หน้าแรก >[09] การสื่อสาร > การเผยแพร่ธรรมะ >เราคิดอะไร

ชีวิตนี้มีปัญหา ๑ (ฉบับที่ ๑๕๓) สมณะโพธิรักษ์


"อรูปฌาน ๔" แบบสามัญทั่วไปหรือแบบโลกีย์นั้น เป็น"อรูปภพ"ที่ผู้ปฏิบัติยิ่งทำได้ผล ยิ่งหลงติดหลงจม ดิ่งลึก เพราะไม่มี "วิชชา ๙" จึงไม่สามารถหยั่งรู้ "ลงไปถึงที่เกิด" (โยนิโส) เพราะไม่สามารถรู้จักรู้จริง "ตัวตนที่เกิด" (ชาตัตตะ) และ ไม่มีวิธี "ดับ" อย่างถูกตัวถูกตน ชนิดแม่นตรง คมชัดลึก "การดับภพจบชาติ" ให้สำเร็จสัมบูรณ์ จึงเป็นไปไม่ได้

(อ่านต่อฉบับหน้า) (เราคิดอะไร ฉบับที่ ๑๕๒ มีนาคม ๒๕๔๖)


(ต่อจากฉบับที่ ๑๕๒)
แม้แต่นักศึกษานักปฏิบัติธรรมทางพุทธศาสนาเองก็ตาม ที่ศึกษาพุทธยังไม่"สัมมาทิฏฐิ" ก็ยังไม่รู้จัก"ภพ" ไม่รู้จัก"ชาติ"ทั้งหลายได้ละเอียดลออ จึงยังติด"ภพ"ติด"ชาติ"อยู่เป็นธรรมดา ซึ่งเรื่องของ"ภพ"ของ"ชาติ"นี้แม้จะ"รู้"ก็ยากยิ่ง แล้วยังจะต้อง"ดับชาติ"อีก ก็ยิ่งยาก หากไม่รู้จัก "เหตุแห่งการเกิด" (ชาติสัมภวะ) อย่างถูกตัวถูกตน ซึ่งเป็น"ตัวตน (อัตตา) ที่เกิดแล้วอยู่ในจิต" (ชาตัตตะ) แท้จริง และไม่มี"มรรคที่ถูกถ้วน" (สัมมามรรค) แล้วปฏิบัติ "กำจัดเหตุ"นั้น จนมัน "ดับสนิท" ได้สำเร็จ และไม่มี "วิชชา ๙" ไม่มีหลักแห่ง"สังโยชน์ ๑๐" ตรวจสอบ "ความจริง" (ตถตา) ทั้งหลาย อย่างละเอียด ครบถ้วน ก็ยังมี "ชาติ" อยู่นั่นแหละ

"อรูปฌาน ๔"แบบสามัญ หรือแบบโลกีย์นั้น ก็เป็น"อารมณ์ฌาน"แบบที่รู้ๆ กันในวงการ นักปฏิบัติ สมาธิสามัญ ซึ่งแตกต่างกับ "อรูปฌาน" แบบพุทธ ไปคนละเรื่อง อาตมาจะอธิบายกัน ให้ชัดๆ ต่อไป

เพราะ "อรูปฌาน"แบบโลกีย์ ก็คือ สัตตาวาส ดังที่เรากำลังพูดกันอยู่นี้ ซึ่งเป็น "สัตว์ที่ยังไม่พ้น การยึดที่อยู่" หรือ "สัตว์ที่ยังมีภพมีชาติ" ส่วน "อรูปฌาน" แบบพุทธนั้น เป็นโลกุตระ ซึ่งพ้นจาก ความเป็น "สัตว์ที่ยึดที่อยู่" (พ้น"สัตตาวาส") หรือ สัตว์ที่พ้นจาก "ความมีภพมีชาติ"

"อรูปฌาน ๔"ของโลกีย์ คือ สภาพ"จิต"ที่ผู้ปฏิบัติผ่านสภาพของ "รูปฌาน ๔" ขึ้นไป แล้วไปได้อะไร ที่นับว่าละเอียดกว่าสูงกว่าขั้น"รูปฌาน ๔" ซึ่งเริ่มตั้งแต่ได้"อากาศ หรือที่ว่าง" (อากาส) อันเป็นภพในจิตหรือในภวังค์ ที่หลงถือกันว่า ประณีตยิ่งกว่า "ความว่างแบบอุเบกขา "ขั้น"รูปฌาน ๔" สภาพของ "อารมณ์ว่าง" ขั้นนี้คือ "สมมุติสัจจะ" ของแต่ละคน ที่สมมุติขึ้น ในใจนั่นเอง

ลองฟังคำบรรยายที่อาตมาจะพยายามอธิบายถึง "อารมณ์ของอรูปฌาน" แบบสามัญทั่วไป หรือ "อารมณ์ อรูปฌาน" แบบโลกีย์ ให้ชัดๆแจ้งๆดูบ้าง และจะอธิบาย "อรูปฌาน" แบบพุทธเท้ๆ ให้ฟังประกอบไปด้วย จะได้เห็นความต่างกันชัดๆ ซึ่งไม่ง่ายเลย แต่ก็จะพยายาม เท่าที่จะทำได้ ก็แล้วกัน

"อรูปฌาน" แบบโลกีย์นั้น ได้แก่ "จิต" ของผู้ปฏิบัติมุ่งสู่ความเป็น "อากาส" หรือ "ความว่าง" ตามที่อาจารย์ของแต่ละคน จะบอกจะสอนเอาไว้ แล้วลูกศิษย์ก็พยายามทำจิตของตน ให้ไปสู่ "ความว่าง" ตามนั้น หรือตามที่ตนเองเข้าใจเอาเอง ด้วยปฏิภาณ เท่าที่ได้รู้ได้ฟังมา วิธีทำก็คือ นั่งสมาธิ เข้าไปสู่ภวังค์ตามแบบฌานโลกีย์นั่นเอง เมื่อสามารถบรรลุ"รูปฌาน ๔"แล้ว ซึ่งได้อารมณ์ "ว่างหรือวางเฉย" ในขั้น "อุเบกขา" ต่อจากนั้น ก็จะเพ่งจิตเข้าหา "สมมุติ" ในอุปาทาน ของตนๆ ตามแต่ใครจะ "กำหนดนิมิตความว่าง" ของตนๆ ครั้นสามารถทำ "สภาพความว่าง หรือ อากาส" ได้สำเร็จ ก็นั่นแหละคือ ได้ "ภพ" ที่เป็น "อรูปภพ" สำเร็จ ซึ่งก็ยังเป็น "ที่อยู่" แล้วเราก็ไปอยู่ใน "อรูปภพ" หรือ ในภวังค์ ของเรานั่นเอง เพียงแค่ใน "ภพ" นั้นมันเป็น "ที่ว่าง" หรือมัน "ว่าง" ยิ่งกว่า "รูปภพ" ที่เคยรู้สึก เคยมีมาก่อน

ขณะที่เป็น"อากาสานัญจายตนฌาน"นี้ "ผู้ได้ฌาน" (ฌานิก) จะไม่คิดไม่นึก เรื่องอะไรเลย จิตของ "ผู้ได้ฌาน" จะตกอยู่ในอารมณ์สุขสงบ จิตจึงมีแต่ "เสพ" อยู่กับ "ความว่าง" ประหนึ่ง "ตน" เป็น "ความว่างเสียเอง" ปานฉะนั้น ขณะนั้น จะยังไม่รู้ตัวว่า "ตัวเองคือใคร.. เราอยู่ที่ไหน.. เรากำลัง เป็นอะไร" เป็นต้น

ซึ่งในช่วงแรกของ "อารมณ์" ผู้เข้าถึงอรูปฌานขั้น"อากาสานัญจายตนฌาน"นี้ จะมีแต่ "ความรู้สึก"ว่า "ว่าง..ว่าง..ว่างจริงหนอ!" จะรู้สึกดิ่งอยู่กับ"ความว่าง" เท่านั้น จะยังไม่รู้สึกถึง "ตัวเอง" ว่า "เรามีตัวเรา"

กล่าวคือ "ตัวเราเอง" ก็จะยังไม่รู้สึกว่า"เป็นเรา" หรือยังไม่รู้ตัวรู้ตนว่า "เรามีความเป็นเรา" อยู่ ณ ที่นั้น ในขณะนั้น หรือยังไม่รู้สึก ถึง"ตัวเรา" ว่า"เราคือใคร -ใครคือเรา" เราเป็นอะไร เรากำลัง ทำอะไร เรากำลังเป็นอยู่อย่างไร และเรากำลังได้อะไร หรือเสียอะไร ในขณะเป็นอยู่นั้น "ผู้ได้ฌาน" (ฌานิก) ขณะนั้น จะไม่รู้ตัวไม่รู้อะไร ดังว่านั้นเลย มันจะมีแต่"อารมณ์แห่งความว่าง" เท่านั้น ที่เป็นอยู่มีอยู่ หรือ"เสพอยู่"ตอนนั้น อารมณ์เช่นนี้แลที่ชื่อว่า "อากาสานัญจายตนฌาน" ขณะนั้น จะยังไม่รู้สึกว่า มี"เรา" จะรู้สึกแต่ว่า อารมณ์มันว่างโล่งไปหมด ไม่มีอะไรอื่นเลย นอกจาก "ความว่าง" อย่างไม่มีที่สิ้นสุด หรือตามภาษาในพระไตรปิฎกก็ว่า "อากาศหาที่สุดมิได้" หรือ "ห้วงแห่งอากาศ อันหาขอบเขตมิได้" (อนันโต อากาโส) ซึ่งก็คือ ความว่างที่โล่งใส โปร่งไปไกล สุดท้องฟ้า อย่างไม่มีขอบเขต หรือไม่มีที่สิ้นสุด

สภาพ "อากาสานัญจายตนะ" หรือ "อรูปฌาน ๑" แบบโลกีย์ ที่จัดอยู่ในหมวด "สัตตาวาส" นี้ อารมณ์ของ ผู้บรรลุฌานนี้ ก็จะรู้สึกว่า "มีแต่ความว่าง" ซึ่งมันไม่มี "เรา" มีแต่ "ความว่าง" แม้แต่ "ตัวเรา" เอง ในขณะนั้น ก็ยังไม่รู้สึกว่ามี "ตัวเรา" มันรู้สึกแต่ว่า "ว่าง" มันโล่งทะลุ ตลอดไปหมด เห็นแต่ความว่างโล่ง สว่างใส ไกลไปไม่มีที่สิ้นที่สุด หรือหาที่สุดมิได้ (อนันโต อากาโส)

นี้คือ "ที่อยู่"(อาวาส)หรือคือ"ภพ"โดยแท้ สำหรับผู้ที่ปฏิบัติจนได้จนถึง ผู้ตกอยู่ใน "ภพ" ขณะแรก ที่ยังไม่รู้ตัวเองว่า "เราเป็นเรา "นั้น ช่วงนี้กาละนี้ เท่านั้นคือ ช่วงที่เรียกว่า "อากาสานัญจายตนฌาน" บางคนก็จะเพลิน "สุข" อยู่กับอารมณ์ "ว่าง" โดยไม่รู้ตัวว่า "เราเป็นเรา หรือ เราเป็นใคร" นี้นาน บางคนก็อยู่ได้ไม่นานเลย ก็จะรู้ตัวว่า "เราคือเรา หรือเราคือใคร"

ครั้นรู้ตัวของตัวเองว่า "เราคือเราหรือเราคือใคร" ขึ้นเมื่อใด ก็เมื่อนั้นแหละคือ ผู้นั้นพ้นจากสภาพ "อากาสานัญจายตนฌาน"ล่วงเข้าสู่สภาพของ "วิญญาณัญจายตนฌาน" ซึ่งก็คือ "เรารู้ตัวตนของเรา" การรู้ "ความเป็นเรา" นี่แหละคือ "วิญญาณ" ที่มันรู้ตนเอง หรือรู้ความเป็น "ตน" ที่ชื่อว่า "ตัวเรา" (อัตตา) แท้ๆนี่คือ อายตนะนอกและใน ของ "อากาส" กับ "วิญญาณ"

"อายตนะ" คือ เครื่องต่อ ที่ทำหน้าที่เชื่อมต่อให้เรารู้ได้ จาก "ความว่าง" (อากาส) อันเป็นสิ่งที่เรากำลัง
สัมผัสอยู่ในขณะนั้น กับ "วิญญาณ" ซึ่งเป็น "ธาตุรู้ของเรา" ก็เริ่มรู้เพิ่มจากที่รู้ "ความว่าง" (อากาส) แล้วก็รู้ "ตัวเองว่าเป็นเรา" (วิญญาณที่เป็นอัตตา) เมื่อก้าวขึ้นสู่ขั้นนี้ ก็ชื่อว่า เราได้ล่วงพ้น "อากาสานัญจายตนฌาน" เข้าสู่ "วิญญาณัญจายตนฌาน" กันตอนนี้ สำหรับ "อากาสานัญจายตนฌาน" นับเป็นอายตนะนอก คือ "ภพ" ส่วน "วิญญาณัญจายตนฌาน" นับเป็นอายตนะใน คือ "ชาติ"

ฌานโลกีย์ ยังมี"ภพ" มี"ชาติ" อยู่ดังนี้แล จึงชื่อว่า สัตตาวาส หรือ "ที่อยู่ของสัตวโลก"

สรุปความชัดๆดูอีกที ความเป็นอากาศ นั่นคือ ที่ว่าง คืออากาส สถานที่ที่ว่างๆ โล่งๆ ต่อเมื่อรู้ตัว ก็คือ วิญญาณ นี่คือ "เรา" ที่เป็น "เราอยู่ในที่ว่าง"

คำว่า "อากาส" ที่หมายถึง"ที่ว่างหรือความว่าง" นั่นก็คือ "ภพ" ต่อเมื่อ"เราเกิดรู้ตัวว่าเป็นเรา และเรานั่นเอง เสวยภพ อยู่ขณะนั้น" นั่นคือ "เราเกิดตัวตน" จึงเท่ากับมีทั้ง "ภพ" ทั้ง "ชาติ" ที่เจ้าตัวผู้ไม่ได้เรียนรู้อย่าง"สัมมาทิฏฐิ" แบบพุทธจะไม่รู้จักทั้งความเป็น "ภพ" ที่ตนยังมียังยึดอยู่ ทั้งความเป็น "ชาติ" ที่ตน ยิ่งไม่รู้จัก "ตัวตน" ของตนเลย ไม่ว่าจะในลักษณะหยาบ หรือกลาง หรือ ละเอียด เพราะไม่เคยเรียนรู้ "ตัวตน"(อัตตา-สักกายะ-อาสวะ) อย่าง "สัมมาทิฏฐิ" มาเลย หรือ แม้เรียนมาแต่ยัง "ไม่สัมมา" (ไม่ถูกถ้วน) ก็ย่อม"กำจัดตัวตน หรือวางตัวตน"ไม่เป็นแน่นอน

ผู้ไม่รู้จัก"ภพ" ยัง"อวิชชา"ในเรื่อง"ภพ-ชาติ"ย่อม "เสพภพ" หรือ "เสวยภพ" และยังมี "อัสสาทะ" (โลกียรส) เพราะยังไม่รู้ใน "อาการเสพ" ซึ่งต้องเรียนรู้ ด้วยความแยบคาย ถ่องแท้ หรือหยั่งรู้ ลงไปถึงที่เกิด (โยนิโส) ใน "อาการเสพ" (จิตที่เสพอยู่ คือ "ชาติ"แท้ๆ) และ "ภพที่เสพติด" (แดนที่ติดอยู่ คือ "ภพ"จริงๆ)

(อ่านต่อฉบับหน้า)

(เราคิดอะไร ฉบับที่ ๑๕๓ เมษายน ๒๕๔๖)