เอ็นนู
ซื่อสุวรรณ รองผู้จัดการ
ธ.ก.ส.
(ตอนที่ ๒)
** แรงบันดาลใจต่อการคิดและทำสิ่งดี
ผมอ่านพระราชดำรัสในหลวงมาเรื่อยๆ และก็ติดตามดูงานที่ในหลวงทรงทำ โครงการต่างๆ
ตรงนี้เป็นแรงบันดาลใจผม ในหลวงท่านตรัสว่า "การพัฒนา
ต้องเริ่มที่คนก่อน" ท่านทรงใช้ คำว่า "ต้องระเบิดจากข้างใน"
ผมจึงคิดว่า ถ้า ธ.ก.ส.ทำต้องใช้วิธีการของในหลวง โดยต้อง ทำให้ชาวบ้าน อยากสู้เอง
ผมมาคิดต่อว่า แล้วชาวบ้านจะสู้ต่ออย่างไรไหว ความรู้เขาก็ไม่มี และยังมีวิถีชีวิตที่ฟุ้งเฟ้อ
ใช้เงินใช้ทองกินเหล้าเมายากันอยู่ ฉะนั้น คงต้องเริ่มต้นที่ พัฒนา ให้เขาลดละ
อบายมุขก่อนละมัง ถ้าลดได้ อย่างอื่นจะเกิดตามมา
ผมนึกย้อนกลับไปถึงพลตรีจำลอง
ศรีเมือง ซึ่งเราได้อบรมพนักงาน ธ.ก.ส.ไปตั้งเยอะ และก็เห็นผลว่า พนักงานของเรา
เปลี่ยนพฤติกรรม ไปในทางที่ดีขึ้น ทำไมเราจึงไม่เอา วิธีอย่างนี้ ไปสอนชาวบ้านบ้าง
เพราะเมื่อทำผ่านไปหลายปี ผมเกิดความมั่นใจว่า สามารถใช้
หลักศาสนา ช่วยพัฒนาคนได้ เพราะศาสนาเป็นความเชื่อ บางศาสนา แม้แต่ให้ไปตาย
ก็ยังมีคนยอมตายให้ได้เลย ดังนั้นความเชื่อในศาสนา สำคัญมาก ผมนึกไม่ออกว่า
จะไปที่ไหน เมื่อคุณจำลองท่านโยงใยอยู่กับกลุ่มสันติอโศก ถ้าให้ชาวอโศกช่วยเรา
จะได้ไหม ผมเองก็เฝ้าดู พัฒนาการ ของชุมชนชาวอโศก ณ วันนี้ มีความเข้มแข็ง
พอสมควร อยู่ได้ด้วยตนเอง ผมมองว่า มีลักษณะคล้ายๆ กับทฤษฎีในหลวง เรื่องการพึ่งพาตัวเองขั้นที่
๑ และอยู่รอดได้ พอพัฒนา ถึงขั้นที่ ๒ ก็ออกมาช่วยชุมชน รวมชุมชนที่คิดแบบเดียวกัน
ตั้งเป็นเครือข่าย โชคดีที่เมื่อได้พบ ท่านสมณะโพธิรักษ์แล้ว ท่านเมตตาที่จะให้ชาวอโศก
ช่วยโครงการนี้ โดยมีเหตุผลว่า การช่วย ธ.ก.ส. คือ
การช่วยชาวบ้าน เมื่อ ธ.ก.ส.คิดดี ทำไมเราจะไม่สนับสนุน คนที่คิดดี ผมฟัง
และ ซาบซึ้งมาก บอกกับพนักงานว่า ถ้าคุณทำไม่ดีถูกโจมตี ถูกเดินขบวน ถูกล้อมปิดสาขา
ถูกด่าต่างๆ นานา แต่หากคุณแค่คิดดี แม้ยังไม่ได้ลงมือทำเลย ก็มีคนอาสามาช่วยแล้ว
และผมอยากให้พนักงาน ที่ทำงานตรงนี้ ต้องทำด้วยความสมัครใจด้วย เมื่อเข้าไปอบรม
ผมจึงให้ เป็นนโยบายว่า พนักงานสินเชื่อของเรา ต้องเข้าร่วมโครงการอบรมด้วย
ไม่ใช่มีแต่ ชาวบ้านล้วนๆ ผมบอกว่า ถ้าเราส่งชาวบ้าน ไปเรียนรู้มา เหมือนเปิดวิทยุ
เขาได้รับคลื่น AM แต่คุณฟังคลื่น FM เมื่อเครื่องรับกับเครื่องส่งไม่ตรงกัน
ก็ฟังกันไม่รู้เรื่อง มันยุ่งนะ เพราะฉะนั้น คุณจะได้ ๓ อย่าง อย่างที่หนึ่ง
คุณได้เรียนรู้เรื่องของศาสนา ซึ่งเป็นเรื่องการทำดี สอง ชุมชนชาวอโศก สอนชาวบ้านอย่างไร
เราจะได้รับรู้ ร่วมกันด้วย สาม คุณจะได้ใจชาวบ้าน ซึ่งตรงนี้สำคัญ เป็นการสร้างความสัมพันธ์อันดี
ระหว่างชาวบ้านกับ ธ.ก.ส. ผมเชื่อว่า กลไกที่เราทำ น่าจะมาถูกทาง
** สังคมมีทั้งคนเลวและคนดี
ผมเชื่อว่าในภาพรวมของพนักงานธนาคาร ๘๐-๙๐% เป็นคนดี แต่อาจจะมีสัก ๑๐% ของพนักงานบางส่วน
ที่ยังหมกมุ่น อยากได้แต่โบนัส โดยไม่พัฒนาตัวเอง แต่เนื่องจาก พนักงาน ธ.ก.ส.
เรามีอยู่ประมาณ ๑ หมื่น ๓ พันกว่าคน ๑๐% ประมาณ ๑,๓๐๐ คน ซึ่งจำนวนนี้ อาจสร้างปัญหาได้
และเวลาเกิดปัญหา ผมจะบอกกับพนักงานเสมอว่า การที่คุณทำ ให้ใครเดือดร้อน
๑ คน อย่าคิดว่า เขาจะมองคุณไม่ดี อยู่คนเดียวนะ คนทั้ง ครอบครัว เขาก็จะมองคุณไม่ดีด้วย
และเพื่อนบ้านเขาอีกล่ะ เขาจะบอกต่อๆ กัน แต่ถ้า คุณทำดี ๑ คน เขาก็จะพูดกันต่อเช่นกัน
ส่วนพนักงานคนไหน ที่ไม่ดี ก็พยายาม ให้โอกาส ที่จะฝึกเขา แต่ถ้าไม่ดีจริงๆ
ก็คงต้องเลิกจ้าง หรือไล่ออกไป
** หลักสูตรสัจธรรมชีวิต
: เร่งรัดพัฒนาคุณภาพเกษตรกร
ขณะนี้ผมคิดว่า เรายังทำไม่ทัน เพราะมีเกษตรกรในโครงการพักชำระหนี้ทั้งหมด
เป็นล้านคน แม้จะมีชุมชนชาวอโศก ช่วยอยู่ก็ตาม แต่อย่างมาก ก็คงอบรมได้ ไม่เกิน
๓-๕ หมื่นคน ภายใน ๓ ปี ตอนนี้ผมพยายามหาเครือข่ายเพิ่มขึ้น กำลังติดต่อโครงการ
แผ่นดินธรรมแผ่นดินทอง ที่พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ท่านเป็นประธาน ให้ช่วยอบรม
ซึ่งชาวบ้านบางส่วน ก็ยังมี ความคิดเดิมๆ ที่หักล้างยาก เพราะฉะนั้น จะมีกลุ่มคนที่เปรียบ
เสมือนบัว ๔ เหล่า แต่อย่างไร ก็ตาม เราก็ต้องหาวิธีช่วยเขา หาเครือข่ายเพิ่มเติม
และอีกทาง ก็คิดจะเอาพนักงาน ที่เรียนรู้ มาจากชาวอโศก และเขาได้มีการเปลี่ยนแปลง
วิถีชีวิตดีขึ้น มาช่วยเป็นวิทยากรเพิ่ม ผมกำลัง ประชุมกับพวกเขา ให้คิดว่า
ธ.ก.ส.จะพึ่งชาวอโศก ไปตลอดชีวิตได้อย่างไร เราลองมาคิด พึ่งตนเอง ดูบ้างซิ
จากหลักสูตรที่ชาวอโศกได้สอน และเราเข้าไปเรียนรู้พร้อมชาวบ้าน คุณจะมาเป็น
วิทยากรฝึกอบรม ในกลุ่มของตนเอง ได้บ้างไหม ซึ่งผมได้ทดลองบางหลักสูตรดู
อาจมีบางช่วง ที่เราจะให้พนักงาน ธ.ก.ส. และชาวบ้าน ที่เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมแล้ว
มาเป็นวิทยากร เล่าสู่กันฟัง นั่นคือ เราเริ่มหันกลับพึ่งตนเอง ซึ่งเป็นแนวคิดของผม
ที่พยายาม สร้างขึ้นมา ถ้าถามว่าทำไมต้องรีบ เพราะรัฐบาลให้เวลา ๓ ปี ซึ่งเป็นโอกาสที่ดี
เนื่องจาก ในปี'๔๗ เป็นปีที่ชาวบ้าน ต้องชำระหนี้ และเป็นปีที่จะมีการเลือกตั้งพอดี
อาจมีนักการเมือง ประหลาดๆ ออกมาบอกว่า จะสร้างโน้น สร้างนี่ให้ชาวบ้าน และก็ต้องมีการโจมตี
นโยบาย เก่าๆ ด้วย ซึ่งทำให้เราต้อง ทำงานหนักขึ้น แค่ชี้แจงก็แย่แล้ว เราจึงต้องหัดพึ่งตนเอง
ตั้งแต่ตอนนี้ เสริมงานที่ชาวอโศกช่วยเรา ผมบอกว่า ๓ ปีนี้ อย่าเพิ่งหวังเอาหนี้คืน
๑๐๐% ได้เท่าไร เอาเท่านั้น แต่เป้าที่ผมตั้งไว้คือ เอาหัวใจลูกค้าคืนมา
๑๐๐% หนี้เงินไม่สำคัญ ทำอย่างไรให้เขาคิดสู้ พร้อมสู้ และรู้ว่า ธ.ก.ส.จะช่วยเขา
อยากให้เขาดีขึ้น ทำตรงนี้ได้สำเร็จ ผมก็พอใจแล้ว สำหรับ ๓ ปีแรก
** แผนพัฒนาชุมชน : ทิศทางการพัฒนาก้าวต่อไป
ผมว่าการทำเฉพาะเรื่องฟื้นฟูเท่าที่ทำอยู่ ณ วันนี้ยังไม่พอ เพราะพลังยังไม่แข็งแรงพอ
ต้องใช้เวลา แต่เนื่องจากเรามีเวลาจำกัด ผมจึงพยายาม เชื่อมโยงองค์ประกอบต่างๆ
ขณะนี้ก็ได้ทดลอง ทำล่วงหน้าบ้างแล้ว โดยใช้แผนแม่บทชุมชน ทำให้ชุมชน เข้มแข็งขึ้น
ผมคิดว่า นี่คือทฤษฎีใหม่ ขั้นที่ ๒ ขณะนี้ผมบอก เพื่อนพนักงานว่า การทำเรื่องอบรมฟื้นฟู
กับชาวอโศกนั้น เป็นทฤษฎีใหม่ขั้นที่ ๑ เพื่อให้ชาวบ้านพึ่งตนเอง ลดละเลิกอบายมุข
ปลูกของที่กินเองได้แล้ว ใช้ของที่เหลือในฟาร์ม ให้เป็นประโยชน์ และขั้นต่อไป
เราต้องสามารถ รวมคนเหล่านี้ ให้มาเป็นชมรม เป็นเครือข่าย อย่างน้อย ในระดับตำบลให้ได้
ซึ่งเราได้ไปทดลอง ทำเรื่องประยุกต์ชุมชนที่กระบี่ อำเภอเขาคราม ทดลองมาเกือบ
๒ ปี ปรากฏว่า พอเราเปิด โอกาส ให้ชาวบ้านคิด ให้ชาวบ้านได้รวบรวม ปัญหาของตัวเอง
เอามาทำแผน และมีทางออก เยอะแยะ วิธีคิดง่ายๆ ก็คือ เอาสัจธรรมชีวิตเป็นฐาน
ซึ่งคือทฤษฎีขั้นที่ ๑ และเอาแผน แม่บทชุมชน มาเป็นทฤษฎีใหม่ ขั้นที่ ๒ รวมกัน
ณ วันนี้ ทำอย่างไรให้สัจธรรมชีวิต กับแผน แม่บทชุมชน เชื่อมต่อกันให้ได้
เอาคนในหมู่บ้าน ที่ประสบความสำเร็จ และได้เปลี่ยน แนวคิดใหม่แล้ว มาเป็นแกนนำ
เป็นรูปธรรมตัวอย่าง ที่จะชวนชาวบ้าน ให้เข้ามาทำแผน แม่บทชุมชน เพราะฉะนั้น
ถ้าเอาหมู่บ้านที่ประสบความสำเร็จ ในชีวิตจากการอบรม หลักสูตร สัจธรรมชีวิต
ไปเป็นแกน ก็จะเหมือน แม่เหล็ก ดึงดูดหมู่บ้านใกล้เคียง ให้มารวมกัน ได้ง่ายขึ้น
จะเกิดเป็นพลังสูงขึ้น จนกลายเป็นแผนของตำบลได้
ดังนั้นแนวคิดในการรวมโครงการอบรมสัจธรรมชีวิตกับแผนแม่บทชุมชน
ให้เป็นเนื้อเดียวกัน น่าจะทำให้เกิด โอกาสเร็วขึ้น ในการได้หัวใจชาวบ้าน
กลับคืนมา เพราะไม่เป็นพลังโดดเดี่ยว ไม่ได้ทำแค่หมู่บ้านเดียว แต่จะกลายเป็นพลังของตำบล
ซึ่งผมมองเชื่อมโยงไปถึง ระบบปกครอง ของบ้านเมืองเราด้วย รัฐธรรมนูญกำหนด
ให้มีการกระจายอำนาจ และเรา จะมีปัญหามาก เนื่องจาก อบต. บางแห่งไม่พร้อม
แต่ถ้าเราทำให้ อบต.กับชุมชน เชื่อมเป็น เนื้อเดียวกันได้ ตรงแผนแม่บทชุมชน
โดยชูให้ อบต. เป็นเจ้าของแผน ร่วมกับชุมชน ตัวอย่าง เช่น เขาคราม ชาวบ้านบอกว่า
แต่ก่อนเลือกสมาชิก อบต.ไปแล้ว พวกเขาก็ไม่เคยแวะ เยี่ยมอาคาร อบต. อีกเลย
แต่เดี๋ยวนี้พอให้ อบต.เป็นสถานที่ประชุม ของชาวบ้าน เพื่อทำแผน ชุมชนร่วมกัน
อบต.ก็กลายเป็น จุดเริ่มต้น ที่ทำให้พวกเขา พึ่งตนเองได้ เพราะหลังจาก วางแผนร่วมกันแล้ว
เขาบอกเลยว่า ต่อไปนี้กรมไหน กระทรวงไหน จะเข้ามาในเขต เขาคราม ไม่ใช่อยู่ดีๆ
จะถือเงินงบประมาณเข้ามา แล้วบอกให้ชาวบ้าน ไปทำโน่นทำนี่ แต่ต้อง มาหาเขาก่อน
ถ้าโครงการนั้น ไม่อยู่ในแผน ๓๙ อย่าง ที่เขาได้ร่วมกันวางไว้ ก็ให้ไปทำ
ที่ตำบลอื่น อำเภออื่น แม้แต่ ธ.ก.ส.เอง จะมาปล่อยสินเชื่อเรื่องอื่น ที่ไม่อยู่ในกรอบนี้
ก็ให้ไปปล่อย ที่ตำบลอื่น ผมมองว่าแบบนี้ น่าจะไปได้ดี ถ้าเราสามารถ ทำให้ชาวบ้าน
ในหมู่บ้านแต่ละแห่ง คิดจะละเลิกลด อบายมุข ทำหลักสูตร สัจธรรมชีวิตแบบนี้ได้
และ ก็รวมตัวกัน ในระดับตำบล มาช่วยกันคิด ช่วยกันทำ และไม่แย่งกันทำ ข้อสำคัญ
ในแผนที่ผมพูด เพราะมองเห็นจุดอ่อน ที่หน่วยราชการ ไปส่งเสริมชาวบ้าน แต่ละกรม
ไปส่งเสริม ให้ทำโน่นทำนี่แข่งกัน แล้วก็ไม่มีตลาดรองรับให้ ก็สร้างปัญหาอีก
ณ วันนี้ ที่เขาคราม เวลาคิดทำอะไร เขาไม่คิดทำแข่งกัน เขาจะวางแผนว่า หมู่บ้านไหน
ควรทำอะไร สมมุติเขาคิด ทำโรงสีชุมชนของตำบล หมู่บ้าน ก.ทำโรงสี อีก ๕ หมู่บ้าน
ต้องนำเงินมาลงขัน โดยเขาไม่หวัง พึ่งงบประมาณ และหมู่บ้านที่เหลือ จะต้องมาช่วยกันซื้อข้าว
จากโรงสีนี้ เพราะเป็นโรงสี ของพวกคุณ หรือให้หมู่บ้าน ข. ทำโรงงานผลิตน้ำดื่ม
อีก ๕ หมู่บ้าน ก็ต้องมา ซื้อน้ำดื่ม เป็นต้น ก่อนเกษียน ผมฝันอยากเห็นสิ่งนี้
เกิดขึ้นเยอะๆ อย่าคิดว่า ชาวบ้านอยู่ไม่รอด แล้วคุณ จะอยู่รอด ผมว่าไม่รอดด้วยกัน
** เพื่อนช่วยเพื่อน
: กลยุทธ์หลักในการสร้างเครือข่าย
ผมเอาชาวบ้านมาช่วยกันคิด แนวคิดแรกคือ คัดหาเกษตรกรคนเก่ง คนทำได้ดีมาเชิดชู
ผมบอก คัดมาซิ จาก ธ.ก.ส.ทุกสาขา มีตัวอย่าง เกษตรกรคนไหน ที่ไม่กลัว IMF
บ้าง ทำไมเขาอยู่รอด ขณะที่คนอื่น อยู่ไม่รอด ตัวอย่างแบบนี้อยู่ที่ไหน เอามาให้หมด
ผมจะมาลง ในหนังสือ เกษตรกรคนเก่ง เพื่อเผยแพร่
ให้คนรู้จัก ซึ่งผมได้รวบรวมทำมาขณะนี้ หลายเล่มแล้ว พอคนเริ่มรู้จัก ก็ทำโครงการที่สองต่อ
เราเรียกว่า "โครงการเพื่อนช่วยเพื่อน"
พอเขาดังแล้ว ก็ให้เขาเปิดสอนวิธีดังกล่าว
ผมจะคัดเลือกเขาโดยตั้งให้เป็นเครือข่ายพันธมิตรลูกค้า
ธ.ก.ส. มีคนเชื่อถือ มีคนเชื่อฟัง เป็นอาจารย์สอนบ้างแล้ว ต่อไปเราก็ทำหน้าที่
ให้เขาเป็นแกนนำ ในการบอกกับชาวบ้าน หรือชาวบ้านอยากมีอะไร บอกกับ ธ.ก.ส.
ก็ให้บอกผ่านเครือข่ายเหล่านี้ ผมเชื่อว่า ชาวบ้าน พูดกับชาวบ้าน ได้เข้าใจง่ายกว่า
และก็รู้ว่าเมื่อไรควรพูด ช่วงไหนควรที่จะบอกได้ดีกว่า ขณะนี้ผมก็เสนอเพิ่มเติมไปอีกว่า
จะขอให้เครือข่าย มีอำนาจ มากขึ้น เราจะตั้งให้เขา เป็นที่ปรึกษาธนาคาร ไม่ว่าที่ปรึกษา
ธนาคารส่วนกลาง หรือที่ปรึกษาธนาคารแต่ละสาขา ไม่ใช่แค่เครือข่าย แต่ให้เป็นที่ปรึกษาเลย
และก็คิด ขั้นต่อไปอีกว่า จะให้เครือข่ายเหล่านี้ หรือที่ปรึกษาเหล่านี้
เป็นตัวกลาง สร้างความเข้าใจ กับชาวบ้านต่อไป ผมบอกว่า ทำไม ธ.ก.ส. จะต้องเป็นธนาคาร
ของกระทรวงการคลังไปตลอด อย่างที่ผมเรียนแต่แรก กระทรวงการคลัง ถือหุ้น ธ.ก.ส.อยู่
๒ หมื่นกว่าล้าน ทำไมเราไม่กระจาย ขายหุ้น ให้ชาวบ้าน เพื่อให้เกษตรกร มาเป็นเจ้าของธนาคาร
แทนที่เขาจะเป็น ลูกค้าเงินฝากเรา ก็มาเป็นเครือข่ายของเรา ให้เขามีส่วน
เป็นเจ้าของธนาคาร นี่ก็เป็นแนวคิดขั้นต่อไป ธ.ก.ส.ควรเป็นธนาคาร
ของประชาชน และ ควรบริหารจัดการ โดยที่มีหัวใจ ของชาวบ้านอยู่ด้วย
ถ้าไม่อย่างนั้น ก็แล้วแต่นโยบาย ของรัฐบาล แต่ละยุคเท่านั้น เพราะโดยกฎหมาย
ขณะนี้ รัฐมนตรีคลัง เป็นประธาน ทำอย่างไร จึงจะให้มีการคานกัน ถ้าเรามีรัฐบาลดี
ก็ดีไป แต่หากได้รัฐบาล มีปัญหา เราก็อาจมีปัญหาตามไปด้วย แต่ถ้าประชาชนเข้ามา
เป็นเจ้าของธนาคาร ได้มากเท่าไร ผมว่า พนักงาน ธ.ก.ส. เองก็ปลอดภัย ถ้าคุณทำให้ชาวบ้านรัก
ชาวบ้าน จะช่วยคุณเอง และบังเอิญ รัฐบาลชุดนี้ ก็เห็นความสำคัญของ ธ.ก.ส.มากขึ้น
และ กำลัง จะแก้ไขกฎหมาย เพื่อให้ ธ.ก.ส.เป็นธนาคาร พัฒนาชนบท ผมว่าเป็นเรื่องดี
ในแง่ที่เรา จะมีขอบข่าย การทำงานที่กว้างขึ้น ตอนนี้เราทำได้เฉพาะ ในกลุ่มเป้าหมายก็คือ
เกษตรกร สหกรณ์การเกษตร และกลุ่มเกษตรกรเท่านั้น ซึ่งเราได้แก้กฎหมายไป เมื่อปี
๔๒ ถึงแม้เขา เป็นเกษตรกร ที่หันไปประกอบอาชีพอย่างอื่น ในครอบครัว ก็สามารถให้กู้ได้
แต่ ณ วันนี้ เราจะขยับไปอีกก้าวหนึ่ง โดยขอแก้กฎหมายใหม่ว่า ต่อให้ไม่ใช่เกษตรกร
แต่ถ้าเขา ประกอบอาชีพในชนบท เป็นผู้ประกอบการรายย่อย ก็ต้องให้เขากู้ได้ด้วย
เพราะวันนี้ บางทีลูกหลานเกษตรกร เขาเลิกประกอบอาชีพเกษตร และเขาก็ไม่คิด
จะทำแล้ว แต่เรา ก็ยังสามารถให้เขากู้ได้ ก็จะเป็นการเอื้อทั้งชุมชน
** ธ.ก.ส. กับกองทุนหมู่บ้าน
: ความเชื่อมโยงทุนสำหรับชุมชน
นอกเหนือจากเรื่องธนาคารของประชาชนในชนบทแล้ว กฎหมายใหม่ที่จะขอแก้เพิ่มเติม
ก็คือ ให้เชื่อมกับกองทุนหมู่บ้าน เพราะในความคิดของผม กองทุนหมู่บ้าน ที่รัฐบาลให้ไป
เป็นทุนประเดิม สำหรับผลิตภัณฑ์หมู่บ้าน เป็นโอกาสที่ดี ทำไมเราไม่ทำให้เข้มแข็ง
ซึ่งผมเชื่อว่า เงินกองทุน หมู่บ้านละหนึ่งล้าน ถ้าเขาเข้มแข็งจริง และจำเป็นที่จะต้องใช้จริง
เงินแค่ ๑ ล้านบาทไม่พอหรอก และถึงแม้ว่า จะส่งเสริม ให้เขาออมเงินเข้ามา
การออมเงิน ของชาวบ้าน ต้องใช้เวลา ถ้าเขาจำเป็นต้องขยายงาน ธ.ก.ส.ก็สามารถ
เติมเงินทุน ล้านที่ ๒ ล้านที่ ๓ ได้ แต่ต้องให้เขาเข้มแข็งก่อน อย่าให้เขา
ยึดเงินเป็นหลัก โดยต้องให้พนักงาน ธ.ก.ส.เข้าไปช่วยเหลือ การจัดการ และคัดเลือกกรรมการ
กองทุนหมู่บ้าน ซึ่งเป็นกรรมการ ที่เสียสละ ตั้งใจทำเรื่องเหล่านี้อย่างแท้จริง
หมู่บ้านไหนเข้มแข็งจริง เราก็เข้าไปเพิ่มเงินกู้ ไม่ใช่อยู่ดีๆ ก็เอาเงินไปล่อเขา
แบบนี้ก็จะเป็นการ ช่วยเหลือ หมู่บ้านชนบทที่ ธ.ก.ส.ดูแล ต่อไป ธ.ก.ส. เองก็ไม่ต้องจ้างพนักงานมาก
เราให้เขากู้กันเอง ดูแลกันเองในหมู่บ้าน เป็นการให้ อำนาจแก่หมู่บ้าน โดย
ธ.ก.ส.ไม่ต้องตระเวนพูด กับชาวบ้านมาก ผมเห็นโอกาส เห็นลู่ทาง ที่จะทำให้เกิดได้
เพราะเมื่อแก้ที่คน แก้วิธีคิดได้ อย่างอื่น ก็จะงอกเงยตามมา
** วิสาหกิจชุมชน : แผนพัฒนาที่ยั่งยืน
เรื่องวิสาหกิจชุมชน ที่จะเกิดขึ้นใหม่ ภายใต้แผนแม่บทชุมชนซึ่งมาจากชาวบ้าน
มาจาก แผนพัฒนาที่ยั่งยืน เพราะชาวบ้าน เป็นคนคิด ผมบอก ห้ามพนักงาน ธ.ก.ส.ใจร้อน
เห็นว่า ชาวบ้านคิดช้าเหลือเกิน คิดแทนให้แล้วกัน เช่น เอ้า ลุงอ่านดู ถูกต้องก็เซ็นชื่อ
แผนแบบนี้ไม่เอา เพราะนี่ไม่ใช่แผน ธ.ก.ส. ตอนนี้ เรากำลังอบรมพนักงาน ในเรื่องการทำแผน
วิสาหกิจชุมชน ที่ยั่งยืน และอันดับสุดท้าย ในกฎหมาย ที่จะขอแก้นั้น เนื่องจากผมคบกับ
อบต. โดย อบต. ทั้งประเทศ ประมาณ ๗๐% เป็นลูกค้าฝากเงินกับเรา ตอนนี้มีเงินฝาก
อบต. อยู่ประมาณเกือบ ๓ หมื่น ๕ พันล้านบาท เพราะส่วนมาก สมาชิก อบต. ก็คือ
ลูกค้า ธ.ก.ส. และวันนี้ เมื่อเขาเข้ามา เป็นสมาชิก อบต. เขามาหาผมบ่อย เขาบอกว่า
อบต. เล็กๆ จะทำอะไรทั้งที เงินก็ไม่พอ ธ.ก.ส. จะให้กู้บ้างไหม ผมบอกว่า
กฎหมายยังไม่ให้ งั้นก็แก้ซิ แล้วเขาจะให้ การสนับสนุน ดังนั้นคราวนี้ เราก็จะขอแก้กฎหมาย
เพื่อให้ความช่วยเหลือ อบต.ได้ด้วย หลายคนถามว่า ให้อะไร อบต. ผมบอกให้ปัจจัยพื้นฐาน
เพื่อคุณภาพชีวิต ของชาวบ้าน เช่น ขยะมีปัญหาที่หางดง จะทำอะไรที ต้องรอ
งบประมาณหลวง ถ้าได้ทำโรงงานขจัดขยะเล็กๆ ที่อบต. เป็นเจ้าของ สมมตต้องใช้เงินสัก
๑๐ ล้านบาท เราให้ อบต.ไป ๑๐ ล้าน และส่งเรา ปีละล้าน ก็พอแล้ว หรือไฟฟ้าชุมชน
ประปาชุมชน ทำอะไรที่เป็นของชุมชน ต้องใช้เงินก้อน ๒๐-๓๐ ล้านบาท ก็ให้ผ่อนคืน
๒๐-๓๐ ปี ส่งคืนเราปีละล้าน ซึ่งทำให้ชาวบ้าน ได้พัฒนา เป็นของเขา ณ วันนี้
ผมคิดว่า การให้พึ่งตัวเอง การจะให้กระจายอำนาจ ต้องมาจากข้างล่าง มิฉะนั้น
ถ้าเรายังอยู่ข้างบน ก็ต้องมีข้างบน ไปเกี่ยวข้อง เช่น คุณทำอย่างนั้นให้ผมซิ
ผมจะดึง งบประมาณให้คุณนะ ถ้าคุณไม่มาเป็นพวกเดียวกับผม จะไม่ให้งบคุณ ถ้าเป็นอย่างนี้
การเมืองการปกครอง ก็จะกลับไปเป็นรูปเดิม ผมจะพยายามดันเรื่องนี้ให้ได้ ภายในปีหน้า
โดยระดมเครือข่ายชาวบ้าน ระดมอบต. ลูกค้าเรา มาให้การสนับสนุนกฎหมาย ให้มาจาก
เสียงเรียกข้างล่าง ว่าเป็นประโยชน์แก่เขาจริง กฎหมายต้องออกมา
โดยชาวบ้านมีส่วนร่วม
** อุปสรรคในการทำงาน
ปัญหาเรื่องความเข้าใจ เพราะงานประเภทที่ผมคิดว่า ควรเป็นงานของธนาคารหรือเปล่า
อาจมีบางคน ไม่ว่าจะเป็นคนธนาคาร หรือแม้แต่ คนนอกบางส่วน ก็สงสัยว่า ธ.ก.ส.
กำลังทำอะไร เพราะธนาคาร ไม่น่าจะทำงานแบบนี้ ผมก็พยายาม ให้ความเข้าใจเขาว่า
เป็นเพราะคุณไปคิดว่า เราเป็นธนาคารพาณิชย์ต่างหาก จึงเห็นว่า ไม่ใช่หน้าที่ของ
ธ.ก.ส. แต่เมื่อไรคุณบอก เป็นธนาคารเพื่อพัฒนาชนบท ทุกอย่างที่ผมพูดคือ การพัฒนาชนบท
ก็ต้องสร้างความเข้าใจ ในคนทั่วไป แต่ผมเชื่อว่า เป็นสิ่งถูกต้อง และเป็นสิ่งที่น่าจะต้องทำ
อาจเป็นเพราะ ผมพูดบ่อย ก็เลยมีคนเชิญ ไปพูดบ่อย ผมก็พยายาม ขายความคิดไปเรื่อยๆ
ผมบอกหลายคนว่า เราบอกรักในหลวง และในหลวงก็ได้ทดลองทำโครงการ พัฒนามากมาย
แต่ไม่เห็นเคยช่วย พระองค์ท่านเลย สิ่งที่ ธ.ก.ส. คิดทำนี่ เป็นสิ่งหนึ่ง
ที่อย่างน้อย เป็นโครงการ สนองพระราชดำริ และพยายาม ทำสิ่งเหล่านี้ ให้เป็นรูปธรรม
ที่กระทบถึงชาวบ้าน ในเมื่อเรา เป็นหน่วยงาน ที่มีคนมากมาย
มีเงินตั้งมากมาย เป็นองค์กรใหญ่ขนาดนี้ เราจะไม่ลอง ทำกิจกรรมนี้ เพื่อในหลวงหรือ
ผมเคยบอกลูกค้า บอกพนักงาน มาทอดผ้าป่ามหากุศล ให้ในหลวงดีกว่า ไม่ต้องทอดเงินหรอกนะ
ทอดกำลังความสามารถ และปัญญา เอางาน ที่คุณทำ โดยเอาความคิดชาวบ้าน มาร่วมด้วยนี่แหละ
ผมว่าเป็นกองทุนผ้าป่า ที่มีคุณค่า มหาศาลกว่าเงินทอง การจะช่วยชาติ ไม่ต้องเป็นเงิน
** ชีวิตของผู้บริหารระดับสูง
มักมีเรื่องทำให้เครียด มีวิธีผ่อนคลายอย่างไร
ผมอาจโชคดีที่ ๑. ปัญหาครอบครัวไม่มี เรามีบุตร ๒ คน ภรรยาผมเป็นครู ตอนผมไปเป็น
พนักงานสินเชื่อ ที่ขอนแก่น ก็ไปฮักสาวขอนแก่นที่นั่น ผมโชคดี ที่ภรรยามีความเข้าใจ
ผมไปที่ไหน เขาก็ย้ายตาม เราจะอยู่ด้วยกันตลอด ปัญหาครอบครัวแตกแยก จึงไม่มี
ลูกค่อนข้าง เป็นเด็กดี ลูกชายคนโต จบแพทย์ศิริราช เกียรตินิยม เขาเข้าเรียนแพทย์
ตั้งแต่อายุ ๑๔ ปี ตอนนี้เรียนแพทย์เฉพาะทาง อยู่ที่สงขลานครินทร์ และใช้ทุนด้วย
คิดว่าปีหน้า คงจบ ลูกสาว เพิ่งจบทันตแพทย์ที่จุฬาฯ ตอนนี้เป็นอาจารย์อยู่ที่
คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัย นเรศวร พิษณุโลก ภรรยาผมบ่นมากเลยว่า ลูกชายอยู่หาดใหญ่
ลูกสาวไปอยู่ พิษณุโลก เหลือกันแค่ ๒ คน
เนื่องจากภรรยาผมเป็นครูภาษาไทยที่
ร.ร.ราชวินิตมัธยมใกล้ๆ ที่ทำงานของผม ครอบครัว จึงค่อนข้างมีความสุข เพราะเช้าเย็นไปกลับ
พร้อมกัน ไม่มีใครแยกไปไหน ลูกผม ตอนสมัยเรียน อยู่ชั้นประถม มัธยม ก็ไปกลับด้วยกัน
อาจเป็นตรงนี้ก็ได้ เพื่อนๆ พนักงาน มักถามผมบ่อยๆ ว่า ทำไมท่านรอง มีครอบครัวที่มีความสุข
ลูกดีเลี้ยงลูกอย่างไร ผมว่า อาจเป็นเพราะ เราเปลี่ยนวิกฤติ ให้เป็นโอกาส
เนื่องจาก ไม่มีเด็กคนใช้ เราจึงต้องอยู่ด้วยกัน และทำอะไรเอง เป็นส่วนใหญ่
ความที่อยู่ใน กทม. ลูกก็โตในรถ กินข้าวในรถ แต่ก็เป็นข้อดี ในการที่เขาใกล้ชิดเรา
เขาเรียนหนังสือ มีเรื่องอะไร เขาก็จะมาเล่าให้ฟัง วันนี้ครูสอนอย่างไร ยิ่งในช่วงวัยรุ่น
เพื่อนเขาชวนว่า น่าไปเที่ยวเธค ไปฟังคอนเสิร์ต แต่เพื่อนอีกคนว่า น่าจะเรียน
พิเศษ เราก็สามารถแนะได้ว่า เพื่อนคนนี้คบได้นะ เพื่อนคนนี้คบได้ แต่อย่าสนิทมากนัก
ทำให้ช่วงวัยรุ่นของเด็กทั้งสองคน ไม่มีปัญหา ผมว่าความใกล้ชิด
ระหว่างลูกกับพ่อแม่ ทำให้ลูก กล้าเล่าทุกเรื่อง
ไม่เคยมีความลับ ระหว่างพ่อแม่ลูก มีอะไรก็บอกกันหมด ความใกล้ชิด ความรักในครอบครัว
เป็นเรื่องสำคัญ ผมบอกเพื่อนพนักงานเสมอว่า ถ้าคุณไม่ใกล้ชิดลูก ตั้งแต่ยังเล็กๆ
แล้ว พอย่างเข้าสู่วัยรุ่น เขาจะเปลี่ยน เขาจะคบเพื่อน แล้วคุณรู้หรือเปล่าว่า
เขาคบเพื่อนอย่างไร ลูกเคยเล่าหมดทุกเรื่องไหม หรือ คุณดุจนลูก ไม่กล้าเล่า
เพราะสิ่งเหล่านี้ เป็นเรื่องสำคัญ ผมบอกว่า ผมไม่เครียด เพราะครอบครัว ไม่มีปัญหา
ให้เราปวดหัว เราจึงสามารถทุ่มเทกับงานได้
ส่วนเรื่องงานก็มีปัญหาบ้าง
บางครั้งได้สมใจ บางครั้งไม่ได้ ก็คิดว่าช่างมันเถอะ เราทำดีที่สุด ถ้าไม่ได้
เราจะลองใหม่ไหม ถ้าสิ่งนั้นไม่ดี หรือถ้าเจ้านาย ไม่เห็นด้วย เพราะเรานำเสนอไม่ดีมั้ง
หรือไปพูดเรื่องนี้ ในยามที่เขาอารมณ์ไม่ดี เขาไม่อยากจะฟัง หรือเราหาเหตุผลมา
ไม่ดีพอ หรือเปล่า เราโทษตัวเอง เพราะถ้าโทษคนอื่น เราจะอึดอัดขัดข้อง กับลูกน้อง
ก็ทำนองเดียวกัน ถ้าคิดอย่างนี้แล้ว จะไม่เครียด ตอนแรก ที่ยังทำใจไม่ได้
ผมเครียดมากกับเรื่องคน เพราะผม ต้องดูแล ฝ่ายการพนักงาน มีลูกน้องทั้งผู้หญิงผู้ชาย
เข้ามาร้องห่มร้องไห้ ทุกวันมีแต่ คนมาเล่า ความทุกข์ให้ฟัง เราเอง ก็อยากแก้
ปัญหาให้เขา ช่วงนั้น ฟังปัญหาจนเบลอเลยนะครับ จะแก้ไข ให้เขาได้ยังไง บางครั้ง
ภรรยาผมบอก เอ๊ะ นี่คุณจะขับรถไปไหน เราไม่ได้กลับบ้าน นะนี่ เพราะใจเรา
มัวแต่คิดหาวิธีแก้ปัญหา
ต่อมาผมเริ่มหันมาสนใจอ่านเรื่องศาสนา
ก็รู้ว่าบางเรื่อง ทำอะไรไม่ได้ แต่อย่างน้อย การที่เขา มาระบายให้ฟัง ก็คงได้คลายทุกข์บ้างแล้ว
ทำไมไม่คิดมุมนี้ เพราะบางคน พอร้องไห้เสร็จ ผมถามว่ามีอะไรให้ผมช่วยได้บ้าง
เขาตอบว่าไม่ต้องหรอกค่ะ แค่ท่านรองฟังหนู หนูก็พอใจ ว่าเวลาทุกข์ มีผู้ใหญ่ได้ยิน
ตอนทำเกี่ยวกับเรื่องนี้ ต้องมีกระดาษทิชชูไว้บนโต๊ะเป็นกล่องๆ ตอนหลังก็ทำใจได้ว่า
ไม่ใช่ทุกเรื่อง ที่เราจะไปแก้ได้หมด แต่เราต้องรับฟัง และเตือนเขา ระวังอย่าให้เกิดเรื่อง
ทำนองนี้ขึ้นอีก และให้ความรู้สึกว่า เขายังมีผู้ใหญ่ ที่พึ่งพิงได้ ซึ่งก็ทำให้เขา
มีความรู้สึกที่ดี และเขาก็จะนำไปเล่าต่อ ให้เพื่อนพนักงานที่อยู่ไกล บางคน
ก็ทุกข์มา ในลักษณะที่ว่า เขาไม่ได้อย่างที่หวัง แต่บางทีในการทำงาน เป็นไปไม่ได้นะครับ
ที่ทุกคน อยากได้อะไร ก็จะต้องได้ ถ้าเราสร้างบรรยากาศให้คนเลิก
ที่อยากจะเอาเข้าตัว แต่ให้รู้จักเอาออกจากตัว เมื่อไม่ได้ก็ให้รู้จักอดทนรอคอย
เหมือนปลูกต้นไม้ อยากได้ผลทันที คงไม่ได้ มันฝืนธรรมชาติ บางเรื่องต้องคอย
บางเรื่องต้องรอ และบางเรื่องต้องเข้าใจธรรมชาติ ตอนนี้ผมก็เลยไม่เครียด
ข้อแรก ถ้าตัวเองทำไม่ได้ ก็มาคิดว่า อาจผิดที่เรา ต้องแก้ที่เรา ข้อที่
๒ ต้องมองว่า ถ้าหากเครียดไปแล้ว จะได้อะไร เครียดไปเราก็เบลอ พอตัวเราไม่สบาย
สิ่งที่เรา จะได้ทำดี ก็อาจยิ่งทำไม่ได้เท่าที่ควร พอวางใจได้อย่างนี้ พบว่าเราดีขึ้นเยอะ
ตอนนี้ ผมก็ไม่เครียด และผมชอบอ่านหนังสือเยอะๆ อ่านทุกอย่างทุกเรื่อง ช่วงหลัง
ก็เน้นอ่าน เรื่องธรรมะ เน้นในเรื่อง ของการพัฒนายั่งยืน หนังสือพระราชดำรัส
ของในหลวง เต็มไปหมด เพราะรู้สึกว่า พระองค์ท่านได้ทำอะไร เยอะแยะมากมาย
ทำไมเราไม่ทำ สิ่งที่พระองค์ได้ทำ เป็นแบบอย่าง ผมได้อะไรตรงนั้น มากมาย
ผมคิดว่าหนังสือ เป็นสิ่งที่เสริมความรู้ เพิ่มพูน ปัญญาให้เรา บางอย่าง
เราไม่มีประสบการณ์ บางอย่างเราไม่รู้ แต่เราไม่ต้อง มัวไปลองผิด ลองถูก
เพราะเราเลือกหาคนที่ได้ทำ มาเป็นตัวอย่าง และเอาสิ่งนั้น มาเรียนรู้
** สุขภาพดี องค์กรเด่น
อยู่บ้านก็ออกกำลังกายบ้าง เพื่อให้ตัวเองแข็งแรง ไม่ต้องมาเจ็บไข้ได้ป่วย
และเดี๋ยวนี้ ผมก็มาคิด การทำอย่างนี้มีประโยชน์ ผมก็เลยกำหนด ให้ปีนี้เป็นปีแห่งสุขภาพ
ของพนักงาน และองค์กร มีสโลแกนว่า สุขภาพดีองค์กรเด่น
ปรากฏเมื่อมาทำงานนี้ ผมได้เห็นตัวเลขว่า พนักงาน ธ.ก.ส. ทั่วประเทศ ใช้ค่ารักษาพยาบาลอย่างเดียว
๑๒๐ ล้านบาทในปีที่ผ่านมา ยังไม่เท่ากับสุขภาพของคนหายไปด้วยนะ งานคุณก็ต้องแย่ลงด้วย
เพราะคุณป่วย จริงไหม ทำไมเราไม่หันมาป้องกัน เท่าที่ได้ตรวจสอบลงไปลึกๆ
พบว่าค่าใช้จ่าย ในด้านการรักษาเหล่านี้ มักจะเป็นโรคภูมิแพ้ โรคทางเดินหายใจ
ซึ่งเป็นโรคของ ความอ่อนแอ ถ้าเราเลือกกินอาหาร ที่มีประโยชน์ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
ร่างกายก็จะแข็งแรง ขณะนี้เรากำลังรณรงค์ โครงการ สนับสนุน ให้พนักงานรวมตัวกัน
โดยหลักของผมคือ ไม่บังคับ ตอนนี้ก็มีชมรม เดินวิ่ง เพื่อสุขภาพ คุณแข็งแรงก็วิ่ง
ไม่แข็งแรงก็เดิน และก็มีชมรม ออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ คุณจะแอโรบิค รำมวยจีน
หรือโยคะก็ได้ และเพื่อให้มีกิจกรรมทุกวัน ชมรมนี้ จะทำตอนเย็น ช่วงบ่าย
๓ โมง ถึงบ่าย ๓.๑๕ มีการออกกำลังกาย เรียกว่า ยืดเหยียด เราส่งคนไปเรียน
มาจาก กระทรวงสาธารณสุข ทำทุกวัน ถ้าใครมา ในเวลาบ่าย ๓ โมง จะเห็นพนักงานทั้งตึก
ทำอย่างนี้ แม้ดูจะเป็นเรื่องเล็กๆ แต่ต้องการสร้างความตระหนัก ถึงความสำคัญของสุขภาพ
มีการคุยกัน เรื่องเสริมสร้างสุขภาพ ใครสนใจด้านนวด หรือด้านยาสมุนไพร ที่ไปรับความรู้
มาจาก กระทรวงสาธารณสุข ก็นำมาคุยกัน ทำให้เกิดบรรยากาศ การแลกเปลี่ยนความรู้
และ ความเอื้ออาทร ซึ่งกันและกันเกิดขึ้น
แม้ภาพพจน์ ธ.ก.ส. เป็นภาพของธนาคารที่ให้กู้เงิน
แต่ที่จริงแล้ว ขณะนี้เรามีเงินฝากถึง สองแสนหกหมื่นล้านบาท ตอนทำเรื่องเงินฝาก
เป็นเรื่องที่ผมภาคภูมิใจ ผมพยายามหาวิธีการ ให้ชาวบ้านออม เพราะคนเรามักจะคิดว่า
จนแล้วไม่ต้องฝากเงิน ใครมีเงินฝาก คือคนรวย พนักงานธนาคารเอง ยังคิดอย่างนั้น
ดังนั้นเวลาคุยกับเกษตรกร จึงไม่ค่อยคุยเรื่องเงินฝาก เนื่องจากคิดว่า เขาจนอยู่แล้ว
ไม่ควรถาม เรื่องเงินฝาก ต้องไปหา คนรวยๆ ผมเปลี่ยน ความคิดเขาว่า ยิ่งจนยิ่งต้องออม
เพราะการออม คือหลักประกันของชีวิต คนรวยถึงไม่ออม คนก็เชื่อเครดิตอยู่แล้ว
เวลายามจำเป็น หรือเดือดร้อนใจ หยิบยืมเงินใคร เขาก็รู้คนนี้รวย ให้ยืมไปเดี๋ยวก็ได้คืน
แต่คนจนใครจะให้ยืม เพราะยืมไปแล้ว อาจไม่ได้คืน จะทำยังไง เครดิตไม่มี
ทำอย่างไร ให้คนจนมาออมได้
เพราะถ้าไปถามชาวบ้านเขาก็คงไม่คิดออมเหมือนกัน ตัวอย่าง ลูกค้า ธ.ก.ส. เป็นต้น
เขาบอกมีเงินแค่นี้ ออมไปก็เท่านั้น ถ้าฝากเยอะๆ แล้วได้ดอกเบี้ย ตอบแทน
ถึงน่าจะฝาก
ผมได้ไปพูดคุยกับชาวบ้านว่า
ถ้าอย่างงั้นทำยังไงลุงจึงจะฝากเงิน เขาบอกว่ายังไงก็ไม่ฝาก จะไปแบงก์ที
ก็ต้องนั่งรถไปกลับ ฝากเงินแค่ ๒๐๐-๓๐๐ บาท ค่ารถค่ากิน ก็ไม่คุ้มแล้ว ผมจึงถามต่อว่า
ถ้าเงินที่เหลืออยู่ล่ะ ลุงใช้ทำอะไร เขาบอกว่า ก็ใช้ในบ้านนั่นแหละ บางที
ก็ยังไม่พอใช้ ถามหน่อย ลุงซื้อหวยหรือเปล่า ซื้อทุกงวดแหละ เขาบอก ทำไมซื้อล่ะ
ก็หวังจะรวย ไม่อย่างงั้น จะมีความหวังอะไรในชีวิต ผมก็สรุปให้เห็น แสดงว่า
บ้านลุง ยังพอมีสตางค์ ฉะนั้น แทนที่จะเอาเงินไปซื้อหวย นำมาฝากแบงก์ดีกว่า
ถ้ามาฝากกับ ธ.ก.ส.จะออกเงินฝากแบบใหม่ให้ โดยเราจะจับฉลาก ให้รางวัล เหมือนออกหวย
เออ อย่างนี้ ค่อยเข้าท่าหน่อย ไม่ใช่แค่ได้ดอกเบี้ยเท่านั้น ยังมีโอกาสได้รางวัลด้วย
ผมถามชาวบ้านว่า อยากได้อะไร บางคนอยากได้มอเตอร์ไซค์ บางคนอยากได้จักรยาน
บางคนอยากได้ทีวี บางคนอยากได้พัดลม บางคนอยากได้รถปิคอัพ ถ้าอย่างนั้น ผมเอาหมดเลย
และจัดรายการ เรียกว่า "เงินฝากออมทรัพย์ทวีโชค" โดยชาวบ้านเอาเงินมาฝากออมทรัพย์
และถอนได้ ตามปกติ แต่ทุก ๖ เดือน จะมีการจับฉลาก โดยเอาของ ที่เขาอยากได้นั่นแหละ
มาเป็นรางวัล ผมทำเมื่อ ๕ ปีที่แล้ว ตอนเริ่มทำใหม่ๆ ทุกคนบอกว่า ไปไม่รอดหรอก
จะได้เงินสักกี่ตังค์ แต่วันนี้ สิ่งที่ผมทำมาเมื่อ ๕ ปีก่อน ขณะนี้ทำให้
ธ.ก.ส.มีเงินฝาก จากคนจน ที่ฝากครั้งละ ๕๐-๑๐๐ บาท ซึ่งมีน้อยๆ นี่แหละ แต่ปัจจุบันมีถึง
๖,๖๐๐ ล้านบาทแล้ว ผมมีความภูมิใจมาก เล่าให้ใครๆ ฟังว่าคนจนเขาก็ออมเงินได้นะ
ขณะนี้โครงการก็ยังทำอยู่
ให้เขาจับฉลากกันเอง แรกๆ ส่วนกลางจับให้ ตอนนี้ให้แต่ละจังหวัด จับกันเอง
รางวัลก็ถามชาวบ้านว่า อยากได้อะไร เดี๋ยวนี้บางหมู่บ้าน ได้ปิคอัพ บางหมู่บ้าน
ได้รถตู้ บางหมู่บ้าน ได้เป็นทองคำก็มี โครงการนี้ ทำให้ชาวบ้าน ได้มีเงินออมเก็บไว้ใช้
ยามจำเป็น แทนที่จะเอาเงิน ไปซื้อหวยหมด ซึ่งเป็นการช่วยชาวบ้าน อีกทางหนึ่งของ
ธ.ก.ส.
(เราคิดอะไร
ฉบับที่ ๑๔๘ พฤศจิกายน ๒๕๔๕)
|