หน้าแรก >[09] การสื่อสาร > การเผยแพร่ธรรมะ >เราคิดอะไร

เศรษฐศาสตร์การเมืองเชิงพุทธ ตอน ๒๒
ญาณวิทยาของหลักพุทธธรรม


ในกาลามสูตรหรือเกสปุตติยสูตร (พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๐ ข้อ ๕๐๕) ชาวกาลามชน ได้มาทูลถาม พระพุทธเจ้าว่า มีผู้อ้างตนเป็นศาสดา หลายคนมาสอนชาวกาลามชน โดยมีเนื้อหา คำสอน ไม่เหมือนกัน แต่ต่างก็อ้างว่าคำสอนของตน เป็นสัจจะความจริง จนชาวกาลามชน เกิดความสับสน และสงสัยว่า ควรจะเชื่อคำสอนของใครดี พระพุทธเจ้า จึงได้ตรัสถึงหลักการ ในการแสวงหาความรู้ และความจริง ตามหลักพุทธธรรม ว่า

"กาลามชนทั้งหลาย เป็นการสมควรที่ท่านทั้งหลาย จะเคลือบแคลง สมควรที่จะสงสัย ความเคลือบแคลง สงสัย ของพวกท่าน เกิดขึ้นในฐานะ กาลามชนทั้งหลาย ท่านทั้งหลาย

-อย่ายึดถือโดยการฟัง (เรียน) ตามกันมา (อนุสสวะ)
-อย่ายึดถือโดยการถือสืบๆ กันมา (ปรัมปรา)
-อย่ายึดถือโดยการเล่าลือ (อิติริกา)
-อย่ายึดถือโดยการอ้างตำรา (ปัฎกสัมปทาน)
-อย่ายึดถือโดยตรรกะ (ตักกะ)
-อย่ายึดถือโดยการอนุมาน (นยะ)
-อย่ายึดถือโดยการคิดตรองตามแนวเหตุผล (อาการปริวิตักกะ)
-อย่ายึดถือเพราะเข้าได้กับทฤษฎีของตน (ทิฏฐินิชฌานักขันติ)
-อย่ายึดถือเพราะมองเห็นว่ารูปลักษณะน่าเชื่อ (ภัพพรูปตา)
-อย่ายึดถือเพราะนับถือว่า ท่านสมณะนี้เป็นครูของเรา (สมโณโน ครูติ)

เมื่อใดท่านทั้งหลายรู้ด้วยตนเองว่า ธรรมเหล่านี้เป็นอกุศล ธรรมเหล่านี้มีโทษ ธรรมเหล่านี้ วิญญูชนติเตียน ธรรมเหล่านี้ ใครยึดถือ ปฏิบัติถึงที่แล้ว จะเป็นไปเพื่อมิใช่ประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความทุกข์ เมื่อนั้นท่านทั้งหลาย พึงละเสีย ฯลฯ เมื่อใดท่านทั้งหลาย รู้ด้วยตนเองว่า ธรรมเหล่านี้ เป็นกุศล ธรรมเหล่านี้ไม่มีโทษ ธรรมเหล่านี้ วิญญูชนสรรเสริญ ธรรมเหล่านี้ ใครยึดถือปฏิบัติแล้ว จะเป็นไป เพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุข เมื่อนั้นท่านทั้งหลาย พึงปฏิบัติบำเพ็ญ (ธรรมเหล่านั้น)"

เนื้อหาในกาลามสูตร หรือเกสปุตติยสูตรนี้ ชี้ให้เห็นว่า เกณฑ์วินิจฉัยแห่งเหตุผล (Justification) ว่าสิ่งใดเป็นความรู้ ที่เป็นสัจจะ ความจริง ตามทัศนะ ของพุทธศาสนา ก็คือ เกณฑ์วินิจฉัย แบบประจักษ์นิยม โดยถือว่า ความรู้ที่เป็นสัจจะ ความจริงนั้น ต้องวางอยู่ บนพื้นฐาน ของสิ่ง ที่แต่ละคน "พึงรู้หรือประจักษ์ด้วยตนเอง"

แต่ทั้งนี้ต้องแยกแยะ ความแตกต่าง ระหว่าง "แหล่งที่มาของความรู้" กับ "เกณฑ์ วินิจฉัย ความน่าเชื่อถือ ของความรู้" ให้ชัดเจนก่อน พระพุทธเจ้า ไม่ได้ปฏิเสธแหล่งที่มา ของความรู้ เช่น อาศัยการฟังตามกันมา การอ้าง ตำรา การอนุมานโดยตรรกะ การฟังคำพูด ของบุคคล ที่น่าเชื่อถือ ฯลฯ ไม่ใช่อยู่ดีๆ เราจะสามารถรู้ได้ ด้วยตนเองขึ้นมาลอยๆ โดยไม่ต้องอาศัย แหล่งที่มาของความรู้ เพียงแต่ทรงเตือน ให้อย่าไปสับสน จับฉวยแหล่งที่มา ของความรู้ เป็นเกณฑ์ วินิจฉัยสุดท้ายในการตัดสินความน่าเชื่อถือ ของความรู้นั้นๆ

ตามนัยแห่ง กาลามสูตรนี้ เกณฑ์ตัดสินวินิจฉัยสุดท้าย ของความรู้ที่เป็น สัจจะความจริง ก็คือ สภาวะแห่งความสิ้นกังขา อันเป็นสภาวะ ที่เกิดขึ้น ภายในจิต ของผู้นั้น ซึ่งแต่ละคน จักพึงรู้ หรือประจักษ์แจ้งด้วยตนเอง ส่วนสภาวะแห่งความสิ้นกังขา ในความรู้เรื่องนั้นๆ จะเกิดขึ้น อย่างไร ก็ขึ้นอยู่กับเหตุปัจจัย ในแต่ละกรณีของความรู้ ตามหลักอิทัปปัจจยตา ดังที่ พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า
"เมื่อสิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงมี เพราะสิ่งนี้เกิดขึ้น สิ่งนี้จึงเกิดขึ้น
เมื่อสิ่งนี้ไม่มี สิ่งนี้ก็ไม่มี เพราะสิ่งนี้ดับไป สิ่งนี้ก็ดับ (ด้วย)"

ความรู้บางประเภท เรามั่นใจว่าเป็นความจริง จนเกิดสภาวะแห่งความสิ้นกังขาใดๆ จากการอาศัย วิธีอนุมาน ด้วยเหตุผล ตามกฎ ตรรกวิทยา เช่น แมวดำมีสีดำ พ่อเป็นผู้ชาย หรือ เรามั่นใจ ว่านาย ก. จะต้องตายเพราะ เรารู้ว่า นาย ก. เป็นคน และรู้ว่า คนทุกคน ต้องตาย เป็นต้น

แต่ความรู้บางประเภท เราก็มั่นใจว่า เป็นความรู้ที่เป็นความจริง จนไม่เกิด ความกังขา สงสัยใดๆ จากการอาศัยประสบการณ์ เชิงประจักษ์ เกี่ยวกับความรู้นั้นๆ เช่น เรารู้ว่า นาย ก. เป็นคน เนื่องจากมีประสบการณ์ สัมผัสพบเห็น นาย ก. ด้วยตนเองอยู่เนืองๆ แล้วพบว่านาย ก. มีคุณลักษณะ ทุกอย่าง เหมือนกับคนทั่วๆ ไป อีกทั้ง เมื่อมีประสบการณ์ สัมผัสกับ บุคคลอื่นๆ ที่รู้จัก นาย ก. ก็พบว่า ทุกคนเห็น ตรงกันหมดว่า นาย ก. เป็นคนจริงๆ ไม่ใช่เป็น ปีศาจ หรือเป็นเทวดา หรือเป็นลิง ฯลฯ ทำให้เรามั่นใจ อย่างหมดกังขา ใดๆ ว่า นาย ก. เป็นคน เหมือนกับเรา เป็นต้น

สำหรับในกรณีของความรู้เกี่ยวกับพุทธธรรม ซึ่งมีแก่นสารสารัตถะสำคัญ (essence) อยู่ที่ การปลดปล่อยชีวิต ให้เป็นอิสระ จากภาวะความบีบคั้น เป็นทุกข์ โดยกิเลส ตัณหา อุปาทาน ต่างๆ ในแต่ละขั้นตอน อย่างสัมบูรณ์ (absolute) นั้น พระพุทธเจ้า ได้ตรัสขยายความถึง เกณฑ์วินิจฉัยความรู้ ที่เป็นสัจจะความจริง ของหลักพุทธธรรม ไว้ในจังกีสูตร มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ (พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๓ ข้อ ๖๕๕-๖๕๙) โดยแบ่งความรู้ ที่เป็นสัจจะ ความจริงนี้ ออกเป็น ๓ ระดับ คือ*

๑. การคุ้มครองสัจจะ (สัจจานุรักษ์) เป็นการเข้าถึงแก่นสาร ความรู้ของหลักพุทธธรรม ในขั้นต้น อันอาจเรียกได้ว่าเป็น "ความรู้ในความจริง" โดยพระพุทธเจ้า ตรัสถึงความรู้ ขั้นต้นนี้ไว้ว่า

"ถ้าแม้บุรุษมีความเห็นที่ถูกใจ (รุจิ) มีการเรียนต่อกันมา (อนุสสวะ) มีการคิดตรองตามเหตุผล (อาการปริวิตักกะ) มีความเห็น ที่ตรงกับทฤษฎีของตน (ทิฏฐินิชฌานักขันติ) เมื่อเขากล่าว ว่าอย่างนี้ มีสิ่งที่คิดตรองตามเหตุผลได้อย่างนี้ มีความเห็น ตามทฤษฎีของตน ว่าอย่างนี้ ก็ยังชื่อว่า เขายังคุ้มครองสัจจะอยู่ แต่จะลงความเห็นเด็ดขาด ลงไปอย่างเดียวว่า "อย่างนี้ เท่านั้นจริง อย่างอื่นเหลวไหล (ทั้งสิ้น)" ไม่ได้ก่อน ด้วยข้อปฏิบัติเพียงเท่านั้น ชื่อว่า มีการ คุ้มครอง สัจจะ.... แต่ยังไม่ชื่อว่า เป็นการหยั่งรู้สัจจะ"

ตามนัยแห่งพุทธพจน์นี้ หมายความว่า เราอาจมีความรู้เบื้องต้น เกี่ยวกับพุทธธรรม โดยอาศัย เกณฑ์วินิจฉัยต่างๆ เช่น จากการศึกษา พระไตรปิฎก จากการคิดตรอง ด้วยเหตุผล จากการ อ่านตำรา ที่บรรดาผู้รู้ทางพุทธศาสนาเขียนไว้ ฯลฯ แต่ไม่เกิดความหลงตัว หลงตนว่า ตนเป็น ผู้เข้าถึง แก่นสารความรู้ แห่งหลักพุทธธรรมแล้ว เพียงด้วยการอาศัยเกณฑ์วินิจฉัย ความรู้ เหล่านี้ การมี "ปัญญา" รู้ตัวอยู่ว่า ตนยังไม่ใช่ผู้ประจักษ์ ถึงความจริง แห่งหลักพุทธธรรม เช่นนี้ ได้ชื่อว่า เป็นการเข้าถึงความรู้ แห่งหลักพุทธธรรม ในขั้นแรก อันคือ การคุ้มครองสัจจะ

แต่ถ้าไป ปักใจเชื่อ ด้วยความหลงตัว หลงตนว่า ความรู้เกี่ยวกับพุทธธรรม ที่ตนมั่นใจ (ด้วยเกณฑ์ วินิจฉัย ดังกล่าว) เท่านั้น ที่เป็นความจริง ใครเห็นต่าง จากที่ตนรู้ คือคนที่ ยังไม่เข้าใจ แก่นสาร ของพุทธธรรม หรือเป็นผู้ "ทำให้พระธรรมวินัยวิปริต" (อันมีความเลวร้าย ยิ่งกว่า การประพฤติ "วิปริตจากพระธรรมวินัย" เสียอีก) หากยังมีอวิชชาอยู่เช่นนี้ ก็ชื่อว่า ยังไม่สามารถ เข้าถึงแก่นสาร ของความรู้ แห่งหลักพุทธธรรม แม้แต่ ในขั้น "การคุ้มครองสัจจะ"

ทั้งนี้เพราะ สิ่งที่คนอื่นเห็น แตกต่างจากเรานั้น แท้จริงอาจเป็นแก่นสารสารัตถะ สำคัญของ หลักพุทธธรรม ที่เรายังไม่รู้ก็ได้ การตีทิ้ง หรือทำลายทิ้ง ในสิ่งที่คนอื่นเห็น แตกต่างจากเรา จึงอาจกลายเป็น "การทำลายสัจจะ" ด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ความรู้ที่เจือไว้ ด้วยอวิชชา เช่นนี้ จึงยังไม่เข้าถึงขีดขั้น ของความรู้ ที่เป็น "การคุ้มครองสัจจะ" อันเป็นความรู้เบื้องต้น ตามญาณวิทยา (Epistemology) ของหลักพุทธธรรม

๒. การหยั่งรู้สัจจะ (สัจจานุโพธิ) เป็นการเข้าถึงแก่นสารความรู้ของหลักพุทธธรรม ในขั้นกลาง อันอาจ เรียกได้ว่าเป็น "ความจริงในความรู้" โดยพระพุทธเจ้า ได้ตรัสถึงความรู้ ในขั้นกลาง นี้ไว้ว่า

"เมื่อได้ยินข่าวว่า มีภิกษุเข้าไปอาศัยหมู่บ้านหรือนิคมแห่งใดแห่งหนึ่งอยู่ เขาย่อมใคร่ครวญ ดูในธรรมจำพวกโลภะ ธรรมจำพวกโทสะ ธรรมจำพวกโมหะ ว่าท่านผู้นี้มีธรรม จำพวกโลภะ ที่จะเป็นเหตุครอบงำจิตใจ ทำให้กล่าวได้ ทั้งที่ไม่รู้ ว่ารู้ ทั้งที่ไม่เห็น ว่าเห็น หรือทำให้เที่ยว ชักชวนคนอื่น ให้เป็นไปในทางที่จะก่อให้เกิด สิ่งที่ไม่ใช่ประโยชน์เกื้อกูล และเกิดทุกข์ ชั่วกาลนาน แก่คนอื่นๆ หรือไม่ เมื่อเขาพิจารณาตัวเธออยู่ รู้อย่างนี้ว่า ท่านผู้นี้ไม่มีธรรม จำพวกโลภะที่จะเป็นเหตุ ครอบงำจิตใจ ทำให้กล่าวได้ทั้งที่ไม่รู้ ว่ารู้ หรือ ทำให้เที่ยว ชักชวนคนอื่น ให้เป็นไป ในทางที่จะก่อให้เกิด สิ่งที่ไม่ใช่ประโยชน์เกื้อกูล และเกิดทุกข์ ชั่วกาลนาน แก่คนอื่นได้เลย อนึ่ง ท่านผู้นี้ มีกายสมาจาร วจีสมาจาร อย่างคนไม่โลภ ธรรมที่ท่าน ผู้นี้แสดงก็ลึกซึ้ง เห็นได้ยาก หยั่งรู้ ได้ยาก เป็นของสงบ ประณีต ไม่อาจเข้าถึงได้ ด้วยตรรกะ ละเอียดอ่อน บัณฑิตจึงรู้ได้ธรรมนั้น มิใช่สิ่งที่คนโลภ จะแสดงได้ง่าย

เมื่อใด เขาพิจารณาตรวจดู มองเห็นเธอเป็นผู้บริสุทธิ์ จากธรรมจำพวกโลภะแล้ว เมื่อนั้น เขาย่อมพิจารณา ตรวจดูเธอยิ่งๆ ขึ้นไปอีก ในธรรม จำพวกโทสะ ในธรรมจำพวกโมหะ ฯลฯ

เมื่อใด เขาพิจารณาตรวจดู มองเห็นเธอเป็นผู้บริสุทธิ์ จากธรรมจำพวกโมหะ คราวนั้น เขาย่อมฝังศรัทธาลงในเธอ

เขาเกิดศรัทธาแล้ว ก็เข้าหา เมื่อเข้าหาก็คอยนั่งอยู่ใกล้ (คบหา) เมื่อคอยนั่งอยู่ใกล้ก็เงี่ย โสตลง (ตั้งใจคอยฟัง) เมื่อเงี่ยโสตลง ก็ได้สดับฟัง ครั้นสดับแล้ว ก็ทรงธรรมไว้ ย่อมพิจารณา ไตร่ตรอง อรรถแห่งธรรม ที่ทรงไว้ เมื่อไตร่ตรองอยู่ ก็เห็นชอบด้วย กับข้อธรรม ทั้งที่เพ่งพิสูจน์ ฉันทะ ก็เกิด เมื่อเกิดฉันทะ ก็อุตสาหะ ครั้นอุตสาหะ แล้วก็เอามาคิดทบทวน เทียบเคียง ครั้นเทียบเคียงแล้ว ก็ย่อมลงมือ ทำความเพียร เมื่อลงมือทุ่มเทจิตใจให้แล้ว ก็ย่อมทำ ปรมัตถสัจจะ ให้แจ้งกับตัว และเห็นแจ้งแทงตลอดปรมัตถสัจจะนั้น ด้วยปัญญา ด้วยข้อ ปฏิบัติเท่านี้ ชื่อว่า มีการหยั่งรู้สัจจะ"

ตามพุทธพจน์ที่กล่าวถึงนี้ จะเห็นได้ว่า เกณฑ์วินิจฉัยสุดท้าย ตามญาณวิทยา ของหลัก พุทธธรรม อยู่ที่การทดลอง พิสูจน์ ประพฤติ ปฏิบัติด้วยตนเอง จนประสบผล ในเชิงประจักษ์ แล้วอาศัยประสบการณ์เชิงประจักษ์ ขั้นสุดท้ายนั้น เป็นเกณฑ์ตัดสิน สัจจะความจริง

๓. การเข้าถึงสัจจะ (สัจจานุบัติ) เป็นการเข้าถึงแก่นสารความรู้ ของหลักพุทธธรรม ในขั้นปลาย อันอาจเรียกได้ว่าเป็น "ความจริงในความจริง" โดยพระพุทธเจ้า ได้ตรัสถึงความรู้ ในขั้นสุดท้าย นี้ไว้ว่า

"การอาเสวนะ การเจริญ การกระทำให้มากซึ่งธรรม (ตามสัจจานุโพธิที่กล่าวมา) เหล่านั้นแหละ ชื่อว่าเป็นการเข้าถึงสัจจะ"

กล่าวโดยสรุป จะเห็นได้ว่า ญาณวิทยาแห่งหลักพุทธธรรม (Buddhistic Epistemology) อยู่ที่ การอาศัย ประสบการณ์เชิงประจักษ์ ในการปลดปล่อยชีวิต ให้เป็นอิสระ จากอำนาจ ครอบงำ ของกิเลสตัณหาอุปาทาน (จนพ้นอวิชชา และความกังขา ทั้งหลายในชีวิต) เป็นเกณฑ์ ตัดสิน วินิจฉัย สัจจะความจริง ในขั้นสุดท้าย

องค์ความรู้ทางพุทธปรัชญา ที่พัฒนาขึ้นจากรากฐาน ของญาณวิทยาแบบอื่นๆ อาทิแบบ สหนัยนิยม (Coherentism) ซึ่งอาศัยความสอดคล้อง กลมกลืนทางความคิด ความเชื่อ ในหมู่ นักวิชาการ หรือผู้รู้วงการนั้นๆ เป็นเกณฑ์วินิจฉัยความรู้ ที่เป็นสัจจะ ความจริง จึงยังห่างไกล จากแก่นสาร ของความรู้ แห่งหลักพุทธธรรม

ด้วยเหตุนี้ แนวการศึกษาพุทธศาสนา หรือพุทธปรัชญา ในเชิงประวัติความคิด ซึ่งวางอยู่บน รากฐานของญาณวิทยา แบบสหนัยนิยม อันทรงอิทธิพล ครอบงำ วงการศึกษา พุทธศาสนา ปัจจุบัน จึงไม่มีมวลพลัง ทางปัญญาใดๆ ที่จะขับเคลื่อน ให้สังคม เกิดการพัฒนา เปลี่ยนแปลง จากการช่วยลด ความต้องการ ส่วนเกิน หรือ กิเลสตัณหา ของผู้คน ในโครงสร้าง ส่วนลึก ทางสังคม ตามกรอบอุดมการณ์ ทางสังคมเศรษฐกิจการเมือง ของชาวพุทธ ดังที่ได้ กล่าวมา ตั้งแต่เบื้องแรก

อ่านต่อฉบับหน้า

* พุทธพจน์อ้างถึงใน พระธรรมปิฎก (ป.อ. ปยุตโต), พุทธธรรม (กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย, ๒๕๓๘) หน้า ๖๒๕-๖๒๖

(เราคิดอะไร ฉบับที่ ๑๔๙ ธันวาคม ๒๕๔๕)