ชาดกทันยุค อดีตชาติของพระพุทธเจ้า
พายุปากเข่นโค่นกัน
ญาติพลันแตกพังพินาศ
เห็นแก่ตัวกลัวลำบาก
จึงขาดสามัคคีร่วมใจ
สายเดี่ยวโค่นง่าย
(รุกขธัมมชาดก)
แม่น้ำโรหิณี
เป็นเส้นแบ่งเขตแดนระหว่างแคว้นศากยะกับแคว้นโกสิยะ เคยเป็นเหตุให้
พระญาติ ของพระพุทธเจ้า จากทั้งสองแคว้น
ทะเลาะวิวาทกัน ในการแย่งน้ำไปใช้ในการเกษตร จนจวนเจียน จะเกิดสงคราม
ระหว่างพระญาติขึ้น พระพุทธเจ้าจึงต้องเสด็จมาระงับศึก (เป็นที่มาของพระพุทธรูป
ปางห้ามญาติ) ณ ริมฝั่งแม่น้ำโรหิณี
พระศาสดาตรัสกับพระญาติทั้งหลายในที่นั้นว่า
"มหาบพิตรทั้งหลาย พวกท่านได้ชื่อว่าเป็นญาติกัน
ควรที่จะสมัครสมานสามัคคีร่วมใจกัน เพราะหาก ท่านทั้งหลาย ยังมีความสามัคคี
ปรองดองกันอยู่ หมู่ข้าศึกย่อมไม่ได้โอกาส โค่นล้มทำลายได้
อย่าว่าแต่เป็น
ความสามัคคี ในหมู่มนุษย์เลย แม้หมู่ไม้รวมกลุ่มกันหนาแน่น มหาวาตภัย
ก็มิอาจรุกราน ให้ต้นไม้ หักโค่นได้เลย ด้วยเหตุนี้ พวกท่านจึงควรรักใคร่
กลมเกลียวร่วมใจกัน"
พระญาติทั้งหลายพากันกราบทูลอาราธนา(ขอร้อง)
พระศาสดาจึงทรงเล่าเรื่องนั้น
ในอดีตกาล
ณ ป่ารัง (ต้นไม้ขนาดใหญ่ เป็นไม้เนื้อแข็งใช้ในการก่อสร้าง) แห่งหนึ่ง
ซึ่งตั้งอยู่ ภายใน ป่าหิมพานต์ (ป่าหนาวแถบเหนือของอินเดีย) อันกว้างใหญ่
มีรุกขเทวดา
(ผู้มีใจสูงที่รักต้นไม้) ผู้เป็นบัณฑิต (ฉลาดในธรรม) ตนหนึ่ง
ได้กล่าวแนะนำแก่ หมู่ญาติ รุกขเทวดาด้วยกัน โดยมุ่งหมาย ให้มีความปลอดภัย
ในที่อยู่อาศัยว่า
"ท่านทั้งหลาย
หากปรารถนาจะอยู่ในวิมาน(ต้นไม้) ใด จงอย่าจับจองต้นไม้ ที่ตั้งอยู่โดดเดี่ยว
บนเนินดินเด่น เด็ดขาด แต่จงเลือกอาศัยอยู่ต้นไม้หนาแน่น เกาะกลุ่มกัน
ในป่ารังนี้เถิด"
บรรดารุกขเทวดาเหล่านั้นฟังแล้ว
พวกที่เป็นบัณฑิตก็กระทำตามนั้น ส่วนพวกที่เป็นพาล (โง่ในธรรม) ต่างก็พูดกันว่า
"พวกเราไม่ต้องการวิมานในป่ารังนี้
แต่ต้องการวิมานที่โดดเด่นในบ้าน ในเมืองต่างๆ ในถิ่นอาศัยของมนุษย์
เพราะย่อม ประสบลาภมาก ได้ยศยิ่งใหญ่นานาประการ"
พวกรุกขเทวดาพาลจึงพากันไปจับจองวิมานอยู่
ตามต้นไม้ใหญ่ๆ ในบ้าน ในเมือง ซึ่งมักอยู่โดดเดี่ยว โดดเด่น ในถิ่นที่หมู่มนุษย์
เอาแต่ค้าขาย ทำมาหากินกันอยู่
ครั้นอยู่มาวันหนึ่ง
บังเกิดพายุฝนรุนแรงพัดกระหน่ำอย่างหนัก กินบริเวณพื้นที่กว้างใหญ่
ที่...ป่ารังนั้น
ต้นไม้แน่นขนัด มีรากมั่นคง ตั้งอยู่ติดๆ กัน คอยค้ำจุนสนับสนุนกันไว้
ทั้งกอไม้ และเถาไม้ ก็ช่วยเกาะเกี่ยว ประสานกันอีก ถึงพายุฝน ซัดกระหน่ำทุกๆ
ด้าน ไม่สร่างซา ก็ไม่อาจทำให้ต้นไม้ ล้มโค่นลงได้ แม้สักต้นเดียว
พายุพัดผ่านไป ตามยอดไม้เท่านั้น
แต่...ต้นไม้ใหญ่มีกิ่งก้านคาคบสมบูรณ์
ตั้งโดดเด่นอยู่ตามบ้าน ในเมือง หรือโดดเดี่ยว บนเนินดิน แม้ในป่าก็ตาม
ล้วนหักโค่น ล้มระเนระนาด ถอนทั้งรากทั้งโคนขึ้นมา เพราะต้านลมพายุไม่ไหว
บรรดารุกขเทวดาพาลที่วิมานล่มแล้ว
ต่างก็ไม่มีที่พำนัก พากันกระเซอะกระเซิง กลับคืนสู่ป่า หิมพานต์ บอกกล่าวเรื่องราวของตน
ให้แก่หมู่ญาติรุกขเทวดา ที่ป่ารังรับทราบ
รุกขเทวดาบัณฑิตตนนั้น
จึงถือโอกาสกล่าวเตือนหมู่ญาติทั้งหลายว่า
"ญาติมีมากเป็นความดี ต้นไม้เกิด ในป่ามากเป็นการดี
แต่ต้นไม้ขึ้นโดดเดี่ยว ถึงงอกงามใหญ่โต สักปานใด ลมแรงย่อมพัด ให้หักโค่นได้"
ครั้นพระศาสดาทรงแสดงชาดกนี้จบแล้ว
ตรัสว่า
"หมู่รุกขเทวดาในครั้งนั้น ได้มาเป็นพุทธบริษัทในบัดนี้
ส่วนรุกเทวดาบัณฑิตนั้น ได้มาเป็นเราตถาคตเอง"
แล้วทรงห้ามพระญาติทั้งหลาย
อย่าได้ทะเลาะแตกแยกกัน ควรมีอภัย และ มีใจเมตตาต่อกัน
"มหาบพิตรทั้งหลาย
ในความเป็นหมู่ญาติ ควรต้องมีความสามัคคีกันก่อนทีเดียว เพราะเหตุนั้น
ท่านทั้งหลาย จงสมัครสมาน ปรองดองกัน อยู่กันด้วยความรักใคร่ กลมเกลียวกันเถิด"
(พระไตรปิฎกเล่ม
๒๗ ข้อ ๗๔ อรรถกถาแปลเล่ม ๕๖ หน้า ๑๙๙ )
(เราคิดอะไร
ฉบับที่ ๑๔๕ สิงหาคม ๒๕๔๕)
|