เศรษฐกิจบุญนิยม
กับ กระแสโลกาภิวัตน์
- วิมุตตินันทะ -
นับวันโลกยิ่งเดือดร้อนสาหัสขึ้นจากลัทธิบริโภคนิยมหรือทุนนิยม
แม้ว่าจะเป็นธรรมดา
ของสัตวโลก ที่มีสันดานเดิมพื้นฐาน ปลาใหญ่กินปลาเล็ก แต่มนุษย์ผู้เจริญ
ด้วยอาริยธรรม ย่อมรู้จัก บาปบุญ คุณโทษ กุศลอกุศล จึงฝึกตน ให้อยู่เหนือธรรมชาติฝ่ายต่ำ
แทนที่จะซ้ำซาก จมปลักดาน เหมือนสัตว์เดรัจฉานทั่วไป โดยไม่มีวันพ้นวัฏสงสาร
สัตว์ชั้นสูงอย่างคน จะประเสริฐกว่า ก็ตรงมีปัญญา สร้างสรร ทวนโลกียวิสัยเช่นนี้แหละ
ยิ่งทุกวันนี้ทันสมัย
เราอยู่ในโลกกว้างยุคไร้พรมแดนเรียบร้อย และพร้อมกับไร้พรหมแดน ด้วยใจคอ
คับแคบอีกต่างหาก เพราะพรหมวิหาร อันคือ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา
นับว่า ขาดแคลน ร้ายแรงขึ้นทุกที มันหนีไม่พ้น ที่ผู้คน จะพากันแล้งน้ำใจ
ในเมื่อใช้เม็ดเงิน เป็นตัวตั้ง จูงใจให้คนขี้โลภ ยื้อแย่งกันสุดเหวี่ยงตาม
แห่ไปหมดเลย
เมตตาธรรมค้ำจุนโลก
(โลโก ปัตถัมภิกา เมตตา) เมื่อโลกยึดครอง ด้วยทุนนิยมเสรี
ขี้โลภเต็มๆ มันจึงไปไม่รอด ด้วยตรรกะ ที่วิพากษ์วิจารณ์ว่า ทุนนิยมกำลังก้าวไปสู่
วันล่มสลาย ย่อมเป็น เรื่องจริง ซึ่งต้องมีอันเป็นไปในทิศทางนั้น โดยไม่น่าสงสัย
ดังเช่น เมื่อเกิดวิกฤติฟองสบู่แตก
ผู้คนค่อยตาสว่างขึ้นหน่อยว่าที่หลงใหล ตามลัทธินิยม งานคือเงิน เงินคืองาน
บันดาลสุข อันนั้น มันหมดสนุกเสียแล้ว มีแต่ทุกข์ถนัดสิ้นดี โดยเฉพาะ
เงินหนี้นั้นแหละ ตัวแสบสุดขนาดไหน
ด้วยพระปรีชาสามารถของพ่อหลวงแห่งแผ่นดิน
พระราชดำรัส ในปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง จากภูมิปัญญาไทย เป็นตัวช่วยกระตุ้น
สำนึกให้เห็นทางรอด อันยั่งยืน ซึ่งพึงฟื้นคืนกลับมา เป็นวิถีชีวิต
แบบไทยๆ แม้เศรษฐกิจการเงิน จะล่มจมป่นปี้ เหมือนสิ้นเนื้อ ประดาตัว
ซ้ำหนี้ ท่วมหัว จมหู อีกต่างหาก แต่ในภาคกสิกร ก็ไม่ถึงกับเดือดร้อนเต็มเปา
ในทันที เพราะเงินทอง เป็นของมายา ข้าวถั่วงาสิ เป็นของจริง ปัจจัยสี่
จึงเป็นเศรษฐกิจตัวจริง อันพึงสำคัญ ในความสำคัญ ให้เหนือขั้นกว่า
เม็ดเงิน เป็นไหนๆ.....
ไม่เป็นเหยื่อ ก็ต้องเป็นผู้ล่าเหยื่อ
....?
บทเรียนจากวิกฤติฟองสบู่
ต้มยำกุ้งไทยแลนด์ ทำให้เรามองเห็นฝีมือ ของยักษ์ใหญ่ นายทุน มหาภัย
ผู้ครอบงำ กระแสโลกาภิวัตน์ จนกระทั่งเมืองไทย เราเอง ตกเป็นเหยื่อหน้าโง่
ผู้เคราะห์ร้าย
ขณะนี้ เราเห็นภาพผู้นำ
กำลังดิ้นรน หาทางรวมกลุ่ม พึ่งพาพรรคพวก เอเชียภูมิภาค หวังเพิ่ม
พลังต่อรอง ในเวทีสากล ซึ่งก็น่าจำเป็น เพื่อบรรเทาการเอาเปรียบกดขี่
ของต่างชาติ ให้น้อยๆ ลงมาหน่อยบ้าง
ส่วนที่น่ากังวล
ก็คือ ความฝันที่จะเพิ่มมูลค่าของขายให้ได้เม็ดเงินก้อนโต เป้าหมาย
ที่จะลุ้น การส่งออก ให้พุ่งโลด หรือดึงเงินลงทุน จากต่างชาติ และดูดเงิน
จากอุตสาหกรรม ท่องเที่ยว อะไรต่างๆ เหมือนไม่วาย ทุ่มโถมทำสงคราม
สัตว์เศรษฐกิจ เพื่อเป็นเสือตัวที่ห้า อย่างที่เคย บ้าดีเดือด ตั้งพักใหญ่
แล้วยังไม่ยอมเข็ด
เสร็จแล้วจะแน่ใจหรือว่า
มันจะไม่ย่ำซ้ำรอย ประวัติศาสตร์รอบสอง จนเกิดฟองสบู่ แตก ซ้ำซากใหม่
อีกหนหนึ่ง
อย่างไรก็ตาม ในสนามสงครามเศรษฐกิจ
เรายังคงไม่มีฤทธิ์เดชอะไร จะไปต่อรอง กับยักษ์ใหญ่ อย่างเก่ง ให้เสียเปรียบน้อยลงบ้าง
ก็บุญหัวแล้ว และเพื่อไม่เป็นเหยื่อ ฝ่ายเดียว เราก็ต้อง เอาเปรียบ
ชดเชยบ้าง พอเอาเปรียบกับชาติใหญ่ ถ้าไม่ได้ คงจะหันไปเอาเปรียบ กับพวก
อ่อนแอกว่า เล่นแบบนี้ หนีไม่พ้น เข้าตำรา ว่าแต่เขา อิเหนาเป็นเอง
เพียงเราตกเป็นเหยื่อผู้เคราะห์ร้าย
มันเจ็บปวดสาหัสอยู่แล้ว หากเดินหน้า ตามรอย ผู้ล่าเหยื่อ สำเร็จ เช่นเดียวกันอีก
มันคงเป็นกงกรรม กงเกวียนไม่รู้จบ เมื่อไหร่ โลกจักมีวันสว่าง ด้วยเขต
ปลอดการเอาเปรียบ ขึ้นมาบ้าง ?
การตกเป็นเหยื่อโดนขูดรีด
มันฉลาดน้อยน่าสมเพช
การตั้งหน้าเป็นผู้ล่าเหยื่อมันฉลาดแกมโกงก็น่าละอายชวนสังเวช
เวรกรรม
ทำอย่างไร ไทยเราจะไม่ต้องเป็นเหยื่อหน้าโง่
และไม่เป็นทั้งผู้ล่าเหยื่อตัวแสบ !?! นี่คือ ประเด็น ที่ต้องช่วยกัน
หาทางออก เพื่อเผชิญความท้าทาย จากกระแสโลกาภิวัตน์
คำตอบสุดท้าย ลึกซึ้งถึงไหนบ้าง....
วงจรเศรษฐกิจ ประกอบด้วย
การผลิตการแจกจ่าย และการบริโภค
บรรพบุรุษไทยเคยมีวิถีชีวิต
เฮ็ดอยู่เฮ็ดกิน หรือให้พออยู่พอกิน หาเลี้ยงตน ด้วยปลีแข้ง อาบเหงื่อ
ต่างน้ำ หลังสู้ฟ้า หน้าสู้ดิน กว่าร้อยละเก้าสิบ เป็นกสิกรแข็งขลัง
เป็นกระดูกสันหลัง ของชาติ ไทยจึงเป็น ชาติกสิกรรม มาตลอด เรามีแผ่นดินแสนอุดม
แดดน้ำลมฝน ช่วยให้เรา มีอยู่มีกิน ด้วยกสิกรรม ธรรมชาติ โรงงานอุตสาหกรรมไหน
จะวิเศษกว่าไร่นา สารพัดแวดล้อม อันมีฟ้าฝน แสงแดด สายลมธรรมชาตินานา
ช่วยทำงาน สร้างผลิตผล ให้ฟรีๆ นี่คือ ปัจจัย การผลิต ที่เรา พร้อมพรั่งอยู่เดิม
ช่วยให้เราไม่เคยขาดแคลนปัจจัยสี่ ข้าวผ้ายาบ้าน
เศรษฐกิจพอเพียงเลี้ยงชีพ
เป็นวัฒนธรรม วิถีไทยที่นำพาเราให้อยู่อย่างเรียบง่าย มักน้อย สันโดษ
สมถะ สงบเย็น ยิ้มแย้ม แจ่มใส อยู่กันเป็นหมู่กลุ่ม มากน้ำใจ ผ่านบ้านใด
ก็ชวน กินข้าว ดื่มน้ำ เหมือนญาติพี่น้อง
ลัทธิบริโภคนิยม
พาคนไทยเสียนิสัยทำวิปริตจากธรรมวินัยของพุทธศาสนา วัฒนธรรม ตะวันออก
ล้วนบอก ให้รู้จัก กินน้อย ใช้น้อย ประหยัดได้เป็นบุญ กินมากใช้เปลือง
เป็นโทษ น่าชัง เสร็จแล้ว อยู่ดีไม่ว่าดี เพราะขาดภูมิคุ้มกัน เราโดนฝรั่งล้างสมอง
โฆษณา ชวนเชื่อ ให้กินสูบดื่มเสพ มากเท่าไหร่ ยิ่งสุขมากเท่านั้น รวมทั้งเร่งเร้า
ให้บริโภค ขยายตัว เศรษฐกิจ จะสะพัดดี โดยผลิตผลรวม ประชาชาติสูง ก้าวหน้าทางผลาญพร่าแบบนี้
จะไปได้กี่น้ำ
เศรษฐศาสตร์ที่ขาดจริยธรรม
จึงไม่แยกการผลิตการบริโภค ที่เป็นกุศลอกุศล มั่วนับเป็น รายได้ ให้กำไร
เม็ดเงิน ถือว่าเจริญเศรษฐกิจ ผู้คนเป็นทาสเสพติด เสียสุขภาพ ไม่รับรู้ด้วย
น่าจะลอง วิจัยดูบ้าง ตามร้านโชวห่วย น้อยใหญ่ ทั่วประเทศ ยอดขายเหล้าเบียร์บุหรี่
เชื่อว่า ปาเข้าไป อย่างน้อย ๒๕ % ขึ้นไป
ทรัพยากรการผลิต
วัตถุดิบ แรงงาน เงินทุนที่หมดไปกับรูรั่ว อบายมุข ทางฉิบหายดังกล่าว
เสียเศรษฐกิจ ขนาดไหน ไฉนเศรษฐศาสตร์ ทุนนิยม สำนักเก่าใหม่ไหนๆ จึงมองข้าม
ไปหมดเลย ไม่เคยเห็น มีอยู่ในตำราใด ตัวอย่างอบายมุข ยังไม่ทันพูดถึงสิ่งเสพติด
ของคุณ ผู้หญิง สิ่งแฟชั่นฟุ้งเฟ้อ หรือ ยิ่งบ้าบอไปถึง หวยเบอร์ บ่อนกาสิโน
คงเป็นงง ว่าบ่อนทำลาย เศรษฐกิจไทย มโหฬาร ไม่รู้เท่าไหร่
เพราะเราทิ้งศาสนา
ไม่นำพาเคร่งครัดเป็นวัฒนธรรมชีวิต ไม่ยอมสันโดษ ในการกินอยู่ เรียบง่าย
ดิ้นหาเงินเก่ง ก็ใช้เก่ง กิเลสตัณหา จึงพาจนทั้งชาติ
พรพระจึงบอกว่า
สีเลน สุคติง ยันติ สีเลน โภคสัมปทา การจัดระเบียบชีวิตตัวเองตามศีล
ย่อมนำ ไปสู่ทางที่ดี เป็นทางมาแห่งความจำเริญ แม้โภคทรัพย์
น่าเสียดายที่คนไทย
ไม่มีชาตินิยมในวัฒนธรรมอันดีงามของตน เลยกลายเป็นช่องว่าง ให้นิยม
ตามชาติตะวันตก เอาอย่างฟุ้งเฟ้อ ผลาญพร่า จากหนังฮอลลีวู้ด และนักท่องเที่ยว
โรคเอดส์ ก็เป็นผลพวง ของการส่งเสริม การท่องเที่ยว เกินประมาณ โดยไม่เลือกเฟ้น
และไม่ใช่เฉพาะค่านิยมบริโภค
ที่มิจฉาทิฐิกัน ในด้านการผลิต ที่เห็นแก่เงิน เป็นตัวตั้ง เราส่งเสริม
การลงทุน ที่ทำลายกสิกรรม โดยไม่รู้เท่าทัน ตั้งแต่ขายไร่นา ส่งลูกหลาน
ไปเรียน เพื่อกินค่าแรง เป็นมนุษย์เงินเดือน หรือทาสทุนนิยม หนุ่มสาวทิ้งถิ่น
ปล่อยให้ชุมชนล่มสลาย พร้อมกับ สร้างปัญหาสังคม ในเมืองขึ้นใหม่
โดยเฉพาะ การผลิตเพื่อส่งออก
ทำให้กสิกร แขวนชีวิตไว้กับราคาที่นอกวิสัย การควบคุม แล้วจะอยู่เย็น
เป็นสุข สม่ำเสมอได้อย่างไร
ครั้นถือตามนัยพระราชดำริในหลักเศรษฐกิจเลี้ยงชีพ
ผลิตผล จะมีหลากหลาย เพื่อสนอง ความต้องการ ของชุมชน และท้องถิ่น เป็นลำดับต้นก่อน
การกินใช้พืชผล หรือผลิตภัณฑ์ จากอุตสาหกรรม ในครัวเรือน โดยซื้อหาได้โดยตรง
ภายในแหล่งผลิต ละแวกท้องถิ่น อันนี้ ย่อมถูกหลัก เศรษฐกิจองค์รวม
คือ เกิดประโยชน์สูง - ประหยัดสุด เช่น ค่าขนส่งต่ำ รู้ประมาณ ความต้องการ
ของตลาดได้ง่าย เศรษฐกิจ พอเพียง ตามลักษณะดังว่านี้ จะห่างไกล กับความเสี่ยง
เมื่อเกิดภาวะผันผวน ทางเศรษฐกิจโลก
และถ้าเปรียบเทียบถึงนโยบายหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภันฑ์
หากมีการแบ่งงานกันทำ ตามหลัก ทุนนิยม มากเกินไป จนขาดเศรษฐกิจพอเพียง
เพื่อพึ่งตัวเองให้ได้ เป็นพื้นฐานไว้ก่อน เสร็จแล้ว วันหนึ่ง เกิดเหตุชะงักงัน
ของตลาดหนึ่งผลิตภัณฑ์นั้นๆ ขึ้นมา เศรษฐกิจของ หนึ่งตำบล จะต้องสะดุด
ขึ้นมาทันควัน การแขวนชีวิต ไว้กับราคาตลาดผลิตภัณฑ์เดียว จะเห็นชัดว่า
ไม่เป็นไท ทั้งไม่ยั่งยืน เหมือนยืมจมูกเขาหายใจ
อนึ่งในภาคการเกษตร
ที่ผลิตเพื่อตลาด ส่งออก มีการปลูกพืชเชิงเดี่ยว แบบฉบับการผลิต ขนานใหญ่
ซึ่งทำด้วยใจขี้โลภ เช่นต้องการให้ออกผล ทุกฤดูกาล และให้ได้มาตรฐาน
ที่ตลาดพึงพอใจ จึงเกิดการใช้สารเร่ง ด้วยเคมี ใช้ยาฆ่าแมลงสูง ผลคือ
ต้องลงทุนหนัก ต้นทุนแพง ถ้าราคาขายตกต่ำ จำต้องขาดทุนเจ็บตัว การผลิตที่ทำเพื่อเม็ดเงินเป็นตัวตั้ง
ดังว่านี้ มักมีปัญหา ตลอด สินค้าก็มีสารพิษปนเปื้อน ดินที่ใส่ปุ๋ยเคมี
หรือสารพิษ ฆ่าแมลง ฆ่าหญ้า ย่อมทำลาย สิ่งแวดล้อม ต้นทุนการผลิต จะต้องสูงขึ้น
ทุกปี
สำหรับเศรษฐกิจพอเพียงที่พึ่งกสิกรรมธรรมชาติ
ปลูกให้พอกินใช้เองทุกสิ่ง แล้วถ้ามีปัญญา ทำให้เหลือเฟือ โดยไม่เปลือง
ต้นทุนแพง ยิ่งสบาย โดยแจกจ่ายแบ่งปัน บ้านใกล้เรือนเคียง ด้วยถ้อยที
น้ำพึ่งเรือ เสือพึ่งป่า ฉะนั้น ผลผลิตที่ได้จาก สวนฟ้า นาบุญ เมื่อเชื่อว่า
นกกิน เป็นบุญ คนกิน เป็นทาน การตลาดอันนี้ จะทำได้ง่าย แม้กรณี ฝนฟ้าดี
พืชผลงาม จนล้นตลาด กสิกร ใจแคบ แบบทุนนิยม จะเดือดร้อน ด้วยลงทุนไว้แพง
บ้างถึงกับเผาไฟ หรือทิ้งน้ำ เพื่อรักษา ราคาตลาด ผิดกันไกล กับเศรษฐกิจพอเพียง
ของที่ล้นตลาด แสดงว่า เศรษฐกิจดี คนจะได้มีกิน มีใช้ได้ทั่วถึง เช่น
ข้าวถูก ชาวนาขาดทุนก่อนบ้าง แต่ก็ดึงราคา ของอื่นให้ถูกลง ตามมา ผลขาดทุน
แต่แรก จึงกลายเป็นกำไร กลับคืนทีหลัง ดังว่านี้ ขาดทุน ของเรา ก็อาจเป็นกำไร
ของเรา ในอีก วาระหนึ่ง ตามนัยพระราชดำริ (Our loss
is our gain) รวมความแล้ว คงพอจะเห็นเค้าว่า การผลิต การแจกจ่าย
และ การบริโภค ในเชิงเศรษฐกิจ พอเพียง จะไม่วุ่นวาย ด้วยการยื้อแย่ง
เอาเป็น เอาตาย เหมือนทุนนิยมเต็มๆ
ดังนั้นการพึ่งตนเอง
จึงนับว่าสำคัญมาก เฉพาะอย่างยิ่งในการผลิต ในขณะที่ทุนนิยม พยายาม
ที่จะหนี งานหนัก สมัครงานสบาย ถ้าฉกฉวย หยาดเหงื่อ ผลงานของใครๆ มาเสวยสุข
ได้ล้นๆ เป็นชอบใจ แทนที่จะละอายใจ การเอาเปรียบ โดยเขาไม่เต็มใจ ซึ่งเท่ากับ
ขโมย ฉ้อฉล ถือเอาลาภ อันมิควรได้ ผิดศีล อทินนาทานนั่นเอง
เรื่องเศรษฐกิจทำมาหากิน
จะทำเป็นอาชีพบุญนิยมหรือบาปนิยม ประมาณใด ย่อมอยู่ที่ มโนธรรม สำนึกดี
มีกี่มากน้อย ในตัวเอง
สรุปประเด็น
เศรษฐกิจพอเพียง หรือบุญนิยม อยู่ที่ใจพอ เห็นคุณค่าแห่งการเสียสละ
และ ละอาย ที่จะเอาเปรียบ ยิ่งเบียดเบียนคนอื่น ให้เสียรู้
หรือ ทำนาบนหลังคน ยิ่งน่าอดสู แต่ละคน ควรพึ่งตน หาเลี้ยงตัวเอง อย่างมีศักดิ์ศรี
คือยินดี มักน้อยสันโดษในการบริโภค แต่ไม่ใช่ในการผลิต หรือ แจกจ่าย
ทำน้อยๆ แค่เอาตัวรอดนั้นไม่พอ มีกำลังทำเต็มที่ มีเหลือ จะได้เจือจาน
แลกขายถูกๆ ไป แม้ในการค้า ระหว่างประเทศ เรามีของดี ราคาถูก เมื่อไม่ขี้โลภ
ที่จะต้องฟัน กำไร ขูดรีดจากใคร เราก็เลือกคู่ค้า ต่างตอบแทน เรามีน้ำใจขายถูกให้ใคร
เขาน่าจะขายถูกให้เราบ้าง แทนที่จะใช้ การค้า
เป็นสงครามเศรษฐกิจ สำหรับ พาณิชย์ บุญนิยม ควรเป็นเศรษฐกิจ บูรณาการ
สร้างสรร ปัญจภาพ คือ อิสรเสรีภาพ ภราดรภาพ สันติภาพ สมรรถภาพ และ
บูรณภาพ
ประเทศไทยจะกระเสือกกระสน
ดิ้นรนเข้าไปแข่งขัน ห้ำหั่นในสงครามสัตว์เศรษฐกิจ เพื่อเป็น ผู้ล่าเหยื่อด้วยคน
หรือ ตกเป็นเหยื่อซ้ำซาก...
เศรษฐกิจบุญนิยม
ทางเลือกทางรอดใหม่ ในกระแสโลกาภิวัตน์ จะอยู่ในสายตา ผู้มีวิสัยทัศน์
สัมมาทิฐิอย่างไร ไฉนบ้าง ขอให้ภูมิปัญญา อันกล้าคิดใหม่ พึงเป็นตัวช่วยชี้ชัด
นวัตกรรม แหวกแนว เหนือโลกทุนนิยม ไม่เชื่ออย่าลบหลู่ ....สาธุ
(เราคิดอะไร
ฉบับที่ ๑๔๙ ธันวาคม ๒๕๔๕)
|