หน้าแรก >[09] การสื่อสาร > การเผยแพร่ธรรมะ >เราคิดอะไร

ชีวิตนี้มีปัญหา ๑ - สมณะโพธิรักษ์ - (ฉบับ ๑๔๗)
(ต่อจากฉบับที่ ๑๔๖)

ไม่ว่า "รูปฌานหรืออรูปฌาน" ของพุทธนั้น เพียงแต่จะผ่าน "เข้าไปอาศัยเกิด" (อุบัติ,สมาบัติ) แล้วก็ต้อง "ดับหรือเคลื่อน เลื่อนพ้นออกไป" (จุติ,วุฏฐาน) ให้สำเร็จสู่ความสูงขึ้นไป เป็นลำดับๆ กระทั่งหมดสิ้น "ภพ" ไม่ได้จมอยู่ใน ภพใดๆ และดับ "ตัวตน" กันเป็นที่สุด ถึง "สัญญาเวทยิตนิโรธ" อันเป็น "ความดับสนิท สูงสุดของพุทธ"

พุทธได้ "รูปฌาน ๔" บริบูรณ์แล้ว ก็ยังจะต้องตรวจสอบอีก ให้บริสุทธิ์ ด้วยแบบวิธีของ "อรูปฌาน ๔" และต้องเป็น "อรูปฌาน ๔" แบบพุทธด้วยนะ ไม่ใช่แบบวิธีของ "อรูปฌาน ๔" ที่ทำกันทั่วๆไป หรือ แบบที่เป็น เครื่องเสพ ตามที่หลงกันว่า แดนนั้นคือ "ภพสูงสุด" แล้วติดยึด

"อรูปฌาน ๔" แบบพุทธนี้ อยู่ใน "อนุปุพพวิหาร ๙" อันใช้ปฏิบัติเป็น "วิหารธรรม" ที่ดำเนินไป ตามลำดับ ซึ่งศาสนาอื่นๆใดๆ ไม่มีศึกษา เพราะ "อนุปุพพวิหาร ๙" นี้เป็นแบบฉบับของพุทธ โดยเฉพาะเท่านั้น เป็นเรื่องของ "โลกุตรภูมิ" โดยตรงแท้ๆ จึงมีความแตกต่างกันกับ "สัตตาวาส ๙" ที่เป็นแค่ "โลกียภูมิ" แน่นอนที่สุด

มีท่านผู้รู้จัด "อรูปฌาน ๔" อยู่ในภูมิโลกียะนัยเดียว เท่านั้น ไม่นับ "อรูปฌาน ๔" เป็นโลกุตรภูมิเลย อาจจะเป็นเพราะ ท่านไม่เข้าใจ "อรูปฌาน ๔" สัมมาทิฏฐิ ตามนัยพุทธ ที่เป็นโลกุตระ หรือ เป็นอาริยะ ท่านจึงจัดไว้เช่นนั้น

แต่ตามสัจจะแล้ว "รูปฌาน ๔"ก็ดี "อรูปฌาน ๔"ก็ดี ศาสนาพุทธเรียนรู้และใช้ปฏิบัติ ทั้งแบบโลกียะ ทั้งมีแบบโลกุตระ เป็นของตนเอง อีกต่างหาก ดังที่อาตมา ได้สาธยาย มายืดยาวนั้นแล้ว โดยพุทธ จะเลือกใช้ "ฌานแบบโลกียะ" ตามควร ซึ่งมีอุปการะมาก แก่การปฏิบัติ

หากผู้ใดยังเข้าใจไม่ได้ แยกไม่ออกว่า "ฌาน" แบบพุทธเป็นอย่างไร "ฌาน" แบบโลกียะ สามัญทั่วไป เป็นอย่างไร มีนัยสำคัญ แตกต่างกันไฉน ผู้นั้นก็ไม่สามารถ ปฏิบัติเข้าสู่ "โลกุตรภูมิ" ได้เป็นแน่นอน เพราะพุทธก็มี "ฌาน" เป็นจรณะ (ข้อปฏิบัติหรือเครื่องดำเนิน) สำคัญที่จะพาไปสู่ ความเจริญ ของชีวิตด้วย แม้ที่สุด ไปถึงนิพพาน ขาดไม่ได้ เป็นแต่ว่า "ฌานแบบพุทธ" นั้น มีนัยพิเศษ ที่ลึกซึ้ง (คัมภีรา) เห็นตามได้ยาก (ทุททสา) รู้ตามได้ยาก (ทุรนุโพธา) สงบจากกิเลส ที่เป็นเหตุแท้ (สันตา) ละเอียดลออ เรียบร้อย งดงาม (ปณีตา) จะใช้เหตุผล มาคำนวณคะเน เอาไม่ได้ หรือ ไม่ใช่ภาวะ ที่จะบรรลุผลได้ ด้วยวิธีตรรกศาสตร์ (อตักกาวจรา) สำเร็จถึงขั้นนิพพาน (นิปุณา) รู้ได้เฉพาะบัณฑิตจริง (ปัณฑิตเวทนียา)

"อรูปฌาน ๔" แบบโลกีย์ทั่วไปนั้น ยึดถือกันว่า แดนนี้เป็น "ที่อยู่ของสัตว์" (สัตตาวาส) ชั้นสูง เป็น "ภพ" พระเจ้า เป็นแดนสุข แดนเสพ เป็นแดนสวรรค์ (อภินิเวส) ดังที่ลัทธิ ศาสนาต่างๆ หรือ ชาวโลกียะ พากเพียรสร้างขึ้น จนสำเร็จแล้ว ก็ติด ก็ยึด ว่าเป็น "แดนอรูป" สูงสุด [ดังที่ อาฬารดาบส กับอุทกดาบสหลง] ชาวพุทธเองแท้ๆ บ้างก็หลงกันว่าเป็น "แดนนิโรธ" ไปเลยก็มี บ้างก็หลงกันว่า ผู้ใดสามารถทำได้ถึงขั้นนี้ ก็ให้ฝึกฝน เข้าไป ให้มากๆ ทำซ้ำ ทำซาก เข้าไปนี่แหละ แล้วสักวันหนึ่ง ก็จะเกิด "ปัญญา" แจ้งสว่าง มีอาการบรรลุ "นิพพาน" ขึ้นมาเอง อย่างนี้ก็มี มิใช่น้อย

ในพระไตรปิฎก เล่ม ๑๑ ข้อ ๓๕๓ และเล่ม ๒๓ ข้อ ๒๒๘ ก็ได้กำหนดจัดแจง หรือจัดระเบียบ (ววัตถสัญญา) "ภพเป็นที่อยู่ของสัตว์" (สัตตาวาส) ไว้ ๙ ชนิด

๑. สัตว์พวกหนึ่ง มีกายต่างกัน มีสัญญาต่างกัน เช่น มนุษย์ เทวดาบางชนิด วินิปาติกะ (สัตว์ที่มีอันต้อง ได้รับทุกข์ ในเมืองนรก หรืออบายภูมิ) บางชนิด

ก็ขออธิบายขยายความให้ละเอียดขึ้น จากคำตรัสที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ เพียงสั้นๆนั้น สู่กันฟัง ดังนี้

คำว่า สัตว์ ในที่นี้ หมายถึง ความเป็นสัตว์ในภพ ในภูมิต่างๆ ซึ่งที่จริงก็คือ "ทิฏฐิ" ของคน นั่นแหละ เป็น เหตุหลัก ที่จะเห็นไป เชื่อถือไป แล้วก็เกิดก็เป็นไปตาม "ทิฏฐิ" ของตนๆ โดยเฉพาะ สัตว์ในพวกที่ ๑ นี้ คือคนที่ เชื่อแบบ "เทวนิยม" เขาก็เกิด เขาก็เป็นกันไป ซึ่งแตกต่าง จากคนที่เชื่อแบบ "อเทวนิยม" หรือแบบ "พุทธ" อย่างมีนัยสำคัญ กระนั้นก็ดี แม้แต่ชาวพุทธแท้ๆที่ "มิจฉาทิฏฐิ" ก็ยังเกิดยังเป็น สัตว์พวกที่ ๑ นี้อยู่ เช่นเดียวกัน กับชาว "เทวนิยม" เขาเป็น เขาเกิด เขาตายกันอยู่ อันชื่อว่าสังสารวัฏ

คำว่า "เทวดาบางชนิด"และ"วินิปาติกะบางชนิด"ในสัตว์พวกที่ ๑ นี้ จึงหมายถึง คนที่ยัง เป็นชาว "เทวนิยม" แต่ถ้าเป็นชาว "อเทวนิยม" ก็จะไม่เกิด ไม่เป็นเช่นนี้ นอกจากชาว "อเทวนิยม" หรือ ชาวพุทธที่ยัง มิจฉาทิฏฐิ

สัตว์พวกที่ ๑ ตามที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้นั้น ได้แก่ พวกที่มี "ความเห็นหรือเชื่อ (ทิฏฐิ) ว่า สัตว์ต่างๆ ในโลก ที่นับว่า เป็น "มนุษย์" ก็จะมี "กาย" มีร่าง อย่างที่มนุษย์ ผู้ยังไม่ตาย ทั้งหลายมีๆ เป็นๆ กันอยู่นี่แหละ คือ มีเนื้อมีหนัง มีธาตุ ดินน้ำลมไฟ ประกอบกันขึ้น เป็นร่าง เป็นกาย มีรูปขันธ์ ตามที่มนุษย์ยังไม่ตาย ร่างกายยังไม่แตกดับไป ก็จะมี "กาย" เป็นอย่าง ที่มนุษย์ เป็นอยู่มีอยู่ อย่างนี้แหละคือ "กาย" ของมนุษย์ จะมีกายประณีต หรือ หยาบ สวย งาม ขี้เหร่ ก็ตามประสา บุญบาปของมนุษย์ แต่ละคน สุดแต่บุญทำ กรรมแต่ง

ส่วน "กาย" ของเทวดา "กาย" ของสัตว์อบาย (วินิปาติกะ) นั้น ชาวโลกีย์ที่ยังมีความเห็นแบบ "เทวนิยม" ก็จะมีความเห็น หรือ เชื่อว่า เทวดา หรือ สัตว์อบายภูมินั้น คือ สัตว์ที่ "เกิด" ภายหลัง การตาย ร่างกายแตก (กายัสสะ เภทา ปรัมมรณา) เท่านั้น เพราะไม่สามารถรู้จัก "การเกิด" ที่เป็นการเกิดแบบ "โอปปาติกโยนิ" เหมือนชาว อเทวนิยม หรือ ชาวพุทธที่ สัมมาทิฏฐิ รู้แจ้งเห็นจริง

กล่าวคือ ผู้มี "ทิฏฐิ" แบบเทวนิยมดังกล่าวนั้น จะนับเอา "การตาย" ก็ต่อเมื่อ มีการตาย ชนิดสิ้นลมหายใจ หมดความเป็นชีวิต ลงเสียก่อน แล้วจิตวิญญาณ จึงจะออกจากร่างกายไป "เกิด" เป็นเทวดา หรือ เป็นสัตว์อบาย แล้วจึงไปได้ "กาย" ใหม่กัน เทวดาก็ไปได้ "กายทิพย์" ผิวพรรณ เนื้อตัว รูปร่างงดงาม ผ่องใส ...ว่ากันยังงั้น หรือ จะโปร่งใสกันอย่างไรก็... ตามแต่ จะวาดฝัน ปั้นกันไป เทวดาฝรั่งก็ไปอย่าง เทวดาจีน ก็ไปอีกอย่าง เทวดาไทย ก็ไปแบบไทยๆ ส่วนสัตว์อบาย ก็ไปได้ "กาย" พิกลพิการ หรือ เป็นเดรัจฉาน ตามที่จะวาดปั้น หรือ สมมุติกันไว้ อีกหนะแหละ จะทุเรศทุรังการ มากน้อย แปลกประหลาดอย่างไร ก็เท่าที่บาป จะหนักจะเบา ของแต่ละตน ตามบาปตามกรรม ของตนเอง ที่ทำไว้ ต่างปั้นกันไป

ดังนั้น มนุษย์ เทวดา สัตว์อบาย ย่อมมี "กาย" ต่างกัน ด้วยประการฉะนี้

ผู้มีทิฏฐิเป็น "เทวนิยม" นั้น ไม่รู้จักการเกิด-การตายแบบ "โอปปาติกโยนิ" (การเกิดแบบผุดเกิด ) ไม่เหมือนชาว "อเทวนิยม" ที่สัมมาทิฏฐิ ซึ่งสามารถมี "วิชชา" ถึงขั้น "จุตูปปาตญาณ" ที่รู้แจ้ง ปรมัตถธรรม จึงรู้แจ้ง ความจริง ของจิตวิญญาณ ที่ตายที่เกิดแล้ว เป็นสัตว์ประเภทต่างๆ

กล่าวคือ ชาว "อเทวนิยม" ผู้มีสัมมาทิฏฐิ ได้เรียนรู้ และ ปฏิบัติจนเกิดอธิจิต บรรลุอธิปัญญา ก็จะมี "วิชชา" ถึงขั้น "จุตูปปาตญาณ" อันเป็น "วิชชา" ขั้นสามารถ "รู้" (ชานาติ) สามารถ "เห็น" (ปัสสี) การเกิดของ จิตวิญญาณ (อุบัติ,สมาบัติ) และ การตาย หรือการเคลื่อน จากสภาพเก่า เปลี่ยนไปสู่สภาพใหม่ ของจิตวิญญาณ (จุติ,วุฏฐาน) ในขณะที่ตนเองยัง ไม่ได้ตายแบบ "ร่างกายแตกตาย" (กายัสสะ เภทา) ยังมีชีวิต อยู่นี่แหละ มีตาหูจมูก ลิ้นกายใจ ทำงานอยู่ต ามปกตินี่เอง ซึ่งชาวพุทธ หรือ ชาวอเทวนิยม ที่มี "สัมมาทิฏฐิ" เท่านั้น จึงจะปฏิบัติ รู้แจ้ง เห็นจริง "โอปปาติกโยนิ" ได้อย่างเป็นสัจจะ ด้วย "วิชชา ๙" อันเป็น อนุสาสนีปาฏิหาริย์ ของพระพุทธเจ้า

ส่วนผู้ที่ "ไม่สัมมาทิฏฐิ" แม้จะปฏิบัติเคร่งครัดเอาจริงเอาจัง หรือเก่งกาจปานใด ก็ไม่สามารถ บรรลุธรรม แบบอเทวนิยม มี "วิชชา ๙" ที่เป็นอนุสาสนีปาฏิหาริย์ได้อย่าง "ถูกถ้วน" (สัมมา) จึงไม่สามารถจะรู้ สัจธรรม ตามที่อาตมา กล่าวถึงนี้ เพราะจะไม่สามารถปฏิบัติ จนจิตวิญญาณ "เกิดหรือตาย" ตามทิฏฐิ ที่รู้แจ้งแบบ อเทวนิยม ที่มีความรู้แจ้งเห็นจริงใน "โอปปาติกโยนิ" มี "วิชชา ๙" มี "ฌาน (แบบพุทธ).. วิปัสสนาญาณ.. มโนมยิทธิ.. อิทธิวิธิ.. ทิพยโสต.. เจโตปริยญาณ.. ปุพเพนิวาสานุสติญาณ.. จุตูปปาตญาณ..อ าสวักขยญาณ"

นี่เป็น "ทิฏฐิ" ของชาว "อเทวนิยม" หรือ พุทธที่สัมมา เมื่อปฏิบัติ มีมรรคผล ก็จะรู้จัก "กาย.. เวทนา.. จิต.. ธรรม" อย่างเป็น ปรมัตถสัจจะ จึงสามารถรู้แจ้ง "กาย" และ "สัญญา" ที่เป็น เจตสิก ของจิตวิญญาณ ได้อย่างถูกถ้วน

ความว่า มี"กาย"ต่างกัน ของสัตว์พวกที่ ๑ ก็ดังที่ได้สาธยายมา ด้วยประการฉะนี้

ส่วนที่ว่า มี "ความกำหนดหมาย" หรือ "สัญญา" ต่างกันนั้น ก็คือ มนุษย์ก็มี "ความกำหนดหมาย" ไปตาม ประสา ของมนุษย์ ซึ่งกำหนดหมาย กันไปอย่างหนึ่ง ต่างจาก "ความกำหนดหมาย" ของเทวดา ก็อีกอย่างหนึ่ง และ ต่างจาก "ความกำหนดหมาย" ของสัตว์อบาย ซึ่งเป็นอีกอย่างหนึ่ง กล่าวคือ มนุษย์นั้น จะมี "ความกำหนดหมาย" อยู่ว่า เป็นสัตว์ที่ชั่วก็มี ดีก็ได้ ทุกข์ก็ยังมี สุขก็ยังมี

แต่เทวดานั้นมี "ความกำหนดหมาย" ระบุลงไปเจาะจงว่า จะต้องมีแต่กุศล มีแต่ความดี มีแต่ความงดงาม มีแต่สุข [อย่าลืมว่า สัตตาวาส ยังเป็นโลกียะ] ซึ่งก็เห็นแล้วว่า "ความกำหนดหมาย" (สัญญา) ต่างกันไป คนละอย่าง มนุษย์ก็ "สัญญา" ไปอย่างหนึ่ง ดังที่ได้อธิบาย ผ่านมาแล้ว เทวดาก็ "สัญญา" อีกอย่างหนึ่ง ต่างกันไปคนละ "ความกำหนดหมาย" (สัญญา)

ถึงกระนั้น แม้จะกำหนดกันว่า เทวดาคือ ภูมิของสัตว์ที่เป็นกุศลเท่านั้น หากไม่ใช่กุศล ก็ ไม่ใช่"เทวดา" แต่เอาไปเอามา.. ก็ยังมีตำนานเล่าขานกันว่า มีเทวดาเลว อยู่ด้วย เหมือนกันแหละ ซึ่งนั่นก็คือ สามัญลักษณ์ของ โลกีย์ ไม่ว่าจะเป็น โลกีย์ระดับไหน สูงสุดๆ ปานใดก็ตาม ในความเป็น "โลกียะ" ย่อมมี "ความไม่เที่ยงแท้" (อนิจจัง) ย่อมมี "ความผิดพลาด บกพร่อง" (error) เกิดได้เป็นได้ อยู่เสมอ อย่างเก่ง ก็ยึดมั่น ถือมั่น อยู่ได้นาน แสนสุดจะนาน แต่ไม่วาระใด ก็วาระหนึ่ง ไม่ส่วนใดก็ส่วนหนึ่ง จะต้องเปลี่ยนแปลง แปรปรวน เสื่อมถอย ไปสู่ต่ำ ได้อยู่นั่นเอง เป็นธรรมดาของ สมมุติสัจจะ หรือ ของความเป็น"โลกียะ"

(อ่านต่อฉบับหน้า)

หนังสือพิมพ์ เราคิดอะไร ฉบับที่ ๑๔๗ ตุลาคม ๒๕๔๕