หน้าแรก >[09] การสื่อสาร > การเผยแพร่ธรรมะ >เราคิดอะไร

โรงเรียนสันโดษ ตอนที่ ๑

โรงเรียนประชาบาลอำเภอแว้ง ที่น้อยเรียนอยู่ตั้งสี่ปี สมัยที่เธอยังเล็กนั้น เป็นสิ่งก่อสร้าง ที่ใหญ่โตที่สุด ในอำเภอ ชายแดน แห่งนี้ ใหญ่กว่าที่ว่าการอำเภอ และใหญ่กว่าโรงพัก ที่อยู่ติดกันเสียอีก ทั้งบริเวณ ก็กว้างขวางกว่า ตั้งหลายเท่า อย่างเดียว ที่สู้อำเภอและโรงพักไม่ได้ ก็คือโรงเรียนแว้ง ไม่มีรั้ว เหมือนสถานที่ ราชการ ทั้งสองแห่งนั้น มีแต่ดงนมแมว ติดสนาม หลังบ้านพัก นายอำเภอเพียงด้านเดียว

รอบบริเวณอำเภอและโรงพักเขาปลูกต้นไผ่ชนิดหนึ่งเป็นรั้วล้อมบริเวณรูปสี่เหลี่ยม ไผ่พันธุ์นี้มีสีเขียวแก่ ลำต้น เล็กนิดเดียว ขนาดเท่านิ้วชี้ของน้อยเท่านั้นเอง มันแตกหน่อจนกอแน่นเอี้ยด มองทะลุไปอีกด้าน แทบไม่เห็น เขาเว้นไว้ แต่ที่เป็น ช่องทางเข้าออกทั้งสี่ด้าน

หน้าที่ว่าการอำเภอและโรงพักเป็นสนามใหญ่มาก ใช้เป็นที่จัดงานสำคัญๆ ถ้าไม่มีงานก็จะใช้ เป็นที่ซ้อม ฟุตบอล ของคนหนุ่มในอำเภอ คณะฟุตบอลของอำเภอแว้งนี้เก่งมากทีเดียว ขนาดคณะฟุตบอล จากปาเซมัส ทางฝั่ง ประเทศมลายู ข้ามมาแข่งด้วย ยังแพ้กลับไปเลย หัวหน้าคณะฟุตบอลแว้ง เคยเป็นครู ชื่อครูสุวัฒน์ แต่คนแว้ง เรียกท่านกันว่า ครูซาลาม

ข้ามสนามไปด้านตรงกันข้ามอำเภอเป็นบ้านพักสำหรับครอบครัวปลัดอำเภอและข้าราชการอื่นๆ เป็นบ้านไม้ ใต้ถุนสูง แบบเดียวกันหมด ปลูกเรียงกันเป็นแถว ด้านซ้ายของสนามเป็นบ้านพักนายอำเภอ มีหลังเดียว โดดเด่นสะดุดตา เหลืออีกด้านหนึ่ง ที่ตรงกันข้ามกับบ้านนายอำเภอ หรือด้านขวาของสนาม เป็นที่ลุ่ม ติดถนน ที่พุ่งตรงมาจาก สุไหงโกลก นี่คือสี่ด้านของสนามหน้าอำเภอ ซึ่งเป็นเสมือนศูนย์กลางของอำเภอ ชายแดนแห่งนี้

โรงเรียนประชาบาลอำเภอแว้งตั้งอยู่บนเนินเตี้ยๆหลังบ้านนายอำเภอ ถัดจากโรงเรียน ก็เป็นป่ายาง และ ลำห้วย เรื่อยไป จนถึงกำปง(หมู่บ้าน) ต่างๆ ในเขตป่าจนถึงทิวเขา เด็กๆ เดินไปโรงเรียน ได้หลายทาง สุดแต่ว่า บ้านใคร อยู่ทางไหน สำหรับน้อยกับพี่แมะนั้นตามปรกติ จะเดินข้ามคลองก่อน พอปีนตลิ่งสูงชัน ของคลองแว้ง ขึ้นมาทาง ฝั่งอำเภอ แล้วก็เดินไปตามถนน ระหว่างบ้านใหญ่ ของครูวาหับ กับตลาดแว้ง ซึ่งปลูกในที่ดิน ของครูวาหับ เหมือนกัน พอทะลุออกหลังอำเภอมาแล้ว ก็เดินเลาะตามถนน ในเขต ที่ว่าการอำเภอ มาออกที่สนามฟุตบอล จากนั้น แทนที่จะเดินไปตามถนน รอบสนาม เด็กทุกคน จะเดิน ตัดสนาม เป็นแถวตามกันไป เสียจนสนาม เป็นร่อง ทางเดินแคบๆ เพราะถูกเท้าเล็กๆ เหยียบย่ำ อยู่ชั่วนาตาปี เพื่อลัดทะแยง ไปออกมุมถนน ข้างบ้านนายอำเภอ เข้าสู่โรงเรียนประชาบาลอำเภอแว้ง

โรงเรียนของน้อยเป็นอาคารไม้สองชั้น ไม่ทาสี ชั้นล่างยาวเท่าตัวโรงเรียน โล่งตลอด พื้นยกสูง ราดซีเมนต์ ตรงกลาง มีตู้ใหญ่ ๔ ตู้ ในตู้ที่หนึ่งเต็มไปด้วยงานการฝีมือของนักเรียน ซึ่งก็ไม่ใช่อะไรเลยนอกจาก วัว ควาย ช้าง ลูกมังคุด ลูกน้อยหน่า ลูกทุเรียนซึ่งเด็กนักเรียนปั้นด้วยดินเหนียวที่ขุดกันจากตลิ่งคลองแว้ง คุณครู ได้คัด เอาแต่ที่สวยๆ ใส่ไว้ เผื่อใครมาเยี่ยมโรงเรียน ก็จะได้ให้เขาดู ชั้นล่างของตู้ใบนี้ อัดแน่นด้วย ไม้กวาด ก้านมะพร้าว ที่นักเรียนชายทำ เป็นการฝีมือเหมือนกัน โรงเรียนแว้งสะอาด ปราศจาก ขยะเผ้าผง ก็เพราะ มีไม้กวาด ก้านมะพร้าวนี้เอง ชั้นไหน ต้องการก็มาเบิก ไปใช้ได้เสมอ คุณครูก็ขอเบิก ไปใช้ที่บ้าน ได้ด้วย ไม่มีการหวงห้ามแต่อย่างใด ส่วนตู้อีกสามใบ คุณครูไว้สำหรับ เก็บข้าวของ เครื่องใช้ ของโรงเรียน ตู้ทั้งหมดนี้ ใช้กั้นห้องเรียนชั้นมูล กับชั้น ป.๑ ไปด้วยในตัว

เมื่อใดคุณครูใหญ่เรียกประชุมเด็กทั้งโรงเรียนก็ใช้ชั้นล่างนี้เพราะกว้างขวาง เย็นสบายกว่าชั้นบน ที่กั้น เป็นห้องเรียน ชั้น ป.๒ ป.๓ และป.๔ ตอนน้อยเข้ามาเรียนใหม่ๆ นั้นเธอรู้สึกว่าพวก ป.สูง ที่เรียนชั้นบน เหล่านั้น ล้วนเป็นเด็กโต ที่เก่ง และ น่าเกรงขามทั้งสิ้น

เวลาพักเที่ยงคุณครูอนุญาตให้ใช้ชั้นล่าง เป็นที่เล่นของนักเรียน ป.๑ และชั้นมูลได้ ชั้นล่างนี้ จึงเป็น ดังสวรรค์ ของเด็กเล็ก การละเล่นของนักเรียนที่โรงเรียนแว้ง ไม่ต้องมีเครื่องมือ หรือเครื่องประกอบใดๆ ทั้งนั้น แต่ก็สนุกสนานดี ส่วนมากเด็กๆ จะเล่น เข้ยิก กันมากกว่าอย่างอื่นหมด เมื่อจะเล่น ก็ช่วยกัน ลากเก้าอี้ยาว สำหรับนั่งเรียน ออกมาต่อกันเข้าก่อน สมมุติว่า เป็นเกาะ ทุกคนไปอัดแน่นกัน บนเกาะ สมมุตินั้น ให้เพื่อนคนที่เป็น ไอ้เข้ คอยวิ่งวน แตะคนไหนเข้าก็ร้องว่า "ตาย!" คนที่ถูกไอ้เข้แตะ ก็กลายเป็น ไอ้เข้ต่อไป คนที่เดิมเป็นไอ้เข้ ก็กลายเป็นคน ขึ้นมาอยู่ บนเกาะแทน

เท่านั้นเอง ง่ายมาก แต่สำหรับเด็กๆ แล้วแสนจะตื่นเต้นเพราะกลัวไอ้เข้สมมุติ

ถ้าจะให้สนุกและตื่นเต้นกว่านั้นก็หาเศษชอล์คที่คุณครูไม่เอาแล้วมาวาดวงกลมแฝดเป็นรูปเลข ๘ บนพื้นซีเมนต์เข้า วงหนึ่งใหญ่ วงหนึ่งเล็ก สมมุติว่าพื้นที่ในเลข ๘ นั้นเป็นเกาะสองเกาะติดกัน ไอ้เข้ จะวิ่งวนอยู่ได้นอกเส้นเกาะ ล้ำเส้นไม่ได้ ถ้าล้ำเส้นถึงแตะถูกใคร เขาก็ไม่ตาย ความสนุกอยู่ที่คนบนเกาะ มักจะแน่นเสียจนเวลา ไอ้เข้ วิ่งรอบเกาะ ต้องพากันหวีดร้อง หนีหมุนอัดกันแน่น อยู่ในเกาะ ออกนอก เกาะไม่ได้ แต่สามารถกระโดด ข้ามไปอยู่อีกเกาะหนึ่ง ที่เล็กกว่าได้ เวลาเล่น เข้ยิก กันทีไร เด็กๆ จะหวีดร้อง เสียงดัง จนคุณครูต้องมาปราม หรือดุให้เบาเสียงลงอยู่บ่อยๆ ถูกปรามบ่อยเข้า ก็ชวนกัน เลิกเล่นเสีย ช่วยกันจัดโต๊ะเก้าอี้ ให้เข้าที่ก่อนที่เปลี่ยนไปเล่น ที่ลานดินลูกรังสีแดง รอบอาคารเรียนแทน

คราวนี้เด็กๆ จะเปลี่ยนเป็น เล่นเตย กันอย่างสนุกสนาน เครื่องประกอบการเล่น ไม่ต้องมีอีกนั่นแหละ แค่เอาไม้ ขีดเป็นเส้น ขนานกันเข้า ให้พอกับจำนวนคน ที่เป็นฝ่ายดัก แล้วก็ขีดเส้นกลางยาวตลอดลงมา เส้นนี้สำหรับ ฝ่ายดักคนแรก สามารถ วิ่งขึ้นลง ได้ตลอดเหมือนเป็นแม่ทัพ คอยสั่งการตั้งค่าย กันการบุก ของฝ่ายลง ทั้งขาลง และขาชึ้น น้อยชอบเล่นเตย มากที่สุด ชอบทั้งการเป็นฝ่ายลงและฝ่ายดัก เล่นเตยนี้ ต้องใช้สายตา สมาธิ และ การเคลื่อนไหว ที่เร็วพอๆ กัน

น้อยไม่ทราบว่าใครเป็นคน เอาการเล่นเตยนี้มาสอน ให้นักเรียนที่แว้งเล่น แต่มีมานานแล้ว อาจจะเป็นคุณครู สมัยก่อน ที่เคยเห็นที่อื่น เขาเล่นกันก็ได้ เพราะกติกาการเล่นก็เหมือนกับทื่อื่น เธอชอบการเล่น ที่ต้องช่วยกัน เป็นกลุ่มอย่างนี้ คนลงต้องคอยยั่วให้คนดักหลงถลาไปสกัดเสียด้านหนึ่ง ปล่อยที่ว่างให้อีกคน ที่เตรียมตัว พร้อมอยู่แล้วได้ปรื๋อลงไป และที่น้อยชอบมากที่สุด ก็คือเวลาที่เมื่อฝ่ายหนึ่ง ถลาปรื๋อไปได้แล้ว ฝ่ายดัก จะต้องคุมสติให้ดี รีบเปลี่ยนรูปการตั้งรับ ให้เร็วที่สุด น้อยเป็นเด็กตัวเล็ก ผอมกงโก้ วิ่งเร็ว จึงมักได้ เป็นคนนำ ฝ่ายของเธอวิ่งทะลวง ลง และ ขึ้น ได้เสมอ แถมยังมีโอกาสทำรอบ ได้ร้องเตย! อยู่บ่อยๆ

ถ้าวันไหนเบื่อ เล่นเตย เด็กๆ ก็เปลี่ยนมาเล่น เรือบิน การเล่นเรือบินนี้ไม่ต้องใช้อะไรอีกเหมือนกัน แค่หาไม้ มาลากเส้น บนดิน ให้เป็นรูปเหมือนเรือบินเสียก่อน คือ ตอนแรกเป็นบันไดเรือบิน ๒ ขั้น เป็นรูปสี่เหลี่ยม ตรงนี้สำหรับ กระโดดลงเท้า ได้แค่ข้างเดียว แล้วจึงถึงปีกเรือบิน สำหรับวางเท้าได้ ทั้งสองข้าง จากนั้น ก็เป็นลำตัวเรือบิน ที่ต้องเดิน ขาเดียว ไปสอง หรือ สามขั้นก็ได้ แล้วก็ถึงปีกหน้า ที่วางเท้าได้ทั้งสองข้าง อีกครั้งหนึ่ง ก่อนที่จะถึงหัวเรือบิน หรือ บางทีก็เรียกกันว่า หัวกะโหลก เพราะเป็นรูปกลม ที่คนเล่น ต้องไม่เข้าไปเหยียบ แค่กระโดดกลับหลัง แล้วเอามือ ลอดใต้ขาทั้งสอง ไปหยิบ แม่เกย ที่ทอยไป ก่อนเดินเท่านั้น

แม่เกยนี้ทำกันเป็นรูปสี่เหลี่ยมบ้าง กลมบ้าง บางคนก็แค่หยิบเอาอะไรที่แบนๆ มาก็ใช้ได้แล้ว แต่แม่เกย อย่างนั้น มักทอยได้ ไม่ค่อยดี น้อยจะพิถีพิถันทำแม่เกยของเธอด้วยเศษกระเบื้องถ้วยแตก เลือกเอาชิ้น ที่เรียบจริงๆ มาฝนกับ พื้นซีเมนต์ ให้ได้รูป ที่ต้องการ ถึงจะทอยได้ดี ไม่กระโดด หรือแฉลบง่าย ทำให้ไป โดนเส้น ต้องตาย เสียก่อนได้เดิน

การเล่นของเด็กที่โรงเรียนแว้งนี้ จะหมุนเวียนกันแต่ละอย่างเป็นพักๆ สำหรับเด็กผู้หญิง ถ้าเบื่อการวิ่ง ก็สามารถเล่น หมากเก็บ กันได้เป็นวงๆ หมากเก็บที่เด็กแว้งเล่นมีหลายแบบ ถ้าจะเล่นเพื่อให้ได้ลูกไปเยอะๆ ก็เรียกเอาลูกมาลงกัน ทีละมากๆ จากนั้นก็เก็บไปเรื่อย จนกว่าจะ ตาย คือไปแถ้ง ลูกอื่นเข้า หรือไม่ก็รับ แม่ พลาดทำให้ แม่ตก ก็ต้องเปลี่ยน ให้คนอื่นเล่นต่อไป

แบบที่สองเรียกว่า หมากสอย เวลาเล่นต้องโยน แม่ ขึ้นไปก่อน ใช้มือขวาเก็บลูก โดยไม่ต้องกังวล เรื่องรับ แม่ลงมา เพราะจะรับแม่ ด้วยมือซ้าย หมากสอยนี้ ไม่ค่อยชอบเล่นกันนัก เพราะง่ายเกินไป แล้วก็ตาย ยากด้วย เด็กๆ ก็เล่นได้ ไม่ต้องใช้ฝีมือ เลยไม่สนุก สู้เล่นหมากเก็บ เป็นชุดไม่ได้ นั่นต้องใช้ฝีมือ ที่ชำนาญ แล้วจริงๆ

การเล่นหมากเก็บแบบยากนี้ใช้ลูกเพียง ๕ ลูกเท่านั้น ส่วนมากจะใช้ลูกหินขนาดเท่าๆ กันเพราะมันไม่กลิ้ง เหมือนลูกยาง หรือลูกสวาท ที่มักนิยมใช้สำหรับเล่นหมากขุมกันที่บ้าน การเล่นแบบเป็นชุดนี้ จะเริ่มตั้งแต่ หมากหนึ่ง หมากสอง เรื่อยไป จนถึงหมากห้าเสียก่อน จากนั้นอาจเล่นหมากสอยกันก่อนก็ได้ แล้วแต่ ตกลงกัน เล่นหมากสอย ตั้งแต่ หมากหนึ่ง หมากสอง จนถึงหมากห้า แล้วจึงถึงตอนที่ต้องใช้ฝีมือกันจริงๆ เพราะจะต้องเล่นเป็น ภาพ หรือ ท่า ต่างๆ ตั้งแต่ ข้ามสะพาน เข้าถ้ำเปิด เข้าถ้ำปิด ดักปลา ตำข้าว หุงข้าว ปิ้งปลา และอย่างอื่นอีกสารพัดตามแต่จะคิดกันขึ้นมา

หมากเก็บนี้ยังมีเล่นอีกหลายแบบ เช่น หมากฉุบ หมากทุบ แต่ถ้าเลือกเล่นอย่างยาก จะเล่นให้เก่ง ต้องใช้ สมาธิมาก เพราะต้อง คอยควบคุมตนเอง ให้ดีทั้งสายตา นิ้วมือ และความละเมียดละไม ในการเก็บลูก ไม่ให้แถ้ง (แตะ) กัน และ การรับแม่ ไม่ให้พลาดตกเสีย

นอกจากนี้แล้ว บางทีก็เล่น ตี่จับ ลูกช่วง หรือไม่ก็เล่น ไม้หึ่ง หรืออะไรอีกมากมายหลายอย่าง เด็กผู้ชาย มักไม่ชอบ การเล่นอย่าง หมากเก็บ อีมอญซ่อนผ้า แม่งูเอ๋ย ตะล็อกต๊อกแต๊ก อาจเป็นเพราะ การเล่น ดังกล่าว กระหนุงกระหนิงไป ไม่โลดโผนพอ พวกเขาจะแยกไปเล่นอย่างอื่น เช่น ลูกข่าง ฟุตบอล ที่ทำกันเอง หรืออะไรที่ต้องอาศัยการประดิษฐ์ เสียมากกว่า ที่เล่นร่วมกันได้บ้าง ก็มีเล่นลักหญบ กับ หญับโหญง (ไม้กระดก) และ วิ่งเปี้ยวเท่านั้นเอง

ด้านหน้าโรงเรียนมีแปลงไม้ดอกอยู่บ้าง แต่อาจเป็นเพราะดินไม่ดีและขาดการบำรุง ดอกไม้เลยไม่สวย เอาเสียเลย เมื่อไรต้นดอกไม้ดูซบเซามาก คุณครูก็จะให้เด็กแต่ละห้อง ช่วยกันหาต้นดอกไม้มาปลูก ซึ่งก็จะมี แต่ต้น ดอกฟอเก๊ตมีน้อต แก้วกุดั่น กุญหญี (บานไม่รู้โรย) เทียน แล้วก็ โกสน อีกอย่างหนึ่งเท่านั้นเอง

แปลงดอกไม้เหล่านี้อยู่สองด้านของเสาธงที่ทุกเช้าคุณครูจะต้องพาเด็กมาเข้าแถวตามลำดับ ตั้งแต่ชั้นมูล ถึงชั้นป.๔ เพื่อร้องเพลงชาติ แล้วหัวหน้าแต่ละชั้นจะเดินตรวจเล็บมือของเพื่อนๆ พบคนไหนเล็บยาว หรือเล็บดำ หัวหน้า ก็จะตีมือเพื่อน เสียหน่อยหนึ่ง เป็นการเตือน ให้ตัดเล็บให้สั้น บางทีคุณครูก็เดินตรวจเห าด้วยตนเองด้วย

สนามหน้าโรงเรียนแว้งนี้กว้างใหญ่มาก แต่ใช้กันแค่นิดเดียว คือ มีหญับโหญงอยู่สองอัน ให้เด็กเล่นได้ ทีละหลายๆ คน กับสนาม ตรงที่เรียบหน่อย สำหรับแต่ละชั้น ใช้เวลามีชั่วโมงพลศึกษา นอกนั้นแล้ว สนามก็เต็มไปด้วยหญ้าขี้เตย (หญ้าเจ้าชู้) จึงไม่มีใครชอบเดินผ่าน เพราะดอกหญ้าชนิดนี้ จะติดผ้าถุง และกางเกงเต็มไปหมด เสียเวลาเก็บออก คุณครูใหญ่ จะให้นักเรียนทั้งโรงเรียน ช่วยกันถอนหญ้าขี้เตยนี้ สัปดาห์ละครั้ง แต่มันก็ช่างขึ้นรวด ขึ้นเร็วเสียจริง เอาชนะมัน ไม่ค่อยได้เลย คุณครูเลยใช้อีกวิธีหนึ่ง เข้าช่วยด้วย คือ นักเรียนคนไหนทำผิด เช่น มาโรงเรียนสาย ก็จะถูกทำโทษ โดยให้ไปถอน หญ้าขี้เตย แต่ก็ยังเอาชนะมันไม่ได้อยู่นั่นเอง เด็กๆเรียกแถบนั้นว่า ป่าขี้เตย

ตัวอาคารเรียนมีบันไดสองข้าง ขึ้นไปชั้นบน ซึ่งแบ่งเป็นสามห้องใหญ่ เป็นห้องเรียนชั้น ป.๒ และป.๓ เสียสองปีก ตรงกลาง เป็นชั้นสำคัญที่สุด คือชั้น ป.๔ ที่คุณครูประจำชั้นเป็นครูใหญ่ ของโรงเรียนด้วย

หน้าห้องเรียนทั้งสามห้องเป็นระเบียงยาวตลอด แต่เฉพาะตรงหน้าห้องป.๔ มีเหล็กท่อนหนึ่ง แขวนไว้ที่ ราวระเบียง สำหรับใช้เหล็กแท่งยาว ที่แขวนไว้ใกล้กัน ตีบอกเวลา ทุกคนเรียกเหล็กนี้ว่า ระฆัง ทั้งๆ ที่มันไม่ใช่ระฆัง อย่างที่เห็นรูป ในหนังสือ แต่เสียงของมันก็ดัง และไพเราะไม่แพ้ระฆังจริง ทุกเช้า คุณครู จะตีระฆัง ท่อนเหล็กนี้ ครั้งแรกตีเวลา ๗.๔๕ นาฬิกาเรียกว่าระฆังหนึ่ง ครั้งที่สองเวลา ๘.๐๐ นาฬิกาตรง เรียกว่า ระฆังสอง ซึ่งคนในเขตอำเภอ รู้ตรงกัน หมดว่า เป็นเวลา โรงเรียนขึ้น คือเด็กนักเรียน ทุกคน จะเข้าแถวเคารพธงชาติ ก่อนเข้าห้องเรียน จากนั้นคุณครู ก็จะตีระฆัง สำหรับเปลี่ยน วิชาเรียน พอบ่าย สามโมง ระฆังก็จะตีบอกเวลาโรงเรียนลง หรือโรงเรียนเลิก พ่อแม่ ผู้ปกครองที่บ้าน ก็รู้ร่วมกันอีกว่า ประเดี๋ยวลูกหลาน ก็จะพากันเดินกลับบ้าน เป็นแถวเป็นกลุ่ม หยอกล้อกันไปบ้าง เล่นกันไปบ้างอย่างร่าเริง ตามประสา เพราะแว้งไม่มีรถยนตร์ ที่จะวิ่งมาชน หรือทับเด็ก พ่อแม่จึงไม่ต้องเป็นห่วงอะไร

ชีวิตนักเรียนแว้งเป็นอย่างนี้อยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน แต่เด็กๆ ก็ไม่เคยเบื่อโรงเรียนของตน โรงเรียน เป็นศูนย์กลาง ของชีวิต สังคม ที่สันโดษของคนแว้งโดยแท้ แม้แขกที่แว้ง จะพูดภาษามลายู กันทั้งนั้น และพูดภาษาไทย ไม่ได้เลย พวกเขาทุกคน ก็ต้องการส่งลูกหลาน เข้าโรงเรียน ถึงบ้านจะอยู่ไกล และลึกเข้าไปในป่ายาง หรือ ต้องลุยโคลน ผ่านป่าพรุออกมา เขาก็ยินดีทั้งนั้น

น้อยเคยได้ยินแขกคนหนึ่งพูดกับแขกอีกคนที่ไม่แน่ใจว่าควรจะส่งลูกเข้าโรงเรียนหรือจะให้อยู่บ้าน ช่วยพ่อแม่ ตัดยางดีกว่า เขาคุยกันที่หน้าร้าน ระหว่างรับประทานหมาก กับแม่ของน้อยว่า

"บูวีดิยองายีลา บูเละห์จีดิซีกิ พัวะกีตอนิงตูเละปง เตาะเละห์ บาจอปง เตาะเละห์ ซาเบะญาญอฆืนิงนี (ให้แกเรียนเถิด จะได้ฉลาดหน่อย อย่างพวกเรานี่ เขียนก็ไม่เป็น อ่านก็ไม่ออก ถึงได้น่าเวทนาอย่างนี้ไง)"

คนพูดบอกแม่ด้วยว่า ลูกของเขาที่เรียนอยู่ชั้นเดียวกับพี่แมะนั้น คิดราคายางก็เร็ว อ่านเรื่องที่มีในหนังสือ ให้พ่อแม่ฟัง ก็เห็นมีแต่เรื่อง ที่สอนให้ทำดีทั้งนั้น แล้วคุณครูก็ไม่ได้ห้าม ไม่ให้ไปสุเหร่า ไม่ได้ห้ามเรื่อง พูดภาษามลายู ไม่ได้ห้าม เรื่องหัดอ่าน กุรแอ (คัมภีร์กุรอาน) ชื่อจะใช้ชื่อมุสลิม อย่างเดิมก็ได้ จะขอชื่อไทย ใช้ในโรงเรียน คุณครูใหญ่ ก็ยินดี ตั้งให้ทุกคน ได้ใช้กันเป็นทางการ เสียด้วยซ้ำไป

เมื่อน้อยได้ยินเขาพูดจึงนึกขึ้นได้ว่า เพื่อนๆของเธอที่เป็นมุสลิม ล้วนมีชื่อไทย ที่เพราะกว่าชื่อเธอกันทุกคน คุณครูใหญ่ เก่งจริงๆ ด้วย วาด สมัย สมาน อุดม มณีพรรณ วัลลี มานิตา แล้วยังชื่ออื่นอีกมากมาย แต่มามุ เพื่อนรักของน้อยนั้น ปู่กับย่าของเขา ไม่อยากให้เปลี่ยน มามุจึงใช้ชื่อ ที่โรงเรียนว่า ด.ช.มามุ บิน มะเย็ง อยู่เช่นเดิม

เด็กมุสลิมเข้าเรียนไม่นานนัก ก็พูดภาษาไทยกลางได้ทุกคน กลายเป็นเด็กเก่งของประเทศ ที่ได้เปรียบ เพราะรู้ สองภาษา รัฐบาลที่บางกอก ก็อาจนึกไม่ถึง บางคนพูดได้ทั้งภาษาไทยกลาง และภาษาปักษ์ใต้ เสียด้วยซ้ำ แถมกลางคืน พวกเขายังเรียน ภาษาอาหรับ เพื่ออ่านพระคัมภีร์ อัล กุรอาน ด้วยก็เลย เป็นภาษาที่สาม เด็กบ้านป่า ในโรงเรียน ประชาบาลแว้ง ที่เรียนและสอนกัน อย่างสันโดษ เหมือนถูกตัดขาด จากโลกภายนอก จึงไม่ใช่เด็ก โง่เง่า เต่าตุ่นเลย

น้อยนึกขึ้นได้ด้วยว่า ที่แขกคนนั้นบอกแม่ว่า หนังสือที่ลูกเขาอ่านให้ฟัง มีแต่เรื่องที่สอนให้เป็นคนดีนั้น น้อยก็ กำลังอ่าน อยู่เหมือนกัน

จริงด้วยซี! เธอจำบทเพลง ในแบบเรียนเร็วใหม่ได้ตลอด แต่ไม่ค่อยได้คิดว่านั่นเป็นคำสอน โรงเรียนแว้ง ไม่มีอะไร มากก็จริง ต้องเรียนต้องสอนกัน อย่างสันโดษก็จริง แต่ในหนังสือที่พ่อ และคุณครูสอนให้อ่าน ให้ท่อง จนขึ้นใจนั้น เขาต้องการปลูก สิ่งที่ดีลงไป ในนิสัยของเธอ เสียตั้งแต่ยังเล็ก เธอเข้าใจแล้วว่า ที่เธอจะต้องไปถอนหญ้าเจ้าชู้ หากมาไม่ทันโรงเรียนเข้านั้น ก็ไม่ใช่เพราะคุณครูใจร้ายอะไรเลย แต่เพราะ คุณครูโรงเรียนแว้ง ต้องการสอนให้เธอ เป็นคนรู้จัก เคารพกฎเกณฑ์ เป็นคนซื่อสัตย์ ต่อตนเอง เป็นคน ตรงต่อเวลา เหมือนที่เธอท่องจำบทเพลง ในหนังสือ แบบเรียนเร็วใหม่ได้ อย่างขึ้นใจ ไม่มีวันลืมเลือนว่า

จงเปรียบเทียบเอาว่า เราเป็นนาฬิกาเอง
เข็มบ่งชี้ตรงเผง พึงเคร่งไว้ให้ทุกวัน
ย่ำรุ่งสะดุ้งตื่น วางหน้าชื่นลุกขึ้นพลัน
อาบน้ำชำระฟัน หมดโสมมผมเผ้าหวี
โมงเช้าเฝ้าแต่งตัว เครื่องเรือนทั่วทุกอย่างมี
เตรียมไปให้ทันที ที่เพื่อนเราเขาเรียนกัน
ตอนบ่ายหมายสิบห้า นาฬิกาเลิกมาพลัน
ถึงเหย้าเราขยัน หยิบงานทำโดยจำนง
ร่วมด้วยช่วยแม่พ่อ สิบเจ็ด น.พอแล้วลง
อาบน้ำค่ำแล้วคง ฟื้นความรู้ที่ครูสอน
ท่องเรียนเขียนอ่านพอ ยี่สิบ น.ก็เข้านอน
ฝึกตัวทั่วทุกตอน เทียบตามนาฬิกาตี
ย่อมจะกระทำให้ อนามัยเกิดได้ดี
กายใจแจ่มใสมี สมองโล่งปลอดโปร่งเอย

อำเภอแว้งไม่มีสถานที่หรืออะไรให้เด็ก เถลไถล เลิกเรียนแล้วจึงชวนกันกลับบ้าน พี่แมะกับน้อยนั้น ต้องช่วยพ่อแม่ ทำงานบ้าน เป็นประจำทุกวัน เพราะพ่อแม่ กำลังสร้างฐานะ ให้มั่นคง จึงมีงานมาก เพลงในหนังสือ แบบเรียน เร็วใหม่ อีกบทช่างตรงกับ ชีวิตสันโดษ ของเด็กนักเรียน ที่โรงเรียนแว้ง อย่างเธอ เสียจริงๆ และน้อย ก็ซาบซึ้งใจ ไม่มีวันจืดจาง ว่าทั้งหนังสือเรียน คุณครู โรงเรียน และพ่อแม่ ต่างช่วยกัน อบรม บ่มนิสัยลูกหลาน ให้รู้จักหน้าที่ ของตน อย่างเต็มที่ เหมือนที่เธอท่องได้ขึ้นใจว่า

เราต้องตื่น ขึ้นล้างหน้า เวลาเช้า
ฟันผมเผ้า พึงชำระ ให้สะอาด
เราจงทำ หน้าที่ กระวีกระวาด
ไม่ต้องคาด คั้นเตือน เรื่องเรือนชาน
แล้วรีบไป ให้ทัน โรงเรียนเข้า
เลิกแล้วเรา บ่ายหน้า มุ่งมาบ้าน
ช่วยพ่อแม่ เก็บงำ และทำงาน
ว่างก็อ่าน คัดเขียน เล่าเรียนเอย.

แล้ววันนี้ถึงเวรของกลุ่มน้อย ต้องหาดอกไม้ไปปักแจกัน ที่โต๊ะของคุณครูประจำชั้น เพื่อนในกลุ่ม มาหาเธอ ที่บ้านตั้งแต่เช้า เพื่อเดินหาดอกไม้ด้วยกัน เริ่มจาก บ้านของเธอเองก่อน แล้วจะเดินระเรื่อยไป ตามบ้าน ฝั่งตลาด จนกว่า จะได้ดอกไม้ พอสำหรับปักแจกัน บนโต๊ะคุณครูมานัส เพียงแจกันเดียว การหาดอกไม้นี่ ช่างเป็นงานยาก สำหรับเด็กแว้งเสียจริงๆ

"น้อย พ่อจะบอกอะไรให้ กิ่งโกสนที่ลูกเอาไปแช่น้ำครำข้างคอกเป็ดน่ะรากงอกแล้ว ลูกเอาไปปักแจกันซี พ่อว่า สวยอยู่นา ใบมันมีตั้งหลายสี" พ่อแนะนำ แต่น้อยกลับให้เหตุผลว่า

"น้อยต้องหาดอกไม้ค่ะพ่อ ใช้ใบโกสนไม่ได้ มันไม่ใช่ดอกไม้ แล้วมันก็มีรากแล้วด้วย"

"ใช้ใบไม้ปักแจกันก็ได้เหมือนกันน่า พ่อว่าดีเสียอีกที่มันมีราก จะได้อยู่ได้นานวัน ไม่เหี่ยว พอรากจะเต็ม แจกัน ลูกกับเพื่อน ก็เอามาปลูก หน้าโรงเรียนเสียเลย" พ่อแนะนำต่อ ก่อนที่เหตุผลของน้อย กับเพื่อนๆ จะปรากฏออกมาว่า

"ที่โรงเรียนเขาต้องใช้ดอกไม้ปักแจกันค่ะ เขาเรียกแจกันดอกไม้ ไม่ใช่แจกันใบไม้ค่ะ"

"งั้นน้อยก็เอาใบต่างดอกซีลูก มีทั้งสีแดง สีขาว แม่ว่าสวยมากนา ริมคลองหลังบ้านเราก็มี ถ้าจะเอาดอก หน้าบ้านเรา ดอกเหมล ออกเต็มไปหมด ตรงมุมรั้วโน่น ก็ได้นี่น้อย ดอกอินทนิลน่ะ สวยดีนะแม่ว่า" แม่แนะนำบ้าง

น้อยหันไปหาเพื่อน เด็กๆ พึมพำกันสักครู่ แล้วน้อยก็บอกพ่อกับแม่ อย่างลำบากใจ เรื่องแว้งไม่มีดอกไม้ สำหรับปักแจกัน โต๊ะคุณครูว่า

"ใบต่างดอกสีสวยค่ะ แต่มันเหมือนใบ เราต้องใช้ดอกฟอร์เก๊ตมีน้อตเท่านั้นค่ะแม่ ทุกเวรเขาใช้แต่ ดอกฟอร์เก๊ตมีน้อต เท่านั้น ใช้อย่างอื่นไม่ได้ค่ะ"

แม่เงยหน้าจากอ่างปูน ที่กำลังละลายควันขึ้นฉุย มองพ่อแบบรู้กัน แล้วหันมาพูดกับเด็กๆ ว่า

"เอาละ น้อยกับเพื่อนไปหาดอกที่ว่านั้นเถอะลูก เดี๋ยวจะไม่ทัน โรงเรียนจะขึ้นเสียก่อน"

ในที่สุด หลังจากที่ตระเวนหาดอกไม้ไปทั่วแล้ว น้อยกับเพื่อนก็ไปได้ ดอกฟอร์เก๊ตมีน้อตสีม่วงเล็กๆ แค่สองสามช่อ จากบ้านนายอำเภอ ข้างโรงเรียนนั่นเอง ไปปักแจกัน ให้คุณครูมานัส ผู้เป็นที่รักและเคารพ


(๑) เข้ยิก คนปักษ์ใต้มักจะตัดพยางค์ที่มีเสียง อะ ออกเสีย'จระเข้' จึงเหลือแต่ 'เข้' ส่วนคำว่า 'ยิก' เป็นคำไทยโบราณ ที่ปัจจุบัน มีเหลืออยู่ แต่ในวรรณคดี แปลว่า'ไล่' และมักใช้คำเต็มว่า'ขยิกไล่'
(๒) การเล่น'เรือบิน' นี้ในภาคกลางเรียกว่า'ตั้งเต' เด็กทางภาคใต้คงเรียกตามลักษณะภาพที่วาดในการเล่น ทางจังหวัด สงขลา เรียกการเล่นนี้ว่า 'หญิกหญ้อย' เป็นอาการกระโดดขาเดียว อีกขาห้อยไว้
(๓) คำว่า 'แถ้ง' ออกเสียงในภาษาปักษ์ใต้คล้ายไปทาง 'แถ่ง' แต่เพราะการเทียบเสียง จึงเขียนเป็น 'แถ้ง' แปลว่า 'แตะ' ใช้เป็นคำสามัญทั่วไป อาการ 'แตะ' ในการละเล่นอย่างหมากเก็บนี้ เป็นเรื่องแปลก เพราะสูงขึ้นไป เพียงนิดเดียว เด็กๆจะใช้คำว่า 'ฮิด' ราวกับคำกริยาภาษาอังกฤษว่า 'hit' ในความหมาย ตรงกัน ผู้เล่ายังหาคำอธิบายไม่ได้ ท่านผู้อ่าน มีความเห็นอย่างไร ช่วยกรุณาอธิบายด้วย ก็จะเป็นพระคุณ
(๔) การเล่น 'ลักหญบ' ของเด็กในภาคใต้ ตรงกับการเล่น 'ซ่อนหา' ของภาคกลาง 'หญบ' แปลว่า 'ซ่อน' 'ลักหญบ' ใช้รวมกัน แปลว่า 'แอบซ่อน' คำว่า 'หญบ' นี้น่าจะเป็นคำไทยแท้แต่โบราณ มากกว่า เป็นแต่คำ ภาษาปักษ์ใต้ เพราะพบว่า มีใช้ในวรรณคดีเก่า ใช้ว่า 'กระหยบ' เช่น ฟุบกบกระหยบเงียบมิเกรียบได้ แต่ทางภาคใต้ ออกเสียงนาสิก จึงเลือกเขียนด้วย ญ แทน

อนึ่ง การเล่น 'ซ่อนหา' นี้แปลกมากเด็กๆ ที่จังหวัดสงขลา เรียกว่า 'เล่นอิดสะบาย' เวลาคนซ่อน วิ่งไปที่ เสาหลัก ได้ก่อน เด็กที่อำเภอแว้ง จะร้องว่า 'โยง!' แต่เด็กที่สงขลา จะร้องว่า'อิดสะบาย!' และยิ่งแปลก มากขึ้นอีก เมื่อได้พบว่า เด็กทางจังหวัด อุตรดิตถ์ เรียกการเล่น 'ซ่อนหา' ว่า 'ไอสะไพ' ทำให้คิดไม่ออกว่า เหตุใด ชื่อเรียกทั้งที่สงขลา และ อุตรดิตถ์ จึงไปละม้ายกับคำว่า 'I- SPY' ในภาษาอังกฤษ ซึ่งเป็นชื่อ การเล่นอย่างเดียวกัน


* เขียนที่บ้านซอยไสวสุวรรณ เสร็จเวลา ๑๑ น. ต้องล่าช้าไปหลายวัน เพราะพยายามค้นหาหนังสือ แบบเรียนเร็วใหม่ เล่มกลาง เพื่อสอบความจำ จึงขอขอบพระคุณทุกท่าน ที่พยายามช่วยกันฟื้นความจำ อันกระท่อน กระแท่นกันไปหมดแล้ว ทั้งอาจารย์ กรุณา - อาจารย์เรืองอุไร กุศลาศัย พี่อาจินต์ ปัญจพรรค์ พี่พจน์ ยังพลขัณฑ์ น้องวันเพ็ญ เซ็นตระกูล อาจารย์ประคอง นิมมานเหมินท์ อาจารย์สุกัญญา สุจจฉายา พลตรีหญิงอุษณีย์ เกษมสันต์ และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง คุณรัตนา ธรรมณี บรรณารักษ์ ศูนย์วิทยบริการ ที่แทนที่จะเบื่อหน่าย กลับสนุกสนุกสนาน ในการช่วยค้น จนพบฉบับ พิมพ์ พ.ศ. ๒๔๗๙ ที่กรอบ จนไม่สามารถ เอาออกบริการได้แล้ว ในตู้หนังสือหายาก ของศูนย์วิทยบริการ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

แว้งที่รัก โรงเรียนสันโดษ ตอนที่ ๑