เราคิดอะไร.

อดีตชาติของพระพุทธเจ้า -
ธรรมะของเทวดา (เทวธรรมชาดก)


คนใจสูงเรียกว่าเทวดา
มีธรรมาอาวุธอยู่ในจิต
ละอายบาปไม่ทำแม้ความคิด
เกรงกลัวผิดติดบาปไม่อาจทำ

กุฎุมพี (คนร่ำรวย) ชาวนครสาวัตถีคนหนึ่ง เมื่อภรรยาของเขาได้ตายจากไปแล้ว ก็คิดปรารถนา ออกบวช แสวงหาความสงบในชีวิต แต่ก็ยังติดหลงในความสุขสบายอยู่ จึงให้บริวาร เก็บสะสม ข้าวของเครื่องใช้ เอาไว้ให้ตน แล้วค่อยออกบวช ในพระพุทธศาสนา

ครั้นได้บวชเป็นภิกษุแล้ว ก็มักใช้ทาสของตนหุงต้มอาหารให้ตามชอบใจ แล้วแอบฉัน ในเวลา ค่ำคืนบ้าง แม้จีวรผ้านุ่งห่มก็มีเก็บไว้ในหลายที่หลายแห่ง จึงได้เป็นภิกษุ ผู้มีบริขาร (เครื่องใช้สอยของนักบวช) มาก

วันหนึ่ง เมื่อภิกษุรูปนั้นกำลังนำจีวรและเครื่องปูลาดมากมาย ออกมาผึ่งแดด ที่ท้ายวิหาร ขณะนั้นเอง... มีพวกภิกษุชาวชนบท จาริกผ่านมาถึงบริเวณนั้น ได้เห็นจีวร และเครื่องปูลาด เหล่านั้นแล้ว จึงถามว่า

"จีวรกับผ้าปูลาดเหล่านี้ของใครกัน"

"ของผมเองครับ ท่านผู้มีอายุ"

"อ้าว! จีวร ผ้านุ่งเครื่องลาดทั้งหมดนี้ เป็นของท่านเพียงผู้เดียวเท่านั้นหรือ"

"ครับ เป็นของผมทั้งหมด"

ภิกษุชาวชนบทเหล่านั้นจึงพากันกล่าวว่า
"ท่านผู้มีอายุ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงอนุญาตไตรจีวร (ผ้าสามผืน คือ ๑. สังฆาฏิ = ผ้าทาบ ๒. อุตราสงค์ = ผ้าจีวร ๓. อันตรวาสก = ผ้าสบง) มิใช่หรือ ท่านบวชอยู่ในศาสนา ของพระพุทธเจ้า ผู้มักน้อยอย่างนี้ ยังจะเป็นผู้มีบริขารมาก อีกเชียวหรือ มาเถิดท่าน พวกเรา จะนำท่าน ไปพบพระศาสดา

แล้วก็พากัน นำเอาภิกษุรูปนั้น ไปเข้าเฝ้า เมื่ออยู่ต่อหน้า พระพักตร์ ของพระศาสดา ภิกษุชาวชนบททั้งหลายกราบทูลว่า

"ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภิกษุรูปนี้มีการสะสมบริขารไว้มาก พระเจ้าข้า"

พระศาสดาจึงตรัสถามขึ้นว่า
"ดูก่อนภิกษุ เธอสะสมบริขารเอาไว้มากจริงหรือ"

"จริงพระเจ้าข้า"

"ก็แล้วเพราะเหตุไรเล่า เธอจึงเป็นผู้มีบริขารมาก ทั้งที่เราได้กล่าวคุณของความเป็น ผู้มักน้อย สันโดษ อยู่สงัด ปรารภความเพียร มิใช่หรือ"

ภิกษุรูปนั้นได้ฟังคำของพระศาสดาแล้วก็ไม่พอใจ คิดโกรธอยู่ในใจว่า

"เอาล่ะ เมื่อตำหนิเราอย่างนี้ เราก็จะไปที่อื่นเสีย"

จึงทิ้งผ้าสังฆาฏิลงกับพื้น เหลือแต่จีวรผืนเดียว ลุกขึ้นยืนในที่ท่ามกลางสงฆ์ทันที ขณะนั้น... พระศาสดา ทรงรู้วาระจิตไม่ชอบใจของภิกษุนั้น จึงตรัสช่วยเหลือเตือนสติขึ้นว่า

"ดูก่อนภิกษุ แม้ในกาลก่อนเมื่อเธอเป็นผีเสื้อน้ำผู้แสวงหาหิริ (ความละอายต่อการทำบาป) และ โอตตัปปะ (ความเกรงกลัวต่อการทำบาป) เธอแสวงหาอยู่ถึง ๑๒ ปีจึงพบ บัดนี้เธอมาบวช ในธรรมวินัย อันเป็นที่เคารพอย่างนี้ ไฉนจะละทิ้ง ผ้าสังฆาฏิเสีย ในท่ามกลางสงฆ์ ละทิ้ง หิริโอตตัปปะ ลุกขึ้นยืนเช่นนี้เล่า"

พระดำรัสของพระศาสดาทำให้ภิกษุนั้นได้สติ เกิดหิริโอตตัปปะกลับ ตั้งขึ้นได้ใหม่ จึงถวายบังคม พระศาสดา แล้วนั่งลงตามเดิม ส่วนภิกษุอื่นๆ ทูลอ้อนวอน พระศาสดา ให้ทรงเล่าเรื่องนั้น พระองค์จึงตรัสให้ฟังว่า...


ในอดีตกาล มีพระราชาพระองค์หนึ่ง พระนามว่า พรหมทัต ครองราชย์อยู่นครพาราณสี ในแคว้นกาสี

เมื่อพระอัครมเหสีประสูติพระโอรส พระญาติทั้งหลายได้ตั้งพระนามว่า มหิสสาสกุมาร ครั้นเติบโตเจริญวัย จนทรงวิ่งเล่นได้ พระโอรสองค์ที่สอง ก็ประสูติตามมา มีพระนามว่า จันทกุมาร แต่เมื่อพระจันทกุมารโตขึ้น ถึงวัยวิ่งเล่นได้แล้ว พระมารดาก็สวรรคต พระเจ้าพรหมทัต จึงทรงแต่งตั้งพระสนมอื่น เป็นอัครมเหสีแทน

พระอัครมเหสีองค์ใหม่เป็นที่รักที่โปรดปรานของพระราชามาก กระทั่งต่อพระอัครมเหสี ทรงประสูติพระโอรส มีพระนามว่า สุริยกุมาร สร้างความมีพระทัยยินดี แก่พระราชายิ่งนัก ถึงกับตรัสว่า

"นางผู้เจริญ เราให้พรแก่บุตรของเธอเอาไว้ ว่าจะขอสิ่งใดก็ได้ เราจะให้ตามนั้น"

พระเทวีทรงเก็บพรนั้นเอาไว้ หมายจะใช้ในเวลาที่ต้องการ กาลเวลายาวนานผ่านไป... พระนางทรงรอ จนพระโอรสเติบใหญ่แล้ว จึงกราบทูลพระราชา

"ข้าแต่สมมุติเทพ คราวที่พระโอรสของหม่อมฉันประสูติ พระองค์ทรงประทานพรไว้ บัดนี้ขอพระองค์ จงประทานราชสมบัติ แก่โอรสของหม่อมฉันเถิด"

พระราชาถึงกับตกพระทัย ด้วยความคาดไม่ถึง ทรงห้ามว่า
"พระโอรสอีกสองพระองค์ของเรา ยังสว่างไสวรุ่งเรืองอยู่ดังแสงเพลิง เราจะมอบ ราชสมบัติ แก่โอรสของเธอได้อย่างไรกัน"

แต่พระนางทรงไม่ยอม เฝ้ารบเร้าอ้อนวอนอยู่บ่อยๆ ทำให้พระราชาทรงดำริว่า

"พระนางอาจคิดร้ายเกิดขึ้น กระทำชั่วหยาบแก่โอรสทั้งสองของเราก็เป็นได้"

จึงรีบสั่งเรียกเฉพาะพระโอรสทั้งสองมา แล้วตรัสว่า
"ลูกรักทั้งสอง คราวที่น้องสุริยะของพวกเจ้าประสูติ พ่อได้ให้พรแก่พระเทวีไว้ บัดนี้พระเทวี ทูลขอราชสมบัติ แก่น้องของพวกเจ้า แม้พ่อไม่ประสงค์จะยกให้ แต่ธรรมดาของหญิง ผู้ริษยานั้น อาจคิดหยาบช้าแก่พวกเจ้าได้ ฉะนั้น เจ้าทั้งสองจงหลบ ออกจากพระนคร แล้วเข้าไปอาศัย ในป่าก่อน ต่อเมื่อพ่อสวรรคตไปแล้ว เจ้าค่อยกลับมา ครองราชสมบัติเถิด"

ตรัสแล้วก็ทรงกันแสง คร่ำครวญ โอบกอดพระโอรสทั้งสองไว้ แล้วทรงส่งตัวท ั้งสองออกไป

ขณะนั้นเอง...สุริยกุมารประทับอยู่ที่ลานหลวงได้เห็นเหตุการณ์เข้าพอดี เมื่อพระโอรส ผู้พี่ทั้งสอง ถวายบังคมพระราชบิดา แล้วลงไปจากปราสาท จึงคิดว่า
"แม้เราก็จะไปกับเจ้าพี่ ทั้งสองด้วย เพราะเราไม่ปรารถนาจะครองราชสมบัติ"

ดังนั้น ได้ขอติดตามไปด้วย พระโอรสทั้งสาม จึงพากันเสด็จเข้าไป สู่ป่าหิมพานต์ กระทั่ง ถึงที่พัก ใกล้ริมสระน้ำแห่งหนึ่ง มหิสสาสกุมาร แวะประทับนั่ง ที่โคนไม้ เรียกสุริยกุมาร เข้ามากล่าวว่า

"น้องสุริยะ เจ้าจงไปที่สระน้ำนั้น เมื่อดื่มน้ำแล้วจงเอาใบบัวห่อน้ำมาให้เราทั้งสองด้วย"

ก็สระน้ำนั้นเอง... เป็นสระที่มียักษ์ผีเสื้อน้ำตนหนึ่งอาศัยอยู่ยักษ์นี้ ได้พรจากท้าวเวสวัณ
(จอมยักษ์ที่ปกครอง ทางทิศเหนือ)
ประทานให้ว่า
"เจ้าจะจับมนุษย์กินได้ทุกคน ที่ลงสระน้ำนี้ ยกเว้นคนที่รู้เทวธรรม (ธรรมะของเทวดา) เจ้าห้ามกิน เด็ดขาด"
ตั้งแต่ได้พรมา ๑๒ ปีแล้วที่ยักษ์ผีเสื้อน้ำตนนี้ถามเทวธรรม กับคนที่ลงสระ และกินคน ที่ไม่รู้จัก เทวธรรมทุกคน

ครั้นสุริยกุมารไปถึงสระน้ำนั้น ไม่ได้พิจารณาอะไรนัก พอเห็นน้ำใสสะอาด ก็อยากลงน้ำเล่น ให้เย็นสบาย จึงก้าวลงไปในสระ... ทันทีทันใดนั้น ยักษ์ก็ตรงเข้าจับสุริยกุมารเอาไว้ แล้วถามว่า
"เจ้ารู้จักเทวธรรมหรือไม่"

สุริยกุมารก็ตกใจกลัว แต่พอได้สติก็ตอบว่า
"รู้สิ! พระจันทร์และพระอาทิตย์ชื่อว่า เทวธรรม"

ยักษ์นึกขำชอบใจพร้อมกับหัวเราะ
"ฮ่า...ฮ่า...เจ้าไม่รู้จักเทวธรรมเลย"

แล้วจับตัวสุริยกุมาร ดำน้ำลงไป ขังไว้ในที่อยู่ของตน ฝ่ายมหิสสาสกุมาร ไม่เห็นน้อง กลับมา สักที จึงส่งจันทกุมารไปอีกคน แต่ก็โดนยักษ์จับตัวไว้อีก ถูกถามว่า

"เจ้ารู้จักเทวธรรมไหม"

"ทำไมจะไม่รู้ล่ะ ทิศทั้ง ๔ นั่นแหละ คือเทวธรรม"

"ฮ่า...ฮ่า...ลาภปากของเราจริงหนอวันนี้ เจ้าไม่รู้จักเทวธรรมสักหน่อย"
แล้วก็เอาตัว จันทกุมาร ไปขังไว้อีกคน

เมื่อมหิสสาสกุมารเห็นว่าน้องทั้งสองหายไปนาน จึงฉุกใจคิดขึ้นมา
"อันตรายอาจเกิดขึ้นแก่น้องของเรา"

จึงเสด็จไปที่สระน้ำนั้น แล้วพิจารณาตรวจตราดูสถานที่ เห็นมีแต่รอยเท้าลงน้ำ ของพระอนุชา ทั้งสอง แต่ไม่มีรอยเท้าขึ้นจากน้ำเลย จึงดำริว่า
"สระนี้คงเป็นสระที่มีอันตรายแฝงเร้นอยู่เป็นแน่"

ทรงชักพระขรรค์ออกมาทันที พร้อมกับอีกมือ ถือธนูยืนสังเกตอยู่ ฝ่ายผีเสื้อน้ำ แอบดูอยู่ เห็นพระกุมาร ไม่ยอมลงในน้ำ จึงแปลงตัวเป็นชาวบ้านป่า เดินลัดเลาะมาตามริมสระ แล้วทำที ทักทายพระกุมารว่า

"ท่านผู้เจริญ ท่านคงเดินทางมาเหน็ดเหนื่อย กว่าจะถึงที่นี้ ก็แล้วเหตุใดเล่า จึงไม่ลงสระน้ำ ใสสะอาด ทั้งอาบทั้งดื่ม ทั้งกินเหง้าบัว ให้เป็นที่สุขสำราญใจ"

แต่มหิสสาสกุมารทรงไม่ไว้วางใจ ในชาวบ้านป่านี้ จึงเอ่ยออกไปว่า
"ท่านจับตัวน้องชายของเราไปใช่หรือไม่"

ยักษ์เห็นว่าคงหลอกลวง ไม่สำเร็จแน่ จึงตอบรับตามจริงว่า
"ข้าเป็นยักษ์ ข้าจับไปเอง"

"ก็แล้วเพราะสาเหตุใดกัน"

"เราย่อมมีสิทธิ์จับมนุษย์ทุกคน ที่ลงสู่สระน้ำนี้เอาไว้กิน"

พระกุมารทรงหาทางแก้ไขเหตุการณ์ รีบตรัสถามว่า
"โดยไม่มีข้อแม้ใดๆ เลยหรือ"

ยักษ์หัวร่อภาคภูมิใจ แล้วบอกข้อแม้ออกไป
"ยกเว้นคนที่รู้จักเทวธรรมเท่านั้น"

พระกุมารรู้สึกดีพระทัยขึ้นมาทันที ตรัสถามอีกว่า
"ท่านมีความต้องการเทวธรรมหรือ"

"ใช่แล้ว เรามีความต้องการ"

"เมื่อเป็นอย่างนั้น เราจะบอกเทวธรรมแก่ท่าน"

"เจ้าจงบอกมาได้เลย เราจะฟังเทวธรรมของเจ้า"

แล้วพระกุมารก็ทำท่าชะงักเอาไว้ กล่าวว่า
"แต่ตอนนี้เรามีเนื้อตัวสกปรกอยู่"

ยักษ์จึงยอมให้พระกุมารลงไปอาบน้ำในสระ ให้ดื่มน้ำ ปูลาดที่นั่งไว้ให้ แล้วพระกุมาร ก็ประทับนั่งที่นั้น โดยมียักษ์นั่งอยู่ที่พื้นดิน คอยฟังอยู่ พระกุมารจึงตรัสว่า

"ท่านจงเงี่ยโสตฟังเทวธรรมโดยเคารพเถิด สัปบุรุษ (คนที่มีสัมมาทิฐิ) ผู้สงบระงับ ย่อมประกอบ ด้วยหิริ (ความละอายต่อการทำบาป) และโอตตัปปะ (ความเกรงกลัว ต่อการทำบาป) ตั้งมั่นอยู่ ในธรรมะอันขาว ซึ่งเรียกว่า ผู้มีธรรมะ ของเทวดา ผู้มีจิตใจสูงในโลก"

ครั้นผีเสื้อน้ำได้ฟังเทวธรรมแล้ว ก็บังเกิดความเลื่อมใส จึงกล่าวกับมหิสสาสกุมารว่า
"ดูก่อนบัณฑิต เราศรัทธาท่าน ฉะนั้น เราจะให้น้องชายคนหนึ่งคืนแก่ท่าน แต่ท่านจะได้ไป เพียงคนเดียวเท่านั้น"

พระกุมารตัดสินใจกล่าวออกไปว่า
"ถ้าอย่างนั้น ท่านจงนำน้องชายคนเล็กของเรามา"

ยักษ์ทำท่าขึงขังขึ้นมาทันที พูดเสียงดังว่า
"ท่านรู้แต่เปลือกของเทวธรรมเท่านั้น แต่ไม่ได้ประพฤติในเทวธรรมนั้นเลย"

พระกุมารสงสัย ตรัสถามว่า
"เพราะเหตุใดท่านจึงกล่าวอย่างนั้น"

"เพราะการที่ท่านละเว้นพี่ชาย แต่ให้นำน้องชายมา นี้ชื่อว่า ไม่กระทำความอ่อนน้อม ต่อผู้ที่เจริญที่สุด"

พระกุมารเข้าใจในทันที จึงแจ้งสาเหตุแก่ยักษ์
"ดูก่อนยักษ์ เรารู้เทวธรรมดีทีเดียว และปฏิบัติในเทวธรรมนั้นอีกด้วย เพราะการที่เรา ต้องเข้าป่าครั้งนี้ สาเหตุก็มาจากน้องชายคนเล็กนี้เอง ด้วยพระมารดา ของน้องเล็กคนนี้ ทูลขอราชสมบัติ กับพระบิดา ของพวกเรา ฉะนั้นเพื่อประโยชน์แก่น้องเล็ก พระบิดา จึงทรงให้พวกเรา มาอยู่ป่าสักพักหนึ่ง แต่น้องเราคนนี้ ได้ติดตามพวกเรามาด้วย ฉะนั้น หากแม้ถึงเวลา ที่พวกเรากลับคืนพระนคร แล้วบอกว่ายักษ์ในป่า กินน้องของเราเสียแล้ว ใครๆ คงไม่เชื่อแน่ ด้วยเหตุผลนี้ เราเกรงกลัวภัยคือ ความโกรธแค้น และการครหา จึงต้องให้ท่าน นำน้องชาย คนเล็กนั้นมา"

ยักษ์ฟังเหตุผลแล้ว ยิ่งมีจิตเลื่อมใส จึงยกมือประนมสาธุการ แก่พระกุมาร แล้วกลับไปเอา น้องชาย ทั้งสองคนมาคืนให้ พระมหิสสาสกุมาร จึงตรัสอบรมยักษ์นั้น

"สหายเอ๋ย ท่านเกิดเป็นยักษ์ที่อาศัยเลือดเนื้อของผู้อื่นเป็นอาหาร ก็เพราะบาปกรรม ที่ตนทำไว้ ในชาติกาลก่อน บัดนี้ท่านยังจะกระทำบาปนั้น ซ้ำเติมอีกหรือ แล้วบาปเวรเหล่านี้ ก็จะพา ให้จมอยู่ในนรก เพราะฉะนั้น ตั้งแต่นี้ไป ท่านจงละบาปชั่ว แล้วกระทำแต่บุญกุศลเถิด"

พระกุมารใช้ธรรมะทรมานยักษ์ แม้ยักษ์ก็บังเกิดศรัทธา อย่างล้นเหลือ จัดแจงดูแล อารักขาเหล่าพระกุมารอยู่ ณ ที่นั้นเอง

อยู่มาวันหนึ่ง...ได้รับข่าวว่า พระชนกสวรรคตแล้ว พระกุมารทั้งหมด กับยักษ์ผีเสื้อน้ำ จึงพากันไป สู่นครพาราณสี แล้วพระมหิสสาสกุมาร ก็ได้รับแต่งตั้งให้ครองราชสมบัติ พระองค์ทรงประทาน ตำแหน่งอุปราช แก่พระจันทกุมาร และตำแหน่งเสนาบดี แก่สุริยกุมาร ทรงสร้างที่อยู่ อันน่ารื่นรมย์ให้แก่ยักษ์ มีทั้งดอกไม้ของหอมอันเลิศ ผลไม้อันเลิศ และ อาหารอันเลิศ

นับแต่นั้นมา พระเจ้ามหิสสาสะ ก็ทรงครองราชย์โดยธรรมตลอดมา


พระศาสดาทรงจบพระธรรมเทศนานี้แล้ว ตรัสเฉลยว่า
"ยักษ์ผีเสื้อน้ำในครั้งนั้น ได้มาเป็นภิกษุผู้มีบริขารมากในบัดนี้ สุริยกุมารได้มาเป็นพระอานนท์ จันทกุมาร ได้มาเป็นพระสารีบุตร ส่วนมหิสสาสกุมาร ได้มาเป็นเราตถาคตเอง"

แล้วพระศาสดา ทรงประกาศสัจจะทั้งหลาย ในเวลาที่จบสัจจะนั้นเอง ภิกษุรูปนั้น ก็ได้ดำรงอยู่ ในโสดาปัตติผลแล้ว

(พระไตรปิฎกเล่ม ๒๗ ข้อ ๖ อรรถกถาแปล เล่ม ๕๕ หน้า ๒๐๑)

(เราคิดอะไร ฉบับที่ ๑๔๘ พฤศจิกายน ๒๕๔๕)