หน้าแรก >[09] การสื่อสาร > การเผยแพร่ธรรมะ >เราคิดอะไร

บทความชุดนี้ตั้งใจจะเขียนขึ้นเพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับธรรมชาติของ "อำนาจรัฐ" และชี้ให้เห็น ช่องทางที่จะเป็น ทางออก จากตรรกะแห่งความขัดแย้ง ของขุมอำนาจดังกล่าว จากรากฐาน ทางพุทธ ปรัชญา อันอาจกล่าวได้ว่า เป็นแนวคิด "เศรษฐศาสตร์การเมืองเชิงพุทธ"

เศรษฐศาสตร์การเมืองเชิงพุทธ ตอน ๑๘


โครงสร้าง ๒ มิติของการแก้ปัญหาทางสังคม
ในพลสูตร อังคุตตรนิกาย นวกนิบาต พระพุทธเจ้าได้ตรัสถึงกำลัง ๔ ประการ ซึ่งเมื่อบังเกิดขึ้นแล้ว จะทำให้ พ้นจาก ความกลัว ต่อภัย ๕ ประการ (ตามที่ได้กล่าวมาในตอนก่อน)

กำลัง ๔ ประการได้แก่ กำลังคือปัญญา กำลังคือความเพียร กำลังคือ การงานอันไม่มีโทษ และกำลัง คือ การสงเคราะห์

๑. กำลังที่เกิดจากปัญญา คือมีพลังของปัญญาที่จะส่องสว่างทะลุ ผ่านม่านอวิชชา จนสามารถ แยกแยะ ได้ว่า ธรรมเหล่าใด เป็นกุศล ธรรมเหล่าใดเป็นอกุศล ธรรมเหล่าใดมีโทษ ธรรมเหล่าใดไม่มีโทษ ธรรมเหล่าใด ควรเสพ ธรรมเหล่าใด ไม่ควรเสพ ฯลฯ

๒. กำลังที่เกิดจากความเพียร คือมีฉันทะปรารภความเพียรประคองจิต ตั้งจิตไว้ และลงมือ ประพฤติ ปฏิบัติ เพื่อละธรรม ที่เป็น อกุศล ธรรมที่มีโทษ ธรรมที่ไม่ควรเสพ ขณะเดียวกับ ที่มีความพากเพียร ประพฤติปฏิบัติ เพื่อให้ได้ธรรม ที่เป็นกุศล ธรรมที่ ไม่มีโทษ ธรรมที่ควรเสพ ฯลฯ เหล่านั้น

๓. กำลังที่เกิดจากการงานอันไม่มีโทษ คือ การเป็นผู้ประกอบด้วย กายกรรม วจีกรรม และมโนกรรม อันหาโทษมิได้

๔. กำลังที่เกิดจากการสงเคราะห์ คือการมีสังคหวัตถุ ๔ อันได้แก่

-ทาน (การให้) โดยการให้ธรรมทาน ถือว่าเป็นเลิศกว่าทานทั้งหลาย

-เปยยวัชชะ (ปิยวาจา) โดยการแสดงธรรมแก่บุคคลที่ต้องการ และเงี่ยโสตลงสดับ ถือว่าเป็นเลิศ กว่าการพูด อันเป็นที่รักทั้งหลาย

-อัตถจริยา (การประพฤติประโยชน์) โดยการชักชวนให้ผู้ที่ไม่มีศรัทธา ดำรงอยู่ในสัทธาสัมปทา ชักชวนให้ ผู้ทุศีล ดำรงอยู่ใน สีลสัมปทา ชักชวนให้ผู้ที่ตระหนี่ ดำรงอยู่ในจาคสัมปทา และชักชวนให้ ผู้ที่มี ปัญญา ทราม ดำรงอยู่ใน ปัญญาสัมปทา ถือว่า เป็นเลิศกว่า การประพฤติประโยชน์ทั้งหลาย

-สมานัตตตา (ความมีตนเสมอ) โดยการที่พระโสดาบัน มีตนเสมอกับพระโสดาบัน พระสกทาคามี มีตนเสมอกับ พระสกทาคามี พระอนาคามี มีตนเสมอกับพระอนาคามี และพระอรหันต์มีตน เสมอกับ พระอรหันต์ (กล่าวคือ ผู้ที่ยังไม่มีคุณธรรม ของความเป็น พระอริยบุคคล แต่ละระดับ สมบูรณ์ ก็พึงพัฒนา ตนเอง ให้มีคุณธรรม ที่สมบูรณ์ขึ้น จนเสมอกับมาตรฐาน ของพระอริยบุคคล ระดับนั้นๆ*) ถือว่า เป็นเลิศกว่า ความมีตน เสมอทั้งหลาย

เนื่องจากเพราะมีกิเลสตัณหาอุปาทาน เป็นเหตุมูลฐาน ความกลัวว่า จะประสบกับภัยต่างๆ อันเป็นอุปสรรค ต่อการตอบ สนอง กิเลส ตัณหาเหล่านั้น จึงได้ปรากฏขึ้น เป็นภาวะแฝง (potentiality) ของความบีบคั้น เป็นทุกข์ และพลังแฝง ดังกล่าว ได้ผลักดัน ให้มนุษย์ เกิดพฤติกรรมดิ้นรน แสวงหาสิ่งที่ จะตอบสนอง ความต้องการ (เพื่อบรรเทาความกลัว) ในมิติต่างๆ ของชีวิต ตามมา

กำลัง ๔ ประการจึงสามารถสลายความกลัวต่อภัย ๕ ประการในชีวิตได้ เพราะกำลังของปัญญา กำลังของ ความเพียร กำลังของ การงานอันไม่มีโทษ และกำลังของการสงเคราะห์ ตามนัยแห่งพลสูตร ที่กล่าวมานั้น จะช่วยทำให้ กิเลสตัณหาอุปาทาน ที่เป็นรากเหง้า ของความกลัวทั้งหลาย สูญสลายหมดไป

ขณะเดียวกัน นัยแฝงจากทฤษฎีกำเนิดอำนาจรัฐในอัคคัญญสูตร ชี้ให้เห็นว่า อำนาจรัฐที่จัดเป็นโครงสร้าง ส่วนบนของสังคม มีสาเหตุมูลฐานมาจาก กิเลสตัณหาอุปาทาน ของผู้คน ที่จัดเป็นโครงสร้าง ส่วนลึก ทางสังคม ซึ่งขยายตัวเพิ่มมากขึ้นๆ

อาทิ มีการสะสมผลผลิตส่วนเกินจำเป็นของชีวิตด้วยความโลภเพิ่มมากขึ้น จนนำไปสู่ ความขาดแคลน และ การทะเลาะวิวาท เพราะการแย่งชิงผลผลิต เป็นต้น ในที่สุดความกลัวต่อภัย ในการดำรงชีวิต ก็ทำให้มนุษย์ ตัดสินใจ หันมาทำข้อตกลงร่วมกัน ที่จะสถาปนา สถาบันทางการเมืองขึ้น เพื่อใช้อำนาจรัฐ จัดระเบียบการอยู่ร่วมกัน ของผู้คนในสังคม

อำนาจรัฐจึงแปรผันเป็นสัดส่วนโดยตรงกับภาวะแฝงของความกลัว ที่มีมูลรากมาจาก กิเลสตัณหา ของผู้คน ในสังคม โดยรวม

ในภาวะที่ผู้คนถูกครอบงำโดยความกลัวมากขึ้น เช่น เกิดสงครามที่คุกคามความอยู่รอด ของผู้คน ในสังคม นั้นๆ เป็นต้น ระดับของการใช้อำนาจรัฐ เพื่อควบคุมเหนือสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคล ของผู้คนในสังคม จะมีความรุนแรง เข้มข้นเพิ่มขึ้น อาทิ อาจจะมีการประกาศกฎอัยการศึก บังคับให้มีการ เกณฑ์ทหารสำรอง อย่างจริงจัง โอนทรัพย์สินบางอย่าง ของเอกชนที่เป็น ยุทธปัจจัย มาเป็นของรัฐ ฯลฯ

จากกราฟ สมมติให้อำนาจรัฐสามารถแบ่งเป็นหน่วยและวัดได้ ตามระดับของการใช้อำนาจ ที่ลิดรอน สิทธิเสรีภาพ ส่วนบุคคล ของผู้คนในสังคม ภายใต้ภาวะที่ผู้คนอยู่กันอย่างอิสระเสรี โดยปราศจาก อำนาจรัฐ ช่วยควบคุมจัดระเบียบ ปัญหาของสังคม จะอยู่ในระดับรุนแรง เพราะภาวะความไร้ระเบียบ (chaos) ของระบบสังคม ดังกล่าว แต่เมื่อมีการใช้อำนาจรัฐแต่ละหน่วย เข้าควบคุมสังคมมากขึ้น ปัญหาของสังคม ที่เกิดจาก ความไร้ระเบียบ จะค่อยๆ คลี่คลายลดน้อยลง เส้นประโยชน์สุข ทางสังคม หรือ MSB (marginal social benefit) ของการใช้อำนาจรัฐ แต่ละหน่วย จึงมีลักษณะลาดลง ตามกราฟ

ขณะเดียวกัน การใช้อำนาจรัฐแต่ละหน่วย เข้าควบคุมจัดระเบียบสังคม จะก่อให้เกิดภาวะ ความบีบคั้น เป็นทุกข์ จากปัญหา การลิดรอนสิทธิ เสรีภาพ ของผู้คนในสังคม ส่งผลให้ เส้นต้นทุนทางสังคม หรือ MSC (marginal social cost) ของการใช้ อำนาจรัฐ มีลักษณะลาดชันขึ้นตามกราฟ

เส้น MSB และ MSC จะตัดกันที่จุด ๆ หนึ่งคือจุด Q ซึ่งเป็นจุดที่การใช้อำนาจรัฐ ควบคุม จัดระเบียบ ภายใต้เงื่อนไข ของสังคม ขณะนั้นๆ มีระดับความเหมาะสมมากที่สุด

ถ้ามีการใช้อำนาจรัฐควบคุมสังคมต่ำกว่าระดับของจุด Q ระบบสังคมนั้น จะมีปัญหาเพิ่มสูงขึ้น กว่าที่ควร จะเป็น เพราะภาวะ ความไร้ระเบียบ ของสังคมที่เพิ่มขึ้น แต่ถ้ามีการใช้อำนาจรัฐ ควบคุมสังคม เกินกว่า ระดับ ของจุด Q ระบบสังคมนั้นๆ ก็จะกลับ มีปัญหา ความบีบคั้น เป็นทุกข์เพิ่มสูงมากกว่า ระดับที่ควร จะเป็นอีก เพราะปัญหา การลิดรอนสิทธิเสรีภาพ ของประชาชน (ด้วยอำนาจเผด็จการ) ที่เพิ่มมากขึ้น ดังกล่าว

หากนำเอาปัญหาที่เกิดจากการใช้อำนาจรัฐ แต่ละหน่วย (เส้น MSC) รวมกับปัญหาที่เหลือ จากการใช้ อำนาจรัฐ หน่วยนั้นๆ ในการจัดระเบียบสังคม (เส้น MSB) เราจะได้เส้นปัญหารวมของสังคม ที่สัมพันธ์ กับการใช้อำนาจ แต่ละหน่วย เป็นกราฟรูป พาราโบล่า หรือรูปกระทะหงาย (กราฟเส้น O) โดยจุดต่ำสุด ของปัญหาที่ก้นกระทะ ของกราฟ (จุด p) จะตรงกับจุด ที่มีการใช้ อำนาจรัฐ จัดระเบียบสังคม ในระดับ ที่เหมาะสมที่สุด (คือที่จุด Q)

กราฟเส้นปัญหารวมรูปกระทะหงาย ที่สัมพันธ์กับอำนาจรัฐข้างต้น สะท้อนให้เห็นถึงขีดจำกัด ของการใช้ อำนาจรัฐ เพื่อแก้ปัญหา ระบบ สังคมมนุษย์ (ใช้อำนาจของ "อาณา") ซึ่งสามารถจะกระทำได้ภายใน ขอบเขต ระดับหนึ่งเท่านั้น โดยจะแก้ปัญหา ของสังคมได้ ไม่เกินขอบเขตของจุด p ที่เป็นจุดต่ำสุด ของกราฟเส้น o ดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม ถ้าเสริมสร้างให้เกิดระบบการอบรมกล่อมเกลาทางสังคม (socialization) ในทิศทางที่ช่วย ให้เกิดกำลัง ๔ ประการ ตามที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ในพลสูตร จนสามารถช่วยสลายความกลัว ที่แฝงอยู่ ในโครงสร้างส่วนลึก ของระบบสังคมมนุษย์ ให้คลี่คลายลดน้อยลง ระดับของปัญหา ที่เกิดจากภาวะ ความบีบคั้นเป็นทุกข์ ให้ต้องดิ้นรนแสวงหา สิ่งตอบสนอง ความต้องการ ต่างๆ ในโครงสร้างส่วนล่าง ของสังคม ก็จะค่อยๆ บรรเทาลดน้อยลง ส่งผลให้ความจำเป็นที่จะต้องใช้อำนาจรัฐ เพื่อควบคุม
จัดระเบียบ โครงสร้างส่วนบนของสังคม มีระดับความเข้มข้น ลดน้อยลงด้วย

ผลที่สุดเส้น MSB ก็จะลดระดับต่ำลงมาอยู่ที่ MSB' และเส้นปัญหารวม ก็จะลดระดับต่ำลงจากเส้น o มาอยู่ที่เส้น O' ทำให้จุด ต่ำสุด ของปัญหา ลดระดับจาก P มาอยู่ที่ P' และระดับ ความเหมาะสมที่สุด ของการใช้อำนาจ เพื่อควบคุม จัดระเบียบสังคม จะลดจากจุด Q มาอยู่ที่ Q'

นัยแฝงของปรากฏการณ์ที่ติดตามมาก็คือ พลังแรงงาน เวลา สติปัญญา รวมทั้งทรัพยากรต่าง ๆ ที่ถูกดูด ไปเกาะกุมตัว เป็นมวล ของอำนาจรัฐ จะถูกปลดปล่อยออกมาเป็นพลังสรรสร้างสันติสุขให้กับสังคม ในปริมาณ เท่ากับพื้นที่ A หน่วย (พื้นที่แรเงาในกราฟ)

คล้ายกับมวลพลังอันไพศาลภายในอะตอม ที่ถูกปลดปล่อยออกมา เมื่อเราสามารถ หาวิธีสลายมวลสาร ที่เกาะกุม เป็นอะตอม ดังกล่าว (ตามทฤษฎีสัมพัทธภาพ ของไอน์สไตน์) ได้ฉันใด พลังสร้างสรร ที่เปรียบ เสมือน "กัมมันตภาพแห่งความสงบเย็น" ก็จะถูก ปลดปล่อย ออกมาอย่างไพศาล เมื่อเราสามารถ สลายมวล ที่เกาะกุมตัว เป็นอำนาจรัฐ และทำให้รัฐค่อยๆ อันตรธาน หายไป (withering away) ได้ฉันนั้น

ตัวอย่างเช่น ถ้าเราสามารถใช้พลังของการอบรมกล่อมเกลาทางสังคม (ใช้อำนาจของ "อนุสาสนี") ช่วยคลี่คลาย ทำให้ความโลภ ของ ผู้คนในสังคม บรรเทาลดน้อยลง ทรัพยากรจำนวนมหาศาล ที่หมดไป กับการคอยตามแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ อันเกิดจาก ความโลภ ของมนุษย์ เชjน ปัญหาอาชญากรรม ปัญหายาเสพติด ปัญหาการทุจริตโกงกิน ปัญหาความขัดแย้งอันเนื่องมาจาก การแย่งชิงผลประโยชน์ ในสังคม ฯลฯ ซึ่งถูกดูดไปเกาะกุมตัวเป็นมวล ของอำนาจรัฐ เพื่อทำหน้าที่คอยสกัดกั้น ไม่ให้ภาวะแฝง ของปัญหา (potentiality) ปรากฏตัวสู่ภาวะจริง (actuality) ก็จะหมดความจำเป็น ในการทำหน้าที่นี้ ต่อไป ส่งผลให้ สามารถ ผลักเบน ทรัพยากร แรงงาน สติปัญญา เวลา ตลอดจนงบประมาณ ต่างๆ จำนวน มหาศาลเหล่านี้ มาใช้ในการพัฒนา สรรสร้าง สังคมด้านอื่นๆ ได้อย่างเต็มที่ เป็นต้น

หากจะพัฒนากรอบแนวคิดนี้ต่อไปในเชิงทฤษฎี เราสามารถจะสร้างแบบจำลอง ของสมการ ทาง คณิตศาสตร์ ที่อธิบาย ปรากฏการณ์ ของการปลดปล่อย "กัมมันตภาพแห่งความสงบเย็น" นี้ได้ โดยการ แปลง จากเนื้อหาของกราฟข้างต้น ซึ่งเท่ากับ เราสามารถย่อส่วน โครงสร้าง ๒ มิติของการแก้ปัญหา ทางสังคม ที่สลับซับซ้อน ให้อยู่ในรูปของสมการ ทางคณิตศาสตร์ เพียงบรรทัดเดียวได้
(อ่านต่อฉบับหน้า)

เราคิดอะไร ฉบับที่ ๑๔๓ มิถุนายน ๒๕๔๕