หน้าแรก >[09] การสื่อสาร > การเผยแพร่ธรรมะ >เราคิดอะไร

กติกาเมือง- ประคอง เตกฉัตร -
ธนาคารพระพุทธศาสนา

ผู้เขียนพยายามตั้งสติอยู่นานว่าจะเขียนเรื่องนี้หรือไม่ ด้วยเหตุผลว่า ถ้าเขียนแล้ว สถานการณ์ ของพระพุทธศาสนา จะดีขึ้น หรืออาจจะทำให้ภาพพจน์ในวงการพระพุทธศาสนา แย่ลงไปอีก หรือเป็นการบั่นทอน ความศรัทธา ในบวร พระพุทธศาสนา ที่มีศาสนิก ตามทะเบียนบ้าน อยู่จำนวนมาก เพราะคำว่าธนาคาร ตามความรู้สึก นึกคิด ของชาวบ้าน หรือชาวพุทธ ทั่วไปแล้ว หมายถึง ผู้ที่มีทรัพย์สินเงินทอง ค่อนข้างมาก ซึ่งเป็นการขัดกับ ภาพพจน์ ของพระพุทธศาสนา ที่ต้องให้พระภิกษุ สละบ้านช่อง เรือนชาน ทรัพย์สินศฤงคาร ตลอดจน เครือญาติน้อยใหญ่ มาอุทิศตน อยู่ง่ายกินง่าย ดำรงตนอย่างเรียบง่าย เพื่อเผยแผ่ พระพุทธศาสนา แต่หลังจาก คิดอยู่หลายคืน ได้ตัดสินใจ ว่าในฐานะ ชาวพุทธคนหนึ่ง เมื่อมีความรู้สึก นึกคิด และเป็นห่วง อย่างไรแล้ว น่าจะแสดง ความคิดเห็นไว้ จะนิ่ง ไม่ยอมปริปากพูด น่าจะเป็นการไม่ถูกต้อง ถ้าต่อไป เกิดความ เสียหายต่อสถาบัน ในพระพุทธศาสนา ในกรณีนี้ ก็ได้ชื่อว่าเรามีส่วน ในการไม่ดูดำดูดีอยู่ด้วย แต่ถ้าแสดง ความคิดเห็น ท้วงติงไว้แล้ว ผู้เขียน ก็สบายใจได้ระดับหนึ่งว่า ถึงอย่างไร เราก็ ไม่มีส่วน ทั้งได้พูดท้วงติง คัดค้าน และพยายาม แสดงความคิดเห็นไว้แล้ว

คำว่า ธน (อ่านว่า ทะนะหรือทน) ถ้าเป็นคำนามแปลว่าทรัพย์สิน ถ้าธนบัตร (ทะนะบัด) เป็นคำนาม แปลว่า บัตรที่ใช้แทนเงินตรา ซึ่งรัฐบาลเป็นผู้ออกให้ชำระหนี้ ได้ตามกฎหมาย ไม่จำกัดจำนวน ส่วนธนสมบัติ (ทะนะสมบัด) เป็นคำนามหมายถึง การถึงพร้อมแห่งทรัพย์, ทรัพย์สมบัติ ธนสาร (ทะนะสาน) เป็นคำนาม แปลว่า ทรัพย์สมบัติ ที่เป็นแก่นสาร ส่วน ธนาคารเป็นคำนาม แปลว่า บริษัทจำกัด ซึ่งได้รับอนุญาต จากทางการ ให้ทำการค้า เกี่ยวกับ เงิน ได้แก่ การรับฝากเงิน การจ่ายเงินตามเช็ค แลกเปลี่ยนเงินตราระหว่างประเทศ ให้กู้ยืม เงินเป็นต้น ส่วนธนาคารโลก เป็นคำสามัญ เรียกธนาคาร ระหว่างประเทศ เพื่อบูรณะ และ วิวัฒนาการ ซึ่งทำหน้าที่ ให้กู้ยืมเงิน แก่ประเทศ ที่เป็นสมาชิกของธนาคาร เพื่อการพัฒนาการ ทางเศรษฐกิจในประเทศของตน และให้ความ ช่วยเหลือ ทางวิชาการ ธนาคารนี้ ไม่รับฝากเงิน

ขณะนี้ มีข่าวการเคลื่อนไหวที่จะจัดระเบียบสมบัติส่วนกลาง ของพระพุทธศาสนา ซึ่งมีทรัพย์สิน รวมเป็นมูลค่า กว่าหนึ่งหมื่นล้าน โดยเฉพาะเงินสด มีประมาณสองพันล้าน โดยมีข่าวว่า มีผู้เสนอตั้งธนาคาร พระพุทธศาสนา มาจัดหาผลประโยชน์ จากเงินทอง และ ทรัพย์สิน ดังกล่าว ความคิดนี้ ได้มีการพูดคุยกัน ในการประชุม พระสังฆาธิการ ทั่วประเทศ ๔๕๐ รูปที่จัดขึ้น ที่พุทธมณฑล เมื่อปลายเดือนพฤศจิกายน ๒๕๔๕ ถ้าต่อไป มีผู้เห็นด้วย ก็จะนำเข้าที่ประชุม ถ้าที่ประชุมเห็นด้วย ที่ประชุม ก็จะต้องนำความเห็นดังกล่าวนี้ เสนอต่อ มหาเถรสมาคม เพื่อขอความเห็นชอบ หลังจากนั้น จะเสนอรองนายกรัฐมนตรี ซึ่งปัจจุบันนี้ ดร.วิษณุ เครืองาม เป็นรองนายกรัฐมนตรีผู้กำกับ ดูแลงานพระพุทธศาสนา เพื่อให้ที่ประชุม คณะรัฐมนตรี อนุมัติในขั้นสุดท้าย แต่เมื่อไม่นานมานี้ ท่านรองนายก ดร.วิษณุ ได้ออกมา ให้สัมภาษณ์ หนังสือพิมพ์แล้วว่า ไม่มีนำเรื่องการก่อตั้ง ธนาคารพระพุทธศาสนา ตามที่เป็นข่าว ในหนังสือพิมพ์ เข้าที่ประชุม

ไม่ว่าจะมีการเสนอตั้งธนาคารพระพุทธศาสนาหรือไม่ก็ตาม ผู้เขียนไม่แน่ใจว่า ธนาคาร พระพุทธศาสนา ที่มีผู้คิดเสนอ ความคิดจะมีลักษณะ ในรายละเอียดอย่างไร แต่ถ้าจัดตั้ง ธนาคารขึ้น เพื่อทำธุรกิจเช่นเดียวกับ ธนาคารพาณิชน์ทั่วไป ตามที่ผู้เขียนอธิบายไว้แล้ว ดังกล่าวข้างต้น ผู้เขียนเห็นว่า แม้ว่าบุคคล ตาบอด ที่ได้ศึกษา พระพุทธศาสนา มาบ้าง พอสมควร ก็ยังพยากรณ์ได้ว่า อะไรจะเกิดขึ้น กับทรัพย์สิน และเงินทองกองนี้

เหตุการณ์เมื่อ ๓ ถึง ๔ ปีที่ผ่านมานี้ เป็นอุทาหรณ์อย่างดีสำหรับผู้ที่บริหารธนาคาร และ สถาบันการเงิน รวมทั้งบุคคล ที่เกี่ยวข้อง ในแวดวงการเงินทั้งหลายว่า เกิดอะไรขึ้น ในประเทศไทย หรือในโลก ที่ทำให้มืออาชีพ ทั้งหลาย ที่ศึกษาในด้านการเงิน การธนาคาร มาโดยเฉพาะ ต้องได้รับความเสียหายบ้าง ล้มละลาย บางคน ต้องฆ่าตัวตาย และหลบหนี สาบสูญ ออกจากสังคม บางคนติดคุก ติดตาราง หมดสิ้นความเชื่อ ความศรัทธา ซึ่งก่อนนี้ ใครๆ ก็ไม่สามารถที่จะคิดได้ว่า ธนาคาร ๔ ถึง ๕ แห่ง ที่เราเห็นว่า มีความมั่นคงถาวร ในขณะนั้น จะถูกควบ รวมกับธนาคารอื่น และถูกยึดกิจการ บางธนาคาร จะถูกลดทุนลงจาก ๑๐๐ บาทเหลือ ๑ สตางค์ ต่อหุ้น เจ้าสัวหลายราย และหลายตระกูล ที่เคยมีธุรกิจ เป็นเจ้าของ ธนาคาร และทำธุรกิจอื่น ต่อเนื่องกับกิจการ ในธนาคาร รวมทั้ง เครือญาติทั้งหลาย บ้างก็ ล้มละลาย หรือถูกยึด กิจการต้องล้มเลิกกิจการ แม้กิจการที่เหลืออยู่ ก็ต้อง ซวนเซไปด้วย ทำให้ประเทศชาติ ต้องได้รับความเสียหาย ประชาชนทั่วไป ได้รับความเดือดร้อน ทำให้ต้อง เสียเอกราช ทางเศรษฐกิจ กองทุน ไอเอ็มเอฟ เข้ามาครอบงำความคิดให้รัฐบาล ออกมาตรการ ต่างๆ ซึ่งทำให้ ประชาชน ได้รับความเดือดร้อน ทุกหย่อมหญ้า

ธนาคารของพระพุทธศาสนาที่กำลัง เขียนถึงอยู่นี้ ผู้เขียนไม่กล้าไปวิพากษ์วิจารณ์ มาก เพราะยังไม่ทราบ รายละเอียด ว่าจะดำเนินการ อย่างธนาคารทั่วๆ ไป โดยมุ่งหวังผลตอบแทน เป็นกำไร ในทางธุรกิจ หรือไม่ เพราะตั้งแต่ศึกษา พระพุทธศาสนามา ผู้เขียนไม่เคยพบ การกระทำธุรกิจ ของพระภิกษุสงฆ์ ในรูปที่ แสวงหากำไร อย่างเช่นนักธุรกิจทั่วไป ในโลกนี้ กระทำ แม้ในรูปแบบ ขององค์กร ทางพระพุทธศาสนา ที่เข้าไปทำธุรกิจแข่งขัน กับธุรกิจ โดยทั่วไป ยังไม่ปรากฏว่า มีองค์กรใด กระทำชัดเจน แม้แต่ไม่กระทำเอง ให้ฆราวาส เป็นผู้ดำเนินการ ในนามตัวแทน ของคณะสงฆ์ ก็ดีหรือตัวแทน ขององค์กรก็ดี นับว่าหมิ่นเหม่ ต่อหลักการ พระพุทธศาสนา เป็นยิ่งนัก โดยเฉพาะ กิจการธนาคาร รูปแบบสากล ที่ต้องมี การแข่งขัน ชิงไหวชิงพริบ ในทุกๆ ด้าน ทั้งต้อง มีบุคลากร ที่รอบรู้เท่าทัน กับโลก จึงสามารถ ที่จะสู้กับ ธนาคารอื่นๆ ได้

การทำนิติกรรมทางด้านการเงิน ไม่ว่า การเปิดบัญชีเดินสะพัด ธุรกิจเกี่ยวกับตั๋วเงิน ตัวแลกเงิน เช็ค การค้ำประกัน การจำนอง การแลกเปลี่ยนเงินตรา การบริการบัตรเงินด่วน การสั่งสินค้าเข้า การทำประกันภัย ฯลฯ ล้วนแต่ ไม่สามารถ ควบคุมวัตถุประสงค์ ของการนำเงิน ไปใช้ได้ว่า เงินที่นำออกไปจากธนาคารนั้น นำไปทำกิจการใด ไม่ว่ากิจการ โรงเหล้า โรงเบียร์ บ่อนการพนัน สถานบันเทิง ที่บริการทางเพศหรือมอมเมาประชาชน การผลิตยา ฆ่าเชื้อโรค ฆ่าสัตว์ การเลี้ยงสัตว์ เพื่อเอาเนื้อ เลือด หนังหรือนมในรูปแบบต่างๆ แม้แต่ทำธุรกิจ เกี่ยวกับพืช มีการตัดต่อยีนพันธุกรรม การใช้สารเคมีซึ่งล้วนแต่ทำลาย สภาพแวดล้อม และทำลายหลากหลายพันธุกรรม และส่งผล ต่อประชาชน ล้วนแต่ต้อง วิเคราะห์ทั้งสิ้นว่า ขัดแย้งต่อหลักการของพระพุทธศาสนาหรือไม่ และ ทำอย่างไร ที่จะไม่ทำ ให้เงินทุน ของพระพุทธศาสนา ไปส่งเสริม กิจการเหล่านี้ให้เจริญรุ่งเรืองขึ้นมา และจะทำให้ หลักการของ พระพุทธศาสนาที่เผยแผ่ มาตลอดนั้นไม่สามารถยืนหยัดอยู่ได้

การไปจำกัดหรือควบคุมในการให้สินเชื่อก็ดี หรือ การทำธุรกิจ ของผู้ที่ทำธุรกรรม ทางด้าน การเงิน กับธนาคาร ของพระพุทธศาสนา ก็ดีย่อมเป็นการ ขัดแย้งกับ หลักการของ ธนาคาร พาณิชย์ โดยทั่วไป และจะต้องเป็นอุปสรรค ขวางกั้นในการกระทำกิจการธนาคาร อย่างแน่นอน แต่ ถ้ายิ่งไม่จำกัดหรือไม่ควบคุมก็ยิ่ง จะย่อหย่อน และส่งเสริม กิจการ ที่ทำลาย สังคม มนุษยชาติ และ หลักการของ พระพุทธศาสนา ยิ่งขึ้นต่อไปอีก จนไม่มีวันจบสิ้น และ นับวัน จะส่งเสริมให้เกิด เครือข่ายใหญ่โตขึ้น เป็นลำดับ ซึ่งจะต้องพิจารณา ใคร่ครวญกัน อย่างรอบคอบ

ผู้เขียนไม่เคยเห็นหรือไม่เคยได้ยินว่าเมื่อเกิดภัยพิบัติครั้งใหญ่ๆ ไม่ว่าไฟไหม้น้ำท่วมวาตะภัย หรืออุบัติเหตุครั้งใหญ่ๆ กองทุน หรือผู้มีอำนาจ ในการนำเงิน ในกองทุนดังกล่าวนี้ จะนำเงิน ออกมาช่วยเหลือ ไม่ว่าเป็นการให้เปล่า หรือเป็นการให้กู้ยืม โดยไม่คิดดอกเบี้ย ผู้เขียน ยังไม่เคยเห็น กองทุนดังกล่าวนี้ หรือ ผู้ที่มีอำนาจ ในกองทุน ดังกล่าวนี้ ออกมาส่งเสริม กิจการขององค์กรเอกชนต่างๆ ที่จะทำในเรื่องสิ่งแวดล้อม องค์กรสตรี เด็ก คนชรา ผู้พิการ ผู้ด้อยโอกาส หรือผู้ใช้แรงงาน ไม่ว่าในรูปการให้เปล่าหรือกู้ยืม โดยไม่คิด ดอกเบี้ย ผู้เขียน เห็นว่า วิกฤติที่เกิดขึ้นในหลายๆ ครั้ง ซึ่งถือว่าเป็นวิกฤติที่ยิ่งใหญ่ แต่ไม่เคยเห็น กองทุน ดังกล่าวนี้ หรือผู้มีอำนาจ ในกองทุนดังกล่าวนี้ จะออกมาช่วยเหลือประเทศชาติ หรือ ประชาชน ให้เป็นรูปธรรมชัดเจน เช่นเดียวกับองค์กรอื่นๆ ทั้งก็ไม่เคยปรากฏว่า กองทุน ดังกล่าว หรือผู้มีอำนาจในกองทุนดังกล่าว จะจัดตั้งกองทุนใดๆ ขึ้นโดยเฉพาะ ให้เป็นที่ ประจักษ์ชัด แก่นานาอารยประเทศ เพื่อเป็นการตอบแทน คุณงามความดี ของบุคคล ใดๆ ที่ได้ทำการ ช่วยเหลือ มนุษยชาติ ด้านมนุษยธรรม ศาสนาหรือ สาธารณประโยชน์ ใดๆ ทั้งไม่เคยเห็น จัดหาผลประโยชน์ จากทรัพย์สิน หรือกองทุนส่วนนี้ โดยวิธีใดๆ ให้เป็นที่ประจักษ์ อันเป็นการส่งเสริม หลักการของพระพุทธศาสนา ได้เป็นอย่างดียิ่ง และ เป็นรูปธรรม ยิ่งกว่าคำสอนใดๆ ที่เราพร่ำบ่น พร่ำเขียน และพร่ำพูดกันอยู่ ผู้เขียนไม่เคยเห็น ผู้เขียนมีอำนาจในกองทุนดังกล่าว หรือกองทุน ดังกล่าว ได้ใช้จ่ายเงิน ในการเป็นทุน ให้องค์กรใดๆ หรือ จัดตั้ง องค์กรใดๆ ที่เป็นองค์กรการกุศลขึ้น ช่วยเหลือสังคม ประเทศชาติ ไม่ว่าโรงเรียน โรงพยาบาล ถนนหนทาง หรือ สาธารณประโยชน์ใดๆ ไม่ว่าในนามธรรม หรือรูปธรรม ไม่ว่าการป้องกันน้ำท่วม การชลประทาน เพื่อเกษตรรายย่อย การแพทย์ หรือ การสาธารณสุข ที่ยังไม่ทั่วถึง ในประเทศ รวมทั้งการกำจัดมลพิษ ไม่ว่าการสร้าง สวนสาธารณะ ขนาดใหญ่ หรือ การสร้างสวนธรรม เช่นเดียวกับ พุทธมณทล ให้กระจาย ไปทั่วประเทศ เพื่อส่งเสริมพระพุทธศาสนา ไม่ว่าการให้เปล่า หรือ ลงทุนให้หน่วยงาน ของราชการ หรือองค์กรเอกชนไปก่อน โดยไม่คิดดอกเบี้ย หรือผลตอบแทน แม้การกระทำ ดังกล่าว จะทำให้ เงินทุนดังกล่าว สูญหายไปบ้าง แต่ก็นับว่าประโยชน์ที่ได้รับ มีมากกว่า และ จะมีผลสะพัด กลับไปสู่สังคม และก็จะย้อนกลับ มาสู่กองทุนดังกล่าวได้ โดยในทางอ้อม อยู่แล้ว ยังดีกว่า ไปทำธุรกิจธนาคาร ถ้าเกิดการผิดพลาด ความเสียหายใหญ่หลวง จะเกิดขึ้น ทั้งไม่ส่งเสริม กิจการของ พระพุทธศาสนา เท่าที่ควรด้วย

การก่อตั้งธนาคารของมุสลิม มีการดำริและพยายามดำเนินการ เพื่อให้สอดคล้องกับหลักการ ของศาสนาอิสลาม ที่ดำเนินการ มาหลายสิบปี ก็ยังไม่สามารถเกิดได้ เป็นรูปนามที่ชัดเจน ในประเทศไทย แต่สิ่งหนึ่ง ที่น่าชื่นชมก็คือ ผู้ที่ดำเนินกา รพยายาม นำหลักการ ของศาสนา อิสลาม เข้ามาเป็นหลักก่อน แล้วจึงคิดรูปแบบ ให้สอดคล้อง กับหลักการ โดยใช้วิธี การธนาคาร ร่วมทุนกับผู้กู้ เพราะไม่มีการคิดดอกเบี้ย จึงมีการวิเคราะห์โครงการ แต่ละ โครงการก่อนว่า ขัดกับหลักการศาสนา หรือไม่แล้วจึงจะอนุมัติเงินไป ธนาคาร จะรับผล ตอบแทน ในฐานะ ผู้ร่วมทุน คือกำไร แต่ในทางพระพุทธศาสนานั้นการแสวงหากำไร ต้องพิจารณา อย่างรอบคอบด้วยว่า กิจการนั้น เหมาะสมหรือไม่ และ เมื่อได้กำไรมาแล้ว จะคุ้มกันหรือไม่ และ การแสวงหากำไร ดังกล่าวนั้น เป็นกิจการค้าที่ ต้องห้ามหรือไม่ ซึ่งในเรื่องนี้ ยกให้ผู้ที่มีความรู้ ในทาง พระพุทธศาสนา ช่วยกัน วิเคราะห์ วิจารณ์วิจัย ให้ออกมา โดยความเสียหาย น้อยที่สุด และเงินดังกล่าว กลับ มาสะพัด เป็นประโยชน์ แก่ชาวพุทธ และ พระพุทธศาสนา ได้มากที่สุด มิใช่นำเงินดังกล่าว ไปกองไว้ และ มีผู้ได้รับ ผลประโยชน์ เพียงไม่กี่ราย และ ไม่คุ้มกับเงิน ดังกล่าว ทั้งไม่สะพัด ทำให้ประโยชน์ ให้แก่ประเทศชาติ และ ประชาชนชาวพุทธ โดยทั่วไป

ยิ่งถ้าเราไปทำธุรกิจธนาคารก็ต้องมีมืออาชีพเข้ามาบริหาร การนำมืออาชีพ เข้ามาบริหาร แต่ไม่ยอม ให้มืออาชีพ ใช้หลักการ ที่เขาเล่าเรียน ศึกษามา ตามวิชาธุรกิจทั่วไป ที่โลกเขาใช้กัน ก็ไม่มีประโยชน์อันใด ครั้นจะให้นำวิชา ธุรกิจ ตามที่โลกเขาศึกษา เล่าเรียน มาบริหารธนาคาร ก็จะเป็นการขัดแย้ง กับหลักพระพุทธศาสนา บ้างไม่มากก็น้อย ซึ่งผู้เขียน ยังวิตกกังวลอยู่ จึงขอให้พวกเรา ชาวพุทธทั้งหลาย ช่วยกันติดตามโครงการนี้ อย่างใกล้ชิด และพยายาม แสดงความคิดเห็น ให้หลากหลาย ว่าวิธีการใดจึงจะเหมาะสม และดีที่สุดกับการจัดการ กับการเงิน และ กองทุนส่วนนี้ มิใช่ให้บุคคลเพียงสองถึงสามคน พิจารณา อยู่ในวงแคบ แล้วสรุปผล จัดการดำเนินการ ผู้ที่ไปประชุม และมีส่วนร่วม ก็ต้องศึกษา อย่างแท้จริง

(เราคิดอะไร ปีที่ ๙ ฉบับที่ ๑๕๐ มกราคม ๒๕๔๖)