ศาสนธรรมจะเป็นมโนธรรมของสังคม
ในภาวะปัจจุบันได้อย่างไร
* ส.ศิวรักษ์
(ปาฐกถาในงานแสดงมุทิตาจิต
แด่พระคุณเจ้าบุญเลื่อน หมั้นทรัพย์ มีอายุครบรอบการได้รับศีลบวช เป็นบาทหลวง
ครบ ๕๐ ปี โดยได้รับแต่งตั้ง ให้เป็นพระสังฆราช แห่งสังฆมณฑล อุบลราชธานีครบ
๒๕ ปีอีกด้วย ณ ห้องประชุม ศูนย์พัฒนาบุคลากร อัสสัมชัญ อาคารมูลนิธิ
คณะเซนต์คาเบรียล แห่งประเทศไทย วันที่ ๒๗ พฤศจิกายน ๒๕๔๔)
ประการแรก ต้องตราไว้ให้ชัดเสียก่อนว่าศาสนธรรมนั้น
ต่างจากจริยธรรม เพราะคนที่ ไม่นับถือศาสนา ก็สามารถ เป็นคนดีได้ ถ้าเราหมายความว่า
คนดีคือ คนที่ไม่เอาเปรียบผู้อื่น ตลอดจน เป็นคนที่ ต้องการเกื้อกูล
ตลอดจน รับใช้ผู้อื่น โดยอาจรวมถึงสัตว์อื่น และ ต้องการ บำเพ็ญ กรณียกิจ
เพื่อรักษา สิ่งแวดล้อม ทางธรรมชาติไว้ ให้เหมาะสมอีกด้วย
เมื่อศตวรรษก่อน
ตอนที่เลสลีย์ สตีเฟน ประกาศตนว่า เขาหมดความศรัทธาเลื่อมใส ในพระผู้เป็นเจ้า
และ ลาพรตออกมา จากการเป็นบาทหลวง นิกายอังกฤษ ซึ่งถ้าปราศจาก สถานะนี้
ย่อมเป็นอาจารย์ ที่มหาวิทยาลัย ออกซบริดจ์ไม่ได้ เขาก็ยอมทิ้ง สถานะเดิม
โดยยืนยันว่า เขายังเป็นคนดี ที่มีคุณธรรม โดยไม่จำเป็น ต้องมีความเชื่อ
ในทางศาสนา อีกต่อไป
เลสลีย์ สตีเฟนเป็นบิดาของเวอยิเนีย
วูลฟ ซึ่งรวมตัวกันกับปัญญาชนอังกฤษ ร่วมสมัย ที่ไม่เห็นว่า ศาสนา
มีคุณค่า ในทางสังคม โดยที่คนพวกนี้ (ซึ่งรวมถึงเบอทรัน
รัสเซล และยอช เบอนาด ชอว์ ตลอดจนเวบผัวเมีย ฯลฯ) สามารถสร้าง
ขบวนการ ในทางมโนธรรมสำนึก ให้อังกฤษ จนเกิดพรรคกรรมกร และมหาวิทยาลัย
เพื่อคนจน ในลอนดอน จนกลายมาเป็น LSE อยู่ในปัจจุบัน
ประการต่อมา ต้องแลเห็นข้อแตกต่างระหว่างศาสนธรรมกับศาสนจักร
โดยที่อย่างหลังนั้น เป็นสถาบัน ยิ่งมีองคาพยพ ใหญ่โตเพียงใด มีอำนาจ
และทรัพย์ศฤงคาร มากเพียงใด ก็ห่างเหิน จากศาสนธรรม ขององค์พระศาสดา
มากยิ่งขึ้นเพียงนั้น ตัวอย่างเช่น ศาสนาคริสต์ ที่พระเยซูทรงสั่งสอนนั้น
เป็นไปเพื่อ คนยาก คนจน หรือ คนที่ถูกกดขี่ ข่มเหง และ พระเยซู ทรงพัฒนาคำสอน
จากพระคัมภีร์เก่า ซึ่งมีพระผู้ เป็นเจ้า ของเผ่าชน แม้จะทรงฤทธา ศักดานุภาพ
ทุกประการ แต่พระองค์ก็ทรงพระโกรธ ได้ง่ายๆ ยังความยุติธรรม ในพระคัมภีร์เก่า
ก็สอนว่า ถ้าใครเอาฟันของเราไปซี่ ๑ ให้เอาคืนมาซี่ ๑ ใครเอาดวงตา
ของเราไป ๑ ดวง ก็ให้ควักเอาคืนมา ๑ ดวง ครั้นมาถึง พระคริสต์ธรรม
ทรงสั่งสอนว่า ถ้าใครมาตบ แก้มซ้ายของเรา ให้เอียงแก้มขวา ให้เขาตบ
ได้อีกข้างหนึ่ง จำเพาะคนที่เข้าใจ เนื้อหาสาระ ของพระคริสต์ธรรม ดังกล่าว
แล้วนำมาประพฤติ ปฏิบัติตาม โดยเฉพาะ ก็พระธรรมเทศนา บนยอดเขา นั้นแลคือ
เนื้อหาสาระ ของศาสนธรรม ดังทรงย้ำว่า จะให้คนรวย ขึ้นสวรรค์นั้น ยากกว่าเอาอูฐ
ผ่านรูเข็มเสียอีก ดังนี้เป็นต้น ถ้าถ้อยคำ ดังที่ว่ามานี้ มีความหมาย
อย่างลึกซึ้ง กับศาสนิก หรือผู้นำ ทางศาสนา ซึ่งประพฤติปฏิบัติตามนั้น
ศาสนธรรม ดังกล่าว จึงจักเป็นมโนธรรมสำนึก ของสังคมได้ แต่เมื่อศาสนาดังกล่าว
กลายมาเป็น ส่วนหนึ่ง ของชนชั้นปกครองไป ทั้งศาสนจักร ก็มีอำนาจ และ
ทรัพย์ศฤงคาร โดยต้องการ ให้มีคนมาเข้ารีต ยิ่งๆ ขึ้น แม้จะใช้เล่ห์เพทุบาย
อย่างไรก็ตามที แล้วจะให้ ศาสนจักร เป็นมโนธรรมสำนึก ให้ใครได้เล่า
ยิ่งศาสนจักร ในปัจจุบัน ซึ่งคนส่วนใหญ่ ไม่เชื่อในเรื่อง พระผู้สร้าง
และโลกนี้ โลกหน้าด้วยแล้ว จะนำชาวโลก ได้อย่างไร และโดยที่ ศาสนจักร
หมดอำนาจ ในทางแสนยานุภาพไป ก็เลยได้แต่ไกล่เกลี่ย กับอภิมหาอำนาจ
และบางครั้ง ก็สยบยอม หรือปรับตน ให้เป็นดัง บรรษัทข้ามชาติด้วยแล้ว
ยังจะมี มโนธรรม สำนึกล่ะหรือ
ที่สำคัญก็คือ ศาสนาเคยเป็นมโนธรรม
หรือพลังในจิตวิญญาณ เพื่อก่อให้เกิด ศิลป นฤมิตกรรม ซึ่งออกมาจาก
ศรัทธาปสาทะ จนเกิดอาสนวิหาร อันงดงาม และบรรสาน สอดคล้องกับ ศาสนธรรม
อย่างที่ชาตรในฝรั่งเศส หาไม่ก็เกิด คีตนิพนธ์อันเป็นเลิศ อย่างเช่น
ของบาค ที่เยอรมัน แม้จนเพลงสวด ในพิธีมิสซา เพื่ออุทิศ แด่ผู้ตายอย่าง
Gregorian Requiem Mass นั้นเล่า แม้คนนอกศาสนา
ก็บังเกิดธรรมสังเวช หรือได้รับแรงบันดาล ในทางมโนธรรม สำนึกได้
ที่น่าถามก็คือ
ความงาม ความไพเราะ และศิลปนฤมิตกรรมร่วมสมัย ซึ่งเป็นแรงบันดาลใจ
จากศาสนา ยังสามารถ แสดงออกได้ละหรือ ถึงความเป็นเลิศ ที่ประสานความงาม
เข้ากับ ความจริง เพื่อเป็น มโนธรรมสำนึก ให้คนร่วมสมัย ท้าทายความฉ้อฉล
แห่งลัทธิ บริโภคนิยม ในระบบโลกาภิวัฒน์ และให้แลเห็น โครงสร้างทางสังคม
อันรุนแรง และ อยุติธรรม ในปัจจุบัน
ดังขอให้ดูสถาปัตยกรรม
ของฝ่ายพุทธร่วมสมัย ดูก็ได้ว่าเร่อร่า และ น่าเกลียดเพียงใด แม้จะใช้
เงินทอง ไปกับการสร้าง กันมิใช่น้อย มีทั้งช่อฟ้า และ ใบระกาที่แข็งทื่อ
ดังกับเจว็ด หรือ สากกระเบือ
จะตอบความตามที่ตั้งเป็นประเด็น
ที่ให้ปาฐกถาได้ เราคงต้องยอมรับว่า ผู้นำ หรือผู้ที่มีอำนาจ ในศาสนจักร
ของแทบทุกศาสนา ไกล่เกลี่ยวิถีชีวิตของท่าน กับความทันสมัย โดยมักไม่มีชีวิต
อันเรียบง่าย ที่มุ่งเน้นในทาง สมาธิภาวนา เพื่อให้เกิด ความอ่อนน้อมถ่อมตน
โดยไม่ติดยึด อยู่กับสถาบัน หากกล้าท้าทาย สถาบัน ทางศาสนา ของตนเอง
โดยยืนหยัด อยู่ข้างคนไร้ หรือ ออกไปมีชีวิต อย่างทุกข์ทรมาน เช่นพวกเขา
ทั้งนี้โดย ไม่จำต้องเอ่ยว่า ผู้นำทางศาสนานั้นๆ ไกล่เกลี่ยกับ นักการเมือง
และ นักการค้า ที่มีอำนาจ และมีทรัพย์กัน มากน้อยเพียงใด โดยที่อำนาจ
และทรัพย์ศฤงคารนั้นๆ มักได้มา ด้วยความฉ้อฉล แม้ไม่ในทางตรง ก็ทางอ้อม
หาไม่ ก็อาศัย โครงสร้างทางสังคม อันอยุติธรรม ช่วยให้คนจำนวนน้อยพวกนี้
ได้อย่างมหาศาล ในขณะคน เป็นจำนวนมาก นอกจากยากจนแล้ว ยังไร้โอกาส
และศักดิ์ศรีอีกด้วย
อ่านต่อฉบับหน้า
หนังสือพิมพ์
เราคิดอะไร ฉบับที่ ๑๔๗ ตุลาคม ๒๕๔๕
|