หน้าแรก >[09] การสื่อสาร > การเผยแพร่ธรรมะ >เราคิดอะไร

คิดคนละขั้ว แรงรวม ชาวหินฟ้า
ค้นหาแนวคิด"หลุดโลก"
ของท่านนายกฯ ทักษิณ ()


พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร ให้ความสำคัญในเรื่องการศึกษาและเศรษฐกิจ โดยได้เสนอแนวคิด ทั้งสองเรื่องนี้ว่า น่าจะมีการเปลี่ยนแปลง ทางการศึกษา และเศรษฐกิจ ชนิดแบบ หลุดโลก ไปเลย เพื่อแก้ไขวิกฤติต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสังคมไทย

คำว่า "หลุดโลก" ของท่านนายกฯในประเด็นนี้ น่าจะหมายถึงของแปลกใหม่ ที่ไม่เคยมีใคร คิดมาก่อน เป็นนวัตกรรม ทางสังคม ที่ก่อให้เกิด การพัฒนา เกื้อกูลสังคม ซึ่งคุณยุทธชัย เฉลิมชัย ศูนย์ประสานงานการจัดการศึกษา โดยครอบครัว ได้หยิบเอาประเด็น การปฏิรูป การศึกษา แบบหลุดโลก ของท่านนายกฯ มาวิเคราะห์วิจัย ให้ทะลุทะลวง ได้อย่างน่าสนใจ ไว้ว่า

"ผมอยากเห็นการปฏิรูปการศึกษา อยากเห็นระบบการศึกษา แบบหลุดโลก คือ เรียนแบบ ที่มีระบบการเรียน การสอน ที่สุดๆ ไปเลย ปล่อยพลังสมอง ให้เต็มที่ แล้วเรียน หลายรูปแบบ หลากหลาย ผมพร้อมสนับสนุน"

คำพูดข้างต้นนี้ เป็นของนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร ที่ได้กล่าวเมื่อครั้ง การประชุม ติดตาม ปฏิรูปการศึกษา เมื่อวันที่ ๑ สิงหาคม ที่ผ่านมา ณ ทำเนียบรัฐบาล เป็นเสมือน คำบอกว่า การปฏิรูปการศึกษา ที่ทำกันมาแล้ว ๓ ปี กับที่กำลังทำอยู่นั้น ยังไม่ใช่ คำตอบ สุดท้าย ที่ท่านนายกฯ ต้องการ

"ระบบการศึกษาที่จะใช้เป็นยุทธศาสตร์ ต้องมองให้เป็นภาพลักษณะองค์รวม ไม่ควรมี กรอบกติกามากนัก ไม่ยึดติดรูปแบบ ระบบการศึกษา ต้องถือว่า เป็นสิ่งมีชีวิต ย่อมมี การเปลี่ยนแปลงและมีการเจ็บป่วย ถ้าจะปฏิรูปการศึกษาต้องยอมลอกคราบเดิมออก ต้องตื่นตัวในการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ต้องมองระบบการศึกษาอยู่นอกระบบเดิม เชื่อมโยงกับประชาชนในสังคม และสอดรับกับการแข่งขันของสังคมโลก คนไทยต้อง อยู่รอดปลอดภัย และมีความสุข ในสังคมโลก ด้วยตัวของตัวเอง"

เป็นคำพูดของนายกรัฐมนตรีคนเดียวกันครับ กล่าวเมื่อต้นปี ๒๕๔๔ ในการประชุม ที่สำนักงาน คณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ

ผมหยิบเอามาดยงต่อกันในที่นี้ ด้วยความปลาบปลื้มว่า ท่านนายกฯทักษิณ พูดถึงการศึกษา แบบ "หลุดโลก" โดยมีความเข้าใจลึกซึ้ง ชัดเจนทีเดียว ไม่ใช่พูดขึ้นลอยๆ หรือ เป็นแค่นโยบาย ในอากาศ

ส่วนตัวผมเห็นด้วยกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ทั้งยกความสำคัญของเรื่อง "หลุดโลก" นี้ให้เป็น "หัวใจ" ของการปฏิรูป การศึกษา เหนือเรื่องอื่นๆ เพราะหากตีบตัน มองไม่พ้น ไปจากกรอบเดิมๆ ก็ย่อม ไม่มีวันที่จะ "สร้างสรรสิ่งใหม่" ขึ้นมาได้ ผมยังเห็นด้วยกับ พ.ต.ท.ทักษิณ อีกว่า การปฏิรูป การเรียนการสอน ตลอดจนการจัดระบบโครงสร้าง การบริหารทางการศึกษา เท่าที่ดำเนินการอยู่ ในขณะนี้ ยังไม่นับว่า เป็นการ "หลุดโลก" แต่แค่ปะผุ ยังยึดติด กรอบกติกา มากเกินไป ไม่ยอมลอกคราบตัวเอง

ถ้าจะให้ "หลุดโลก" ต้องปลดปล่อยเด็กๆ ออกจากคอกขัง และปรับโครงสร้าง ลงไปให้ถึง ในห้องเรียน เพราะการศึกษา เรียนรู้ ทั้งหลาย จริงๆ แล้วกระทำกันอยู่ ที่ตรงนั้น ซึ่งผมมี ข้อเสนอ ที่อยากขอให้กระทรวงศึกษา กรุณาช่วยนำไปพิจารณา ดังนี้ครับ

๑. ยกเลิกชั้นเรียนแบบเดิม จัดใหม่เป็นแบบช่วงชั้น คละเด็กให้มีความหลากหลาย ตามสภาพ กลุ่มคน ในสังคมจริง ให้มากขึ้น กลุ่มหนึ่งๆ ควรมีจำนวน ไม่เกิน ๓๐ คน

๒. สลายการจัดการเรียนแบบเป็นวิชาๆ ตามตารางสอนแบบเก่า กระตุ้นให้เกิดอิสระ ในการเลือก เรียนรู้ ตามความสนใจ ของผู้เรียน มีหัวข้อโครงงาน อย่างบูรณาการ แล้วครู กับนักเรียน ออกไปค้นหาความรู้ ในโลกของความจริงร่วมกัน

๓. ไม่มีการเข้าห้องสอบ ไม่มีการทำข้อสอบ ประเภทใครเปิดหนังสือ หรือถามเพื่อน กลายเป็น อาชญากร การประเมิน ผลการศึกษา ให้เป็นกระบวนการ จากการได้คิด ได้ค้นคว้า ได้ปรึกษา หารือกัน จะไม่มีการลอบเอาโพย เข้าห้องสอบอีกแล้ว ไม่ว่าลูกใครหลานใคร

๔.ใช้สภาพชีวิต ปัญหา ความต้องการของชุมชนเป็นโจทย์ เป็นสาระการเรียนรู้ เท่ากับ ให้เด็กๆ ทำงานร่วมกับชุมชน ในตลอดช่วง กระบวนการ ของการศึกษา อย่างไม่ต้องรอ ให้ได้ ใบปริญญาก่อน

๕. ให้มีการเรียนรู้ได้ทุกรูปแบบ มีแผนการเรียนเป็นรายบุคคลหรือกลุ่มเล็ก จะเรียน อยู่ที่บ้าน เรียนจาก ชาวบ้าน เรียนพร้อมกัน ในหลาย สถานศึกษาก็ได้ แล้วสร้างให้กระบวนการ ในการเทียบโอน จัดระดับความรู้ ให้เป็นจริง

๖. ไม่ต้องมีการปิดเทอม-เปิดเทอม เพราะการเรียนรู้ไม่ได้ปิด-เปิดแบบนั้น ในภาคเกษตรกรรม ในช่วง ฤดูการผลิต เด็กควร ได้ช่วยพ่อแม่ ทำไร่ทำนา รวมทั้งช่วยเหลืองานบ้าน ได้มีส่วนร่วม ในกิจการ ของครอบครัว โดยให้ถือ เป็นการเรียนรู้สำคัญ ไม่น้อยกว่า การเรียนรู้วิชาการ

เอาแต่เพียง ๖ ข้อดังกล่าว อพิจารณาจากสภาพการณ์ของโรงเรียนและครู โดยทั่วไปแล้ว ต้องเรียนตรงๆ ว่า คล้ายเป็นอาการเพ้อ ทำนองนั่งเกาภูเขา ด้วยเล็บทีเดียว

อย่างไรก็ตาม หากไม่มีหนทางอื่นๆ แม้เกาภูเขาด้วยเล็บ ก็ยังจำเป็นต้องทำ จะไม่ดีกว่าหรือ ถ้ามองให้เห็น ทางเลือกที่แตกต่าง ออกไปบ้าง ไม่ใช่คอยตามแก้ แต่มาสร้างกันขึ้นใหม่

ข้อเสนอในประการหลังนี้ก็คือ การนำเอามาตรา ๑๒ และมาตรา ๑๘(๓) ใน พ.ร.บ.การศึกษา แห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๒ มาดำเนินการ ให้เป็นจริง คือจัดให้มีสถานศึกษา ประเภท "ศูนย์การเรียน" ซึ่งดำเนินการ โดยครอบครัว ชุมชน องค์การเอกชน และ สถาบัน ทางสังคม อื่นๆ โดยให้อิสระ ให้สามารถสร้างสรร กระบวนการเรียนรู้ แบบใหม่ๆ สุดๆ ให้หลุดโลก ตามที่นายกรัฐมนตรี ผู้นำของประเทศ อยากเห็น ตรงนี้แหละ ที่ดูน่าจะมี ความเป็นไปได้ และลงมือทำกันได้ ตั้งแต่วันนี้ เดี๋ยวนี้เลย

รัฐบาลจัดงบประมาณให้สักก้อน ไม่ต้องมากนัก (จะน้อยกว่าที่ใช้ ในการอบรมครู -ผู้บริหารโรงเรียน หลายเท่าตัว) และเชื้อเชิญ ผู้นำชุมชน ผู้นำสถาบันทางสังคม ที่มีผลงานดำเนินการ ในเรื่องนี้ กันอยู่แล้ว มาเป็นคณะอำนวยการ ช่วยกันขับเคลื่อน ซึ่งถือเป็นการ ปฏิรูปการศึกษาอื่น เป็นวาระแห่งชาติ อีกทางหนึ่ง

ทั้งหมดนี้เท่ากับผมกำลังเสนอให้มียุทธศาสตร์คู่ขนานในการปฏิรูปการศึกษา แบบหลุดโลกใน "โรงเรียน" ให้กล้าพอ ที่จะสลัดออก จากความเคยชิน ในระบบวิธีคิด วิธีการแบบเดิม ขณะเดียวกัน ก็ลองหันหัวเรือ ออกจากโรงเรียน ไปสู่ "ศูนย์การเรียน" ส่งเสริม สนับสนุน ให้มีการศึกษา ทางเลือก การศึกษาในความแตกต่างหลากหลาย ประกบคู่กันไป และเรียนรู้ จากกันและกัน

ไม่ว่าในทางใด ก็ล้วนทำไป เพื่อแก้วตาดวงใจ คือ "ลูกหลานคนไทยทุกคน" (มติชน ต.ค. ๒๕๔๕)

บทสรุป รูปธรรมในการเสนอการศึกษาแบบหลุดโลกของคุณยุทธชัย เฉลิมชัย น่าสนับสนุน การศึกษา อย่างสุดๆ หลุดโลก (แบบโลกุตระ หรือ เหนือโลกไปเลย) แต่ฝันจะเป็นจริง หรือ เพียงแค่เป็นการเอาเล็บ ไปเกาภูเขา คำตอบก็คงอยู่ที่ การปฏิรูปบุคลากร ทางการศึกษา ที่เป็นแม่พิมพ์ทั้งหลาย ขึ้นมาก่อน มิฉะนั้นแล้ว ก็จะไม่ต่างอะไรกับ ระบบการเมืองไทย ที่อุตส่าห์ ลงทุนลงแรง แก้ไขรัฐธรรมนูญ อย่างเหนื่อยยาก ลำบาก กว่าจะแก้สำเร็จได้ แต่ตัวการสำคัญ คือท่านนักการเมืองทั้งหลาย ยังเหมือนเดิม ไม่ได้เปลี่ยนแปลงอะไร ระบบการเมืองไทย จึงยังไม่มีอะไร ดีขึ้นไปจากเดิม

ลูกปูย่อมเดินตามพ่อปูแม่ปูฉันใด เด็กๆก็ย่อมเป็นไปตามแม่พิมพ์ ที่ปั้นเขาออกมาฉันนั้น สำหรับฉบับหน้า คงได้มา ค้นหากันต่อว่า เศรษฐกิจแบบหลุดโลกนั้น ควรจะเป็นฉันใด

(เราคิดอะไร ฉบับที่ ๑๔๙ ธันวาคม ๒๕๔๕)