คำตอบสุดท้ายของหนังสือพิมพ์
สิ่งที่มากับความมืด
ก็คือ หิริ-โอตตัปปะที่แหว่งไป!! ในความมืด มนุษย์เราจะมีใบหน้าหนาขึ้น
ที่ไม่กล้าทำ ก็จะอาจหาญ ที่ละอายก็จะหายไป!
เพราะเหตุนี้สถานที่ใด
ที่รักษาบรรยากาศ ขมุกขมัวสลัวๆ สถานที่นั้นเป็นอโคจรของมนุษย์!
สิ่งที่มากับโลกาภิวัตน์
ก็คล้ายกัน ในความเจริญไร้พรมแดน มนุษย์ก็จะเห็นแก่ตัวมากขึ้น คนรวย
จะรวยเป็นกระจุก ส่วนคนจน จะกระจายมากมายราวกับห่าฝน!
ผลประโยชน์จะเป็นตัวตั้ง
เม็ดเงินเป็นตัวหลัก คุณค่าของมนุษย์จะด้อยลงไป
ฟังแล้วก็อยากถอยหลังไปอยู่ท้องแม่ใหม่!
"อยู่คนเดียว
ให้ระวังความคิด อยู่กับมิตรให้ระวังวาจา" คำเตือนคนโบราณ เป็นอกาลิโกเสมอ
ไม่มีเชยล้าสมัย
มนุษย์เป็นสัตว์สังคม
พออยู่เป็นกลุ่ม การเข้าใจผิดการทะเลาะวิวาท ย่อมมีโอกาสเกิดได้ง่าย
ความมีตัวตน ท่านอาจารย์พุทธทาส
บอกว่า "ตัวกู-ของกู" ตัวนี้เป็นผีร้าย ที่ทำให้วงแตก ต่อให้อยู่ในป่าช้า
ป่าช้าก็ยังแตกกระจุย!
"พูดไปสองไพเบี้ย
นิ่งเสียตำลึงทอง" เป็นเช่นนั้นจริงๆ
วันนี้ไม่ใช่คนหมื่นคนแสน
แต่มีเป็นล้านๆ เรื่องของคำพูดจึงต้องระวังกันไว้
สังคมที่มีข่าวสาร
๒๔ ช.ม. อาจจะดูทันสมัย โก้เก๋ แต่ก็เป็นความเปราะบางของความสามัคคี!
โอกาสผิดใจกัน ง่ายยิ่งกว่าปอกกล้วย
"อยู่กับมิตรให้ระวังวาจา"
แต่วันนี้เรามีทีวีเรามี น.ส.พ. เรามีวิทยุ หลายช่องหลายสถานี
ข่าวสารฉับไวก็จริง
แต่ความสามัคคีก็ล่อแหลม!
เทคนิคการสร้างความแตกแยก
วัสส-การพราหมณ์ ใช้วิธีเพียงคุยคนโน้นทีคนนี้ที อาศัยความระแวง ของคนเรา
เป็นพื้นฐาน เหล่าเจ้าชายลิจฉวีทั้งหลาย กลายเป็นควายในบัดดล เข้าทางปืนให้เขาจูงจมูก
หากวันนี้ของ "พระอานนท์"
คือ เครื่องเทปทั้งหลายที่มีความจำเป็นเลิศไม่ผิดพลาด "วัสสการพราหมณ์"
จะเป็นใคร ถ้าไม่ใช่พวกสื่อสารมวลชน!
ไม่เจตนาก็เหมือนเจตนา
ไม่กลั่นแกล้งก็เหมือนกลั่นแกล้ง
เหมือนโลกธุรกิจ
ที่มีอุดมคติ คือ "กำไร" การต่อสู้ การแก่งแย่ง ก็ต้องเกิดขึ้นเป็นของธรรมดา
ปลาใหญ่กินปลาเล็ก
ชีวิตประชาชนตกเป็นทาสของการโฆษณาชวนเชื่อ
วันนี้ ไม่ว่าจะเป็นวิธีคิด
การกิน การอยู่ วัฒนธรรม การดำรงชีวิต ไม่ได้ก่อเกิดจากความจริง ที่ค่อยเป็น
ค่อยไป แต่เกิดจากการเร่งเร้า ของนายทุน ที่จะทำกำไรให้มากที่สุด
การแสวงหากำไร ก่อเกิดการทำลายทรัพยากรธรรมชาติ
ทำลายสิ่งแวดล้อม และสุดท้าย ทำลาย ความสงบสุข ของมนุษย์
"โลกหยุดหมุนเถิด
ผมจะลง!" ถ้าอธิษฐานได้ ก็อยากจะอธิษฐานแบบนี้
สื่อมวลชนวันนี้
สร้างพลังแห่งความดี ก็มีจริง สร้างพลัง แห่งการทำร้ายทำลาย ก็ไม่อาจปฏิเสธได้
ในคัมภีร์ พระเวท ได้กล่าวถึงพระแม่อุมาเทวีผู้เป็นพระชายาของพระอิศวร
ซึ่งเป็นเทพี แห่งความดี ความอ่อนโยน แต่ในอีกภาคหนึ่งของชีวิต กลับเป็นเจ้าแม่กาลีผู้แสนชั่วร้าย
หรือสื่อมวลชน จะเป็นพระแม่อุมาเทวียุคใหม่?
เมื่อดำรงชีวิตด้วยการขายข่าว
การปรุงแต่งตัดต่อย่อมเกิดขึ้น การบิดเบือนทั้งโดยเจตนา และไม่เจตนา
ก็ยิ่งเป็นของธรรมดา
คิดถึงธรรมบทว่าด้วยสัปปุริสธรรม
๗ ธรรมของสัตบุรุษ ๗ ประการ ที่จะอยู่อย่างสร้างสรรค์ ไม่ทำร้าย ทำลายใคร
มีชีวิตที่กอปรก่อแต่ประโยชน์ผู้อื่น
สัตบุรุษจะต้องสังวร
และรู้เท่าทันในบรรยากาศ ในเหตุการณ์ ด้วยความลุ่มลึก รอบคอบ ๗ มิติ
รู้ในเหตุ-ผล-ตน-ประมาณ-กาล-บุคคล-สถานที่
รู้ๆ อย่างนี้ ทำสิ่งใดย่อมผิดพลาดยาก
มีบางอย่างที่เกิด
ย่อมรู้ที่มา
มีบางอย่างที่เกิด
ย่อมรู้ที่ไป
มีบางอย่างที่เราจะต้องรู้ฐานะ
อย่างเราควรทำ ควรพูด ขนาดไหน
มีบางอย่างที่เราต้องรู้กาละ
เวลานี้ควรทำควรพูดหรือไม่
มีบางอย่างที่เราต้องประมาณสถานที่นี้
อย่างนี้ๆ ควรทำ ควรพูด ขนาดไหน
มีบางอย่างที่ต้องประมาณดูว่า
บุคคลคนนี้ กลุ่มนี้ เราควรจะพูดหรือทำเรื่องนี้ๆ ในขนาดไหน
ทั้งหมดนี้คือความลุ่มลึก
แต่ข่าวสารที่ออกจากทีวี โดยเฉพาะอย่างยิ่งหนังสือพิมพ์ การไตร่ตรอง
ย่อมน้อย มีเป้าหมาย อยู่ที่ความรวดเร็ว เสนอข้อมูลเท่าที่ตาเห็น ส่วนคนรับจะเป็นใคร
อย่างไร ภูมิหลังแบบไหน หรือ ข่าวสาร ควรส่งช่วงเวลานี้หรือไม่?
เหมาะกับคนกลุ่มนี้ใช่ไหม?
ฯลฯ การคำนึง คำนวณ
บนมาตรฐานธรรมแห่งสัตบุรุษ ๗ ข้อนั้น ย่อมเป็นไปไม่ได้
วันนี้ ความแตกแยกของบ้านเมือง
จึงระเบิดขึ้นได้ทุกขณะ
สื่อมวลชน ยิ่งมาก
การทะเลาะวิวาทยิ่งเพิ่มเป็นเงาตามตัว
การนำข่าวคนโน้นพูดอย่างนี้
คนนี้พูดอย่างนั้น เพียงแค่วิธีเดียว ก็ทำให้ความรัก ความสามัคคี พินาศลง
ภายในเวลา ไม่กี่ชั่วโมง
เพราะเหตุนี้ ในทุกวงการ
ทุกอาชีพ จึงไม่ควรอ้างประโยชน์ที่ทำให้กับสังคมแต่ถ่ายเดียว ควรระลึกถึง
พิษข้างเคียง จะได้ไม่หลงตัว หลงตน จนใครๆ ก็แตะไม่ได้
แตะคนอื่นมานาน
หากินกับความทุกข์คนอื่นตลอดเวลา ก็ควรใจกว้างบ้างที่จะเปิดใจ ให้คนอื่น
วิพากษ์ วิจารณ์ อย่างน้อย ก็ถือเป็นการไถ่บาปก็แล้วกัน
(เราคิดอะไร
ฉบับที่ ๑๕๓ เมษายน ๒๕๔๖)
|