หน้าแรก >[09] การสื่อสาร > การเผยแพร่ธรรมะ >เราคิดอะไร

กระแสธาร กระบวนการทัศน์ภารตวิทยา
และจีนวิทยา ในไทยและอุษาคเนย์

‘ ส.ศิวรักษ์ (แสดงในการเสวนาอาศรมความคิดเรื่อง "ภูมิปัญญานิเทศศาสตร์ตะวันออก"
ณ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วันที่ ๑๓ กันยายน ๒๕๔๓)


ชื่อที่ว่ากระแสธารกระบวนการทัศน์ภารตวิทยาและจีนวิทยาในไทยและอุษาคเนย์นั้น ฟังพิลึกพิลั่น ยิ่งอุปโลกน์ให้ผู้พูด เป็นนักปราชญ์สยาม ก็เลยพูดไม่ออก* แต่ในฐานะ ผู้นำการเสวนา คงง่ายกว่า การแสดงปาฐกถา กล่าวคือชี้แจง แสดงข้อความเป็นบางข้อ บางกระทงความ แล้วโยนลูก ให้ผู้ร่วม ปฏิเสวนา ว่าในส่วนที่ลุ่มลึกต่อไป โดยเข้าใจว่าคนหนึ่งคงถนัดในทางที่เรียกได้อย่างโก้เก๋ตาม ไมเกิล ไรท์ และศิลปวัฒนธรรม ของนายสุจิตต์ วงษ์เทศน์ ว่า อุษาคเนย์ และอีกคนในทางภารตวิทยา อาจรวมถึง พุทธวิทยาด้วย หากเห็นขีด ฆ่าชื่ออาจารย์ ชาญวิทย์ ออกจากจดหมายเชิญ โดยได้อาจารย์ สุเนตรแทน ก็คงเข้าข่ายอุษาคเนย์ อีกนั่นเอง แม้จะเน้นลงไปที่พม่าก็ตามที ที่ขาดไปก็นักจีนวิทยา

ที่จริง ในสมัยนี้ นักวิชาการเจาะลึกลงไป เป็นเสี่ยงๆ จะหาใครรู้รอบตลอด ทั้งภารตวิทยา จนถึงจีนวิทยา คงหาได้ยาก โดยที่เราเคยมีบุคล เช่นนี้เรื่อยมา จนถึงพระยาอนุมานราชธน ซึ่งอาจเป็น คนสุดท้าย ในกระแสธาร อันกว้างไกลเช่นนั้น

คนร่วมสมัย กับท่าน หรือก่อนหน้าท่าน ก็มักตีกรอบไว้ให้จำกัดลงมา แต่ก็รอบรู้ ในเรื่องวัฒนธรรม และ อารยธรรม ของประเทศเพื่อนบ้าน กันมากบ้าง น้อยบ้างตามส่วน อย่างน้อยก็ต้องรู้ภาษาบาลี สันสกฤต และ/หรือมอญ เขมร ประกอบด้วย โดยที่จะถือว่าลาวเป็นส่วนหนึ่งของภาษาถิ่นก็ยังได้ อย่างน้อย ในกรมพระอาลักษณ์ และกรมราชบัณฑิต ย่อมมีท่านผู้รู้ในทางภาษา และวัฒนธรรมดังกล่าว รวมอยู่ด้วย ตลอดมา จนถึงกลางรัชกาลที่ ๕

สำหรับกรมทั้งสองนั้น ดูเหมือนเราจะไม่มีความรู้ในเรื่องจีนวิทยาเอาเลย เราออกจะเห็นว่า จีนเป็นภาษา สำหรับการค้า ซึ่งผนวกไปกับ การทูตมากกว่า ทั้งนี้รวมถึงภาษามลายู รวมทั้งเปอเซียด้วย ดังที่ผู้รู้ภาษานั้นๆ สังกัดกรมท่า กรมท่าขวา กรมท่าซ้ายว่าด้วยภาษาแขก ภาษาจีน ซึ่งรวมถึงภาษาญวน ดังพระยาราชาเศรษฐี มักเป็นญวน ในขณะที่ พระยาโชฎึกราชเศรษฐี ย่อมเป็นจีน และท่านที่ดำรงบรรดาศักดิ์ ดังกล่าว ก็ไม่รู้ภาษาจีน หรือญวนลึกซึ้ง อะไรนัก ดังขอให้ดูที่ป้ายภาษาจีน ที่ติดไว้ในพระที่นั่งเวหาศน์จำรูญ ณ พระราชวัง บางปะอิน ว่าไม่มีความลึกซึ้ง อะไรเอาเลยก็ว่าได้

เราต้องไม่ลืมว่า ท่านที่เป็นเสนาบดีพระคลัง กำกับกรมท่า โดยถือตราบัวแก้ว ที่สำคัญยิ่งนั้น คือเจ้าพระยา พระคลัง (หน) ซึ่งดูจะเป็นบุคคลเดียวก็ว่าได้ ที่รอบรู้กระแสธาร กระบวนการทัศน์ ภารตวิทยา และจีนวิทยา ตลอดจน อารยธรรม ของอุษาคเนย์ ที่ซึมซับลงในทางวรรณศิลป์ อย่างเป็นเลิศ ในสยามพากย์ ดังขอให้ดู สามก๊ก ราชาธิราช และ กากี เป็นตัวอย่าง โดยไม่ต้องเอ่ย ถึงงานอื่นๆ ของท่านผู้นี้ ซึ่งเป็นนักกวีวัจนะ อย่างประเสริฐ ทั้งทางร้อยแก้ว และร้อยกรอง แม้ท่านจะไม่รู้ ภาษาจีน หรือบาลี สันสกฤต แต่ท่านก็มี อัจฉริยภาพ ในทางภาษา ซึ่งสามารถ รับกระแสธาร จากแหล่งอารยธรรม ที่สำคัญๆ จากทั้งภารตประเทศ และ จีนประเทศ โดยไม่จำต้องกล่าวถึง รามัญประเทศ ก็ยังได้

อนึ่ง พึงตราเอาไว้ด้วยว่า เวลาเราเอ่ยถึงภารตวิทยานั้น เรารับมาจากภาคใต้ ของชมภูทวีป ยิ่งกว่าภาคเหนือ แม้พระมหาราชครู ที่อ่านพระคัมภีร์ เพื่อเปิด ศิวาลัยไกรลาศ อัญเชิญพระอิศวร เป็นเจ้าเสด็จลงมา หน้าโบสถ์พราหมณ์ อันเป็นศูนย์กลาง ของจักรวาลนั้น ท่านใช้ภาษาทมิฬโบราณ ไม่ใช่ภาษาสันสกฤต ดังที่ผู้ศึกษา ด้านพุทธวิทยา ก็น่าจะทราบว่า พุทธศาสนา ตั้งมั่นอยู่ทางใต้อีกนาน แม้ในทางเหนือ จะปลาสนาการไปแล้ว จากการครอบงำของพราหมณ์ หรือถูกกลืน เป็นฮินดูไป หาไม่ก็ถูกถอนราก ถอนโคน โดยพวกมุสลิม

คำว่า ทมิฬ มากลายเป็นสิ่งซึ่งเลวร้าย ก็ต่อเมื่อ เรารับอารยธรรม จากลังกาทวีป ต่างหาก โดยเฉพาะ ก็เมื่อเรา มาสมาทาน นิกายลังกาวงศ์ ในสมัยสุโขทัย เชียงใหม่ เชียงแสน และ นครศรีธรรมราชนี่เอง จนคัมภีร์อย่าง มหาวงศ์ และ ทวีปวงศ์ กลายเป็นต้นตอ ที่มาของพงศาวดารสยามไปเลย ทั้งนี้โดยไม่ต้อง เอ่ยถึง สาสนวงศ์ จากพม่า และ ชินกาลมาลีปกรณ์ จากภาคเหนือ ของเราเองก็ยังได้

จำเดิมแต่เมื่อเรา เริ่มเรียนรู้อย่างฝรั่ง ในสมัยรัชกาลที่ ๕ นี่เอง ที่เราถูกตัดขาด ออกจากภารตวิทยา และ ลังกาวิทยา หรือจะพูดให้ใกล้เคียงยิ่งขึ้นก็คือ สิงหลวิทยา ซึ่งอยู่ฝ่ายตรงข้าม กับทมิฬวิทยา เกือบจะในทุกๆ ทาง ไม่เพียงภาษา หากรวม ถึงศาสนา และวัฒนธรรม ซึ่งรวมไปถึง เศรษฐกิจการเมืองอีกด้วย

แกนกลางที่สำคัญสุด ในทางภารตวิทยา ที่เข้ามาสู่สยาม คือคัมภีร์พระธรรมศาสตร์ ซึ่งเป็นต้นตอ ที่มาของราชศาสตร์ และนิติศาสตร์ แต่เราก็รับมาจากมอญ และจาก ภาษาบาลี ไม่ใช่ภาษาสันสกฤต

พูดกันอย่างไม่อ้อมค้อมก็คือ เรารู้ภาษาสันสกฤต กันน้อยมาก ดังรามเกียรติ์ ของเรา ก็มาจากภาษาปรากฤต และ ภาษาทมิฬ ยิ่งกว่าภาษาสันสกฤต โดยถ่ายทอด ผ่านพ่อค้าวานิช และพราหมณ์ทางใต้ ยิ่งกว่าทางเหนือ ความข้อนี้เสฐียรโกเศศ และ นาคะประทีป ได้พรรณนา ไว้มากแล้ว ในเรื่อง สมญาภิธาน รามเกียรติ์ และ อุปกรณ์รามเกียรติ์ ซึ่งเป็นตัวอย่าง ในทางนิเทศศาสตร์ และ ในทางวิจัย ของคนรุ่นก่อน ที่ปราศจาก สินจ้างรางวัล หรือกองทุนใดๆ ทั้งสิ้น

เข้าใจว่า ลาว เขมร และพม่า ก็ดูจะไม่ดีไปกว่าเรา ในเรื่องนี้ ดีร้าย ประเทศทั้งสามนี้ จะได้อิทธิพล ทางด้านภารวิทยา กระแสนี้ไปจากเรา เอาเลยด้วยซ้ำ แล้วแปลงสภาพ ทางวรรณศิลป์ ออกเป็นวัฒนธรรม ท้องถิ่น อย่างต่างกัน ออกไปอย่างไร และ เหมือนกันอย่างไร น่าสนใจนัก ดังศาสตราจารย์ สหายแห่ง มหาวิทยาลัยมคธ ได้ชำระ รามเกียรติ์ ลาวเอาไว้ อย่างน่าสนใจนัก และท่านผู้นี้เอง ได้ถือว่า เป็นบิดา การประชุม ไทยคดีศึกษา ที่จัดกันตามเมืองต่างๆ ดังที่คราวหน้า จะมีที่นครพนม คราวที่แล้ว ที่นครแอมสเตอแดม หากคราวแรกนั้น มีที่กรุงเดลี แต่นักรู้ของไทย ลืมนามสหายกันไปเสียแล้ว เป็นส่วนใหญ่

ก็เรื่องใกล้ๆ ตัวแค่นี้เรายังลืมกันเสียได้ แล้วเราจะไปสาวหาอดีต ที่ยาวไกล ออกไปได้อย่างไร อนึ่ง คำว่า อารยธรรม กับ วัฒนธรรม ต่างกันอย่างไร ก็จะไม่ขอเอ่ย ไว้ในที่นี้ โดยที่คำทั้งสองนี้ เราบัญญัติศัพท์ขึ้น จากภาษาอังกฤษ และ ในเมืองฝรั่ง เองนั้น พวกเยอรมัน ไม่ถือว่าฝรั่งเศษ และอังกฤษ มีวัฒนธรรม หากมีเพียง อารยธรรม นี่ก็เป็น อีกประเด็นหนึ่ง ซึ่งยังไม่ขอนำเสวนาในที่นี้

ขอย้ำว่าการที่เราขาดผู้รู้ ทางภาษาสันสกฤต อย่างลึกซึ้งนั้น คงเป็นไปได้ ทั้งในแง่คุณ และโทษ เพราะบางคน ที่ไปเรียนภาษา สันสกฤต มาจากฝรั่ง แล้วอ้าขา ผวาปีกว่า ตัวรู้ดียิ่งกว่าคนอื่น จนคลั่งวิชานั้น นับว่า น่ารำคาญยิ่งนัก ดังจักไม่ขอเอ่ยชื่อ อ้ายหมอนี้ไว้ในที่นี้

มองนอกไทยสยาม ออกไปยังอุษาคเนย์ เห็นว่าจะต้องยอมรับว่า อินโดนีเซีย เป็นประเทศเดียวละกระมัง ที่รับอารยธรรม สันสกฤต จากภารตประเทศ ยิ่งกว่าใครอื่น แม้พุทธศาสนา ก็เป็นไปในทางมหายาน ซึ่งมีสันสกฤต เป็นปาลิ ในขณะที่เถรวาทของเรา มีมคธภาษาเป็นปาลิ นอกเหนือไปจาก ศาสนาพราหมณ์ ซึ่งงอกงาม ที่ในประเทศนั้น นานกว่า และยั่งยืนกว่า ประเทศอื่นใด ในภูมิภาคนี้ แม้อิทธิพล ของศรีวิชัย จะแผ่มาจนถึงไชยา หรือนครไชยศรีด้วย ก็ยังได้ แต่อารยธรรม กระแสนั้น ได้ตายเสียสนิท ที่ในกรุงสยามนี้ จำเดิมแต่เรา มาสมาทาน นิกายลังกาวงศ์ ในทางเถรวาท ซึ่งมีอิทธิพลตลอดทั้งพม่า รามัญ ลาว และเขมร ยิ่งกรุงกัมพูชาด้วยแล้ว เคยมีมหายาน และ ลัทธิพราหมณ์ ตามอารยธรรม ของสันสกฤต ยิ่งกว่า ประเทศอื่นใด บนผืนแผ่นดินใหญ่ ของเอเชียอาคเนย์นี้ ดังขอให้ดูพยานหลักฐาน ได้ที่นครวัด นครธม

อย่างน้อยที่อินโดนีเซียนั้น ภารตวิทยา ยังมีชีวิตชีวาอยู่จนบัดนี้ แม้ประชาชน คนส่วนใหญ่ จะสมาทาน ศาสนาอิสลาม มาหลายร้อยปี แล้วก็ตาม และที่ประเทศนั้น รามเกียรติ์ มีคุณค่า อย่างควบคู่ไปกับ มหาภารตะ ซึ่งคนไทยส่วนใหญ่ แทบไม่มี ความรู้กันเอาเลย

วรรณคดีอันมีค่ายิ่ง ที่เอ่ยชื่อมาแล้วนี้ ล้วนแสดงออกทางนาฏดุริยางค์ อย่างสำคัญ อันโยงใยกัน ในอุษาคเนย์นี้ อย่างควรที่จะมี มนสิการกันโดยแท้ ไม่ใช่เอามาแสดงกัน ในงานฉลองต่างๆ อย่างไร้เนื้อหาสาระ หรืออย่างไว้อวดกัน เท่านั้นเอง

ยิ่งคัมภีร์พระเวท และอุปนิษัท ตลอดจนจักรวาลวิทยา จากภารตประเทศด้วยแล้ว เราก็ขาด ความรอบรู้กัน เอาเลยจริงๆ ไม่ว่าจะในอดีต หรือในปัจจุบัน ไตรภูมิพระร่วง หรือ เตภูมิกถา อาจจะเป็นเล่มเดียว ที่เรารับ จักรวาลวิทยา จากภารตประเทศ เข้ามาแฝงไว้ใน พุทธวิทยาแบบบาลี โดยที่ถ้าเราศึกษา โองการแช่งน้ำ ในสมัยอู่ทอง อย่างตีความ ให้แตกฉานได้ เราคงได้รับรู้กระแสธาร กระบวนทัศน์ภารตวิทยา สมดังหัวข้อ การเสวนาวันนี้ก็ได้

ความข้อนี้ คงต้องขอชมจิตร ภูมิศักดิ์ ซึ่งเป็นนักวิจัยนอกระบบ ที่มีคุณูปการ อยู่มิใช่น้อย ทางด้าน ภารตวิทยา กระแสนี้ ดังเรื่อง ความเป็นมาของคำสยาม ไทย ลาว และขอม และ ลักษณะทางสังคม ของชื่อชนชาติ, สังคมไทย ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ก่อนสมัยศรีอยุธยา ของเขาเป็นตัวอย่าง แม้ โฉมหน้า ศักดินาไทย จะปนคติมากซิสต์ เข้าไปมิใช่น้อย ก็ตามที ดังที่การชำระ นิราศหนองคาย ของเขาก็เช่นกัน

อ่านต่อฉบับหน้า

* โดยที่ถ้อยคำในภาษาไทยสมัยนี้ มักถูกสะกดโดยภาษาฝรั่ง ถ้าจะลองแปลคำว่า นักปราชญ์สยาม กลับไปเป็น ภาษาอังกฤษ ก็คงต้องขอยืมคำของ Walter Lippmann มาใช้

(เราคิดอะไร ฉบับที่ ๑๔๔ กรกฎาคม ๒๕๔๕)