บ้านนอกเข้าเมือง
(ต่อจากฉบับที่
๑๔๕)
ทุกคนลุยน้ำเย็นเฉียบข้ามคลองแว้ง
แล้วเดินผ่านตลาดที่บ้านช่องยังตะคุ่มอยู่ในความมืด ผู้คนยังหลับใหล
แต่ก็ได้กลิ่นกาแฟสด ที่เขาคั่วเพื่อเตรียมขาย เมื่อตลาดเปิดแล้ว ลอยมาจากที่ไหนสักแห่ง
เมื่อเดิน ผ่านสนาม หน้าอำเภอ มาถึงตลาดล่าง อันเป็นย่านคนจีน ก็ได้ยินเสียง
คนในร้านโกฟุก ที่พ่อชอบมานั่ง ดื่มน้ำชาเป็นประจำ แม่ว่าคนจีนเขาขยัน
ลุกขึ้นทำงานกุกกัก อยู่ในร้าน ตั้งแต่หน้าถัง ยังไม่เปิด ถัดจาก ร้านน้ำชา
ของโกฟุก ไปสักสิบห้อง ก็ถึงห้องของแป๊ะหนวด ชายจีนชราที่น้อยคิดว่า
ไม่มีใครในโลก ทำจาโก๊ยได้อร่อยเท่า เป็นจาโก๊ยขนาดใหญ่ ที่เด็กอย่างน้อย
รับประทานขาเดียว ก็อิ่มแล้ว เสียดาย ที่เช้าวันนี้ แกเพิ่งเตรียมติดเตา
มิฉะนั้น แม่คงซื้อจาโก๊ย ไปเป็นอาหารเช้า ระหว่างทางด้วย อย่างแน่นอน
แต่ไม่เป็นไรหรอก มีของกินที่มะตาเห ใส่ในหาบมาเยอะแยะแล้ว
ฟ้าเริ่มรางๆ เห็นลายมือ
เมื่อขบวนไปบางนราของพ่อเดินผ่านเนินบูเก๊ะยาฆง๓
ที่นี่มีวัดพุทธ ตั้งอยู่วัดหนึ่ง แต่ไม่มีพระมาประจำ พอลงเนินเขาก็มาถึงทางแยกเข้ากำปงบาลูกา
แล้วก็ผ่านพรุใหญ่ ก่อนที่จะเดิน ขึ้นเนิน ลูกแล้วลูกเล่า สองข้างทางทึบไปด้วยป่ายางทำให้แสงสลัวรางของรุ่งสางนั้นหม่นมืดลงอีก
จนมาถึง หมู่บ้าน สามแยก พ่อให้หยุดพักเดินนิดหนึ่งเพื่ออธิบายแก่ลูกๆ
ว่า
"ที่เขาเรียกตรงนี้ว่า
"สามแยก" ก็เพราะมีทางแยกเป็นสามแพร่ง แพร่งที่เรามาจากแว้งแพร่งหนึ่ง
ถ้าเราเดินตรงไป ก็จะถึงหมู่บ้าน "ซากอ" แล้วถ้าตรงไปอีกก็จะถึง
"อำเภอสุไหงปาดี" ที่นั่นมี สถานีรถไฟ เหมือนกัน เห็นไหมลูก
เป็นสองแยกแล้ว เดี๋ยวพวกเรา จะเลี้ยวขวา เป็นเส้นทางไป สุไหงโกลกไงล่ะ"
"รวมเป็นสามแยกพอดี
เขาเลยเรียกว่าสามแยก" น้อยพูดอย่างเข้าใจ
เมื่อพ่ออธิบายเสร็จลง
"แล้วทำไมเราไม่เดินตรงไปขึ้นรถไฟ
ที่สุไหงปาดีคะพ่อ?" พี่แมะถามขึ้น
"ระยะทางจากนี่ไปสุไหงปาดีไกลกว่า
ลูก" พ่ออธิบาย "แล้วก็ถนนไม่ดีเท่าทางไป สุไหงโกลกด้วย
อีกอย่างหนึ่ง สุไหงโกลก เป็นต้นทางรถไฟ เราไปขึ้นรถไฟที่นั่น ก็จะได้ที่นั่งกันทุกคน
เอ้า ได้พักเหนื่อย กันนิดนึงแล้ว เดินต่อเถิด พอถึงหมู่บ้าน กายูคละ๔
จะได้หยุดพักกินข้าวห่อกัน ดีไหมแม่?" พ่อถาม ความคิดเห็นแม่
"ดีค่ะพ่อ"
แม่ตอบ "จะได้แวะเยี่ยมลุงเพื่อม๕
ด้วย ไม่ได้พบกันเป็นปีแล้วมั้ง"
ฟ้าสว่าง สองข้างทางตอนที่เป็นคูน้ำ
เต็มไปด้วยกอบอน ต้นใบต่างดอกสีแดงและขาว ที่เป็นกอเตย และปาหนัน (ลำเจียก)
ก็หนาทึบ เพราะห่างหมู่บ้าน ไม่มีใครมาตัดไปทำสาด (เสื่อ) ตอนที่เป็นสวนยาง
ก็มีต้นตาเป็ด ตาไก่ ต้นเหมล ต้นโทะ และ เฟิร์นนานาชนิด ขึ้นเบียดกันแน่น
เหมือนทุกป่า ของอำเภอแว้ง ทั้งต้น ใบ ตลอดจนดอกไม้ป่าเหล่านี้ ยังชื้นด้วย
น้ำค้างที่พร่างพรมลงมาทั้งคืน ให้มันสดชื่นสมบูรณ์
ถึงตอนนี้ น้อยซึ่งร่าเริงตื่นเต้นมาตั้งแต่ออกเดินทางเริ่มเดินช้าลง
หายใจหนักขึ้น แต่ยังดีที่อากาศเย็นเฉียบ ทำให้ร่างกายสบาย เหงื่อก็ยังไม่ออก
เพียงแต่เธอก็ไม่ได้ชื่นชม กับธรรมชาติสองข้างทางมากนัก เพราะพ่อ กับมะตาเห
เดินเร็วเสีย จนบางครั้ง ต้องไปหยุดรอแม่ พี่แมะ และน้อย ที่เดินตกหลังคนอื่น
น้อยเริ่มรู้สึกว่า
การเดินตามทางบนถนน ที่คนเขาย่ำไว้เป็นร่องแคบๆ นั้น ดินแข็งไปบ้าง
บางทีก็เป็น ทรายซุยไปบ้าง เธอจึงขึ้นไปเดิน บนหญ้าเสีย น้ำค้างตามยอดหญ้า
ทำให้เท้าที่เปลือยเปล่า เปียกชุ่ม เย็นสบายดีนัก ให้กำลังแก่เท้าด้วย
แม่ก็ไม่ได้ทักท้วงอะไร ที่เธอทำอย่างนั้น เพราะบนถนนหญ้า ไม่มีต้นหนามหับ๖
ที่อาจตำเท้าให้เจ็บปวด
กายูคละเป็นหมู่บ้านเล็กๆ
ที่ชาวบ้านเป็นคนไทยพุทธและไทยมุสลิมปนกัน ผู้ใหญ่บ้านชื่อ ลุงเพื่อม
รู้จักกับพ่อ และแม่ดี หน้าบ้านลุงเพื่อม มีศาลาที่พัก สำหรับคนเดินหนด้วย
พ่อจึงให้หยุดพักกันที่นั่น แม่รื้อ เอาห่ออาหาร ออกมาจากหาบข้างหนึ่ง
ของมะตาเห ภรรยาของเขา ได้ช่วยจัดการ เตรียมอาหารมาให้ เพราะแม่ไม่มีเวลา
ล้วนแต่เป็นของชอบของน้อย และพี่แมะทั้งสิ้น มีทั้งนาซิดาแฆ นาซิลาโฮะ
นาซิก-ราบู (ข้าวมันแกงไก่ ข้าวกับปลาต้ม ข้าวยำ) แล้วยังมีของโปรด
ของน้อยอีกอย่างคือ ปูโละปาฆี๗
ด้วย
ลุงเพื่อมออกมาสมทบ
กับครอบครัวของพ่อ มาดื่มน้ำชากับพ่อ และมะตาเห เมื่อรับประทาน อาหาร
เสร็จแล้ว ผู้ใหญ่ยังคุยกันต่อ จนพ่อและแม่คิดว่า เด็กๆได้พักเหนื่อย
อย่างเต็มที่แล้ว จึงบอกลา เจ้าของบ้านผู้อารีว่า
"ต้องรีบไปแล้วครับ
เดี๋ยวแดดจะร้อนจัด เสียก่อนถึงอัยย์โก หวังว่าวันนี้ น้ำคงไม่มากนัก
เอาเด็กๆ มาด้วย"
น้อยรู้สึกใจคอไม่ค่อยดี
ที่ได้ยินพ่อพูดถึงแม่น้ำอัยย์โก เพราะเธอกับพี่แมะ เคยได้ยินแขกเล่าว่า
เหนือท่าข้าม แม่น้ำนั้นขึ้นไป มีวังจระเข้อยู่ด้วย แต่ก็อุ่นใจ เมื่อมะตาเหบอกว่า
"ต๊ะปอ
ดียอโด๊ะดะอะต๊ะห์ นุง ยาโหะห์ เต๊าะเซาะห์ตาโกะ ลา (ไม่เป็นไรหรอก
มันอยู่ข้างเหนือ ไกลไปโน่น ไม่ต้องกลัว)"
เดินกันต่อมา อีกร่วมหนึ่งชั่วโมง
ก็ถึงที่ราบต่ำ มีน้ำขังเป็นพรุ ทั้งสองข้างทาง แดดตอนสายเริ่มร้อน
และ ร้อนเปรี้ยง เมื่อมาถึงแม่น้ำ อัยย์โก น้ำในแม่น้ำนี้ลึก เชี่ยว
เป็นสีเขียวคล้ำ บางแห่งดูน่ากลัว อย่างบอกไม่ถูก ไม่มีหาดทราย แบบคลองแว้ง
ที่แสนสะอาด และปลอดภัย พ่อบอกให้ทุกคน พักเหนื่อยอีกครั้ง ที่ศาลา
ริมทาง ใกล้ท่าข้าม
ระหว่างนั้น พ่อกับมะตาเห
พากันไปริมแม่น้ำ ตรงตลิ่งทั้งสองฟาก มีเสาขนาดใหญ่ปักอยู่อย่างมั่นคง
และมีเชือกเส้นใหญ่พันอยู่ เชือกเส้นนี้ เขาผูกไว้เป็นสองทบ มีแพผูกติดอยู่ที่ปลายเชือกทั้งสองข้าง
ไม่มีใครดูแลแพข้ามฟากนี้ ถ้าใครจะข้าม ก็ลงไปในแพนั้น แล้วสาวเชือกข้ามไปได้เอง
แต่ต้องเป็น คนที่แข็งแรง และสาวเชือกเป็น จึงจะทำได้ ถ้าไม่แข็งแรง
หรือสาวไม่เป็น ก็อาจตกน้ำตาย
น้อยลุกขึ้นยืน
บนศาลา ชะเง้อมองไปที่ท่าข้าม เธอเห็นแพจอดอยู่อีกฟากหนึ่ง ทั้งๆ ที่มะตาเหได้
บอกให้มั่นใจแล้วว่า จะไม่มีภัยอันตราย เธอก็ยังเป็นห่วง กลัวพ่อจะตกน้ำ
เพราะน้ำเชี่ยวเหลือเกิน น้อยเห็นพ่อ กับมะตาเห ช่วยกันสาวเชือกเส้นนั้น
แพขนาดใหญ่กว่าเกวียนเล็กน้อย ค่อยๆข้ามฟาก มาอย่างช้าๆ และเบาราวกับ
ลอยมาเหนือน้ำ อย่างไรอย่างนั้น
พอแพมาถึงฟากนี้แล้ว
มะตาเห ก็วนเชือกเป็นวง คว่ำวงนั้นบนเสาผูกเรือ แล้วดึงวงเชือกให้ตึง
กลายเป็น บ่วงใหญ่ แข็งแรง พันรอบเสาริมตลิ่ง อย่างแน่นหนา เขาทำอย่างนั้น
ซ้ำอีกครั้งหนึ่ง เพื่อให้แน่ใจว่า บ่วงไม่คลายออก ผูกไว้อย่างนี้
ไม่ว่าน้ำจะขึ้นหรือลง แพก็จะถูกตรึงแน่นอยู่กับเสา ไม่ลอยตามน้ำไปเสีย
พ่อเดินมาที่ศาลา
แม่ซึ่งคงตื่นเต้นไม่แพ้ลูกทั้งสอง ลุกขึ้นยืน พลางเร่งพี่แมะกับน้อย
ด้วยน้ำเสียง เฉียบขาดว่า
"เร็ว ลูก!
ช่วยกันหิ้วของไปขึ้นแพ"
"เอ้า!
เด็กๆ ช่วยมะตาเหเขาหน่อย เขาต้องฉุดแพไว้ ช่วยกันเอาของเบาๆ ไปก่อน
แมะถือไม้คานไป น้อยถือนี่ เอ้านี่ สาแหรกนี่ เบาหน่อย แม่ถือถุงใบเล็กนั่น"
พ่อพูด
ไม่ยิ้มแย้มเหมือนเคย และเด็กๆ ก็รู้ดีว่า ต้องรีบ ทำตาม อย่างไม่รีรอ
น้ำในแม่น้ำอัยย์โกนี้ลึกมาก
ตั้งแต่ริมตลิ่งไปทีเดียว จึงต้องระวัง ไม่ให้พลาดตกลงไปได้ พ่อฉวยตัวน้อย
เหวี่ยงลงไปในแพก่อน แพไหวเล็กน้อย มะตาเหยืนอยู่ริมอีกด้านหนึ่ง เพื่อถ่วงน้ำหนัก
ในมือถือถ่อด้ามยาว ปักลงไปในน้ำจนถึงดิน น้อยใจสั่น ก้าวพรวด ไปฉวยผ้าโสร่ง
ของมะตาเหไว้เสียแน่น ด้วยความกลัว แล้วพ่อ ก็ฉวยตัวพี่แมะ เหวี่ยงขึ้นมา
อย่างเบาๆอีกคน แม่ยังรั้งท้าย อยู่บนตลิ่ง สายตาของแม่ จับอยู่ที่ลูก
บนแพ ร้องบอกว่า
"นั่งนิ่งๆ
แมะ นั่งนิ่งๆ น้อย เดี๋ยวแพโคลง!"
พี่แมะทำตามอย่างน้อยบ้าง
คือต่างคนต่างยึดมะตาเหไว้แน่น รู้สึกว่าชายฉกรรจ์มุสลิม เพื่อนพ่อคนนี้มั่นคง
แข็งแรง และน้อย ยังแอบคิดในใจด้วยว่า เขารู้มนตร์ปราบจระเข้ด้วย เสียงมะตาเหพูดเบาๆ
กับเด็ก ทั้งสองว่า
"เต๊าะอะปอ
แมะ ตอเซาะห์ตาโกะ อะมอโดะซีนิงนิ๊ง (ไม่เป็นไร หนู ไม่ต้องกลัว ผมอยู่นี่ไง)"
แล้วน้อยก็รู้สึกดีขึ้น
เธอคิดว่า "หรือมะตาเห จะมีมนตร์จริงๆ"
ตอนนี้พ่อขึ้นมาบนแพแล้ว
กำลังช่วยมะตาเหสาวเชือก น้อยนั่งตัวแข็งทื่อ แพค่อยๆ เคลื่อนออกจากฝั่ง
อย่างช้าๆ แต่พอถึงกลางแม่น้ำ เท่านั้นแหละ น้ำที่ลึกแต่ไหลเอื่อยริมตลิ่ง
เปลี่ยนไปเป็นน้ำเชี่ยวรุนแรง จะฉุดกระชากแพ ไปกับกระแสน้ำด้วย พ่อตะโกนบอกแม่
และลูกๆ ให้นั่งนิ่งที่สุด น้อยรู้สึกว่า เธอไม่กระดุก กระดิกเลย ไม่หายใจเสียด้วยซ้ำไป
มีแต่หัวใจในอกเท่านั้น ที่เต้นโครมคราม ไม่เป็นส่ำ แพเอียงไปมา สักครู่ก็ตั้งตรงได้
"ค่อยยังชั่วหน่อย" น้อยคิด ค่อยๆ เอี้ยวคอไปดูพี่แมะ และแม่ว่า
นั่งนิ่ง แบบเธอหรือไม่ แม่ดุเธออย่างเบาที่สุดว่า "หันกลับไปน้อย
นั่งนิ่งๆ!" แล้วน้อยก็หันกลับไปตามเดิม
เธอมองเห็นน้ำ ในแม่น้ำเหนือแพ
หมุนคว้างเป็นวงพุ ผุดขึ้นมาจากข้างล่าง แล้วก็ขยายตัวบานกว้างออก
ตรงผิวน้ำ ก่อนที่อีกวงหนึ่ง จะผุดซ้อนขึ้นมา แล้วก็อีกวงหนึ่งข้างๆ
ต่อกันไปเหมือนหม้อข้าว เวลาเดือด น่ากลัวนัก น้ำวนแบบนี้ เธอคิด มองไปด้านใต้ของแพ
ยิ่งน่ากลัวกว่าเข้าไปอีก แม้พ่อจะสาวเชือก สุดแรงเกิด แต่อย่างนุ่มนวล
ไม่กระตุกแบบนั้นแล้ว น้ำก็ยังพล่านคลั่ก กว่าข้างบนไปเสียอีก
น้อยหลับตาลง ด้วยความสยอง
วูบนั้นเอง ที่เธอรู้สึกว่า แพปัดเป๋ เอียงวูบ ทำให้คลื่นไส้ น้อยผวาเข้าหาแม่
แม่กอดเธอไว้แน่น ด้วยมือข้างหนึ่ง อีกมือฉวยตัวพี่แมะ เข้ามากอดไว้ด้วย
หน้าแม่ซีด และแม่เม้มปากแน่น แพเอียงอีกวูบหนึ่ง น้อยหวีดออกมา อย่างขวัญเสีย
พร้อมๆกับเสียงพ่อ และเสียงมะตาเหตะโกนสั่ง
"เงียบ
น้อย! นั่งให้นิ่ง!" นั่นเป็นเสียงของพ่อ
"ซียะ แมะ!
ดูโด๊ะซียะ! เตาะอะปอเดาะห์ (เงียบ หนู! นั่งนิ่งๆ! ไม่เป็นไรแล้ว)"
นั่นเป็นเสียงของ มะตาเหผู้แข็งแรง
น้อยเหลือบตาขึ้น
เห็นสีหน้าพ่อเครียด พ่อจับเชือกดึงไว้มั่น พลางตะโกนพูดอะไรสักอย่าง
กับมะตาเห มะตาเห ยกถ่อขึ้น แกว่งมันมา อีกข้างหนึ่ง ปักลงไป จนถึงเกือบมิด
เกร็งกล้ามเนื้อ ยันถ่อนั้น ลงเต็มแรง น้อยรู้สึกว่า แพตั้งราบ ขึ้นตามเดิม
จากนั้น พ่อก็สาวเชือกอีก
แพข้ามพ้นกลางแม่น้ำ มาใกล้อีกฟากได้แล้ว วงน้ำน่ากลัวนั้นเล็กลง จนเหลือ
เพียงน้ำลึก ไหลเอื่อย เหมือนอีกด้าน เสียงแม่ถอนหายใจดัง อย่างโล่งอก
ปล่อยตัวลูกทั้งสอง ให้นั่งลง ตามสบายอีกครั้ง แล้วมะตาเห ก็ปักถ่อลงข้างตลิ่ง
พันเชือก เป็นบ่วงกับเสา พ่อฉวยตัวลูก เหวี่ยงขึ้นตลิ่ง ทีละคน แล้วจึงช่วยพยุงแม่ขึ้น
เป็นคนสุดท้าย
แม่ พี่แมะ และน้อย
พากันปีนขึ้นไปบนตลิ่งสูง ทุกคนยังขาสั่นอยู่ พ่อกับมะตาเห สาวเชือกข้ามไป
อีกเที่ยวหนึ่ง เพื่อขนข้าวของมา แต่คราวนี้ แพไม่แกว่งหรือเอียงวูบเหมือนครั้งแรก
เพราะบรรทุกมา แค่หีบเสื้อผ้า และถุงไถ้อีกเล็กน้อยเท่านั้น
นั่งพักเงียบๆ กันสักครู่ใหญ่
เพื่อให้รู้สึกดีขึ้น หลังจากที่ใจหายใจคว่ำ กันมาแล้ว พ่อก็พาทุกคนเดินทางต่อ
เหลือทางที่ต้องเดิน อีกครึ่งหนึ่งเท่านั้น ก็จะถึงสุไหงโกลกแล้ว
ฟากนี้ของแม่น้ำอัยย์โก
เป็นทางตัดขึ้นเนินเขาสูง ค่อนข้างชัน ดินบนภูเขามีสีแดงจัด จึงเรียกกันทั่วไปว่า
"เขาดินแดง" พ่อเดินนำหน้า แล้วจึงถึงแม่ พี่แมะ น้อยผู้เคยเดินไปข้างพ่อ
เมื่อออกจากแว้ง ตอนนี้อยู่รั้งท้าย นอกจาก มะตาเห ที่ช่วยเดินช้าๆ
เป็นกองระวังหลัง เมื่อรู้ตัวว่า ตกหลังคนอื่นมากขึ้นๆ น้อยก็กัดฟัน
แข็งใจ วิ่งขึ้นหน้าพี่แมะ และแม่ไปจนทันพ่อ แต่แล้วก็ค่อยๆ ล้าลงอีกตามเดิม
ในที่สุด เมื่อจวนจะถึงยอดเขา
น้อยก็ร้องเรียกพี่สาว
"พี่แมะ
ดูน้อยนี่!"
พี่แมะหันมาดู เห็นน้องสาวกำลังใช้มือทั้งสองข้าง
สอดประสานกันเข้าใต้เข่า แล้วยกเข่าให้เท้าก้าวขึ้นไป เสร็จข้างหนึ่ง
ก็สอดมือ เข้าใต้เข่าอีกข้าง ทำแบบเดียวกัน
"ทำอะไรน่ะ
น้อย?" พี่แมะถาม
"ลองทำเล่นแบบน้อยดูซี"
น้อยพูด "สนุกดีนะจะบอกให้"
พี่แมะรู้ทันว่าน้อยเหนื่อย
แต่ทำเป็นเล่นให้เห็นว่าไม่เหนื่อย จึงเอาใจน้องถามว่า "สนุกเหรอ?
ลองทำดูก็ได้"
มะตาเห ก็รู้ทันเหมือนกัน
แกถามเป็นภาษามลายูตรงๆ ว่า "เตาะแตแฮเด๊าะห์? ลือเลาะห์เดาะห์ตู๋มารี
เนาะตูลง (ไม่ไหวแล้วใช่ไหม? หอบแล้วน่ะ มามะ จะช่วย)"
น้อยรู้สึกอาย ไม่อยากให้ใครต้องมาอุ้มเธอ
ที่อายุตั้งเจ็ดขวบแล้ว ก็พอดีแม่หันมาเห็นเข้า จึงขอให้พ่อ หยุดรอก่อน
น้อยลากขา ตามพ่อขึ้นไป จนถึงยอดเขา แล้วจึงพากันหยุดพักอีกครั้งหนึ่ง
พ่อบอกว่า
"เนินดินแดงลูกนี้สูงเกือบเท่าภูเขาทีเดียวแหละ
นับว่าน้อยเป็นเด็กแข็งแรงมากทีเดียว ที่เดินขึ้นมาจนถึง ต่อจากนี้ไป
เราก็ลงเนินแล้ว น้อยกับแมะ ลองดูซี จะมีก็เนินเตี้ยๆ เท่านั้น นี่
ลงจากนี้นิดเดียว เราก็ถึง หมู่บ้าน 'ปาเซปูเต๊ะห์ (ทรายขาว)' แล้วก็ถึงตำบลใหญ่หน่อย
มีศาลาใหญ่ด้วย เรียกชื่อตามชื่อศาลาว่า 'ศาลาอุมา' ตรงนั้น เราก็แวะพักที่ศาลาได้อีก
จะอาบน้ำล้างหน้าก็ได้ มะตาเห จะได้สะมะหยังด้วย"
"แล้วก็ถึงสุไหงโกลกเลยใช่ไหมคะ
พ่อ?" น้อยถาม
หวังจะได้คำตอบจากพ่อว่า ใช่ พ่อรู้ทัน จึงถามแม่ว่า
"แม่จำได้ไหมว่า
พ้นจากศาลาอุมาแล้วเป็นอะไร?"
แม่คิดอยู่สักครู่ก็ตอบว่า
"จำได้แล้วละพ่อ
จากตรงนั้นเราจะถึงหมู่บ้านคนไทย ที่พูดสำเนียงเหมือนคนไทย บือเลาะห์ไงคะ
ชื่อหมู่บ้าน 'ตันหยงมะลิ' ใช่ไหมคะ? ต่อจากนั้นไป ก็เข้าเขตโกลกแล้ว"
หลังจากหยุดรับประทานอะไรกันอีกนิดหน่อย
ก็ออกเดินต่ออย่างสบายๆ ไม่ต้องเหน็ดเหนื่อย เพราะขึ้น เนินเขาอีก
เดินกันไปสักครู่ ก็ถึงหมู่บ้าน และตำบลที่พ่อบอก มะตาเหแวะสวดมนตร์
แบบมุสลิม บนศาลาอุมา ที่อยู่ริมทางแห่งนั้น ครู่ใหญ่ ทำให้น้อย และพี่แมะได้พักไปด้วย
อาจเป็นเพราะทราบกันดีแล้วว่าเหลืออีกเพียงหมู่บ้านเดียว
ก็เข้าเขตตัวอำเภอ สุไหงโกลก ทำให้น้อย กลับร่าเริง คึกคักใหม่อีกครั้ง
เธอวิ่งแข่งกับพี่แมะลงเนิน พากันวิ่งนำหน้าพ่อแม่มา ได้ไกลพอสมควร
แดดตอนบ่ายคล้อย เริ่มร่ม เพราะบังยอดยาง ลมก็พัดโชยอ่อน สองพี่น้อง
มีเวลาเหลือ ที่จะแวะ เก็บลูกโทะ ริมทาง รับประทานเล่น ตรงไหนมีมีสายน้ำเล็กๆ
ไหลริน ก็ลงไปลุยน้ำกันเย็นๆ ความเหน็ดเหนื่อย เมื่อยล้า จากการขึ้นเขา
และความอกสั่นขวัญแขวน ตอนข้ามแม่น้ำ ดูจะหายไป สิ้นเชิง
ทั้งคู่ตามแม่กับพ่อเข้าไปคุยกับคนไทยที่หมู่บ้านตันหยงมะลิพักหนึ่ง
ก็ออกเดินทางต่อ จนกระทั่ง ถึงคูน้ำใหญ่ มีต้นสาคูขึ้นเต็ม เป็นที่ที่ทราบกันดีว่า
คนเดินทาง จากอำเภอแว้งทุกคน จะแวะอาบน้ำบ้าง ล้างหน้าบ้าง และบางคน
ถึงกับเปลี่ยน เครื่องแต่งตัว เพื่อให้ดูดีหน่อย ก่อนเข้าไปในตัวอำเภอ
สุไหงโกลก ซึ่งเป็น อำเภอใหญ่ เป็นที่สอง ของจังหวัดนราธิวาส รองจากบางนรา
พ่อให้ทุกคนแวะล้างหน้าล้างตาและพักอีกครั้งให้สบาย
มะตาเหล้างหน้า ล้างมือเท้า แล้วปูผ้า สวดมนตร์ ตอนสี่โมงเย็น ที่ศาลาริมทาง
อีกครั้งหนึ่ง ก่อนที่ทุกคน จะออกเดินต่อ ถึงจุดหมายปลายทาง
ในที่สุด น้อยก็ได้เห็นอำเภอใหญ่อย่างสุไหงโกลกแล้ว
เธอจับมือพ่อไว้แน่น พี่แมะก็จับมือแม่ไว้ เหมือนกัน
แป๊น! แป๊น !
ทุกคนยืนกันอยู่ตรงสี่แยกบนเนินพอดี
เมื่อเสียงประหลาดนั้นดังขึ้น ทางข้างหลัง น้อยกำลังเหม่อ มองลงไป
จากเนิน ตามถนน ที่พ่อชี้ให้ดูโรงแรมตังเส็ง ที่จะไปพักในคืนนี้ อย่างเพลิน
และตื่นใจระคนกัน จึงไม่ทัน ตั้งสติ เธอไม่เคยได้ยินเสียงดัง อย่างนั้นมาก่อน
มันน่ากลัวมาก เหลือเกิน ที่แว้งไม่มีเสียง น่ากลัวมาก อย่างนี้ อารามตกใจ
น้อยปล่อยมือพ่อ ออกวิ่งถลาไป ด้วยความตกใจ อย่างสุดขีด โชคดีที่พ่อ
พรวดออกไป คว้าตัวไว้ได้ทัน น้อยร้องไห้ออกมา อย่างไม่อาย
"พ่อ อะไรกันน่ะ
พ่อ น่ากลัวจัง?" เธอละล่ำละลักถามพ่อ
"รถยนตร์เท่านั้นเองลูก
ไม่มีอะไร แต่น้อยต้องระวัง ไม่วิ่งถลาออกไปอย่างนั้นอีกนะ"
พ่อเตือนพลางนั่งลง ลูบหลังลูก แม่พูดขึ้นว่า
"น้อยเคยแต่เห็น
รถยนตร์ในรูป ไม่เคยได้ยินเสียงแตรรถ โถ ลูกแม่ ตกใจมากเทียวหรือ?"
น้อยพยักหน้า ทั้งน้ำตา
เหงื่อไหลชุ่มหลัง เธอเพิ่งได้เห็นรถยนตร์ เป็นครั้งแรกเดี๋ยวนี้จริงๆ
ด้วย มันน่ากลัว อะไรอย่างนั้น ต่อไปนี้ เธอจะต้องระวัง มันให้มาก
อย่างที่พ่อบอก
"วันนี้น้อยจะได้เห็นรถยนตร์อีกหลายคัน
และพรุ่งนี้ ลูกจะได้เห็นรถไฟด้วย" พ่อพูด มะตาเห ก็ช่วยเสริม
ด้วยว่า
"แกตอ ยอ
ยาแงตาโกะ เด๊ะห์ เตาะอะปอ (รถยนตร์เท่านั้นเอง ไม่ต้องกลัวนะ ไม่เป็นไร)"
คืนนั้น มะตาเหไปพักค้างคืนกับญาติมุสลิมของเขาข้างสุเหร่า
ส่วนพ่อ แม่ พี่แมะ และน้อย พักที่โรงแรม ตังเส็ง ก่อนหลับ พี่แมะถามน้อยว่า
"น้อยชอบในเมืองไหม?"
"น้อยชอบแว้ง
แต่ไม่แน่ พรุ่งนี้น้อยอาจจะชอบบางนราก็ได้ วันนี้น้อยได้เห็นรถยนตร์แล้ว
พรุ่งนี้น้อย จะได้ขึ้นรถไฟ แล้วน้อย ก็ยังไม่เคยเห็นทะเลเลย สักครั้งเดียว
นอกจากในรูป น้อยอาจชอบก็ได้"
(๓) บูเกะ(บูกิต)
แปลว่า ภูเขา ยาฆง อาจแปลได้ว่า ข้าวโพด หรือ เข็ม สถานที่ในเรื่อง
น่าจะแปลว่า เขา หรือ เนินข้าวโพด แต่ปัจจุบัน มาแปลกันว่า เข็ม วัดที่แว้งก็ได้ชื่อไปตามนั้นว่า
วัดเขาเข็มทอง
(๔) กายู แปลว่า ไม้ คละ แปลว่า ฝาด
ปัจจุบัน ตำบลนี้ได้ชื่อเป็นภาษาไทยว่า ไม้ฝาด
(๕) ลุงเพื่อม มีตัวตนจริง ชื่อ นายเพื่อม
เรืองหนู เข้าใจว่าถิ่นฐานเป็นคนจังหวัดสงขลา หนังสือในงาน ฌาปนกิจศพ
ของท่านน่าสนใจมาก คือ เรื่องพระราชวังแหลมทราย ที่สนอ่อน จังหวัดสงขลา
(๖) หนาม ก็คือ ต้นที่มีหนาม หับ แปลว่า
ปิด ต้นหนามหับ คือ ต้นไมยราพ นั่นเอง คำว่า หับ เป็นคำไทยเก่า มีใช้ทั่วไป
ในวรรณคดี แปลว่า ปิด สถานที่หน้าคุก ทั้งในสมัยอยุธยา และกรุงเทพฯ
ก็เรียกว่าหน้าหับเผย จนทุกวันนี้
(๗) ของหวานทำด้วยข้าวเหนียว นึ่ง ปรุงด้วยน้ำตาลเคี่ยว
กานพลู เคล้ามะพร้าวขูดผสมเกลือเล็กน้อย
________________________________________________________________________
* เขียนเสร็จเวลา ๑๖.๐๐ น. ๒๕ ก.ค.
๔๕ ได้เขียนค้างไว้ ๓ หน้า ก่อนขึ้นไปงานศพคุณภูฟ้าที่เชียงใหม่ กลับลงมา
กรุงเทพฯ เช้าวันนี้ และเขียนต่อจนเสร็จ วันนี้เป็นวันเข้าพรรษาด้วย
(เราคิดอะไร
ฉบับที่ ๑๔๖ กันยายน ๒๕๔๕) |