อดีตชาติของพระพุทธเจ้า
ศีลมาก หลากหลาย
ใจแป้ว
คงแห้ว ไม่อาจ ถือได้
อาศัย พุทธองค์ ดลใจ
ย่อให้ ศีลเหลือ นิดเดียว
ไม่ท้อถอย (กัญจนขันธชาดก)
พระบรมศาสดา
เมื่อประทับอยู่ ณ พระเชตวันมหาวิหาร ทรงปรารภถึงภิกษุรูปหนึ่ง...
ีกุลบุตรชาวเมืองสาวัตถีคนหนึ่ง
เมื่อได้ฟังธรรมเทศนาของพระตถาคตแล้ว ก็ศรัทธาถึงกับบวช
ถวายชีวิต อยู่ในพระศาสนานี้ เมื่อเป็นภิกษุแล้ว
อาจารย์และอุปัชฌาย์ได้กล่าวสอนศีล
แก่ท่านว่า
"บรรดาศีลทั้งหลายท่านพึงศึกษาไว้ประพฤตินั้นมีมากอย่าง
เช่น จุลศีล-มหาศีล ปาฏิโมกข สังวรศีล (สำรวมงดเว้น สิ่งที่พระพุทธเจ้าห้ามไว้
ในพระปาติโมกข์) อินทริยสังวรศีล (สำรวมตา-หู-จมูก-ลิ้นกาย-ใจ ระวัง
ไม่ให้กิเลสครอบงำ) อาชีวปาริสุทธิศีล (ศีลทำความบริสุทธิ์ ให้แก่การเลี้ยงชีพ)
ปัจจัยปฏิเสวนศีล (ศีลที่ใช้พิจารณา ในการบริโภคปัจจัยคือ จีวร -บิณฑบาต
-ที่อาศัย -ยารักษาโรค โดยไม่บริโภค ด้วยตัณหา)...."
ภิกษุรูปนั้นฟังแล้วถึงกับท้อถอย
หมดใจเพียร บังเกิดความคิดขึ้นว่า
"โอ้โฮ..ศีลนี้ช่างมีมากมายยิ่งนัก
เราคงไม่สามารถที่จะประพฤติปฏิบัติได้ถึงปานนั้น
ก็แล้ว การบวช ที่ไม่อาจ จะบำเพ็ญศีลให้บริบูรณ์ได้ จะมีประโยชน์อะไรกันเล่า
เราควรกลับไป เป็นคฤหัสถ์ทำบุญ ให้ทาน อยู่ครองเรือน จะดีกว่า"
คิดอย่างนี้แล้ว ก็บอกกับอาจารย์ และอุปัชฌาย์ว่า
"ท่านอาจารย์ครับ
ผมไม่อาจรักษาศีลมากมายเหล่านี้ได้ เมื่อรักษาศีลไม่ได้
การบวช ก็ไม่มีประโยชน์อะไร ผมจะขอลาสึก
โปรดรับบาต รและจีวรคืนไปเถิด"
อาจารย์และอุปัชฌาย์พยายามห้ามปรามไว้
แต่ก็ไม่สามารถทัดทานไว้ได้ จึงบอกกับ ภิกษุนั้นว่า
"ถ้าอย่างนั้น
ท่านจงไปถวายบังคมพระศาสดาก่อนเถิด"
แล้วพาภิกษุนั้นไปที่ธรรมสภา
เพื่อพบพระผู้มีพระภาคเจ้า ณ ที่นั้น
เพียงพระศาสดาทอดพระเนตรเห็นใบหน้าเศร้าหมองของภิกษุนั้น
ก็ตรัสขึ้นมาว่า
"ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย
พวกเธอพาเอาภิกษุผู้ไม่ปรารถนาอยู่ในเพศบรรพชิตมาหรือ?"
"พระเจ้าข้า
ภิกษุรูปนี้บอกว่า ท่านไม่สามารถรักษาศีลมากมายได้ จึงจะมอบบาตรและจีวรคืน
ให้ได้ หมดความเพียร ที่จะรักษาศีล ข้าพระองค์ทั้งหลายจึงพามาเข้าเฝ้าพระพุทธองค์"
พระศาสดาแทนที่จะทรงกล่าวกับภิกษุนั้น
กลับหันไปตรัสกับภิกษุผู้เป็นอาจารย์ และ อุปัชฌาย์ว่า
"ก็เหตุใดพวกเธอจึงได้บอกศีลแก่ภิกษุนี้
มากมายนักเล่า ที่จริงภิกษุนี้ สามารถรักษาศีล ได้เท่าใด ก็ให้รักษาศีล
เท่านั้นแหละ
ฉะนั้น ตั้งแต่นี้ไป พวกเธออย่าได้พูด ศีลอะไรๆ ให้ภิกษุ นี้อีก ตถาคตเท่านั้น
รู้ที่จะบอกศีล อันควรแก่ภิกษุนี้"
แล้วพระศาสดาก็หันมาตรัสกับภิกษุนั้นว่า
"มาเถิดภิกษุ
เธอต้องการศีลมากๆ ไปทำไมกัน เพียงแค่รักษาศีล ๓ ข้อเท่านั้น เธอจะทำ
ได้หรือไม่?"
"ข้าพระองค์ผู้เจริญ
ถ้าแค่ศีล ๓ ข้อเท่านั้น ข้าพระองค์รักษาได้ พระเจ้าข้า"
"ดีล่ะ!
ถ้าอย่างนั้นเธอจงถือศีลรักษาทวารทั้ง ๓ ไว้คือ ๑.กายทวาร อย่ากระทำชั่วด้วยกาย
๒.วจีทวาร อย่ากระทำชั่ว ด้วยวาจา ๓.มโนทวาร อย่ากระทำชั่วด้วยใจ เพียงเท่านี้
เธอจงไป กระทำเถิด อย่าสึกเลย
จงรักษาศีล ๓ ข้อนี้เท่านั้นก็พอ"
พระพุทธองค์ตรัสอย่างนี้
ทำให้ภิกษุนั้นมีใจยินดียิ่งนัก รีบกราบทูลว่า
"ดีเหลือเกิน
ดียิ่งนักพระเจ้าข้า ข้าพระองค์จะรักษาศีล ๓ ข้อนี้เอาไว้ได้แน่"
จึงถวายบังคมพระศาสดา
แล้วกลับไปพร้อมกับอาจารย์ และอุปัชฌาย์ของตน ตั้งใจบำเพ็ญ รักษาศีลทั้ง
๓ ข้อนั้น เป็นอย่างดี เมื่อปฏิบัติแล้ว จึงได้รู้ว่า
"ศีลที่อาจารย์และอุปัชฌาย์บอกแก่เรา
รวมเข้าแล้วก็มีเท่านี้เอง แต่ท่านไม่อาจทำให้เรา เข้าใจได้ ไม่เหมือน
พระศาสดา ทรงสอนให้เราเข้าใจว่า ศีลทั้งหมดนั้น รวมเข้าไว้ใน ๓ ทวารนี้
เท่านั้น ทำให้เรารับรู้ รับเอาไว้ได้ พระองค์ทรงเป็น
ธรรมราชาชั้นยอด ทรงเป็นที่พึ่ง ที่อาศัย ของเราโดยแท้"
ภิกษุนั้นพากเพียรบำเพ็ญเจริญวิปัสสนา(ฝึกอบรมปัญญาให้เกิดความรู้แจ้งเห็นจริง)
นับเวลาเพียง ๒-๓ วัน เท่านั้น ก็สามารถดำรงอยู่ใน พระอรหัตตผลได้
บรรดาภิกษุพอทราบเรื่องนี้แล้ว
พากันสนทนาในธรรมสภาถึงพระพุทธคุณว่า "ท่านทั้งหลาย ได้ยินว่า
ภิกษุนั้น ในเบื้องต้น ไม่อาจรักษาศีลทั้งหลายได้ ปรารถนาจะสึก แต่พระศาสดา
ทรงย่นย่อ ศีลทั้งหมด เหลือเพียง ๓ ข้อ ให้เขารับไปปฏิบัติได้ จนสามารถบรรลุธรรม
เป็นพระอรหันต์ โอ...ขึ้นชื่อว่า
พระพุทธเจ้า ทั้งหลาย เป็นยอดอัจฉริยมนุษย์จริงๆ"
พอดีพระศาสดาเสด็จมา
เมื่อทราบเรื่องที่ภิกษุสนทนากันแล้ว ก็ตรัสว่า
"ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย
มิใช่ในบัดนี้เท่านั้น ที่เราสามารถรวมสิ่งแยกย่อย เข้าด้วยกันได้
แม้สิ่งที่รวมกัน เป็นภาระหนัก เราก็สามารถแยกย่อย ให้กลายเป็นเบาได้เช่นกัน
ดังบัณฑิต
ในกาลก่อน กระทำมาแล้ว"
ทรงนำเรื่องนั้นตรัสเล่า
แก่เหล่าภิกษุ
ในอดีตกาล
มีชาวนาคนหนึ่ง อาศัยอยู่ในหมู่บ้านแห่งหนึ่ง
เขามีอาชีพทำไร่ไถนาเลี้ยงชีวิต
วันหนึ่ง
ขณะที่เขากำลังไถนาอยู่ในเขตบ้านร้าง ซึ่งเคยเป็นที่อยู่ของ เศรษฐีผู้มั่งคั่งร่ำรวย
มาก่อน เศรษฐีได้ซุกซ่อน
ทองคำแท่งขนาดใหญ่ ฝังดินไว้ ก่อนที่จะตายไป โดยไม่มีผู้ใด รับรู้เลย
ชาวนาไถนาอย่างเพลิดเพลิน.....
พลันคันไถก็สะดุดหยุดชะงัก ลงกับที่ ไม่สามารถไถ ต่อไปได้ เขาจึงต้องหยุด
ขุดดินดูว่า เพราะสาเหตุอะไร ในใจก็คิดว่า
"คงเป็นรากไม้ในดิน
แต่พอคุ้ยดินลงไปดู
ปรากฏเป็นแท่งทองคำ ขนาดใหญ่ราวโคนขา ยาวถึงสี่ศอก
เขาทั้งดีใจ
และตกใจ รีบกลบดินไว้ ตามเดิมทันที ทำเครื่องหมาย จดจำตำแหน่งนั้นไว้
แล้วก็ไถนา ต่อไปทั้งวัน
กระทั่งพลบค่ำอาทิตย์ใกล้จะลับขอบฟ้า
ชาวนาจึงเก็บข้าวของเครื่องใช้ ทั้งแอกและไถไว้ในที่ เหมาะควร แห่งหนึ่ง
แล้วคิดว่า จะแบกเอาทองคำแท่งใหญ่นั้นกลับบ้าน แต่พอขุดเจอ ทองคำ แท่งนั้น
แล้วหมาย จะยกขึ้นมา ก็ไม่สามารถยกไหว เขาจึงต้องนั่งลง กับพื้นดินตรงนั้น
ใช้มีด ใช้ขวาน ตัดแบ่งทองคำแท่งออกเป็น ๔ ส่วน ด้วยหมายในใจว่า
"ส่วนหนึ่งเราจะใช้เลี้ยงปากท้อง
อีกส่วนเราจะฝังดินเก็บไว้ อีกส่วนจะเอาไปลงทุน ทำอาชีพ ต่อไป และอีกส่วนนั้น
ทำทานเพื่อเป็นบุญกุศล ใส่ตน"
แท่งทองคำขนาดใหญ่หนาหนัก
เมื่อโดนตัดแบ่งออกอย่างนี้แล้ว แท่งทองคำ ก็กลายเป็น ของเบาทันที
ชาวนา สามารถหยิบฉวย แบกขนไปได้อย่างสบาย เขาได้ทำตาม ความประสงค์
ทุกประการแล้ว
พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงชาดกนี้จบแล้ว
ตรัสว่า
"ชาวนาผู้ได้ทองคำแท่งในครั้งนั้น
ได้มาเป็นเราตถาคตนี้เอง"
แล้วทรงเตือนสติแก่เหล่าภิกษุทั้งหลายว่า
"นรชนใดไม่ท้อถอย
ไม่หดหู่ มีจิตเรืองรองสว่างไสวราวกับได้ทองคำ มีใจเบิกบาน ปราศจาก
นิวรณ์ (สิ่งขัดขวางจิต
ไม่ให้บรรลุความดี คือ ๑.กามฉันท์= ความพอใจในกามคุณ ๒.พยาบาท = ความคิดร้ายผู้อื่น
๓.ถีนมิทธะ=ความหรี่ซึมหดหู่ ๔.อุทธัจจกุกกุจจะ = ความฟุ้งซ่าน รำคาญ
๕.วิจิกิจฉา = ความลังเลสงสัย) บำเพ็ญกุศล
ให้มากๆ เสมอๆ เพื่อจะได้บรรลุธรรม อันเป็นแดนเกษม จากโยคะ
(กิเลสที่ผูกใจ ให้ติดอยู่ในกาม -ภพ -ทิฏฐิ -อวิชา)
นรชนนั้น
จะเป็นผู้บรรลุธรรม อันเป็นที่สิ้นสังโยชน์ (กิเลสที่ผูกมัดใจไว้กับทุกข์)
ทั้งปวงได้ โดยลำดับ"
(พระไตรปิฎกเล่ม
๒๗ ข้อ ๕๖ อรรถกถาแปลเล่ม ๕๖ หน้า ๙๐)
(เราคิดอะไร
ฉบับที่ ๑๕๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๖)
|