หน้าแรก >[09] การสื่อสาร > การเผยแพร่ธรรมะ >เราคิดอะไร

เศรษฐศาสตร์การเมืองเชิงพุทธ ตอน ๒๓
อิทธิพลของโครงสร้างส่วนลึกทางสังคม



สำนักมาร์กซิสม์ให้คำอธิบายเกี่ยวกับพัฒนาการของระบบสังคมมนุษย์ว่า แบบวิถีการผลิต (mode of production) และความสัมพันธ์ทางการผลิต (production relation) ที่จัดเป็นโครงสร้างส่วนล่างของสังคม (sub-structure) จะเป็น ตัวกำหนด ระบบการเมือง การปกครอง ระบบกฎหมาย ตลอดจนการศึกษา ความคิดความเชื่อทางศาสนา ศิลปวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณี ฯลฯ ที่รวมเรียกว่าเป็นโครงสร้างส่วนบนของสังคม (super-structure)

ทั้งนี้เพราะมีสมมติฐานว่า ภายใต้แบบวิถีการผลิตและความสัมพันธ์ทางการผลิตในลักษณะหนึ่งๆ จะก่อให้เกิด กลุ่มคน หรือชนชั้น ที่ได้เปรียบ กับชนชั้นที่เสียเปรียบ ในโครงสร้างความสัมพันธ์ทางการผลิตนั้นๆ โดยชนชั้น ที่ได้เปรียบ จะทำการขูดรีด (exploitation) เอามูลค่าส่วนเกินจากพลังแรงงาน (surpius value) ของชนชั้น ที่เสียเปรียบ ไปใช้บำรุงบำเรอตนเอง

เมื่อชนชั้นที่ได้เปรียบมีอำนาจทางเศรษฐกิจจากโครงสร้างความสัมพันธ์ทางการผลิตแบบนั้นๆ แล้ว ก็มีแนวโน้ม ที่จะอาศัยพลังอำนาจทางเศรษฐกิจเป็นรากฐานขยายไปสู่การแสวงหาอำนาจทางการเมืองและอำนาจทางสังคม เพื่อค้ำจุนรักษาสถานะที่ได้เปรียบทางชนชั้นดังกล่าวให้มั่นคงยืนยาวที่สุด

ตัวอย่างเช่น ภายใต้แบบวิถีการผลิตและโครงสร้างความสัมพันธ์ทางการผลิตแบบสังคมเกษตรในยุคเดิม ซึ่งที่ดินเป็นปัจจัยสำคัญของการผลิต พวกเจ้าที่ดินก็จะเป็นชนชั้นที่ได้เปรียบ ส่วนพวกไพร่ ทาส หรือชาวนา ที่ต้องอาศัยที่ดินของพวกเจ้าที่ดินทำกิน จะกลายเป็นชนชั้นที่เสียเปรียบ เมื่อปลูกข้าวได้เท่าไร จะต้องแบ่ง ผลผลิตส่วนใหญ่ ที่เกิดจากพลังแรงงานของตนไปเป็นภาษี ส่วย หรือค่าเช่า ส่งให้แก่พวกเจ้าที่ดิน ซึ่งใช้ชีวิต อย่างสุขสบาย โดยไม่ต้องทำงานหนักอะไร เหลือข้าวส่วนน้อยพอให้ครอบครัวของไพร่ ทาส หรือชาวนานั้นๆ ได้กินยังชีพ เพื่อให้มีชีวิตและเรี่ยวแรง สำหรับทำงานสร้างผลผลิต เลี้ยงพวกเจ้าที่ดิน ในวงจรการผลิตรอบต่อๆ ไป

ขณะเดียวกันพวกเจ้าที่ดินก็จะยึดกุมอำนาจทางการเมืองไว้ ใครมีที่ดินมาก สามารถเลี้ยงไพร่พลของตนได้มาก ก็จะมีอำนาจ ทางการเมืองสูง และมีการจัดลำดับชั้น อำนาจทางการเมือง โดยอาศัยขนาดที่ดิน เป็นเครื่องวัด ศักดิ์ฐานะ ตามระบบศักดินา

นอกจากนี้พวกเจ้าที่ดินที่กุมอำนาจทางเศรษฐกิจและการเมืองของสังคมไว้ ก็จะอาศัยอำนาจ ทางการเมือง ออกกฎหมายต่างๆ มาปกป้องผลประโยชน์ของพวกตน เพื่อรักษาโครงสร้างความสัมพันธ์ ทางสังคม ที่ได้เปรียบนั้นๆ รวมทั้งส่งเสริม ลัทธิความเชื่อ ทางศาสนา และการศึกษาอบรม กล่อมเกลาทางสังคม (socialization) ในทิศทาง ที่ปลูกฝัง ให้พวกไพร่ ข้าทาส หรือชาวนา ซึ่งเป็นชนชั้นที่เสียเปรียบ ดังกล่าว ยอมรับ สถานภาพ ทางชนชั้นของตน

เช่น สอนให้เชื่อว่าพระพรหมสร้างวรรณะต่างๆ ขึ้นมา โดยสร้างวรรณะศูทร จากเท้าของพระพรหม ฉะนั้น พวกวรรณะศูทร จึงเกิดมามีหน้าที่ รับใช้วรรณะอื่นๆ และถ้าปฏิบัติตามหน้าที่ แห่งวรรณะของตน ตายแล้ว ก็จะได้ ไปสวรรค์ หรือเป็นเพราะบุคคลผู้นั้น สร้างบุญบารมีมาน้อย ไม่เท่าพวกเจ้าที่ดิน จึงควรจะยอมรับ สภาพกรรม ที่สะสมมา แต่อดีตชาตินั้นๆ ด้วยการทำงานหนัก และมีชีวิตอย่างทุกข์ยากลำบาก เพื่อชดใช้กรรมเก่า ฯลฯ

แต่เมื่อแบบวิถีการผลิตของมนุษย์เปลี่ยนแปลงไป จากการอาศัยเกษตรกรรม เป็นวิธีการผลิตหลัก ของสังคม มาเป็น การทำอุตสาหกรรม เป็นวิถีการผลิตหลัก โครงสร้างความสัมพันธ์ ทางการผลิตของมนุษย์ ก็จะเปลี่ยนไป จากเดิม

เนื่องจากปัจจัยการผลิตที่สำคัญในวิถีการผลิต แบบอุตสาหกรรมอยู่ที่ทุน (capital) ไม่ใช่ที่ดิน เหมือนการผลิต แบบเกษตรกรรม สมัยก่อน คนที่ครอบครอง "ทุน" เอาไว้มากๆ จึงกลายเป็น คนกลุ่มใหม่ ที่เข้ามายึดกุม อำนาจ ทางเศรษฐกิจ แทนที่พวกเจ้าที่ดินแต่เดิม และเกิดโครงสร้าง ความสัมพันธ์ ทางการผลิต ที่นำไปสู่ คู่ความขัดแย้ง ระหว่างชนชั้นชุดใหม่ โดยพวก"นายทุน" จะกลายเป็น ชนชั้นที่ได้เปรียบ ซึ่งสร้างความมั่งคั่ง จนสามารถ ยึดกุมอำนาจ ทางเศรษฐกิจ ของสังคมนั้นๆ ด้วยการขูดรีด มูลค่าส่วนเกิน จากพลังแรงงาน ของชนชั้น กรรมาชีพ ที่ทำงาน ในภาคอุตสาหกรรมต่างๆ (อันเป็นชนชั้น ที่เสียเปรียบ ภายใต้โครงสร้าง ความสัมพันธ์ ทางการผลิต ชุดใหม่นี้)

เมื่อพวกนายทุน มีอำนาจทางเศรษฐกิจมากขึ้นๆ ครั้นจะขยายฐานไปสู่การแสวงหาอำนาจทางการเมือง และ อำนาจ ทางสังคม เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของพวกตนให้มั่นคงยาวนาน ก็ติดที่ระบบการเมือง ในโครงสร้าง ส่วนบน ของสังคม แต่เดิมนั้น ถูกออกแบบมา เพื่อรองรับฐานะ ของชนชั้น เจ้าที่ดินในอดีต เช่น มีการสืบทอด อำนาจทางการเมือง โดยสายโลหิต ซึ่งพวกนายทุน ที่เป็นสามัญชนธรรมดา (ไม่มีเชื้อเจ้า) หมดสิทธิ์ ที่จะเข้าถึง อำนาจ ทางการเมือง เป็นต้น

ภาวะความขัดแย้งระหว่างโครงสร้างส่วนบนของสังคม ที่ไม่สอดคล้อง กับแบบวิถีการผลิต และความสัมพันธ์ ทางการผลิต ชุดใหม่ ในโครงสร้างส่วนล่าง ของสังคม ที่แปรเปลี่ยนไป ทำให้ระบบสังคมนั้น เกิดความตึงเครียด ขาดเสถียรภาพ และในที่สุด ก็จะต้องเกิดการปฏิวัติ เปลี่ยนแปลง ระบบการเมือง ในโครงสร้างส่วนบน ของสังคม เพื่อให้สอดคล้องกับ โครงสร้าง ส่วนล่าง ของสังคม ดังกล่าว

นี่เป็นเหตุผลที่สำนักมาร์กซิสม์อธิบายว่า ทำไมจึงเกิดการปฏิวัติประชาธิปไตยในประเทศต่างๆ ทั่วโลก ภายหลัง จากที่ พลังการผลิต ของประเทศนั้นๆ พัฒนาจากสังคมเกษตรกรรม มาเป็นสังคมอุตสาหกรรม เหตุที่เป็นเช่นนี้ ก็เพราะ การปกครอง แบบประชาธิปไตย เป็นระบอบการเมือง ที่สนองตอบความต้องการ ของชนชั้นนายทุน ได้ดีกว่า การปกครอง ในลัทธิเทวสิทธิ์แบบเดิม (ซึ่งสืบทอดอำนาจทางการเมือง โดยทางสายโลหิต ของพวกเจ้า)

ทั้งนี้ เนื่องจากการปกครองแบบประชาธิปไตยต้องมีการเลือกตั้ง ซึ่งทำให้สามัญชนทั่วไป สามารถมีโอกาส เข้าสู่อำนาจ ทางการเมืองได้ และการรณรงค์เลือกตั้ง จำเป็นต้องอาศัย เงินจำนวนมาก ในการทำงาน เพื่อให้ชนะใจ ประชาชน ในเมื่อพรรคการเมืองต่างๆ ต้องพึ่งพา "เงิน" ในการทำงาน การเมือง ชนชั้นนายทุน จึงมีโอกาส เข้ามายึดกุม อำนาจทางการเมือง ผ่านทางพรรคการเมืองต่างๆ แล้วก็มีอิทธิพล ในการออกกฎหมาย ตลอดจนสนันสนุน ให้เกิด การจัดการศึกษา และการให้การอบรม กล่อมเกลา ทางสังคม ในทิศทางที่จะปลูกฝัง ให้ผู้คนเกิดความศรัทธ ายอมรับ ในความชอบธรรม ของระบบสังคม เศรษฐกิจ การเมืองแบบใหม่ ที่นายทุน สามารถ ที่จะตักตวงเอาผลประโยชน์ จากพลังแรงงาน ของชนชั้นกรรมาชีพ ได้ตลอดไป ภายใต้ปรัชญา ความเชื่อต่างๆ ที่ได้รับการปลูกฝัง ให้เกิดขึ้น เช่น ความเคารพใน "สิทธิแห่งทรัพย์สินส่วนบุคคล" ที่พึงจะได้รับ การปกป้อง คุ้มครองจากรัฐ ตามระบอบเสรีนิยม ประชาธิปไตย เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม กาลเวลาได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า องค์ความรู้ของสำนักมาร์กซิสม์ในการอธิบาย ธรรมชาติของ ระบบ สังคมมนุษย์ จากกรอบความสัมพันธ์ ระหว่างโครงสร้างส่วนล่าง และโครงสร้างส่วนบน สองระดับนั้น เป็นองค์ความรู้ ที่ไม่สมบูรณ์ จึงไม่สามารถนำไปสู่การแก้ไขปัญหา การเบียดเบียน เอารัดเอาเปรียบ ระหว่าง มนุษย์ด้วยกัน ได้อย่างแท้จริง ตรงข้าม กลับนำไปสู่การเบียดเบียน เข่นฆ่าเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน อย่างรุนแรง มากขึ้น ในบางประเทศ ด้วยซ้ำ ดังกรณี การฆ่า ล้างเผ่าพันธุ์ ชาวเขมรไปกว่า ๒ ล้านคน ของพวกเขมรแดง ในช่วงที่ผ่านมา เป็นต้น

ขณะที่พุทธศาสนาชี้ให้เห็นว่า "จิตวิญญาณ" มีความสำคัญในฐานะเป็นประธานของสิ่งต่างๆ และ ความต้องการ ส่วนเกิน หรือกิเลสตัณหาอุปาทานที่แฝงอยู่ในจิตวิญญาณมนุษย์ จะมีอิทธิพล ต่อการกำหนด พฤติกรรม ทั้งหลายทั้งปวง ของผู้คนในสังคม ปฏิสัมพันธ์ของกิเลส ตัณหา อุปาทาน ในจิตวิญญาณ ของมนุษย์ แต่ละคน ที่ถักทอ เป็นโครงสร้าง ส่วนลึกของสังคม (deep structure) จึงมีอิทธิพล อย่างมีนัยสำคัญยิ่ง ต่อการกำหนด แบบวิถีการผลิต แบบวิถีการบริโภค ตลอดจน ความสัมพันธ์ ทางการผลิต ในโครงสร้างส่วนล่าง รวมทั้ง ปรากฏการณ์ต่างๆ ในระบบ การเมือง เศรษฐกิจ สังคม ของโครงสร้างส่วนบน ทางสังคมด้วย

การที่คนกลุ่มหนึ่งมีพฤติกรรมเบียดเบียนเอารัดเอาเปรียบผู้คนอีกกลุ่มหนึ่ง ภายใต้โครงสร้างความสัมพันธ์ ทางการผลิต ของสังคมนั้นๆ อันที่จริงแล้ว ขึ้นกับปัจจัยสำคัญ ๒ ประการ คือ

๑. เป็นเพราะมนุษย์แต่ละคนเกิดมามีสติปัญญาไม่เท่ากัน มีความแข็งแรงต่างกัน ขยันไม่เท่ากัน มีพื้นฐาน การศึกษา ไม่เหมือนกัน ตลอดจนมีโชคเคราะห์หรือจังหวะโอกาสต่างๆของชีวิตดีร้ายแตกต่างกัน พูดรวมๆ ว่ามนุษย์เกิดมามี "ความเก่งและความเฮง" ไม่เท่ากัน ไม่ว่าจะอธิบายความแตกต่างกันนี้อย่างไร เช่น เป็น พรหมลิขิต เป็นดวงชะตา เป็นพระประสงค์ของพระเจ้า เป็นผลวิบากของกรรม หรือเป็นความบังเอิญของชีวิต ฯลฯ แต่ก็คงไม่มีใคร สามารถ ปฏิเสธ "ความเก่งและความเฮง" ที่มนุษย์แต่ละคน เกิดมามีศักยภาพ ไม่เท่ากัน ดังกล่าว

๒. เป็นเพราะมนุษย์มีความต้องการส่วนเกินของชีวิตมากกว่าผลผลิตที่พึงมีพึงได้จากพลังแรงงาน และทรัพยากร ที่ตนมีอยู่ เมื่อเกิดความโลภหรือมีความต้องการเกินประมาณ ประกอบกับ มีศักยภาพ แห่งความเก่ง และ ความเฮง เหนือคนอื่น ตามข้อ ๑. ก็เลยใช้ศักยภาพที่เหนือกว่านั้นๆ เบียดเบียน เอารัดเอาเปรียบ มูลค่าส่วนเกิน จากแรงงาน ของผู้อื่น มาใช้บำรุงบำเรอตัวเอง

ปัจจัย ๒ ประการข้างต้นนี้เป็นตัวกำหนดลักษณะของโครงสร้างส่วนลึกทางสังคม โดยไม่ว่าแบบวิถีการผลิต ของมนุษย์ จะพัฒนาไป ตามความก้าวหน้า ของพลังทางการผลิต อย่างไรก็ตาม ตราบเท่าที่มนุษย์ แต่ละคน มีศักยภาพที่เป็น "ความเก่งและความเฮง" ไม่เท่าเทียมกัน (ตามวิบากของกรรม) และมนุษย์มีความโลภหรือ "ความต้องการส่วนเกิน จำเป็นในชีวิต" มากกว่าผลผลิต ที่พึงมีพึงได้ จากมูลค่าพลังแรงงานของตน ตราบนั้น มนุษย์กลุ่มที่มีศักยภาพ เหนือกว่า ก็จะใช้ศักยภาพของตน เอารัดเอาเปรียบ ตักตวงมูลค่าส่วนเกิน จากพลังแรงงาน ของคนอื่น มาตอบสนอง ความโลภ หรือ ความต้องการส่วนเกิน ในชีวิตของตนเองเสมอ

ด้วยเหตุนี้ถึงจะทำการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงโครงสร้างส่วนล่าง และโครงสร้างส่วนบน ของสังคมอย่างไรๆ จะเปลี่ยน รัฐบาลกี่ชุด เปลี่ยนพรรคการเมืองกี่พรรค เปลี่ยนลัทธิทางการเมืองกี่ลัทธิ เปลี่ยนแบบวิถีการผลิต กี่แบบ ฯลฯ สุดท้าย "แรงสนาม" จากอิทธิพลของโครงสร้างส่วนลึกทางสังคมดังกล่าว ก็จะเหนี่ยวนำ ให้ระบบ สังคมนั้นๆ เกิดโครงสร้าง ความสัมพันธ์ ของการเอารัดเอาเปรียบ ระหว่างกลุ่มคนหรือชนชั้น ที่มีศักยภาพ เหนือกว่า กับกลุ่มคน หรือชนชั้น ที่มีศักยภาพ ด้อยกว่า ตามโครงสร้างของแรงสนาม ที่กำหนดนั้นๆ เสมอ ตราบเท่าที่ ยังไม่ทำการปฏิวัติ เปลี่ยนแปลง โครงสร้างส่วนลึก ทางจิตวิญญาณ ของผู้คน ในสังคมดังกล่าว

เนื่องจากปัจจัยด้านศักยภาพแห่ง "ความเก่งและความเฮง" ของชีวิตแต่ละชีวิตมีไม่เหมือนกัน โดยย่อม เป็นไปไม่ได้ ที่จะบังคับ ให้ทุกคน ฉลาดเท่ากัน ขยันเท่ากัน มีความรู้ความสามารถเท่าเทียมกัน หรือ มีความเก่ง และ ความเฮง ที่คล้ายคลึงกัน เราจึงไม่สามารถควบคุม การเปลี่ยนแปลง ของโครงสร้างส่วนลึก ทางสังคม จากองค์ประกอบ ส่วนนี้

อย่างไรก็ตามเราสามารถควบคุมความต้องการส่วนเกิน หรือกิเลสตัณหาอุปาทาน ในจิตวิญญาณ ของมนุษย์ได้ ดังตัวอย่าง กรณี เจ้าชายสิทธัตถะที่พระองค์ทรงมีศักยภาพที่จะเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ และสามารถใช้อำนาจ ตักตวง เอาความมั่งคั่ง จากพลังแรงงานของผู้คน ในราชอาณาจักร เพื่อมาบำรุงบำเรอ พระองค์เอง ให้ทรงใช้ ชีวิตที่ฟุ้งเฟ้อ สุขสบาย อย่างไรก็ได้ แต่พระองค์กลับสละวิถีชีวิตแบบนั้น (เพราะมีความต้องการ ส่วนเกิน ของชีวิตน้อย) โดยทรงพอใจ กับการใช้ชีวิต อย่างมักน้อย สันโดษ เยี่ยงคนยากจน ที่มีฐานะ ยากจนที่สุด ทั้งหลาย กินอาหาร แค่วันละมื้อ จากการเที่ยวภิกขาจาร มีสมบัติเพียงบาตร ๑ ใบและผ้าจีวร ๓ ผืน

ขณะที่ทรงใช้พลังแรงงานที่มีอยู่ในการเกื้อกูล ทำประโยชน์ช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ โดยไม่หวังสิ่งแลกเปลี่ยน ตอบแทน และ ก็ทรงสามารถ ช่วยมนุษย์คนอื่นๆ จำนวนมาก ให้มาลดละความต้องการส่วนเกิน ของชีวิตได้ เหมือนพระองค์ด้วย จนเกิดเป็นสังคมสงฆ์ขึ้น ในมวลหมู่มนุษย์ อันเป็นหลักฐานพิสูจน์ยืนยัน ให้เห็นว่า มนุษย์สามารถควบคุม ความต้องการ ส่วนเกิน ในจิตวิญญาณ ที่ถักทอ เป็นโครงสร้างส่วนลึก ของสังคมได้

การพัฒนาองค์ความรู้ที่ช่วยให้เข้าใจธรรมชาติ ของโครงสร้างส่วนลึกทางสังคม เพื่อที่จะควบคุม "แรงสนาม" ของโครงสร้างส่วนลึก ทางสังคมดังกล่าว จากการลดความต้องการส่วนเกิน ในจิตวิญญาณ ของมนุษย์ ให้น้อยลง จึงเป็นองค์ความรู้ ที่มีความสำคัญยิ่ง ต่อการแก้ไขปัญหา ความขัดแย้ง และ การเบียดเบียน เอารัดเอาเปรียบกัน ในโครงสร้าง ส่วนล่าง และโครงสร้างส่วนบนของสังคมมนุษย์ (ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ ที่เกิดจาก การเหนี่ยวนำ ของแรงสนาม ในโครงสร้างส่วนลึก ทางสังคมนั้นๆ)

อ่านต่อฉบับหน้า

 

(เราคิดอะไร ปีที่ ๙ ฉบับที่ ๑๕๐ มกราคม ๒๕๔๖)