เราคิดอะไร.



เศรษฐศาสตร์การเมืองเชิงพุทธ (ตอน ๒๔)
วิทยาศาสตร์ทางสังคม

สำนักมาร์กซิสม์มองทฤษฎีของตนว่า เป็นวิทยาศาสตร์ทางสังคม เพราะสามารถค้นพบ กฎธรรมชาติที่ ผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ของอารยธรรมมนุษย์ อย่างเป็นขั้นเป็นตอน ในประวัติศาสตร์ จนสามารถ อธิบายอดีต ตอบปัญหาของปัจจุบัน และชี้นำทิศทางที่จะพัฒนาไปสู่สังคมอุดมคติในอนาคต ได้อย่าง เป็นเหตุเป็นผล เหมือนความรู้ทางวิทยาศาสตร์แขนงต่างๆ ที่มนุษย์เชื่อกันว่า เป็นสัจจะความจริง

แต่ประวัติศาสตร์ก็ชี้ให้เห็นแล้วว่า ทฤษฎีเศรษฐศาสตร์การเมืองของสำนักมาร์กซิสม์ ยังไม่มีความสมบูรณ์ เพียงพอ ที่จะชี้นำ การพัฒนาประชาคมมนุษย์ ไปสู่จุดหมายของสังคม ในอุดมคติที่ผู้คนอยู่ร่วมกันด้วย ความอาทรเกื้อกูล และสมานฉันท์

อันที่จริงแล้วหลักเศรษฐศาสตร์เชิงพุทธน่าจะมีความเป็นวิทยาศาสตร์มากกว่าสำนักมาร์กซิสม์ ด้วยซ้ำ ในความหมาย ของการเป็น "ศาสตร์" (Science) ที่สามารถอธิบายถึงเหตุปัจจัยต่างๆ ที่กำหนดปรากฏ การณ์ของสังคมมนุษย์ ได้อย่างเป็นระบบ ครอบคลุมสมบูรณ์

พระพุทธเจ้าได้ตรัสถึงสิ่งที่พระองค์ตรัสรู้ว่า ได้แก่กฎธรรมชาติหรือ "ธรรมนิยาม" อันเป็นสิ่งที่ ดำรงอยู่แล้ว ในเอกภพ เพียงแต่พระพุทธองค์ ได้ทรงค้นพบและนำมาเผยแพร่เท่านั้นดังที่ตรัสว่า

"ตถาคตทั้งหลาย จะอุบัติหรือไม่ก็ตาม ธาตุ(หลัก) นั้นก็ยังคงมีอยู่ เป็นธรรมฐิติ เป็นธรรมนิยาม คือหลัก อิทัปปัจจยตา...

ตถาคตตรัสรู้ เข้าถึงหลักนั้นแล้ว จึงบอก แสดง วางเป็นแบบ ตั้งเป็นหลัก เปิดเผย แจกแจง ทำให้เข้าใจ ง่าย..." (พระพุทธพจน์อ้างถึงใน พระธรรมปิฏก (ป.อ. ปยุตโต),พุทธรรม (กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์จุฬาลงกรณ์ ราชวิทยาลัย ,๒๕๓๘) หน้า ๗๙)

ในพระอภิธรรมปิฎกได้ขยายความกฎธรรมชาติหรือ "ธรรมนิยาม" นี้ไว้ว่าสามารถจำแนกได้เป็น๕ กลุ่ม คือ
๑. อุตุนิยาม เป็นกฎธรรมชาติที่ควบคุมการปรุงแต่งของสสารและพลังงาน อันเป็นวัตถุธาตุที่ไร้ชีวิต อาทิ กฎทางฟิสิกส์ ที่ควบคุมการเปลี่ยนแปลง ของสรรพสิ่งในเอกภพ เป็นต้น

๒. พีชนิยาม เป็นกฎธรรมชาติที่ควบคุมการปรุงแต่งหรือการเปลี่ยนแปลงพัฒนาทางด้านชีววิทยาของ สิ่งมีชีวิต (ซึ่งเป็นวัตถุธาตุที่มีคุณสมบัติพิเศษ คือมีศักยภาพที่จะเจริญเติบโตและสืบเผ่าพันธุ์ได้) อาทิ กฎทางชีววิทยาต่างๆ เป็นต้น๓. กรรมนิยาม เป็นกฎธรรมชาติที่ควบคุมปรากฏการณ์แห่งพฤติกรรม (หรือกรรม) ของสิ่งมีชีวิต ทั้ง พฤติกรรม ทางด้านกาย วาจา ใจ ตลอดจน ผลที่เกิดตามมา จากพฤติกรรม ต่างๆ ดังกล่าว

๔. จิตตนิยาม เป็นกฎธรรมชาติที่ควบคุมกระบวนการทำงานของจิต ซึ่งเป็น "ธาตุรู้" ที่เป็น "สิ่ง" ซึ่งมีคุณ ลักษณะพิเศษแตกต่างจากสิ่งอื่นๆ คือ เป็นพลังงานที่มีศักยภาพในการ "รับรู้" หรือ "รู้สึกนึกคิด" ได้

๕. ธรรมนิยาม เป็นบูรณาการของกฎธรรมชาติทั้งหมดโดยองค์รวม และเป็นหลักการ พื้นฐานที่ควบคุม อยู่เบื้องหลังการปรุงแต่งของสิ่งที่เป็นสังขารธรรม (สังขตธาตุ) ทั้งหลายในเอกภพ ซึ่งพุทธศาสนาเรียก หลักการพื้นฐาน ดังกล่าวนี้ว่า "หลักอิทัปปัจจยตา"

หลักทั่วไปของอิทัปปัจจยตาอันที่จริงก็คือ
กฎพื้นฐานทางตรรกะ ที่ควบคุมการปรุงแต่ง(สังขาร) ของปรากฏการณ์ต่างๆ นั่นเอง ถ้ามองจากมิติในด้าน การปรุงแต่งของ "สิ่งที่ถูกรู้" (รูป) กฎดังกล่าวก็คือกฎพื้นฐานทางคณิตศาสตร์ แต่ถ้ามองจากมิติ ในด้าน การปรุงแต่งของ "สิ่งที่เป็นผู้รับรู้" (นาม) กฎดังกล่าวก็คือกฎแห่งเหตุผลในทางตรรกวิทยา (ฉะนั้นเมื่อมี การพัฒนา หลักตรรกวิทยา เชิงสัญลักษณ์ขึ้นมา จึงเห็นได้ว่ามีกฎพื้นฐาน คล้ายกับกฎทางคณิตศาสตร์)

พระพุทธเจ้าได้ตรัสขยายความหลักอิทัปปัจจยตาไว้ว่า

"เมื่อสิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงมี เพราะสิ่งนี้เกิดขึ้น สิ่งนี้จึงเกิดขึ้น เมื่อสิ่งนี้ไม่มี สิ่งนี้ก็ไม่มี เพราะสิ่งนี้ดับไป สิ่งนี้ก็ดับ (ด้วย)" (พุทธพจน์ใน, เพิ่งอ้าง, หน้า ๘๑) ถ้าให้สัญลักษณ์ "ฎ" แทนข้อความ "ถ้า.......แล้วก็....." สัญลักษณ์ " ~ " แทนข้อความ "ปฏิเสธหรือตรงกันข้าม" สัญลักษณ์ "ท" แทน คำสันธาน "และ" สัญลักษณ์ " V " แทนคำ สันธาน "หรือ" เราจะสามารถอธิบายหลักอิทัปปัจจยตา ในรูป ของกฎพื้นฐาน ทางตรรกวิทยา เชิงสัญลักษณ์ (Symbolic Logic) ได้ คือ

๑. "เมื่อสิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงมี"
พูดอีกนัยหนึ่ง คือ "ถ้ามี A แล้วก็จะมี B" หรือ AฎB ฉะนั้นเมื่อเราพบว่ามี A เราจะสามารถสรุปได้ว่าจะ ต้องมี B ด้วย กฎข้อนี้ เป็นกฎพื้นฐาน ทางตรรกวิทยาข้อแรก ที่เรียกว่า กฎ "Modus Ponens"

๒. "เมื่อสิ่งนี้ไม่มี สิ่งนี้ก็ไม่มี
"จากข้อความ "AฎB" แม้เราจะสรุปได้ว่าถ้ามี A แล้วก็จะมี B แต่เรายังสรุป ไม่ได้ว่า ถ้าไม่มี A แล้วจะต้อง ไม่มี B เสมอไป ตัวอย่างเช่น เรารู้ว่าถ้าฝนตก (A) แล้วก็จะเกิดปรากฏการณ์ ถนนเปียก (B) แต่เรายังสรุป ไม่ได้ว่า ถ้าฝนไม่ตก (~A) แล้วถนนจะไม่เปียก (~B) ทั้งนี้เพราะอาจมี สาเหตุอื่นๆ นอกเหนือ จากการ ที่ฝนตก ซึ่งทำให้ถนนเปียกก็ได้ อาทิ มีคนรดน้ำถนน ให้เปียก เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เราสามารถสรุปได้ก็คือ ถ้าพบว่าถนนไม่เปียก(~B) แสดงว่าจะต้องไม่มีฝนตก ขณะนั้น แน่นอน(~A) กฎข้อนี้เป็นกฎพื้นฐาน ทางตรรกวิทยาอีกข้อ ควบคู่กับกฎข้อแรก เรียกว่ากฎ "Modus Tollens"

๓. "เพราะสิ่งนี้เกิดขึ้น สิ่งนี้จึงเกิดขึ้นเพราะสิ่งนี้ดับไป สิ่งนี้ก็ดับ(ด้วย)"
หรือ AฎB
~Aฎ~B
ในกรณีเช่นนี้ A จะเป็นเงื่อนไขจำเป็น (necessary condition) ของการเกิด B ทำให้เราสรุปได้ว่า A กับ B มีความสมภาค (equivalence) กัน เขียนแทนด้วยสัญญลักษณ์ A = B

เช่น ถ้าคนตายแล้ว (A) ชีพจรจะไม่เต้น (B) และถ้าคนยังไม่ตาย (~A) ชีพจรก็จะเต้น (~B) แสดงว่า ความตาย มีความหมายเท่ากับ การที่ชีพจรไม่เต้น เป็นต้น

๔. เมื่อ "สิ่งนี้" มี โดยคำว่า "สิ่งนี้" หมายถึงมีสิ่งให้เลือกมากกว่า ๑ อย่าง แต่อย่างน้อยมีสิ่ง ที่จริงอยู่ ๑ อย่าง ซึ่งก่อให้เกิด อีกสิ่งหนึ่ง เราจะเชื่อม "สิ่งนี้" ด้วยสันธาน "หรือ" (v) เช่น A v B v C ถ้าเรารู้ว่าไม่ใช่ A (~A) และ ไม่ใช่ B (~B) เราจะสามารถสรุปได้ว่าต้องเป็น C (ซึ่งเป็นสิ่งที่เหลือ) แน่นอน กฎทางตรรกวิทยา ข้อนี้เรียกว่า Disjunctive Syllogism

ตัวอย่างเช่น ในการตรวจสอบสาเหตุที่ทำให้นักเรียนโรงเรียนแห่งหนึ่ง เกิดอาการท้องร่วงพร้อมกัน หลังจากกินอาหารเที่ยง โดยนักเรียนเหล่านี้ กินของ ๓ อย่างเหมือนกัน คือ นมกล่อง (A) น้ำประปา ของโรงเรียน (B) และข้าวแกง (C) เมื่อเอานมกล่อง และน้ำประปา ซึ่งตรวจง่ายกว่า ไปทำการตรวจสอบ พบว่าไม่มีอะไรผิดปรกติ จนได้ข้อสรุปว่า ไม่ใช่นมกล่อง (~A) และไม่ใช่น้ำประปา (~B) ที่เป็นสาเหตุ ของอาการท้องร่วง ในกรณีนี้ เราจะสรุปได้ว่า ข้าวแกง (C) คงเป็นสาเหตุสำคัญ ของอาการท้องร่วง แน่นอน และถ้าอยากยืนยันว่า องค์ประกอบอะไร ของข้าวแกง (ซึ่งมีส่วนผสมหลายอย่าง) เป็นสาเหตุ ทำให้เกิด อาการท้องร่วง ก็ทำการทดสอบ วิเคราะห์ต่อไป เป็นต้น

๕. เมื่อ "สิ่งนี้" มี โดยคำว่า "สิ่งนี้" หมายถึงสิ่งที่ประกอบด้วยหลายองค์ประกอบ อาทิ A ท B ฎ C คือทั้ง A และ B ต่างเป็นองค์ประกอบสำคัญที่ทำให้เกิด C ในกรณีนี้ถ้าขาด A หรือ B อย่างใดอย่างหนึ่ง (~A v ~B) C จะไม่เกิดขึ้น (~C)

เช่น น้ำ (C) เป็นองค์ประกอบซึ่งเกิดจากไฮโดรเจน (A) และออกซิเจน (B) เขียน เป็นสัญลักษณ์ A ท B สมภาคกับ C ในดาวเคราะห์แห่งหนึ่ง ถ้าเราพบว่าไม่มีก๊าซไฮโดรเจน (~A) หรือไม่มี ก๊าซออกซิเจน (~B) อย่างใดอย่างหนึ่ง เราสรุปได้ว่า ดาวเคราะห์ดวงนั้น ต้องไม่มีน้ำ แน่นอน เขียนเป็นสัญลักษณ์ ~A v ~B ~C แสดงว่า ~A v ~B สมภาคกับ ~(A ท B) หรือ~(A ท B สมภาคกับ ~Av~B เรียกกฎทางตรรกวิทยา ข้อนี้ว่า De Morgan

จากกฎพื้นฐานทางตรรกวิทยาที่วางอยู่บนหลักอิทัปปัจจยตา ๕ ข้อ ข้างต้นนี้ สามารถใช้ เป็นฐานในการ พิสูจน์ และสร้างกฎ ทางตรรกวิทยา ข้ออื่นๆ เหมือนการสร้างทฤษฎีบท ทางเรขาคณิต ซึ่งเมื่อพิสูจน์ทฤษฎี บทที่ ๑ ได้แล้ว ก็จะสามารถใช้เป็นพื้นฐาน ในการพิสูจน์ และสร้างทฤษฎีท างเรขาคณิต บทอื่นๆ ตามมา ต่อไป

องค์ความรู้ต่างๆ ที่เกี่ยวกับปรากฏการณ์ แห่งการปรุงแต่ง ของสังขารธรรม ทั้งหลาย ในธรรมชาติ ล้วนแต่วาง อยู่บนหลักพื้นฐาน ของอิทัปปัจจยตา หรือกฎทางตรรกวิทยา ที่กล่าวมานี้ทั้งสิ้น

ในด้านองค์ความรู้เกี่ยวกับธรรมชาติของสสารและพลังงาน (อุตุนิยาม) ดูเหมือนอารยธรรม ของมนุษย์ ยุคนี้ จะสามารถ พัฒนาค้นคว้า ไปได้ไกลที่สุด จนสามารถค้นพบ แรงพื้นฐาน ๔ อย่าง ของเอกภพ คือ แรงโน้มถ่วง แรงแม่เหล็กไฟฟ้า และแรงอีก ๒ อย่าง ที่แฝงอยู่ ภายในอนุภาค ของอะตอม ตลอดจน สามารถ ค้นพบ ทฤษฎีสัมพัทธภาพ และทฤษฎีควอนตัม ในช่วงศตวรรษที่ผ่านมา อันเป็นโครงร่าง ของทฤษฎีหลัก ทางฟิสิกส์ สมัยใหม่ ที่ช่วยให้มนุษย์ เข้าใจ ปรากฏการณ์ ของสิ่งที่เล็กที่สุด ในธรรมชาติ อันคือ อนุภาค ภายในอะตอม ไปจนถึง สิ่งที่ใหญ่ ในธรรมชาติ อันคือการขยายตัว และหดตัว ของเอกภพ

ในด้านองค์ความรู้เกี่ยวกับธรรมชาติของสิ่งมีชีวิตซึ่งมีคุณลักษณะสามารถเจริญเติบโต และสืบเผ่าพันธุ์ ได้นั้น (พีชนิยาม) มนุษย์เริ่มเข้าอย่างผิวเผิน ถึงกลไกการทำงาน ของรหัส พันธุกรรม (ที่เป็นเหมือน แบบพิมพ์เขียว ขนาดเล็กมาก ภายในไมโตรคอนเดรีย ของเซลล์ แต่ละเซลล์ ในสิ่งมีชีวิต) ซึ่งเกิดจาก การเรียงตัว ของกรด อะมิโนเพียงไม่กี่ตัว แต่กลายเป็น รหัส ที่สามารถควบคุม การแบ่งตัวของเซลล์ นับล้านล้านเซลล์ ที่ทำงาน เกี่ยวเนื่องสัมพันธ์กัน อย่างสลับซับซ้อนที่สุด จนกลายเป็น โครงสร้าง ทางชีววิทยา ของสิ่งมีชีวิต แต่ละชีวิต

ในด้านองค์ความรู้เกี่ยวกับพฤติกรรมของมนุษย์ทั้งทางด้านกาย วาจา ใจ (กรรมนิยาม) มนุษย์เพิ่ง จะมีการ พัฒนาความรู้ ทางด้านสังคมศาสตร์ สาขาต่างๆ อาทิ สังคมวิทยา เศรษฐศาสตร์ รัฐศาสตร์ ฯลฯ เพื่ออธิบาย ปรากฏการณ์ เกี่ยวกับพฤติกรรม (ในบางมิติ และ บางระดับ) ของมนุษย์อย่างเป็นระบบ เหมือนความรู้ทาง วิทยาศาสตร์ ธรรมชาติ (อุตุนิยาม และ พีชนิยาม) เพียงเมื่อไม่กี่ร้อยปี ที่ผ่านมานี้เอง และยังเป็นองค์ความรู้ที่ ขาดความแม่นยำ สมบูรณ์ อีกมาก ในการที่จะอธิบายธรรมชาติ ซึ่งเกิดจาก พฤติกรรม (หรือการกระทำ ทางกาย วาจา ใจ) ของมนุษย์ ที่ส่งผลกระทบสะท้อน กลับมาสู่ตัวมนุษย์นั้นๆ เอง

สำหรับองค์ความรู้เกี่ยวกับเรื่องจิตอันเป็นธาตุรู้หรือพลังงาน ซึ่งมีศักยภาพ ในการรับรู้ ตัวเองได้นั้น (จิตตนิยาม) มนุษย์ในยุคปัจจุบันมีความรู้เกี่ยวกับธรรมชาติส่วนนี้ น้อยมาก โดยเพิ่ง จะเรียนรู้ ถึงเค้าลางๆ แห่งอาณาจักรอัน กว้างใหญ่ไพศาล ของสิ่งที่ซ่อนอยู่ ในจิตใต้สำนึก ส่วนลึก (unconscious) นอกเหนือจาก พื้นที่ส่วนผิวพื้น แคบๆ ของจิตสำนึก (conscious) ที่มนุษย์รู้จัก ก็เพียงเมื่อร้อยกว่าปี ที่ผ่านมา เมื่อซิกมันด์ฟรอยด์ ได้พัฒนา ทฤษฎี จิตวิเคราะห์ (Psychoanalysis) ขึ้น

ในอุปาทาน ๔ ระดับที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ คือ กามุปาทาน ทิฏฐุปาทาน ศีลพตุปาทาน และ อัตตวาทุปาทาน ฟรอยด์สามารถ สังเกตเห็น อิทธิพลของ "กามุปาทาน" ที่ซ่อนอยู่ ในจิตส่วนลึก ของมนุษย์ จนชี้ให้เห็น ถึงความ สำคัญของเรื่อง "เซ็กซ์" (ฟรอยด์ใช้คำว่า "Sex" ในความหมาย ที่กว้างมาก ใกล้เคียงกับ "กามุปาทาน" ใน พุทธศาสนา) ซึ่งมีอิทธิพล อย่างลึกซึ้ง ต่อการควบคุม กำหนดพฤติกรรมต่างๆ มนุษย์ ตั้งแต่ทารกแรกเกิด ไปจนถึงช่วง เวลาสุดท้ายของชีวิต

แต่องค์ความรู้เกี่ยวกับธรรมชาติของจิตที่มนุษย์ค้นพบเหล่านี้ ก็ยังเป็นองค์ความรู้ที่หยาบมาก โดยยังไม่ สามารถเข้าใจถึง ความละเอียดยิ่งขึ้น ของอุปาทานอีก ๓ ระดับ อันคือทิฏฐุปาทาน ศีลพตุปาทาน และ อัตตวาทุปาทาน ที่แฝงอยู่ในจิตส่วนลึก ของมนุษย์ ส่งผลให้มีการใช้ทฤษฎี จิตวิเคราะห์ อธิบาย ปรากฏการณ์ บางอย่าง ไม่ลึกซึ้งพอ จนตีความเลยเถิด กลายเป็นคิดว่า มีสาเหตุจากเรื่อง "เซ็กซ์" หรือ "กามุปาทาน" ไปหมดทุกอย่าง

ยิ่งความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับธรรมชาติที่มีความเกี่ยวเนื่องสัมพันธ์กันอย่างแนบแน่น ในทุกมิติ โดยองค์รวม (ธรรมนิยาม) มนุษย์เพิ่งจะเริ่มเข้าใจและพอถึงเพียงเมื่อไม่กี่สิบปีที่ผ่านมานี้เอง เมื่อมนุษย์ เริ่มค้นพบว่า ปัญหาสิ่งแวดล้อม ที่ถูกทำลาย เพราะการบริโภค เกินประมาณ ของมนุษย์นั้น กำลังจะ ส่งผลกลับมา สร้างความหายนะ ให้กับเผ่าพันธุ์มนุษย์ โดยธรรม

จากเค้าโครงของกฎธรรมชาติหรือธรรมนิยามในหลักพุทธธรรมที่กล่าวมา จะเห็นได้ว่า มีความเป็น "ศาสตร์" (Science) ที่สมบูรณ์มาก ซึ่งถ้าสามารถพัฒนาองค์ความรู้ ทางด้าน เศรษฐศาสตร์การเมือง จากรากฐาน ของหลัก พุทธธรรม ดังกล่าวขึ้นมาได้สำเร็จ ก็จะเป็น องค์ความรู้ด้าน "วิทยาศาสตร์ ทางสังคม" ที่มีความครอบคลุม สมบูรณ์ และ จะสามารถชี้นำ ทิศทางการพัฒนา อารยธรรมมนุษย์ ไปสู่สังคมในอุดมคติ ที่ผู้คน อยู่ร่วมกัน อย่างมี "อิสรเสรีภาพ ภราดรภาพ สันติภาพ สมรรถภาพ และบูรณภาพ" ได้อย่างถูกต้อง ตรงทิศ ตรงทาง

อ่านต่อฉบับหน้า

(เราคิดอะไร ปีที่ ๙ ฉบับที่ ๑๕๒ เดือน มีนาคม ๒๕๔๖)