หน้าแรก >[09] การสื่อสาร > การเผยแพร่ธรรมะ >เราคิดอะไร


พระสงฆ์ปฏิบัติดี ยังมีอยู่ในสังคม

วันเข้าพรรษาของชาวพุทธ เวียนมาอีกครั้งในวันแรมหนึ่งค่ำของเดือนแปดเช่นทุกๆ ปี ชาวบ้านผู้เฒ่ายี่สิบกว่าคน สะพายกระติบข้าว พร้อมหิ้วตะกร้า ใส่อาหารหวานคาว ไปทำบุญ ที่วัดป่าท้ายหมู่บ้าน

หลวงตาคำกับพระลูกวัดรวมสี่รูปได้นำชาวบ้านสวดมนต์ไหว้พระรับศีลและได้แสดงธรรมเทศน์หนึ่งกัณฑ์จบลง แล้วก็รับประเคนอาหาร ชาวบ้านต่างก็ทยอย กลับไปบ้าน อบต. สมานผู้ใหญ่บ้าน พร้อมผู้นำชุมชน ยังคงพากัน นั่งอยู่ใกล้กับหลวงตา ที่กำลังฉันอาหารอยู่

"ผมสังเกตดูเห็นแต่คนสูงอายุที่มาวัดในวันเข้าพรรษานี้ คนหนุ่มคนสาวไม่เห็นมีเลย หากคนที่มาวัดรุ่นนี้ หมดแรงหูตาฝ้าฟาง มาวัดไม่ได้ ในยุคต่อไปคนที่จะเข้าวัดด้วยความศรัทธาเชื่อบุญบาป เอาพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์เป็นที่พึ่งนั้น จะไม่มี ต่อไปวัดป่าของเรา อาจจะเป็นวัดร้างก็ได้ สองปีมา พระในวัดป่า จะมีแค่สี่รูป ตลอดมา ไม่เห็นมีใครมาบวชเพิ่มอีกเลย" ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านพูดเสริม

"ทำไมชาวบ้านถึงไม่คิดจะมาบวชกับท่านล่ะครับ" อบต.สมานถามขึ้น หลวงตาคำกลืนอาหารก่อนพูดว่า "ก็ อบต. ผู้ใหญ่ ผู้ช่วยทั้งสาม ก็มาบวช เป็นลูกศิษย์ อาตมาสิ" ทั้งสามหัวเราะ ต่างรู้ดีว่า ใครก็ยังไม่คิด ที่จะออกบวช

"ที่จริงการบวชเป็นพระนั้นไม่ใช่จะทำกันเล่นๆ นะ พระสงฆ์นั้นเป็นผู้สูงส่ง แม้แต่พ่อแม่ ก็ยังกราบไหว้ลูก ผู้ได้บวช พระสงฆ์คือ พระสาวก ขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่พากันบวชสืบทอดกันมา ที่วัดป่าบ้านเรา หาคนมาบวชยาก ก็เพราะอาตมา ได้ตั้งกฎเอาไว้ว่า ผู้ที่จะมาบวชกับอาตมานั้น จะต้อง

๑. เป็นพระแล้วห้ามสูบบุหรี่
๒. ฉันอาหารหนึ่งมื้อ
๓. เป็นพระห้ามมีเงินไว้เป็นของส่วนตัว หากมีผู้นำมาถวายให้นำเงินนั้น นำเข้าเป็นสมบัติส่วนกลางของวัด โดยคณะกรรมการวัด ที่เป็นชาวบ้าน จัดสรรดูแล
และ ๔. ผู้ที่จะมาบวช ต้องมาฝึกปฏิบัติอยู่วัด อย่างน้อยสักสามสี่เดือน ให้รู้จักแนวทาง และเข้าใจว่า การบวช เป็นพระนั้น จะมีคุณค่าต่อตนเอง และสังคม ให้เป็นแบบอย่าง ของพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ กันจริงๆ

"แค่สี่ข้อนี้แหละ ที่ทำให้คนผู้ที่จะมาขอบวช พอรู้แล้ว ต้องกราบลา แต่หากมีผู้ที่ปฏิบัติ ได้ผ่านเข้ามาเป็นพระ พระรูปนั้น ก็จะเป็นพระ ที่ควรกราบไหว้กันจริงๆ"

"ถ้าหากตั้งกฎไว้อย่างนี้แล้ว คนที่คิดจะมาบวชแก้บน สักเจ็ดวัน จะทำอย่างไรครับหลวงตา" ผู้ช่วย ผู้ใหญ่บ้าน ถาม

"ในพระไตรปิฎก อาตมาไม่เคยอ่านพบเจอในเล่มไหนเลย ที่พระพุทธเจ้าท่านบวชแก้บน ให้กับใคร แต่การบวช แก้บนนั้น อาตมาคิดว่า คงจะคิดประยุกต์ทำกันมา หลังจากพระพุทธเจ้า ท่านปรินิพพาน มาหลายร้อยปีแล้ว เพราะการ แก้บนนั้น จะเป็นเรื่องของพวกเทวนิยม ที่นับถือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เป็นที่พึ่ง ซึ่งต่างจาก พระศาสนาพุทธ ที่เป็น อเทวนิยม เป้าหมายยอดสุดคือ สูญสนิทเป็นนิพพาน ถ้าเป็นยุคสมัยเก่าก่อนนั้น การบวชแก้บนเจ็ดวัน สิบห้าวัน หรือ สามเดือน ก็พอเป็นไปได้ เพราะสังคมบ้านเมือง ยังคงมีฤทธิ์แรง ของประเพณีศีลธรรม อันดีงาม เป็นแนวป้องกันพระสงฆ์ ให้อยู่ในแวดวง เหมาะควร

"แต่ในปัจจุบันนี้ การบวชแก้บนเจ็ดวันสิบห้าวัน หรือสามเดือนนั้น จึงเป็นการล่อแหลม ต่อแรงดึงของสังคม ที่จะมาคอยโน้มน้าวใจพระ ที่บวชแก้บนนั้น ให้หลงไปประพฤติตน ไม่ดีไม่งาม ตามอำเภอใจ แบบอย่างคฤหัสถ์ แล้วภาพลักษณ์ของพระสงฆ์ ที่ประพฤติผิดไปจาก ความเหมาะความควรนั้น ก็จะทำให้คนรุ่นใหม่ ที่เป็น หนุ่มสาว เกิดความไม่ศรัทธา แล้วจะคิดว่า สังคมของผู้ที่เข้าวัด ฟังพระแสดงธรรมนั้น ก็จะเป็น อีกเรื่องหนึ่ง ที่ชีวิตความเป็นอยู่ ของพวกเขา ไม่อยากข้องเกี่ยวด้วยเลย การบวชพระแก้บน จึงเป็นส่วนหนึ่ง ที่ทำให้ผู้เข้า มาบวชพระนั้น จะไม่ปฏิบัติจริงจัง ตามพระวินัย เพราะจุดประสงค์ใหญ่ คือการบวชแก้บน"

"ตอนสมัยที่ผมยังเป็นหนุ่ม ผมได้เที่ยวไปค้าขาย ในหลายจังหวัด ได้เห็นเรื่องราวของพระสงฆ์องค์เจ้า ที่หลากหลาย ในบางหมู่บ้าน พระสงฆ์จะไม่ยอม ออกบิณฑบาตเลย ชาวบ้านจะนำข้าวปลาอาหาร ลงไปถวายทานที่วัดเอง เพราะท่านไม่มีเวลา ท่านต้องรับแขกที่มาห้อมล้อมบูชา เอาวัตถุมงคล ตั้งแต่น้ำมนต์ ไปถึง เครื่องรางของขลัง ตลอดเช้ายันค่ำ

"บางหมู่บ้านชาวบ้านจะนิยมนำข้าวสารอาหารแห้ง นำไปถวายพระที่วัด จัดสั่งเด็กวัดทำอาหารถวายพระ แบบกันเอง และมีพระสงฆ์ที่ท่านบวชมานาน หลายรูป ชาวบ้านต่างลือกันว่า ท่านมีเงินฝากอยู่ในธนาคาร ที่เป็นของส่วนตัว (เงินส่วนตัว) ที่ท่านจะเบิกมาใช้สอยอย่างไรก็ได้ พระบางรูปมีเงินอยู่ หลายแสนบาท พระสงฆ์
ที่ท่านชอบเล่น เดรัจฉานวิชา อวดอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ และชอบสะสมเงินทอง ในฐานะที่ท่านก็เป็นพระ ในพระศาสนาเดียวกัน ท่านหลวงตา คิดรู้สึกอย่างไรครับ" ผู้ใหญ่บ้านถามปัญหา ที่ค้างคาใจมานาน เมื่อได้โอกาส

"พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ท่านทิ้งลาภยศออกบวช ท่านนำพระสาวกให้เก็บเอาผ้าห่อศพ มาเย็บเป็นผืน แล้วย้อม ด้วยเปลือกไม้ นำมาห่มครอง ท่านจะเทศน์สอน ให้คนที่หลงผิด ที่คิดไปทำชั่ว ให้กลับใจ มาประพฤติ เป็นคนดี พร้อมให้รู้จักการปลดเปลื้องความโลภ ความโกรธหลง ที่เป็นกิเลสน้อยใหญ่ ที่คอยจะมา มีอำนาจ อยู่เหนือ จิตใจ ให้เบาบางลง จากปุถุชน ขึ้นสุดยอดเป้าหมาย คืออริยชน

"อาตมาคิดว่าพระที่เล่นเดรัจฉานวิชาพร้อมสะสมเงินทอง กำลังปฏิบัติกิจ ผิดไปจากพระธรรมวินัย เพราะ เป้าหมาย ไปอยู่ที่ต้องการลาภสักการะ ซึ่งเป็นการพอกพูน ความโลภ ความหลง เข้าสู่จิตใจอย่างไม่รู้ตัว และยังส่งผลต่อผู้คน ที่มาขอบวชเป็นลูกศิษย์ เพราะศิษย์ต้องเข้าใจ เชื่อตามแนวทาง ของพระอาจารย์ ที่นำพาปฏิบัติว่า การเล่นเดรัจฉานวิชานั้น เป็นกิจของสงฆ์ และการสะสมเงินทองเอาไว้ เป็นสมบัติ ของตนมากๆ นั้นไม่ผิด พระธรรมวินัยเลย

"แต่ที่จริงยิ่งสะสมเงินทองมากขึ้นๆ เยาวชนคนรุ่นใหม่ก็จะรับไม่ได้ อาจมองพระสงฆ์ว่า ไม่แตกต่างไปจาก คฤหัสถ์ ในยุคสมัยนี้ ศาสนาจึงแทบจะหมดโอกาส ที่จะมาช่วยสังคมได้ เพราะผู้คนในสังคม ส่วนใหญ่ ปิดประตูกั้น หรือหันหลังให้กับ พระศาสนาเสียแล้ว"

ชาวบ้านหลายคนต่างรู้สึกดีใจที่หมู่บ้านของเขา ยังมีพระที่ปฏิบัติชอบอยู่ จำพรรษาถึงสี่รูป

(เราคิดอะไร ฉบับที่ ๑๔๕ สิงหาคม ๒๕๔๕)