เราคิดอะไร.

เรื่องสั้น - พร เมืองใต้ -
ปลาดุกในถุงกรอบแกรบ
ปู่สั่งให้ผมเอารถยนต์กระบะ ขับไปรับพระที่วัด ที่ท่านได้ไปนิมนต์ไว้ จะให้พระมาทำพิธีสวดบังสุกุลกระดูก ของบรรพบุรุษ ญาติๆ และลูกหลานของปู่ที่ตายไปหลายปีแล้ว ซึ่งปู่ได้ทำติดต่อเป็นประเพณีมาทุกๆ ปี และปู่จะจัดถวายสังฆทานอาหารเพลพระขึ้นที่บ้านด้วย

สังฆทาน คือ การกล่าวถวายทานโดยไม่เจาะจงพระเณรรูปใด เป็นพิธีที่ปู่เชื่อว่าทำแล้ว จะได้บุญมากกว่า การถวายแบบธรรมดาๆ เกิดชาติหน้าจะได้ไม่ยากจน ส่วนญาติมิตรที่ตายไปแล้ว ก็จะได้รับบุญกุศล ที่ปู่ทำส่งไปให้ และพระวัดที่ปู่เจาะจงทำบุญด้วยตลอดมา คือ พระ "วัดเนินเขา" อันเป็นวัดที่อยู่ใน เขตเทศบาลอำเภอ ไม่ห่างจากบ้านของเรา

วัดเนินเขาเมื่อหลายปีก่อนตอนผมเด็กๆ เขียวชอุ่มชุ่มชื้นไปด้วยต้นไม้ บนยอดเขามีเจดีย์เก่า สมัยโบราณ และมีบันไดปูน เป็นขั้นๆ ให้เดินขึ้นไปชม ซึ่งคนในสมัยโบราณก่อนปู่ย่าทำไว้ แต่พอตกมาถึงรุ่นลูกหลาน ปีนี้ท่านพระครูร่วมกับคณะกรรมการวัด ได้สร้างปูชนียสถานอันสำคัญที่บนภูเขาของวัดขึ้นอีกอย่าง เพื่อเป็นแหล่งท่องเที่ยว ทำให้วัดมีสิ่งดีมีค่าที่น่าสนใจ เป็นการชักจูงคนเข้าวัด สร้างสิ่งเชิดหน้าชูตา ให้ท้องถิ่น โดยบูรณะเจดีย์ที่
หักพังขึ้นใหม่ รื้อบันไดปูนทำเป็นถนนลาดยางวนรอบเขาแบบงูเลื้อยให้รถแล่นขึ้นไปได้ นอกจากนั้น ยังสร้าง พระพุทธรูปยืน องค์ใหญ่ไว้บนเขา เพิ่มขึ้นจาก ที่เคยมีเจดีย์องค์เดียว

กรรมการวัดอาวุโสคนหนึ่งคุยว่า มีลูกหลานที่เป็นปฏิมากรอยู่จังหวัดทางใต้ ฝีมือในการปั้น และหล่อพร ะเป็นเยี่ยม หากให้แกไปติดต่อมา จะทำให้ได้งานที่ดีมีราคาถูกกว่าไปหาช่างคนอื่น คณะกรรมการวัดทุกคน จึงตกลงเห็นชอบ

ต่อจากนั้นภูเขาที่เคยเขียวชอุ่มเมื่อมองมาจากที่ไกลๆ จึงเห็นเป็นเสมือนงูใหญ่เลื้อยพันขึ้นยอดเขา ผิวหนังของภูเขา ที่ประกอบด้วยต้นไม้ใหญ่น้อย ถูกคมเขี้ยวของยักษ์เหล็กกัดกินขุดถอน รื้อเอาดินหินออก

ทว่า พอเริ่มสร้างนายช่างหรือปฏิมากร ก็เริ่มขอเบิกเงินคราวละแสนสองแสนบ่อยๆ ทั้งๆ ที่ตอนแรก ว่าค่าจ้างราว สองสามแสนบาทก็พอ ซึ่งพ่อท่านพระครูก็ต้องยอมจ่าย เพราะไม่ได้ทำสัญญา เป็นลายลักษณ์อักษร เพียงพูดตกลงกันด้วยปาก และหลวมตัวทำลงไปแล้วจะค้างไว้ก็ใช่ที่ นี่ยังไม่รวมราคา ค่าทำถนนลาดยาง ที่มีบริษัทมารับเหมา ทำขึ้นภูเขาไปที่องค์พระ หลวงพ่อและคณะกรรมการวัด จึงต้องใช้ ความสามารถ โดยการชักชวนคนมาทอดผ้าป่า จัดงานแจกซองฎีกา เรี่ยไรศรัทธาจากชาวบ้าน ในอำเภอ ต่างอำเภอและต่างจังหวัด ใครที่เคยเป็นลูกศิษย์ลูกหาของหลวงพ่อ ลูกๆ หลานๆ ของชาวบ้าน ที่ไปทำมา หากิน ไปเป็นใหญ่เป็นโตอยู่ตามเมืองไกล ตามจังหวัดใหญ่ๆ อยู่ในกรุงเทพฯ ทำให้การก่อสร้าง ดำเนินไป ไม่หยุดชะงัก

หลังจากพระองค์ใหญ่สูง ๒๐ เมตรเห็นเป็นรูปร่างขึ้น ข่าวความศักดิ์สิทธิ์ ของพระยืนองค์ใหญ่ ก็เริ่มปรากฏ ให้ได้นำไปเล่าขาน...

ต้นข่าวมาจากปฏิมากรผู้มารับจ้างหล่อพระ เขาเล่าว่า คืนหนึ่งขณะที่เขากำลังนั่งอยู่ในเพิงพัก บนยอดเขา ได้มีดาวตก เป็นดวงไฟสว่างจ้า จากฟ้าพุ่งลงมาที่องค์พระ แล้วหายเข้าไป ตรงพระอุระของพระ เขามั่นใจว่าเป็น "พระอัฏฐิธาตุ" ที่เทวดาส่งลงมาบรรจุ ในองค์พระ เพื่อให้พระมีความขลัง และศักดิ์สิทธิ์ ผู้เชื่อคำเล่า จึงต่างพากันมากราบไหว้บูชาพระ ที่กำลังสร้าง มีคนมองเห็นตัวเลข ที่องค์พระ นำไปแทงหวย และมีคนถูก ความศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ จึงเกิดขึ้นเรื่อยๆ ตั้งแต่พระยังสร้างไม่เสร็จ...

หลังจากสร้างพระเสร็จและวัดต้องจ่ายเป็นล้าน ปฏิมากรนักสร้างปาฏิหาริย์ กำลังจะรับเงิน ค่าก่อสร้าง งวดสุดท้าย เหตุการณ์อันเป็นสุดยอดปาฏิหาริย์ก็เกิดขึ้นอีก

ทว่า คราวนี้เขาไม่มีโอกาสนำไปเล่าใคร...
เขารู้แต่ว่า วันนั้นเขาขับรถกระบะ ลงมาจากยอดเขา ตามแนวถนนดิน ที่รถตีนตะขาบมากรุยทางไว้ รถกระบะของเขา เกิดเครื่องยนต์ดับ โดยไม่รู้สาเหตุ เขาจึงหยุดรถ แล้วเดินไปเปิด ฝากระโปรงดูเครื่อง ขณะที่กำลังก้มๆ เงยๆ อยู่ใต้ฝากระโปรงรถ รถก็ค่อยๆ เลื่อนไหล...

หลายคนเชื่อว่าเพราะปาฏิหาริย์ ที่ทำให้รถของปฏิมากรไม่ตกจากเขา เมื่อล้อหน้าของรถ ไปเกยหิน หยุดอยู่กับที่ ทำให้คนที่ขึ้นไปพบ สามารถนำปฏิมากร และรถกระบะคันนั้นกลับลงมา และยังนำรถ เอาไปใช้ต่อได้อีก

งานศพของปฏิมากร จึงเป็นงานเฉลิมฉลองความสำเร็จของการสร้างพระไปพร้อมกัน เพราะตั้งศพไว้ ๑๐ วัน รอญาติๆ ของปฏิมากร จากเมืองไกล...

งานศพทางบ้านเมืองผ่อนผันให้เล่นการพนันต่างๆ ได้ ถือกันมาเป็นธรรมเนียมว่า เพื่อมิให้งานศพ เงียบเหงา อนุโลม ให้เล่นการพนัน โดยไม่มีการจับกุม มีขาพนันจากใกล้และไกล มาเปิดบ่อนเล่นการพนัน ตลอด ๑๐ วัน ๑๐ คืน

ทำให้มีเงินไหลสะพัด...

ตั้งแต่สร้างพระใหญ่และสร้างถนนขึ้นเขาเรียบร้อยแล้ว ทุกๆ อย่างในวัดก็เจริญขึ้น ทันตาเห็น พ่อท่านพระครู เคยอยู่กุฏิไม้เก่าๆ มาตอนนี้อยู่ตึก ๒ ชั้นหลังคาทรงไทยจตุรมุข มุงกระเบื้องสีแดง พื้นชั้นบน เป็นไม้สีโอ๊ก ขัดมัน พื้นชั้นล่าง เป็นหินขัดมันแวววับ รอบตึกมีลานหญ้าเขียว มีต้นไม้ผลและไม้ประดับ ปลูกตกแต่งไว้ร่มรื่น

ส่วนพระเณรที่เคยอาศัยตามศาลาบ้าง หอฉันบ้าง หรือกุฏิเรือนไม้โทรมๆ ก็กลายมาเป็นกุฏิ หลังน้อยๆ ทันสมัย นับได้ ๓๐ หลัง หลังคามุงกระเบื้องซีแพค ผนังกั้นอิฐฉาบปูน ตั้งชื่อว่าเป็นกุฏิ สำหรับพระเณรปฏิบัติธรรม และ นั่งกรรมฐาน...

ส่วนใครได้ยินเสียงเพลงจากทีวี หรือได้ยินเสียงเพลงลูกทุ่งและสตริงจากเทป ถือว่าท่านกำลัง
เปลี่ยนบรรยากาศ เพื่อผ่อนคลายเครียด...

แต่คำที่โฆษณาประกาศผ่านหูโยมๆ อยู่เสมอ คือ วัดเนินเขาส่งเสริมการศึกษาพุทธศาสนา และ เป็นสำนัก ปฏิบัติธรรมกรรมฐาน

ตึกเรือนไทยหลังใหญ่ยาวใต้ถุนสูงข้างล่างโล่ง ด้านตะวันออกราคาเป็นล้านนั่น สร้างไว้สำหรับ พระเณร เรียนพระปริยัติธรรม แต่ที่เงียบเหงา และประตูหน้าต่าง ปิดอยู่เป็นนิตย์ เพราะยังไม่มีทั้งครูพระ และเณร ที่จะมาสอนมาเรียนนักธรรม

ตึกใหญ่สองชั้นรูปทรงทันสมัยหลังถัดมา ประตูหน้าต่างเป็นบานกระจกกรองแสงสีมืดๆ นั่นเป็นตึก สอนพิมพ์ดีด และสอนคอมพิวเตอร์ มีพระเณรที่เชี่ยวชาญ ด้านสอนพิมพ์ดีด และคอมพิวเตอร์ หลายรูป ตึกหลังนี้ แต่ละวัน มีพระเณร และเด็กรุ่นหนุ่มสาว เดินเข้าเดินออก อยู่ตลอดวัน ไม่เคยเงียบเหงา

หลังถัดมาที่เป็นศาลาชั้นเดียวยาวใหญ่ หันความยาวไปสู่ทิศตะวันตก และตะวันออกนั่น ห้องใหญ่ ด้านตะวันตก กั้นไว้เป็นที่สำหรับ ประกอบอาหาร เก็บถ้วยเก็บจาน เก็บเครื่องครัว และของใช้ต่างๆ ส่วนซีก ด้านตะวันออก ปล่อยเป็นศาลาโล่ง ด้านหน้าก่อเป็นผนัง ขึ้นมาหนึ่งในสาม ด้านหลัง ก่อผนังทึบ ขึ้นมาครึ่ง แล้วก่อด้วยอิฐโปร่ง (ชนิดกันฝนสาด) เป็นช่องระบายอากาศ จรดเพดาน ด้านในชิดฝา ทำยกพื้น สูงขึ้นมา ประมาณศอก สำหรับพระเณรนั่งฉันอาหาร หรือนั่งสวด เมื่อมีงานพิธีต่างๆ เช่น ทอดผ้าป่า กฐิน หรือ งานบุญใดๆ ก็ใช้ศาลายาวใหญ่หลังนี้ เป็นที่ประกอบพิธี

ตึก ๒ ชั้นยาวใหญ่ อยู่ติดถนนลาดยางหน้าวัดด้านตะวันตกนั่น ใต้ถุนเทพื้นคอนกรีต เป็นที่จอดรถยนต์ ได้กว่า ๒๐ คัน ตึกหลังนี้เป็นเรือนรับรอง หรือห้องพักสำหรับพระเณร อาคันตุกะ หรือนักท่องเที่ยว ที่จะมาพัก มีห้องกว่า ๑๐ ห้อง

ศาลาหลังใหญ่บนเนินด้านทิศเหนือติดตีนเขานั่น สำหรับจัดงานฌาปนกิจศพ เป็นที่ตั้งศพสวดก่อนเผา ในศาลา จุคนได้นับร้อย ด้านในติดผนังยกพื้นสูงขึ้นมาแค่อก สำหรับพระนั่ง ใต้ยกพื้นใช้เป็นที่เก็บเก้าอี้ เก็บเปลือกโลงศพที่ใช้แล้ว และเก็บเสื่อ อุปกรณ์ต่างๆ เกี่ยวกับศพ ใครต้องการจะเอาไปใช้อีก ก็ไปติดต่อ ขอเช่าจากแม่ชี ผู้ดูแลได้

ถัดจากศาลาไปประมาณ ๒๐ เมตร คือเมรุหรือเตาเผาศพเพิ่งสร้างใหม่ ใช้ได้ไม่ถึง ๒ ปี มีปล่องไฟสูง ยอดปล่อง เป็นหลังคาแหลม สวยงามมีศิลปะ

หลังจากมีพระยืนสูงใหญ่ มีเจดีย์สวยงามบูรณะใหม่อยู่บนเขา วัดเนินเขาก็กลายเป็นปูชนียสถานสำคัญ เป็นสถานที่ท่องเที่ยว อันมีชื่อของอำเภอ ที่ทุกคนผู้เกี่ยวข้องต้องตระหนัก ในการช่วยกันประโคม และเล่าเรื่อง ปาฏิหาริย์ ระบายสีสัน สู่ผู้ไม่เคยฟังได้ฟัง เพื่อให้เป็นวัดที่เชิดหน้าชูตา ของอำเภอ ผู้เป็นใหญ่ในอำเภอ จึงถึงกับนำชื่อของวัด เข้าไปบรรจุอยู่ในท่อนท้าย ของคำขวัญประจำอำเภอ....

และปัจจุบัน...วัดเนินเขาแทบจะไม่ว่างจากงานศพของคนรวยๆ และคนใหญ่ๆ โตๆ พวกข้าราชการ หรือ ผู้ดีมีเกียรติ ที่จะต้องมาจัดพิธีกัน อย่างเอิกเกริกที่นี่ เพราะเป็นวัดวัดเดียว ที่เหมาะอย่างยิ่ง กับงาน พระราชทานเพลิงศพ..

ผมไปรับพระ เวลา ๙ โมงตามที่ปู่สั่งไว้ พระทุกรูปที่นิมนต์กำลังเดินมารอที่รถผม แต่ท่านพระครู ยังไม่มา พระลูกวัด บอกให้ผมเดินไปดูเผื่อว่า ท่านจะลืม ผมจึงเดินขึ้นไปดูในกุฏิตึก สวยงามทันสมัย ห้องแรก ที่ผมเข้าไป เป็นห้องโถง ผมยืนมองซ้ายขวาอยู่บนพื้นหินขัด เป็นมันแวววับ มีชุดรับแขก หรูหรา ตั้งอยู่กลางห้อง มีตู้กระจกหนังสือ และพระไตรปิฎกวางชิดฝา มีรูปภาพพระสงฆ์ และบุคคลสำคัญต่างๆ ประดับอยู่ที่ ฝาผนัง มีพระพุทธรูปจัดวางบนโต๊ะหมู่บูชา สิ่งของเครื่องใช้หลายชิ้น เป็นเครื่องไฟฟ้า ดูมีค่า และสวยงาม อลังการ ผมยังไม่เห็นท่านพระครู ทว่าประตูห้องห้องหนึ่งเปิดอยู่

พอดีเด็กชายอายุประมาณ ๑๑-๑๒ ขวบคนหนึ่งเดินขึ้นมาทีหลังผม และตะโกนเรียกหา พ่อท่านพระครู อย่างคุ้นเคย .....

"พ่อท่านครับ ! พ่อท่านครับ ! พ่อท่านครับ ! "

เด็กคนนั้นเรียกซ้ำๆ อยู่หลายครั้งเพราะยังไม่ได้ยินเสียงท่านขาน

"อะไรของเอ็งวะไอ้หมึก เรียกเสียงดังเชียว !"

พ่อท่านพระครูส่งเสียงเอ็ดก่อนจะโผล่ออกมาจากห้องห้องหนึ่ง ท่านอยู่ในห้องข้างๆ นั่นเอง ผมเห็นท่าน กำลังห่มจีวร และเดินออกมา

เด็กชายยกถุงกรอบแกรบขึ้นมา ในระดับสายตา.....

สายตาของผมกับท่านพระครู มองไปที่มือเด็กพร้อมๆ กัน !!

"แม่บอกว่า พ่อท่านอยากฉันแกงปลาดุก แม่ให้ผมนำปลาดุกที่พ่อท่านสั่งมาให้...."เด็กชาย
ลูกแม่ค้าปลา ในตลาดสด พูดโดยไร้มารยา

"เออ ! แล้วเอ็งเอามาทำไมที่นี่.... พาไปให้แม่ชีที่โรงครัวโน่นไป !"

พ่อท่านพระครูตวาดเสียงดังและทำท่าอายๆ ผม

หลังเสร็จพิธีสวด ปู่เรียกลูกๆ หลานๆ ทุกคนไปช่วยกันประเคนและถวายอาหารพระ ผมมองอาหาร ที่กำลังประเคน นึกถึงแกงปลาดุก แต่ไม่มีใครแกง ผมเห็นใจพ่อท่านพระครู และนึกเสียดาย......

ปลาดุกแกงเผ็ดในน้ำกะทิข้นๆ ใส่รากกระชายหั่นเป็นเส้นฝอยๆ ใส่ลงไปมากๆ แทนผัก ใส่ใบรา ใบแมงลัก ใบมะกรูด รากผักชี ฯลฯ รสเผ็ดซ่าร้อนลิ้น แต่สุดแสนจะอร่อยปาก แค่นึกผมยังน้ำลายสอ...

ผมแกงปลาดุกทีไรแล้ว เจริญอาหารทานข้าวหมดหม้อไม่รู้ตัวทุกครั้ง

ตอนพ่อท่านพระครูให้ยถาสัพพี ปู่บอกให้ลูกหลานทุกคนกรวดน้ำ อุทิศส่วนกุศลให้ญาติๆ ที่ตายไปแล้ว ปู่จับแก้วน้ำ เทลงในจานที่รองรับ ลูกๆ หลานๆ พากันจับเสื้อผ้า นั่งยึดต่อกันเป็นแถว ปู่กล่าวคำกรวดน้ำ อิมินา ปุญญะกัมเมนะ อุปปัชฌายา...

ให้ทุกคนกล่าวตาม หรือนึกเอาก็ได้ว่า จะอุทิศส่วนกุศลให้ใคร ซึ่งผมถนัดอย่างหลัง...

ผมนึกเห็นภาพปลาดุกตัวเขื่องดิ้นกระแด่วๆ อยู่ในถุงกรอบแกรบ ตอนเด็กชายหิ้วขึ้นมาบนกุฏิ ของพ่อท่านพระครู และชูขึ้นให้ท่านดู ป่านนี้แม่ชีคงแกงพวกมันเรียบร้อยแล้ว...

พ่อท่านกลับไป จะไปฉันมื้อไหนผมไม่อยากคิด แต่...

ผมกรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลให้ปลาดุก ๕-๖ ตัวนั้น !!
(ตีพิมพ์ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ ๙ กรกฎาคม ๒๕๔๔)

(เราคิดอะไร ฉบับที่ ๑๔๘ พฤศจิกายน ๒๕๔๕)