เราคิดอะไร.

กำไรขาดทุนแท้ของอาริยชน
(ต่อจากฉบับที่ ๑๕๑)


สัมมาทิฏฐินั้น ยังมีคุณลักษณะอีกหลากหลาย ที่ยังไม่ได้กล่าวถึง แต่ก็จะได้รู้จักเพิ่มเติม ขึ้นไปอีกเรื่อยๆ จากการอธิบาย ขยายความ ในข้อที่ ๘ บ้าง ข้อที่ ๙ บ้าง ๑๐ บ้าง ๑๑ บ้าง ต่อๆไป ติดตามอ่านให้ดีๆ ก็แล้วกัน ซึ่งจะมีภาษาที่ยากๆ เข้ามาเกี่ยวข้องมากขึ้น แต่อาตมา ก็จะพยายาม อธิบายประกอบ ให้ง่ายๆ เท่าที่สามารถ

(ต่อจากฉบับที่ ๑๕๑)

ทีนี้ก็มาอธิบายกันถึง"บุญนิยม"ในข้อที่ ๘ ที่ว่า "เข้าถึงสภาวธรรม ขั้นเปลี่ยนแปลงพัฒนา
จิตวิญญาณ" หรือ อธิบายความออก ไปอีกนิดก็คือ ต้องศึกษาฝึกฝน จน"กิเลสตาย-จิตเกิด"
(โอปปาติกโยนิ) เรียกว่า บรรลุ ุธรรมขั้นปรมัตถสัจจะ สู่โลกุตระตามลำดับ จึงชื่อว่า "เป็นผู้สำเร็จ"จริง

นั่นก็หมายความว่า ผู้ปฏิบัติที่"สัมมาทิฏฐิ" จะต้องเรียนรู้ความหมายทั้งของธรรมะ ทั้งของวิธีปฏิบัติ ที่จะเกิด การบรรลุธรรม ให้ถูกถ้วนทฤษฎี (สัมมาทิฏฐิ) อย่างถ่องแท้ก่อน แล้วจึงพากเพียร ปฏิบัติพิสูจน์ ครั้นได้ปฏิบัติ จนมี "การตาย-การเกิด" ขึ้นภายในจิตของตนจริง (โอปปาติกโยนิ) ก็มี"ญาณ" หรือ "ภาวนามยปัญญา" หยั่งรู้จิตของตน เพราะรู้จักกิเลสของตน อย่างถูกตัวถูกตน หรือถูก "อัตตา" จริงๆ พร้อมทั้ง มีวิธีสามารถทำลายตัวตนของกิเลส นั้นๆลงได้ กิเลสจึงลดลงๆ จางคลายลงกว่าเดิม จะน้อยหรือมาก ก็รู้ตามภาวสัจจะนั้นๆ กระทั่งถึงขั้น กิเลสตายสนิทแล้ว ก็ต้องมีญาณรู้แจ้งเห็นจริง ของตนๆ

นี่คือ มี "การตายจริง-เกิดจริง" ขึ้นภายในจิต (โอปปาติกโยนิ) อันเป็นเรื่องเฉพาะ "ที่จิต" (มนสิ) เท่านั้น ชนิดมี "ญาณ" ของตนหยั่งรู้ อย่างแยบคายหรือถ่องแท้ (โยนิโส) ซึ่งเป็น "การกระทำกันที่จิตในจิต" (มนสิการ) อันจะทำได้ ถึงขั้น "เกิด" ขั้น "ตาย" กันจริงๆก็ "กระทำกันที่จิตในจิต ที่ใจในใจ" เพียงเท่านั้น และ แน่นอน ที่สุดว่า ไม่เกี่ยวกับ "ภาวะการแตกตายของร่างกาย" (กายัสสะ เภทา) แต่อย่างใด

กิเลสคือเชื้อพันธุ์ของ "สัตว์นรกสัตว์ชั้นต่ำ" หรือคือ สมุทัยอาริยสัจ ถ้าเชื้อพันธุ์สัตว์ชั้นต่ำสัตว์นรก "ตาย" ลง ก็ต้อง "จุติ" เป็นเชื้อพันธุ์สัตว์ชั้นสูง..สัตว์ประเสริฐ มีการพัฒนาพันธุ์ขึ้นไปได้ ด้วยกรรมของตน ที่ตนปฏิบัติ กรรมมีมรรคผลเจริญขึ้น จนครบส่วนของกุศล (กัมมพันธุ) นั่นก็หมายความว่า มีการเกิดใหม่ หรือ เคลื่อนจากภพหนึ่ง ไปสู่ภพอื่น อันเป็นธรรมดา ธรรมชาติของ "สันตติ" (ความสืบต่อของ การเกิดดับ) ที่เมื่อมี "การตาย"ก็ต้องมี "การเกิดขึ้น" สืบต่อทันที

ดังนั้น สำหรับความสูงขึ้นของ "การเกิดทางจิตวิญญาณ" (โอปปาติกโยนิ) เมื่อมีการตายจากชั้นต่ำ ก็ต้องมี ีการเกิดขึ้น หรือการเกิดใหม่ (อุปปัตติ) สู่ชั้นสูงนั่นเอง ยกเว้น "การตาย" ชนิดเดียวเท่านั้น ที่ "ไม่มี การเกิดใดๆ สืบต่ออีก" เพราะตายชนิด สิ้นจบสนิทสัมบูรณ์ นั่นคือ การตายที่เรียกว่า "ปรินิพพาน" แม้แต่การตายแบบ "สอุปาทิเสสนิพพาน" (นิพพานชนิดยังมีพื้นฐานของความมีชีวิต) ซึ่งหมายถึง "กิเลสาสวะตาย หรือ ดับสิ้นเกลี้ยง ได้เป็นพระอรหันต์" หรือแบบ "อนุปาทิเสสนิพพาน" (นิพพานชนิด ไม่มีพื้นฐานของรูปที่มีชีวิต) ซึ่งหมายถึง "พระอรหันต์สิ้นลมหายใจตาย" หรือ พระอรหันต์ มี "ภาวะการแตกตาย ของร่างกาย" (กายัสสะ เภทา) นั่นเอง ก็ตาม ก็ยังกล่าวไม่ได้ อย่างเด็ดขาดว่า "ไม่มีการเกิดใดๆ สืบต่ออีก" เหมือนการตายแบบ "ปรินิพพาน" (พระไตรปิฎก เล่ม ๑๗ ข้อ ๑๙๘)

"จิต"ที่ได้พัฒนาถึงขีดมี"การเกิดขึ้น การเกิดใหม่" (อุปปัตติ) จนบรรลุ"การเกิดทางจิต" (โอปปาติกโยนิ) จริงดัง กล่าวนี้ ก็ต้องเป็นจิต ที่มีศักดิ์ขั้น "เทวดาแท้ๆ" อันเรียกตามศัพท์ว่า "อุปปัตติเทพ" (เทวดาที่มีภาวะเกิด จริง ขั้นอาริยะ) และถ้ากิเลสตาย อย่างหมดเกลี้ยงสนิท จนเป็น "จิตบริสุทธิ์จากกิเลส" ก็มีศักดิ์เข้าขั้นเป็น "วิสุทธิเทพ" (เทวดาที่มีภาวะบริสุทธิ์ ขั้นอรหัตผล)

"เทวดา"ชนิดนี้เป็นเทวดาที่มี "ความเกิด" จริง

[มีต่อฉบับหน้า]

(เราคิดอะไร ฉบับที่ ๑๕๒ มีนาคม ๒๕๔๖)