การฟื้นฟูพระศาสนา
จากหายนะสู่วัฒนะ
- ส.ศิวรักษ์ -
* ปาฐกถา เนื่องในโอกาสครบ ๖ รอบนักษัตร พระครูพิพิธประชานาถ (หลวงพ่อนาน
สุทฺธสีโล)
วันเสาร์ที่ ๑๒ พฤษภาคม ๒๕๔๔ ณ ห้องจุมภฎ-พันธุ์ทิพย์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
(ต่อจากฉบับที่ ๑๕๓)
ประเด็นที่พึงพิจารณาคือ
ผู้ที่ยึดแนวทางของศีลบารมี ต้องถามตัวเองอยู่เสมอว่า เราลดความเห็นแก่ตัว
ลงไป ได้แค่ไหน
เราเปิดกว้างจริงแท้ได้แค่ไหน
แล้วเราย่อมประพฤติปฏิบัติได้ โดยความเปิดกว้าง ของเรา อย่าติดยึด
อะไรๆ อย่างแคบๆ
ถ้าศีลหมายถึงความเป็นปกติ เราต้องมุ่งที่ความยุติธรรมทางสังคมด้วยเสมอไป
อย่ามุ่งที่ศีล อันบริสุทธิ์ ของเรา ในขณะที่ สังคมของเราเต็มไปด้วย
คนอดอยากยากไร้ เต็มไปด้วยโสเภณีเด็ก ยาบ้า ยาม้า นักการเมือง อันฉ้อฉล
พ่อค้าและนาย ธนาคารที่ปล้นเงินของราษฎรไปโดยถูกกฎหมาย
ถ้าเราตีประเด็นนี้ได้ไม่ชัด การถือศีลตามรูปแบบดูจะนำไปสู่หายนะยิ่งกว่าวัฒนะ
ทั้งนี้รวมถึง พระที่ฉัน ไก่ซีพี โดยไม่ได้ยิน ไม่ได้เห็น และไม่สงสัยเลยว่า
ไก่นั้นๆ ถูกเลี้ยงมาอย่างเลวร้ายเพียงไร โดยมิไย ต้องเอ่ยถึง แมกโดนัลด์
และอาหารแดก ด่วนอื่นๆ และน้ำขวดทั้งหลาย ซึ่งไม่ผิดศีลข้อที่ ๕
ใช่ไหม เพราะไม่มี แอลกอฮอล์ แต่มอฟีน ในโคคาโคลา การขายเฮนรี่ แจกสันพร้อมๆ
กันไปกับขาย เป๊ปซี่โคล่า ผิดศีลข้อไหน บริษัทเนสคาเฟ เอานมไปขาย
ให้อัฟริกา แล้วฆ่าเด็กที่นั่นไป เท่าไรต่อเท่าไร แต่เราก็ ไม่เห็นว่า
ผิดศีลใช่ไหม ในการกิน กาแฟยี่ห้อนี้ ดังที่น้ำมันปตท. ทำลายป่า
ไปอย่างไร เราก็ไม่เห็นว่า ผิดศีลใช่ไหม แม้ จนนิตยสาร ชั้นดีอย่าง
ศิลปวัฒนธรรม ยังรับลงโฆษณา ให้บริษัทยูโนคัล และ ปตท.
ถึงเวลาแล้วละกระมัง ที่เราต้องเข้าใจในเรื่องศีลสำหรับสังคมเมือง
ที่มีความซับซ้อนซ่อนเงื่อน ทางโครงสร้าง อันอยุติธรรม และรุนแรง
หาไม่พุทธศาสนา ก็เป็นเพียงประเพณี และพิธีกรรม อันหมด ความสำคัญ
กับวิถีชีวิต อันประเสริฐ ไปเสียแล้วอย่าง น่าเสียดาย
๓) ขันติบารมี คือการที่ไม่มีปฏิกิริยาตอบโต้เหตุการณ์ หรือกรณีที่กวนใจ
ที่ก่อให้เกิดความรำคาญ หรือ ก่อให้เกิด ความ กลัว
ขันติมีสามขั้นตอน คือ (ก) อดกลั้น แม้อีกฝ่ายจะข่มขู่หรือทำร้าย
(ข) รับสภาพความยากแค้น หรือ การทรมาน โดยเจริญ ศาสนธรรมด้วยขันติบารมี
(ค) รับสภาพอย่างปราศจากความกลัว แม้สภาวะ ดังกล่าว อาจขยายไป ในทางเลวร้ายยิ่งๆ
ขึ้น แต่ก็มั่นในสัจธรรม ในข้อที่ว่า ธรรมะย่อมชนะอธรรมในที่สุด
* เป็นการเผชิญกับสภาวะทุกข์ที่มีคนหยิบยื่นให้ในชีวิตเรา เราต้องยอมรับว่ามีคนเกลียดเรา
มีคนที่ ทนเราไม่ได้ โดย พยายามเอาชนะเรา ให้ร้ายเรา แม้จนปล่อยข่าวลือ
หรือนินทาว่าร้าย ด้วยประการต่างๆ ถ้าเรา ไม่โต้ตอบ หากยอมรับ อย่างอดทน
อดกลั้น นั่นคือ เดินตามทางของขันติบารมี กล่าวคือ ไม่โกรธตอบ ไม่ด่าตอบ
ไม่ทำร้ายตอบ แต่ไม่ได้หมายความว่า อยู่เฉยๆ ขันติบารมีนั้น เหมือนกับเล่นยูโด
คือถ้าเรา ตั้งท่ามั่นไว้ ด้วยอุบาย อันแยบคาย ฝ่ายที่โจมตีเรา ด้วยความโกรธ
ความเกลียด ความเคียดแค้น หรือ ริษยาอาฆาต ย่อมแพ้ภัยตัวเอง กล่าวคือ
เราไม่เอาความเลวร้ายโต้ตอบ หากเอาความดีชนะ ความชั่ว หรือ โทสจริต
ของศัตรู จะทำลายตัวเขาเอง
* เมื่อเผชิญความทุกข์ยากที่ทนได้ยาก หากเจริญจิตสิกขาด้วยภาวนามัยปัญญา
เราน่าจะเกิด ความยินดี ที่ตามปกติเรา ไม่ค่อย มีเวลาภาวนา เขาจับเราไปขัง
ไปทรมาน ช่วยให้เรามีเวลา ภาวนามากขึ้น เราย่อม สว่างขึ้น ลดความเห็นแก่ตัวลง
เกิดความใจกว้างยิ่งๆ ขึ้น
* ช่วยให้เราเข้าใจว่าอะไรๆ หลายสิ่งหลายอย่าง ที่เราเข้าใจไม่ได้
เพราะมันซับซ้อนซ่อนเงื่อน กล่าวคือ อะไรๆ มักไม่เป็นไป ตามที่เราเห็น
ตามที่เราเข้าใจ มักไม่เป็นไปตาม ที่เราคาดหวัง เช่นเรานึกว่า นี่คือสถานีรถไฟ
เราไปรอรถ เท่าไรๆ ก็ไม่มา โดย อาจมีนกกระจอกเทศมาแทน แสดงว่า เราเข้าใจผิดไป
จึงอย่าเสียใจ อย่าโกรธ อย่าคับแค้นใจ หรือเมื่อเราเข้าไปเป็น รัฐมนตรี
แล้วนึกว่าจะทำอะไรๆ ก็ได้ แท้ที่จริง หาได้เป็นไป ดังที่เราคาดไม่
แม้จนกรรมการ มหาเถรสมาคม ก็เช่นกัน จึงควรที่จะฝึก ความเข้าใจ ให้ซึ้ง
ในสภาวะ สัตย์ของ สมมติบัญญัติ
ขันติบารมีช่วยให้เกิดนฤมิตกรรมในทางสร้างสรรค์ เพราะขันติช่วยให้เชื่อมั่นในธรรม
ไม่ใช่เชื่อมั่น ในสมมติ บัญญัติ เชื่อมั่นในกรรม ในผลของกรรม เมื่อถึงกาลเทศะอันควร
สิ่งต่างๆ ย่อมเป็นไปตามกรรม ตามธรรมชาติ อย่างไม่มีใคร อาจขวางกั้นได้
จะไปรีบร้อน ขัดขืนธรรมชาติไปทำไมกัน
ผลของขันติบารมี คือการมีชีวิตอย่างไม่ตั้งความหวัง อย่างไม่กลัว
ปัจจุบันเป็นเวลา อันประเสริฐสุด เมื่อไม่หวังแล้ว อะไรๆ เกิดขึ้น
ก็ไม่ดีใจ ไม่เสียใจ เราอยู่ในโลก อย่างสัมพันธ์กับโลก ไม่ต้องการ
ให้โลกหันเหียน มาตามอัตตาของเรา หรือจำต้อง ทำสงครามกับโลก
๔) วิริยบารมี ความเพียรยิ่งแก่กล้าเท่าไร ยิ่งช่วยให้บารมีแข็งกล้าขึ้นเท่านั้น
หาไม่เรามักหาโอกาส ละความเพียร หรือมี มารมาชะลอความเพียร ให้กลายเป็นเกียจคร้าน
หรือเฉยเมยไป ในการปฏิบัติธรรม
วิริยะนั้น ท่านบอกว่าไม่ต้องมีสันโดษ มุ่งมั่นได้เต็มที่ แต่นี่ต่างไปจากพวกบ้างาน
ที่เร่งทำงาน ที่ต้องการ ผลงาน ในการแข่ง ขันต่างๆ ซึ่งเป็นสมัยนิยม
เพราะนั่นทำลายร่างกาย จิตใจและบริษัทบริวาร
ทางธิเบตถือว่าความเกียจคร้าน คือทำอะไรให้วุ่นวาย
ยุ่งเหยิงไปเรื่อยๆ โดยมีกิจกรรมมาก หากปราศจาก ความหมาย ในทางด้านการลด
ความเห็นแก่ตัว หากไปมัวเมา ในผลได้ต่างๆ ซึ่งมักเน้นไป ในทางสร้าง
อัตตา ให้ยิ่งใหญ่ ขึ้น และมักเป็นไปในทาง แก่งแย่งแข่งดีกัน ทำให้คนที่อ้างว่าขยัน
มัวแต่วิ่งวุ่น จนหา เวลาว่าง ไม่ได้ ตั้งแต่เช้าจนค่ำ ทำงาน อย่างแทบไม่หยุดหย่อน
ไหนจะประชุม ไหนจะสั่งงาน ไหนจะลงนาม ในเอกสารต่างๆ ไหนจะรับแขก
ฯลฯ โดยที่แต่ละกิจ กรรมไม่มีความสำรวม ไม่มีความสงบ ไม่มีการ พักผ่อน
ทางวิญญาณ และไม่ได้มุ่งผล ทางด้านลดละ หากมีแต่คิดจะได้ จะกอบโกย
จะให้ได้ ผลสำเร็จ ในทางวัตถุ หรือ ในทางลาภยศสุข สรรเสริญ อย่างจอมปลอม
ที่พุทธประเพณีทางธิเบตซึ่งมีชื่อว่า dzokchen ถือว่ากิจกรรมอันวุ่นวายต่างๆ
ในทางโลก คือ ความเกียจคร้านนั้น ก็เพราะ มันตั้งอยู่บนอวิชชา คนที่ประกอบกิจกรรมนั้นๆ
ทำตามนิสัยสันดาน หรือ ความเคยชิน อย่างปราศจาก การวิพากษ์วิจารณ์
กิจการงานของตน ด้วยสติปัญญา หรือ ด้วยโยนิโส มนสิการ ที่บ่งว่า
ทั้งหมดนี้ คือความเกียจคร้าน หมายถึง เกียจคร้านที่จะ วิเคราะห์เจาะลึก
ลงไปยัง จิตใต้สำนึก ของตนว่า กิจการงานนั้นๆ ได้ผลในทางจิตวิญญาณ
ของตนบ้างไหม ช่วยให้สงบลง ให้เบาบาง และปล่อยวาง บ้างไหม ช่วยให้เพื่อนร่วมงาน
ประสานเข้ากันอย่างเป็น อันหนึ่งอันเดียวไหม หรือเพิ่ม ความเครียด
ยิ่งๆ ขึ้น ถ้ากล้าท้าทาย ความเกียจคร้าน ทางจิตวิญญาณ จนเกิด การวิพากษ์
วิจารณ์ การงานของตน อย่างเจาะลึก ลงไป ถึงขนาดกล้า เปลี่ยนวิถีชีวิต
นี่จึงจะเปลี่ยนทิศทาง จากกิจกรรม อันก่อให้เกิดทุกข์ มาเดินตามหนทาง
อันเป็นสุข วิถีได้อย่าง เรียบง่าย อย่างไม่ต้องเร่งร้อน ให้กระวน
กระวายใจ โดยลดอะไรๆ ในทางรูปแบบ ของกิจกรรม ลงไปได้มาก
เมื่อเป็นเช่นนี้ ทุกสถานการณ์จะเป็นไปตามพลังของธรรมชาติ ซึ่งมีสติปัญญาเป็นตัวนำ
มีจิตสิกขา เป็นตัวกำหนด ให้ทุกๆ กิจกรรมเป็นไปเพื่อความเป็นปกติ
นั่นก็คือ ศีลอย่างถูกต้อง ทั้งทางอรรถ และ พยัญชนะ นั่นเอง
ท่านตรุงป้า รินโปเชกล่าวว่า วิริยะ คือความเพียรชอบ เพียรไปตามธรรมฉันทะ
ยิ่งทำงานหนัก ก็ยิ่งเบิกบาน เพราะเรามี ความสุขกับนฤมิตกรรมที่เกิดขึ้นด้วยการลดความเห็นแก่ตัว
วิถีชีวิตของเรา จึงเต็มไปด้วย การให้ (ทาน) ซึ่งเป็นไปอย่างปกติ
โดยไม่เอาเปรียบตัวเราและผู้อื่น หากเกื้อกูลให้มีความยุติธรรม ในสังคมอย่างสันติ
(ศีล) โดยมีขันติ เป็นตัวเกื้อหนุน ให้ทุกๆ ขณะของความเพียรเปี่ยมไปด้วยปิติสุข
โดยเราจักไม่ท้อแท้ ไม่เห็นว่า กรณีใดๆ ไม่น่าสนใจ หรืออุปสรรคใดๆ
ใหญ่โตเกินไป ทั้งนี้เพราะใจเรา เปิดกว้าง อย่างลด ความเห็นแก่ตัว
ย่อมพร้อม ที่จะเพียรพยายาม ทำการทุกๆ อย่างจนตราบเท่า ถึงพุทธภูมิ
๕) สมาธิหรือญาณบารมี ซึ่งเริ่มด้วยสมถะและวิปัสสนาอย่างของเรา
คือการเจริญอานาปานสติ จนเกิด ความสงบ เป็นหนึ่งเดียว เพื่อให้สัมมาสติ
กับสัมมาสมาธิ เป็นหนึ่งเดียวกัน โดยจะใช้อุบายวิธีอื่นๆ นอกเหนือจาก
การพิจารณากองลม ก็ได้เช่น กสิณหรือนัยอื่นๆ อันท่านพระพุทธโฆษาจารย์
บรรยายไว้ อย่างละเอียดใน วิสุทธิมรรค หากทางมหายาน ถือว่าวิปัสสนา
ภาวนา ควรเข้าสู่สุญตา
ภาวนาวิธีทางมหายานนั้น ประการแรกเพื่อประโยชน์ของผู้ปฏิบัติธรรม
จะได้เกิดความเบิกบาน ความมั่นใจ อย่างปราศจาก ความสงสัย ในพุทธภูมิ
เมื่อเกิดสัมมาทิฐิเช่นนี้แล้ว พระโยคาวจร ย่อมอุทิศตน เพื่อประโยชน์สุข
ของอื่นและสัตว์อื่น ดังจะสังเกตได้ว่า เมื่อจิตยังไม่เป็น หนึ่งเดียว
ย่อมเร่ร่อน วิตกกังวล หรือฟุ้งซ่านไปด้วยประการต่างๆ รวมทั้งเกิดความลังเล
สงสัยในเรื่องโลกนี้ โลกหน้า ในเรื่องบาป บุญคุณโทษ แม้จนไม่แน่ใจในเรื่องของกรรมและวิบาก
ซึ่งมักเป็นไปกัน คนสมัยใหม่ โดยมาก แม้จนพุทธศาสนิก ที่ไม่ได้เจริญจิตสิกขา
จิตใจย่อมถูกรบกวนได้ง่าย ยากที่จะรอดพ้นไปได้ จากอคติทั้งสี่ (ลำเอียง
เพราะรัก เพราะเกลียดเพราะกลัว หรือเพราะหลง )หรือนิวรณ์ทั้งห้า
(๑.พอใจในกาม ๒.ความขัดเคือง แค้นใจ หรือ คิดร้าย ๓.ความหดหู่ และเซื่องซึม
๔.ความฟุ้งซ่าน ร้อนใจ กระวนกระวาย กลุ้มกังวล ๕.ความลังเลสงสัย)
อ่านต่อฉบับหน้า
(เราคิดอะไร
ฉบับที่ ๑๕๔ พฤษภาคม ๒๕๔๖)
|