หน้าแรก >[09] การสื่อสาร > การเผยแพร่ธรรมะ >เราคิดอะไร

ชีวิตนี้มีปัญหา ๒ ฉบับที่ ๑๕๔ -สมณะโพธิรักษ์-


(ต่อจากฉบับที่ ๑๕๓)
ถ้าแม้นชาวชนคนไทยที่นับถือศาสนาพุทธทั้งหลาย สามารถประพฤติปฏิบัติธรรมจนมี "สัมมาอาริยผล" กันพร้อมพรั่ง ในสังคม พ้นมิจฉา สังกัปปะ -พ้นมิจฉาวาจา -พ้นมิจฉากัมมันตะ -พ้นมิจฉาอาชีวะ ตามพระพุทธวจนะได้ เป็นส่วนมาก ในสังคมอย่างแท้จริงแล้ว "อาการที่ น่าเลื่อมใส" ของคนผู้มี "สัมมาอาริยผล" ย่อมจะปรากฏ เป็นที่ประจักษ์ สุดจะน่าชื่นชม กับสุขสันติภาพแน่แท้

แต่..เพราะชาวชนคนไทยที่นับถือ ศาสนาพุทธ รักศาสนาพุทธสุดเทิดทูน ทั้งหลายส่วนใหญ่ ไม่ได้ปฏิบัติ ประพฤติตน ตามศีล ตามธรรม ของพระพุทธเจ้าจริงเลย

ที่จริงแล้วควรจะมีปริมาณคนที่"สมาทานศีลแล้วก็ระมัดระวังประพฤติตน เพื่อให้เกิดมรรค เกิดผล ตามขอบเขตของศีล ที่ตนสมาทานนั้นๆ" ที่เรียกโดยศัพท์ว่า "สังวรศีล" หรือพูดง่ายๆก็คือ มีคน "ถือศีล" ยืนยัน ความเป็น พุทธศาสนิกชน กันมากพอ จนบอกได้ว่า นี่คือ หมู่ชนที่นับถือ พุทธศาสนากันจริง เพราะมีเครื่องแสดง ความเป็น "พุทธ" ขั้นต้นคือ "ศีล ๕" อันเป็นศีลพื้นฐาน ของศาสนาพุทธแท้ๆ

ยังไม่ต้องถึงขั้นสามารถเป็นผู้บรรลุมรรคผลตามศีลนั้นๆ(ศีลสัมปทา) อันเป็นแก่นสาร ของศาสนาดอก ในเมื่อ "ศีล ๕" อันเป็นศีลพื้นฐาน ของพุทธ ก็ยังไม่มีไม่เป็น แล้วจะเอาอะไร ให้คะแนนว่า เป็น "พุทธ" ก็คงได้แค่ "ฉันนับถือศาสนาพุทธ" กันเท่านั้นกระมัง! แล้วก็ได้ ประโยชน์ จากศาสนา เพียงอาศัยศาสนา ทำพิธีกรรม ที่เป็น "จารีต" ปรุงแต่งกัน ขึ้นมาหากิน ส่วนมาก ของจารีต ก็แสวงบุญ นอกขอบเขตพุทธ ไปแล้ว โดยไม่รู้สึกรู้สากัน

ดังนั้น ประชาชนคนไทย ๖๐ กว่าล้านคนที่ล้วนยืนยันว่าตนเป็นพุทธแท้ๆ มากกว่า ๙๐ % ก็ไม่เห็นจะมี "จรณะ" ที่ส่อแสดงได้ว่า เป็นพุทธ ศาสนิกชน เพราะแม้แค่ "สังวรศีล" ก็ยังไม่สามารถ มีพอจะนำ มาอ้างได้

ยิ่งถึงขั้น "มีศีล หรือ บรรลุศีล" (ศีลสัมปทา) ตรงตาม "จรณะ" ข้อที่ ๑ ใน "จรณะ ๑๕" อันเป็น "ความประพฤติสามัญ ของผู้จะได้ประโยชน์จาก ศาสนา" (จรณวันตุ) ซึ่งผู้เป็นพุทธแท้ๆ พึงมี ..เป็นเครื่องแสดง อย่างเห็น รูปธรรมเบื้องต้น ก็ยิ่งต้องพูดกันอีกมาก

เพราะทุกวันนี้ แม้จะสมาทานศีลกันบ้าง ก็ปฏิบัติอย่างไม่พ้น "ศีลัพพตุปาทาน" เพราะสมาทานศีล และ วัตร ด้วยอำนาจกิเลส หรือ ถือศีล ถือพรต เป็นธรรมเนียมปฏิบัติ ก็ทำตามจารีต หรือทำตามๆกันมา โดยเชื่อว่าขลัง จึงเป็นเหตุให้งมงาย

[มีต่อฉบับหน้า]

(เราคิดอะไร ฉบับที่ ๑๕๔ พฤษภาคม ๒๕๔๖)