>เราคิดอะไร

คำอธิษฐานใหม่แห่งสังคมไทย

วันนี้ ฝันร้าย เมื่อผู้นำระดับประเทศ เรียกร้องขอขึ้นเงินเดือน

ตอนมาสมัครงาน สัญญาสารพัด จะรับใช้จนชีวิตเป็นผุยผง จะยอมตายเพื่อแผ่นดินไทย ว่างั้นเถอะ

ลองบอกตอนนั้นซิว่า เข้ามาแล้ว จะขอขึ้นเงินเดือน จะปรับรายได้ของพวกกระผม ให้มากขึ้น หลุดเข้ามาได้สัก ๑ คน ก็เกินไปละ

ใครๆ ก็รู้สึกเหมือนถูกทรยศ เหมือนคนใช้ที่เอามือเท้าสะเอว แล้วเอ่ยปากขอเพิ่มค่าแรง อีกก้อนใหญ่

เหมือนลูกๆ ที่เดินมาหาพ่อแม่ แล้วยื่นคำขาด ขอให้แบ่งทรัพย์สินมรดก

ประมวลความทุเรศทั้งหมด ก็ยังไม่เทียมเทียบ!

เพียงเอ่ยปาก ขอขึ้นเงินเดือน เหล่าฝูงสัตว์สารพัด ต่างก็แห่กันมาร่วมสังฆกรรม

บางคนก็กระโดดเข้าขม้ำอร่อยด้วย บางคนงับๆ ปล่อยๆ ได้ก็ดี ไม่ได้ก็แล้วไป

บางคนถือโอกาสหาเสียงซะเลย นานๆ ได้แสดงน้ำใจ

ไปเที่ยวซาฟารี สังคมสัตว์กับสังคมมนุษย์ ก็ไม่ได้แตกต่างกันมากนัก เวลาได้เหยื่อเคราะห์ร้าย เราจะมีสารพัดสัตว์ แสดงออกสารพัดพฤติกรรม

ต่างกันแต่พฤติกรรมของมนุษย์ลึกซึ้งกว่า เพราะสามารถพูดอย่างทำอย่างได้ไม่เคอะเขิน

บ้านเมือง มืดมนอนธการ เป็นอะไรกันไปหมด ผู้หลักผู้ใหญ่กล้าแสดงความโลภได้ อย่างไม่อับอาย เหมือนคนกล้า เดินแก้ผ้าไปตามท้องถนน

ต้องโทษกระทรวงศึกษาธิการ ที่ สอนลูกฉันให้คิดอะไรผิดพลาดๆ เห็นแก่ตัว

หนังสือเรียนต้องไม่เอาไหน

กระทรวงศึกษา ยกมือค้าน ชี้ไปที่พ่อแม่เป็นตัวการ ไม่รู้จักสั่งสอนลูกหลาน ชอบโยนทุกอย่าง
ให้โรงเรียนจัดการ

พ่อแม่หน้าตาเลิกลั่กมองซ้ายมองขวาหาจำเลยเร่งด่วน ใช่แล้วผิดที่โน้นไง

เวลากราบพระ มักจะขอโน่นขอนี่กันไม่หยุด ทุกคนล้วนขอให้ตัวเอง แต่ไม่เคยคิดถึงคนอื่น

พ่อแม่โล่งอก เอาตัวรอดได้แล้ว!

สังคมไทยเป็นสังคมอิงธรรมะสายเถรวาท จะคุ้นเคยก็เพียงอรหันต์ ผิดกับประเทศอื่นๆ ที่อิงธรรมะ สายมหายาน จึงคุ้นเคยกับคำว่า "โพธิสัตว์" มากกว่าคนไทย

ปรัชญาเถรวาท จึงถูกเข้าใจจนสุดโต่งไปว่า ต้องช่วยตนให้พ้นทุกข์ แล้วค่อยช่วยคนอื่น

ส่วนปรัชญา มหายาน ก็ถูกเข้าใจจนโต่งไปอีกข้างว่า ต้องช่วยคนอื่นก่อน ตัวเองไว้ทีหลัง

ความจริงแล้ว ทุกอย่างต่างมีส่วนดี การรวมพลังหารสอง นั่นแหละเหมาะที่ซู้ด

ฝึกตนด้วย หัดช่วยคนอื่นไปด้วย ไม่ต้องแยกส่วน วิธีการแบบนี้ ภาษาสมัยใหม่ก็คือ "บูรณาการ"

ทุกวิชา ทุกอิริยาบถ เราทำประโยชน์ตน-ประโยชน์ท่านไปพร้อมกัน

เพราะเหตุนี้ คนดีจะได้ไม่ถูกบังคับ ให้สูญหายไปจากสังคมไทย

คนดี ต้องไม่โลภ ไม่โกรธ ไม่หลง คนดีจึงไม่ต้องมายุ่งสังคม ปล่อยให้คนมีกิเลสเขาปกครอง

...ประทานโทษ บ้านเมืองถึงเป็นอย่างนี้!

สังคมไทย ไม่เข้าใจ คนดีที่เป็นโพธิสัตว์ คนดีที่มีจิตวิญญาณเสียสละ อยากช่วยเหลือคนอื่น

แม้ที่สุด ช่วยจนตัวตาย ก็พร้อม!

เมื่อไม่เข้าใจอุดมการณ์ของพระโพธิสัตว์ คนดีๆ ที่มีอุดมคติ ก็จะถูกค่อนขอด กระแหนะกระแหน

ยิ่งกว่าพจมานในบ้านทรายทอง หลายร้อยเท่า!

ศาสนาพุทธที่เป็น "พันธุ์แท้" แม้พระอริยบุคคล ท่านก็ยังสั่งสมพากเพียร เชื้อ "โพธิสัตว์" ไปในตัว

การที่พระพรหมมาอาราธนาพระพุทธองค์ ให้สอนเวไนยสัตว์ นั่นก็คือ การอธิบาย จิตโพธิสัตว์ ในเชิงบุคลาธิษฐาน

พระพรหมจะเก่ง จนต้องเตือนสติพระพุทธเจ้าได้อย่างไร ไม่สงสัยบ้างหรือ?

แฟนพันธุ์แท้จริงๆ จึงเป็นโพธิสัตว์ตั้งแต่ เป็นพระโสดาบัน เพียงแต่ความเป็นโพธิสัตว์ ยังไม่แข็งแกร่ง ยังไม่เที่ยง

พระอรหันต์ทุกองค์ หรือโดยส่วนใหญ่ จะเดินทางสู่พุทธภูมิต่อไป จะกลับมาเกิดเพื่อช่วยโลก

จะอีกนานเท่าใด เป็นเรื่องของท่าน เพราะท่านพ้นทุกข์เสียแล้ว

พระอรหันต์ท่านจึงยังไม่ดับ แต่ท่านตั้งจิตมาบำเพ็ญบารมีต่อไป

พระอรหันต์จริงๆ นั้น จะมีหลายประเภท แต่เมื่อจะช่วยสัตวโลก ท่านก็จะมุ่งบำเพ็ญอรหันต์ประเภท "จตุปฏิสัมภิทาญาณ" ซึ่งเป็นอรหันต์ ที่มีความเชี่ยวชาญ ในการสอนคน ให้บรรลุธรรม

เมืองไทยมีพรหมวิหาร แต่ไม่สนใจโพธิสัตว์ ความดีจึงขาดๆ เกินๆ

"จงทำตัวเหมือนดั่งพรหม แต่ไม่มีความเป็นพรหม" เป็นพุทธพจน์ เป็นปริศนาธรรม ที่พระเกจิฯ หลายท่าน พากันขมวดคิ้ว

ความจริงแล้ว โพธิสัตว์ก็คือรูป พรหมวิหารก็คือนาม รูปเป็นเป้าหมายเป็นเข็มทิศ เป็นอุดมคติก็ได้ ส่วนพรหมวิหาร เป็นการลงมือปฏิบัติการ เป็นพฤติกรรม

อยากเป็น อยากไปภพภูมิโพธิสัตว์ ต้องปฏิบัติพรหมวิหาร!

แล้วคนดีๆ จะทอดทิ้งสังคมได้อย่างไร? คนดีๆ จะดูดาย ปล่อยวางสังคมให้ฉิบหายได้หรือ?

"เราไม่ลงนรก แล้วใครจะลง อมิตตาภพุทธ" หลวงจีนในหนังกำลังภายใน ท่านพูดทุกบ่อย

แปลไทยเป็นไทย ก็คือ เราไม่เสียสละ แล้วใครจะเสียสละ?

คนดีจะชิงลงมือเสียสละก่อนคนอื่น!

กราบพระวันนี้ อธิษฐานใหม่ เพื่อสังคมไทยแห่งอนาคต

"ขอให้คนอื่นๆ มีความสุข อย่าได้มีความทุกข์ ขอให้ประสบความสำเร็จ ตามที่เขาหวัง ส่วนตัวลูกช้าง ไม่ต้องกังวล ให้คนอื่นก่อน"

หากคำขอแรงไป เปลี่ยนอีกนิดก็ได้

"ขอให้คนอื่นๆ มีความสุข อย่าได้มีความทุกข์ ขอให้ประสบความสำเร็จ ตามที่เขาหวัง แล้วถ้ามีเวลา ค่อยมาให้ลูกช้าง...สาธุ!"

(เราคิดอะไร ฉบับที่ ๑๔๖ กันยายน ๒๕๔๕)