หน้าแรก >[09] การสื่อสาร > การเผยแพร่ธรรมะ >เราคิดอะไร

อดีตชาติของพระพุทธเจ้า
อบายมุข ปิดหู ปิดตา
อยากสุรา พาคิด ผิดชั่ว
น้ำนรก หลงติด เมามัว
น่ากลัว นิสัย ใฝ่เลว

เสพสุราพาเลว (ปุณณปาติชาดก)

พระบรมศาสดา เมื่อประทับอยู่ ณ พระเชตวันมหาวิหาร ได้ตรัสพระธรรมเทศนานี้

สมัยหนึ่ง พวกนักเลงสุรากลุ่มหนึ่งในเมืองสาวัตถี ถึงคราวตกอับขาด แคลนเงินทอง แม้อยากสุรา แต่ก็มี ทรัพย์กัน เพียงเล็กน้อยเท่านั้น จึงปรึกษาร่วมกันว่า

"นี่!ทุนซื้อสุราของพวกเรา แทบหมดเกลี้ยงแล้ว ยังจะหาทรัพย์จากที่ไหน มาเพิ่มได้เล่า"

นักเลงสุรากักขฬะคนหนึ่ง จึงเสนอแผนการชั่วร้ายออกมาว่า

"ก็เจ้าเศรษฐีอนาถบิณฑิกะนั่นไง ร่ำรวยมีทรัพย์มาก เครื่องประดับกาย ล้วนเป็นของมีราคาสูง พวกเรา หาโอกาส มอมเหล้าด้วยยาเบื่อ แล้วลอกคราบเสีย แค่นี้ก็มีทุนไว้ซื้อสุรา ไปได้อีกนานเลยทีเดียว"

พวกนักเลงสุราพากันยินดี เห็นพ้องต้องกัน ชักชวนกันกระทำตามแผนชั่วนั้น

โดยฉวยโอกาส ที่อนาถบิณฑิกเศรษฐีไปเข้าเฝ้า พระเจ้าปเสนทิโกศลแล้ว ระหว่างทาง กลับบ้าน พร้อมกับ บริวาร ไม่กี่คนนั้นเอง พวกนักเลงสุรา ใส่ยาเบื่อในสุรา แล้วพากันมาดักคอย อยู่ข้างทาง ทำทีว่า กำลังดื่ม สุราอยู่ พอเห็นเศรษฐี เข้ามาใกล้แล้ว ก็รีบทำการทักทาย ชักชวน อย่างมีไมตรีว่า

"นายขอรับ เชิญท่านมาทางนี้ก่อนเถิดครับ ช่วยให้เกียรติ ดื่มสุราร่วมวง กับพวกเราด้วย สุรานี้น่าชื่นใจยิ่งนัก เชิญดื่มสักหน่อย แล้ว ค่อยไปเถิดครับ"

อนาถบิณฑิกเศรษฐีแม้ตนไม่ดื่มสุรา แต่เห็นพวกเขาเชื้อเชิญ ด้วยความมีน้ำใจ จึงแวะเข้าไปหา พวกนักเลง สุรานั้น แต่สังเกตเห็น กิริยาอาการ ของพวกเขาหลุกหลิก ลุกลน ถ้วยสุราก็ว่างเปล่า ไหสุราก็เต็ม ไม่มีร่องรอย ของการร่ำสุรากันเลย จึงรู้แผนชั่วร้ายได้ทันที ได้ตวาดข่ม พวกนักเลงสุราออกไปว่า

"แน่ะเฮ้ย!เจ้าพวกนักเลงสุราชั่ว พวกเจ้าเอายาเบื่อใส่ในสุรา แล้วคิดมอมสุรา ให้คนดื่มสลบไสล จากนั้น ก็ปล้นทรัพย์ไป ใช่ใหม"

"ไม่จริงเลย ท่านเศรษฐี พวกเราเห็นท่านผ่านมาคงเหนื่อย จึงชวนเชิญ ให้มาดื่มสุรา ดับกระหายร่วมกัน ก็เท่านั้นเอง"

"จริงหรือ พวกเจ้าตั้งวงดื่มสุรากันอยู่ แล้วคุยอวดสุรา ว่ารสเยี่ยม ก็แล้วแม้แต่คนเดียว ทำไมไม่มีใคร กล้าดื่ม สุรานี้ เลยสักหยด ถ้าสุรานี้ ไม่มียาเบื่อ พวกเจ้าคงต้องดื่มกัน ไปมากแล้วเป็นแน่"

พวกนักเลงสุรา หมดทางแก้ตัว เห็นความลับอันชั่วร้ายของตน ถูกเปิดเผยแล้ว ก็เกรงกลัวโทษภัย ต่างพากัน วิ่งหนี ไปจากที่นั้น อย่างรวดเร็ว

ฝ่ายเศรษฐี พอกลับบ้านของตนแล้ว บังเกิดความคิดว่า

"เราควรนำเรื่องราวนี้ ทูลเล่าให้พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบไว้"

จึงไปสู่พระเชตวันมหาวิหาร กราบทูล ให้ทรงทราบ พระศาสดาจึงตรัสว่า

"ดูก่อนคฤหบดี มิใช่แต่ในบัดนี้เท่านั้น ที่พวกนักเลงสุรา ประสงค์ จะหลอกลวงเธอ ถึงในครั้งก่อน ก็เคยคิด หลอกลวง บัณฑิตมาแล้ว"

แล้วทรงนำเรื่องในอดีตนั้น ตรัสเล่าให้ อนาถบิณฑิกเศรษฐีฟัง

ในอดีตกาล มีเศรษฐีคนหนึ่งมีทรัพย์ มากมายอยู่ในกรุงพาราณสี จึงได้รับการเรียกหาว่า พาราณสีเศรษฐี

วันหนึ่งขณะที่ออกจากบ้าน เพื่อไปเข้าเฝ้าพระเจ้าพรหมทัต พระราชาแห่งกรุงพาราณสี ได้มีพวกนักเลงสุรา กลุ่มหนึ่ง มาดักรออยู่ แล้วเชื้อเชิญให้พาราณสีเศรษฐี ดื่มสุราด้วย เศรษฐีก็เข้าไปหา แล้วก็รู้เล่ห์เหลี่ยม ของพวกนั้น จากการสังเกต จึงคิดขึ้นว่า

"พวกนักเลงสุรานี้ มุ่งร้ายต่อเราแน่ คงผสมยาเบื่อใส่สุรา เราต้องเปิดเผยแผนชั่ว ขับไล่พวกมัน ไปเสียจากที่นี่"

"แล้วจึงกล่าวไปว่า"

พวกท่านทั้งหลาย การที่จะดื่มสุราก่อน แล้วไปเข้าเฝ้าพระราชานั้น ช่างไม่สมควรเลย เอาอย่างนี้เถิด ให้เราไปเข้าเฝ้าก่อน แล้วเราจะกลับมาใหม่ พวกท่านจงนั่งรออยู่ ในที่นี้แหละ"

ครั้นพาราณสีเศรษฐี ไปเข้าเฝ้าพระราชาสักครู่หนึ่ง ก็กลับมาหา พวกนักเลงสุรานั้นอีก พวกเขาก็เชิญชวน อย่างดีเช่นเคย

"เชิญทางนี้เถิดครับ ท่านเศรษฐี เชิญดื่มสุราชั้นยอด"

เศรษฐีหันไปสั่งบริวาร แล้วเข้าไปหา มองดูสุรายังอยู่เต็มไห จึงพูดเสียงดังขึ้นทันทีว่า

"การกระทำของพวกเจ้านี้ ไม่ถูกใจเราเลย ไหสุราของพวกเจ้า ยังคงเต็มอยู่เหมือนเดิม คำพูดที่พวกเจ้ากล่าว ล้วนมดเท็จ เพราะสุรา ไม่พร่องเลย สุรานี้เป็นสุราเลวทรามแน่แท้ พวกเจ้าต้องผสมยาเบื่อเอาไว้ จึงไม่มี ใครดื่ม แม้แต่คนเดียว ทั้งที่พวกเจ้า คุยอวดว่า สุรานี้ยอดนัก เยี่ยมนัก"

พอพาราณสีเศรษฐี กล่าวจบเท่านั้น บริวารของเศรษฐี ก็จับกุมพวกเขาไว้ พวกนักเลงสุรา รู้สึกโดน คุกคาม ทันที แต่ก็ยอมจำนนต่อความจริง เศรษฐีจึงอบรมสั่งสอน ไม่ให้ทำอย่างนี้อีก แล้วให้บริวารของตน ปล่อยพวก นักเลงสุราไป พาราณสีเศรษฐีนี้ ได้เป็นผู้กระทำบุญทานไป จนตลอดชีวิต เลยทีเดียว
...........................................
พระศาสดาตรัสเล่าจบแล้ว ทรงเฉลยว่า
"พวกนักเลง ในครั้งนั้น ได้มาเป็นนักเลง ในบัดนี้ ส่วนพาราณสีเศรษฐี ได้มาเป็นเราตถาคต"
(พระไตรปิฎกเล่ม ๒๗ ข้อ ๕๓ อรรถกถาแปลเล่ม ๕๖ หน้า ๗๕)

(เราคิดอะไร ฉบับที่ ๑๔๔ กรกฎาคม ๒๕๔๕)