เราคิดอะไร.

การฟื้นฟูพระศาสนาจากหายนะสู่วัฒนะ (ตอน ๑)
- ส.ศิวรักษ์ -

ปาฐกถา เนื่องในโอกาสครบ ๖ รอบนักษัตร พระครูพิพิธประชานาถ (หลวงพ่อนาน สุทฺธสีโล)
วันเสาร์ที่ ๑๒ พฤษภาคม ๒๕๔๔ ณ ห้องจุมภฎ-พันธุ์ทิพย์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


ืท่านเจ้าคุณพระธรรมาเจดีย์ (กี มารชิโน) อดีตเจ้าอาวาสวัดทองนพคุณ เคยตั้งข้อสังเกตไว้ว่า

การนับถือพระพุทธศาสนานั้นอาศัยแรง ๒ แรง คือ
๑. สัทธาพละ แรงความเชื่อ
๒. ปัญญาพละ แรงปัญญา

ในระหว่างสัทธาพละ กับปัญญาพละนั้น หุ้มเอาวิริยพละ แรงความเพียร สติพละ แรงสติ และสมาธิพละเข้าไว้ด้วยกัน ซ้อนกันเป็นชั้นๆ ขึ้นไปเหมือนเจดีย์ ธรรมดาเจดีย์ต้องมีฐาน วางซ้อนกันขึ้นไป เป็นชั้นๆ ฐานล่างสุดต้องใหญ่กว้าง เปรียบเหมือน ผู้นับถือพระพุทธศาสนา ด้วยแรงศรัทธาความเชื่อ ส่วนผู้นับถือพระพุทธศาสนาด้วยแรงปัญญานั้น มีจำนวนน้อย เปรียบเหมือน ยอดเจดีย์ ที่ทำเป็นลูกแก้ว เปล่งแสงไว้นั้น แต่พระพุทธศาสนา ตั้งอยู่ได้ด้วย แรงศรัทธาก่อน ธรรมที่ยกมากล่าว จะเห็นความข้อนี้ชัด มีปัญญาอยู่ท้ายสุด และไม่ว่าที่ไหน ธรรมที่กล่าวถึงศรัทธาแล้ว จะต้องมีปัญญากำกับไว้ด้วยเสมอ คนที่นับถือ พระพุทธศาสนา ด้วยแรงศรัทธานั้นมีมาก เหมือนฐานเจดีย์ ด้วยแรงปัญญานั้น มีน้อย เหมือนยอดเจดีย์ แต่ยอดเจดีย์ จะอยู่ได้ ต้องอาศัยฐานเจดีย์ ที่รองรับไว้อย่างใหญ่กว้าง มิฉะนั้นแล้ว หากไม่มีฐาน ยอดจะไปอยู่ได้อย่างไร ทั้งนี้เพื่อเตือนใจให้เข้าใจความเป็นธรรมดาข้อนี้ จะได้ไม่เอา ความประพฤติ ปฏิบัติของพระสมมติสงฆ์ บางรูป มาหักศรัทธา ของตนเสีย และ มองดู การนับถือ พระพุทธศาสนา ของคนทั้งหลาย ซึ่งเป็นไปในรูปต่างๆ กัน ด้วยปัญญา อันชอบ

ถ้าเราเอาถ้อยคำของพระคุณท่านมาประยุกต์ใช้ในปัจจุบันด้วยปัญญาชอบ เราคงสรุปได้ว่า ฐานของการพระศาสนา ในบัดนี้ทรุดโทรม และซวนเซเอามากๆ แม้ศรัทธา ในหมู่พุทธศาสนิก ทั้งพระ และ คฤหัสถ์ ก็ไม่แน่ว่ามีพลังขนาดไหน โดยคนส่วนใหญ่ ดูจะโน้มนำใจ ไปเชื่อ และเลื่อมใสเงิน อำนาจ และ เทคโนโลยีต่างๆ ตลอดจนลาภยศ ศฤงคาร บริวาร ยิ่งกว่า พระรัตนตรัย เป็นไหนๆ ยิ่งบาปบุญคุณโทษ และ โลกนี้โลกหน้า ตลอดจน ปรมัตถสัจจ์ ด้วยแล้ว ดูจะมีไว้ตีฝีปากกันยิ่งกว่า จะเป็นที่ตั้ง แห่งศรัทธาปสาทะ ถ้าเป็นเช่นนี้ แรงปัญญา จะควบคุมแรงแห่งความเชื่อ ทางมิจฉาทิฐิได้อย่างไร

ที่เอ่ยถึงท่านพระธรรมเจดีย์รูปนี้นั้น ก็เพราะข้าพเจ้าคุ้นเคยกับท่าน และเคารพนับถือท่านมา แต่เมื่อท่าน ยังเป็น พระมหากี มารชิโน ตอนที่ข้าพเจ้า ไปบวชเณร ณ วัดทองนพคุณ แต่เมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๘ นั้นแล้ว และยิ่งข้าพเจ้า คุ้นเคยกับท่าน มากขึ้น จนภายหลัง ได้สนองงานท่าน อย่างใกล้ชิด ได้แลเห็นปฏิปทา และจริยวัตร ของท่าน ก็ยิ่งเลื่อมใส จนข้าพเจ้า เขียนถึง ท่านไว้ เป็นเล่มสมุด อย่างเขื่อง ชื่อ พระธรรมเจดีย์ พระผู้ใหญ่ ที่ไม่กะล่อน กล่าวคือ ความกะล่อนของพระ เป็นต้นเหตุให้เกิดหายนภัย ในทางพระพุทธศาสนา เพราะพวกเรา ชาวบ้าน ถือเอาความประพฤติปฏิบัติ ของพระเถระ เป็นแบบอย่าง ให้เราเข้าไปใกล้ พระคุณท่าน เอาอย่างท่าน ในทางที่มีชีวิตอันเรียบง่าย ปล่อยวาง อย่างมีสติ และปัญญา เพื่อเกื้อกูล สรรพสัตว์ อย่างบรรสาน สอดคล้องกัน ทั้งภายในตัวเรา ระหว่าง เรากับคนอื่นๆ ตลอดจนสิงห์สาราสัตว์ และธรรมชาติ ที่แวดล้อมเรา

นิมิตดีก็ตรงที่พระครูพิพิธประชานาถ และพระเถระอีกหลายรูป ในกลุ่มเสขิยธรรม เป็นพระ ที่ไม่กะล่อน โดยที่ท่าน มีสัทธาพละ ควบคู่ไปกับปัญญาพละ นับว่าท่านเหล่านี้ แม้จน ท่านอื่นๆ นอกกลุ่มเสขิยธรรม ออกไป หากใช้แรงความเชื่อ ความเลื่อมใส ในพระรัตนัตยาธิคุณ ผนวกไปกับแรงปัญญา ซึ่งห่อหุ้มไว้ด้วย แรงความเพียร แรงสติ และ แรงสมาธิ โดยนำหัวข้อธรรมทั้ง ๕ มาประยุกต์ได้อย่างแยบคาย กับโครงสร้าง ทางสังคม ในปัจจุบัน ก็ย่อมอาจช่วยกันผลักดัน ให้หายนะ กลายเป็นวัฒนะได้ แม้จะไม่ง่ายนักก็ตาม และถ้าพูดกัน อย่างไม่เกรงใจแล้ว พระเถระของเรา ในกลุ่มเสขิยธรรม ยังอ่อนแอนัก ในเรื่อง สมาธิพละ ยังท่านที่เน้น ทางด้านจิตสิกขาในแวดวงของวัดป่า ส่วนมากก็ไม่รู้เท่าทัน ความเป็นไป ในสังคมร่วมสมัย จึงเกิด อรหันต์ปลอม จึงเกิดการเรี่ยรายเงิน จากคนจน มาช่วยคนรวย อย่างน่าเอือมระอา ทั้งนี้โดยมิจำต้อง เอ่ยถึงพระเกจิอาจารย์ ชื่อดังต่างๆ ตลอดจน พวกธรรมกาย ซึ่งเน้นไปในทางมิจฉาสมาธิ ยิ่งกว่าสัมมาสมาธิ เป็นไหนๆ

จากสมัยที่ข้าพเจ้าบวชเณรตอนก่อนสงครามโลกครั้งที่ ๒ จะยุติลงจนตราบเท่าถึงทุกวันนี้ คิดเป็นปีก็ราวๆ กึ่งศตวรรษเศษ ดูการพระศาสนา จะทรุดโทรมลง อย่างเห็นได้ชัดเจนยิ่งๆ ขึ้นทุกที จำนวนพระกะล่อน ก็เพิ่มมากยิ่งขึ้น ในแทบทุกระดับ อย่างน้อยก็ในแวดวง ของพระสังฆาธิการ ที่รับสมณศักด์ ยิ่งสูงส่งขึ้นไป ในฐานันดรเพียงไร ดูความกะล่อน จะยิ่งเพิ่มมากขึ้น เพียงนั้น หาไม่ก็ไม่เอาไหน อยู่ไปวันๆ อย่างทำเป็นทอง ไม่รู้ร้อน หากอ้างว่า นั้นคือการเจริญอุเบกขาธรรม


คำว่าอุดมคติในแวดวงของคณะสงฆ์หรือคฤหัสถ์ชน แทบไม่นำพากันเอาเลย ดังเมื่อเร็วๆนี้ มูลนิธิ โกมลคีมทอง จัดงานขึ้นที่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์นี้เอง ในโอกาสที่มูลนิธิดังกล่าว ตั้งมาได้ ๓๐ ปี มีงาน แต่วันที่ ๒๒ กุมภาพันธ์ จนถึงวันที่ ๒๕ กุมภาพันธ์ เน้นให้คนร่วมสมัย เห็นความสำคัญของอุดมคติ และ การอุทิศตน เพื่อคนส่วนใหญ่ ยิ่งกว่า เพื่ออาการ อันเห็น แก่ตัว ผู้จัดเชิญใครต่อใครมาพูด ในเรื่องอุดมคติ กันมากหน้า แต่ดูเหมือน จะไม่มีใครเลย ที่พูดถึงอุดมคติ ในทางพระพุทธศาสนา ทั้งๆ ที่บางคน ยอมรับว่า พระศาสนา มีคุณกับเขา ก็ตามที แล้วนี่จะไม่เป็นอาการ แห่งความเสื่อม อีกประการหนึ่ง ดอกหรือ

ทั้งนี้ ทำให้ข้าพเจ้าจำต้องย้อนกลับไปสมัยเมื่อแรกบวชเณร ที่วัดทองนพคุณเมื่อราวๆ ห้าสิบ หกปีมานี่ สิ่งแรก ที่ข้าพเจ้าเรียนจากวัด คือ ทศบารมี หรือปฏิปทาอันยอดยิ่ง อันเป็นคุณธรรม ที่ควรประพฤติ อย่างยิ่งยอด นับเป็นความดี ที่ควรบำเพ็ญอย่างพิเศษ เพื่อบรรลุถึงจุดหมาย อันสูงสุด จนถึงขั้น อรหัตตผล แม้จนเข้าถึงความเป็น พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็ยังได้

ข้าพเจ้าเห็นว่า นี้แลคืออุดมคติ หรือเป้าหมายอันสูงสุด สำหรับพุทธศาสนิก ถ้าพุทธศาสนิก ปราศจาก มติดังกล่าว ก็ไม่จำเป็น ต้องเป็นพุทธมามกะอีกต่อไป เพราะแม้คนที่ ไม่มี ศาสนาเลย ก็เป็นคนดีได้

เมื่อข้าพเจ้าแรกบวชเณร อายุราวๆ ๑๒ นั้น พระท่านสอน ให้รู้จักบารมีทั้ง ๑๐ ทัศ โดยให้รู้ ควบคู่ไป กับทศชาติ ชาดกด้วย โดยท่านเรียง ให้เห็นเป็นเรื่องๆ อย่างควบคู่ ไปกับ บารมี เป็นข้อๆ ดังนี้ คือ

๑. พระเตมีย์ - เนกขัมมะ
๒. พระมหาชนก - วิริยะ
๓. พระสุวรรณ - เมตตา
๔. พระเนมิราช - อธิษฐาน
๕. พระมโหสถ - ปัญญา
๖. พระภูริทัตต์ - ศีล
๗. พระจันทกุมาร - ขันติ
๘. พระนารท - อุเบกขา
๙. พระวิธุร - สัจจะ
๑๐. พระเวสสันดร - ทาน

ทั้งพระท่านยังสอนให้ ตัวย่อของพระเจ้าทั้ง ๑๐ ชาติไว้ให้จำไว้อย่างง่ายๆ อีกด้วยว่า เตชะสุเนมะ ภูจะนาวิเว

โดยที่ในช่วงเข้าพรรรษา พระท่านจะแสดงพระธรรมเทศนา แสดงถึงบารมีทั้ง ๑๐ ทัศนี้ ตามชาดก แต่ละเรื่องๆ ไปจนครบทั้ง ๙ ชาดก โดยอาจมีชาดกอื่นๆ แทรกเข้ามาบ้าง โดยยกเอา เวสสันดรชาดก ไปเทศน์เป็นมหาชาติ ตอนออกพรรษา เริ่มจากคาถาพัน เป็นภาษา บาลีล้วนๆ วันหนึ่งก่อน แล้วจึงถึงแหล่ เวสสันดร เป็นกัณฑ์ๆ ไปทั้ง ๑๓ กัณฑ์ ซึ่งมักจะแสดงอีกสองวันซ้อน ให้เห็นคุณค่าของทานบารมี ว่าเป็นต้นตอ ที่มาของ การวาง รากฐาน ทางด้านอุดมคติ ฝ่ายพุทธ หากปราศจากพื้นฐาน ดังกล่าว บารมีอื่นๆ อีก ๙ ข้อ ก็ย่อมเป็นไปไม่ได้

ต่อเมื่อเทศน์มหาชาติกันอย่างสนุก และได้รสทั้งทางโลก ทางธรรมแล้ว ท่านจึงแสดง จตุราริยสัจ ๔ กัณฑ์ ว่าด้วยทุกข์ สมุทัย นิโรธ และมรรค ตามลำดับ ซึ่งก็คือ ยอดแห่งอุดมคติ ในทางพุทธศาสนา นั้นแล

ข้าพเจ้าเห็นว่าถ้าจะนำพระพุทธศาสนาออกจากหายนภัย ที่เราไปหลงในโลก (บริโภคนิยม) โกรธ (อำนาจนิยม) และหลง (ในตัวตนและอวิชชา ที่มาในรูปของ วิทยาศาสตร์) อันทันสมัย ต่างๆ เราต้อง กลับมาเริ่ม บำเพ็ญบารมีกันใหม่ ให้จริงจัง อย่างเข้าใจ ให้ถ่องแท้ ถึงเนื้อหา สาระ ซึ่งต้องประยุกต์ ให้เข้ากัน โลกสันนิวาส ในบัดนี้ด้วย กล่าวคือ ควรเข้าใจ เป็นขั้นๆ ไปในเรื่องของ

๑.บารมี (ระดับสามัญ เช่นทานบารมี ได้แก่ ให้ทรัพย์สินเงินทอง สมบัตินอกกาย)
๒. อุปบารมี (ระดับรองหรือจวนจะสูงสุด เช่น ทานอุปทานบารมี ได้แก่ การเสียสละ อวัยวะ เป็นทาน)
๓.ปรมัตบารมี (ระดับสูงสุด เช่น ทานปรมัตถบารมี ได้แก่ การสละชีวิต เพื่อประโยชน์ แก่ผู้อื่น)

บำเพ็ญทั้ง ๑๐ บารมี ครบ ๓ ขั้นนี้ เรียกว่า สมตึสปารมี หรือ สมดึงบารมี แปลว่า บารมี ๓๐ ถ้วน

ข้าพเจ้าออกจะแปลกใจที่ ธรรมนูญชีวิต ของท่านเจ้าพระธรรมปิฎก (ปยุตฺโต) ซึ่งดูเหมือน จะเป็นหนังสือ ที่ดีที่สุด ที่เรามีอยู่ อย่างร่วมสมัย ที่ว่าด้วยพุทธจริยธรรมเพื่อชีวิตที่ดีงาม กลับขาดข้อความ อันว่าด้วย สมตึสปารมี ไปอย่างน่าเสียดาย ทั้งๆ ที่พระคุณท่าน อธิบาย ในเรื่อง คนกับความเป็นคน คนกับสังคม คนกันชีวิต คนกับคน ตลอดจน คนกับมรรค หรือ มรคาแห่งชีวิต โดยที่ถ้ามีบทสุดท้าย ว่าด้วยคนกับอุดมมคติ แห่งการเข้าถึง สภาวะอันสูงส่ง ขึ้นเรื่อยๆ จนถึงที่สุด ธรรมนูญชีวิต ก็น่าจะเป็นหนังสือ ที่สมบูรณ์ ด้วยประการทั้งปวง ทั้งๆที่บทสุดท้ายของท่าน เอ่ยไว้ด้วยบ้างแล้ว ในเรื่อง คนถึงธรรม หากนั่นเป็นเพียง การตอนเอา พระพุทธพจน์ มาให้อ่านกัน เท่านั้นเอง แม้นี่จะมีคุณประโยชน์ ถ้าได้แนวทาง ของการเจริญ บารมี ทั้งสามสิบทัศ เป็นลำดับๆ ไป นี่จะวิเศษสุดแท้ทีเดียว

อ่านต่อฉบับหน้า

(เราคิดอะไร ปีที่ ๙ ฉบับที่ ๑๕๒ มีนาคม ๒๕๔๖)