เราคิดอะไร.

กติกาเมือง - ประคอง เตกฉัตร -

เหยื่อ (เด็ก)
"เหยื่อ" ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน หมายถึง อาหารของสัตว์ที่กิน, เครื่องล่อ, ตัวรับเคราะห์ เช่น เหยื่อกระสุน เหยื่อการทารุณกรรม

ปัจจุบันการด้อยโอกาสทางสังคมของประชาชนบางส่วนได้กลายเป็นเหยื่ออันโอชะ โดยเฉพาะ ของเด็ก ที่ด้อยทางสังคม มีผู้ที่อาศัยความด้อยโอกาสของเด็ก ในการนำเด็ก มาเป็นเหยื่อ ในการดำรงชีพ ของตนเอง และรวมถึงผู้ที่อ้างว่า เจตนาดีต่อผู้ด้อยโอกาส ที่เป็นเด็ก ประสงค์ จะเข้าไปช่วยเหลือ หรือดูแลเด็ก แต่กลับใช้สภาพ ของความเป็นเด็ก ดังกล่าวนั้น เพื่อดำรงชีพ ของตัวเอง หรือแสวงหาผลประโยชน์ ให้ตนเอง พวกพ้อง รวมทั้ง องค์กร จนบางครั้ง เด็กกลายเป็น วัตถุดิบ ในการยังชีพ ของบุคคลบางกลุ่ม บางจำพวก รวมทั้ง การหา คะแนนนิยม ในทางการเมือง ในระดับต่างๆ

การตกเป็นเหยื่อของการกระทำความผิดในทางอาญา ผู้เขียนไม่กังวลมากนัก เพราะมีโทษ ทางอาญา กำกับอยู่ และมีพนักงานเจ้าหน้าที่ คอยติดตามจับกุม และมีองค์กร อีกหลาย องค์กร ไม่ว่าของรัฐ หรือของเอกชน ที่เข้าไปสอบสวนสืบสวน หรือดูแล การกระทำความผิด ดังกล่าว หรือ เรียกว่า "มีเจ้าภาพ" ซึ่งเป็นภาษาสมัยใหม่ แต่การตก เป็นเหยื่อของเด็ก หรือ เยาวชน ที่ไม่รู้ตัว ของบุคคลบางจำพวก ไม่ว่าชมรม หรือองค์กรภายใน หรือ ระหว่างประเทศ ที่ดำรง สถานะ หรือ การคงอยู่ ขององค์กรดังกล่าวนั้น โดยอาศัยเด็กเป็นเหยื่อ

เด็กและเยาวชนเป็นเหยื่อที่ดีที่อาจจะส่งผลให้บุคคลที่เข้าไปเกี่ยวข้อง ช่วยเหลือ ได้รับประโยชน์ แม้จะไม่ใช่เป็นเงินทอง หรือทรัพย์สินใดๆ แต่อาจจะเป็น ในเรื่องชื่อเสียง เกียรติยศ ซึ่งบางครั้ง เกินเลย และก่อความยุ่งยาก ให้สังคมมากกว่า ที่จะปล่อย ให้เด็กดังกล่าว เป็นเหยื่อ ตามธรรมชาติ ซึ่งมีขบวนการดำเนินการที่รัดกุม ถูกต้อง และ แน่นอนอยู่แล้ว

เหยื่อที่เป็นเด็ก อาจจะถูกกระทำ ละเมิดทางแพ่ง หรือเกิดจากอุบัติเหตุ หรือเกิดจาก ภัยธรรมชาติ หรือเกิดจาก การกระทำความผิดอาญา และเกิดความเสียหาย หรือ รุนแรง ต่อเหยื่อ เช่น ถูกฆ่า ถูกทำร้าย ถูกข่มขืน ถูกลักทรัพย์ ถูกชิงทรัพย์ เป็นต้น และที่สำคัญ คือเหยื่อจะต้อง ไม่มีส่วนร่วม ในการกระทำความผิดด้วย หรือเรียกว่า ผู้เสียหายที่แท้จริง

เหยื่อในทางอาชญากรรมนั้น อาจจะเกิดเพราะเหยื่ออายุน้อย เป็นเพศหญิงที่อ่อนแอ อายุมาก มีความบกพร่องทางจิต เป็นผู้อพยพเคลื่อนย้ายถิ่น เป็นผู้เยาว์ เป็นคนที่สติปัญญาทึบ หรือ ผู้ผิดหวัง ล้มเหลวในชีวิต หรือเป็นผู้ละโมบโลภมาก หรือเป็นบุคคลเกเร เสเพล หรือดื้อรั้น ชั่วร้าย พวกที่มีจิตใจชอบโดดเดี่ยว เปล่าเปลี่ยว หรือพวกอกหักทั้งหลาย พวกชอบ ความรุนแรง การทรมาน หรือพวกคนโง่ อวดเก่ง หรือชอบอิสระ ฯลฯ

เหยื่อยังมีความหมายกว้างขว้างมาก แล้วแต่ผู้ใดจะให้ทัศนะ แต่ปกติที่นำมาใช้ ในความรู้ ด้านอาชญาวิทยา ย่อมเป็นที่เข้าใจว่า หมายถึงเหยื่ออาชญากรรม หรือการกระทำ ความผิด อาญา ซึ่งต้องให้คำ จำกัดความ ที่แน่ชัด เหยื่อที่เป็นเด็ก ไม่จำกัดเฉพาะเด็ก ที่ตกเป็นเหยื่อ ทางอาชญากรรม หรือผู้ถูกกระทำ ในความผิดทางอาญาเท่านั้น ยังรวมถึงเหยื่อ ที่เกิดจาก อุบัติภัย ตามธรรมชาติ เช่น แผ่นดินไหว ภูเขาไฟระเบิด น้ำท่วม พายุ ฝนแล้ง ฯลฯ

กรณีเด็กตกเป็นเหยื่อของอุบัติเหตุ อุบัติเหตุเป็นเหตุการณ์ที่เกิดจากการกระทำของมนุษย ์และต้องมีผู้รับผิดชอบ เว้นแต่เป็นเหตุสุดวิสัย ซึ่งหมายความว่าเหตุใดๆ อันเกิดขึ้นก็ดี จะให้ผลภัยพิบัติ ไม่มีใครอาจป้องกันได้ แม้ทั้งบุคคล ผู้ต้องประสบภัย หรือใกล้ จะต้อง ประสบภัยนั้น จะได้ระมัดระวัง ตามสมควร อันพึงคาดหมาย ได้จากบุคคลนั้น ในภาวะเช่นนั้น เด็ก หรือ ครอบครัวของเด็ก ที่ตกเป็นเหยื่อ ของอุบัติเหตุ อาจถึงแก่ความตาย พิการ กำพร้า ดั่งเช่นกรณี รถยนต์บรรทุกแก๊ส พลิกคว่ำ ระเบิด ในกรุงเทพมหานคร หรือเชื้อดินปะทุ ที่ใช้ระเบิดหิน ระเบิดขึ้น ในการขนส่ง ที่จังหวัดพังงา เป็นต้น

กรณีเด็กตกเป็นเหยื่อของผู้ถูกกระทำละเมิดทางแพ่ง เช่น เป็นเหยื่อของการกระทำประมาท ปราศจาก ความระมัดระวัง หรือจากการถูกเอารัด เอาเปรียบจากผู้อื่น กรณีเด็ก ถูกทำร้าย ร่างกาย หรือถูกข่มขืน เด็กก็ต้องเป็นเหยื่อ ในการกระทำความผิด หรือ ถูกรถชนโดยประมาท หรือ กรณีเด็ก เอาปืนของบิดา มารดามาเล่น แล้วกระสุนลั่น ถูกเด็กอีกคนหนึ่ง ถึงแก่ความตาย หรือ เด็กเล่นดอกไม้เพลิง และ ถูกนัยน์ตาเด็ก อีกคนหนึ่ง ถึงตาบอด หรือ การเล่นหนังสติ๊ก เป็นต้น

เด็กตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงหรือการเลี้ยงดูโดยมิชอบ ซึ่งเกิดขึ้นมาก ในประเทศไทย ในขณะนี้ เพราะสังคมมีการเร่งรีบ ในการประกอบอาชีพ แล ะเกิดการแข่งขัน ในสังคมสูง ในทางธุรกิจ เด็กจึงต้องเป็นเหยื่อ ของความรุนแรง หรือถูกกระทำ ทารุณกรรม การพิจารณา ดังกล่าวนี้ ต้องพิจารณาถึงการเลี้ยงดูเด็ก ส่วนการเลี้ยงดูเด็กโดยมิชอบ เช่น การปล่อยปละ ละเลย ไม่ให้อาหาร และเครื่องนุ่งห่ม แก่เด็กอย่างเพียงพอ ยังไม่ถือว่า เป็นการกระทำ ความผิด ตามกฎหมาย เว้นแต่เป็นการจงใจ ทอดทิ้ง หรือละทิ้งเด็ก หรือใช้เด็กทำงาน ในลักษณะ เสี่ยงอันตราย หรือเป็นอุปสรรค ต่อการเจริญเติบโตของเด็ก หรือให้เด็ก เป็นเครื่องมือ ในการประกอบอาชีพ ในทางมิชอบ พฤติการณ์ดังกล่าว ย่อมเป็นการกระทำ ความผิด ต่อกฎหมาย เด็กจึงตกเป็นเหยื่อ ที่ควรได้รับความคุ้มครอง

กรณีเด็กตกเป็นเหยื่อของการกระทำความผิดอาญา เช่น ถูกฆ่า ถูกทำร้าย ถูกข่มขืน ถูกลักพาตัว หรือถูกใช้แรงงาน โดยผิดกฎหมาย ถูกใช้เป็นเครื่องมือกระทำความผิด แม้เด็ก จะมีส่วนร่วมด้วย ก็ต้องถือว่า เด็กเป็นเหยื่ออาชญากรรม เพราะเด็กย่อมง่ายต่อการถูกชักจูง ล่อลวง หรือ กระทำไป โดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์

กรณีเด็กตกเป็นเหยื่อเพราะความยากจน อันอาจเกิดจากหลายปัจจัย เช่น ภัยธรรมชาติ การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของสังคม เศรษฐกิจ เด็กที่ประสบปัญหายากจน มักจะมีปัญหา ตามมา เช่น ปัญหาด้านสุขภาพ การด้อยทางการศึกษา ปัญหาการใช้แรงงาน ปัญหา โสเภณีเด็ก ปัญหาเด็กเร่ร่อนจรจัด ปัญหาการใช้เด็ก ในทางมิชอบ ตลอดจนปัญหา การกระทำผิดนั้นเอง

สิทธิของเด็กเมื่อตกเป็นเหยื่อของการกระทำความผิดดังกล่าว ควรจะได้รับความรับรอง คุ้มครอง อย่างกว้างขวาง กว่าเหยื่อที่เป็นผู้ใหญ่ เพราะเด็ก ไม่สามารถ ช่วยเหลือตนเองได้ หากจะได้รับ ความคุ้มครอง เฉพาะแต่เด็ก ที่ตกเป็นเหยื่อ ของการกระทำผิดอาญา หรือ เหยื่ออาชญากรรมแท้ๆ เด็กที่ตกเป็นเหยื่อ ของความรุนแรง หรือ การทารุณกรรม หรือ การเลี้ยงมิชอบ อาจจะไม่ได้รับ ความคุ้มครองได้

กรณีเด็กเป็นผู้กระทำความผิดในทางอาญา ตามทัศนะของนักอาชญาวิทยา ถือว่า เด็กตกเป็นเหยื่อ ของอาชญากรรม แต่ในด้านกฎหมาย เด็กก็ตกเป็นเหยื่อ จะมีสิทธิกล่าวโทษ หรือ เรียกค่าเสียหาย จากผู้กระทำละเมิด จะต้องเป็นเหยื่อ ที่แท้จริงเท่านั้น คือต้อง ไม่มีส่วนร่วม ในการกระทำ ความผิดด้วย ในประมวลกฎหมาย วิธีพิจารณาความอาญา เรียกว่า ผู้เสียหาย ตามประมวล กฎหมาย วิธีพิจาณาความอาญามาตรา ๒ (๔) ได้ให้คำ จำกัดความว่า "ผู้เสียหาย" หมายถึง บุคคลผู้ได้รับความเสียหาย เนื่องจาก การกระทำผิด ฐานใดฐานหนึ่ง หรือเรียกว่า ผู้เสียหาย โดยนิตินัย กล่าวคือ เหยื่อหรือผู้เสียหาย ที่เป็นเด็ก จะต้องไม่มีส่วนร่วม ในการกระทำ ผิดนั้นๆ จึงจะมีสิทธิในการร้องทุกข์ กล่าวโทษ หรือฟ้องร้อง ผู้กระทำความผิด และมีสิทธิ เรียกค่าเสียหาย จากผู้ก่อเหตุละเมิดนั้นได้

กรณีเด็กถึงแก่ความตาย จะต้องให้ผู้แทนโดยชอบธรรม ซึ่งประกอบด้วยบิดา มารดา หรือ ผู้ปกครอง กระทำการแทน ตามประมวลกฎหมาย วิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๕ กรณีเด็ก ตกเป็นเหยื่อ หรือผู้เสียหาย

ในการกระทำความผิดอาญาผู้แทนโดยชอบธรรมซึ่งประกอบด้วยบิดามารดา ถือตาม ความเป็นจริง แม้มิได้จดทะเบียนสมรสกัน หรือผู้ปกครอง ที่ศาลมีคำสั่งแต่งตั้ง ต้องร้องทุกข์ ดำเนินคดี หรือ เรียกค่าเสียหายแทนเด็ก แต่ในกรณีที่เด็กไม่มีผู้แทน โดยชอบธรรม มาตรา ๖ ได้บัญญัติทางแก้เอาไว้ว่า "ในคดีอาญา ซึ่งผู้เสียหาย เป็นผู้เยาว์ ไม่มีผู้แทนโดยชอบธรรม หรือ ผู้วิกลจริต หรือ คนไร้ความสามารถ ไม่มีผู้อนุบาล หรือซึ่งผู้แทน โดยชอบธรรม หรือซึ่งผู้อนุบาล ไม่สามารถ ทำตามหน้าที่ โดยเหตุหนึ่งเหตุใด รวมทั้งมีผลประโยชน์ ขัดกันกับผู้เยาว์ หรือ คนไร้ความสามารถนั้นๆ ญาติของผู้นั้น หรือผู้มีประโยชน์เกี่ยวข้อง อาจร้องขอต่อศาล ขอให้ศาลา ตั้งเขาเป็นผู้แทนเฉพาะคดีได้

เมื่อได้ไต่สวนแล้ว ให้ศาลตั้งผู้ร้องหรือบุคคลอื่นซึ่งยินยอมตามที่เห็นสมควร เป็นผู้แทน เฉพาะคดี เมื่อไม่มีผู้ใด เป็นผู้แทนในศาล ให้ศาลตั้ง พนักงานฝ่ายปกครองเป็นผู้แทน"

เห็นได้ว่าการตั้งผู้แทนเฉพาะคดีตามกฎหมายไทยนั้นเรามุ่งไปสู่บิดามารดา หรือบุคคล ในวงศ์ญาติ เท่านั้น ยังไม่รวมไปถึง องค์กรเอกชน ที่รับทำหน้าที่ ในด้านเด็ก โดยเฉพาะ หรือ มีองค์กรใด โดยเฉพาะของรัฐ เข้ามารับผิดชอบ ในเรื่องดังกล่าวนี้

กรณีเด็กเป็นผู้ถูกกระทำความผิดอาญาและถึงแก่ความตายประมวลกฎหมาย วิธีพิจารณา ความอาญา มาตรา ๕ บัญญัติว่า "บุคคลเหล่านี้จัดการแทนผู้เสียหายได้...(๒) ผู้บุพการี ผู้สืบสันดาน... เฉพาะแต่ในความผิดอาญา ซึ่งผู้เสียหาย ถูกทำร้ายถึงตาย หรือบาดเจ็บ จนไม่สามารถ จัดการเองได้" ในกรณีเด็กถูกทำร้าย ถึงแก่ความตายหรือบาดเจ็บ จนไม่สามารถ จัดการเองได้ บุพการี คือบิดามารดา (ตามความเป็นจริง) มีอำนาจร้องทุกข ์กล่าวโทษ แทนเด็กได้ เว้นแต่ศาลได้ตั้งบุคคลอื่น เป็นผู้ปกครอง หรือ ขอให้ศาลตั้งตนเอง เป็นผู้แทน เฉพาะคดี ตามมาตรา ๖

มีข้อสังเกตว่ากฎหมายห้ามมิให้เด็กหรือผู้เยาว์เป็นโจทก์ฟ้องคดีอาญา ซึ่งศาลฎีกา เคยวินิจฉัย ไว้แล้วว่า ผู้เยาว์ฟ้องคดีอาญา โดยลำพังตนเองไม่ได้ ต้องมีผู้แทน แม้จะได้ ความยินยอม จากบิดามารดา ก็ไม่สามารถเข้าเป็นโจทก์ เข้าร่วมฟ้องคดีอาญาได้ แต่ถ้าเป็น การร้องทุกข์ กล่าวโทษ ผู้กระทำความผิด ต่อพนักงาน เด็กหรือผู้เยาว์ ย่อมมีสิทธิร้องทุกข์ ได้ด้วยตนเอง ไม่ต้องได้รับความยินยอม จากผู้แทนโดยชอบธรรม หรือผู้แทนโดยชอบธรรม ดำเนินการให้

กรณีเด็กเป็นผู้เสียหายย่อมถูกจำกัดสิทธิในการฟ้องเรียกค่าเสียหาย ต้องให้ผู้แทน โดยชอบธรรม ฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายแทน ตามประมวลกฎหมาย วิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑ (๑๒) คำว่า บุคคลผู้ไร้ความสามารถหมายถึง "บุคคลใดๆ ซึ่งไม่มีความสามารถ ตามกฎหมาย หรือ ความสามารถถูกจำกัด โดยบทบัญญัติ แห่งประมวลกฎหมายแพ่ง และ พาณิชย์ ว่าด้วย ความสามารถ"

ดังนั้น ในการใช้สิทธิฟ้องเรียกร้องค่าเสียหายหรือค่าทดแทน จากผู้ทำละเมิด จึงถูกจำกัด ได้เฉพาะ ผู้แทนโดยชอบธรรม เข้าดำเนินคดี ตามประมวลกฎหมาย วิธีพิจารณา ความแพ่ง มาตรา ๕๖ แต่ถ้าเด็กไม่มีผู้แทน โดยชอบธรรม เช่น ไม่มีบิดามารดา หรือ ผู้ปกครองกฎหมาย ก็บัญญัติทางแก้ไว้ โดยขอนุญาตฟ้อง หรือ ให้ตั้งผู้แทน เฉพาะคดี จากข้อมูลดังกล่าวข้างต้น ชี้ให้เห็นว่า สภาพสิทธิของเด็ก ที่ตกเป็นเหยื่อ หรือเป็นผู้ถูกกระทำ ในความผิดอาญา ตามกฎหมาย ของไทยเรา ถูกจำกัดสิทธิเกือบหมด ไม่ว่าจะเป็น การใช้สิทธิ ในการดำเนิน คดีอาญา กับผู้กระทำความผิด หรือสิทธิในการเรียกร้อง ค่าเสียหาย หรือค่าทดแทน และจะต้อง ให้ผู้แทนโดยชอบธรรม หรือ ผู้ปกครอง หรือญาติ หรือผู้มีประโยชน์ เกี่ยวข้อง กับเด็ก เป็นผู้ใช้สิทธิแทนเด็ก แต่ถ้าบุคคลที่เป็นผู้แทน โดยชอบธรรม หรือผู้ปกครอง เป็นผู้ กระทำ ความผิดอาญา ต่อเด็กเสียเอง เช่น การกระทำทารุณกรรมต่อเด็ก กระทำความผิด ทางเพศต่อเด็ก หรือกรณี ขายเด็กให้เป็นโสเภณี หรือใช้แรงงานเด็ก โดยผิด กฎหมาย พฤติการณ์ต่างๆ เหล่านี้ ใครจะเป็นผู้ปกป้องสิทธิให้เด็ก ซึ่งเป็นปัญหา ที่เกิดขึ้นเสมอ ในสภาพ สังคมปัจจุบัน กรณีดังกล่าว กฎหมายห้าม มิให้เด็กผู้เป็นบุตร ฟ้องบิดามารดา เพราะถือว่า เป็นคดีอุทลุม ตามประมวลกฎหมายแพ่ง และพาณิชย์ มาตรา ๑๕๖๒

(เราคิดอะไร ปีที่ ๙ ฉบับที่ ๑๕๒ มีนาคม ๒๕๔๖)