-
คุณจิระชาญ ชวาลรัตน์
นักรีไซเคิลขยะ
"ภยันตรายใหญ่หลวงของมนุษยชาติ
กำลังย่างกรายใกล้เข้ามา ขยะกำลังจะล้นโลก
ขยะมลพิษกำลังจะทำลายโลก เมื่อมนุษย์คือผู้สร้างขยะ
จึงหนีไม่พ้นสำนึกต่อหน้าที่ และความรับผิดชอบ "
ชื่อ
นายจิระชาญ ชวาลรัตน์ อายุ
๕๐ ปี ภรรยา คุณพรทิวา บุตร ๓ คน
การศึกษา
-ประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง จาก วิทยาลัยเทคนิคกรุงเทพ สาขาไฟฟ้ากำลัง
-ศูนย์การศึกษาต่อเนื่องแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
๑. วุฒิบัตรหลักสูตรการพัฒนาประสิทธิภาพคนทำงาน (MSP รุ่นที่ ๑)
๒. วุฒิบัตรหลักสูตรการพัฒนาวิสัยทัศน์ผู้นำสังคมไทย รุ่นที่ ๑
-เข้าอบรมโครงการศึกษาพัฒนาการคัดแยกขยะเพื่อธุรกิจรีไซเคิล รุ่นที่
๔
จากบริษัท วงษ์พาณิชย์ จำกัด (พิษณุโลก)
ประสบการณ์การทำงาน
๒๕๑๙ ผู้จัดการฝ่ายขาย และประสานงานฝ่ายผลิต
โรงงานตัดเย็บเสื้อผ้าสำหรับเด็กอ่อนและเด็กเล็ก
๒๕๒๑ เริ่มต้นทำธุรกิจส่วนตัว
๒๕๒๒ เจ้าของโรงงานตัดเย็บเสื้อยืด
๒๕๓๐ หุ้นส่วนบริษัท ขายสินค้าเงินผ่อน จ.นครสวรรค์
๒๕๓๑ เจ้าของปั๊มน้ำมัน ในอำเภอพาน จ.เชียงราย
๒๕๓๕ ก่อตั้งกิจการผลิตชิ้นงานจากโลหะแผ่น
ปัจจุบัน
กรรมการผู้จัดการบริษัท รัชดาพิวรรธ จำกัด
ผู้จัดการบริษัท วงษ์พาณิชย์สาขาเพชรเกษม
ผู้จัดการบริษัท เอกชัยรีไซเคิล
กรรมการสำนักงานบัญชี เพชรเกษมการบัญชี
กรรมการสำนักงานบัญชี P.P ACCOUNTING
กรรมการสำนักงานที่ปรึกษาการบัญชีและภาษีอากร
อาชีพที่ทำอยู่
ภาษาชาวบ้านเรียกว่าค้าของเก่า ไม่ได้มอง เรื่องการรีไซเคิลอย่างจริงจัง
แต่มองในเรื่องการค้าของเก่าเท่านั้น ส่วนผม สนใจทั้งธุรกิจรีไซเคิล
และการค้าของเก่ามานาน ธุรกิจการค้าของเก่ามักจะอยู่ในแวดวงเครือญาติ
และค่อนข้าง จะเป็นความลับ คือเขาจะถ่ายทอดเฉพาะ ญาติพี่น้องเท่านั้น
ช่วงผมเป็นวัยรุ่น บังเอิญ มีครอบครัว เพื่อนทำธุรกิจนี้ ใหญ่โตพอสมควร
ก็เลยขอโอกาสไปเรียนรู้กับเขา แต่พอเข้าไปถาม เห็นท่าทีว่า เขาไม่ต้องการให้ผู้อื่นรับรู้
ผมก็เก็บ เรื่องนี้ ค้างไว้ในใจ ด้วยความสงสัยว่า ทำไมต้องเป็นความลับ
ต่อมาผมหันมาทำธุรกิจตามที่เรียนมา
ในช่วงเศรษฐกิจตกต่ำ ๔-๕ ปีมานี้ คุณสมไทย วงษ์เจริญ เปิดหลักสูตร
สอนการทำ รีไซเคิลเพื่อธุรกิจ ออกรายการ "สู้แล้วรวย" ผมไม่ได้ดู
แต่มีคนมาเล่าให้ฟัง เขาซื้อขยะขายแค่ ๒ ปี รวยเป็นร้อยล้าน ผมไม่เชื่อ
คิดว่าไม่น่าจะเป็นไปได้ แต่เมื่อได้ดูวิดีโอเทป ผมได้ข้อคิด สิ่งที่รายการเสนอ
พร้อมทั้ง คำเชิญชวน ผมตัดสินใจ ไปเข้ารับการอบรม ที่พิษณุโลก เพราะอยากรู้ว่า
เป็นจริงอย่างที่เขาพูดหรือเปล่า จากการ เข้าไปสัมผัส ผมได้รับความรู้เรื่องนี้เพิ่มขึ้น
ได้แนวคิดใหม่ๆ มากมาย ได้รับแรงบันดาลใจ จากคุณสมไทย ซึ่งผมถือว่า
เป็นอาจารย์ ผู้มีพระคุณ ที่เปิดโอกาส ให้ผมเข้ารับการฝึกอบรม เรื่องขยะรีไซเคิล
อย่างจริงจัง ทำให้เห็นภาพ อะไรบางอย่าง ชัดเจนขึ้น นอกเหนือจากคำว่าธุรกิจ
ผมมองเรื่องของสิ่งแวดล้อม
ผมตกใจว่าทำไมมีขยะมากมายขนาดนั้น
ผมหาหนังสืออ่านเพิ่มเติม นอกเหนือจากหนังสือ ที่ผมได้รับจาก สถาบัน
สิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ที่มีเอกสารออกมามากมาย ทำให้ได้รู้ว่า โลกนี้เต็มไปด้วยขยะ
ที่จะเป็น อันตราย ใหญ่หลวง ในอนาคต ผมตัดสินใจลองศึกษา ถ้าเราจะลงมาทำเรื่องธุรกิจ
เราจะได้อะไรบ้าง สิ่งที่คิดว่าได้แน่ๆ อันดับแรก คือได้ใช้ แรงงานระดับล่าง
ซึ่งจะช่วยคนชนชั้นกรรมกรอย่างจริงจัง เนื่องจาก ตอนนั้น กิจการผม
ค่อนข้างซบเซา ผมจึงต้องลดคนงานลง ซึ่งผมไม่อยากทำ ก็พยายาม ประคับประคอง
แต่เมื่อนานเกินไป ก็เริ่มแบกภาระไม่ไหว จะฝากลูกน้อง ไปทำงานที่อื่นก็ยาก
นอกจากนี้ ยังมีคนงาน ระดับล่าง อีกจำนวนหนึ่ง ที่ใช้แต่แรงงานจริงๆ
ผมจึงมองว่า อาชีพใหม่นี้ น่าจะรองรับ พวกเขาได้ โดยเมื่อผมทำเรื่องรีไซเคิลขยะเสริมเข้ามา
จะสามารถตัด แรงงาน ส่วนนี้ออกมาทำ พร้อมทั้งรับแรงงานใหม่ เข้ามาเพิ่มได้อีก
เพราะอาชีพนี้ง่าย ไม่ต้องใช้เครื่องมือใดๆ คุณสมไทย บอกว่า ไม่มีเครื่องคัดแยกขยะ
ที่ไหนในโลก จะแยกขยะได้สมบูรณ์ เท่ากับสองมือของเรา และอีกข้อ
เชื่อไหมว่า มีเงินเรี่ยราด อยู่บนพื้น มากมาย ซึ่งเขาสามารถพาไปคุ้ยขยะ
แล้วนำไปขาย ได้สตางค์ มาให้เห็นจริงๆ เพราะเขาเอง ก็เริ่มจากจุดนี้
คือคุ้ยขยะด้วยมือตัวเอง ผมมองว่าสิ่งนี้ น่าจะช่วยคนได้เยอะ ผมจึงเริ่ม
ลงมือปฏิบัติ โดยผมมองเรื่อง สิ่งแวดล้อมแทนเรื่องธุรกิจ
ความเป็นไปได้ในเชิงธุรกิจ
ในเรื่องธุรกิจขยะ ผมมองว่ามันไม่ง่าย เพราะโดยพื้นนิสัยคนไทยเรา การจะสร้างจิตสำนึก
ให้จัดการกับ ขยะนั้น ยังห่างไกล แต่เมื่อกระโดดลงมาทำจริงๆ แล้ว ผมเห็นว่า
เป็นงานที่มีประโยชน์ ต่อส่วนรวม จึงมุ่งเป้าไปที่ อยากให้ ความรู้
แก่บุคคลทั่วๆ ไป อันดับแรกเพื่อให้เขา มีจิตสำนึกก่อนว่า การจัดการ
กับขยะนั้น เป็นเรื่องง่ายๆ เพียงแต่เรา มักมองข้ามไป เพราะเมื่อพูดถึงเรื่องขยะ
คนเรามักจะเกิดอาการ ที่เรียกว่าแพ้ความรู้สึก โดยเกิดความรังเกียจว่า
เป็นของสกปรก เหม็น ซึ่งพอเกิด ความรู้สึกขึ้น คนก็จะ หาทางหลีกเลี่ยง
ก็เลยคล้ายกับ เป็นการหนีปัญหา ตรงนี้ ผมอยากให้ทุกคน หันมามอง และคิดให้ดีว่า
ใครเป็นผู้สร้างขยะ คำตอบก็คือ ตัวเราแต่ละคนนี่แหละ ที่เป็นผู้สร้างขยะ
ไม่มีสัตวโลกชนิดไหนสร้างหรอก
ขณะนี้มนุษย์สร้างขยะจาก ๒ สิ่งใหญ่ๆ
คือ ขยะจากความสะดวกสบาย และ ขยะจากเทคโนโลยี ขยะจาก ความสะดวกสบาย
เช่น บรรจุภัณฑ์ต่างๆ เดี๋ยวนี้เรากินข้าว ก็เริ่มไม่ใช้จานกันแล้ว
เราใส่กล่องแทน เพื่อความรวดเร็ว สมัยก่อนซื้อก๋วยเตี๋ยวก็ห่อใบตอง
ต่อมาก็เป็นกระดาษ ที่มีพลาสติกวางข้างบน ต่อมาก็ใช้ พลาสติก เคลือบบนกระดาษ
ขณะนี้เปลี่ยนมาใช้กล่องโฟมแล้ว เราพัฒนาบรรจุภัณฑ์ไปเรื่อยๆ สู่ความทันสมัย
รวดเร็ว ท้ายที่สุด บรรจุภัณฑ์ทันสมัยเหล่านี้ ก็ย่อยสลายยากขึ้นทุกที
ขยะจากเทคโนโลยี ตัวอย่างเช่น เริ่มจากเครื่องคิดเลข
ที่กำลังล้าสมัย เพราะมีคอมพิวเตอร์เข้ามาแทน วัสดุพวกนี้ ทำลายยาก
และยังมีโลหะปนเปื้อนเยอะมาก นับวันพัฒนาการที่เกิดจากเทคโนโลยีใหม่ๆ
จะกำจัดยากขึ้นทุกที สิ่งเหล่านี้ มนุษย์เป็นผู้สร้างล้วนๆ ถ้าเราไม่หันกลับมาแก้ที่ต้นเหตุ
ต่อไปปัญหา จะหมักหมม จนแก้ไขยากยิ่งขึ้น ดังนั้น เราควรหันกลับมาดูว่า
สาเหตุเหล่านี้มาจากอะไร ขณะนี้เท่าที่ ผมทราบ ในต่างประเทศกำลังทำอยู่
เช่น ผู้ผลิต โทรทัศน์ เมื่อเครื่องหมดอายุ ผู้ผลิตต้องรับผิดชอบ นำกลับไปทำลาย
หรือ นำกลับไปรีไซเคิลมาใช้ได้ใหม่
ทุกอย่างในโลกควรรีไซเคิลได้เหมือนวัสดุธรรมชาติ
เมื่อสร้างอะไรขึ้นมา ธรรมชาติก็สามารถย่อยสลายได้ อันที่จริง นักวิทยาศาสตร์ทั้งหลาย
จะคิดสร้างอะไร ก็น่าจะคิดเรื่อง การย่อยสลายสิ่งนั้น ควบคู่ไปด้วย
ตัวอย่าง คนที่คิด เรื่องพลาสติก เขาเก่งมาก เพราะมีความสามารถผลิต
สิ่งที่มีความคงทนต่อกรดต่อด่าง ต่อการกัดกร่อน จนที่สุด ยากต่อการทำลาย
ดังนั้นเราต้องเอาโจทย์ข้อนี้ใส่เข้าไปด้วย และควรต้องคิด ในลักษณะอย่างนี้
สภาวะปัญหาขยะในปัจจุบัน
ผมยกตัวอย่าง กทม. ๕๐ เขต สถิติเฉลี่ย เขตหนึ่งสร้างขยะประมาณ ๒๐๐
ตัน/วัน ๕๐ เขตมีขยะประมาณ ๑ หมื่นตัน/วัน เพราะฉะนั้นเฉพาะกทม. เท่ากับสร้างภูเขาขยะ
วันละลูก ถ้าเราไม่จัดการกับมัน ภูเขาขยะ ก็จะใหญ่ขึ้นทุกที และจำนวนภูเขาขยะ
ก็เพิ่มมากขึ้นๆ ขณะที่บางส่วน เราทำลายภูเขาธรรมชาติ แต่เราก็สร้าง
ภูเขาขยะเพิ่มขึ้นมาใหม่ทุกวัน หากเป็นอย่างนี้ต่อไป อะไรจะเกิดขึ้น
ภูเขาธรรมชาติ มีต้นไม้ปกคลุม ทำให้เกิด สิ่งดีงามตามธรรมชาติ แต่ภูเขาขยะที่มนุษย์สร้างขึ้น
จะสร้างความผิดปกติ ให้แก่ธรรมชาติ ในเรื่องกลิ่น ตามด้วยพิษภัย จากสารตกค้างต่างๆ
ทั้งที่ย่อยสลาย และไม่สามารถ ย่อยสลาย รวมทั้งโลหะหนัก ซึ่งเป็นอันตราย
ต่อสุขภาพกาย และจิตใจ โดยเราจะทนต่อสิ่งเหล่านี้ไปได้ นานเท่าใด ถ้าเราคิดช้ากว่านี้
โอกาสที่ก่อให้เกิดขยะ จะเพิ่มมากขึ้นๆ โดยไม่สามารถ จะหยุดยั้งมันได้
การแก้ปัญหาที่ดำเนินอยู่
ทุกวันนี้ กทม.ไม่ได้ทำลายขยะ เพียงแต่ นำขยะไปฝากเก็บไว้เท่านั้น
ลักษณะการทำงานก็คือ ชักลากขยะ จากบ้านประชาชน ออกไปไว้ ๓ แห่ง ที่ท่าแร้ง
อ่อนนุช และหนองแขม ต่อจากนั้น ก็ดำเนินการเคลื่อนย้าย ไปฝังกลบ ในสถานที่อีก
๓ แห่ง คือ ที่บางพลี สมุทรปราการ และนครปฐม การนำขยะไปฝังกลบ ไม่ใช่วิธีการ
ทำลายขยะ แต่เหมือนเป็นการ นำขยะไปฝากเขาไว้ จะฝากคนที่รู้จักหรือไม่รู้จักก็ตาม
เมื่อเรา นำขยะ ที่เต็มไปด้วยมลพิษไปฝากใคร เขาย่อมไม่ดีใจ และไม่มีความสุขแน่
พออีกสักระยะ พวกเขาก็จะ ลุกฮือ ขึ้นต่อต้าน เมื่อเขาไม่ยอมรับของฝาก
ถามว่าแล้ว ภูเขาขยะวันละลูก จะนำไปไว้ที่ไหน ถ้าเราไม่คิด ลดมัน สักวันต้องเกิด
พิษภัยร้ายแรงแก่เราแน่ๆ ดังนั้น สิ่งที่เราควรจะจัดการ มีวิธีเดียว
คือ จัดการกับขยะ ตั้งแต่ต้นทาง เริ่มจากภายในบ้านเราออกไปเลย และต้องทำทุกคน
ทำทุกวัน จึงจะประสบความสำเร็จได้
สร้างสำนึกแห่งความรับผิดชอบ
ขั้นตอนแรกคือ การสร้างจิตสำนึกและให้ความรู้ ผมได้รับเชิญเป็นวิทยากรตามโรงเรียน
และหน่วยงานต่างๆ พูดเรื่อง ความรู้ในการจัดการกับขยะรีไซเคิล วิธีการแยกขยะ
และการจัดเก็บ ชี้ให้เห็นว่า ขยะมีมูลค่า สามารถนำมาเปลี่ยน เป็นเงินตรา
เพื่อเพิ่มพูนรายได้ แม้ประชาชนจะมองว่ามีมูลค่าน้อย อย่างขยะ รีไซเคิลในบ้าน
ขายทีละไม่กี่สตางค์ แต่สิ่งที่ผมพยายามชี้ให้เห็น คือ มูลค่าทางด้าน
ช่วยแก้ปัญหา สิ่งแวดล้อมซึ่งสูงมาก
เมื่อขยะเหล่านั้นอยู่ในที่ที่มันสมควรอยู่
ถ้ามันอยู่ในรถขยะ แน่นอน มันคงไม่ถูกที่ถูกทาง แต่ถ้ามันอยู่ในร้าน
ขายของเก่า มันต้องถูกทางแน่ ขอให้เห็นตรงนี้ อย่าคิดว่าการเก็บวัสดุรีไซเคิลในบ้าน
เป็นการยุ่งยาก และ เมื่อนำมาขาย ก็ได้เงินนิดเดียว แต่ลองคิดถึงผลที่เกิดตามมา
คือ
๑. โรงงาน เมื่อรับวัสดุสินค้ารีไซเคิลไป
จะทำให้ลดต้นทุน และเขาก็สามารถผลิตสินค้า ในราคาที่ถูกลง ขายสินค้า
ให้เราได้ถูกลง ทำให้ประหยัดเงินในกระเป๋า
๒. เขาไม่ต้องนำทรัพยากรใหม่ๆ มาใช้อีก
ซึ่งจะช่วยให้การทำลายทรัพยากรโลกช้าลง
๓.ช่วยประหยัดเงินตราของประเทศ โดยลดการสั่งซื้อวัสดุใหม่จากต่างประเทศ
ประการต่อมา เริ่มจาก ผู้ผลิต ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้น ของทุกสิ่งทุกอย่าง
ยกตัวอย่างผู้ผลิตที่ผลิตหีบห่อ ออกมาสวยๆ เพื่อต้องการ ให้ผู้ซื้อมอง
และ สนใจอยากซื้อ อันเป็นการก่อเกิดกิเลส ผู้ผลิต จึงควรต้องมี จิตสำนึก
รับผิดชอบด้วยว่า ทำอย่างไร ถึงจะย่อยสลาย หีบห่อนั้นๆ ได้ง่าย เช่น
สามารถนำกลับมารีไซเคิลได้ เป็นต้น ทั้งนี้จะต้อง มีการศึกษา ถึงตัวบรรจุภัณฑ์ว่า
จะทำลายอย่างไร หรือ สามารถจะรีไซเคิลได้อย่างไร โดยต้องมีรายละเอียด
แจ้งให้รัฐทราบ และรัฐควรทำคู่มือ ให้ความรู้ แก่ผู้ที่นำกลับไปรีไซเคิล
อีกรอบหนึ่ง นั่นคือ ควรต้อง มีเครื่องหมาย รีไซเคิลที่สินค้าด้วย
อย่างเช่น พลาสติกขณะนี้ ไม่ใช่ทุกชิ้น
ที่มีเครื่องหมาย รีไซเคิล ซึ่งจริงๆ แล้วมันควรมีเครื่องหมาย รีไซเคิล
ติดไว้เลยว่า นี่เป็นพลาสติกอะไร จะรีไซเคิลแบบไหน แต่ก็มีพลาสติกบางเจ้าทำอยู่
พวกขวด พลาสติก บางยี่ห้อ เขาจะเขียนว่า อันนี้เป็น P.P. เป็น P.E.
หรือบางทีก็เขียนเป็นรหัส เบอร์ ๒,๓,๔,๕,๖ ตัวอย่าง พลาสติก P.X. จะเป็น
เบอร์ ๖ เป็นต้น ผมอยากให้ผู้ผลิต มีจิตสำนึก ที่ต้องทำเครื่องหมายรีไซเคิล
ระบุทุกชิ้น ขณะนี้ มีบางคนทำแล้ว แต่ว่ายังไม่ได้ทำทุกอย่างทุกประเภท
ถ้ามีเครื่องหมายรีไซเคิล ในบรรจุภัณฑ์ ทุกชิ้นและ รู้ด้วยว่าขายได้
ประชาชน จะทิ้งไหม ผมว่าเขาย่อมไม่ทิ้ง และถ้ามีระบบ การขายที่ดี รวดเร็วสะดวก
รู้ด้วยว่าขายได้ที่ไหน ขายให้ใคร ก็จะเป็นธุรกิจ ที่ดีอย่างหนึ่ง
หากทำได้อย่างนี้ ก็จะเหลือแต่วัสดุที่นำไปทิ้งบนถนน ซึ่งเป็นขยะที่ย่อยสลายได้เท่านั้น
การฝังกลบขยะที่จะสร้างปัญหาในอนาคต
แต่ขณะนี้เรายังไม่มีการแยกขยะที่ดี คนที่แยกคือคนเก็บขยะ และชาวบ้านที่เข้าไปคุ้ยขยะ
กทม. มีโรงงาน กำจัดขยะ ที่อ่อนนุช แต่ก็ไม่ได้ทำเป็นล่ำเป็นสัน โดยมุ่งนำขยะไปทำแค่
๒ อย่าง คือ ทำปุ๋ยกับการ นำกลับไปทำเชื้อเพลิง เพื่อเผาทำลาย โดยไม่ได้เน้นในเรื่องนำขยะไป
รีไซเคิล ทุกวันนี้ กทม. เก็บขยะ จากชาวบ้าน ด้วยรถขยะ ระหว่าง อยู่ในรถ
พนักงานเก็บขยะก็คุ้ยก่อน เพื่อนำวัสดุที่รีไซเคิลได้ไปขาย แต่ถึงอย่างไรเขาก็เก็บได้ไม่หมด
เพราะรถขยะ วิ่งไปเก็บไป ไม่มีเวลาคุ้ยได้หมด เมื่อถึงจุดพักขยะ ที่หนองแขม
ก็นำไปเทกองเป็นภูเขา และจะมีผู้รับสัมปทาน ขนขยะเหล่านี้ ไปฝังกลบ
โดยนำรถแบ๊คโฮล ตักขึ้นรถคล้ายตู้คอนเทนเนอร์ ที่เหมือนกล่องสี่เหลี่ยม
ตักใส่จนเต็มรถ แล้วก็นำไปฝังกลบต่อ ที่กำแพงแสน นครปฐม ของผู้รับสัมปทาน
โดยเขาจะขุดหลุมนำหน้าดินไปขาย แล้วเทขยะ ลงในหลุม พอเริ่มเต็ม ก็จะมีรถแบ๊คโฮล
ไปย่ำให้มันแน่น เพื่อจะมีเนื้อที่เทขยะได้มากๆ จนขยะสูงขึ้นเต็มบ่อ
ก็นำดินมากลบ ปล่อยให้ขยะย่อยสลายเอง ซึ่งก็มีทั้งส่วนที่ย่อยสลายได้
กับย่อยสลายไม่ได้ ขยะส่วนที่ไม่ย่อยสลาย จะทำให้เกิดมลพิษ ต่อสิ่งแวดล้อม
แต่สำหรับผม เสียดายทรัพยากร ที่ต้องสูญเสียไปมากกว่า ลองคิดดู ถ้ารัฐเก็บขยะ
๑ หมื่นตันต่อวัน ปล่อยให้พนักงานเก็บขยะคุ้ย และชาวบ้านคุ้ย ๒ แห่ง
คือที่จุดพัก กับหลุมฝังกลบ วันหนึ่งๆ นำออกมาขาย ได้เพียง ๓-๕% ของขยะทั้งหมด
ยังเหลือขยะที่น่าจะแยกได้อีก ๙๗ หรือ ๙๕% ถ้าจะจัดการแยกต่ออีกก็คงมีปัญหา
แยกยังไง ก็ไม่หวาดไม่ไหว เพราะคงต้องใช้คน เป็นจำนวนมาก ดังนั้น จึงต้องย้อนกลับมา
ที่ผมพูดไว้แต่แรกคือ ต้องแยกตั้งแต่ที่บ้าน โดยทุกบ้าน ควรแยก เก็บขยะรีไซเคิลไว้ก่อน
พอให้ได้มากจำนวนหนึ่ง ก็ขายให้พวกที่มารับซื้อของเก่า เรื่องนี้ถ้าประชาชน
มีการเก็บขยะเป็นระบบ และ รัฐส่งเสริมผู้ค้าของเก่าจริงจัง ประชาชนก็จะเก็บขยะรีไซเคิลขายมากขึ้น
ฝากถึงผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมือง
ผมคิดว่ารัฐควรส่งเสริมธุรกิจผู้ค้าของเก่า และรณรงค์ให้ชาวบ้านขายขยะรีไซเคิล
ให้แก่ ผู้ค้าของเก่า เพื่อผู้ค้าของเก่า จะได้รวบรวมเอาไปรีไซเคิลจริงๆ
แต่ทุกวันนี้ นอกจากรัฐไม่สนับสนุนแล้ว ยังพยายาม กีดกันธุรกิจนี้ด้วย
ยกตัวอย่าง เช่น การขอใบอนุญาต เป็นผู้ค้าของเก่า หรือ เป็นผู้จัดการเรื่อง
ขยะรีไซเคิล ต่างๆ เหล่านี้ กทม. ไม่ยอมออกใบอนุญาต ให้ง่ายๆ และในเรื่องของระบบภาษี
เวลาชาวบ้าน ขายขยะ รีไซเคิล ชาวบ้านจะสามารถเรียกใบเสร็จรับเงิน เพื่อเป็นหลักฐาน
ในการหักภาษีได้ไหม ก็ไม่ได้ พอทำไม่ได้ รัฐก็ใช้วิธีประเมินภาษีสูงๆ
เพราะรัฐคิดว่า การทำการค้า ของเก่า มีกำไรเยอะ แต่ไม่ได้มองว่าธุรกิจนี้
ก็เหมือนธุรกิจทั่วไป มีรายรับรายจ่าย มีค่าแรงคนงาน มีค่าน้ำ ค่าไฟ
ทุกอย่าง เมื่อเป็นลักษณะแบบนี้ ผมสงสัยว่า จะใช้หลักอะไร ในการประเมินภาษี
เพราะในเมื่อไม่สามารถ หาใบเสร็จ มาหักต้นทุน ก็กลายเป็นรายได้ล้วนๆ
ที่ต้องเสียภาษี
นอกจากนี้ผมคิดว่ารัฐน่าจะสร้างเครื่องมือบางอย่าง
เพื่อช่วยเหลือธุรกิจด้านนี้ รู้ไหมครับ ปัจจุบัน เรายัง ล้าหลัง กว่าประเทศลาว
ซึ่งเขายกเว้นภาษีให้แก่ผู้ค้าของเก่า เพื่อสนับสนุน ธุรกิจด้านนี้
โดยถือว่า เป็นงาน ช่วยชาติอย่างหนึ่ง แต่ในประเทศของเรา บางสิ่งที่เป็นเรื่องดีๆ
ที่ควรจะเกิด แต่กลับ ไม่ได้เกิด ถ้าใน กทม. ทั้งหมด ๕๐ เขต เราหนุน
ผู้ค้าของเก่า รายใดรายหนึ่ง ในเขตนั้นอย่างจริงจัง เพื่อช่วยจัดการกับขยะ
ในเขตนั้น ๕๐ เขตก็จะมี ผู้ประกอบการอยู่ ๕๐ แห่ง ทำให้เกิดเป็นกระบวนการที่จะช่วย
ลดปัญหาขยะให้รัฐ และยังเป็นการกระจายรายได้ แก่ประชาชนด้วย โดยไม่ต้องลงทุนอะไรมาก
เพียงแต่ กทม. ช่วยเกื้อหนุน ทางด้านกฎหมายและภาษี โดยไม่จำเป็นต้องให้ผูกขาด
เพราะผู้ประกอบการ ไม่ได้มีรายเดียว
ความพึงพอใจในงานนี้
ผมมีความสุขกับงานที่ทำ และคิดว่ามาถูกทางแล้ว คืออย่างน้อย ผมได้ทำประโยชน์
ให้แก่ส่วนรวม ได้ช่วยเหลือเด็ก ให้มีรายได้ เด็กที่มาช่วยผมคือเด็กที่พ่อแม่เป็นพนักงานที่นี่
ผมคิดว่างานเหล่านี้ น่าจะปลูกฝัง ให้เด็กได้ ผมจึงรับเด็ก เข้ามา
ช่วยคัดแยกขยะ ภายใน ๒ เดือน พวกเขาจะคัดแยกเก่งมาก อยู่ในขั้นมือโปร
ก่อนทำเราจะอบรม ทฤษฎีกันก่อน เราฝึกอย่างหนัก พอปิดเทอมเด็กกลุ่มนี้ก็จะมาอีก
เขาจะได้ค่าแรง สำหรับเป็นทุนการศึกษา บางคนวางแผน ซื้อกระเป๋ารองเท้านักเรียน
ตามที่เขาต้องการ แม้จะไม่ใช่รายได้มากมาย แต่เด็กจะได้รู้คุณค่า ของขยะอย่างแท้จริง
เพราะเขาหยิบจับมันทุกวัน เขาจะรู้ว่า วัสดุชิ้นไหนเป็นเงินเท่าไร
และรู้วิธีการจัดการกับมัน หลังการอบรม ผมรับรองว่า เด็กทุกคน แยกขยะ
เป็นหมด แต่เมื่อถามว่า กลับไปบ้าน หนูจะไปทำต่อไหม เขาตอบว่า ที่บ้านไม่มีใครทำ
ปัญหาอยู่ตรงนี้
ตั้งความหวังอะไรในอนาคต
ผมอยากหาวิธีสร้างจิตสำนึกที่เร็วกว่านั้น และขยายวงกว้างออกไปกว่านั้น
แต่ไม่มีวิธีอื่น เพราะเราทำงาน ในลักษณะ ครอบครัว ทำเท่าที่เรามีกำลัง
เราขาดงบประมาณ ฉะนั้น อยากให้ใครก็ได้ เป็นสื่อกลาง ที่จะช่วยถ่ายทอด
แนวคิดเหล่านี้ เพื่อสร้างจิตสำนึก ให้ชาวบ้านรู้ว่า การจัดการกับขยะนั้น
ต้องทำ อย่างไรบ้าง
(เราคิดอะไร
ฉบับที่ ๑๔๓ มิถุนายน ๒๕๔๕)
|