คิดคนละขั้ว
- แรงรวม ชาวหินฟ้า -
ค้นหาแนวคิด
"หลุดโลก"
ของท่านนายกฯทักษิณ (ตอนจบ)
คำว่า "คิดใหม่-ทำใหม่"
ดูเหมือนจะเป็นคำพูดติดปากของคนสังคมยุคปัจจุบัน โดยเฉพาะ เมื่อเจอทางตัน
หรือเจอปัญหา ซ้ำซาก ที่แก้ไม่ตก ก็จะมีการเสนอทางออก ด้วยการ"คิดใหม่-ทำใหม่"
เพื่อให้เกิดสิ่งใหม่ๆ ในโลกในสังคม ที่นิยมเรียกกันว่า "นวตกรรม"
ท่านนายกฯ มักจะนำเสนอ ทางแก้ปัญหา โดยให้มีการคิด "แบบหลุดโลก"
หรือให้รู้จัก การคิดแบบ นอกกรอบ แต่ก็มีหลายๆ คนเป็นห่วงว่า ความคิดนอกกรอบนั้น
มันก็อยู่ยังอยู่ ในกรอบ ของการ "กอบโกย" หรือเปล่า?? และ
หลายๆ คนก็เข็ดขยาด กับการฝันร้าย ในการพุ่ง ทะยานไป เป็นเสือตัวที่
๕ ทำอย่างไร จึงจะเฟ้นหา แนวคิดที่ "หลุดโลก" อันพึงประสงค์ได้
ก่อนอื่น คงต้องมาศึกษาแนวความคิดทางเศรษฐกิจแบบนอกกรอบ ของท่านนายกฯทักษิณ
ซึ่งได้บรรยายพิเศษ ที่โรงเรียนผู้นำ ของมูลนิธิพลตรีจำลอง ศรีเมือง
เมื่อวันที่ ๓ พฤศจิกายน ๒๕๔๕ ให้แก่ผู้บริหาร สภาอุตสาหกรรม แห่งประเทศไทย
มีประเด็นสำคัญสรุปได้ดังนี้
วันนี้ประเทศไทยต้องการมากคือพลังและความคิดเห็นที่สร้างสรรค์ แต่สังคมเรา
มีจุดอ่อนมีขี้เยอะ ทั้งขี้บ่น ขี้รำคาญ ขี้ลืม ทุกขี้เลย ทำให้บางครั้ง
คนทำงาน มักจะถูกตำหนิ เพราะหนักมากเรื่องความคิด ในเชิงลบ มีมากกว่าความคิด
ในเชิงบวก เพราะอย่างนั้น บางครั้ง สังคมไทยทำให้เสียกำลังใจ ความคิดใช้ผิดข้าง
แทนที่จะคิดว่า ทำอย่างนั้น ทำอย่างนี้สิ แต่กลับบอกว่าแย่ ผมตัดไม่ดี
เดินไม่เท่ หวีไม่เนี้ยบ มีหนังสืออยู่เล่ม ชื่อ
อินโนเวชั่น บาย ดีไซน์ (Innovation by design)
บอกว่า นวัตกรรม แห่งความคิดที่สร้างสรร
เป็นพลังงานที่เติมให้องค์กร ขับเคลื่อนได้ดี เป็นพลังที่สำคัญ
แต่ต้องหันกลับ มามองดูว่า ทำอย่างไรให้มีพลัง เขาบอกว่า ต้องสร้างบรรยากาศ
ขององค์กร ให้เกิดความคิดที่สร้างสรร
ผู้นำที่ดีต้องปลดปล่อย พลังของคนในองค์กรได้ เพื่อให้เกิดความคิดสร้างสรร
หากปลดปล่อยไม่ได้ ความคิดสร้างสรร ก็ไม่เกิด หากตามอยู่กับความคิดเดิมก็จบ
ต้องหาความคิดใหม่ อย่าคิดว่า เราคิดได้อยู่คนเดียว ปัญหาต่างๆ ต้องใช้สมอง
ของคน ทั้งองค์กร โดยเฉพาะระบบราชการ ที่มุ่งระเบียบวินัย ทำให้ขาดความสร้างสรร
เพราะทุกคน จะทำตามคำสั่ง จึงสร้างวัฒนธรรมองค์กร ที่ไม่มีความคิดริเริ่มสร้างสรร
นานเข้าก็แกะยาก นี่คือจุดอ่อนของระบบราชการ และองค์กรใหญ่ๆ ดังนั้น
จะทำอย่างไร จึงจะให้ผู้นำทุกระดับชั้น ของคนในองค์กร ช่วงนี้วิธีคิดเปลี่ยนแปลงไป
การมีส่วนร่วม มีประชาธิปไตย มีมากขึ้น
การทำธุรกิจก็เหมือนกัน พอเปลี่ยนแล้วจะเกิดความคิดสร้างสรรมากขึ้น
วันนี้โลก เกิดอะไรมากขึ้น ของไทยก็เริ่มมีใหม่ๆ เพราะว่า เราปลดปล่อย
อย่างนโยบาย หนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ ที่แต่เดิม ไม่กล้าคิด หรือคิดแล้ว
ไม่มีทุน วันนี้ปลดปล่อย ความคิด ของชาวบ้าน ได้คิดได้ขายได้ทำ ทุกสมองมีค่า
แต่จะทำอย่างไร ที่จะกระตุ้น ให้สมองมีพลัง เชื่อผมเหอะ ถ้าเราขยันฟัง
เราจะได้ประโยชน์ ต้องอดทน คนเราอาจ จะพูดอะไรโง่ๆ เป็นล้านครั้ง แต่ในล้านครั้งนั้น
จะมีสักครั้ง ที่เป็นความคิดฉลาด
เมื่อก่อน มีลูกน้องผมที่บริษัททำงาน แล้วล้มเหลว โดนเจ้านายด่า วิ่งมาหาผม
ผมก็บอกว่า หากผิดพลาด เพราะความตั้งใจ ทำงาน กล้าทำก็เป็นธรรมดา ตอนนั้นขาดทุน
๕๐-๖๐ ล้านบาท มาตอนหลัง เด็กคนนี้ ไปทำอีกเรื่องหนึ่ง ทำกำไร ๗-๘
ร้อยล้านบาท วันนั้น ถ้าด่าซ้ำคงฝ่อ มีเลขาฯ ผมอยู่คนหนึ่ง กล้าที่จะห้ามผม
เตือนผม เวลาเราไม่รู้ แต่บางครั้ง มีนักวิชาการ พูดผิด ผมแย้ง ไม่ใช่ไม่รับฟัง
แต่เพราะชาวบ้านฟังด้วย นักวิชาการบางคน ไม่ใช่นักวิชาการจริง ไม่รู้จริง
ไม่อ่านหนังสือ ไม่พัฒนาความรู้ ไม่ทำวิจัย ใช้ความรู้สึกพูด ตำราที่ใช้ก็ล้าสมัยไปแล้ว
อย่างนี้ต้องเตือน เพราะสังคมจะเข้าใจผิด
แต่หากมาเตือนผมตัวต่อตัว ผมก็จะไม่ว่า อะไรเลย ผมจะขอบคุณ นอกจาก
คนที่คิดแผลง แบบสร้างสรร์ผมชอบ ต้องเลี้ยงไว้ อย่างคุณปลอดประสพ (สุรัสวดี
ปลัดกระทรวง ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม) คนอื่นไม่เอา แต่ผมเลี้ยงได้
เขาเป็น Constructive marverrick มีความคิดดี พูดตรง แต่พูดไม่เข้าหูคน
โผงผางไป แต่ผมไม่ชอบแบบว่า ตามอย่าง เจ้านายทุกอย่าง ชนิด ดีครับท่าน
ดีครับนาย ประเภท เอาลูกชิ้นเข้าปาก ถ่ายออกมา เป็นลูกชิ้น พวกนี้ไม่ย่อย
สังคมไทยเป็นสังคมชอบก๊อบปี้ อย่าง ก๋วยเตี๋ยวเรือรังสิต เป็ดพะโล้
นครชัยศรี มีตั้งเรียงกัน เป็นแถว เลียนแบบกันหมด ซึ่งองค์กร ที่จะสร้างวัฒนธรรมองค์กร
ให้เกิดความคิดสร้างสรร ต้องนิยม ความคิดริเริ่ม ซึ่งต้องเริ่มกัน
ตั้งแต่ที่โรงเรียน ครูอย่าคิดว่า ฉลาดกว่าเด็ก หากครู คิดอย่างนั้น
พรุ่งนี้ ครูตื่นขึ้นมาก็โง่แล้ว เพราะเด็กทุกวันนี้ รับข้อมูลข่าวสารมาก
โดยเฉพาะ จากอินเทอร์เน็ต โลกวันนี้ หมุนเร็ว จะรับเรื่องใหม่สมองต้องเปิดกว้าง
ใจกว้าง รับฟัง ทั้งหมด
โลกข้างหน้า องค์กรจะร้ายก็ด้วยพลังงานสมอง วันนี้เมื่อหันมามองประเทศไทย
ถามจริงๆ อย่าพูด อย่างหลงตัวเอง มีอะไรที่หนึ่งบ้าง
ด้านการเกษตร ธรรมชาติของเรา ก็ล่มสลาย
ไปหมดแล้ว น้ำท่วม ทุกปี เสียหายหลายพันล้านบาท ด้านวัฒนธรรม ก็หายไป
ไม่มีเหลือ ชาตินิยมของไทยจึงเสื่อม ซึ่งชาตินิยม เป็นหัวใจสำคัญ ของเศรษฐกิจ
ทุนนิยม แต่ทุกวันนี้ ระบบการศึกษาของไทย ละทิ้ง วัฒนธรรมหมด ส่วนด้านเทคโนโลยี
ก็ก๊อบปี้ทุกอย่าง พื้นฐานต่างๆ ไม่มีการพัฒนา แล้วจะทำอย่างไร ที่จะยกระดับ
ธุรกิจของคุณ ซึ่งการจะมี ความคิด สร้างสรร จึงต้อง คิดนอกกรอบ หากคิดในกรอบ
ก็จะอยู่แต่ เรื่องเดิมๆ เพราะจิต ที่ว้าวุ่นจะคิดไม่ออก ต้องใช้คนที่มีความรู้หลายๆ
คนมาช่วยกันคิด ใช้ความคิด หลากหลาย แล้วผู้นำต้องนำมาตกผลึก ต้องร้ายด้วยสมองเท่านั้น
ผมจะเล่าให้ฟังถึงกระแสของโลกตอนนี้ว่า ตอนนี้โลกจะเกิดการค้าเสรีแน่นอน
ดังนั้น ต้องรีบโดยสาร ไปในรถไฟขบวนนี้ โดยต้องนั่งแถวหน้า แล้วร่วมคิดแนวทาง
ไม่อย่างนั้น อันตราย หากคิดช้าเจ๊ง ดีลกับ ประเทศเล็กๆ ไม่ดีลประเทศใหญ่ก็เจ๊ง
ผมในฐานะนายกฯ ต้องมองภาพรวม จะห่วงบางเซ็กเตอร์ ไม่ได้ แต่ก็ต้องปรับปรุงเซ็กเตอร์
ที่อ่อนแอ เรื่องที่สอง คือ ตอนนี้ทุกประเทศ เน้นเรื่องการท่องเที่ยว
เราจึงต้อง เน้นเรื่องเที่ยว
ผมมั่นใจว่าเศรษฐกิจเราไปได้ แต่ห่วงเศรษฐกิจ ๑๐ ปีข้างหน้า ซึ่งต้องเร่งเติมทุน
ทางปัญญา ให้กับ สังคมไทย ให้เร็วที่สุด นักอุตสาหกรรม จะต้องเตรียมตัว
ปรับองค์กร ของตัวเอง ในเรื่องนี้ด้วย เพื่อพัฒนา ให้มีการเรียนรู้
ตลอดเวลา เราจะต้องรู้ว่า อะไร จะเกิดขึ้น ในปี ๔๗ (มติชน
๓ พ.ย. ๒๕๔๕)
เพื่อความสมบูรณ์ในการเฟ้นหาแนวความคิดนอกกรอบอันพึงประสงค์ ก็คงต้องนำ
มุมมองของ คุณวิทยากร เชียงกูล ผอ.ศูนย์วิจัยด้านสังคมศาสตร์
มหาวิทยาลัยรังสิต ซึ่งมีแนวความคิด ต่างขั้ว ที่น่ารับฟังอย่างยิ่ง
โดยมติชนวันที่ ๑๒ พ.ย. ๒๕๔๕ ได้นำเรื่อง จะพัฒนา แบบอย่างยั่งยืนได้
ต้องเปลี่ยน กรอบคิด การพัฒนาแบบกอบโกย ดังต่อไปนี้
รัฐบาลคิดว่า ตัวเองฉลาด เก่ง และกำลังพัฒนาเศรษฐกิจแบบสมัยใหม่ (กอบโกย)
โดยอ้างว่า เพื่อจะได้ไปฉุดคนส่วนใหญ่ ให้มีงานทำ และรวยขึ้น แต่จริงๆ
แล้วรัฐบาล ฉลาดเพียงบางส่วน คือ การเพิ่มผลผลิต และการค้าขาย ในระบบแข่งขัน
แบบปลาใหญ่ กินปลาเล็ก แต่ไม่ได้มีความเข้าใจ ปัญหาการพัฒนาประเทศในมิติต่างๆ
(เศรษฐกิจ ภาคประชาชน การพัฒนาทางสังคม และวัฒนธรรม) อย่างเชื่อมโยง
เป็นระบบองค์รวม และไม่ได้มีจิตสำนึก ที่จะพัฒนาเศรษฐกิจสังคม แบบยั่งยืน
เพื่อคุณภาพชีวิต คนส่วนใหญ่ ในระยะยาว แต่อย่างได
ประเด็นที่รัฐบาลและชนชั้นนำคิดว่า ถ้ายิ่งทำให้เศรษฐกิจเติบโตแล้ว
จะยิ่งทำให้ คนมีงานทำ มีรายได้ มากขึ้น เป็นเพียงทฤษฎี ซึ่งพิสูจน์ให้เห็นว่า
ล้มเหลว มาแล้ว ในหลายประเทศ เพราะเป็น การพัฒนาแบบ ล้างผลาญทรัพยากร
ทำให้ชุมชน และ ครอบครัว อ่อนแอด้วย ที่ส่งเสริม ให้ทุนต่างชาติ นายทุน
และชนชั้นกลาง ส่วนน้อย รวยขึ้น แต่คนส่วนใหญ่ ของประเทศ ยากจน ทั้งคุณภาพชีวิตแย่ลง
วันนี้ที่รัฐบาลอยากจะวางท่อก๊าซที่ภาคใต้ อยากสร้างโรงไฟฟ้าเพิ่ม
อยากทำเขื่อน กักเก็บน้ำ ฯลฯ เพื่อเพิ่มผลผลิต ที่จะขายได้ ล้วนเป็นการคิด
ในกรอบคิด ของการพัฒนา แบบกอบโกยทั้งนั้น พวกเขา มองข้าม การพัฒนาเศรษฐกิจ
แบบยั่งยืน โดยสิ้นเชิง แม้แต่ความสนใจ เรื่องเกษตรกรรมยั่งยืน หรือ
เกษตรทางเลือก ของบางหน่วยงาน ก็เป็นความสนใจ ภายใต้กรอบคิดใหญ่ ที่มุ่งผลิตเพื่อขาย
เพื่อหากำไรสูงสุด และ การบริโภคสูงสุด อยู่นั่นเอง หรือสนใจแค่ เพื่อใช้เป็น
เครื่องมือโฆษณา สร้างภาพ ตามกระแสนิยม มากกว่าที่จะสนใจ พัฒนาเกษตรทางเลือก
หรือ เทคโนโลยีทางเลือก สำหรับ คนทั้งประเทศ ทั้งระบบโครงสร้าง
การพัฒนาแบบยั่งยืน ไม่ได้คิดในเชิงย้อนยุค หรือปฏิเสธการค้าและบริโภค
ไม่ได้ปฏิเสธ การใช้ความรู้ ในการจัดการ สมัยใหม่ เพียงแต่เรียกร้อง
ให้ลดสัดส่วนการค้า และบริโภค ที่ฟุ่มเฟือย ทำลายสิ่งแวดล้อม และคนส่วนใหญ่
ที่เสียเปรียบลง การพัฒนา แบบยั่งยืน จริงๆ แล้ว ฉลาดกว่า มองการณ์ไกลได้มากกว่า
การพัฒนา แบบกอบโกย ในแง่ที่ว่า นักพัฒนา แบบยั่งยืน ตระหนักว่า ในขณะที่
ประชากร เพิ่มขึ้น และ ทรัพยากรต่างๆ มีจำกัด และร่อยหรอ หรือ ถูกใช้หมดไป
เราจำเป็น ต้องคิดถึง การพัฒนา แบบใหม่จริงๆ ที่รู้จัก ใช้ทรัพยากร
อย่างมีประสิทธิภาพ และ อย่างทะนุถนอม ให้ยั่งยืน อยู่ได้นาน และ แบ่งปันกัน
อย่างยุติธรรม เลือกการผลิต ที่เพิ่มการจ้างงาน และ ทรัพยากร ภายในประเทศ
ใช้เทคโนโลยี เหมาะสม ให้ประชาชน ได้บริโภคสิ่งที่จำเป็น อย่างทั่วถึง
และทำลาย สิ่งแวดล้อมน้อยลง
เป้าหมายหลักของการพัฒนาแบบยั่งยืน คือต้องทำสังคมวัฒนธรรม ให้เป็นสันติ
ประชาธรรม มีสภาพ แวดล้อมที่ดี แทนที่จะเป็น สังคมบ้าวัตถุ แก่งแย่งแข่งขัน
ดีแบบ เห็นแก่ตัว เอาเปรียบกันโกงกัน ฆ่ากัน เมื่อไม่พอใจกัน ฯลฯ อย่างที่เป็นอยู่
ในกระแส การพัฒนา แบบกอบโกย ในปัจจุบัน
นอกจากนี้ยังมีความห่วงใย จากคุณ สมพงษ์ จิตระดับ
สุอังคะวาทิน คณะคุรุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย ได้สะท้อนให้เห็น
ถึงภาวะสังคม ในปัจจุบัน ที่เน้นแต่ "ทุนทางเศรษฐกิจ"
โดยไม่เอาจริง เอาจัง กับ "ทุนทางสังคม" ทำให้
"ประเทศไทย ใกล้สิ้นชาติพันธุ์" ด้วยภาวการณ์ ดังต่อไปนี้
นับวันสังคมไทยดูจะอ่อนแอ ผุกร่อน และไร้ความมั่นคงมากขึ้นตามลำดับ
เด็กไทย ในกระบวนการ ค้ายาบ้า ๒-๓ ล้านคน ยาบ้าหาได้ทุกพื้นที่ ทุกแห่งที่ต้องการ
เด็กหญิง-ชายกว่า ๑๕ % เรียนรู้เรื่องเพศ เร็วกว่าวัยที่ควรจะเป็น
ดำเนินชีวิต ขายบริการแอบแฝง เพื่อยาเสพติด สินค้าแพงมียี่ห้อเพิ่มมากขึ้น
จนน่าตกใจ สื่อลามก อนาจาร แผ่นวิดีโอโป๊ ขายกัน เกลื่อนเมือง ราคาถูก
หาได้ง่าย มีเว็บโป... ลามก อนาจาร วิตถารทางเพศกว่า ๔๐๐,๐๐๐ เว็บ
ผ่านเครือข่าย อินเทอร์เน็ต ที่เด็กเปิดดูกัน อย่างเสรี ซึมซับ ความรุนแรง
และ เซ็กซ์แบบวิตถาร ไร้ตัวตน ยุวอาชญากร การเลียนแบบ เกิดขึ้น ในจังหวัดใหญ่ๆ
ทุกภูมิภาค แก๊งซามูไรที่เชียงใหม่ ลำปาง แก๊งแข่งรถซิ่ง เอาความมัน
รวดเร็ว เป็นหลัก สร้างความเดือดร้อน ที่จังหวัดนนทบุรี และเขตปริมณฑล
เด็กโตกรรโชกทรัพย์มือถือเด็กเล็ก ผู้หญิงที่สู้ไม่ได้ ตามห้างสรรพสินค้าศูนย์การค้า
เกิดขึ้นเกือบทุกแห่ง ในยามค่ำคืน มีการโทรมเด็กวัยรุ่นหญิง เป็นว่าเล่น
ตามแหล่ง บันเทิง ต่างๆ RCA ที่มีการเลียนแบบ
เปิดกัน ทั่วประเทศ เด็กมีความเป็นไทย ในสายเลือด เจตคติ ค่านิยม คุณค่าตนเองลดน้อยลง
ตามลำดับ คลั่งไคล้ วัฒนธรรม ตะวันตก และญี่ปุ่น
จนเป็นเด็กไทยพันธุ์ใหม่ ขี้เกียจทำงาน ติดยาบ้า มั่วสุมแต่เรื่องเพศ
เที่ยวเตร่ ตื่นสาย ไม่ชอบการบังคับ ใช้จ่ายเกินตัว ไม่เชื่อเรื่อง
บาปบุญ คุณโทษ
การทุจริตคอร์รัปชั่นเกิดขึ้นทุกระดับ ปุ๋ย ข้าว โค กระบือ ทางด่วน
ทุกเรื่อง ล้วนหาคนผิด จริงไม่ได้ มีแรงงาน ต่างด้าว มาเฟียท้องถิ่น
อาศัยเป็นที่ทำกิน ก่ออาชญากรรม ไม่น้อยกว่า ๓ ล้านคน
นี่เรากำลังจะสูญสิ้นชาติพันธุ์ของความเป็นไทยแล้วจริงๆ หรือ
(มติชน ๒ ธันวาคม ๒๕๔๕)
บทสรุปความคิดหลุดโลกหรือนอกกรอบอันพึงประสงค์ น่าจะเป็นการพัฒนายั่งยืน
แบบบูรณาการ ไม่ใช่เป็นการพัฒนา ที่ดิ่งไปในทางใดทางหนึ่ง เราจะเห็นได้ว่า
ประเทศที่ มุ่งเน้นพัฒนา แต่ทางด้าน เศรษฐกิจ จะเต็มไปด้วยปัญหา ยาเสพติด
ปัญหาคน ฆ่าตัวตาย ผู้คนไม่มีศาสนา และศีลธรรม สังคมไทย ในปัจจุบัน
ก็กำลังเจริญรอย ตามประเทศเหล่านี้ อย่างบ้าดีเดือด
มีเสียงคัดค้านมานานแล้วว่า การค้าแบบเสรีดีเฉพาะประเทศที่ได้เปรียบ
หรือใหญ่กว่า ประเภท ปลาใหญ่ ไล่ปลาเล็ก ปลาเล็กก็มีแต่ ถูกเอาเปรียบ
ตลอดเวลา เราน่าจะเลือก การค้า แบบอิสรเสรี ที่ไม่เป็นทาส ของกิเลสตัณหา
โดยเฉพาะ ไม่เป็นทาส ของเงินตรา เป็นการค้าแบบไทไท (ไท=อิสรเสรี) ที่เน้นความสมบูรณ์
ให้แผ่นดิน เน้น อาหารที่ดี ไร้สารเคมี ให้คนกิน (เพราะเอาเงิน เป็นตัวตั้ง
ชาวไร่ ชาวนา จึงต้องใช้ยาฆ่าแมลง และ สารเคมี เพื่อเร่งผลผลิต ให้ได้เงินมามากที่สุด
โดยไม่คำนึง ถึงชีวิต ของผู้บริโภค)
และถ้าประเทศไทยมีแต่พืชผักไร้สารพิษปราศจากสารเคมี เมื่อถึงเวลานั้นท่านนายกฯ
คงไม่ต้อง เสียเวลา ตะลอนๆ ไปทั่วโลก คอยนั่งรับแขก ที่เป็นทูตานุทูตการค้า
จากต่างประเทศ อย่างเดียว ก็ไม่ไหวแล้ว ถ้าเรามีสินค้าที่ดี มีราคาถูก
ใครๆ ก็ต้องวิ่งมาซื้อ และเมื่อนั้น ประเทศไทย ก็จะได้ชื่อว่า เป็นแหล่งอาหาร
ที่อุดมสมบูรณ์ของโลก ที่ทุกประเทศ ต้องให้ความยำเกรง เพราะการค้า
แบบอิสระเสรี ที่ไม่เห็นแก่เงิน ของเรานั้น เราย่อม พิจารณาให้ใคร
หรือ ช่วยเหลือใคร ก็ได้อยู่แล้ว
และเมื่อนั้นเศรษฐกิจพอเพียงที่เน้นการพึ่งตนเองได้
ก็จะไม่เป็นแค่ปรัชญา ที่ยกมาพูดกันโก้ ในบางช่วงขณะ อีกต่อไป และจะได้พัฒนาเป็นเศรษฐกิจ
แบบยั่งยืน ที่ออกนอกกรอบ เศรษฐกิจ แบบกอบโกย ซึ่งมีกันอยู่ ทั่วโลก
ในทุกวันนี้
(เราคิดอะไร
ปีที่ ๙ ฉบับที่ ๑๕๐ มกราคม ๒๕๔๖)
|