เวทีความคิด
- เสฏฐชน-
กรรมแต๊ๆ
คนส่วนใหญ่มักจะปรารภตน
ปรารภคนอื่นจากแนวคิดของตนเป็นหลัก แต่เนื่องจากมีจำนวนคน มากมาย และ
มากความคิด ถ้าหากไม่จับเป้าประเด็นให้ตรงว่า ตนมุ่งอะไร คนอื่นมุ่งอะไร
ตนกำหนดตรงไหน คนอื่น กำหนดตรงไหน ความสับสน การโต้เถียง ขัดแย้งกันก็ตามมา
เช่นกรณีด็อกเตอร์สถาบันนิด้าทุบภรรยาถึงแก่ความตาย
ซึ่งศาลตัดสินให้คุมประพฤติ แทนที่จะตัดสิน ประหารชีวิต หรือจำคุก
เป็นชนวนให้คนส่วนหนึ่ง ตอบโต้ ประท้วง ด้วยความรู้สึกว่า "อยุติธรรม"
เลือกปฏิบัติ ระหว่างความผิด ของสองเพศ ขอให้อัยการยื่นเรื่องใหม่
ต้องการให้ตัดสิน ยุติธรรมกว่านี้
ส่วนรายละเอียดว่าอย่างไรยุติธรรม
อย่างไรไม่ยุติธรรม ที่ฝ่ายค้านยกขึ้นมาร้องเรียน หรือ ฝ่ายตัดสินไปแล้ว
อ้างอิงความถูกต้อง จะไม่นำขึ้นมากล่าวซ้ำ
แต่อยากเขียนถึงความจริงหลายๆ
อย่างที่เราท่านทั้งหลาย พอจะใช้ "สติ-ปัญญา" คิด หลายๆ
แนว หลายๆ เชิง หลายๆ ชั้น หลายๆ มุม เฉลี่ยเผื่อแผ่ให้ทั่วถึงใน "เหตุ"
ใน "ผล" เพื่อคลี่คลายความรู้สึก ให้เข้าสู่ "เอกภาพ"
หลังจากทุกคนใช้ "เสรีภาพ" ในการคิด พินิจพิเคราะห์ ตาม
"สมรรถภาพ" ที่ตนมีเพื่อให้เกิด "สันติภาพ" ภายในบ้านในเมือง
ในโลก (ที่สุดคือ ภายในตน ของตนๆ นั่นแหละเป็นสำคัญ)
จากประโยคหนึ่งในหนังสือพิมพ์
ว่าศาลมีความเห็นว่าบิดาควรต้องดูแลบุตร ในเมื่อบุตร ไม่มีมารดาแล้ว
จึงภาคทัณฑ์ แทนการกักขัง
น่าจะเป็นเหตุผลที่ทำให้เกิดความสงสารเด็กๆ
เพราะมีบุคคล ๒ คนที่มีหน้าที่โดยตรง ในการเลี้ยงดู คือพ่อกับแม่ เมื่อแม่ตายไปแล้ว
ก็เหลือแต่พ่อ ที่ต้องทำหน้าที่คนเดียว การให้โอกาสทำหน้าที่ พ่อต่อไป
เป็นการตัดสิน ที่ถูกแล้วประการหนึ่ง (นอกเหนือจากเหตุผลอื่นๆ ที่พิจารณาจาก
หลักฐานบุคคล เอกสารด้วย)
เหตุผลดังกล่าวนี้
ทำให้ผู้ที่คัดค้าน ไม่เห็นด้วย โดยเฉพาะเพศแม่ คิดว่า "เหตุผลอ่อน
ฟังไม่ขึ้น" อาจเนื่อง มาจาก ผู้หญิงมีความรู้สึก ที่แตกต่างจากผู้ชาย
โดยเฉพาะ เรื่องความผูกพัน รักใคร่ลูก เพราะถ้าหากพ่อ มีสำนึก ควรแก่การไม่ถูกจำคุกนี้จริงๆ
พ่อก็คงไม่ทำกรรมเช่นนั้น เพราะมีคนที่ แม้จะมี อารมณ์โกรธ ไม่ชอบใจ
จนถึงอยากฆ่าคู่กรณี แต่ด้วยความรู้สึกผูกพันกับลูก โยงใยเข้ามาเชื่อมต่อ
จึงทำให้ต้อง อภัยอีกฝ่ายหนึ่ง ถ้าอภัยไม่ได้ ยังถือสากันอยู่ ก็หย่าแยกจากกันไป
แม้ว่าในกรณีที่สำนึกได้ภายหลัง
ก็จะไม่คิดผิดว่าตนเองถูก เมื่อเหตุการณ์นั้น ผ่านพ้นไปแล้ว กลับต้องยอม
ให้เกิดการชดใช้ทดแทน
ผู้ที่คัดค้านโต้แย้งว่า
"เลือกปฏิบัติ" ดูประหนึ่งเหตุกับผลไม่สมน้ำสมเนื้อกัน เมื่อเปรียบเทียบ
ระหว่าง การตัดสินความผิด ระหว่างผู้หญิงทำผิด กับผู้ชายทำผิด เป็นประเด็นใหญ่
หากจะแยก วิเคราะห์ แต่ละประเด็น อาจทำให้ภาพความนึกคิด ชัดเจนขึ้น
เช่น
จำเลยยอมรับแล้วว่าทำผิดจริง
ในแง่ทุบตี ไม่ได้คิด "ฆ่าให้ตาย" แต่เพราะไม่ได้ยั้งมือ
ซึ่งก็หมายถึง ไม่ได้ยั้ง อารมณ์ด้วย จึงทำให้ถึงขั้นตายตามมา และยังมีข้อมูลเพิ่มอีกว่า
เพราะภรรยา มาทำสิ่งที่ไม่ดี ให้แก่ตน ไว้ด้วย ฉะนั้น ผลที่ออกมา จึงเกิดเป็น
"แรงสมทบ" ทำให้ฉกาจฉกรรจ์ถึงตาย
ศาลก็ให้คะแนนในส่วนนี้ว่า
"ทำผิดแล้วยอมรับผิดว่าตนทำการนั้นจริง" เป็นประโยชน์ต่อการ
พิจารณาคดี เป็นการไถ่โทษ ให้เบาขึ้น อีกส่วนหนึ่ง
อีกส่วนหนึ่งแม้ผู้ตายจะโดนทำร้ายถึงตาย
แต่เพราะผู้ตายเป็นผู้กระทำกรรมกิริยาไม่ดี ต่อจำเลย ด้วยการ "สะสมความรู้สึก"
ของจำเลย จึงมีแนวโน้ม ทำให้จิตใจไม่ดี เป็นเหตุจากผู้ตายส่วนหนึ่ง
ที่ต้องนำมา ประกอบด้วย ตามสามัญสำนึก ของคนธรรมดา ที่มักคิดตามใจเขา
ตามใจเราที่รู้สึกเหมือนๆ กัน
เพราะจะมีผู้ชายใจดี
ใจเย็น สักกี่มากน้อย กี่คนที่ "ยอม" ให้ผู้หญิงกระทำเช่นนั้น
เช่นเดียวกันกับที่จะมีผู้ชายประเภท
"สุภาพบุรุษ" ทั้งกาย ทั้งวาจา ทั้งใจ อยู่ในศีล มีความเป็นธรรม
เท่าไหร่
เคยอ่านข้อเขียนอาจารย์
นายแพทย์คนหนึ่งเปิดใจไม่เห็นด้วย ที่แม่ชีศันสนีย์ ตอบคำถาม ที่ว่าผู้ชาย
ไปเที่ยวโสเภณี ผิดศีลข้อ ๓ ไหม? แล้วแม่ชีตอบว่า "ผิด"
เพราะผู้หญิงไม่ใช่สินค้า ผู้หญิงไม่ใช่ วัตถุบำบัด ความใคร่ ฯลฯ แม่ชีควรจะสอนให้ผู้หญิงรักศักดิ์ศรี
รักนวลสงวนตัวมากกว่า ผู้หญิงมาขายตัว เองนี่นา
(ชวนคิดต่อได้ว่า ผู้ชายมีเงิน เขาก็ซื้อน่ะสิ ก็ตัวเองมาขายทำไมล่ะ?)
ถ้ามีคนไปถามแม่ชีศันสนีย์ว่าได้สอนอย่างที่อาจารย์คนนั้นค้านไหม?
คงจะตอบไม่ผิด มิหนำซ้ำ ที่เสถียรธรรมสถาน ยังมีบ้านเอื้ออารี ให้ผู้หญิงที่ประสบกับเคราะห์กรรม
จากเรื่องทำนองนี้ พักฟื้นฟู ร่างกาย จิตใจด้วย ใช่จะเพียง แต่เฉลยคำตอบ
แนะนำตั้งแต่ต้นทาง ยังช่วยเหลือ แก้ไขปลายทางด้วย
หันกลับมาเรื่องด็อกเตอร์ที่สอนในสถาบันนิด้า
ตัวจำเลยเองขณะนี้ กำลังถูก "กฎแห่งกรรม" ขยายผล ออกมาเป็น
"จำเลยสังคม " แม้โดยรูปธรรมจะไม่ถูกจำคุก ไม่ถูกประหารชีวิต
คงปฏิเสธยากหรอก ว่าไม่ถูก "จำจอง" หลังจากข่าว สะพัดออกไปแล้ว
เมื่อคนอีกส่วนหนึ่ง "จำใจ" รับคำตัดสินของศาล ที่อาจบอกว่า
"จำเป็น" เพื่อประโยชน์ปัจจุบัน ในเมื่อ "คนตาย"
ก็ตายไปแล้ว ก็น่าจะจบสิ้นกันไป ปัญหาที่ต้องสะสาง น่าจะเป็นไป เพื่อประโยชน์ของ
"คนอยู่"
เมื่อจำเลยสารภาพว่าทำผิด
ซึ่งต้องยอมรับว่าการรับสารภาพเป็นความดี ผู้ไม่ให้โอกาส ผู้กระทำความผิด
แก้ไข ทำความดีทดแทน ผู้ไม่ให้อภัยนั้น ก็คงจะเป็นผู้ผิดแทน
ผิดที่ไปยึดถือความผิดของผู้อื่น
ไม่ให้เขามีโอกาสแก้ไข ปรับปรุง ทำดีใหม่ เช่นศาลให้ไปสอน หนังสือเด็ก
ก็มีผู้คัดค้าน ไม่เห็นด้วย เพราะจะถ่ายทอด พฤติกรรมรุนแรง ออกไปให้เสียเด็กอีก
เป็นต้น
มีคนร้องเรียกคนในแวดวงศาสนา
ให้ออกมาแสดงความคิดเห็น ความรู้สึกในเรื่องนี้ด้วย ทำไมนิ่งเฉย ไยไม่ช่วยเสริม
ชี้บอก ให้แม่นชัด หรือเบิกเนตร เปิดสมองโลกียชนเล่า
เคยดูหนังจีนเวลามีเรื่องวุ่นวาย
โกลาหลไต้ซือ ซือหู ก็จะยกมือขึ้นพนม พูดปลงๆเสียงละห้อยๆ ว่า "ก๊ำ
กรรม ของสัตวโลก อมิตตาพุทธ" แล้วก็ตัดฉากไปดื้อๆ ให้คนดูใช้สมองกันเอง
คนดูอย่างเรา อดที่จะนำมาคิดต่อไม่ได้ว่า
แล้วที่ว่า "ก๊ำๆ กรรมๆ" นั่นน่ะ กินความหมายแค่ไหน? ใครถูก
ใครผิด !
ยิ่งถ้าหลังจากดูแล้วให้โอกาสผู้ดูทุกคนมาวิเคราะห์
เพื่อให้เกิด "อริยญาณ ทำการปฏิบัติ มีโลกวิทู เพิ่มพหูสูต"
แล้วล่ะก็ จะชัดเจนเลยว่า ดูหนังเรื่องเดียวกัน แต่ความคิด ความรู้สึกไม่เหมือนกัน
แม้ผู้กำกับจะมีเป้าหมาย
แนวทาง จุดเน้นให้ตัวแสดงทุกตัวทำตามบทที่ผู้กำกับ มุ่งหมายก็ตาม ผู้กำกับ
ก็คงจะรู้ ได้อะไร ที่นอกความคาดหวัง ขึ้นอีกเยอะแยะ จากแนวคิดของคนดู
ทั้งๆ ที่ผู้กำกับบางคน บอกว่า สร้างตามตลาด สร้างตาม รสนิยมคนดู
ทั้งนี้เพราะตัวบงการให้เกิดเป็นผลออกกรรม
กิริยาเป็นรูปธรรมภายหลังนั้น มาจากภายใน ของแต่ละคน ที่ไม่เหมือนกัน
ถึงเหมือน ก็ยังมีรายแปลกแยก ผสมอยู่ด้วย ถ้าผู้คิดใช้ความคิด เซาะเจาะไช
นอกจาก จะตัดรอบ เอาระดับไหน ขั้นไหนเท่านั้น จึงจะหาที่ยุติได้
แม้ที่ว่ายุติได้
ก็อย่าคิดว่าจะไม่มีอะไรต่ออีก เช่นเรื่องด็อกเตอร์ฆ่าภรรยา ทุกฝ่าย
ตั้งแต่อัยการ ทนาย พยาน โจทก์ จำเลย ผู้พิพากษา คนในสังคม คงจะตอบไม่เหมือนกัน
เช่น ถ้าถามลูกชายลูกสาวจำเลยว่า
ศาลตัดสินถูกไหม? ลูกๆ ก็คงจะตอบว่า ถูก !เพราะพ่อจะได้อยู่ กับลูก
ต่อไป
ถ้าถามพี่น้อง ญาติๆของจำเลยว่าศาลตัดสินถูกไหม?
คาดคะเนว่าส่วนใหญ่ คงตอบว่าถูก ! เพราะญาติ ของเรา จะได้ไม่ต้องเข้าคุก
เขาจะได้ดูแลลูก ของเขาเอง
ถ้าถามญาติๆ ของผู้ตายว่า
ศาลตัดสินถูกไหม? ก็คงจะมีทั้งตอบว่าถูกและผิด เพราะคนที่ได้ หรือพอใจ
ในสิ่งชดเชย ที่จำเลยให้ ก็คงเลิกยึดถือความผิด นอกจากญาติอีกส่วนหนึ่ง
ที่ไม่ได้รับ ก็คงจะเห็นแตกต่าง
ถ้าถามคนอื่นๆ ก็ยิ่งมีคำตอบมากมาย
จนมีข่าวว่าเรื่องนี้ต้องทำประชาพิจารณ์ และมิวายใครถือหาง ด้านไหน
ก็คงจะต้องโน้มน้าว ไปสู่แนวร่วม ด้านนั้น ทั้งๆ ที่คำตอบนั้น มีอยู่
๓ ประเด็นแน่นอน โดยไม่ต้องฟัง หรือให้ศาลตัดสิน ก็คงตอบได้ทุกคน คือ
ผิด ๑ ถูก ๑ สุดแล้วแต่กรรมของใครอีก ๑
แต่มีอีกสิ่งหนึ่งที่น่าจะคิดถึงอันเป็นตัวแฝง
ที่แอบอิงมากับการตัดสินของทุกคนไม่ยกเว้น คือตัวไม่สมใจ ไม่สมความคิด
ไม่สมทิฐิ ไม่สมความเห็น ไม่สมความรู้สึก ไม่สมอารมณ์ ไม่สมคะเน ฯลฯ
ตามที่ตน "ยึดถือ"
ตัวนี้แหละ คือ
"ตัวจำเลย" ที่สำคัญกว่าจำเลยภายนอก ไม่มีความยุติธรรม ในสิ่งที่ไม่ยุติหรอก
ไม่มี ความยุติธรรม ในบรรยากาศไม่ยุติหรอก ไม่มีความยุติธรรมในความรู้สึกไม่ยุติหรอก
เพราะไม่มีความ "หยุด" ไม่มีความ "ดับ" หรอก ถ้าเรา
"ไม่ยอมหยุด" "ไม่ยอมดับ"
แม้จะเค้นคำตอบจากศาสนา
ก็ใช่จะทำให้เกิดความหยุด ความดับโลกภายนอก ซึ่งมีความเกิด เป็นธรรมดา
อยู่ได้
เช่น ถ้าศาสนาจะตอบว่า
ทุกอย่างที่เกิดขึ้นนั้น ถูกแล้ว !
"ถูก"
เพราะมัน "แล้ว" ไปแล้ว
ผู้ที่หยิบจับเอาสิ่งที่เกิดขึ้นที่เรียกว่า
"อดีต" หรือหยิบจับที่ยังไม่เกิดขึ้นมา "สังขาร"
(ปรุงแต่ง, ต่อเติม) ผู้นั้นยังคือ ผู้ยังไม่รู้จักแล้ว
ผู้ที่ไม่รู้จักแล้ว
จะกลายเป็นผู้ผิด เพิ่มขึ้นไปเสียอีกก็ได้
ไม่ต่างไปจากที่มีคำสอนในศาสนาพุทธว่า
"ผู้โกรธตอบผู้โกรธคนแรก ชื่อว่าเลวกว่า" เพราะทำให้เกิด
คนเลว เพิ่มขึ้น อีกคนหนึ่ง ทั้งทำให้น้ำหนักของความเลว เพิ่มขึ้นเป็นตัวอย่าง
เดือดร้อน แพร่ขยายวงกว้าง ต่อไปอีก
ตัวอย่างที่เลว
ไม่ว่าจะเป็น "กายทุจริต ๓" (ปาณาติบาต
อทินนาทาน กาเมสุมิจฉาจาร) หรือ "วจีทุจริต ๔"
(โกหก นินทา ส่อเสียด เพ้อเจ้อ) หรือ
"มโนทุจริต ๓" (กามวิตก พยาบาทวิตก วิหิงสาวิตก)
เป็นพฤติกรรมที่ผิด ที่ใครๆ ก็ไม่ควรกระทำ ไม่ควรเลียนแบบ อย่างทั้งสิ้น
และผลของกรรมนั้นก็ใช่จะเป็นผลชัดเจน
ออกในภาพรูปธรรมอย่างเดียว ด้านนามธรรม ก็มีอยู่ ดังคำที่ว่า "อกตรม
ขมไหม้" หรือ "นอกใส ในเหี่ยว" แม้จำเลยเองก็ยังเปรยๆ
พ้อๆ ว่า "ผมไม่อิสระอยู่แล้ว ผมเป็น จำเลยสังคม ผมถูกคุมประพฤติ"
ศาสนบุคคล ก็อาจตอบ คล้ายคลึงกัน เอาเรื่องกฎแห่งกรรม มาเป็น บรรทัดฐาน
ว่ากรรมเป็นอันทำ ทำกรรมไปแล้ว ก็คือทำไปแล้ว ไม่ว่าดีหรือชั่ว ถูกหรือผิด
พ้นโรงศาล แต่ไม่พ้นโรงเรือน (เรือนใจ) ไม่พ้นโลงศพ
แต่ก่อนจะถึงโลงศพ
ก็ต้องศึกษาโรงเรือนให้ชัดเจนเสียก่อน ด้วยการศึกษาเรียนรู้ศีลธรรม
ให้ถึงเรือนใจ เรียนให้รู้กาย ให้รู้วาจา ให้รู้ใจ เพื่อยุติความชั่วร้ายต่างๆ
ให้หยุดเพียงแค่นั้น ห้ามความคิดชั่วไม่ได้ ก็อย่าให้พูดชั่ว ห้ามพูดชั่วไม่ได้
ก็อย่าให้ทำออกมา ทำร้ายคนอื่นให้เดือดร้อนทุกข์ยาก มองเห็นความชั่ว
มองเห็น ความเดือดร้อนของคนอื่น ก็ต้องระมัดระวัง ไม่ให้เราเป็นคนหนึ่ง
ที่ไปเพิ่มความชั่ว เพิ่มความเดือดร้อนให้เขา
จะทำอย่างนี้ได้
ก็ต้องทำที่ตัวเองก่อน อย่าไปเดือดเนื้อร้อนใจด้วยกิเลสเลย ไม่ว่ากิเลสของเราเอง
หรือ สนองกิเลสคนอื่น ควรศึกษา ทำความรู้ ทำความแจ่มแจ้งให้ชัดเจนใน
"กรรม" ทั้งภายนอก ทั้งภายใน ด้วยสติ สัมปชัญญะ ซื่อสัตย์
ซื่อตรง ไร้อคติทั้ง ๔ พรั่งพร้อมทั้ง สัมโพชฌงค์ เข้าให้ถึง "กฎแห่งกรรม-วิบากของกรรม"
แท้ๆเถิด เมื่อนั้น ท่านถึงจะรู้ว่า : -
พอเสียทีกับความทุกข์
ที่เกี่ยวเนื่องกับการเกิดมาเป็นหญิง เกิดมาเป็นชาย
พอเสียทีกับความทุกข์ ที่ต้องเกี่ยวข้องกับทุกๆ อย่างที่หญิง ที่ชายก่อขึ้น
พอเสียทีกับความทุกข์ ที่คน ซึ่งเป็นสัตว์โลกเดียวกันต้องร่วมรับด้วยกัน
พอเสียทีกับความยึดถือต่างๆ ที่ทำให้เกิดภัยต่างๆ กับคนในโลก
พอเสียทีกับการทำกรรมต่างๆ ที่ทำให้เกิดผลเป็นทุกข์ เป็นบาป
กรรมแต๊ๆ ของคนแต่ละคนมีอยู่จริงๆ
กรรมแต๊ๆ ของสังคมโดยส่วนรวมก็มีอยู่จริงๆ กรรมแต๊ๆ ของกรรมนั้นๆ เองก็มีอยู่จริงๆ
กรรมซ้อนกรรม กรรมทำกรรม กรรมเสริมกรรม กรรมทำลายกรรม กรรมสิ้นสุดแห่งกรรม
ก็เป็นกรรมแต๊ๆ ที่คนมีกรรมมาเกิด ที่คนมีกรรมมาทำกรรม ที่คนมีกรรมมาก่อกรรม
ที่คนมีกรรมมารับกรรม คนมีกรรมไม่ยุติกรรม นั่นแหละ คือ กรรมแต๊ๆ นี่แหละคือที่
"ยุติ" ของกรรมทุกชนิด ไม่ให้งอกเงย เติบใหญ่ขึ้นไปเป็น
"กรรมเวร" เป็น "เวรกรรม" อีก (คือคำตอบสุดท้าย)
คนไม่ชอบความว่างหาทางออก
ความวุ่นมันหลอนหลอกให้แส่ส่าย
ไม่รู้จักปล่อยวางอย่างแยบคาย
มั่วงมงายไม่มีวิธีมอง
ควรมองดูที่จิตคิดอยากได้
จิตวุ่นวายดิ้นรนจนหม่นหมอง
อยากให้ได้อยากให้เป็นเห็นก่ายกอง
น่าจะลองละความอยากออกจากใจ
(เราคิดอะไร
ฉบับที่ ๑๔๖ กันยายน ๒๕๔๕) |