กำไรขาดทุนแท้ของอาริยชน
(ต่อจากฉบับที่
๑๔๕)
"คน..ที่ได้รับการสร้าง"
กระทั่งสามารถลดกิเลสอย่างถูกตัวตนได้จริง ความเห็นแก่ตัวเบาบางจางคลายลง
จน ถึงที่สุดไม่เห็นแก่ตัวเลยเพราะสิ้นตัวตนถึงขั้นดับอาสวะ เป็น"อนัตตา"(ไม่มีตัวตน)
อันหมายความว่า "พ้นอัตตาทั้ง ๓"(โอฬาริกอัตตา,มโนมยอัตตา,อรูปอัตตา)ได้อย่างเป็นสัจจะนั้น
เมื่อ"บรรลุอาริยธรรม"จริง จึงมีแต่ "สงเคราะห์โลกช่วยสร้างประโยชน์ให้แก่สังคมแก่โลก"(โลกานุกัมปา)
แต่ ถ่ายเดียว ไปจนกว่า จะปรินิพพาน เพราะ"ประโยชน์ตน"(อัตตัตถะหรืออัตตทัตถะ)
ของท่านนั้น หมดสิ้นแล้ว จบกิจไปแล้วจริง การ"สร้างคนบุญนิยม"
จึงมี"การสงเคราะห์ผู้อื่น" ด้วยประการฉะนี้
ตามทฤษฎีที่ศึกษาปฏิบัติ
แม้จะมีว่า บุญนิยมเน้น "การสร้างคน"เป็นหลักและเน้น"การสงเคราะห์"เป็นรอง
แต่ผล ที่ได้ ก็มิใช่ว่า ชาวบุญนิยมจะสงเคราะห์ผู้อื่นสงเคราะห์สังคมนิดๆหน่อยๆ
หรือน้อยกว่า นักสงเคราะห์อื่น ผลแท้ของบุญนิยม กลับเป็นว่า ยิ่ง"สงเคราะห์ผู้อื่น
สงเคราะห์สังคม" ได้มากกว่า ต่อเนื่องกว่า จริงใจกว่า เต็มที่เต็มใจ
สุขใจกว่า และถาวรยั่งยืนกว่าเสียอีก เพราะ "คนที่ถูกสร้าง"
ให้มีโลกุตรธรรม เจริญขึ้นๆ ยิ่งมีคุณธรรม มากขึ้นเท่าใดๆ ก็ยิ่งสงเคราะห์ผู้อื่น
สงเคราะห์สังคม ได้เพิ่มขึ้นๆ "เป็นประโยชน์ผู้อื่น" (ปรัตถะ)
มีปฏิภาคทวี มากขึ้นๆ เท่านั้นๆ
อันเนื่องมาจาก...
๑. ผู้บรรลุโลกุตรธรรม จะยิ่งหมดกิเลส สิ้นตัวตนของกิเลสลงไปเรื่อยๆ
จนที่สุดเกลี้ยงสนิท อย่างรู้แจ้ง กิเลสถูกตัว ถูกตน และหมดจริง ดังนั้น
ความเห็นแก่ตัว หรือ "ตัวตน" ของผู้บรรลุ จึงน้อยลงๆ ตามคุณธรรมแท้
ที่สุดหมดสิ้นเกลี้ยง ความเห็นแก่ตัว ไม่เหลืออะไร ซ่อนแฝง และ หมดชนิด
ถาวรยั่งยืน (ธุวะ) ไม่มีการกลับกำเริบ (อกุปปะ)
๒. การบรรลุธรรมของชาวบุญนิยม
ตามทฤษฎีพุทธ ที่ "สัมมาทิฏฐิ" แท้นี่แหละ ยิ่ง "พัฒนาคน
ให้มีความรู้ ความสามารถยิ่งขึ้น เชี่ยวชาญยิ่งขึ้น เจริญในการงาน
ในอาชีพ ในการสร้างประโยชน์ แก่สังคมมนุษยชาติ"
๓. ผู้บรรลุอาริยธรรม
มี"ปัญญา"ที่เป็นความเฉลียว ฉลาดชนิดปราศจาก"อวิชชา"
หรือปราศจาก ตัวตน ของกิเลส แท้จริง จึงเฉลียวฉลาดอย่างบริสุทธิ์ ไม่ใช่เฉลียวฉลาดชนิด
"เฉโก" ซึ่งเป็นความเฉลียวฉลาดที่มี "อวิชชา"
หรือมี กิเลส ความฉลาดที่ชื่อว่า "ปัญญา" จึงทำประโยชน์แก่ผู้อื่น
แก่สังคม ชนิดไม่ประกอบไปด้วย "อคติ ๔"
๔. การบรรลุธรรมแบบบุญนิยม
หรือแบบพุทธที่สัมมาทิฏฐินี้ จิตจะมีคุณลักษณะ ครบทั้ง ๓ ประการ คือ
โลกวิทู-โลกานุกัมปา-โลกุตรจิต
"โลกวิทู"
คือ ผู้รู้แจ้งในความเป็นโลก อันมีทั้งโลกที่ชื่อว่า"โลกีย์"
และโลกที่ชื่อว่า "โลกุตระ"
"โลกานุกัมปา"
คือ ความเมตตาเอ็นดูต่อโลก จึงช่วยโลกอนุเคราะห์โลกด้วยใจที่เต็ม ความปรารถนาดี
อัน มีต่อโลก ต่อสังคม อย่างบริสุทธิ์ใจ มิใช่สงเคราะห์โลก หรืออนุเคราะห์สังคมไปพลาง
ในจิตก็ยังมีความโลภ
ลาภ-ยศ-สรรเสริญ-โลกียสุข แฝงอยู่ ไม่สะอาดจริง
"โลกุตรจิต"
คือ จิตที่หลุดพ้นแล้วจาก"โลก" โดยเฉพาะความเป็น "โลกธรรม
๘" หรือจิตชนิดที่อยู่ "เหนือ" (อุตตระ) โลกธรรม ๘
หรือ "เหนือโลกีย์" จึงอยู่กับสังคมโลกีย์เขาได้ อย่างแข็งแรง
และสง่าผ่าเผย ทำงานช่วยสงเคราะห์ หรืออนุเคราะห์สังคมได้ โดยไม่เป็นทาส
อำนาจ ลาภ-ยศ-สรรเสริญ-โลกียสุข
เพราะทางเอกที่ชาวบุญนิยมเชื่อมั่นและมุ่งมั่นปฏิบัติ
เพื่อให้เกิด"สมาธิ" เกิดญาณ เกิดวิมุติ นั้นก็คือ "ทฤษฎีมรรคมีองค์
๘" ซึ่งไม่ต้องลี้หลบหนี จากการเป็นอยู่สามัญ ไม่ต้องพักการ พักงาน
ไม่ต้องหนีเข้าป่า เข้าถ้ำ ไปจากการงาน ไปจากสังคมปกติ แต่กลับจะยิ่งพัฒนาคน
ผู้อบรม ฝึกฝน "ปฏิบัติธรรม" ให้มีความรู้ ความสามารถ เจริญในทุกๆด้าน
ทั้งแนวคิดความริเริ่ม (สังกัปปะ) การพูดการจา (วาจา) การงานการกระทำ
(กัมมันตะ) และ ทั้งอาชีพ (อาชีวะ) เมื่ออยู่กับงานกับคน กับสังคม
จึงรู้แจ้งในงาน ในคน ในสังคมดี การช่วยเหลือสงเคราะห์คน หรือทำงานสงเคราะห์สังคม
ของอาริยบุคคล จึงทำได้อย่างเหมาะสม อย่างมีความรู้ ความเข้าใจ มีวิสัยทัศน์
นี่คือ ประเด็นใหญ่ที่"ชาวบุญนิยม"
มีทิฏฐิความเห็นที่ต่างจากชาวพุทธส่วนใหญ่ ในโลกปัจจุบันนี้
"บุญนิยม" นี่แหละ ที่ทำงานทำอาชีพ ด้วยความขยัน สร้างสรร
เสียสละ "สงเคราะห์มนุษยชาติ และสังคม" ด้วยความจริงใจ เต็มที่เต็มใจ
และสุขใจ อย่างเป็นสัจจะ
(มีต่อฉบับหน้า)
(เราคิดอะไร
ฉบับที่ ๑๔๖ กันยายน ๒๕๔๕) |