หน้าแรก >[09] การสื่อสาร > การเผยแพร่ธรรมะ >เราคิดอะไร

กติกาเมือง
‘ประคอง เตกฉัตร ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลประจำสำนักงานศาลยุติธรรม ช่วยทำงานในตำแหน่งผู้พิพากษา หัวหน้าศาลจังหวัด นครศรีธรรมราช


บิดา มารดา กับการสมรสของบุตร

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๕๔๐ ที่บังคับใช้อยู่ในปัจจุบันนี้ ได้บัญญัติไว้ในมาตรา ๕ , ๖ และ ๓๐ รับรองคุ้มครองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของสตรีให้มีสิทธิเท่าเทียม เสมอภาคกับบุรุษ และห้าม มิให้เลือกปฏิบัติต่อสตรี ในการที่ไม่เป็นธรรม นับว่าประเทศไทย เป็นประเทศหนึ่ง ที่ให้ความสำคัญ ในเรื่องสิทธิเสรีภาพแก่สตรี เท่าเทียมกับบุรุษ นับว่ามีเพียงไม่กี่ประเทศ ในเอเชีย ที่ยอมรับหลักการ ในข้อนี้ ส่วนหนึ่ง เราได้รับอิทธิพล มาจากพุทธศาสนา ที่ให้สิทธิสตรีมาก เกือบจะพูดได้ว่า เท่าเทียมกับบุรุษ โดยอนุญาตสตรี เข้าเป็นนักบวช ในทางพระพุทธศาสนาได้ ไม่ว่าสิกขมานา สามเณรี หรือภิกษุณี แต่อย่างไรก็ตาม สิทธิสตรีในสังคมไทย ในสมัยก่อน ก็ไม่ได้มีสิทธิ เท่าเทียมกับบุรุษ แต่อย่างใด โดยเฉพาะ การเลือกคู่ชีวิต แทบจะพูดได้ว่า เป็นสิทธิของฝ่ายชาย หรือของบิดามารดา เป็นหลัก ได้มีสิทธิเสรีภาพ ในการเลือกคู่ครอง ของตนเองได้

เรื่องหนึ่งที่เกิดขึ้น ในสมัยรัชกาลที่ ๔ คือเรื่องอำแดงเหมือน อำแดงเหมือนนั้นมีอายุ ๒๑ ปี ชอบพอรักใคร่ กับนายริด โดยที่บิดามารดา ของอำแดงเหมือนไม่ทราบ ต่อมาบิดามารดา ของอำแดงเหมือน จัดการ ให้อำแดงเหมือน แต่งกับนายภู แต่อำแดงเหมือน ไม่สมัครใจที่จะอยู่กิน ฉันสามีภริยากับนายภู บิดามารดา ของอำแดงเหมือน จึงทุบตีอำแดงเหมือน และบีบบังคับให้อำแดงเหมือน แต่งงานกับนายภู บิดามารดา ของอำแดงเหมือน ได้สมคบกับนายภู ให้นายภูฉุดคร่าอำแดงเหมือน ไปไว้ในที่บ้านนายภูถึงสองครั้ง แต่อำแดงเหมือนก็ดิ้นรน ยืนกราน ไม่ยอมเข้าไปในเรือน ของนายภูและหลบหนีกลับมาบ้าน เมื่อมาถึงบ้าน บิดามารดาก็ทุบตี และข่มขู่จะฆ่าอำแดงเหมือน ในที่สุดอำแดงเหมือน จึงหลบหนีไปอยู่บ้านนายริด หลังจากนั้น บิดามารดาของอำแดงเหมือน บอกให้นายริดนำผู้ใหญ่ ไปสู่ขอขมา ที่บ้านกำนัน เมื่อนายริด และญาติผู้ใหญ่ไปถึง พบนายภู ซึ่งรออยู่ก่อนแล้ว ได้กักตัวญาติผู้ใหญ่ของนายริด ไว้ที่บ้านกำนัน ต่อมาอำแดงเหมือน นายริดและบิดามารดาของนายริด ก็ถูกหมายเรียกตัว ไปยังศาลากลาง เมืองนนทบุรี อำแดงเหมือน ให้การต่อพระนนทบุรี และกรมการว่า ไม่ได้รักใคร่ยอมเป็นเมียนายภู กรมการ จึงเปรียบเทียบว่า ถ้านายภูสาบานตัวได้ว่า อำแดงเหมือนยินยอมเป็นเมียนายภู ก็ให้นายริดแพ้ความ แต่นายภู ไม่ยอมสาบานตัว กรมการจึงเปรียบเทียบว่า ให้อำแดงเหมือน สาบานว่าไม่ได้ยอมเป็นเมียนายภู ก็ให้คดีเลิกแล้วต่อกัน แต่นายภูก็ไม่ยอมให้อำแดงเหมือนสาบาน ต่อมานายภูได้มาฟ้อง กล่าวหานายริด บิดามารดาของนายริด และญาติผู้ใหญ่ของนายริดอีก ๒ คน พระนนทบุรี และกรมการ บังคับให้นายริด ส่งตัวอำแดงเหมือน ให้แก่ตะลาการ อำแดงเหมือนได้ให้การตามเดิมว่า ไม่ได้เป็นภริยาของนายภู อำแดงเหมือน จึงถูกควบคุมตัว ในระหว่างนั้น มารดาอำแดงเหมือน ก็ได้ขู่เข็ญให้อำแดงเหมือน ยอมเป็นเมียนายภู อำแดงเหมือนจึงเร่งรัด ให้ตะลาการพิจารณาคดี แต่กลับถูกขัง และแกล้งใช้งานต่างๆ ทำให้ได้รับความเดือดร้อนมาก ในที่สุดอำแดงเหมือน จึงได้หนีมาถวายหนังสือฎีกา ว่าไม่ได้เป็นภริยา ของนายภู และสมัครใจ ที่จะอยู่กินกับนายริด รัชกาลที่ ๔ จึงมีพระบรมราชวินิจฉัยว่า "หญิงนั้นอายุก็มากถึง ๒๐ ปีเสศแล้ว ควรจะเลือกหาผัว ตามใจชอบของตนเองได้" แต่ให้นายริดจ่ายค่าเบี้ยละเมิด และ ค่าฤชาธรรมเนียม แก่บิดามารดาอำแดงเหมือน และนายภู ให้เลิกอายัด และยกฟ้อง ปล่อยตัวญาติผู้ใหญ่ ของนายริด และวินิจฉัยถึงสาเหตุ ที่บิดามารดา ของอำแดงเหมือน ยอมให้นายภู มาฉุดคร่าตัว อำแดงเหมือนไป ถึงสองครั้งนั้นว่า อาจเนื่องมาจาก เหตุที่บิดามารดา ได้ทำหนังสือขายอำแดงเหมือน ให้แก่นายภูไปแล้ว ซึ่งหากเป็นเช่นนั้น ได้ตัดสินว่า "บิดามารดา ไม่ได้เป็นเจ้าของผู้หญิง ดังหนึ่งคน เป็นเจ้าของโค กระบือ ช้าง ม้า จะตั้งราคาขายโดยชอบได้ ... เมื่อบิดามารดายากจน จะขายบุตร ต่อบุตรยอมให้ขาย จึงขายได้ ถ้าไม่ยอมให้ขาย ก็ขายไม่ได้ ฤๅยอมให้ขาย ถ้าบุตรยอมรับนี่ (ปัจจุบันใช้หนี้)
ค่าตัวเพียงไร ขายได้เพียงเท่านั้น กฎหมายเก่าอย่างไร ผิดไปจากนี้อย่าเอา"

นอกจากคดีอำแดงเหมือน และนายภูแล้ว ยังมีอีกคดีหนึ่งที่เกิดขึ้น คือคดีของอำแดงจั่น ที่สามีของ อำแดงจั่น ได้ขายอำแดงจั่น แล้วอำแดงจั่นได้ไปทูลเกล้า ถวายฎีกาต่อรัชกาลที่ ๔ ว่านายเอี่ยม ซึ่งเป็นผัว ลักเอาชื่อของตน ไปขายให้เป็นทาสแก่ผู้อื่น โดยที่ตน ไม่ได้รู้ไม่ได้เห็นด้วย รัชกาลที่ ๔ ทรงมีพระราชดำริว่า "ผัวลักเอาชื่อภริยาไปขาย ภริยาไม่เห็นด้วย จะเรียกว่าเป็นเรือนเบี้ย ไม่ควร" พระองค์ทรงให้ลูกขุน คัดตัวบท กฎหมาย ทูลเกล้าถวาย เมื่ออ่านกฎหมายแล้วเห็นว่า กฎหมายวางหลักว่า ผัวหรือพ่อแม่ มีสิทธิที่จะ เอาชื่อเมียหรือลูก ใส่กรมธรรม์ เพื่อขายแก่ผู้อื่นได้ โดยที่ลูกหรือเมีย จะรู้หรือไม่ก็ตาม และพ่อแม่ มีอำนาจอิสระ เหนือเมียและลูก แต่ในทางกลับกัน เมียหรือลูก จะเอาชื่อผัว หรือพ่อใส่กรมธรรม์ เพื่อขายแก่ผู้อื่นไม่ได้ เมื่อทรงเห็นหลักกฎหมาย ดังกล่าวแล้ว ทรงมีพระราชดำริว่า "กฎหมายนี้ เมื่อพิเคราะห์ดู เหมือนผู้หญิงจะเป็นควาย ผู้ชายเป็นคน หาเห็นการยุติธรรมไม่ ให้ยกเสีย"

เห็นว่าขณะนั้น ผู้ชายมีเมียครั้งละหลายคน และแยกประเภทของเมียต่างๆ ได้ดังนี้ เช่น การขายเมีย ที่มิใช่ทาส ผัวจะขายได้ต่อเมื่อ เมียยินยอมให้ขาย และเมียต้องลงลายมือชื่อ และทำแกงไดลงใน กรมธรรม์นั้น และมีพยานรับรู้ สำหรับการขายเมียทาสนั้น ตราบใดที่ผัว ไม่ได้ฉีกสารกรมธรรม์ ยกค่าตัวให้ เมียทาส ดังกล่าวนั้น ก็อยู่ในฐานะทาส ผัวจะเอาชื่อของตนไปขาย ในราคาค่าตัวเท่าเดิม หรือ หย่อนกว่าเดิมก็ได้ โดยผัวต้องส่งมอบ กรมธรรม์เก่า ให้แก่นายเงินผู้ซื้อตัวคนใหม่ เป็นหลักฐาน แต่ถ้าจะลงแกงได ยินยอม รับค่าตัวไปด้วย เพราะการเพิ่มค่าตัว ย่อมเป็นการเพิ่มภาระ ผูกพันแก่ทาส สำหรับการขายลูกนั้น พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงวางหลักกฎหมาย เกี่ยวกับบิดามารดา ขายบุตรว่า ถ้าบุตรอายุต่ำกว่า ๑๕ ปีแล้ว และอยู่กับพ่อแม่ พ่อแม่มีสิทธิขายได้ โดยไม่ต้อง ได้รับความยินยอมของบุตร แต่ถ้าบุตรอายุกว่า ๑๕ ปีแล้ว ต้องให้บุตรลงแกงไดยินยอมด้วย และมีพยาน รู้เห็นสัญญาซื้อขาย จึงจะสมบูรณ์ แต่ถ้าพ่อแม่เลิกกัน บุตรอยู่กับอีกฝ่ายหนึ่ง จะลักเอาชื่อของลูก ไปขายไม่ได้

สมัยรัชกาลที่ ๔ นั้นภริยามีอยู่ทั้งหมด ๔ ประเภท คือ
๑. ภริยาอันทรงกรุณาพระราชทานหรือภริยาทูลขอและพระราชทานให้ ซึ่งได้แก่ภริยาที่ พระมหากษัตริย์ พระราชทานให้แก่ ข้าราชบริพาร ภริยาประเภทนี้ อยู่ในฐานะเป็นภริยาหลวง โดยไม่ต้องมี การจัดพิธีแต่งงาน ถือได้ว่า เป็นการได้รับพระราชทาน

๒. ภริยาอันสู่ขอขันหมากจากบิดามารดายกให้ เรียกว่าเมียกลางเมือง ในกฎหมายลักษณะผัวเมีย หรือ เมียขันหมากหลวง ตามกฎหมาย ลักษณะกู้หนี้เมีย ประเภทนี้ จัดว่าเป็นเมียหลวง ชายมีเมียหลวงได้ หลายคน สาระสำคัญจะเป็นเมียกลางเมืองอยู่ที่ จะต้องมีการสมรส อย่างเป็นทางการ

๓. เมียกลางนอกหรือเมียน้อยเกิดจากการอยู่กินร่วมกัน โดยไม่ได้มีการจัดการสู่ขอ และจัดพิธีสมรส อย่างเป็นทางการ กฎหมายลักษณะผัวเมียเรียกว่าหญิงที่ชายขอมาเลี้ยงหรืออนุภรรยา ต่อมาสามี อาจเลื่อนฐานะ ให้เป็นเมียกลางเมืองก็ได้ ในกรณีเมียกลางนอก ยังเป็นผู้เยาว์ การอยู่กินร่วมกัน ต้องได้รับ ความยินยอม จากบิดามารดาของผู้เยาว์ก่อน

๔. เมียกลางทาสี หมายถึงหญิงที่อยู่ในฐานะเป็นทาสช่วยกันทำงาน แต่ชายรับเลี้ยงเป็นเมีย อีกคนหนึ่ง

นอกจากนี้รัชกาลที่ ๔ ยังโปรดเกล้า ให้มีการแก้ไขเกี่ยวกับสิทธิ ในการเลือกคู่ครอง และกรณี ผัวขายเมีย ในกรณีที่เป็น ข้าราชการฝ่ายใน เช่น เจ้าจอม หม่อมพนักงาน และนางบำเรอทุกคน ยกเว้น แต่เจ้าจอมมารดา ในพระเจ้าลูกเธอ หรือหญิงที่ถูกบิดามารดา นำมาเป็นหลักประกันหนี้ ซึ่งได้กู้ยืม จากพระองค์ไป และยังใช้ไม่หมด สามารถกลับถวายบังคมลา ไปอยู่นอกวัง และมีผัวได้ตามใจสมัคร

ปัจจุบัน ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๔๓๕ กำหนดเงื่อนไขของการหมั้นไว้ ในมาตรา ๑๔๓๕ ว่า การหมั้นนั้น จะทำได้ต่อเมื่อ ชายและหญิง มีอายุสิบเจ็ดปีบริบูรณ์แล้ว การหมั้นที่ฝ่าฝืน บทบัญญัติดังกล่าว เป็นโมฆะ ฉะนั้นไม่ว่าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ที่อายุไม่ครบสิบเจ็ดปีบริบูรณ์ แม้บิดามารดา เห็นชอบ ก็ทำไม่ได้

มาตรา ๑๔๓๖ บัญญัติว่าผู้เยาว์จะทำการหมั้นได้นั้น ต้องได้รับความยินยอม ของบิดามารดา ในกรณี มีทั้งบิดามารดา บิดาหรือมารดา ในกรณีมารดาหรือบิดาตาย หรือถูกถอนอำนาจปกครอง หรือไม่อยู่ ในสภาพ หรือฐานะที่อาจให้ความยินยอม หรือโดยพฤติการณ์ ผู้เยาว์ไม่อาจ ขอความยินยอม จากมารดา หรือบิดาได้ ถ้าบุตรบุญธรรมต้องได้รับความยินยอม จากผู้รับบุตรบุญธรรม หรือผู้ปกครอง ในกรณี ไม่มีบุคคล ดังกล่าวข้างต้น หรือบุคคลดังกล่าวข้างต้นถูกถอนอำนาจปกครอง การหมั้นที่ปราศจาก ความยินยอม ดังกล่าวเป็นโมฆียะ หมายความว่า ฝ่ายผู้เยาว์จะบอกล้าง เมื่อใดก็ได้

การสมรส ก็เช่นเดียวกัน จะทำได้เมื่อฝ่ายหญิงอายุ ๑๗ ปีบริบูรณ์ แต่กรณีมีเหตุสมควร ศาลจะอนุญาต ให้ทำการสมรสก่อนได้ เช่นหญิงมีครรภ์ และผู้เยาว์ จะทำการสมรส ต้องได้รับความยินยอม จากบิดา มารดาด้วย เช่นเดียวกัน ถ้าบิดามารดาไม่ยินยอม ผู้เยาว์ก็ต้องไปขออนุญาตต่อศาล การสมรสปัจจุบัน มีได้แต่การจดทะเบียนสมรสเท่านั้น และทั้งสองฝ่ายต้องยินยอม การสมรสซ้อน มีโทษถึงจำคุก เพราะเป็น การแจ้งความอันเป็นเท็จ ต่อเจ้าพนักงาน

บิดามารดาเริ่มลดบทบาท ในการมีคู่สมรสของบุตร ไม่ว่าหญิงหรือชาย ถ้าบุตรไม่บรรลุนิติภาวะ คืออายุ ยี่สิบปีบริบูรณ์ มีหน้าที่เพียงให้ความยินยอมเท่านั้น แต่จะบังคับผู้เยาว์ เอาตามใจบิดามารดา ไม่ได้แล้ว

การให้ความยินยอมนั้น ทำโดยลงลายมือชื่อ ในทะเบียนสมรส หรือทำเป็นหนังสือ แสดงความยินยอม โดยระบุชื่อ ผู้สมรสทั้งสองฝ่าย และลงลายมือชื่อ ของผู้ให้ความยินยอม ถ้ามีเหตุจำเป็น จะให้ความยินยอม ด้วยวาจาต่อหน้าพยาน อย่างน้อยสองคนก็ได้ ความยินยอมนั้นให้แล้ว ถอนไม่ได้

(เราคิดอะไร ฉบับที่ ๑๔๔ กรกฎาคม ๒๕๔๕)