หน้าแรก >[09] การสื่อสาร > การเผยแพร่ธรรมะ >เราคิดอะไร

เควเก้อบางคน
- ส.ศิวรักษ์

เควเก้อ (Quaker) มีชื่อเต็มว่า Religious Society of Friends ซึ่งแตกออกมาจาก คริสต์ศาสนา นิกาย โปรเตสแตนท์ที่อังกฤษ กล่าวคือพวกนี้ถือว่าทุกคนมีพระผู้เป็นเจ้า (God) อยู่ในตน ฉะนั้น การฆ่าคน จึงผิดมาก เพราะเท่ากับฆ่าพระเจ้า พวกนี้จึงยึดมั่นในอหิงสธรรม และ สันติวิธี นอกไปจากนี้แล้ว พวกนี้ ยังไม่เห็นความจำเป็น ที่ต้องมีบาทหลวง หรือนักบวช มาเป็น สื่อกลาง ระหว่าง พระเจ้า กับสามัญมนุษย์ เขาถือว่า เขาเข้าถึงพระผู้เป็นเจ้า ได้โดยตรง ด้วยการนั่งหลับตา ภาวนา พวกนี้จึงไม่มีวัด ไม่มีโบสถ์ ใช้บ้านเรือน ธรรมดาๆ เป็นที่ประชุมกัน ภาวนาถึงพระเจ้า อย่างเงียบๆ

คนที่เป็นต้นตอของเควเก้อชื่อ ยอร์ช ฟอกซ์ (George Fox) มีอาชีพเป็นช่างทำเกือก เขามีอายุ อยู่ระหว่าง ปี ค.ศ. ๑๖๒๔-๑๖๙๑ ก็ในเมื่อพระเยซูเอง ก็เป็นลูกช่างไม้ จะให้ช่างทำเกือก มาเป็นศาสดา ของนิกายนี้ ไม่ได้เชียวหรือ และนิกายนี้ไม่เชื่อ ในเรื่องเทววิทยา หรือ วิชาที่ซับซ้อน ซ่อนเงื่อน ซึ่งอธิบายเรื่อง คริสต์ศาสนา ตลอดมา แต่ต้นจนถึงสังคมร่วมสมัย

พวกเควเก้อ ถูกทางการบ้านเมืองเบียดเบียน บีฑาคล้ายๆ กับที่พวกสันติอโศก ถูกรังแก โดยรัฐ และ ศาสนจักรของไทย ในสมัยนี้นั่นเอง โดยพวกเควเก้อ ไม่ยอมสยบ ให้กับระบบ ศักดินา เขาถือว่า ทุกคน เท่าเทียมกันหมด และเขาถือว่า ต้องพูดคำสัตย์ กับคนที่มีอำนาจ ซึ่งมักหลงไปกับ คำประจบประแจง

พวกนี้ดำรงคงอยู่ได้ในอังกฤษ เพราะเป็นพวกคนส่วนน้อย โดยมีผู้ดีหันมานับถือบ้าง คนสำคัญ คือ วิลเลี่ยม เพ็นน์ (William Penn) ซึ่งชอบพอกับ พระเจ้ายอร์ชที่ ๓ ของอังกฤษ และเมื่อเพนน์ อพยพมา สหรัฐ เขาไม่ได้แย่งชิงที่ดิน จากพวกอินเดียนแดง หากขอซื้อ ด้วยราคาอันยุติธรรม แล้วพระเจ้ายอร์ช ประทานชื่อ ดินแดนนั้นว่า เพนซิลเวเนีย ซึ่งแปลว่า สวนของเพน ดังเป็นรัฐสำคัญ ของสหรัฐ มีเมืองหลวงชื่อ ฟิลาเดลเฟีย ซึ่งแปลว่า มิตรภาพ และ ณ ที่นี้เอง ที่สหรัฐ ประกาศอิสรภาพ จากอังกฤษในปี ค.ศ. ๑๗๗๖

พวกเควเก้อร่วมสมัยหลายคนเป็นพุทธศาสนิกด้วย เช่น อดัม เคิร์ล และจอน แมกคอแนล ที่อังกฤษ ส่วนยอร์ช และลิลเลี่ยน วิโลบี้ ที่สหรัฐนั้น เป็นเพื่อนเก่าแก่ ที่สหรัฐของข้าพเจ้า เคยมาช่วยข้าพเจ้า ในการตั้ง Asian Cultural Forum On Development หรือ หน่วยงาน เพื่อพัฒนาเอเชีย โดยมุ่งที่ศาสนธรรม และวัฒนธรรม ยิ่งกว่าเศรษฐกิจ หรือวัตถุนิยม แต่เมื่อปีค.ศ. ๑๙๗๕ และเมื่อ ข้าพเจ้าไปต่อต้าน โครงการ ท่อแก๊ส จากประเทศพม่า มาสู่กาญจนบุรี ยอร์ช วิโลบี้ ก็ไปให้กำลังใจถึงในป่า โดยที่ยอร์ช เคยเดิน ธรรมยาตรา จากกรุงเดลี ไปจนจรดชายแดนจีน หากจีนไม่ยอมให้เข้าประเทศ เขาทำทั้งนี้ เพื่อยืนยัน ในเรื่องสันติภาพ ไม่ให้จีนกับอินเดียรบกัน ทั้งยอร์ชยังเคยลงเรือน้อย ออกไปใน มหาสมุทร แปซิฟิก เพื่อต่อต้านการทดลอง ระเบิดไฮโดรเย็น ของสหรัฐอีกด้วย เขาถูกจับ หลายครั้ง และช่วยเยาวชน จำนวน ไม่น้อย ให้พ้นจากการเกณฑ์ ให้เป็นทหาร ในสงครามเวียดนาม โดยใช้วิธี ที่เรียกว่า Conscientious objection คือจิตวิญญาณ ทางด้านสันติภาพของเขา ไม่สามารถ ให้เขาจับอาวุธ สู้กับศัตรูได้

คนที่มีความสำคัญกับ ยอร์ช วิโลบี้ อย่างที่สุดนั้น ชื่อ มัสตี (A.J. Muste) ซึ่งมักเรียก ตัวย่อ หน้าชื่อ (หรือ นามสกุลของเขา)

เอ.เจ. เป็นดัช เกิดที่วิลันดา ในปี ค.ศ. ๑๘๙๑ แล้วอพยพตามบิดามารดา ไปสู่สหรัฐ แต่เมื่อ ยามเยาว์วัย โดยที่ทางครอบครัว ส่งให้เขา ได้ดีกว่าเทววิทยา ของศาสนาคริสต์ นิกาย โปรเตสแตนท์ แบบดัช ไว้คอยช่วย อำนวยศาสนกิจ ให้พวกดัชด้วยกัน ที่อพยพไปตั้งรกราก ในสหรัฐ แม้คำสอน คำเทศน์ ก็เป็นภาษาดัช แต่ เอ.เจ. แตกคอออกมา ถือนิกายเควเก้อ เพราะเขารังเกียจ การฆ่าฟันกัน เพียงเทศน์ ในเรื่องสันติวิธี ในสมัยสงครามโลก ครั้งที่ ๑ เท่านั้น ศาสนจักรของเขา ก็ไม่ยอมเสียแล้ว กล่าวคือ ศาสดายอมให้กับ อาณาจักร มากไป ในเมืองไทย ก็มีแต่เจ้าคุณพระอุบาลี คุณูปมาจารย์ (สิริจันโท) วัดบรมนิวาศ องค์เดียว ที่เทศน์ ต่อต้านสงคราม ในสมัยสงครามโลก ครั้งที่ ๑ เป็นเหตุ ให้ท่านถูกถอด ออกจาก สมณศักดิ์ หากความเป็นสมณะ ผู้บริสุทธิ์ ของท่านทางราชการ ก็ต้องถวาย สมณศักดิ์คืน และ เลื่อนสมณศักดิ์ถวาย ซึ่งก็คล้ายกับ กรณีของเจ้าคุณ พระพิมลธรรม แห่งวัด มหาธาตุ นั้นเอง หากกรณีหลังนี้ ท่านถูกสั่งให้สึก และเอาเข้าคุกไว้ที่สันติบาล ถึง ๕ ปี

สำหรับ เอ.เจ นั้น นอกจากต่อต้านสงครามแล้ว เขายังอุทิศตน เพื่อกรรมกรอีกด้วย เขาทำทุกอย่าง ในทาง สันติวิธี ที่ช่วยให้ขบวนการ กรรมกรเข้มแข็ง และสามารถ สู้กับ นายจ้างได้ ทั้งๆ ที่รัฐบาล มักเข้าข้าง นายจ้าง ตำรวจใช้ความรุนแรง หนังสือพิมพ์ ส่วนใหญ่ ไม่เข้าข้างคนจน แต่เขาก็สามารถ ยืนหยัด อยู่กับฝ่าย ผู้เสียเปรียบได้ โดยมีศาสนธรรมค้ำจุน รวมทั้งอารมณ์ขัน และ ครอบครัวเขา ก็อยู่ฝ่ายเขา แม้ฝ่ายนายทุน จะหาทางซื้อพรรคพวกเขา ยังพวกฝ่ายซ้าย ก็โจมตีเขา ทั้งจากฟาก ของมากซิสต์-มินิสต์ และฟากของตรอสกี้ โดยที่ เวลานั้น ยังไม่มีลัทธิ เมาเซตุง

เอ.เจ. ไม่แต่อยู่ข้างผู้ถูกเอาเปรียบในสหรัฐ เมื่อเกิดสงครามเวียดนาม เขาก็เข้าไปอยู่ข้าง คนญวน ที่ถูกบุกรุก โดยสหรัฐ เช่นเดียวกัน

เอ.เจ.เป็นนักพูดและนักจัดตั้ง จึงแทบไม่มีเวลาเขียน งานเขียนของเขาน้อย แต่เขาก็เขียนเล่า อัตชีวประวัติไว้ โดยที่พรรคพวก ถือได้ว่า นี่คือประวัติการต่อสู้ ของขบวนการกรรมกร ซึ่งผนวก ไปกับงาน ด้านสันติวิธี และอย่างอหิงสธรรม อย่างมีค่ายิ่ง ยังบทความอื่นๆ ของเขา ซึ่งรวมตีพิมพ์ อยู่ใน The Essays of A.J. Muste ซึ่งตีพิมพ์ไว้แต่ปี ค.ศ. ๑๙๖๗ ซึ่งนับว่า เป็นหนังสือ หายาก แต่น่าอ่าน ทุกเรื่อง

ข้าพเจ้าไม่ทันพบ เอ.เจ. แต่รู้เรื่องราวของเขามาก จากปากต่อปาก ส่วนที่ข้าพเจ้า รู้จัก และ ยังมีชีวิต อยู่ร่วมรุ่น กับวิโลบี้ผัวเมีย (ซึ่งจะมีอายุ ๙๐ ในปี ๒๐๐๓) คือ เอลิส โบลดิ้ง ซึ่งเป็น ตัวตั้งตัวตี ในคณะ กรรมกร American Friends Service Committee ซึ่งเสนอ ชื่อข้าพเจ้า ให้ได้รับ รางวัลโนเบล ทางด้าน สันติภาพ

สามีของเอลิส ชื่อ เคนเนท เป็นนักเศรษฐศาสตร์ แนวอหิงสา ที่มีชื่อเสียงยิ่งของสหรัฐ และ เป็นนักเขียน ที่มีชื่อด้วย ข้าพเจ้าได้มีโอกาส ได้พบเขา ก่อนเขาตายจากไป เมื่อไม่นาน มานี้เอง

นอกจากนี้ข้าพเจ้ายังรู้จักพวกเควเก้อรุ่นเยาว์อีกหลายคน เช่น ยอร์ช เลกี้นั้น มาช่วยพวกเรา ที่สถาบัน สันติประชาธรรม และอาศรมวงศ์สนิท จัดอบรมในเรื่อง สันติวิธี และ การปรองดองกัน อย่างสันติ ที่จังหวัดนครนายก เสมอๆ ทั้งยังเคยไปจัดอบรมที่พม่า และ เขมรอีกด้วย

(เราคิดอะไร ฉบับที่ ๑๕๑ เดือน กุมภาพันธ์ ๒๕๔๖)