หน้าแรก >[09] การสื่อสาร > การเผยแพร่ธรรมะ >เราคิดอะไร

บทความชุดนี้ตั้งใจจะเขียนขึ้นเพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับธรรมชาติของ "อำนาจรัฐ" และชี้ให้เห็นช่องทาง ที่จะเป็นทางออกจากตรรกะ แห่งความขัดแย้ง ของขุมอำนาจดังกล่าว จากรากฐานทางพุทธปรัชญา อันอาจกล่าวได้ว่า เป็นแนวคิด "เศรษฐศาสตร์การเมืองเชิงพุทธ"


เศรษฐศาสตร์การเมืองเชิงพุทธ ตอน ๒๐

โครงสร้างที่บกพร่องของสังคม


ระบบพระธรรมวินัยที่พระพุทธองค์ทรงวางรากฐานไว้เป็นเครื่องมือ ในการสร้างสถาบัน พระพุทธศาสนา และสังคมสงฆ์นั้น ถึงแม้จะเป็นแม่แบบที่สมบูรณ์

ของการแก้ปัญหาสังคมมนุษย์ ในภาพรวม ๒ มิติ ดังที่ได้กล่าวมา ในตอนก่อน แต่ก็อาจมีคนโต้แย้งว่า แนวทางแก้ปัญหาของมนุษย์ตามตัวแบบดังกล่าวนี้ คงใช้ได้เฉพาะสำหรับสังคมแคบๆ ในหมู่นักบวช สมัยพุทธกาลเท่านั้น ไม่สามารถจะนำหลักการนี้ มาใช้กับ สังคมวงกว้างทั่วไป โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในยุคสมัยปัจจุบัน

อย่างไรก็ตาม ถ้ามองจากกรอบการวิเคราะห์ แนวทฤษฎีโครงสร้างหน้าที่ (Structural Functional Approach) ซึ่งมองว่าการที่ระบบสังคมหนึ่งๆ จะสามารถดำรงอยู่ได้อย่างมีเสถียรภาพนั้น ต้องประกอบด้วย โครงสร้าง ทางสังคม (Structure) ที่กระทำหน้าที่สำคัญต่างๆ (Function) อย่างสอดประสานสัมพันธ์กัน หากโครงสร้าง ส่วนใดส่วนหนึ่ง ของระบบสังคมกระทำหน้าที่บกพร่อง (Dysfunction) ก็จะส่งผลกระทบ ก่อให้เกิดปัญหา ความผิดปกติ ที่คุกคามความอยู่รอดของระบบสังคมนั้นๆ

เหมือนร่างกายมนุษย์ที่ประกอบด้วยโครงสร้างของอวัยวะสำคัญส่วนต่างๆ ซึ่งกระทำหน้าที่ อย่างสอด ประสาน สัมพันธ์กัน เช่นมีโครงสร้าง ส่วนที่กระทำหน้าที่ เปลี่ยนสารอาหารที่กินเข้าไป ให้เป็นพลังงาน หล่อเลี้ยงชีวิต มีโครงสร้าง ส่วนที่กระทำหน้าที่ กำจัดของเสียออกจากร่างกาย มีโครงสร้าง ส่วนที่กระทำ หน้าที่ ควบคุมการทำงาน ของอวัยวะส่วนต่างๆ ฯลฯ โดยหากโครงสร้าง ส่วนใดส่วนหนึ่ง กระทำหน้าที่ บกพร่อง ก็จะก่อให้เกิดอาการเจ็บป่วยตามมา และอาจนำไปสู่การสูญเสียชีวิตในที่สุด

ภายใต้กรอบการวิเคราะห์แนวทฤษฎีโครงสร้าง-หน้าที่เช่นนี้ ตัวแบบการแก้ปัญหามนุษย์ในภาพรวม ๒ มิติ จะช่วยให้เห็นโครงสร้าง ซึ่งกระทำหน้าที่ เพื่อความอยู่รอด ของระบบสังคมมนุษย์ได้ อย่างครอบคลุมยิ่งขึ้น และเมื่อสังคมเกิดปัญหา ก็จะช่วยเป็นแนวทาง วินิจฉัยสาเหตุ แห่งความผิดปรกติดังกล่าว ว่าเกิดจาก ความบกพร่อง ในการกระทำหน้าที่ ของโครงสร้างทางสังคมส่วนใด เพื่อจะได้หาวิธีเยียวยาแก้ไข ได้ตรงกับ สมุฏฐานของปัญหานั้น

จากกราฟและสมการ


P = ปัญหาของสังคม A = การใช้อำนาจรัฐหรืออำนาจที่เป็นทางการสังคม a = ระดับของการใช้อำนาจที่เหมาะสมที่สุด
W = ความต้องการส่วนเกินของผู้คนในสังคมนั้นๆ โดยรวม
S = ศักยภาพในการสร้างสิ่งตอบสนองความต้องการของผู้คนในสังคม
r = ช่วงกว้างของกราฟซึ่งขึ้นอยู่กับความชันของเส้น MSB และ MSC
X = ค่าคงที่ในสมการ

จะเห็นได้ว่าการที่ระบบสังคมหนึ่งๆ สามารถดำรงอยู่ได้อย่างมีเสถียรภาพ โดยไม่เกิดปัญหาวิกฤติ จนถึงจุดที่ทำให้ระบบ สังคมดังกล่าว แตกสลายไปนั้น ก็เพราะมีโครงสร้างสำคัญ ที่กระทำหน้าที่ ควบคุมระดับ ปัญหาของสังคมโดยรวม (ควบคุมค่า P ในสมการ) ไม่ให้ขยายตัวถึงจุดมวลวิกฤติได้แก่

๑. มีโครงสร้างส่วนที่กระทำหน้าที่ใช้อำนาจรัฐ หรือใช้อำนาจที่เป็นทางการซึ่งผู้คนในสังคมยอมรับ (Authority) เพื่อการควบคุม และจัดระเบียบสังคม อย่างเหมาะสม (ทำให้ค่า (A-a)ยกกำลังสอง ในสมการมีค่าน้อยที่สุด) โครงสร้างที่กระทำหน้าที่ส่วนนี้ ก็คือสถาบันทางการเมือง หรือระบบของการบริหารปกครอง ในสังคมนั้นๆ นั่นเอง

หากโครงสร้างทางสังคมดังกล่าวกระทำหน้าที่บกพร่อง เช่น อ่อนแอเกินไป หรือใช้อำนาจเผด็จการ กดขี่ประชาชนเกินไป ก็จะส่งผล ทำให้ระดับปัญหา ของสังคมขยายตัว เพิ่มขึ้น จนเข้าใกล้จุดมวลวิกฤต และจะนำไปสู่ความล่มสลาย ของสังคมนั้นๆ ได้ ดังตัวอย่าง ประวัติศาสตร์แห่งวิกฤติการณ์ ของชาติต่างๆ ที่มีบทเรียนปรากฏให้เห็นมาแล้ว มากมาย หลายต่อหลายเรื่อง ซึ่งยืนยันความจริงข้อนี้

๒.มีโครงสร้างส่วนที่กระทำหน้าที่ช่วยควบคุมระดับความต้องการส่วนเกินของผู้คนในสังคม ไม่ให้ขยายตัว เพิ่มมากเกินไป (ควบคุมให้ค่า W ในสมการมีระดับต่ำสุด) โครงสร้างทางสังคม ส่วนที่กระทำหน้าที่นี้ ก็คือสถาบันทางศาสนา และกระบวนการอบรม กล่อมเกลาทางสังคมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นอารยธรรม ทางศาสนา ระดับหยาบ สมัยที่มนุษย์ยังเชื่อ ในเรื่องอำนาจ ของเทพ หรือพระเจ้า ซึ่งมีอารมณ์โลภ โกรธ หลง เหมือนปุถุชนทั่วไป และมนุษย์ต้องคอยเอาใจ เทพเจ้าเหล่านั้น ด้วยการประกอบพิธีกรรม ทางศาสนา แม้กระทั่ง พิธีบูชายัญ ด้วยชีวิตมนุษย์ก็ตาม

แต่ความเชื่อทางศาสนาเหล่านี้ก็มีส่วนช่วยควบคุมปริมาณความต้องการส่วนเกิน ของผู้คนในสังคม ไม่ให้ขยายตัว เกินขอบเขต เพราะจะช่วยควบคุม ไม่ให้ผู้คนแข่งขันกัน แก่งแย่งสะสมความมั่งคั่ง และอำนาจด้วยความโลภ จนไปท้าทาย ต่ออำนาจ ของผู้ปกครองรัฐ ซึ่งมีสถานะเป็นตัวแทน ของเทพ หรือพระเจ้า ที่มาปกครองมนุษย์ ภายใต้ความเชื่อ ในลัทธิเทวสิทธิ์ (Divine Right) ที่อาศัยความเชื่อ ทางศาสนาดังกล่าว เป็นแหล่งอ้างอิงความชอบธรรม แห่งอำนาจทางการเมือง ของผู้ปกครองรัฐนั้นๆ

ยิ่งเมื่อมนุษย์ได้พัฒนาอารยธรมทางศาสนาที่ละเอียดลุ่มลึกขึ้น จนถึงขั้นสามารถเรียนรู้รากเหง้า ของความต้องการส่วนเกิน ที่มาจากกิเลส ตัณหาอุปาทาน ในส่วนลึกของจิตวิญญาณมนุษย์ และรู้วิธีกำจัดกิเลส ตัณหาอุปาทาน ดังกล่าวให้หมดไป อย่างสิ้นเชิง ดังเช่นหลักคำสอน ในพุทธศาสนา เป็นต้น ก็ยิ่งมีคุณูปการ ต่อการเสริมสร้างให้โครงสร้าง ทางสังคมส่วนนี้ สามารถกระทำหน้าที่ ได้อย่างเต็ม ประสิทธิภาพสูงสุด

ถ้าโครงสร้างทางสังคมส่วนนี้กระทำหน้าที่บกพร่อง ผู้คนก็จะพากันแย่งชิงลาภยศสรรเสริญ โลกียสุข จะนำไปสู่ความแตกแยก ในสังคม การเบียดเบียน แก่งแย่งกัน เอารัดเอาเปรียบกัน ทำร้ายทำลายกัน และจบด้วย สงครามระดับต่างๆ ที่นำความหายนะ มาสู่สังคมนั้นๆ ในที่สุด

๓. มีโครงสร้างส่วนที่กระทำหน้าที่ช่วยพัฒนาศักยภาพในการสร้างสิ่งตอบสนองความต้องการของผู้คน ในสังคม (เพิ่มค่า s ในสมการ) โครงสร้างทางสังคมส่วนที่กระทำหน้าที่นี้ ก็คือสถาบันครอบครัว สถาบันการศึกษา ตลอดจนสถาบันทางวัฒนธรรม แห่งการเรียนรู้ และการถ่ายทอดความรู้ ในระบบ สังคมนั้นๆ เพื่อเพิ่ม ผลิตภาพ (Productivity) ของสังคม ในการสร้างผลิตผลต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การผลิตสิ่งที่เป็นปัจจัย จำเป็นต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์

ถ้าโครงสร้างทางสังคมส่วนนี้กระทำหน้าที่บกพร่อง ก็จะส่งผลให้ผู้คนในสังคม ปราศจากสติปัญญา ในการคิดค้นพัฒนา เพื่อแก้ปัญหา ด้วยการอาศัยตน เป็นที่พึ่งแห่งตน ผลที่สุด ผู้คนในสังคมนั้น ก็จะมีชีวิตอยู่อย่าง อัตคัดฝืดเคือง ประสบกับปัญหา ความอดอยาก ขาดแคลน และตกเป็นเบี้ยล่าง หรือเป็นเมืองขึ้น ของสังคมอื่น ซึ่งมีความเจริญเหนือกว่า

๔. มีโครงสร้างส่วนที่กระทำหน้าที่ช่วยควบคุมการใช้ทรัพยากรของสังคม รวมทั้งควบคุม การกระจาย ความมั่งคั่งของสังคม เพื่อไม่ให้ช่องว่าง ระหว่างคนรวยกับคนจน ถ่างกว้าง มากเกินขอบเขต (ควบคุม ความชันของเส้น MSC และ MSB ไม่ให้มีความชันมาก อันจะส่งผลให้ค่า ในสมการมีระดับสูงขึ้น และ ปัญหาของสังคมหรือ P มีค่าลดน้อยลง)

โครงสร้างทางสังคมที่กระทำหน้าที่นี้ จะแฝงตัวอยู่ในสถาบันที่กระทำหน้าที่ ด้านการอบรมกล่อมเกลา (Socialization) เพื่อปลูกฝัง คุณค่าต่างๆ ภายในสังคม เช่น ค่านิยมในการทำบุญ เพื่อสร้างสาธารณสมบัติ ส่วนกลาง มีโบสถ์วิหาร ศาลาการเปรียญ มัสยิด โรงเรียน โรงพยาบาล เป็นต้น อันจะเป็นกลไก ช่วยลด ช่องว่าง ระหว่างคนรวยกับคนจน ในสังคมนั้นๆ และก่อให้เกิดวัฒนธรรม แห่งความเอื้ออาทร ของผู้คน ในสังคม (ลดความชันของเส้น MSB ในกราฟ)

หรือความเชื่อบางอย่างทางสังคม อาทิ เชื่อในเรื่องเทพารักษ์ที่อาศัยอยู่ตามต้นไม้ใหญ่ เชื่อในเรื่อง พระแม่คงคา หรือพระแม่ธรณี ฯลฯ ที่ทำให้มนุษย์ไม่กล้าทำลาย ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม เกินขอบเขต ตลอดจนให้ความเคารพ ต่อระบบนิเวศ ที่หล่อเลี้ยงชีวิตมนุษย์ ฯลฯ ค่านิยมเหล่านี้ จะเป็นกลไกที่ช่วยลดต้นทุนทางสังคม ของผลกระทบ ภายนอก ต่อสิ่งแวดล้อม (externality) ที่เกิดจาก การผลิต และการบริโภคของมนุษย์ (ลดความชันของเส้น MSC ในกราฟ)

หากเปรียบเทียบกับโครงสร้างของระบบอวัยวะต่างๆ ในร่างกายมนุษย์ โครงสร้างส่วนที่กระทำหน้าที่ เกี่ยวกับการเมือง การปกครอง ก็เปรียบเหมือนกับ ระบบสมอง และประสาทส่วนที่ควบคุมการทำงาน ของระบบอวัยวะต่างๆ ที่อยู่นอกการควบคุม ของจิตสำนึก (Involuntary Function)

โครงสร้างส่วนที่กระทำหน้าที่กระจายผลผลิตอย่างทั่วถึงเป็นธรรม ก็เปรียบได้กับระบบหลอดเลือด และหัวใจ ที่ทำหน้าที่ สูบฉีดโลหิตไปหล่อเลี้ยงอวัยวะ ทุกส่วนของร่างกาย

ขณะเดียวกันโครงสร้างส่วนที่กระทำหน้าที่ให้การอบรมกล่อมเกลาและควบคุมปริมาณ ความต้องการ ส่วนเกิน ของผู้คนในสังคม ก็เปรียบได้กับ จิตวิญญาณ (หรือธาตุรู้ในตัวมนุษย์) ที่ทำหน้าที่รู้สึกนึกคิด (ผ่านกลไก การทำงาน ของสมองบางส่วน) ซึ่งคอยควบคุม พฤติกรรมต่างๆ ของมนุษย์ (Voluntary Function)

หากอวัยวะส่วนใดส่วนหนึ่งกระทำหน้าที่บกพร่อง ร่างกายจะมีกลไกปรับตัว โดยให้อวัยวะส่วนที่เกี่ยวข้องอื่นๆ ทำหน้าที่ช่วยเหลือ เช่น ถ้าไตซึ่งทำหน้าที่ขับถ่ายของเสีย ออกจากร่างกายทางปัสสาวะ ถูกตัดไปข้างหนึ่ง ระบบอวัยวะส่วนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง กับการกำจัดของเสีย ในร่างกาย ก็จะทำงานหนักขึ้น เพื่อช่วย การทำงาน ของไตข้างที่เหลือ จนบุคคลผู้นั้น สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ อย่างเป็นปรกติสุขต่อไป เป็นต้น

โครงสร้างส่วนต่างๆ ของสังคม ก็มีกลไกในการทำงานที่เกี่ยวข้องสัมพันธ์ และคอยช่วยเหลือ เกื้อกูล ดุจเดียวกัน เช่น ถ้าสถาบันศาสนา มีความอ่อนแอ ไม่สามารถอบรมกล่อมเกลา และควบคุม ปริมาณ ความต้องการ ส่วนเกินของสังคม ที่ขยายตัวเพิ่ม ส่งผลให้ผู้คน มีความโลภ ความโกรธ ความหลง เพิ่มมากขึ้น มีความเห็นแก่ตัว และเบียดเบียน เอารัดเอาเปรียบกัน เพิ่มขึ้น โครงสร้างส่วนที่กระทำหน้าที่ ใช้อำนาจรัฐ ควบคุมจัดระเบียบสังคม ก็ต้องทำงานหนักกว่าเดิม อาทิ ต้องออกกฎหมายใหม่ๆ มาควบคุม บังคับผู้คน ตลอดจนต้องเพิ่มกำลังตำรวจ เพิ่มคุก เพิ่มอัยการ เพิ่มผู้พิพากษา เพิ่มงบประมาณ แล้วก็ต้อง เพิ่มภาษี ของประชาชน ฯลฯ เพื่อใช้ในการแก้ปัญหาต่างๆ ที่ติดตามมาจากความโลภ โกรธ หลง ของผู้คน ในสังคม ที่ขยายตัวเพิ่มดังกล่าว

ภายใต้กรอบการวิเคราะห์ข้างต้น เราจะเห็นโครงสร้างส่วนที่บกพร่อง ของสังคมปัจจุบัน ที่จะต้องหาทาง เยียวยา แก้ไขหลายส่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง โครงสร้างทางสังคม ส่วนที่ควบคุมปริมาณ ความต้องการ ส่วนเกิน ของผู้คน ไม่ให้ขยายเกินขอบเขต ซึ่งประสบความล้มเหลว ในการทำงาน และต้องอาศัย โครงสร้างส่วนอื่น ช่วยทำงานเสริม (Bypass) แต่ถ้าปล่อยให้โครงสร้าง ที่มีหน้าที่หลัก ไม่สามารถ ทำหน้าที่ ของตนไปนานๆ และใช้กลไกชดเชย คอยช่วยเหลือ เช่นนี้ไปเรื่อยๆ ถึงจุดๆ หนึ่ง ระบบสังคม ก็จะแตก สลายลง เหมือนการปล่อย ให้การทำงาน ของไตล้มเหลว และใช้ระบบอวัยวะส่วนอื่นๆ ช่วยทำงาน แทนชั่วคราว โดยไม่หาทาง ผ่าตัด เปลี่ยนไตใหม่ อันเป็นการรักษาที่ถาวรกว่า บุคคลผู้นั้น ก็จะมีชีวิตอยู่ อย่างปรกติสุขต่อไป ได้ไม่นาน เป็นต้น

(อ่านต่อฉบับหน้า)

(เราคิดอะไร ฉบับที่ ๑๔๕ สิงหาคม ๒๕๔๕)