หน้าแรก >[09] การสื่อสาร > การเผยแพร่ธรรมะ >เราคิดอะไร

ชีวิตนี้มีปัญหา ๑ สมณะโพธิรักษ์

"รูปพรหมของเทวนิยม" คือ ทิฏฐิที่เรียกว่า"สัตตาวาส"ฉะนี้เอง เมื่อยิ่งฝึกฝน ยิ่งอบรมสั่งสม ย่อมสั่งสม ความเชื่อ ความปักใจมั่น (confidence) ลงไปทุกเมื่อเชื่อวัน เป็นเดือน เป็นปี เป็นชาติ ไม่รู้กี่ชาติต่อกี่ชาติ ซึ่งจะเปลี่ยนแปลง หรือละล้าง ความเห็น ความเชื่อ ให้มาสู่ "สัมมาทิฏฐิ" ได้ยากแสนยาก แม้จะได้พบ ศาสนา ที่เป็น "อเทวนิยม" หรือเป็นพุทธ ได้ศึกษาสัทธรรม ได้ปฏิบัติก็ไม่ใช่ว่า จะบรรลุ รู้แจ้งเห็นจริง จนรู้แจ้งความเป็น "สัตตาวาส" ต่างๆ ที่กล่าวถึงมาแล้วนั้น ได้ถ่องแท้กันง่ายๆ


(ต่อจากฉบับที่แล้ว)
ซึ่งการฝึกให้ได้สภาพ"อสัญญี"นี้ ทาง"ฌานโลกีย์" ที่เป็นสัตตาวาสหรือแบบเทวนิยม มักจะเข้าใจไปว่า เป็นการฝึก"นิโรธ" และเชื่อว่า"การดับ"ชนิดที่"ไม่มีความรู้สึก (ดับเวทนา) และไม่มีการกำหนดรู้ (ดับสัญญา)" ให้เป็นอสัญญีสัตว์นี้ คือการฝึกฝน "นิโรธสมาบัติ" (เข้านิโรธ) อันเป็น "ทางเอก" ที่จะไปสู่ผลบรรลุ "นิพพาน" กันทีเดียว

แต่โดยสัจจะนั้น การฝึก"นิโรธสมาบัติ"ในแบบวิธีเช่นนี้ ก็ยังคือ "สัตว์ผู้มีภพเป็นที่อยู่"ที่ชื่อว่า "สัตตาวาส" อยู่นั่นแหละ หากไม่ใช่"ฌานโลกุตระ" ตามทฤษฎีของ "อเทวนิยม" หรือของพุทธ ที่สัมมาทิฏฐิ ก็ไม่มีทางจะ "สิ้นภพ" อย่างอันติมะ หรือ "ไม่หลงติดที่อยู่" อย่างสัมบูรณ์ เป็นแน่แท้ เฉพาะอย่างยิ่ง เน้นลึกลงไปอีก ก็คือ ต้องเป็น "โลกุตรสัมมาทิฏฐิ" ที่เป็น ปรมัตถสัจจะ กันทีเดียว มิใช่แค่ "โลกียสัมมาทิฏฐิ" เท่านั้นด้วย จึงจะหลุดพ้น "ภพ-ชาติ" เพราะทำ "ความดับสูญ แห่งการเกิด" (ชาตินิโรธ ) ได้อย่างถูก "ต้นเหตุแห่งการเกิด" (ชาติปภว) สิ้นสนิทเด็ดขาด

ดังได้กล่าวมาแล้วแม้แต่ชาวพุทธเองก็เถอะ ก็ใช่ว่า จะ"หลุดพ้น"จาก"ภพ-ชาติ" กันได้ง่ายๆ ถ้าแม้นไม่ศึกษา ให้รู้แจ้งเห็นจริ ถึงขั้น "โลกุตรสัมมาทิฏฐิ" และปฏิบัติ จนบรรลุ สัมมามรรค-สัมมาผล มี "วิชชา ๙" หยั่งรู้ยืนยัน ตรวจสอบทุกสภาวะครบถ้วน ก็ไม่มีหวังจะ "สิ้นภพ จบชาติ" เป็นแน่แท้ ยิ่งปฏิบัติไปได้ "อสัญญีสัตว์" เป็นผล ก็ยิ่งจมหนักไปกับ "ความเป็นสัตว์ ผู้ยังมีภพ เป็นที่อยู่"

"อสัญญีสัตว์"จึงชื่อว่า "สัตตาวาส" ได้แก่ "สัตว์ผู้ยังมีภพเป็นที่อยู่" ด้วยประการฉะนี้

ตามลำดับชั้นของ"รูปพรหม" ยังมีชั้นละเอียดของ "จตุตถฌานภูมิ"นี้อีก ท่านแบ่งออกเป็น ๒ ฐานะ คือ

(๑) พรหมเวหัปผลา ซึ่งท่านหมายถึง สัตว์พวกมีผลไพบูลย์ [ไม่เรียก"พรหม" เรียก "เทวดา" เรียก "สัตว์" ก็มี]

(๒) พรหมอสัญญี หรือ"อสัญญีสัตว์" ก็หมายถึง "สัตว์ที่ดับเวทนาและดับสัญญา" (อย่างพาซื่อ) ลงได้สำเร็จ ตามที่ได้อธิบาย ผ่านมาแล้วนั่นเอง

"รูปพรหม" ตามความเข้าใจของ "ฌานโลกีย์" นั้น ถ้าแม้นไม่ปฏิบัติโดย "การดับเวทนา และ ดับสัญญา" หรือ "ดับความรู้สึก และความกำหนดรู้" จนเป็น "อสัญญี" เขาไม่นับว่า "เข้านิโรธ" (นิโรธสมาบัติ) เช่น ผู้ฝึกฝน ปฏิบัติเข้าฌาน เมื่อสามารถ "เข้าฌาน" ได้เป็นขั้นๆ ก็เรียกว่า ผู้นั้นมี "ฌานสมาบัติ" ไปตามลำดับ ของ "ฌาน" ตั้งแต่ขั้น "สัตตาวาสที่ ๒-๓-๔-๕" ก็เป็นผู้มี "รูปฌาน" ๑-๒-๓-๔ [ส่วน "อรูปฌาน ๑-๒-๓-๔" นั้น เป็น "สัตตาวาส" ที่ ๖-๗-๘-๙] สำหรับผู้ปฏิบัติ จนกระทั่ง บรรลุผลธรรม ก็เรียกว่า ผู้นั้นมี "ผลสมาบัติ" ไปตามลำดับขั้นของ "ผล" คือ โสดาปัตติผล - สกิทาคามีผล -อนาคามีผล -อรหัตตผล

ส่วน"นิโรธ"นั้น ชาวสัตตาวาสหรือโลกียฌาน ถือว่า ต้องสามารถ "ดับเวทนา และดับสัญญา" อย่างพาซื่อ นั้นแหละ ได้สำเร็จ จึงจะเรียกว่า "เข้านิโรธ" ดังอธิบายผ่านมาแล้ว และนับว่า เป็นผู้มี "นิโรธ" เรียกตามศัพท์ก็ว่า "นิโรธสมาบัติ"

จงทำความเข้าใจกับคำว่า ฌาน ผล นิโรธ ให้แม่นๆตรงๆคมๆชัดๆลึกๆ ว่าอย่างไร? แค่ไหน?

"การเข้านิโรธ"ตามนัยนี้แหละ ชาว"สัตตาวาส"หรือนัยของ"ฌานโลกีย์" ถือกันว่า เป็นการ ฝึกฝนตน เพื่อเข้าถึง "นิพพาน" ดังนั้น ผู้ที่ปฏิบัติ"ฌานสมาบัติ" ถ้ายังไม่ได้ "ดับสัญญา ดับเวทนา" ก็ถือว่า "ยังไม่ได้ทำนิโรธ" หรือยังไม่ได้ "ทำความดับ" เพื่อ "ผล" ไปสู่นิพพาน จะต้อง "ดับสัญญาดับเวทนา (อย่างพาซื่อ)" หรือ "ดับความกำหนดรู้ และดับความรู้สึก ลงไป อย่างเถรตรงพาซื่อ" ลงไปให้ได้ ไม่เช่นนั้น ก็จะมี "ผล" เพียงเจริญใน "ฌาน" ไปตามลำดับ เรียกว่า เจริญเฉพาะคุณภาพของ "ฌานสมาบัติ" เท่านั้น ทั้งในแง่ของความเก่ง หรือ เชี่ยวชาญ ในแต่ละฌาน ทั้งในแง่ความสูงขึ้นๆไป ตามขั้นของฌาน

ผู้มี"ผล"ของ"รูปฌาน"ได้สำเร็จ ก็ชื่อว่าเป็น"รูปพรหม"สูงสุดนัยนี้เอง ซึ่ง"รูปฌาน" สูงสุด ก็ถึงขั้นมี "อุเบกขา" เป็น "ผล" นั่นหมายความว่า มี "ความวางเฉย" ไม่รู้ไม่ชี้ ไม่กำหนด อะไรด้วย ไม่รู้สึก อะไรด้วย ไม่รู้สี รู้สาใดๆ อยู่ลอยๆเฉยๆ ไม่เกี่ยวกับอะไร กล่าวคือ มีอารมณ์ กลางๆ มีสภาพโล่งๆ ว่างๆ นิ่งๆ ไม่ไปไม่มา ไม่ขึ้นไม่ลงอะไรทำนองนั้น จึงจัดอยู่ในลักษณะ "ไม่กำหนดรู้ใดๆ ไม่รับรู้สึกใดๆ " ในฐานะ "ผู้ยังมีธาตุรู้ ที่ยังไม่ทำการดับธาตุรู้ของตน " ซึ่งยังมิใช่ "นิโรธสมาบัติ" หรือ "อสัญญี"

ผู้มี"ผล"ปานฉะนี้ จึงนับว่า "มีผลไพบูลย์" สำหรับสภาพที่ยังไม่เป็น "นิโรธ" หรือสภาพ ที่ยังไม่ถึงขั้น "ความดับ"

ฉะนี้แล ที่ชื่อว่า สัตว์พวกที่มีผลไพบูลย์ อันมิใช่"อสัญญีสัตว์" ซึ่งล้วนยังเป็น "สัตตาวาส" ทั้ง ๒ ฐานะ

ดังนั้น แม้จะเป็น"จตุตถฌานภูมิ"หรือ"สัตตาวาส" ที่ ๕ ออกปานฉะนี้ ก็แน่นอนว่า ยังไม่ หลุดพ้น จาก "ภพ" ที่ "คนผู้ใดผู้นั้น" (สัตต) หลงยึดเป็น "ที่อยู่" (อาวาส) ไปได้ หรือ จะสูงปานใด ก็ยังเหลือ "ภพ" เหลือ "ชาติ" อยู่แน่ยิ่งกว่าแน่ จึงยังชื่อว่า "สัตตาวาส"

๖. สัตว์พวกหนึ่ง เพราะล่วงรูปสัญญาโดยประการทั้งปวง เพราะปฏิฆสัญญาดับไป เพราะไม่ใส่ใจ ซึ่งนานัตตสัญญา เข้าถึงอากาสานัญจายตนะ ด้วยมนสิการว่า อากาศ หาที่สุดมิได(ว่างทะลุไปไหนๆ อย่างหาที่สุดมิได้)

จาก "รูปพรหม "ที่ผ่านมา คือ ผู้เข้าไปมี "ภพในรูปฌาน" ถึงสัตตาวาสที่ ๕ ก็เป็นขั้นสุดของ "รูปภพ" ทั้งในแบบ "เวหัปผลา" ที่ยังไม่ได้ "ดับเวทนา-ดับสัญญา" และทั้งในแบบ "อสัญญี" ที่เป็น "การดับเวทนา -ดับสัญญา" ก็เป็นอันว่าหมดแล้ว สำหรับความเป็น "รูปพรหม" ต่อจาก "สัตตาวาสที่ ๕" นี้ไป เป็น "อรูปภพ" ต่ก็ยังเป็น "สัตตาวาส" หรือสัตว์ที่ยังสร้าง "ภพ" ยิ่งขึ้นไปอีก ซึ่งก็คือ "ที่อยู่" (อาวาส) ที่เชื่อกันว่าเป็น "ภพ"สูงยิ่งๆขึ้น คือ "ภพ" ของสัตว์ ที่ต้องเรียกไปตามสมมุติว่า "อรูปพรหม" นั่นเอง

ผู้ที่ยังติดสมมุติในหัวใจ ยังไม่ยอมหยุดแค่"รูปภพ" ก็ยังสร้างภพมีชาติต่อไปอีกเป็น "อรูปภพ" ตามความวาด ฝันของเขา ซึ่งก็เป็น "ภพ" อยู่ดี แม้จะเรียกว่า "อรูปภพ" ผู้ที่ยังเป็น "เทวนิยม" หรือผู้ที่ยังมี "อัตตา-อาตมัน" หรือมี "ปรมาตมัน" กันถึง "นิรันดร์" ย่อมไม่มีวัน "สิ้นภพจบชาติ" เป็นอนัตตาถึง "นิพพาน" ไปได้ ด้วยประการฉะนี้แล

เพราะยังไม่สามารถมี"วิชชา ๙"รู้แจ้งสภาพที่เป็น"ภพที่เกิด"(ชาติกเขตตะ) สภาพที่เป็น "ตัวตนของตนที่ เกิดอยู่" (ชาตัตตะ) โดยเฉพาะสภาพที่เป็น "ต้นเหตุที่ทำให้เกิด" (ชาติสัมภวะ) จึงไม่สามารถกำจัด "ภพ-ชาติ" ได้อย่างรู้แจ้ง เห็นจริง จึงยังมี "ภพ" มี "ชาติ" เพราะไม่มีทาง ไม่มี วิธีที่จะทำ "ความดับสิ้น ของการเกิด" (ชาตินิโรธ) หรือ"ความสิ้นไปแห่งการเกิด" (ชาติกขยะ) จึงยังจะต้องมี "การเวียนว่าย ในวัฏสงสาร" (ชาติสังสาระ) อยู่อีกนานเท่านาน

เนื่องจาก"ทิฏฐิ"ความเชื่อหรือความเห็นของชาว"เทวนิยม" เชื่อกันชนิดยึดมั่นถือมั่น (อภินิเวส) เสียแล้วว่า จิตวิญญาณเป็น "อาตมันหรืออัตตา "ยืนยงอยู่เที่ยงแท้นิรันดร์ จะ "สูญสิ้น" ไม่ได้ จึงไม่คิดหาทาง "ดับ" เพื่อสิ้นภพ จบชาติแน่ๆ

แม้แต่ผู้ที่ต้องการจะทำ"ความดับสิ้นของการเกิด" (ชาตินิโรธ) ให้ได้สำเร็จ เช่น พุทธศาสนิกชน คนแสวงหา และพากเพียรเรียนรู้ทั้งปฏิบัติเอาจริงเอาจังแท้ๆ ..ก็เถอะ หากศึกษา ไม่ถูกถ้วน (มิจฉาปริยัติ) ฝึกฝนไม่ถูกทาง (มิจฉามรรค) ก็ไม่สามารถจะ "สิ้นภพจบชาติ" ได้อย่างสัมบูรณ์ เป็นเด็ดขาด จึงยังตกเป็น "สัตตาวาส" อยู่ แม้จะได้เรียนรู้ความเป็น "รูปฌาน" และ "อรูปฌาน" มาแล้ว ตามปริยัติของพุทธ หรือตามพระไตรปิฎกแท้ๆก็ตาม

เช่น ผู้ที่ยัง "มิจฉาทิฏฐิ"ในเรื่องของ "ฌาน" ทั้งหลาย เมื่อจะปฏิบัติ "ฌาน" ก็ยังเข้าใจว่า "ฌาน" นั้นเกิดจาก การนั่งหลับตา เข้าไปสู่ภวังค์เท่านั้น ยังเข้าใจ "ฌาน" ที่เกิดจาก "การปฏิบัติ มรรคองค์ ๘" ไม่ได้ ดังนั้น จึงได้แต่ปฏิบัติ "รูปฌานและอรูปฌาน" กันในแบบของ "ฌาน" อย่างเก่าๆ เดิมๆ ที่ฤาษีดาบส มีกันมาเนิ่นนาน ก่อนพุทธศาสนาเกิด

เมื่อเข้าใจหรือเชื่อกัน(ทิฏฐิ)อย่างนี้ ครั้นปฏิบัติจนเกิด"ฌานสมาบัติ"ถึงรูปฌาน ๔ ก็พากเพียร ขึ้นไปอีก สู่ "อรูปฌาน" ตามที่ตนเข้าใจนั้นแล ซึ่ง "สมาบัติ" ที่จะได้ก็คงยังเป็น "ภพ" ที่ยึดเป็น "ที่อยู่" (อาวาส) อยู่ดี จึงเป็น "สัตตาวาส" ขั้นที่ ๖ ก็นับกันว่า เป็น "อรูปพรหม"

"อรูปพรหม"ขั้นแรก ได้แก่ สภาพจิตที่สามารถ "ล่วงพ้นอุเบกขา" อันเป็นสภาพขั้นปลาย คือ "เวหัปผลา" นั่นแหละ คือยัง ไม่ดับเป็น "อสัญญีสัตว์" ลงตรงนั้น แต่หาทางต่อ "ภพ" ไปเป็น "อรูปภพ" โดยดิ้นรน หาสมมุติ ที่ละเอียดยิ่งๆขึ้น ก็ไปได้สมมุติใหม่ คือ "อากาส" (ความว่าง) แล้วก็ "ทำที่ใจที่จิต" (มนสิการ) ให้ "ว่างไป อย่างไม่มีที่สิ้นสุด" (อนันโต อากาโส) ตามความ วาดฝัน เมื่อสามารถ "ล่วงพ้นสภาพ ที่เป็นรูปสัญญา" ทั้งปวงได้ ก็เป็นผู้มีฌาน ภูมิขั้น "อรูปฌาน" นั่นคือ "ล่วงพ้นจากอุเบกขา" นั่นเอง อันเป็น "ภพ" ขั้นปลาย ในเอกัคคตาระ ดับท้ายสุด ของ "รูปฌาน"

ก่อนหน้านี้ขณะอยู่ใน"ภพ"อันอาศัย"อุเบกขา"เป็น"ที่อยู่" (อาวาส) นั้น ก็จะเสพรสอยู่ใน "ภพแห่งความไม่รู้ไม่ชี้" คือ มี "ความวางเฉย" ไม่กำหนดอะไรกันล่ะ ไม่รู้สึกอะไรด้วย ไม่รู้สีรู้สาใดๆ ใจลอยๆ เฉยๆ ไม่เกี่ยวกับอะไร มีอารมณ์กลางๆ ว่างๆ นิ่งๆ ไม่ไปไม่มา ไม่ขึ้นไม่ลงอะไร ทำนองนั้น ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว

แต่สภาพ "อุเบกขา" แบบ "สัตตาวาส" นี้ จะมิใช่ "ไม่ทุกข์ไม่สุข" (อทุกขมสุข) ตามทฤษฎี หรือ ตามแบบ "ฌานโลกุตระ" ของพุทธเป็นแน่แท้ เพราะ "อทุกขมสุข" หรือสภาพ "อุเบกขา" ที่เป็น "อารมณ์ ฌาน ๔" ของพุทธนั้น มีนัยสำคัญตามแบบพุทธ ซึ่งต่างจาก "อุเบกขา" ตามแบบ ฌานโลกีย์ หรือฌานของ "สัตตาวาส" คนละอย่าง คนละอารมณ์ทีเดียว

ความจริง"อารมณ์"ผู้ที่ติด"ภพ"ในแบบสัตตาวาสหรือผู้ยังมี"ภพ"ชนิดนี้ ซึ่งก็เป็นแบบ "ฌาน" ทั่วไปนั่นเอง ความรู้สึกที่เสพอยู่ หรืออารมณ์จริงแท้ ของผู้อยู่ในภพที่มี "อุเบกขา" นี้ล้วน ยังเป็น "ภพ" เป็น "ชาติ" มันเป็น "อารมณ์สุข" ที่สำเร็จ "รูปภพ" นั้นๆด้วยจิต แม้จะเรียกว่า "อุเบกขา" แต่ในความจริง ของอารมณ์นั้น "เป็นสุข" มิใช่อารมณ์" ไม่ทุกข์ไม่สุข" (อทุกขมสุข) แบบพุทธ หรือ "โลกุตระ" อันมีนัยสำคัญ ไปอีกคนละแบบแน่ๆ

ซึ่งสุขในฌานของสัตตาวาสนั้น เป็น"สุข"เพราะจิตมันว่างจาก" ความวุ่น.. ที่คิดที่ปรุง ที่ฟุ้ง ไม่หยุด ไม่เพลา" กันมาตลอด พอมาพบ"ความสงบ" จึง"สุข" แม้จะเป็นแค่ "ความสงบ แบบโลกียฌาน" ก็เป็น "สุขของปุถุชน หรือสุขของชาวโลกสามัญ" ที่ชื่อว่า "โลกียสุข" ชนิด "อัตตทัตถสุข" ซึ่งเป็น อารมณ์ "เคหสิตอุเบกขาเวทนา" และยังเป็น "เคหสิตโสมนัสเวทนา" อยู่นั่นเอง ยังมิใช่ "เนกขัมมสิตเวทนา" แน่นอน ไม่ว่าจะเป็น "เนกขัมมสิตโสมนัสเวทนา" หรือ "เนกขัมมสิตอุเบกขา"

(อ่านต่อฉบับหน้า)

(เราคิดอะไร ฉบับที่ ๑๕๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๖)