพื่อแทนค่า แลกเปลี่ยนสินค้า และบริการโดยสะดวก
ในวัตถุตัวเงิน มันอาจไม่มีค่า อะไรในตัวมันเองด้วยซ้ำ เช่น เป็นแค่กระดาษ
บัตรรับรอง ให้เจ้าของเงินจ่าย หรือสั่งจ่ายชำระหนี้ได้เท่านั้นเป็นต้น
ด้วยเหตุนี้ ค่าของเงินจึงอาจผันผวน
เมื่อเกิดภาวะเงินเฟ้อร้ายแรง จนของแพงหูดับ ไปจ่ายตลาด ต้องขนเงิน
เป็นกระบุง กระสอบ เพราะเงินตกค่า แทบจะกลายเป็นเศษกระดาษ ไปเลยก็ได้
แม้เงินทองจะเป็นของมายาขนาดไหน
หรือเสี่ยงภัยในมูลค่าอนิจจัง คนก็ยังยึดถือ และเชื่อถือ คือปัจจัยจำเป็น
อันขาดเสียไม่ได้ เหมือนร่างกายต้องมีเลือด หมุนเวียนตลอดเวลา
เอาละ ถึงเงินจะใช้จับจ่ายดำเนินสะดวก
สนองกิเลสตัณหา ได้ทันใจปานใด ไม่ควรลืมความจริง พื้นฐานรองรับ ของเงินว่า
มันมีค่าอยู่ตรงที่มีสินค้า และบริการตัวจริงเสียงจริง ให้ใช้สอยได้สดๆ
นั่นคือ...
เงินจักมีความหมาย ต่อเมื่อ มีผลิตผลหรือผลิตกรรมจากน้ำมือคนอื่นมาสนอง
ความอยากตัวเอง เรียกว่ามีอุปทาน ข้าวของสนองอุปสงค์ อำนาจซื้อ ของผู้ถือเงิน
(มีซัพพลาย เสนอขายให้แก่ดีมานด์ การเสนอซื้อ)
เงินจึงมีค่า เพราะผลกรรมจากคนทั้งหลาย
ย้อนกลับไปเก่าก่อน ตอนที่คนยังไม่รู้จักใช้เงินอะไรมาก แต่ใช้แลก
ของต่อของ กันตรงๆ มากกว่า เงินก็ไม่ใช่สิ่งจำเป็นยิ่งใหญ่ ตรงไหนเลย
เห็นหรือยังว่า ที่คนเราได้กินใช้สารพัดจากผลกรรมเป็นตัวหลัก
มากกว่าเม็ดเงิน คงไม่เคยมีใครสามารถใช้เงิน กินแก้หิวกระหาย แทนข้าวน้ำได้เลย
ใช่ไหมล่ะ!
ไม่รู้พอเห็นเค้าบ้างหรือยังว่า
ตัวเงินไม่ใช่ทรัพย์ เท่ากับผลกรรม!
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การหลงยึดเอาเม็ดเงินเป็นตัวตั้งแบบฉบับทุนนิยมเต็มๆ
มันนำพาให้เกิดฉลาดแกมโกง ใช้อุบาย ล่อหลอกลวง เลศเล่ห์นานาวิธี เพื่อยื้อแย่งแก่งชิง
กอบโกยฉกฉวย ดึงทึ้ง หมายดูดเงินลูกเดียว เงินเจ้าเอย จงไหลเลย เข้ากระเป๋า
เป็นเป้าสุดท้ายของกู .... ดูเขาทำ ใครๆ ก็เคย มากบ้าง น้อยบ้าง ท่านผู้มีสติดีทั้งหลาย
ทั้งโลกพากันแข่งขันกันเอาเปรียบอุตลุดทุกระดับ
กระทั่งมหาวิทยาลัยตัวดี ช่างเสี้ยมสอน ให้คนเก่งได้เปรียบ ด้วยสุดยอด
เคล็ดวิชารวยเงิน หรือมีอะไรเกินกว่านี้ครับผม?
ขอย้ำสำคัญมั่นคงตรงจุดอีกทีก็ได้ว่า
เงินไม่มีความหมายอะไร มากไปกว่า สายเชื่อมโยง เพื่อนำพาผลพวง จากหยาดเหงื่อ
ผู้ผลิต ไปถึงมือผู้บริโภค โดยง่ายขึ้นหน่อย จนกระทั่งเกิดช่องทางมักง่าย
เอาเปรียบ ตบตาอำพราง ขี้โกงต่างๆ ดังที่เห็นโทนโท่ถมถืด โดยจำนนจำยอม
ดังนั้น การพึ่งพาเงินมากเท่าไหร่
ยิ่งเท่ากับเปิดช่องให้ถูกขูดรีดเอาเปรียบมากเท่านั้น
นั่นคือ เราจึงจำเป็นต้องรู้เท่าทัน
ที่จะไม่ต้องตกเป็นเหยื่อเสียรู้โดยไม่เข้าท่า ถ้าเราจะเสียเปรียบใคร
เมื่อไหร่ เพราะเรา ตั้งใจเสียสละ อยากเป็นผู้ให้ มากกว่าผู้เอา เช่นนี้เป็นต้น
สัตวโลกอยู่ได้ด้วยกรรม
คุยกันมาถึงตรงนี้ คงพอชัดคมลึกไม่น้อยกระมังว่า เงินเป็นแค่เปลือกกระพี้
เนื้อแก่นสาระจริงๆ ให้คนได้กินใช้เต็มๆ ย่อมอยู่ที่ กรรมตัวเดียวนี่แหละ
เมื่อมีกรรม โดยพฤติกรรมของตัวเองหรือคนอื่น
ไม่ว่าจะเป็นกายกรรม วจีกรรม และมโนกรรม ผลิตผลที่ออกมา ต่างๆ นานา
ทั้งรูปธรรมนามธรรม สารพันปรุงแต่งสังขาร ผู้คนจึงได้บริโภคผลพวง ผลิตกรรมทั้งหลาย
ในรูปของสินค้า และบริการ อันแลกเปลี่ยน ซื้อขายกันตามกิเลสตัณหา
และมิใช่เพียงเท่านี้ ยังมีสำคัญยิ่งยอดอีกคือ
ผลกรรมจากการอยู่ร่วมกัน อยู่ในสังคมชุมชนน้อยใหญ่ สัมผัส สัมพันธ์บานตะไทเหล่านี้
ต่างแสดงออก รับส่งผลกระทบ ก่อเกิดอารมณ์ สุขๆ ทุกข์ๆ หรือไม่ทุกข์ไม่สุข
ไปตามเรื่อง ของแต่ละผู้คน โดยไม่เกี่ยวข้องอะไร กับเรื่องจับจ่ายซื้อขาย
มันเป็นธุรกรรม ธรรมชาติของฟรี เหมือนชีวิตที่ต้องอาศัย แดดน้ำลมฝน
บรรยากาศ แผ่นดินผืนฟ้า สรรพสิ่งแวดล้อม ซึ่งยังไม่มีใครอุตริ ยึดสัมปทาน
ผูกขาดตัดตอน คิดเงิน ค่าใช้สอย อีกมากต่อมาก แม้นับวันจะมีของฟรีจากธรรมชาติ
ให้เสพได้น้อยลงทุกทีก็ตาม
ชีวิตแต่ละวันของคน จึงหนีไม่พ้น
สัมพันธ์กับสรรพสิ่งโดยเฉพาะอย่างยิ่งกับคนด้วยกัน ทุกปฏิกิริยาสัมผัสต่างๆ
จะชอบใจ หรือไม่ชอบใจก็แล้วแต่ มันย่อมกลายเป็นอาหารหล่อเลี้ยงอารมณ์
ตลอดเวลา
พระพุทธภาษิตอันว่า สัตวโลกอยู่ได้ด้วยอาหาร
อาหารในที่นี้ไม่ใช่มีเฉพาะคำข้าวของกินดื่ม (กวฬิงการาหาร) แต่ยังมีผัสสาหาร
คือผัสสะสิ่งสัมผัสทางตาหูจมูกกลิ่นกายใจ ละเลียดลงไปอีก ก็เป็นมโนสัญเจตนาหาร
กับ วิญญาณาหาร
อาหารดังกล่าวทั้งหมด ล้วนมาจากกรรมที่เราทำเอง
รวมทั้งผลกรรมที่อาศัยคนอื่นทำให้ โดยหมายเลือกเอาได้ และ เลือกตามใจไม่ได้
อีกเยอะไป คนที่ไม่ฝึกฝน เพื่ออยู่เหนือโลก แน่นอนว่า ย่อมเป็นทาส
สิ่งแวดล้อมวันๆ แล้วแต่ กระแสขึ้นลง จะมีอะไรมากระทบกระแทก ก็เต้นตามคลื่น
ตื่นตามลม ไปอย่างสมเพช ดูไม่จืด เพราะเป็นชีวิตชีวา ของคนอยู่ไม่เป็นสุข
เมื่อต้องคนอยู่เรื่อยๆ จนวนเวียนกับสวรรค์ลวงนรกจริงสลับฉากกันไปเบื่อๆ
อยากๆ ตามประสา สัตวโลก ที่ต้องเป็นไปตามวิถีกรรม (กัมมุนา วัตตี โลโก)
สมมติจริงยิ่งสำคัญ
เงินทองนับเป็นของสมมติแท้ๆ แต่คนพากันหลงใหลใคร่อยากเอาเป็นเอาตายยิ่งกว่าชีวิตก็เยอะไป
จึงอย่าเพิ่งดูถูก สิ่งสมมติต่างๆ
เงินทองช่วยให้เรากำหนดตีราคา วัดค่าสิ่งแลกเปลี่ยนซื้อขาย
แล้วเราก็รับค่าแรงโกยกำไรตามเรื่อง แม้จะมี ราคาตลาด เทียบหาค่ายุติธรรม
หรือไม่ก็ช่างเถอะ คงนับค่าได้เพียง ประมาณหนึ่ง หลวมๆ กว้างๆ เท่านั้น
ใครขี้โลภจัด ก็ต้องโก่งราคาให้มันแพงกว่าเพื่อนเข้าไว้
สุดท้ายใครได้เปรียบเกินจริงกว่าลาภอันควรจะได้ ตามสัจจะ คนรับทรัพย์ส่วนเกิน
ควรดังกล่าวย่อมต้องเป็นหนี้บุญหนี้คุณเอง อยู่ในตัว แม้นี้ก็เป็นเหตุผลบอกว่า
เงินไม่ใช่ ทรัพย์แท้
ฉะนั้น อย่าถือว่า เมื่อได้เงินมาอยู่ในมือ
แล้วจะใช้จ่ายตะพึดได้ตามใจชอบ ซึ่งๆ จริงๆ แล้ว มันเสี่ยงกับการเป็นหนี้
เท่าไหร่ไม่รู้ อย่างเงินที่ได้ขายยาบ้า หรือคดโกง เล่นหวยรวยพนัน
หรือฟันค่าโง่อะไรต่างๆ มันห่างไกลจากค่าแรงงาน มาตรฐาน อันควรนับเป็นลาภ
แต่เป็นค่าโลภล้วนๆ คนเห็นเงินตาโต บาปบุญเอาไว้ทีหลัง เขาย่อมตีปีก
เอาเงินไว้ก่อน พวกไม่เห็นโลงศพ ไม่หลั่งน้ำตา แบบนี้มีแยะนับไม่ไหวเหมือนขนโค
หันมาดูพวกกลัวบาปกรรมบ้าง บาปบุญเป็นของสมมติก็จริง
สมมติคือสิ่งที่คนรู้จักยึดมั่นถือมั่น ในการใช้ชีวิต ร่วมกัน สมมติแปลว่า
รู้ร่วมกัน รู้ที่สำคัญจำเป็นคือ บาปบุญคุณโทษ
สัพพปาปัสสะ อกรณัง ความชั่วทั้งหลายอย่าได้กระทำเลย
กุสลัสสูปสัมปทา พึงยังกุศลให้ถึงพร้อม
สจิตตปริโยทปนัง โดยชำระจิตให้สะอาดรอบในตัวเสร็จ
คำสอนของพุทธแท้ บริสุทธิ์บริบูรณ์สูงส่งรวบยอดได้เป็น
๓ ข้อ ดังว่ามา นำพาให้เจริญ ทั้งโลกียะ จนถึงโลกุตระ พร้อมมีประโยชน์ตน
ประโยชน์ท่าน เรียบร้อย
เพราะฉะนั้น ฐานะชาวพุทธ บาปกรรมและบุญกรรม
จึงไม่ใช่เรื่องนาประมาท มองข้ามทำเป็นเล่นไป กรรมเป็นอันทำ ทำอย่างไรก็อย่างนั้น
ไม่มีใครเบี้ยวสัจจะได้ ทำแล้วจะบอกว่าเปล่า มันแก้ไม่หลุดเลย
ทุกวันนี้ ยิ่งเห็นชัดว่า ปัญหาวิกฤตินานา
มักเกิดจากคนตั้งหน้าเอาเม็ดเงินเป็นตัวตั้ง โดยไม่ยอมเห็นกรรม อยู่ในสายตา
อะไรๆ ถึงวุ่นวาย โกลาหลไปหมด ตรงกันข้ามกับคนที่มีศาสนาในหัวใจ เชื่อกรรม
ทำดี เป็นดี ทำชั่วเป็นชั่ว เหตุร้าย ผลย่อมร้าย ผู้มีศรัทธากรรม ย่อมพยายามควบคุม
กรรมของตัวเอง เพื่อไม่ให้เป็นเหตุ เบียดเบียนตน และคนอื่น การแก้ไขตนเอง
จึงเป็นทางแก้ปัญหาสังคมที่ดีที่สุด ท่านว่าอย่างนี้
อนึ่ง คนไม่ศรัทธา อาจจะดูถูกกรรมว่าเป็นสิ่งสมมติกันขึ้น
อาจคิดว่าลอยๆ มั่วส่งเดช หรืออะไรทำนองนั้น แท้จริงแล้ว มีมาตรฐานหนึ่งเดียว
เช่น คนอาจสงสัยว่า บอกได้ยังไงว่า ไหนทำดี ไหนทำเลว อันนี้พอตัดสินได้
หากทำเพื่อ เห็นแก่ตัว ย่อมเป็นบาป ทำเพื่อเสียสละ ย่อมเป็นบุญ ดังนี้เป็นต้น
ดังนั้น กว่าจะรู้ตื้นลึกหนาบาง
กุศลอกุศลบุญบาป จำเป็นอยู่เอง ที่ต้องลงลึกถึงเหตุคือกิเลสตัณหาอุปาทาน
อันเป็นตัวบงการ ให้เราทำผิดๆ ถูกๆ ผีเข้าผีออก
สรุปแล้ว ชีวิตเราท่านวันๆ ไม่ต้องกังวลมากนักถึงเงินอันเป็นผลพลอยได้จากการทำงานธุรกิจ
เพราะยังมีเรื่องของ ธุรกรรมอีก เป็นภูเขาเลากา ที่เราทำกับตัวเองแต่เช้ายันค่ำ
ทั้งทำกับคนอื่นรอบข้าง ซ้ำไปรับออกร้อนกระทบหนาว จากผัสสะ กับสิ่งแวดล้อม
หรือโดยผู้คนสารพัด เกี่ยวข้องชนหน้าชนตา ทั้งรู้จักหรือไม่มักคุ้น
ความรับรู้รอบทิศทาง ย่อมเกิดอารมณ์ และก่อกรรมทำบาปบุญคุณโทษต่อๆ
ไป ทุกคนจึงมีกรรมเป็นของตน มีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย มีกรรม เป็นพันธุ์เชื้อสาย
มีกรรมเป็นทายาท ทำเองก็ต้องรับผลเอง
กรรมมีจริงยิ่งใหญ่ขนาดนี้ ทุกลมหายใจไม่มีว่างเว้นจากอารมณ์
ใครไม่อยากอยู่ร้อนนอนทุกข์ จำเป็นต้องรัก ตัวเอง โดย ใช้กรรมให้เป็นยิ่งกว่าใช้เงิน
สักหมื่นสักแสนเท่า
(เราคิดอะไร
ฉบับ ๑๔๒ พฤษภาคม ๒๕๔๕)
ถึงแม้เงินตราจะไหลมาดังห่าฝน
ความอยากของคนก็หาอิ่มไม่
กามวิสัยทั้งหลายมีความสุขจริงๆน้อย มากไปด้วยทุกข์
รู้ดังนี้ สาวกของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ย่อมไม่ยินดีในกามารมณ์แม้ที่เป็นทิพย์
หากแต่ยินดีในทางสิ้นกิเลสตัณหา
|