เราคิดอะไร.

(แทน ฟอด เทพสุรินทร์)

เด็กวัด
ดอกดิน ลูกชายวัย ๑๖ ปีของครูเทียน ทองดำ ครูประชาบาลบ้านนอก จบ ม.๖ แล้วโชคดี สอบเข้าโรงเรียน อาชีวะแห่งหนึ่ง ในกรุงเทพฯ ได้ ที่ว่าโชคดีก็เพราะเพื่อนๆ ของดอกดิน ยังหาที่เรียน ไม่ได้อีกหลายคน ทั้งๆ ที่ส่วนใหญ่ เป็นลูกพ่อค้า ข้าราชการใหญ่ มีฐานะดีทั้งนั้น ต่างกับดอกดิน ซึ่งพ่อเป็นครูจนๆ และแม่แวว เป็นแม่ค้าข้าวแกง อยู่ที่โรงเรียน ดอกดินเรียน นั่นเอง

ถึงจะดีใจที่ลูกโชคดีสอบเข้าเรียนต่อได้ แต่พ่อแม่ก็ทุกข์ใจเพราะหาที่พัก ในกรุงเทพฯ ให้ลูกไม่ได้ จนกระทั่ง ใกล้ถึงวันมอบตัว ครูเทียน จึงนึกถึงเพื่อนเก่าคนหนึ่ง เป็นครูอยู่ ในเมืองหลวง รีบบากหน้าไปหา ถึงโรงเรียน และรอจนพักเที่ยง

"เฮ้ยเทียน ไม่ได้เจอกันหลายปี สบายดีรึ" ครูพูน เหรียญเงิน เพื่อนเก่าทักทายด้วยท่าทางดีใจ "ไป เที่ยงพอดี ไปกินข้าวด้วยกัน" พูนจูงมือไปที่โรงอาหารของโรงเรียน

"ลูกเต้าเรียนไปถึงไหนแล้วล่ะ เจ้าดอกดินคนโตของแกน่ะ" ครูพูนยังจำเด็กชาย หน้าตา คมเข้มได้ดี พบกัน ตอนที่เขา กลับไปเยี่ยมบ้านเกิด และแวะไปเยี่ยมเทียน เมื่อหลายปีก่อน

"นี่แหละที่ทำให้ต้องมาหาเพื่อน..." รู้สึกเกรงใจ ที่จะรบกวนเพื่อน เลยอึกอัก ไม่เอ่ยปากต่อ

"อ้าว ดอกดินเป็นไรไปรึเทียน" ท่าทางตกใจ

"เปล่าหรอก มันสอบเข้าเรียนอาชีวะในกรุงเทพฯได้ แต่ยังหาที่อยู่ไม่ได้ พอจะฝากวัดใกล้ๆ โรงเรียนได้ไหม จะได้เดินไปเรียน ไม่ต้อง เสียค่ารถ และพอได้อาศัย ข้าวก้นบาตรกินด้วย" ครูเทียน โล่งอก ที่ระบายออกไปได้

ครูพูน เคยบวชเรียนอยู่ในกรุงเทพฯ จนเป็นมหา และสึกหาลาเพศ ออกมาทำงาน จึงรู้จัก มักคุ้นพระ ตามวัดวา หลายแห่ง

"ได้เลยเพื่อน ถ้าไม่เกี่ยงเรื่องเดินทางไกลหน่อย อยู่ด้วยกันก็ยังได้ รึว่าไง" มองหน้าเพื่อน เป็นเชิงหารือ

"อยากให้ลูกเติบโตจากวัดเหมือนพวกเราสมัยก่อนโน้น" ครูเทียนรำลึกความหลัง ครั้งเป็น เด็กวัด เดียวกับครูพูน

ครูพูน นิ่งคิดสักครู่ "ได้ความแล้ว มหาด้วง รุ่นเดียวกันอยู่วัดตึก เดินไปเรียนที่ บพิตรพิมุข ได้สบายเลย เลิกสอนแล้ว ไปหากันเลยนะ" ทั้งสองกินข้าวอิ่มแล้ว ครูพูนให้เพื่อน ไปนั่งเล่น รออยู่ ที่ห้องรับรอง

อีก ๒-๓ วันต่อมา ครูเทียนและแม่แวว พาดอกดินไปมอบตัว เป็นลูกศิษย์ พระมหาด้วง วัดตึก หรือ วัดชัยชนะสงคราม ที่กรุงเทพฯ ออกเดินทางจากนครปฐม แต่เช้าตรู่ การเดินทางเมื่อ ๔๐ ปีก่อนโน้น ใช่จะสะดวกรวดเร็ว เหมือนสมัยนี้

ที่หอไตรกลางสระน้ำ วัดตึก พระมหาด้วง กำลังฉันเพลอยู่ตามลำพัง มีลูกศิษย์ ซึ่งล้วน เป็นนักเรียน นักศึกษาอยู่ ๓-๔ คน ครูเทียนแม่แวว และดอกดิน กราบพระมหาด้วง บอกกล่าว ขอมอบดอกดิน ให้เป็นศิษย์ ในปกครอง

"เอาละ มาอยู่ด้วยกันนี่แหละดีแล้ว วัดเป็นของชาวบ้าน ไม่ใช่ของพระ ลูกชาวบ้าน ที่ตั้งใจ มาเล่าเรียน ก็มาพักพิงอาศัยได้ พระมีหน้าที่ปกครอง อบรมด้วย ในฐานะที่เป็นศิษย์" ท่านฉันพลางคุยพลาง ดูใจดี แต่ท่าเจ้าระเบียบ ไม่น้อยเลย ท่านแนะนำ ให้รู้จักกับ ศิษย์ที่อยู่ก่อน และให้ช่วยกัน ขนสัมภาระ ไปยังห้องพัก ซึ่งก็คือระเบียงรอบๆ หอไตรนั่นเอง ส่วนตัว ท่ามหาด้วง ก็พักอยู่ในหอไตร ซึ่งเป็นที่ตั้ง ตู้เก็บพระไตรปิฎก และพระพุทธรูป

หลังฉัน ท่านมหาด้วงก็ชี้แจงกฎระเบียบการอยู่วัด การปฏิบัติตัว และภาระการงาน ประจำวัน ครูเทียน แม่แวว ฟังแล้วก็เบาใจ ที่มีพระปกครอง ดูแลลูก ส่วนดอกดินเองนั้น ก็ไม่หนักใจอะไร กับกฎระบียบ และหน้าที่การงาน ประจำวัน เพราะอยู่บ้าน ก็เคยชินอยู่แล้ว

"ว่าไงเจ้าดอกดิน พอทำได้ไหม ที่หลวงน้าว่ามานี่" มหาด้วงสรรพยอก พอให้ดอกดินอุ่น ใจ ยามต้อง จากพ่อแม่ มาอยู่ต่างบ้าน ต่างเมือง

"ทำได้ครับ ถ้ามีอะไรนอกจากนี้อีกก็บอกด้วยครับ ผมอยู่บ้าน ก็ทำงานบ้าน ช่วยพ่อแม่ ทำงาน โรงเรียน ช่วยครูอยู่แล้วครับ" ดอกดิน ยืนยันหนักแน่น อย่างมั่นใจ เพราะพ่อแม่ฝึกฝน ให้ทำงาน ช่วยเหลือ ครอบครัว ช่วยตัวเอง ทุกอย่าง ตลอดมา จะเรียกว่ารู้งาน เป็นงานสารพัด ก็ว่าได้

วันนั้นครูเทียนแม่แวว กราบลาท่านมหาด้วง เดินทางกลับนครปฐมด้วยความเบากาย สบายใจ เป็นบุญ ของเจ้าดอกดิน ที่ได้มาอยู่วัด ใกล้พระสงฆ์ ผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ หมดห่วงกังวล จะตกไปทางต่ำ เหมือนลูกเต้า คนมีเงินมีทอง ที่มาอยู่ตามหอพัก หรือเช่าบ้าน อยู่ตามลำพัง

หลังจากนั้น เพียงครึ่งเดือน ครูเทียนแม่แวว ก็พากันตื่นเต้นดีใจ ที่ได้รับจดหมาย ฉบับแรก จากลูกรัก

"กราบเท้าพ่อและแม่ที่เคารพอย่างสูง
ถึงน้องๆ ที่รักทุกคน

ผมรู้ว่าพ่อแม่และน้องๆ ตั้งตารอฟังข่าวคราวของผมอยู่ทุกวัน ผมเองก็ตั้งใจจะส่งข่าว ให้เร็วที่สุด เหมือนกัน แต่ที่ชักช้าอยู่นาน จนถึงวันนี้ ก็เพราะว่า ใหม่ทั้งที่อยู่ ที่เรียน กว่าจะลงรูป ลงรอยได้ชัดเจน พอจะส่งข่าว ให้ฟังได้ ก็ต้องใช้เวลา เล็กน้อยครับ ตอนนี้ ลงตัวแล้ว จนรู้สึก เหมือนอยู่บ้าน เหมือนอยู่ โรงเรียนเดิม นั่นแหละครับ ขอให้พ่อแม่หายห่วง และน้องๆ สบายใจได้ว่า ผมอยู่กิน อย่างอบอุ่น และเรียน อย่างมีความสุข หลวงน้า ท่านเมตตา ผมมาก สบู่ แปรงสีฟัน ยาสีฟัน ผ้าเช็ดตัว ก็ไม่ต้องซื้อหา คนเอามาถวายท่าน ท่านก็แจกจ่าย ให้ลูกศิษย์ ใช้สอยกันทุกคน อาหารการกิน จากบิณฑบาต และที่ส่งปิ่นโต ประจำ ก็อุดมสมบูรณ์ ไม่ต้องซื้อหาเพิ่มเติมเลย

ทุกวันไม่ว่าจะเป็นวันไปโรงเรียน หรือวันหยุด ต้องตื่นแต่ตีห้า ลูกศิษย์รุ่นพี่ ก็จะนำพวกเรา ทั้งห้าคน สวดมนต์ไหว้พระสัก ๑๐ นาที แล้วก็แยกย้ายกัน ทำความสะอาดที่พัก ของพวก เราเอง และของหลวงน้า ส่วนหลวงน้านั้น ท่านไปสวดมนต์ ทำวัตรที่โบสถ์ ก่อนพวกเราตื่น พอตีห้าครึ่ง ท่านก็กลับมา เตรียมตัว ออกบิณฑบาต พวกเราก็เตรียมต้มน้ำร้อน ชงชา ใส่กาไว้พร้อม เตรียมน้ำดื่ม น้ำล้างบาตร ปูอาสนะ ที่นั่งฉัน เตรียมถ้วย จานชาม กะละมัง สำหรับถ่ายอาหาร จากบาตร หลังจัดอาหารประเคนแล้ว ท่านก็ตักอาหารทุกอย่าง ใส่รวม ในบาตร แล้วให้ลูกศิษย์ยกเอาไปกินกันได้เลย จะได้รีบไปโรงเรียน

ตอนเย็น ใครกลับมาก่อน ก็เก็บบาตร เช็ดบาตร ทำความสะอาดที่พักที่นอน ต้มน้ำร้อนชงชา ให้หลวงน้า อาหารมื้อเย็น ก็เก็บกินที่เหลือ จากมื้อเช้า และที่หลวงน้าฉัน เหลือมื้อเพล หากจะขาดบ้างเป็น บางวัน ก็เอาข้าวสาร อาหารแห้ง ที่ต่างคน ต่างเตรียมเอาไป ออกมา หุงหากินกัน สามทุ่มทุกวัน ต้องสวดมนต์ พร้อมกัน และแยกย้ายกันไปนอน หรือดูหนังสือ ตามแต่ใจ

ทุกวันพระ หลังสวดมนต์ก่อนนอน ท่านจะอบรมสอนเราต่ออีกอย่างน้อยครึ่งชั่วโมง ย้ำให้เรา ทุกคน มีศีลห้า และ ละอบายมุข ท่านทำตัวเป็นตัวอย่างที่ดี เคยเห็นพระทั่วๆ ไปสูบบุหรี่ ฉันเครื่องดื่ม ชูกำลังต่างๆ แต่ท่านไม่แตะต้องเลย ..."

ครูเทียน อ่านมาถึงตรงนี้ก็หยุด แม่แววและลูกๆ โพล่งออกมาพร้อมๆ กัน "จบแล้วหรือพ่อ"

"ยังหรอก แต่พ่อปลื้มใจเหลือเกินที่ลูกเรา มันมีบุญได้ไปอยู่กับบัณฑิตแท้ๆ อยากให้ลูกๆ เราทุกคน มีโอกาสแบบนี้ เยาวชนของเรา จะไม่เสียผู้เสียคน เป็นปัญหาสังคม และเป็น ผู้ใหญ่ที่ดี ในวันหน้า... ผู้ใหญ่ที่เลวๆ ร้ายๆ ในวันนี้ก็เพราะ เป็นเยาวชน ห่างไกลวัดมาก่อน และ โตแล้ว ยังไม่ยอมหันหน้า เข้าวัดอีกต่างหาก"


สังคมทุกข์เพราะกิเลส ตัณหา อุปาทาน
พระคือผู้ฝึกฝนลดละกิเลส ตัณหา อุปาทาน มาได้ก่อน
จึงเป็นครู โดยแท้ และมีบทบาทโดยตรง
ในการชี้แนะทางออก ให้แก่สังคม
สังคมที่เต็มไปด้วยคนผิดศีล และเมาอบายมุขทั่วเมือง
จึงเป็นกระจกสะท้อนอย่างดีว่า ฝีมือพระมีเท่าใด!???

(เราคิดอะไร ปีที่ ๙ ฉบับที่ ๑๕๒ มีนาคม ๒๕๔๖)