อดีตชาติของพระพุทธเจ้า
กุศโลบายเปลื้องทุกข์
(ทูตชาดก)
เงินทอง
ข้าวของ สูญหาย
วุ่นวาย ทุกข์ใจ เศร้าหมอง
ต้องใช้ ปัญญา ไตร่ตรอง
มุ่งปอง ผู้ช่วย ได้จริง
ภิกษุทั้งหลายสนทนากันในโรงธรรมสภาว่า
"ท่านทั้งหลายจงดูความเป็นผู้ฉลาดในกุศโลบาย
(อุบายอันเป็นกุศล) ของพระผู้มี พระภาคเจ้าเถิด
ทรงให้พระนันทะเห็นนางอัปสร แล้วเปลี่ยนใจ
ปฏิบัติธรรม จนสำเร็จ พระอรหันต์ได้ หรือทรงประทานผ้าเก่าแก่พระจุลปันถกะ
ให้พิจารณาจนบรรลุธรรม หรือทรงให้ พระที่เคยเป็นนายช่างทอง
พิจารณาดอกบัว กระทั่งหมดกิเลส สิ้นเกลี้ยงได้ พระองค์ทรง แนะนำ
ชนทั้งหลาย ด้วยกุศโลบายต่างๆ"
พระศาสดาเสด็จมาถึง
เมื่อทรงทราบเรื่องที่ภิกษุทั้งหลายสนทนากันแล้ว จึงตรัสว่า
"มิใช่บัดนี้เท่านั้น
ที่เราเป็นผู้ฉลาดในกุศโลบาย แม้ในกาลก่อน เราก็เป็นผู้ฉลาด ในอุบาย
อันแยบคายมาแล้ว"
แล้วทรงนำเรื่องราวนั้นมาตรัสเล่า
.....................
ในอดีตกาล
เมื่อพระเจ้าพรหมทัตเสวยราชสมบัติ อยู่ในกรุงพาราณสี
บ้านเมือง เกิดความเดือดร้อนลำบาก ชาวบ้าน ชาวเมือง ขัดสนเงินทอง เพราะพระราชา
ทรงเรียก เก็บทรัพย์ จากมหาชนเสมอๆ เพื่อเอาเข้าพระคลังหลวง ประชนชน
จึงไม่ค่อยมี เงินทอง เก็บไว้ใช้สอย
ณ
กาสิกคาม มีมาณพคนหนึ่งอยู่ในตระกูลพราหมณ์ที่ยากจน
เมื่อเจริญวัย มากพอแล้ว ได้ไปร่ำเรียน วิชาที่เมืองตักสิลา โดยกล่าวขอร้องกับอาจารย์ว่า
"ข้าพเจ้าขัดสนเงินทองในตอนนี้
จึงมิได้มีทรัพย์มามอบให้ เป็นค่าสอนวิชา ของอาจารย์ แต่จะแสวงหา ทรัพย์มามอบให้อาจารย์
ในภายหลัง ขออาจารย์ โปรดเมตตา ข้าพเจ้า ด้วยเถิด"
อาจารย์ก็เห็นใจสงสาร
จึงรับไว้เป็นศิษย์ สอนศิลปศาสตร์ ทั้งหมดให้แก่เขา จนกระทั่ง เรียนสำเร็จ
เขาเข้ามากล่าวลาอาจารย์
"ข้าแต่อาจารย์ผู้มีพระคุณ
กระผมจะใช้วิชาของอาจารย์ ไปแสวงหาทรัพย์ โดยชอบธรรม แล้วจะนำทรัพย์
กลับมาตอบแทนคุณ การสอนวิชาของอาจารย์ กระผมจึงมากราบลา"
เขาท่องเที่ยวไปตามหมู่บ้านชนบทต่างๆ
ใช้วิชาที่ร่ำเรียนหาทรัพย์ จนกระทั่ง เก็บสะสม ทรัพย์ไว้ได้
เป็นทองคำ ๗ แท่ง จึงหมายใจไว้ว่า จะนำกลับไปมอบให้อาจารย์
แต่ในระหว่างการเดินทาง
ต้องข้ามแม่น้ำคงคา ขณะลงเรือข้ามแม่น้ำนั่นเอง มีคลื่นลมแรง ทำให้เรือ
โคลงไปมา เขาเซถลา ไปทางนั้นที เซมาทางนี้ที ในที่สุด ห่อทองคำ ที่พกติดตัวไว้
ก็กระเด็น หลุดออก แล้วตกหล่นลงในแม่น้ำ จมหายไป เขาไม่อาจจะคว้า เอาไว้ได้ทัน
ต้องนั่งเศร้า อยู่ในเรือนั้น
เมื่อเรือมาถึงฝั่งแล้ว
เขาคิดขึ้นว่า
"เงินทองของเราสูญไปหมดสิ้นเกลี้ยง
และกว่าจะหามาใหม่อีกก็ยากยิ่งนัก จะช้านาน เกินไป กว่าจะไปมอบให้อาจารย์ได้
เห็นทีเราจะต้อง ใช้อุบาย อันแยบคาย หาทรัพย์มา โดยเร็วเสียแล้ว"
คิดแล้วก็นุ่งห่มผ้าเฉวียงบ่า
นำเอาสายสิญจน์มาวงรอบสี่มุมเป็นมงคล แล้วนั่งอยู่ ในวง สายสิญจน์
ณ ริมฝั่งแม่น้ำคงคานั่นเอง นั่งสงบนิ่ง ไม่ดื่มกินอะไร เสมือนรูปปั้น
พระปฏิมา ทองคำ อยู่บนพื้นทรายสีเงิน ฉะนั้น
ประชาชนที่ผ่านไปมา
เห็นมาณพนี้มานั่งอดอาหารอยู่อย่างลำบาก ต่างพากัน สงสาร ถามว่า
"ท่านมานั่งบำเพ็ญอะไร
หรือทำเพื่อพิธีกรรมใดกันเล่า หรือทุกข์ร้อนเรื่องใดมา"
แม้จะสงสัยไต่ถามอย่างไรๆ
แต่เขาก็ไม่ยอมปริปากเอ่ยคำพูดใดๆ เลย เหตุการณ์จึงร่ำลือ กันไปใหญ่โต
จากนอกเมือง ก็เข้าสู่ภายในเมือง จากชาวบ้าน ก็ไปถึงชาววัง ผู้คนพากันไปดู
และถามไถ่ มาณพนั้น แต่เขาก็ยังคง ไม่ยอมตอบใดๆทั้งสิ้น นั่งอดอาหาร
นิ่งเฉยอยู่
อดอาหารในวันแรก
เป็นพวกชาวชนบทพากันมาถามไถ่เขาเป็นส่วนมาก
อดอาหารในวันที่สอง
พวกชาวบ้านริมประตูเมืองมาถามเขา
อดอาหารในวันที่สาม
คนในเมืองทราบข่าว ก็มาดูเขาที่ริมฝั่งแม่น้ำนั้น
อดอาหารในวันที่สี่
เหล่าพ่อค้าที่ทำมาหากินในเมืองมากัน ตามเสียงกล่าวขาน
อดอาหารในวันที่ห้า
ราชบุรุษพากันมาสอบถาม เพื่อต้องการรู้ความจริง แต่เขายังไม่
พูดจา ใดๆเลย
อดอาหารในวันที่หก
พระราชาทรงสั่งให้อำมาตย์เป็นทูตมาหาคำตอบ แต่ก็ยังคง ไม่มี คำตอบใดๆ
ให้แก่พระราชา
เมื่อถึงวันที่เจ็ด
พระราชาทรงอดความสงสัยไม่ได้ ทั้งปรารถนาคำตอบที่ชัดเจน และ ต้องการ
ให้สถานการณ์ สงบเรียบร้อย ไม่ก่อเกิดเหตุเภทภัยใดๆ ขึ้น จึงเสด็จไปยัง
ริมฝั่ง แม่น้ำคงคา แล้วตรัสถาม มาณพนั้นด้วยพระองค์เอง
"ดูก่อนพราหมณ์หนุ่ม
เราส่งทูตทั้งหลายมา พบท่าน ผู้ซึ่งเพ่งฌาณ (สภาวะสงบ อันประณีตยิ่ง)
อยู่ที่ริมฝั่งแม่น้ำคงคานี้ ทูตเหล่านั้น ถามท่าน แต่ท่านก็ มิได้โต้ตอบ
ท่านมี ความทุกข์ใด เกิดขึ้นหรือไม่ แล้วจะอดอาหาร จนตายเชียวหรือ"
พราหมณ์มาณพ
ตั้งแต่ได้เห็นพระราชา เสด็จมาเอง ก็ให้ดีใจนัก คิดอยู่ว่า กุศโลบาย
สำเร็จสมใจ ที่มุ่งหมายได้พบปะ สนทนากับพระราชา ดังนั้น จึงได้กราบทูลว่า
"ข้าแต่พระองค์ผู้บำรุงรัฐกาสีให้เจริญ
ถ้าความทุกข์เกิดแก่พระองค์ หากผู้ใด เปลื้องทุกข์
ให้พระองค์ไม่ได้ พระองค์ก็อย่าได้ตรัสบอก ความทุกข์แก่ผู้นั้น แต่ถ้าผู้ใดเปลื้องทุกข์
ให้ได้ โดยธรรม แน่แท้ พระองค์พึงบอกเล่า ความทุกข์แก่ผู้นั้น
ข้าแต่พระราชา
เสียงของสุนัขจิ้งจอกก็ตาม เสียงของนกก็ตาม รู้ได้ง่าย แต่เสียงของมนุษย์
รู้ได้ยากกว่านั้น เพราะบางคนเบื้องต้น เป็นคนใจดี ย่อมนับถือกันว่าเป็นญาติ
เป็นมิตรสหาย แต่ภายหลัง กลับกลายไป เป็นศัตรูก็ได้ ใจของมนุษย์ รู้ได้ยากอย่างนี้
ผู้ใดถูกเขาถามเนืองๆ
ถึงทุกข์ของตน แล้วบอกไปในเวลาไม่สมควร ผู้นั้นจะพบ แต่ผู้ที่ ไม่ยินดี
ร่วมทุกข์ด้วย เพราะเขาเป็นมิตร ที่แสวงหาแต่ประโยชน์ตน
ส่วนผู้ใดรู้เวลาอันสมควร
รู้จักบัณฑิตผู้มีปัญญา ว่ามีใจช่วยเหลือกันจริง พึงบอก ความทุกข์
แก่บัณฑิตนั้น ด้วยการเปล่งวาจา ที่อ่อนหวาน มีประโยชน์
แต่ถ้าหาบัณฑิตเช่นนั้นไม่ได้
พึงอดกลั้นทุกข์ของตนไว้ ควรรู้ประเพณี ของโลกนี้ว่า คนเรา จะเอาแต่สุข
โดยส่วนเดียวไม่ได้ นักปราชญ์ (ผู้มีปัญญารู้แจ้ง) จึงพิจารณา เห็นหิริ
(ความละอาย ต่อบาปทุกข์) และโอตตัปปะ (ความเกรงกลัวต่อบาปทุกข์) อันเป็นของจริง
ดังนั้น จึงอดกลั้น ความทุกข์ร้อน เอาไว้เพียงลำพังเท่านั้น
มิได้บอกแก่ผู้ใด"
พระราชาทรงสดับเช่นนั้น
จึงตรัสกับเขาว่า
"ท่านจงบอกแก่เราเถิด
เวลานี้เหมาะควรแล้ว และในแว่นแคว้นนี้ จะมีใครช่วยท่าน ได้ดีกว่าเราอีก"
เขาเห็นพระราชาทรงรับรองให้สมใจตนแล้ว
จึงกราบทูลถึงทุกข์ที่ตนมีอยู่
"ข้าแต่มหาราช
เพราะข้าพระองค์ต้องการหาทรัพย์ให้อาจารย์ จึงท่องไป ทั่วแว่นแคว้น
นิคมทั้งหลาย กระทั่งหาทรัพย์มาได้ เป็นทองคำ ๗ แท่ง แต่แล้วก็มาทำสูญหาย
จมอยู่ใน แม่น้ำคงคานี้ เพราะเหตุนั้น ข้าพระองค์จึงทุกข์ เศร้าโศกมาก
อดอาหารอยู่ ณ ที่ตรงนี้
แม้ชาวบ้านชาวเมืองและทูตทั้งหลาย
ที่พระองค์ส่งมาถามไถ่นั้น ข้าพระองค์ ก็คิดดูแล้ว ด้วยใจตนว่า ทูตเหล่านี้
ไม่สามารถปลดเปลื้องทุกข์ ของข้าพระองค์ได้ เพราะเหตุนั้น ข้าพระองค์
จึงไม่บอก แก่เขาเหล่านั้น
แต่เมื่อพระองค์เสด็จมา
ข้าพระองค์คิดรู้ด้วยใจว่า พระองค์สามารถ เปลื้องทุกข์ ของข้า พระองค์ได้แน่
เพราะเหตุนั้น จึงได้กราบทูลทุกข์ ให้พระองค์ทรงทราบ"
พระราชาทรงได้ยินเช่นนั้น
ให้รู้สึกปลื้มพระทัย และทรงเลื่อมใสในสติปัญญา ของมาณพ นี้มาก จึงได้พระราชทาน
ทองคำ ๑๔ แท่งแก่เขา พราหมณ์มาณพ ได้โอกาสแล้ว จึงถวาย โอวาท ตักเตือนพระราชา
ให้ตั้งอยู่ในธรรม พระราชาก็ทรงดำรงอยู่ ในโอวาทของเขา ครองราชสมบัติ
โดยธรรมสืบไป
จากนั้นเขาก็นำทรัพย์ไปมอบให้แก่อาจารย์
แล้วบำเพ็ญ บุญกุศล ไปตลอดชีวิต
..................
พระศาสดาทรงนำชาดกนี้มาแสดงจบแล้ว
ได้ตรัสกับภิกษุทั้งหลายว่า
"พระราชาในครั้งนั้น
ได้มาเป็นพระอานนท์ในบัดนี้ อาจารย์ ได้มาเป็นพระสารีบุตร ส่วนมาณพนั้น
คือ เราตถาคตเอง"
(พระไตรปิฏกเล่ม
๒๗ ข้อ ๑๗๗๗ อรรถกถาแปล เล่ม ๖๐ หน้า ๒๕๕)
(เราคิดอะไร ฉบับที่ ๑๔๗ ตุลาคม ๒๕๔๕)
|