- ชบาบาน
บ้านนอกเที่ยวชายเล
วันรุ่งขึ้นหลังจากไปดูหนัง
ปรีดากับน้อยหมายใจหนักหนาว่า จะได้ไปเที่ยวชายเล(๑)กัน
ให้สนุก แต่ก็ต้องผิดหวัง เพราะผู้ใหญ่ทุกคน ต้องการไปทำบุญ ที่วัดบางนรา
แม่บอกน้อยว่า
"น้อยน่ะยิ่งต้องไปมากกว่าใครหมด
เพราะหลวงพ่อของน้อย ท่านพระครูน่ะ เป็นหัววัด(๒)
อยู่ที่วัดนี้ น้อยจำเรื่อง ที่ยายเคยเล่าให้ฟังได้ไหมเล่า?"
ปรีดาหันมามองน้อย ซึ่งก้มหน้านิ่ง
ไม่ตอบแม่ในทันที ซึ่งเป็นมารยาทที่ไม่ดี แต่น้อย ไม่สามารถ อธิบาย
สิ่งที่เธอ กำลังรู้สึกอยู่ลึกๆ วูบหนึ่ง ในความคิด เธอกำลังย้อน สู่ประวัติ
ของตนเอง ที่เจ้าตัวรู้สึก สยดสยองทุกครั้ง ที่มีอะไร ทำให้หวนนึกถึง
แล้วนี่ การไปวัดบางนราจะไม่ทำให้เธอเกิดความรู้สึกนั้น
อย่างรุนแรงกว่าทุกๆ ครั้งหรือ
ใครต่อใครเล่าให้ฟังนับครั้งไม่ถ้วนว่า
ตั้งแต่เกิดมา เธอเป็นเด็กที่ขี้โรคมากที่สุด สามวันดี สี่วันไข้ เสียจน
หลายคน ไม่คิดว่าเธอ จะรอดจนโตมาได้ พ่อเองเคยฝันร้าย ในระหว่าง ที่เธอป่วยหนัก
ครั้งหนึ่ง จนต้องมีการ แก้ฝันกัน น้อยเคยเซ้าซี้ ถามพ่อเรื่อง ความฝันนั้น
แต่พ่อ ก็ไม่ยอมเล่าให้ฟังตรงๆ เลยสักที บอกแต่ว่า "น้อยจะไม่เป็น
อะไรหรอก ต่อไปน้อย จะเป็นเด็กแข็งแรง"
จนอยู่มาวันหนึ่ง เธอแอบได้ยินแม่เล่าเรื่องนี้
ให้น้าเหลี่ยนเพื่อนบ้านที่แว้งฟัง โดยไม่ทราบว่า ลูกนั่งอยู่ หลังกระสอบ
ข้าวสารด้านใน
"ตอนนั้นพวกฉันยังอยู่ที่บางนรา
น้อยไม่สบายมาก ตัวร้อนจัด ผอม เหลือหนังหุ้มกระดูก กินอะไรไม่ได้เลย
คืนหนึ่ง พ่อเขาฝันร้าย ร้ายมาก ฝันว่าเขาไปที่ทำงาน พอไปถึง ก็เห็นครู
กระจ่าง เดินลงบันไดมากับน้อย เลือดท่วมตัวเด็ก"
แอบได้ยินถึงตรงนั้น น้อยถลันออกไป
อย่างตกใจสุดขีด หน้าซีด ตาเบิกโพลง ตัวเย็นเฉียบ รู้สึก เหมือนอะไรดัง
วิ้ง วิ้ง วิ้ง อยู่ในหัว แม่หยุดเล่าทันที ดึงตัวเธอไปกอดไว้ ลูบหัว
พลางพูดว่า
"น้อยแอบฟังอยู่หรือ แม่ไม่ควรเลย
พ่อแค่ฝัน ลูก ไม่ใช่เรื่องจริง ไม่เป็นไร ไม่ต้องกลัว"
เรื่องนี้จึงค้างอยู่ในใจของน้อยเรื่อยมา
และพ่อก็ห้ามเด็ดขาด ไม่ให้แม่พูดถึงอีก เพราะเป็นเหตุ ที่ทำให้ลูก
กลายเป็นเด็ก ที่กลัวเลือด อย่างรุนแรง และมักจะวิงเวียนเสมอ เมื่อเห็นเลือด
แม้เพียงน้อยนิด
จนเมื่อยายมาเยี่ยมครอบครัวของเธอที่แว้ง
น้อยจึงได้แอบถาม เรื่องความฝันของพ่อ ยายเล่าให้ฟัง อย่างไม่ปิดบังว่า
"พ่อของน้อยเขาฝันไม่ดี
แล้วตอนนั้นน้อยก็กำลังเจ็บหนักด้วย พ่อน้อยน่ะ เขาเป็นคนไม่เชื่อ
เรื่องที่ใครๆ เขาเชื่อกัน เขาว่าพระพุทธเจ้า ไม่ได้สอนอย่างนั้นอย่างนี้
ฮึ! พอเจอเข้ากับตัวเอง ก็ลนลาน มาปลุกยาย ให้แก้ฝัน ให้กลางดึก เห็นไม้ล่ะ
คนเรา บทจะกลัวขึ้นมา!"
ยายพับหมากที่ม้วนเป็นหลอด ใส่ปากเคี้ยวอย่างช้าๆ
ตาของยาย ไม่ได้มองดูน้อย ที่นั่งอยู่ ข้างๆ ยายทำท่า เหมือนกำลัง
มองเห็นพ่อ ตอนมาปลุกยาย ตอนเกิดเรื่อง อย่างนั้นแหละ น้อยเขย่า ขายาย
ความรู้สึกสยอง เริ่มเข้ามา ในหัวสมองเธออีก แต่ความอยากรู้ มีมากกว่า
จึงเร่งยายว่า
"ยายเล่าต่อซีคะ พ่อฝันว่ายังไงคะ?
ฝันว่าเห็นครูกระจ่างอะไรนั่นใช่ไหม แล้วก็พ่อเห็น-- เห็นน้อย ตัวมีแต่--เลือะ--
เลือด ใช่ไหมคะยาย?" น้อยตัดสินใจถามออกไป เสียง วิ้ง วิ้ง วิ้ง
ดังขึ้นในหูในหัว ของเธออีกแล้ว ภาพตนเอง เลือดอาบเต็มตัวอยู่ ก็ปรากฏอยู่เต็มตา
พ่อเดินเข้ามาพอดี ทันได้ยินประโยคที่น้อยพูด
ยายเหลือบตามองพ่อ พ่อคงทราบว่า ลูกรู้สึก อย่างไร จึงขยิบตาสั่นหัว
ไม่ให้ยายเล่าต่อ ยายกลับพับปลายพลูเข้าปาก พูดว่า "ใครกลัว กันแน่
นี่น่ะ พ่อกลัว หรือว่าลูกกลัว? จะปล่อยให้เด็กมันกลัวอยู่อย่างนี้หรือ
ยิ่งโต มันก็จะยิ่ง กลัวตามตัว"
พ่อนั่งลงข้างน้อย พ่อรู้ดีว่ายายนั้นลงตัดสินใจแล้ว
ใครก็ห้ามไม่อยู่ แม่กับพี่แมะ เดินเข้ามา สมทบ ความรู้สึกน้อย ดีขึ้นบ้าง
เพราะอยู่กันพร้อมหน้า ยายพูดต่อว่า
"มา! ยายเล่าให้ฟังเอง พ่อเขาฝันว่า
คนนั้นแหละ ครูอะไรนั่นแหละ เขามาบอกกับพ่อน้อยว่า น้อยไม่ใช่ ลูกพ่อ
น้อยเป็นลูกเจ้า เจ้าอะไรก็ไม่รู้หละ แล้วก็ถึงเวลาที่เขา จะมาเอาตัว
น้อยไปแล้ว"
พอยายเล่าถึงตรงนี้ น้อยขยับเข้าไปหาพ่อ
อย่างไม่รู้ตัว พ่อโอบตัวเธอไว้ ยายเล่าต่อว่า
"นั่นแหละ ที่พ่อเขาว่า
คนนั้นกำลังเดินลงบันไดไปกับน้อยนั่นแหละ เขากำลังมาเอา ตัวน้อยไป
พ่อน้อย เขาไม่ยอมให้ลูก ก็เลยสู้กันใหญ่ในฝัน จนพ่อเขาตกใจตื่น มาให้ยาย
แก้ฝันนั่นแหละ"
"แก้ฝันเป็นยังไง แล้วยายแก้อย่างไรคะ
ยายเล่าเร็วซี น้อยอยากรู้" น้อยเร่งยาย แม่เขย่าแขน เธอเบาๆ
เหมือนจะเตือน เรื่องมารยาท ยายเล่าต่อว่า
"แก้ยังไง ยายก็ให้พ่อหลานเค้าล้างหน้า
บ้วนปากเสียก่อนน่ะซี เหงื่อที่เต็มหน้า เพราะกลัว ความฝัน จะได้ออกไปเสีย
ล้างหน้าบ้วนปาก ไปก็อธิษฐานไปด้วยว่า ให้อะไรที่เราเห็นไม่ดีๆ น่ะออกไปเสีย
กับน้ำล้างหน้า น้ำบ้วนปาก ยายก็ว่าไปตามที่คนโบราณ เขาสอนมา คนเดี๋ยวนี้
เค้าไม่เชื่อร้อก" ยาย อดแขวะพ่อไม่ได้ "แต่พอกลัวเข้า ให้ทำอะไร
ก็ทำทั้งน้าน"
ยายก้มลงมอง เมื่อน้อยสะกิดขาเบาๆ
"อ้อ ที่สะกิดน่ะ ให้ยายเล่าต่อ หรือไม่ให้ยายว่าพ่อแก หือ?"
น้อยรู้สึกว่าอะไรๆ กำลังดีขึ้น
เมื่อพ่อกับแม่หัวเราะ ถึงยายจะว่าอย่างไร ก็ต้องไม่มีใคร ต่อว่ายาย
พ่อพูดขึ้นว่า
"นม(๓)เล่าเสียก็ดีเหมือนกัน
ผมน่ะไม่รู้จะเล่าลูกอย่างไร แต่ตอนนั้น พอได้ล้างหน้าแล้ว ก็รู้สึก
ดีขึ้นจริงๆ ด้วย"
"นั่นแหละ คนโบราณน่ะ เขาไม่โง่กว่าคนสมัยนี้หรอก
ล้างหน้าล้างตาแล้ว เขาก็ให้ไหว้พระ สวดมนตร์ ให้พระท่านคุ้มครอง แล้วก็ให้คนที่เขาเข้าใจ
แก้ฝันให้ ฉันน่ะอ่านหนังสือก็ไม่ออก ตำราฝันก็ไม่รู้ ไม่ได้อ่านหนังสือ
เป็นหีบๆหรอก"
ยายแขวะพ่ออีกแล้ว เมื่อไหร่จะเล่าเสียที
ยิ่งอยากรู้อยู่ด้วย! น้อยคิดโดยไม่ได้สังเกตว่า ยิ่งยายทำอย่างนั้น
เธอก็ยิ่งเหลือ แต่ความอยากรู้ต่อ และความรู้สึกสยอง ได้ลดลงไป พร้อมๆ
กัน เธอสะกิดยายอีกครั้ง คราวนี้ด้วยความอยากฟังต่อ เหมือนฟังนิทาน
ยายยิ้ม เมื่อเล่าต่อ อย่างภาคภูมิใจว่า
"ยายก็แก้ฝันร้ายให้กลายเป็นดีเสีย
เท่านั้นเอง ก็พ่อเขาฝันว่า คนเขาจะมาเอาตัวน้อยไป คนโบราณเขาว่า ถ้าฝันว่า
มีคนจะมาเอาคนกำลังเจ็บหนักไป คนเจ็บก็จะไม่รอด นั่นแหละ ที่พ่อน้อยเขา
กลัวหนักหนา เขากลัว ลูกจะตาย"
น้อยนึกในใจว่า น้อยก็กลัวตายเหมือนกัน
แต่เธอไม่ได้ขัดยาย ยายจึงเล่าต่อว่า
"แล้วก็ที่ว่าน้อยไม่ใช่ลูกพ่อ
เป็นลูกเจ้าอะไรน่ะ ยายก็แก้ว่า เจ้าไหนจะมาเหนือกว่า เจ้าวัด พระพุทธเจ้าไง
สูงที่สุด แล้วก็มาเจ้าวัด ยายเคยไปเฝ้า ชมบุญเจ้าเหนือหัว พระพุทธเจ้าหลวง(๔)น่ะ
ปีนั้น ท่านเสด็จ มาสงขลา มาที่วัดกลาง(๕)
ยายเห็น ท่านยังยกมือ ไหว้ท่านเจ้าคุณภัทร(๖)เลย
อย่างนี้แล้ว ใครจะมาเหนือกว่า เจ้าวัด แล้วในบางนรานี่ ก็ต้องเจ้าวัด
ที่วัดบางนราซี"
"อย่างนี้นี่เอง น้อยก็เลยเป็นลูกพระ
อย่างที่แม่ว่าอยู่เรื่อย" น้อยพูดเบาๆ ทุกอย่าง กระจ่างแล้ว
สำหรับเธอ แม่เล่าต่อยายว่า
"ตอนนั้นแม่กับพ่อ ไม่หวังแล้วว่า
น้อยจะรอดตาย พอยายแก้ฝันเสร็จ ยายกับพ่อ ก็รีบไป ที่วัดบางนรากัน
ตั้งแต่ยังไม่สว่าง ท่านพระครูเห็นด้วย กับการแก้ฝันของยาย ท่านว่าให้เด็ก
เป็นลูกพระเสีย เป็นการ ป้องกันผี ท่านเอาด้ายมาควั่นเข้า เอาขมิ้นมารูด
แล้วก็เอาหัวไพล มาเจียน เป็นแว่นเล็กๆ ร้อยเข้า ที่ด้ายนั้น ให้ยายเอามาผูกคอ
ผูกข้อมือให้น้อย เขาเรียกว่า เป็นการเรียกขวัญไงลูก"
น้อยยิ้ม เงยหน้ามองพ่อ "ขวัญของน้อยก็เลยไม่ไปกับคนนั้น
น้อยก็เลยไม่ตาย ใช่ไหมคะ พ่อ?"
"ใช่แล้วลูก แต่นมเล่าตกไปนิดนึง
ตอนนั้น นมแก้ฝันด้วยการพูดก่อนไงครับว่า ไม่ใช่ฝันร้าย ฝันดีต่างหาก
น้อยก็เลยได้ชื่อจริง ตอนนั้นด้วย แถมยังต้องเปลี่ยนไปเรียกยายว่า
แม่ เรียกพ่อว่า ใหญ่ เรียกแม่ว่าน้า อยู่พักหนึ่ง ยายว่า ผีจะได้ไม่รู้ว่า
เด็กคนไหน ที่เขาจะมา เอาตัว ตอนนั้น น้อยเพิ่งจะหัดพูด"
น้อยนิ่งเงียบไปพักหนึ่ง
ก่อนที่ปรีดาจะพูดขึ้นว่า "น้อย เราไปวัดก่อนก็ดีเหมือนกัน วัดบางนรา
อยู่ไม่ไกลหรอก ข้างเขาพิพิธ(๗)ตรงนี้เอง
พอตอนบ่าย พี่แมะ น้อย ดา ก็ไปเที่ยวคลองกัน ไปดูที่ เขาลอยตะกางไง
ดาพาไปเอง"
"ตะกางเป็นอะไร ดา เขาลอยทำไม?"
น้อยถามขึ้นทันที
"เอาเหอะ ค่อยว่ากัน"
แม่พูด "อาบน้ำเตรียมตัวไปวัดได้แล้ว จะได้ช่วยกัน หิ้วปิ่นโตไปด้วย"
การไปวัดวันนั้นกลายเป็นเรื่องวิเศษไปเลย
น้อยได้เห็นเขาพิพิธ ที่อยู่ข้างวัดบางนรา มันเป็นแค่ ควน(๘)
ลูกหนึ่งเท่านั้น ไม่ได้สูงเสียดฟ้าเหมือนภูเขา ที่ล้อมรอบ
อำเภอแว้ง ของเธอ ปรีดาเล่าว่า ยังมีภูเขานอกเมือง อีกลูกหนึ่ง เรียกว่า
เขาตันหยง(๙) สูงกว่าเขาพิพิธ
แต่คงไม่สูง เท่าภูเขาของน้อยที่แว้ง
เป็นอันว่าเรื่องภูเขานี่ บางนราสู้แว้งไม่ได้
แต่ที่น้อยยอมรับว่า แว้งแพ้บางนราหลุดลุ่ย ก็คือ เรื่องวัด
พ่อพาน้อยและพี่แมะเข้าไปกราบท่านพระครู
หลวงพ่อของน้อย ท่านมองดูเธอ แล้วถามพ่อว่า
"โตแล้วนี่นะ กี่ขวบแล้วโยม
เรียนหนังสือที่ไหน?"
"เจ็ดขวบแล้วขอรับ ผมไปอยู่แว้งหกปีแล้ว
ตอนนั้น เขาเพิ่งจะหัดพูด สุขภาพก็ดีขึ้นมาก จนเจ็ดขวบ ถึงได้มานมัสการ
หลวงพ่อนี่ละขอรับ แต่เจ้าตัวเขารู้เรื่อง ตลอดแล้วขอรับ คนโต ไม่มีปัญหาอะไร
แข็งแรง ไม่เจ็บไม่ไข้ เรียนที่โรงเรียนแว้ง ทั้งคู่ขอรับ" พ่อตอบ
ลุงเกลื่อนกับป้าคิมบอกให้เด็กๆ
ประเคนอาหารพระ น้อยนั้น ป้าให้ประเคนท่านพระครูเอง แต่เมื่อเธอ ยกจานข้าว
ส่งให้ท่าน ด้วยกิริยาที่คิดว่า นอบน้อมที่สุดแล้ว คือส่งให้แบบส่งของ
ให้คุณครู ที่โรงเรียน ท่านพระครูไม่รับ กลับหัวเราะ อย่างเมตตาพลางพูดว่า
"เด็กเมืองแขก ประเคนข้าวพระยังไม่เป็น
ที่แว้งไม่มีวัดใช่ไหม? เอ้า พ่อช่วยสอนลูก ประเคน หลวงพ่อหน่อย"
น้อยได้ยินพ่อตอบว่า "มีวัดแต่ไม่มีพระประจำอยู่ขอรับ"
แล้วเธอก็ได้เรียนรู้ในวันนั้นว่า ผู้หญิง แม้เป็นเด็ก ก็ส่งของ ต่อมือพระไม่ได้
เธอจะต้องคอยให้พระ ทอดผ้าเสียก่อน แล้วจึงค่อย วางของ ที่จะถวาย ลงบน
ชายผ้านั้น อย่างนอบน้อม วางเสร็จแล้ว ก็ต้องยกมือไหว้ ทุกครั้งไป
น้อยชำเลือง มองคนอื่น ปรีดา เขาเป็น เด็กในเมือง เขาทำเป็นอยู่แล้ว
ส่วนพี่แมะ เธอเห็น พี่สุนีย์ กำลังสอน ให้ทำแบบถูกต้อง เหมือนกัน
เมื่อพระฉันเสร็จ ท่านพระครูก็นำการกล่าวภาษาบาลีให้พรทุกคน
ที่ไปทำบุญวันนั้น สำหรับ พี่แมะ ปรีดา และน้อยนั้น มีของพิเศษ คือท่านเรียก
ให้เข้าไปรับ พระองค์เล็กๆ สำหรับ ห้อยคอ ติดตัวไว้ นี่ก็เช่นกัน เด็กผู้หญิง
จะรับของ ต่อจากมือพระไม่ได้ เมื่อพ่อสอน ให้น้อย แบฝ่ามือ เป็นอุ้ง
รับพระองค์น้อยนั้น ท่านพระครู พูดกับเธอ โดยเฉพาะว่า
"ขอให้เธอจงเป็นเด็กที่สุขภาพแข็งแรง
ไม่ขี้โรคเหมือนเมื่อก่อนอีกต่อไป เป็นเด็กดี เชื่อฟัง พ่อแม่ ตั้งใจ
เล่าเรียน แม้เธอจะเป็นเด็กผู้หญิง เมื่อได้ชื่อว่า เป็นดังลูกหลวงพ่อ
มาตั้งแต่ อ่อนเยาว์ ก็ขอให้เธอสนใจ ศึกษา พุทธศาสนาของเรา อย่าอยู่ไกล
พระศาสนา แล้วเธอ จะปลอด จากภัยทั้งปวง จำไว้"
หลังจากนั้นก็เป็นเรื่องสนุกสนาน
สนุกมากๆ เมื่อเด็กๆช่วยพี่สุนีย์ เลือกสถานที่เหมาะสม ในลานวัด เพื่อรับประทาน
อาหารกลางวันกัน ในที่สุดปรีดาก็ชวนน้อย ไปยืมเสื่อของวัด มาปูลงที่
ใต้ต้นพิกุล พี่แมะช่วยพี่สุนีย์ เอาอาหาร ที่บรรจุปิ่นโต ออกมาวาง
เรียงบนเสื่อ มีอาหาร มากมาย หลายอย่าง เด็กๆ จะรับประทานเท่าไร ก็ไม่มีใครว่า
เมื่อรับประทานเสร็จแล้ว ก็ช่วยพี่สุนีย์เก็บข้าวของอย่างเรียบร้อย
ลุงเกลื่อนพูดว่า
"นานๆ ได้มาวัดร่วมกันสักทีนึง
นั่งคุยกันให้สบายใจต่อไปเถอะ ไม่ต้องรีบกลับ เด็กๆ ไปเดินเล่น กันที่ภูเขาก็ได้
หรือจะเล่นกัน ในบริเวณวัดนี้ก็ได้ ปรีดา อย่าเที่ยวพากัน ไปไกลนัก
ก็แล้วกัน"
"แต่ตอนบ่ายดาจะพาพี่แมะกับน้อยไปที่คลองนะพ่อ
ดาสัญญากับน้อยแล้ว ก็วันนี้ ไม่ได้ไป ชายเล แล้วไงคะ นะแม่นะ?"
"ให้ไปเถอะค่ะ พี่คิม เห็นพูดกันตั้งแต่ก่อนออกจากบ้านว่า
จะพาไปดูที่ เขาลอยตะกาง" แม่พูด
"ดาน่ะมันซนเหลือหลาย ห้ามลงไปในคลองอย่างเด็ดขาด
สัญญากันก่อน ดา" ลุงเกลื่อน คาดคั้น
"สัญญาค่ะพ่อ แต่พรุ่งนี้
พวกเราจะลงเล่นน้ำทะเลกันทุกคนเลย" ปรีดาพูด พี่สุนีย์ พูดขึ้นบ้างว่า
"เอาเหอะ วันนี้เป็นเด็กดีกันทุกคน
ไปเดินเล่นกันไป๊ เดี๋ยวน้ำแข็งกด ก็มาแถวนี้หรอก เอ้าเอา เศษตังค์ไป
พี่ให้ แล้วถ้าตอนบ่าย เป็นเด็กดีอีก พรุ่งนี้เราจะเหมารถแซ้กซี (สามล้อ)
หลายคัน ไปเที่ยวชายเลกัน ได้ยินน้าว่า เด็กแว้งไม่เคยนั่งรถแซ้กซี
ไม่ใช่หรือ?"
"ไม่เคยค่ะ พี่นีย์ ที่แว้งไม่มีรถอะไรทั้งนั้นค่ะ
มีแต่ช้าง แล้วก็ควาย วัวเท่านั้น" พี่แมะตอบ พลางสั่นหัว น้อยนั้นตอบไม่ออก
แต่ในใจเธอกำลังตะโกนลั่น
'โอ๊ย! วิเศษอะไรอย่างนี้!
พรุ่งนี้จะได้ไปเห็นทะเลแล้ว! จะได้นั่งรถสามล้อ ไปเสียด้วย!'
บ่ายแก่ๆ
วันนั้น เด็กทั้งสามก็ได้มาเดินเล่นกันที่ริมคลองบางนรา น้ำในคลองนี้
ไหลมาจาก ภูเขา ในอำเภอแว้ง คือจากทิวเขา ที่น้อยเห็นโอบหลังบ้านเธอ
อยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน ไม่น่าเชื่อ เลยว่า มันไหลลงมา กลายเป็น คลองใหญ่ขนาดนี้
แล้วไปออกทะเล ที่ปากอ่าว ทั้งสอง ฝั่งคลอง มีคนอยู่หนาแน่น ฝั่งนี้
เป็นตัวเมืองบางนรา ที่เด็กทั้งสามเดินกันอยู่ อีกฝั่งหนึ่ง ก็เป็นหมู่บ้าน
ชาวประมง อยู่กันหนาแน่น
"เรือพวกนี้เป็นของแขกหาปลาทั้งนั้น
พอเย็นๆ พวกเขาก็จะออกทะเล แล้วก็กลับมา ตอนเช้า เอาปลามาขาย ที่ตลาดไง
เย็นนี้เขาก็ออกอีก ออกทุกวัน นอกจากเวลามีพายุ ออกไม่ได้ เดี๋ยวเรือล่ม
ดาชอบดู เวลาเรือมันออก ไปไกลจากฝั่ง มันเหมือนหอยทาก เรียงกันอยู่
ที่ขอบฟ้าสุดๆ โน่น" ปรีดาเล่า
น้อยไม่เคยเห็นของจริง จึงได้แต่วาดภาพไว้ล่วงหน้า
สำหรับวันพรุ่งนี้ พี่แมะเคยเห็นแล้ว ตอนยังเด็ก จึงไม่ต้องวาด เอาในความคิดแบบน้อย
พี่แมะบอกปรีดาว่า
"พี่ก็ชอบเหมือนกัน ที่แว้งไม่มีอย่างนั้น
แล้วพี่ก็ชอบหาดทรายด้วย ดีใจจัง ที่พรุ่งนี้ จะได้เล่นน้ำอีก"
"น้อยยังไม่เคยเห็นทะเล
แต่น้อยก็เห็นแล้วว่าสวย เรือที่เขาจอดเต็ม ในคลองนี่ก็สวย น้อยชอบ
ข้างเรือ ที่เขาวาดรูป แปลกดี สีก็สวยด้วย ตรงหัวเรือ ก็สวยจังเลย
แล้วตรงโน้น ภูเขาอะไรล่ะดา ด้านโน้นน่ะ มันไม่สูงถึงฟ้า แบบเขาที่แว้ง
อยู่ใกล้ทะเลด้วยใช่ไหม?" น้อยถาม ปรีดาตอบว่า
"ใช่ เขานั้นอยู่ใกล้ทะเล
ก็ที่เขาเรียก เขาตันหยงไง ดาเคยไปกับแขกมาหนนึง นานแล้ว เรือนี่ เป็นเรือ
หาปลา ของพวกแขกไง เขาเรียกว่า เรือกอและ สวยนะ ดาก็ว่าสวย บางทีในคลองนี้
เขาก็แข่งเรือกัน แต่ลงไปเล่นน้ำไม่ได้"
"ทำไมไม่ได้ล่ะ? น้ำลึกมากเหรอ?"
น้อยถาม ปรีดาทำเสียงกระซิบกระซาบตอบว่า
"ไม่ใช่ ในคลองนี้มีไอ้--บอยอ(๑๐)
เขาว่าอย่าพูดถึง แล้วก็อย่าออกชื่อดังๆ เดี๋ยวมัน ขึ้นมาละก็ แย่เลย
วันก่อน เขายังลอยตะกางได้มันด้วย"
พี่แมะกับน้อยหยุดเดิน หันมามองปรีดาเป็นตาเดียว
กระซิบกระซาบ ถามปรีดา เกือบพร้อมกันว่า
"มี--บอยอจริงเหรอ ดาเคยเห็นไม้?
ลอยตะกางเป็นยังไง?"
"ลอยตะกางก็ตกเบ็ดไง แต่ถ้าตก-"
ปรีดากระซิบแผ่วลงไปอีก "ถ้าตกบอยอเขาเรียกว่า 'ลอยตะกาง'
เขาว่าถ้าบอยอตัวนั้นมันกินคนมาแล้ว
มันถึงจะกินเหยื่อ ที่เขาลอยตะกาง"
"แล้วเขาเอาอะไรเป็นเหยื่อล่ะ?"
พี่แมะกระซิบถามบ้าง
"หมา เขาเอาหมาเป็นๆ ทำเหยื่อ"
ปรีดาตอบ
"หา!?เอาหมาเป็นๆ
ไปทำเหยื่อตก--ตกบอยอ!?" เด็กทั้งสองตาเหลือก อุทาน เกือบเป็น
เสียงตะโกน ในตอนแรก แต่พอนึกขึ้นได้ ก็รีบแผ่วเสียงลงทันที พร้อมๆ
กัน "แล้วดาเคยเห็น มันจริงๆ เหรอ?" พี่แมะ ถามต่อ
"จริง พี่แมะ เขาลอยตะกางได้มัน
แล้วเขาก็ลากมันมาผูกไว้ตรงนั้นแหละ" ปรีดาชี้ที่ให้ดู เป็นการยืนยัน
"คนมาดูกันเต็มเลย เขาเล่าว่า แขกคนหนึ่ง ออกมาอาบน้ำในคลอง ข้างเรือ
เอาปี๊บ มาตักน้ำด้วย บอยอ มันมาคาบเอาตัวไป เพื่อนบ้านได้ยินเสียงปี๊บ
ดังโพล้งเพล้ง ออกมาดู เห็นมันลากลงน้ำไปแล้ว พวกแขกเขา ก็เลยลอยตะกาง
แล้วมันก็ มากินเหยื่อ" ปรีดาเล่า
ทั้งๆ ที่กลัว น้อยอดถามปรีดาไม่ได้
"แล้วเป็นบอยอ ที่กินแขก ที่อาบน้ำนั้น หรือเปล่าล่ะดา?"
"ไม่รู้ซี คงใช่มั้ง เพราะแขกที่ลอยตะกางเขามีมนตร์ด้วย
เขาต้องเรียกขึ้นมา เฉพาะตัวนั้น แม่ดาเล่าว่า ก่อนพวกเราเกิด มันก็ขึ้นมากินแขกผู้หญิง
พอเขาลอยตะกางได้ เขาก็ผ่าท้อง มันออกดู แล้วก็พบ ผู้หญิงคนนั้น สร้อยคอ
สร้อยมือยังอยู่ครบ" ปรีดาเล่าต่อ
"บรื๋อ--น่ากลัวที่สุดเลย"
น้อยว่า "มิน่า ลุงเกลื่อนถึงให้ดาสัญญาว่า จะไม่ชวนเรา ลงเล่นน้ำ"
เสียงรัวดัง ปัง ปัง ปัง
ได้ยินมาจากอีกฝั่งหนึ่ง ของคลองกว้าง เด็กทั้งสาม หันไปมอง เห็นควัน
สีขาว ขึ้นเป็นสายๆ ตามด้วยเสียงรัวติดๆ มาอีกเป็นตับ
"เสียงปืนอะไรน่ะดา?"
น้อยถาม
"เสียงประทัด พวกคนหาปลา
เขาจะจุดประทัดก่อนออกเรือทุกเที่ยว เดี๋ยวเรือกอและ สวยงาม เหล่านี้
ก็จะออก แสดงว่าเย็นมากแล้ว เรากลับกันเหอะ เดี๋ยวพี่นีย์บ่นอีก ยิ่งพรุ่งนี้
เขาจะพาพวกเรา ไปเที่ยว ชายเลด้วย เราก็ต้องเป็นเด็กดีหน่อย นะ"
ว่าแล้ว ปรีดาก็เงยหน้า ขึ้นมองฟ้า ก่อนที่จะพูดว่า "พรุ่งนี้
ปลาจะถูก"
"ดารู้ได้ยังไงหนะ?"
พี่แมะถามด้วยความประหลาดใจ
"เก่งจริงๆดานี่ ดูฟ้านิดเดียวก็บอกได้แล้วว่า
พรุ่งนี้อะไรถูก"
"ก็แม่ดาเขาเคยบอกว่า ก่อนออกเรือ
คนหาปลา จะมองท้องฟ้าแล้ว ก็บอกกันได้เลยว่า วันนั้นพวกเขา จะจับอะไรได้มาก
เขาว่า 'ฟ้าแดงถูกกุ้ง ฟ้ารุ่งถูกปลา' ไง
ถ้าเก่ง ก็คน หาปลาเก่ง ไม่ใช่ดาซักกะหน่อย เรากลับกันเหอะ ตอนนี้บ่นตายแล้วก็ไม่รู้"
ปรีดาว่า แล้วหันหลังกลับ ออกเดินนำหน้ากลับบ้าน
ก่อนหลับคืนนั้น
น้อยอดคิดทบทวนสิ่งใหม่ๆ ที่ได้รับรู้ ได้ฟัง ได้เห็นมา ตลอดทั้งวันไม่ได้
พี่แมะนอน วางแผนการเที่ยว ในวันรุ่งขึ้นกับปรีดา อย่างสนุกสนาน หัวเราะกันคิกคัก
เพราะเพิ่ง ได้ทราบ จากแม่ว่า พรุ่งนี้ จะไปชายเลกัน ตั้งแต่เช้า เอาอาหารกลางวัน
ไปรับประทาน ที่ชายหาดด้วย
ป้าคิมบอกว่าดีใจที่พ่อพาครอบครัวมาเยี่ยม
เพราะระยะหลังนี้ ลุงเกลื่อนไม่ค่อยสบาย เป็นหืด ลุงไม่ค่อยไปไหน มานานแล้ว
ป้าก็เลยไม่ได้ไปไหนด้วย การไปชายเลพรุ่งนี้ จะทำ ให้ลุงเกลื่อน สดใสขึ้นได้อย่างมาก
เพราะอากาศชายเล บริสุทธิ์กว่าอุดอู้อยู่ในบ้าน
"ดา น้อยถามอะไรหน่อยได้ไหม?
พี่แมะด้วย แต่พี่แมะคงไม่ทราบหรอก" น้อยถามปรีดาเบาๆ
"เรื่องไอ้เข้ใช่ไหม?"
ปรีดาทาย คราวนี้ปรีดาเรียก 'ไอ้เข้' และไม่ได้กระซิบกระซาบ
"ใช่ ดา" น้อยตอบ "น้อยอยากรู้ว่า
ไอ้เข้มันรู้ภาษาคนด้วยเหรอ? ก็ตอนอยู่ที่ริมคลองน่ะ ดาพูดเบาๆ กลัวมัน
จะได้ยินใช่ไหม แล้วดาก็เรียกมันว่า 'บอยอ' เพราะไอ้เข้ มันรู้แต่
ภาษาแขกใช่ไหม ถ้าเกิดมันได้ยิน มันก็จะไม่รู้ว่า เราเป็นเด็กไทย ใช่ไหม
เพราะเราพูดแขก"
"น้อย
ฆีลอ(บ้า)ไปแล้วเหรอ?" พี่แมะว่า แต่ปรีดาคงไม่ได้คิดอย่างนั้น
เพราะเขาตอบน้อยว่า
"อย่างนั้นมั้ง น้อย คงเหมือนที่ผู้ใหญ่ให้น้อยเรียกยายว่าแม่
เรียกพ่อว่าใหญ่ เรียกแม่ว่าน้า เพื่อหลอกผี นั่นแหละ เหมือนกันเลย"
๑ ชาวปักษ์ใต้จะตัดพยางค์ประวิสรรชนีย์ของคำที่เกินสองพยางค์ขึ้นไป
ฉะนั้น 'ชายทะเล' จึงเหลือ 'ชายเล' เช่นเดียวกับ 'ชาวทะเล' ทางชายฝั่งอันดามัน
ที่มาเรียก กันว่า 'ชาวเล'
๒ หมายถึง 'เจ้าอาวาส'
๓ เป็นคำที่ชาวปักษ์ใต้สมัยก่อน
ใช้เรียกแทนคำว่า 'แม่' ทำให้นึกถึงคำคู่ของไทย 'แม่นม'
๔ คือพระสมัญญานาม ที่คนไทยสมัยก่อน
ถวายแด่พระบาทสมเด็จ พระจุลจอมเกล้า เจ้าอยู่หัว
๕ คือพระวิหารหลวงชั้นตรี ในอำเภอเมือง
จังหวัดสงขลา มีชื่อเป็นทางการว่า 'วัดมัชฌิมาวาส' เป็นวัดที่มี
จิตรกรรมฝาผนัง งดงามมาก กับมีเทคนิคในการสร้าง โดยใช้แท่งหิน
วางขวางกันความชื้น
๖ เป็นสมณศักดิ์ของเจ้าอาวาส วัดมัชฌิมาวาส
ในรัชกาลที่ ๕ รายละเอียด เรื่องการเสด็จ สงขลา ครั้งนั้น หาอ่านได้ใน
พระราชหัตถเลขา ในพระบาทสมเด็จ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นครั้งเดียว
กับที่ จะทรงได้ 'นายคนัง'มา
๗ น่าจะตั้งตามชื่อ พระพิพิธภักดี
ที่เคยเป็นเจ้าเมืองสายบุรี แต่จะเคยมาเป็นเจ้าเมือง บางนรา หรือไม่
เมื่อใด ยังสืบไม่ได้ เช่นเดียวกับถนนสายใหญ่ กลางเมืองนราธิวาส
ที่ชื่อ 'ถนนถูผาภักดี' น่าจะแยก แบ่งมาจาก ราชทินนาม 'พิพิธภักดี'
ด้วยเหมือนกัน
๘ 'โคก ควน เขา' ในภาษาปักษ์ใต้
หมายถึง 'เนิน ภูเขาเตี้ย ภูเขาสูง'
๙ เขาตันหยงนี้เอง ที่ต่อมาได้มีการสร้าง
'พระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์' ขึ้น คำว่า 'ตันหยง' แปลว่า 'พิกุล'
ฉะนั้น โครงการพระราชดำริ ในจังหวัดนราธิวาส จึงได้ชื่อว่า 'ศูนย์ศิลปาชีพพิกุลทอง'
๑๐ เป็นคำภาษามลายูพื้นเมือง ถ้าเป็นมลายูกลางจะว่า
'บายา' ดังที่เป็นชื่อเมือง 'สุราบายา 'ในประเทศ อินโดนีเซีย จะเห็นว่า
สัญลักษณ์ของเมืองนั้นมี 'จระเข้' อยู่ด้วย |
*เขียนที่บ้านบางซื่อ
เสร็จเวลา ๑๕.๑๓ น. เดี๋ยวน้องศีลสนิท จะแวะมารับต้นฉบับ วันก่อนไปที่ชมร.จตุจักร
ได้พบ คุณบุญสัน วริทธิสาร มาซื้อหนังสือ เราคิดอะไร ในชมร. เขาบอกว่า
เขาเป็นเด็กแว้ง เป็นลูกชาย ของช่าง ทำทอง ที่แขกเรียกกันว่า เจ๊ะมูซอ
บ้านอยู่ใกล้บ้านประพนธ์ เพชรสุขุม ในเรื่องแว้งที่รัก เขารู้จัก หลายคน
และ หลายสถานที่ ที่เราเอ่ยถึง เขาดีใจ ที่ได้อ่านเรื่องของบ้านเกิด
แม้ว่าจะจากมา อยู่กทม. นานแล้ว และไม่ทราบว่า ใครเป็นผู้เขียน ก็ตาม
เขาจะไม่ซื้อฉบับย้อนหลัง แต่จะคอยซื้อ เมื่อรวมเล่มแล้ว หลายเล่ม
เพื่อส่งไปให้เพื่อน
(เราคิดอะไร
ฉบับที่ ๑๕๑ เดือน กุมภาพันธ์ ๒๕๔๖)
|