เราคิดอะไร.

หนทางสร้างคนสร้างชาติ - รากหญ้า -
๒๓ ตุลาคม "วันปิยมหาราช" ปวงชนชาวไทยน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณล้นพ้น แห่งพระบาทสมเด็จ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ทรงทำนุบำรุงอาณาประชาราษฎร์ และทรงนำพาชาติ รอดพ้นวิกฤต ยุคมหาอำนาจ ตะวันตก ไล่ล่าอาณานิคม ในภูมิภาค เอเชียอาคเนย์นี้ จึ่งมีชาติไทย ซึ่งมิเคยตก เป็นอาณานิคม ชาติใด

เนื่องใน "วันปิยมหาราช" นี้ นอกจากการประกอบพิธีกรรมน้อมถวายเป็นราชสักการะ ดังที่เคยทำ ตามๆ กันมาแล้ว ผู้ครองอำนาจรัฐ อำนาจราษฎร์ ผู้สืบสานศาสนาทั้งปวง แลไพร่ฟ้า น่าจะ "คิดใหม่ทำใหม่" โดยหวนกลับไป พินิจพิจารณาทบทวน กระแสพระราชดำรัส พระบรมราโชวาท แห่งพระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัว ในรัชกาลปัจจุบันว่า ได้ประพฤติตน ปฏิบัติหน้าที่ สนองพระราชดำริแล้วหรือยัง เช่น

"...การสอนคนให้เก่งนี้ ถ้าดูเฉพาะบางแง่บางมุม อาจเห็นว่าดี ว่าสอดคล้องต้องกัน กับสมัยเร่งรัดพัฒนา แต่ถ้ามองให้ถี่ถ้วน รอบด้านแล้ว จะเห็นว่าการมุ่งสอนคน ให้เก่ง เป็นเกณฑ์ อาจทำให้เกิด จุดบกพร่องต่างๆ ขึ้นในตัวบุคคลได้ไม่น้อย ที่สำคัญก็มี

ข้อหนึ่ง บกพร่องในความคิดพิจารณาที่รอบคอบ และกว้างไกล เพราะใจร้อน เร่งจะทำการ ให้เสร็จโดยเร็ว เป็นเหตุให้การงานผิดพลาด ขัดข้อง และล้มเหลว

ข้อสอง บกพร่องในความนับถือและเกรงใจผู้อื่น เพราะถือว่าตนเป็นเลิศ เป็นเหตุให้เย่อหยิ่ง มองข้าม ความสำคัญของบุคคลอื่น และมักก่อความขัดแย้ง ทำลายไมตรีจิตมิตรภาพ ตลอดจน ความสามัคคี ระหว่างกัน

ข้อสาม บกพร่องในความมัธยัสถ์พอเหมาะพอดีในการกระทำทั้งปวง เพราะมุ่งหน้า แต่จะทำตัว ให้เด่น ให้ก้าวหน้า เป็นเหตุให้เห็นแก่ตัว เอารัดเอาเปรียบ

ข้อสี่ บกพร่องในจริยธรรมและความรู้จักผิดชอบชั่วดี เพราะมุ่งแต่จะแสวงหา ประโยชน์ เฉพาะตัว เพิ่มพูนขึ้น เป็นเหตุให้ทำความผิด และความชั่วทุจริตได้ โดยไม่รู้สึก สะดุ้งสะเทือน

ผู้ที่มีจุดบกพร่องดังกล่าวนี้ เห็นกันอยู่ว่ามักจับเหตุจับผล จับหลักการไม่ถูก ส่วนใหญ่ จึงประสบปัญหา และความผิดพลาด ไม่อาจสร้างความเจริญก้าวหน้า ที่มั่นคงแท้จริง ให้แก่ตน แก่บ้านเมือง ได้ตามเป้าหมาย ดังนั้น นอกจากจะสอนคน ให้เก่งแล้ว จำเป็นอย่างยิ่ง ที่จะต้องอบรม ให้ดีพร้อมกัน ไปด้วย ประเทศของเรา จึงจะได้คนที่มีคุณภาพพร้อม คือ ทั้งเก่ง ทั้งดี มาเป็นกำลัง ของบ้านเมือง กล่าวคือ ให้ความเก่ง เป็นปัจจัย และพลัง สำหรับ การสร้างสรรค์ ให้ความดีเป็นปัจจัย และ พลัง ประคับประคอง หนุนนำความเก่ง ให้เป็นไปในทาง ที่ถูกที่ควร ที่อำนวยผลเป็นประโยชน์ อันพึงประสงค์ แต่ฝ่ายเดียว"
(พระราชดำรัส ในพิธีทูลเกล้าฯถวายปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ของ ๕ สถาบัน วันที่ ๓ ตุลาคม ๒๕๓๒)


"...วิชาการต่างๆ และความเป็นพลเมืองดีที่สั่งสอนอบรมในโรงเรียนนั้น เป็นสิ่งที่สำคัญ อย่างยิ่ง สำหรับนักเรียน ถ้าโรงเรียนฝึกหัด สั่งสอนวิชาการได้ดี ฝึกหัดให้รู้จักหน้าที่ และ ความเป็นพลเมืองดี ให้ได้ผลจริงๆ พร้อมทั้งอบรมให้เลื่อมใส เข้าใจในศาสนาด้วย ก็นับว่า ให้การศึกษา แก่เยาวชน อย่างครบถ้วน ซึ่งจะได้ผลดีแก่เยาวชน ของเราอย่างมาก ความรู้วิชาการนั้น จะทำให้ศึกษา ศาสนาได้ เข้าใจชัดเจน และกว้างขวาง และสนับสนุน การประพฤติปฏิบัติ ตามศาสนา ให้แน่นแฟ้นมั่นคง สามารถทำให้อนุชน เป็นพลเมืองที่ดี และ ศาสนิกที่ดี ได้โดยสมบูรณ์..."
(พระบรมราโชวาท พระราชทานแก่ครูโรงเรียนราษฎร์สอนศาสนาอิสลามภาคใต้ ในโอกาสที่ได้เข้าเฝ้าฯ รับพระราชทาน เงินรางวัล ประจำปีการศึกษา ๒๕๑๗ วันที่ ๖ กันยายน ๒๕๑๘)


"...การสร้างคนดีนั้นก็คือ การให้ ความรู้ ความคิด ความสามารถและความดีแก่เขา ด้วยการให้ การศึกษาอบรม วิชาความรู้ต่างๆ ไม่ว่าวิชาสามัญ วิชาชีพ หรือวิชาศาสนา ล้วนเป็นสิ่งจำเป็น สำหรับ เยาวชน สำหรับแต่ละคน จะนำไปสร้างอนาคต ที่มั่นคงแจ่มใส ถ้าโรงเรียน สอนวิชาการ ได้ดี ฝึกหัด ให้รู้จักหน้าที่ และความเป็นพลเมืองดี ให้ได้ผลจริงๆ พร้อมทั้งอบรม ให้เข้าใจ ในศาสนาด้วย ก็นับว่า ให้การศึกษาแก่เยาวชนอย่างครบถ้วน โดยเฉพาะ ความรู้ วิชาการนั้น นอกจากจะทำให้ บุคคลเฉลียวฉลาด มีโอกาสที่เปิดกว้างแล้ว ยังจะช่วยให้ ศึกษาศาสนา ได้เข้าใจชัดเจน และกว้างขวาง เกื้อกูล การประพฤติ ปฏิบัติตามศาสนา ให้ถูกต้องมั่นคง และ ช่วยอนุชนเติบโต เป็นพลเมืองดี เป็นศาสนิกชน ที่สมบูรณ์แบบ..."
(พระบรมราโชวาท พระราชทานแก่ผู้นำศาสนาอิสลาม "อิหม่าม" ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ และผู้แทน โรงเรียนเอกชน สอนศาสนา อิสลาม เขตการศึกษา ๒ วันที่ ๘ ตุลาคม ๒๕๓๑)


"...วิชาการต่างๆ ที่เรียนที่สอบไล่กันได้นั้น โดยลำพังไม่ใช่สิ่งที่จะช่วยให้นักเรียน เอาตัวรอดได้ และ ไม่ใช่ สิ่งที่จะช่วยสร้างสรรค์สิ่งใด ให้เป็นประโยชน์แก่ตัว แก่ผู้อื่น แก่บ้านเมืองได้ ผู้มีวิชาการ แล้วจำเป็น จะต้องมีคุณสมบัติ ในตัวเอง นอกจากวิชาความรู้ด้วย จึงจะนำตน นำชาติให้รอด และเจริญได้ คุณสมบัติ ที่จำเป็นสำหรับทุกคนนั้น ได้แก่ ความละอายชั่ว กลัวบาป ความซื่อสัตย์สุจริต ทั้งในความคิด และ การกระทำ ความกตัญญู รู้คุณชาติบ้านเมือง และ ผู้ที่อุปการะตัวมา ความไม่เห็นแก่ตัว ไม่เอารัด เอาเปรียบผู้อื่น หากแต่มีความจริงใจ มีความปรารถนาดีต่อกัน เอื้อเฟื้อกัน ตามฐานะ และหน้าที่ และที่สำคัญ อย่างมากก็คือ ความขยัน หมั่นเพียร พยายามฝึกหัด ประกอบการงาน ทั้งเล็กใหญ่ ง่าย ยาก ด้วยตนเอง ด้วยความตั้งใจ ไม่ทอดธุระ เพื่อหาความสะดวกสบาย จากการเกียจคร้าน ไม่มักง่าย หยาบคาย สะเพร่า..."
(พระบรมราโชวาท พระราชทานแก่คณะอาจารย์ ครู และนักเรียนโรงเรียนวังไกลกังวล วันที่ ๘ มิถุนายน ๒๕๒๒)


"...คนอื่นจะว่าอย่างไรก็ช่างเขา จะว่าเมืองไทยล้าสมัย ว่าเมืองไทยเชย ว่าเมืองไทยไม่มีสิ่งที่ สมัยใหม่ แต่เราอยู่ พอมีพอกิน และขอให้ทุกคน มีความปรารถนา ที่จะให้เมืองไทย พออยู่ พอกิน มีความสงบ และทำงาน ตั้งจิตอธิษฐาน ตั้งปณิธานในทางนี้ ที่จะให้เมืองไทยอยู่ พออยู่พอกิน ไม่ใช่ว่าจะรุ่งเรือง อย่างยอด แต่ว่ามีความพออยู่พอกิน มีความสงบ เปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ ถ้าเรารักษา ความพออยู่ พอกินนี้ได้ เราก็จะยอดยิ่งยวดได้ ประเทศต่างๆ ในโลกนี้กำลังตก กำลังแย่ กำลังยุ่ง เพราะแสวงหา ความยิ่งยวด ทั้งในอำนาจ ทั้งในความก้าวหน้า ทางเศรษฐกิจ ทางอุตสาหกรรม ทางลัทธิ ฉะนั้น ถ้าทุกท่าน ซึ่งถือว่า เป็นผู้ที่มีความคิด และมีอิทธิพล มีพลังที่จะทำให้ผู้อื่น ซึ่งมีความคิด เหมือนกัน ช่วยกัน รักษา ส่วนรวม ให้อยู่ดีกินดี พอสมควร ขอย้ำ พอควร พออยู่ พอกิน มีความสงบ ไม่ให้คนอื่น มาแย่งคุณสมบัตินี้ รู้จากเราไปได้ ก็จะเป็นของขวัญวันเกิด ที่ถาวร ที่จะมีคุณค่า อยู่ตลอดกาล..."
(พระราชดำรัส พระราชทานแก่คณะผู้แทนสมาคม องค์การเกี่ยวกับศาาสนา ครู นักเรียนโรงเรียนต่างๆ นักศึกษา มหาวิทยาลัย ในโอกาสเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ถวายพระพรชัยมงคล เนื่องในโอกาส วันเฉลิมพระชนมพรรษา วันที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๑๗)


พระราชดำรัส พระบรมราโชวาททั้งสิ้นนี้ คัดลอกมาจากหนังสือ "คำพ่อสอน" เห็นว่า มีคุณค่าอย่างยิ่ง ควรที่ผู้นำ ผู้มีอำนาจบทบาท ชี้เป็นชี้ตายของชาติไทย พร้อมทั้ง ปวงพสกนิกร พึงน้อมนำ เตือนใจตน เป็นนิจ เพื่อมิให้ออกนอกลู่นอกทาง ไม่ว่าจะโดยเจตนา หรือ หลงผิด ก็ตาม

บ้านเมืองมิใช่ของใครคนใดคนหนึ่ง ตระกูลใดตระกูลหนึ่ง หรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง หากแต่ เป็นของ ปวงชนชาวไทย

(เราคิดอะไร ฉบับที่ ๑๔๘ พฤศจิกายน ๒๕๔๕)