จุดวิกฤต!จุดอันตราย!
เป็นเวลาพิสูจน์ความกล้า-กลัวของจิตใจ
ใครกล้าดีก็จะแสดงคุณธรรมให้ปรากฎ
ใครกลัวตายก็จะเผยชั่วให้เห็นชัด
ไม่กลัวตาย
(ตุณฑิลชาดก)
มีกุลบุตรชาวเมืองสาวัตถีคนหนึ่ง ได้บวชในพระพุทธศาสนา แต่มีนิสัยเป็น
ภิกษุกลัวตายมาก เพียงได้ยิน เสียงกิ่งไม้สั่นไหว ท่อนไม้ตก นกหรือสัตว์สี่เท้าร้อง
แม้เสียงอื่นๆ เล็กๆ น้อยๆเท่านั้น ก็เป็นผู้ ตกใจ กลัวง่าย รู้สึกเหมือนถูกภัย
คือความตาย ขู่คุกคามจิตใจ ถึงกับเดินตัวสั่นเทิ้มไป ราวกับกระต่าย ถูกหลาวแทงเข้าที่ท้อง
ฉะนั้น
จากเหตุนั้น ภิกษุทั้งหลายจึงพากันสนทนา
ในธรรมสภาว่า
ดูก่อนอาวุโส (ภิกษุแก่พรรษากว่าเรียกภิกษุที่อ่อนพรรษากว่า
ว่าอาวุโส) ภิกษุรูปนั้น ช่างกลัวตาย ยิ่งนัก แค่ได้ยินเสียงอะไร
ผิดปกติเล็กน้อย ก็ร้องพลางวิ่งพลาง หนีไปเสียแล้ว แทนที่ จะตั้งสติมนสิการ
(กระทำในใจ) ว่า ก็ความตายของสัตว์ทั้งหลายเท่านั้น ที่เป็นของเที่ยง
แต่ชีวิตนี้ ไม่เที่ยงเลย
ขณะนั้นพระศาสดาเสด็จมาถึง ตรัสถามว่า"พวกเธอสนทนากันด้วยเรื่องอะไรกันอยู่"
ครั้นภิกษุทั้งหลายกราบทูลให้ทรงทราบ พระศาสดาจึงตรัสสั่งให้เรียกภิกษุนั้นมา
แล้วตรัสถาม
"เราได้ยินมาว่า เธอกลัวตายจริงหรือ"
"ถูกแล้วพระเจ้าข้า"
ได้คำตอบอย่างนั้น พระศาสดาจึงทรงหมายจะอบรมสั่งภิกษุทั้งหลาย
โดยเอาเรื่อง ของภิกษุนั้น เป็นต้นเหตุ
"ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ไม่เฉพาะในปัจจุบันนี้เท่านั้น
แม้ในชาติกาลก่อน ภิกษุนั้น ก็กลัวตายมาก เหมือนกัน"
แล้วทรงนำเรื่อง ในอดีตมาตรัสเล่า
ในอดีตกาล เมื่อพระเจ้าพรหมทัต
ครองราชสมบัติ อยู่ในนครพาราณสี
ีปรากฏมี หมูท้องแก่อยู่ตัวหนึ่ง
เป็นหมูที่มีนิสัยขี้ตกใจง่าย ครั้นพอครบกำหนด ก็ออกลูกมา ๒ ตัวเป็น
ตัวผู้ ณ บริเวณไร่ฝ้ายแห่งหนึ่งแล้ว เลี้ยงดูลูกอ่อนทั้งสอง อยู่ที่บริเวณนั้น
อยู่มาวันหนึ่ง ขณะที่นอนหลับสนิทอยู่ในหลุมดิน
พร้อมกับลูกๆ ก็ต้องสะดุ้งตื่นตกใจกลัว เพราะได้ยิน เสียงกระทบดินตุบๆ
ดังใกล้เข้ามาทุกทีๆ ด้วยความกลัว ก็รีบลนลาน ลุกขึ้น วิ่งหนีไปจากหลุมนั้น
อย่างเร็ว ทิ้งลูกน้อยทั้งสอง เอาไว้ในหลุมนั้น
ที่แท้แล้วมีหญิงชราคนหนึ่ง ซึ่งปกติอยู่บ้านใกล้ประตูนครพาราณสี
เก็บฝ้าย ได้เต็มกระบุง จากไร่ฝ้ายแล้ว ก็เดินเอาไม้เท้า ยันพื้นดินมา ด้วยเสียงอันดัง
เสียงนี้เอง ที่ดังแปลกๆ ทำให้แม่หมู ตกใจหนีไป เพราะความ กลัวตาย
หญิงชรา เมื่อเห็นแม่หมูวิ่งไป อย่างไม่คิดชีวิต จนไกลลิบหายไป ก็ให้นึกสงสารลูกหมู
ที่ร้องหาแม่ อยู่ในหลุม จึงเอากระบุง ใส่ลูกหมูทั้งสอง นำไปเลี้ยงดูไว้
ที่เรือนของตน ตั้งชื่อ ให้ลูกหมูตัวพี่ว่า มหาตุณฑิละ ตัวน้องชื่อว่า
จุลตุณฑิละ
ลูกหมูทั้งสองได้รับการดูแลเอาใจใส่อย่างดี
เสมือนดังเป็นลูกรัก ของหญิงชรานั้น จนกระทั่ง เติบใหญ่ สมบูรณ์ มีร่างกายอ้วนพี
ชาวบ้านแถวนั้น จึงมักทาบทามหญิงชราว่า
"จงขายหมูทั้งคู่นั้น ให้แก่ฉันเถิด
ฉันจะให้ราคา อย่างงามเชียว"
แต่หญิงชรา ยืนยันเด็ดเดี่ยว เสมอว่า
"ลูกของฉัน ฉันไม่ขาย"
แล้วไม่ยอมขายให้แก่ใครๆ เลย แม้สักคนเดียว
จนกระทั่งวันหนึ่งในงานมหรสพ มีพวกนักเลงสุรากลุ่มหนึ่ง
ร่วมวงกันดื่มสุรากันสนุกสนาน เมื่อเนื้อกับ แกล้มหมด ก็พากันหารือว่า "เฮ้ย
พวกเราน่าจะหาซื้อเนื้อ มาทำกับแกล้มเพิ่ม เอ! แล้วจะไปหา จากที่ไหน ดีหว่า"
คุยกันไปคุยกันมา ก็ได้ผลว่า ที่บ้านของหญิงชรานั้น
เลี้ยงหมูเอาไว้ ดังนั้น จึงพากันถือไหเหล้า ตรงไป ยังที่นั้น แล้วถามว่า
"ยาย.......ยาย....... คุณยาย ขอให้คุณยายช่วยรับเอาเงินนี้ไว้
แล้วให้หมูตัวใดตัวหนึ่ง แก่พวกผม เถอะนะ"
จบคำของนักเลงสุรา หญิงชราก็ปฏิเสธทันควันว่า
"ไม่ได้หรอกหลานชาย หมูทั้งสองตัวนั้น
เป็นเสมือนลูกฉันจริงๆ ฉะนั้น แม่ที่ดี จะให้ลูก ของตัวเอง แก่คนที่ต้องการจะกินเนื้อลูกตนนั้น
ไม่มีหรอก"
แม้ถูกปฏิเสธ แต่พวกนักเลงก็ยังคงเซ้าซี้
เฝ้าอ้อนวอนแล้ว อ้อนวอนเล่าอยู่
"โธ่ ยาย ขึ้นชื่อว่าหมู มันเป็นเพียงสัตว์
จะให้เป็นลูกของคนจริงๆนั้น ไม่มีเสียล่ะ ยายอย่า เพ้อฝันไปเลย ขายมัน ให้แก่พวกฉันเถอะน่า"
ถึงจะพูดยังไงก็ตาม ก็ไม่สำเร็จ
จนสุดท้ายพวกนักเลงสุราจึงวางแผนใหม่ ชักชวนหญิงชราให้ดื่มเหล้า
กระทั่งเห็นเมามายได้ที่แล้ว ก็หลอกว่า
"ยายจ๋า ..... หมูน่ะ! จะเลี้ยงมันเอาไว้ ให้ยากจนอยู่ทำไม นี่สิ!เงิน
ยายเอาค่าหมู ไปเก็บไว้ ใช้จ่ายดีกว่านะ"
แล้วก็วางเหรียญกษาปณ์ (เงินตราที่ทำด้วยโลหะ) ใส่ไว้ในมือของหญิงชรา หญิงชรา
ก็รับไว้ ด้วยสติเลอะเลือน จากฤทธิ์สุรา แล้วกล่าวว่า
"หลานเอ๋ย... ยายไม่อาจตัดใจให้ลูกมหาตุณฑิละได้
พวกเจ้าจงเอาลูกจุลตุณฑิละไปเถอะนะ"
"ก็ได้! แล้วมันอยู่ที่ไหนล่ะ"
"โน่นแน่ะ! ที่กอไม้กอโน้น"
"อ้าว! ก็ดีสิ ยายช่วยส่งเสียงเรียกมันมาได้เลย"
"แต่ฉันต้องใช้อาหารล่อ ถึงจะเรียกลูกมาได้เร็วไว"
ได้ฟังอย่างนั้น นักเลงสุราจึงให้ค่าอาหารอีกส่วนหนึ่ง
หญิงชราก็นำไปซื้อข้าว เอามาเท ให้เต็มรางหมู ที่วาง ไว้ใกล้ประตู แล้วจึงมายืนอยู่ใกล้ๆ
ราง ส่วนพวกนักเลงสุรา ก็ตระเตรียมบ่วง พร้อมไว้ในมือ ยืนรออยู่ที่ตรง นั้นเช่นกัน
จากนั้น หญิงชรา ก็ส่งเสียงร้องเรียกว่า
"ลูกจุลตุณฑิละจงมา ลูกจุลตุณฑิละ
จงมากินอาหารเถิดลูก"
เสียงดังไปถึงกอไม้นั้น มหาตุณฑิละ ก็นึกแปลกใจขึ้นมาทันทีว่า
"ตลอดเวลาที่ผ่านมา แม่เราไม่เคยเรียกจุลตุณฑิละก่อนเลย
มีแต่เรียกเราก่อนทั้งนั้น แล้วคราวนี้ ไฉนเรียก แต่น้องเรา ตัวเดียวเล่า
วันนี้ดูจะมีอะไรที่ผิดแปลกไป อาจจะมีภัย เกิดขึ้นแก่พวกเรา เป็นแน่แท้"
คิดอย่างนี้แล้ว มหาตุณฑิละจึงเรียกน้องชายมา
บอกว่า
"น้องเอ๋ย แม่ของเราเรียกหาเจ้า เจ้าจงไปซุ่มแอบดูให้รู้เรื่องก่อน
ว่าเป็นเหตุใดกันแน่"
จุลตุณฑิละจึงออกจากกอไม้ไปลอบดูอยู่ ครั้นเห็นพวกนักเลง
ยืนถือบ่วงอยู่ใกล้รางข้าว ก็รู้ทันทีว่า
"วันนี้ความตายคงจะมาถึงเราแล้วแน่ มรณภัย คุกคามรอเราอยู่ข้างหน้านี้เอง"
คิดแล้วก็หวาดกลัวความตายสุดใจ จึงหันกลับวิ่งหนีด้วยอาการสั่นทั้งตัว
ไปหาพี่ชาย พอถึงแล้ว ก็ไม่อาจ จะยืนสงบ อยู่ได้ ตัวสั่นเทิ้มหมุนไปรอบๆ
มหาตุณฑิละเห็นเช่นนั้น ก็รีบถามว่า
"น้องเอ๋ย วันนี้เจ้าหวาดกลัวอะไรมากมายปานฉะนี้
ถึงกับตัวสั่น หมุนพล่านอยู่"
จุลตุณฑิละจึงตอบด้วยเสียงสั่นสะท้านว่า
"วันนี้แม่เราเทข้าวใหม่เต็มรางข้าว
แล้วยืนเรียกอยู่ ใกล้ๆ รางข้าวนั้น แต่มีอีกหลายคน มือถือบ่วงอยู่ใกล้ๆ
ด้วย ทำให้อาหารนั้น ไม่น่าอร่อยเสียแล้ว ฉันไม่อยากไปกินข้าวนั้นเลย"
ฟังคำบอกเล่าแล้ว มหาตุณฑิละก็รู้ได้ด้วยปัญญาทันที จึงส่งเสียงดังก้องกังวานไกลขึ้นว่า
"น้องจุลตุณฑิละ จงรู้ไว้เถิดว่า
ธรรมดาแม่ของเราเลี้ยงดูสุกรไว้ที่นี่ ย่อมเลี้ยงเพื่อประโยชน์ใด ประโยชน์นั้น
ของเจ้า ได้ถึงที่สุด อย่างนั้นแล้ว ในวันนี้ ฉะนั้น จงอย่าคิดเสียใจเลย
เจ้าอย่าสะดุ้งกลัวภัย จนตัวสั่น หมุนไป หมุนมา อย่าซ่อนเร้น อย่าหลบหนีไปไหน
แม้จะไม่มีใครขัดขวาง ก็ตามที
"จุลตุณฑิละเอ๋ย น้องจงยินดีไปกินอาหารนั้นเถิด
เพราะพวกเราถูกแม่นำมาเลี้ยงไว้ ก็เพื่อ ต้องการเนื้อ เป็นที่สุด ฉะนั้น
เจ้าจงลงสู่ห้วงน้ำ ที่ไม่มีโคลนตม ชำระล้าง เหงื่อไคลทั้งหมด แล้วอาบทาด้วย
เครื่องลูบไล้ใหม่ ซึ่งแต่ไหน แต่ไรมา มีกลิ่นหอม ไม่ขาดสายเลย"
ขณะที่มหาตุณฑิละสอนน้องอยู่ ให้กตัญญูต่อผู้มีคุณ
และให้แกล้วกล้า ไม่กลัวตาย ยอมตอบแทน บุญคุณ ของหญิงชรานั้น เสียงธรรมได้กระจายดังก้อง
ไปทั่วนคร พาราณสี เป็นที่น่าอัศจรรย์ ใหญ่หลวงนัก
ผู้คนทั้งหลาย ในนครพาราณสี ใครก็ตามที่ได้ยินเสียงธรรมแล้ว
ได้พากันออกแสวงหา ติดตาม เสียงนั้นมา มีตั้งแต่พระราชา กระทั่งถึงยาจกเข็ญใจเลยทีเดียว
ผู้คนทั้งหลาย เมื่อมาถึง บริเวณ กอไม้นั้น เหล่าราชบุรุษ ของพระราชา พากันถางพุ่มไม้
ปรับพื้นที่ ให้ราบเรียบ เพื่อทำเป็น ที่นั่งฟังธรรม แม้แต่ ร้านรวง ที่ขายสุราอยู่ก็
งดขาย มุ่งมาสู่ที่นี้ ส่วนพวกนักเลงสุรา ในที่นั้น ก็พากันทิ้งบ่วงในมือ
แล้วยืน ฟังธรรม อยู่ในที่นั้นเช่นกัน ฝ่ายหญิงชราเอง ก็ได้สติ แจ่มใสขึ้น
หายเมา เป็นปลิดทิ้ง
ในเวลานั้นเอง....เป็นขณะที่จุลตุณฑิละ
กำลังงุนงงสงสัยอยู่ว่า
"พี่ของเราช่างพูดแปลกนักในวันนี้
ก็ตระกูลบรรพบุรุษของเราที่เคยมีมา ไม่มีการลงสู่ห้วงน้ำ แล้วจะอาบน้ำ ชำระล้างเหงื่อไคลที่ไหน
การเอาเครื่องลูบไล้เก่าออกไป เอาเครื่องลูบไล้ใหม่ ที่มีกลิ่นหอมฟุ้ง อาบทา
ก็ไม่เคยมีมาเลย พี่เราพูดอย่างนี้ หมายถึงอะไรกันหนอ"
คิดแล้วจึงถามว่า
"ห้วงน้ำอะไรหนอที่ไม่มีโคลนตม? อะไรหนอเรียกกว่าเหงื่อไคล?
อะไรหนอคือเครื่องลูบไล้ใหม่? แล้วกลิ่นอะไร ที่ไม่ขาดหายมาแต่ไหนแต่ไรเลย?"
มหาตุณฑิละจึงตอบไปด้วยมุ่งหมายแสดงธรรมให้ปรากฏว่า
"ถ้าเช่นนั้นเจ้าจงฟังให้ดี ....ธรรมะของบัณฑิตก็คือ
ห้วงน้ำที่ไม่มีโคลนตม บาปกรรม ก็คือเหงื่อไคล ศีลก็คือ เครื่องลูบไล้ใหม่
ซึ่งแต่ไหนแต่ไรมา กลิ่นของศีลนั้น ไม่เคยขาดหายไป แม้ในกาลไหนๆ เลย
ส่วนกลิ่นดอกไม้นั้นหอมน้อย ขาดหายง่าย
หอมทวนลมไม่ได้ แม้กลิ่นจันทน์ กฤษณา ดอกอุบล ดอกมะลิ ก็ไม่หอมทวนลม
แต่กลิ่นของผู้มีศีลหอมยิ่งกว่านั้น หอมมาก
หอมทวนลมไปได้ ฟุ้งขจรไปทั่วทุกทิศ ทั้งในเทวโลก และ มนุษย โลก
ดังนั้นเหล่าคนผู้โง่เขลาไม่มีศีล ผู้ฆ่าสัตว์กินอยู่เป็นปกติ
จึงเพลิดเพลินใจ ทำบาป ส่วนผู้รักษาชีวิต สัตว์ทั้งหลายอยู่ ผู้มีศึลไม่ฆ่าเป็นปกติ
จะไม่เพลิดเพลินใจ ในการทำบาปเลย
ฉะนั้น ผู้มีปัญญารู้ธรรมะของบัณฑิตแล้ว
ย่อมรื่นเริงใจ ดุจดวงจันทร์วันเพ็ญ ผู้รื่นเริงใจ อย่างนั้น เท่านั้น จึงจะกล้าสละชีพเพื่อธรรมะได้
น้องจุลตุณฑิละเอ๋ย คนผู้ไร้ศีล เมื่อทำปาณาติบาต
ฆ่าสัตว์ตัดชีวิต จะเพลิดเพลินคือ พอใจว่า พวกเรา ได้กินเนื้ออร่อย จะให้ลูกเมียได้กินบ้าง
ไม่รู้โทษของการปาณาติบาตว่า หากปาณาติบาต จนชินชา ทำกันมา สืบต่อมากมายนั้น
จะเป็นไปเพื่อให้เกิด ในนรก จะเป็นไปเพื่อ ให้เกิดในกำเนิด สัตว์ดิรัจฉาน
จะเป็นไปเพื่อให้เกิด ในลักษณะเปรต ซึ่งผลกรรม ของปาณาติบาต ที่เบาที่สุดก็คือ
จะเป็นไปเพื่อให้ เกิดเป็นมนุษย์ ที่มีอายุสั้น
ฉะนั้นเมื่อไม่รู้ คนโง่ย่อมสำคัญบาปว่าเป็นเหมือนน้ำผึ้ง
ตลอดเวลาที่บาป ยังไม่ให้ผล แต่เมื่อใด บาปให้ผล เมื่อนั้นคนโง่ก็จะเข้าถึงทุกข์คนเขลาเบาปัญญา
จึงมักเที่ยวทำบาปกรรม ที่เป็น เหมือนศัตรู ซึ่งมีผลเผ็ดกรรม ที่มีผลเผ็ดร้อนนั้น
ก็ทำให้ตน ต้องมีน้ำตานองหน้า ร้องไห้ไปพลาง เสวยผลกรรมไปพลาง
แล้วเมื่อความตายมาถึงตน สัตว์ทั้งหลายก็พากันสะดุ้งกลัวต่ออาชญา
(โทษภัย) กันหมด เพราะชีวิต เป็นที่รัก ของสัตว์ทั้งหลายในโลก ฉะนั้น เอาตนเป็นเครื่องเปรียบเทียบ
แล้วก็ไม่ควรเบียดเบียดกัน ไม่ควรฆ่ากัน
"น้องจุลตุณฑิละ เจ้าอย่าเศร้าโศก
อย่าร้องไห้เลย ขึ้นชื่อว่าความตาย ไม่ใช้เกิด เฉพาะเราเท่านั้น แม้สัตว์ที่เหลือทั้งหลาย
ก็ต้องมีความตายเช่นกัน สัตว์ผู้ไม่มีศึล อยู่ในภายใน ย่อมจะกลัวตาย แต่ผู้สมบูรณ์
ด้วยการประพฤติศีล ย่อมเป็นผู้มีบุญ คือจะไม่กลัวตาย เพราะฉะนั้น เราทั้งสองพึง
ยินดีสละชีวิต เพื่อบูชาธรรมเถิด"
มหาตุณฑิละแสดงธรรมด้วยเสียงอันไพเราะก้องกังวาน
เมื่อสิ้นเสียงจบลง ฝูงมหาชนที่นั่น ต่างพากัน ปรบมือ พร้อมทั้งชูผ้า จำนวนพัน
โบกไสว แล้วท้องฟ้า ก็ดังกระหึ่มไปด้วย เสียงสาธุการ
พระเจ้าพรหมทัตก็ทรงชื่นชม เคารพยกย่องมหาตุณฑิละยิ่งนัก
จึงประทานยศให้แก่ หญิงชรา ทรงขอรับ เอาสุกรทั้งสองพี่น้อง ไว้ในพระราชวัง
ทรงให้อาบด้วยน้ำหอม ให้ห่มผ้า ให้ไล้ทาตัว ด้วยของหอม ให้ประดับ แก้วมณีที่คอ
แล้วทรงนำเข้าไปสู่พระราชวัง สถาปนาไว้ ในตำแหน่ง ราชบุตร ทรงให้มีบริวาร
คอยรับใช้ อย่างมากมาย
และทุกวันอุโบสถ มหาตุณฑิละจะแสดงธรรม
ให้ศีล แก่ข้าราชการบริพาร ทั้งหลาย แม้แต่ชาว นครพาราณสี และชาวกาสิรัฐทั้งหมด
ก็พลอยได้ฟังธรรม รักษาศีล ๕ ศีล ๘ กันทุกคน ดังนั้น ตราบเท่าที่ มหาตุณฑิละ
ยังมีชีวิตอยู่ ขึ้นชื่อว่า เรี่องโกงกินกันนั้น ไม่มีเลย
จนกระทั่งถึงเวลาแห่งการสวรรคตของ พระเจ้าพรหมทัต
มหาตุณฑิละ จึงให้ประชาชน ถวายพระเพลิง พระสรีระ ของพระองค์ เมื่อเสร็จแล้ว
ก็ให้จารึกคัมภีร์ การวินิจฉัย คดีความเอาไว้ แล้วบอกว่า
"ท่านทั้งหลายจงใช้คัมภีร์นี้ตัดสิน
ในการพิจารณาคดีเถิด"
แล้วแสดงธรรมแก่มหาชน สั่งสอนในเรี่องของความไม่ประมาท
จากนั้นแล้ว ก็เข้าสู่ป่าไป พร้อมกับ จุลตัณฑิละ ทั้งๆ ที่หมู่มหาชน พากันร้องไห้
คร่ำครวญอยู่ ซึ่งคำสอนของ มหาตุณฑิละ ในครั้งนั้น เป็นไปยาว นานถึง ๖ หมื่นปีทีเดียว
พระศาสดาครั้นทรงแสดงชาดกจบแล้ว ทรงประกาศสัจจะ
ซึ่งในที่สุดแห่งสัจธรรมนั้น ก็ทำให้ ภิกษุ ผู้กลัวตาย ดำรงอยู่ในโสดาปัตติผลได้
แล้วตรัสว่า
"พระเจ้าพรหมทัต ในครั้งนั้น ได้มาเป็นพระอานนท์ในบัดนี้
จุลตุณฑิละ ได้มาเป็น ภิกษุผู้กลัวตาย นี่เอง ชาวเมืองทั้งหมด ได้มาเป็นพุทธบริษัทในบัดนี้
ส่วน มหาตุณฑิละ ก็คือเราตถาคต"
(พระไตรปิฏกเล่ม
๒๗ ข้อ ๙๑๗ อรรถกถาแปลเล่ม ๕๙ หน้า ๑๓๖)
พระพุทธองค์ตรัส
การฆ่าสัตว์
การลักทรัพย์
การประพฤติผิดในกาม
การพูดเท็จ
การเสพของเมาให้โทษ
ผู้นับถือพุทธศาสนา
หากไม่ละภัยเวรนี้
เราเรียกว่า ผู้ทุศีล
ย่อมเข้าถึงนรก
* พระไตรปิฎกเล่ม ๒๒ ข้อ
๑๗๔
(เราคิดอะไร
ปีที่ ๙ ฉบับที่ ๑๕๒ มีนาคม ๒๕๔๖)
|