>เราคิดอะไร

ชีวิตนี้มีปัญหา ๒ - สมณะโพธิรักษ์ - (ฉบับ ๑๔๖)


(ต่อจากฉบับที่ ๑๔๕)

ก็ขอสรุปอีกที ว่า สัตวโลกทั้งหลาย ดังกล่าวมา เป็นต้นนั้น จะเกิดจะเป็นกันต่อเมื่อ ตายไปแล้ว ก็เป็นได้ หรือจะเกิดจะเป็นอยู่ในร่างของคนเป็นๆที่ยังมีชีวิต ก็เป็นได้ และเป็นอยู่จริง หากผู้ใดได้ศึกษา"อุตุ..พีชะ.. จิต..กรรม..ธรรมะ"ตามที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ โดยเฉพาะได้ศึกษาเรื่อง "จิต..กรรม..ธรรมะ" อย่างรู้แจ้ง ชัดเจนเป็นสัมมาทิฏฐิ และปฏิบัติตามหลัก"มรรค มีองค์ ๘" กระทั่งมี"สัมมาญาณ-สัมมาวิมุติ" ก็จะสั่งสม "พันธุ์" เป็นอาริยะ จนถึงที่สุดก็เป็นอรหันต์ มีนิพพาน

สำหรับเรื่อง"กัมมพันธุ"น่าจะพอสมควรแล้ว ก็ขอยุติไว้เพียงแค่นี้ก่อน หากมีโอกาสค่อยมาว่ากันใหม่

กรรมข้อสุดท้าย คือ"กัมมปฏิสรโณ" ซึ่งแปล ว่า"มีกรรมเป็นที่พึ่ง,มีกรรมเป็นที่คุ้มครอง,มีกรรมเป็น
ที่ยึดเหนี่ยว"
ก็หมายถึง "กรรม"เป็น"สรณะ"นั่นเอง

ชาวพุทธส่วนใหญ่ เมื่อพูดถึงคำว่า "สรณะ" ซึ่งแปลว่า "ที่พึ่ง หรือที่คุ้มครอง หรือที่ยึดเหนี่ยว" กันแล้วละก็ เป็นที่เข้าใจกัน ทันทีว่า คือ พระรัตนตรัย ได้แก่พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ อันเป็นสุดยอดของที่พึ่ง ที่ยึดเหนี่ยว ของชาวพุทธทุกคน

เมื่อ พระรัตนตรัย เป็น"สรณะ"
และ กรรม ก็เป็น"สรณะ" เหมือนกัน
เพราะฉะนั้น กรรม จึงมีค่าหรือมีศักดิ์ศรี เท่ากับ พระรัตนตรัย ไม่ได้ด้อยไปกว่ากันเลย

ที่กล่าวอย่างนี้ ก็ไม่ได้แกล้งหาเรื่องโมเมตีขลุม แต่ขอยืนยันว่า เป็นจริงโดยสัจจะ

เพราะ...คนทุกคนจะเข้าถึง"พระรัตนตรัย"ได้นั้น ก็ด้วย"กรรม"แท้ๆทางเดียว ไม่มีทางอื่น ไม่ละเว้น
ผู้ใดทั้งนั้น แม้แต่พระผู้มีพระภาคเจ้าจะเข้าถึง "ความเป็นพระพุทธ" หรือ "ความเป็นอนุตตร สัมมาสัมพุทธเจ้า" ก็ด้วย "กรรม" แท้ๆ แล้วจึงเกิดเป็น "พระธรรม" และเกิดเป็น "พระสงฆ์" ขึ้นมา ก็ด้วย "กรรมของพระองค์เอง ทรงกระทำโดยพระองค์" ทั้งสิ้น

ที่พากันเปล่งกล่าว"ไตรสรณคมน์" ซึ่งหมายใจจะเข้าถึงสรณะทั้ง ๓ คือ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ นั้น หากกล่าวกันแต่ปาก โดยไม่ประพฤติ"กรรม"ที่เป็น"สัมมาทิฏฐิ" ให้ครบทั้งกายกรรม วจีกรรม มโนกรรม จนบรรลุผล ตามธรรม สมควรแก่ธรรมแล้วไซร้ ต่อให้กล่าวให้อ้อนวอนร้องขอ จากสิ่งศักดิ์สิทธิ์แค่ไหน ก็ไม่มีทาง "ได้ถึงที่พึ่ง" ตามที่กล่าวนั้นแน่ หากไม่ประกอบ"กรรม" ก็จะไม่มีอะไรบันดลบันดาล ให้เป็นให้มีได้

พระพุทธเจ้าทุกพระองค์ ล้วนแสวงหา ทรงศึกษา และพากเพียรปฏิบัติพระองค์ อบรม"กรรมวิบาก"เป็น "สัมภารวิบาก" โดยพระองค์เอง จนครบถ้วนอภิมหาบารมี ทั้งบารมี-อุปบารมี และปรมัตถบารมี สัมบูรณ์ จึงอุบัติเป็น "พระอนุตตรสัมมาสัมพุทธเจ้า" ได้ด้วย"กรรม" ที่พระองค์ทรงประพฤติ บำเพ็ญเองทั้งสิ้น ไม่ใช่ได้เป็นพระพุทธเจ้า ด้วยสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ที่ยิ่งใหญ่จากไหน บันดาล

เพราะฉะนั้น "พระรัตนตรัย"ยิ่งใหญ่สูงส่ง ฉันใด "กรรม"ก็ยิ่งใหญ่สูงส่งเท่าเทียมกัน ฉันนั้น

"กรรม"นี้แหละ ที่จะพาเข้าถึง"พระเจ้า"อันหมายถึงสิ่งดีสิ่งที่สูงสุดได้จริง และเข้าถึง "นิพพาน"ด้วย

แต่ที่พูดนี้ ก็อย่าเข้าใจผิดว่า"พระเจ้า"คือ"นิพพาน" เป็นอันขาด เพราะลัทธิที่มีสิ่งสุดยอดคือ "พระเจ้า" นั้นเป็น "เทวนิยม" สูงสุดคือ "ความมี" ที่ยิ่งใหญ่ ที่เที่ยงนิรันดร์ ส่วน "นิพพาน" นั้น เป็น "อเทวนิยม" สูงสุดคือ "ความไม่มี" ที่ดับสูญอย่างสนิท ไม่เหลือ และไม่เที่ยงไม่นิรันดร์ อันแตกต่างกัน คนละเรื่อง คนละทิศ คนละขั้วทีเดียว

มี"ผู้รู้"หลายท่าน เข้าใจผิด และได้สอนไว้ผิดๆ ว่า "พระเจ้า" ของศาสนา "เทวนิยม" คืออย่างเดียวกันกับ "นิพพาน" ของศาสนาพุทธ นี้กล่าวผิด แต่ถ้าจะกล่าวว่า ต่างก็เป็นที่หมายสูงสุด ของแต่ละศาสนา ฉะนี้ กล่าวถูก ทว่าอย่าเข้าใจผิด แล้วกล่าวให้เข้าใจเพี้ยนไปว่า มีความเป็นอย่างเดียวกันเด็ดขาด เพราะต่างกัน คนละขั้วจริงๆ

ทุกวันนี้ชาวพุทธแสวงบุญนอกขอบเขตพุทธไปกันใหญ่แล้ว เพราะเข้าใจผิด มีความเข้าใจ โน้มเอนไปเป็น "เทวนิยม" อันเป็นคนละ "ลัทธิ" (นิยม)กันแท้ๆ กับพุทธที่เป็น "อเทวนิยม" เมื่อ "ทิฏฐิ" ต่างเห็น ต่างเชื่อ กันไป คนละทิศ คนละขั้ว นั่นก็หมายความว่า การแสวงบุญ หรือ การปฏิบัติให้ถึงแก่น ก็ต้องไปกัน คนละทิศ ละทาง แน่นอน

พุทธมี"สรณะ"เป็น"ที่พึ่ง"สูงสุด คือ "พระรัตนตรัย" มิใช่มี"สรณะ"เป็น"ที่พึ่ง"สูงสุด คือ "พระเจ้า" คอยบันดล บันดาล แต่"พระรัตนตรัย"นั้น คือ "กรรม" ดังที่ได้อธิบาย คือ "การกระทำของตนๆ" ที่สั่งสม "สิ่งดีสิ่งที่สูงสุด" และ สั่งสมการดับต้นเหตุ ที่ทำให้เกิด "สิ่งไม่ดีสิ่งต่ำ" จนสูญสิ้น อย่างถูกตัวถูกตน ของภาวะนั้น แม้จะเป็น นามธรรม ละเอียดลึกล้ำปานใด ก็สามารถตามเข้าไปละล้าง ได้สิ้นเกลี้ยง สะอาด สนิท เรียกว่า "นิพพาน" นี่คือ "พุทธ"

(มีต่อฉบับหน้า)

(เราคิดอะไร ฉบับที่ ๑๔๖ กันยายน ๒๕๔๕)