>เราคิดอะไร


มานพ ประภาษานนท์ นักกายภาพบำบัด

ไม่บ่อยนักที่เราจะพบผู้เข้าถึงวิชาชีพ จนสามารถนำเสนอวิธีปฏิบัติ
ตลอดจนถ่ายทอดความลุ่มลึก ผ่านงานเขียนถึงมือผู้บริโภค
เพื่อย้ำยืนยันว่า สุขภาพคือชีวิต และชีวิตที่ดีนั้น "เราต้องทำเอง"

* * * แนะนำมานพ ประภาษานนท์ ให้รู้จัก
เกิด ๗ ตุลาคม ๒๔๙๘ ชาวกรุงเทพฯ เติบโตในครอบครัวคนชั้นกลาง คุณพ่อเป็นนักเขียน (เศก ดุสิต) คุณแม่เป็น แม่บ้าน และมีบทบาทเลี้ยงดูลูกอย่างอบอุ่นมีความรัก พี่น้องผู้ชาย ๔ คน เป็นลูกคนที่ ๒ จบปริญญาตรีวิทยาศาสตร์ บัณฑิต (กายภาพ-บำบัด) ที่มหิดล ปี ๒๑ ทำงานที่โรงพยาบาล อุตรดิตถ์อยู่ ๔ ปี จากนั้นย้ายมาที่โรงพยาบาล สรรพ สิทธิประสงค์ อุบลราชธานี ตั้งแต่ปี ๒๕ และมีครอบครัวที่นี่ ภรรยาเป็นอาจารย์พยาบาล มีบุตรชาย ๑ คน

* * * สิ่งที่ได้จากการมีพ่อเป็นนักเขียน
คือการอ่าน ที่บ้านจะมีหนังสือเยอะ อ่านตั้งแต่เด็ก ทั้งการ์ตูน นิยาย ฯลฯ เป็นคนชอบ ชั่งชอบมอง ความแตกต่าง มีสิ่งนี้ แล้วจะต้องมีอีกสิ่งไหม เช่น ถ้าใครบอกดี ผมต้องหาสิ่งไม่ดี คิด ๒ ด้าน มีบวก ก็ต้องมีลบนะ ถ้านี่เป็นลบต้องหาบวก ให้พบ ชอบคิด คิดอย่างนี้มาตั้งแต่เด็ก เวลาเจออะไร นั่งรถเมล์ ผ่านก็คิด บางทีไม่มีเรื่อง ก็สร้างเรื่องขึ้นมาคิด ถ้าเหตุ การณ์อย่างนี้เกิดขึ้นกับเราจะทำอย่างไร หรือ เหตุการณ์อย่างนี้ เกิดเพราะอะไรบ้าง คิดไปเรื่อย สนุกดี

* * * เรียนรู้สู่มหาวิทยาลัยชีวิต
ผมเข้ามหาวิทยาลัยช่วง๑๔ ต.ค. ช่วงนั้น กระแสแอคติวิสเยอะ ผมเป็นนักกิจกรรม ระหว่างเรียน ตอนเกิดเหตุการณ์ ๑๔ ตุลา รอดมาได้ เพราะกลับบ้านก่อนเขาตีกัน แต่ช่วง ๖ ตุลา ๑๙ ผมอยู่กลางวง เพราะตอนนั้น ผมเป็นนายกสโมสร กายภาพบำบัด คืนนั้น เราประชุมกันที่ มหาวิทยาลัยมหิดล พอประชุมเสร็จ ผมจึงไปธรรมศาสตร์ ตอนเกิดยิงกัน ผมยังคิดว่า คงเป็นการเข้าใจผิด ยิงกันตอนเช้ามืด ผมโดนจับ อยู่ในคุก ๓ วัน เพื่อนๆ ชวนเข้าป่า แต่ตอนนั้น ผมเริ่มมี แนวคิดทางธรรมะแล้ว คิดว่า นั่นไม่ใช่ ทางแก้ปัญหา ควรแก้ที่คนมากกว่า

ตอนเรียนปี ๑ พี่ชายชวนเข้าวัด ไปนั่งสมาธิ ศึกษาธรรมะ ซึ่งตอนแรก ผมไม่ค่อยสนใจ เพราะวัดตอนนั้น ก็เหมือนตอนนี้ มีสิ่งที่เราไม่ชอบ โดยเฉพาะ มีพิธีกรรมต่างๆ ซึ่งเราคิดว่า มันไม่ใช่แก่นของศาสนา แต่ก็ได้ไปฝึกอยู่ ๑๐ วัน กลับมาก็ได้ แนวคิดใหม่ วัดที่ไปนั้น ต่อมาก็คือ วัดธรรมกาย ในปัจจุบัน นี่แหละ ตอนนั้น ท่านทัตตชีโวยังหนุ่ม ท่านเป็นผู้เริ่มก่อตั้ง ท่านสอนเป็นแนววิทยาศาสตร์ ทำให้เราเข้าใจ และคิดว่า ธรรมะก็ไม่เลว ทำให้ความคิดเดิมๆ เปลี่ยนไป และในช่วง นั้น ปี ๑๖-๑๗ พระชาวอโศก เริ่มมีบทบาท เป็นที่รู้จักมากขึ้น ผมพบแนวทางชาวอโศก จากการอ่านหนังสือ ก็คิดว่า อย่างนี้ใช่เลย และ ที่วิจารณ์ สังคมแรงๆ นั่นก็ใช่เลย เพราะวิจารณ์ ในสิ่งที่เราเคยวิจารณ์ เหมือนกัน แต่จุดสะดุดใน ตอนนั้น ก็ไม่ได้มีอะไรมากมาย ผมเคยพบท่านโพธิรักษ์ ครั้งเดียว ที่จุฬาฯ

ถัดจากนั้นผมก็หันมาสนใจเรื่องทางจิต ซึ่งเคยมีความสนใจมาตั้งแต่เด็ก เริ่มทัวร์วัดต่างๆ โดยพี่ชาย พาไปสำนักนั้น สำนักนี้ ไปหลายสำนัก แต่ไม่ได้อะไร อย่างที่เขาอยากให้เห็น ดวงธรรมดวงแก้ว ก็ไม่เคยเห็น นั่งสมาธิ ก็ไม่ค่อยนิ่ง แต่ สิ่งที่ได้คือรู้ว่า จิตเราไวมาก เคยคิดว่า คุมมันได้ การคุมจิต คือการคุมอารมณ์ได้ เราคิดว่า เป็นคนอารมณ์เย็น แล้วคงคุมจิตได้ แต่ก็ทำไม่ได้ นั่นคือ จุดหักเห ที่ทำให้ผม เริ่มหันกลับมา มองตัวเองมากขึ้น เรียนรู้เรื่องอารมณ์มากขึ้น

* * * สาขาวิชากายภาพบำบัด
ผมเลือกเรียนตอนแรกไม่รู้ว่าอะไรหรอก แต่ผมชอบสายสุขภาพ จึงเลือกทั้งแพทย์ และ กายภาพบำบัด และ ได้เรียน กายภาพบำบัด ตอนเรียน ต้องผ่านวัดโพธิ์ทุกวัน เวลาจะข้ามไปเรียน ที่ศิริราช ทำให้ผมรู้สึก อยากเรียน การนวดไทยมาก เพราะกายภาพบำบัด เกี่ยวกับการนวดด้วย ผมสนใจ อยากรู้ว่า การนวดไทย กับนวดฝรั่ง ต่างกันอย่างไร แต่ก็ ไม่ได้ไปเรียน พอเรียนกายภาพบำบัด ผมเริ่มเห็นปัญหาบางอย่าง แต่มาเห็นชัดๆ ตอนเรียนจบแล้ว และมาทำงานว่า คนไข้ที่เรารักษา เขาไม่หายขาด และบางเรื่อง เขาสามารถ ช่วยตัวเองได้ แต่เขาก็ไม่ได้ทำ นี่เป็นปัญหา ระดับชาติ ผมคิดว่า มีการแพทย์แบบอื่น จะช่วยได้ไหม โดยเฉพาะ ในวิถีของคนไทย มันน่าจะมีอะไรบางอย่าง เสริมการแพทย์ที่เรา เรียนมาด้วย

* * * การแพทย์ทางเลือก
ในปี ๒๕๔๐ ทางโรงพยาบาลสรรพสิทธิ-ประสงค์ได้ตั้งทีมการแพทย์ทางเลือก ผมมีโอกาส จับพลัดจับผลู เข้ามาช่วย ตรงนี้ประจวบเหมาะกับผม ได้ไปศึกษาเพิ่มเติม ด้านการแพทย์แผนไทยมา ทำให้มีพื้นฐาน พอได้มาทำงานกับกลุ่ม แพทย์ทางเลือก ซึ่งเน้นส่งเสริมสุขภาพ เป็นหลัก ทำให้ผมสนใจ อยากศึกษา เพิ่มขึ้น

* * * การแพทย์แผนไทย
เป็นการมองจากหลายๆ ด้าน เช่น มองอาการ การหาสาเหตุของโรคมาจากปัจจัยหลายอย่าง เกี่ยวข้องกัน ซึ่งเราเรียน มาทางวิทยาศาสตร์ ไม่เคยมองอย่างนี้ เช่น ไม่คิดว่า ภูมิประเทศ อากาศ หรือสิ่งแวดล้อมต่างๆ ในธรรมชาติรอบ ๆ ตัวเราจะเกี่ยวข้องกัน แต่การแพทย์แผนไทยจะมองตั้งแต่ตัวบุคคล ที่อยู่อาศัย และ สิ่งแวดล้อมต่างๆ เกี่ยวข้องกันรวม เป็น Pack ซึ่งสอดคล้องกับหลักการแพทย์จีน ส่วนเรื่องการสะกดจิต ผมสนใจเรื่องพลังจิตอยู่แล้ว จากการเรียนรู้ ด้วยตัวเองก็เห็นว่าน่าจะใช้รวมกันได้ โดยนำมาผสมผสาน ลองใช้กันคนไข้ ผมตั้งคลินิกขึ้น ๒ คลินิก ในโรงพยาบาล เป็น Project ของผมเอง คือ คลินิกปรับสมดุล และคลินิก สมาธิจิตบำบัด ที่รักษาโรคแบบองค์รวม ตอนนั้น ผมเรียนมา หลายอย่าง ทั้งนวดตัว นวดเท้า ผมลองทำโปรแกรมนี้ อยู่ประมาณ ๑ ปี แต่ไม่ได้รับความสนใจเท่าไร ตอนนี้ก็เลิกไป แล้ว

* * * สุขภาพคือชีวิต

พอพูดถึงสุขภาพ คนมักนึกถึงโรคภัยไข้เจ็บ ซึ่งไม่ใช่ ผมมองสุขภาพว่าเป็นชีวิตทั้งหมด เจ็บไข้ที่ไหนสักแห่ง ชีวิตเจ็บ ไม่ใช่เข่าปวด แต่คือชีวิตปวด เพราะฉะนั้นการจะแก้ไขชีวิตใหม่ต้องดูแบบองค์รวม

* * * สิ่งสำคัญในเรื่องสุขภาพ
คือการช่วยตัวเอง แต่จะทำอย่างไรให้เขารู้ เพราะการจะช่วยตัวเองได้ต้องมีความรู้ก่อน แต่ความรู้ตรงนี้ มันยังไม่เป็น Pack ยังกระจัด กระจายพอสมควร แม้ว่ากระแสของการส่งเสริมสุขภาพ จะมาแล้วก็ตาม เช่น ส่งเสริม เรื่องการออก กำลังกาย เป็นต้น แต่ก็ยังเหมือนกับมาทีละชิ้น ไม่เป็นองค์รวม ซึ่งหมายความว่า ไม่ใช่เพียง แต่เอาสิ่งใดสิ่งหนึ่ง คนไข้ สมัยนี้อยากได้อะไร ที่เป็นสูตรสำเร็จเร็วๆ มีให้ฉันไหม โดยที่ไม่คิดว่า ฉันเองต้องทำอะไร เพื่อเป็นการสร้างสุขภาพ ยังเป็นความคิดเก่า เช่นคำกล่าวที่ว่า มีอะไรมาหาหมอนะครับ หรือ หาหมอตรวจสุขภาพ ปีละ ๒ ครั้ง ยังมีความคิดฝังใจ อยู่อย่างนี้ ยังขอความช่วยเหลือ จากหมอ จากโรงพยาบาลอยู่ ซึ่งแบบนี้ ไม่ใช่สุขภาพแล้ว ถ้าเขาเข้าใจตรงนี้ เขาจะรู้ ว่าสุขภาพ เขาต้องเป็น คนกำหนด เขาต้องเป็นคนทำ และเขาต้องใฝ่หา ผมอยากให้ประชาชน รู้ตรงนี้ว่า เป็นองค์รวม แต่ประเด็น อยู่ที่คนให้ เป็นใคร โดยสายทั่วไป คนที่ ๑ คือสังคมเป็นผู้ให้ ก็แล้วแต่ใครจะไปเจอ หรืออาจไม่เจอ จึงไม่เป็นระบบ ที่จะเอื้อไปถึง ประชาชนจริงๆ ๒ หน่วยงานของรัฐ ที่มีหน้าที่ ให้บริการตรงนี้อยู่แล้ว กระทรวงสาธารณสุข เห็นความสำคัญ ของการสนับสนุนสุขภาพ แบบใหม่นี้ไหม ที่จริงก็เริ่มเห็นแล้ว เหมือนกัน แต่ยังไม่ค่อยเต็มที่ ก็นับว่า ตามกระแสพอสมควร สมมุติเราเริ่มต้น ที่จะเอา ๘ อ. คือ ๑. อิทธิบาท ๒. อาหาร ๓. อากาศ ๓. อารมณ์ ๕. ออกกำลังกาย ๖. เอนกาย ๗. เอาพิษออก ๘. อิริยาบถ เป็นมาตรฐาน ทุกโรงพยาบาล ต้องทำตามแนวนี้ ขาด อ ตัวใดตัวหนึ่ง ไม่ได้ ระดับชุมชน คุณก็เอา ๘ อ. ไปทำเหมือนกัน ทำตามความเหมาะสม ตามข้อจำกัด ที่มีอยู่ ๓. สื่อ ก็สามารถดึงเรื่องนี้ ออกมาขยาย ให้ประชาชน ศึกษาดูว่า สังคมตอนนี้ สุขภาพคืออะไร และให้เรียนรู้ตัวนี้ จากสังคมก่อน ประชาชนก็จะ มองชัดว่า ไม่ใช่ อ.ตัวเดียว ที่จะทำให้สุขภาพดีขึ้นได้ และก็หันกลับมองตัวเขาว่า มี ๘ อ. ครบไหม ขาดตัวไหน ก็เสริมตัวนั้น นี่เราเพียงฉายภาพ ให้ประชาชนเห็น ๘ อ. เป็น Pack

* * * อ.ตัวที่ขาดแคลนในสังคม
คือ อ. อิทธิบาทซึ่งเป็นตัวสำคัญที่สุด และทำยากที่สุด ถัดมาเป็นเรื่องอารมณ์ก็ยากแล้ว แต่คนยังยอมรับ ได้ง่ายว่า เรื่องอารมณ์เกี่ยวกับโรค โดยเฉพาะ โรคกระเพาะ ปัจจุบันหมอแนะนำคนไข้ อย่าเครียดนะ จะเป็นมะเร็ง แต่จะให้หายเครียด ทำอย่างไร ต้องเป็นเรื่องของธรรมะแล้ว คำว่าอิทธิบาท ผมหมายถึง ธรรมะทั้งหมด คือ การละกิเลส โลภ โกรธ หลง เพราะผมจะโยงว่า อุปสรรคของจิตไม่ดี คือ คุณเครียด ทำไมคุณเครียด ก็มาจากความโลภ โกรธ หลง พอเครียด ฮอร์โมนกลุ่ม อะดรีนาลีนหลั่ง ร่างกายคุณ ก็แย่แล้ว นี่คือการเชื่อมโยง จากจิตถึงกาย ดังนั้น ต่อให้คุณกินอาหารอย่างดี อุตส่าห์ไปออกกำลังกาย แต่อารมณ์คุณเครียด ก็หมดเลย ชีวิตจะมีความสุขได้อย่างไร เพราะสุขภาพในความหมายของผม คือ ชีวิต

* * * อ. อิริยาบถ คือตัวเหตุแห่งปัญหาที่แก้ไม่ยาก
ที่แก้ไม่ยากเพราะมันเกี่ยวข้องกับโครงสร้างของร่างกาย ถ้าผิดปรกติบิดเบี้ยว หรือคดไป จะทำให้ ระบบต่างๆ ในร่างกาย ทำงานไม่ปกติ แต่เนื่องจาก ไม่เห็นผลทันตารวดเร็ว คนส่วนใหญ่ จึงละเลย แต่เมื่อเป็นอิริยาบถ ที่ผิดซ้ำซาก ความผิดปกติของระบบ ก็จะค่อยๆ เกิดทีละน้อย สะสมมากไปเรื่อยๆ ยกตัวอย่าง กระดูกสันหลัง เกิดคดขึ้นมา ก็จะไปขัดขวาง การทำงานของเส้นประสาท เส้นเลือด ทีนี้ ถ้าเส้นประสาท หรือเส้นเลือด ไปเลี้ยงอวัยวะส่วนไหน อวัยวะส่วนนั้น ก็จะได้รับการบำรุงที่ไม่ดี พอนานๆ ไป มันก็จะเสื่อม เร็วกว่าปกติ ซึ่งใช้เวลานานเป็นปีๆ บางครั้ง อาจเป็น ๑๐ ปีก็ได้ พอมันเสื่อมได้ที่ ก็จะปรากฏ ให้เราเห็น โดยเราก็ไม่รู้ว่า มาจากสาเหตุอะไร แต่ที่แน่ๆ คือส่วนหนึ่ง มาจากการใช้ท่าทางที่ ไม่ดี หรือมาจาก โครงสร้าง ที่ไม่ดีก่อน และโครงสร้างไม่ดี ก็มาจากการใช้ อิริยาบถไม่ถูกต้อง เพราะฉะนั้น เมื่อเรารู้ว่า ตัวโครงสร้าง เป็นเรื่องสำคัญ เราต้องพยายามจัดโครงสร้าง ให้กลับมาสู่สภาพ ที่ดีที่สุด เท่าที่จะดีได้ เช่น ถ้าเราชอบ อ่านหนังสือ โดยทำคอเอียงๆ พอคอเอียง กล้ามเนื้อทั้งสองข้าง ก็ทำงานไม่เท่ากัน กล้ามเนื้อข้างหนึ่ง จะหด ขณะที่อีกข้าง จะยืดยาวออกไป ผิดปกติทั้งสองข้าง เมื่อทำงานไม่เท่ากัน กล้ามเนื้อคอ ทั้งสองข้าง จะเมื่อย ปวด และจะเป็น อย่างนี้เรื้อรัง เพราะต้นเหตุคอเอียงยังอยู่ และมัน จะไม่ใช่ คอเอียงอย่างเดียว แต่จะมีการคดต่อถึงสันหลัง ลงถึงเอว มันจะลามต่อไป การลงน้ำหนัก ของร่างกาย ก็จะเพี้ยนไปด้วย ทำให้ข้อ ที่เคยรับน้ำหนักเท่ากัน เกิดการใช้ไม่เท่ากัน มันก็เสื่อมเร็ว เป็นโรคปวดข้อ อะไรไปได้เรื่อยๆที่เห็นชัดๆ คืออาการปวดกล้ามเนื้อ ปวดหลัง ปวดไหล่ ปวดคอ อันนี้ ชัดมาก ทุกคนยอมรับได้ แต่ที่พูดนี้ หมายถึงอวัยวะภายในด้วย เช่น โรคตับ โรคไต โรคปอด ก็เกี่ยวกับ ท่าทางด้วย ผมจึงว่า สำคัญที่เรา จะต้องปรับท่าทางให้ดี เป็นการป้องกัน เพราะเรามองออกแล้วว่า ถ้าปล่อยอย่างนี้ต่อไป ต้องเกิด โรคภัยไข้เจ็บ ในอนาคตแน่ เราจึงต้องตัดตอนตรงนี้ หรือใครเป็นแล้ว คดไปแล้ว ก็สามารถที่จะปรับแต่ง ให้มันกลับเข้าที่ มากที่สุด เท่าที่เป็นได้ พอกระดูกเริ่มกลับ เข้าที่เดิมได้ ระบบเลือด ระบบประสาทอะไรต่างๆ ก็จะทำงานได้มากขึ้น เต็มประสิทธิภาพ ของมันมากขึ้น ดังนั้น วิธีการควรดูแล ทำกันตั้งแต่เล็ก ให้มีแนวกระดูกที่ดี มีบุคลิกที่ดี

* * * มีความฝันอยากเห็นพุทธศาสนามีบทบาทช่วยแก้ปัญหาสุขภาพ
อยากให้พระทั้งหมดปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ เอาเนื้อของโลกุตรธรรม มาสอนให้คน ลดความต้องการลง เพราะปัญหา ความเครียด ในสังคมตอนนี้ คือ คนมีความต้องการสูง และ กระแสวัฒนธรรมทุนนิยม ก็ช่วยส่งเสริม ให้คนมีความต้องการสูง ขึ้นเรื่อยๆ พระคือผู้ที่จะช่วย ถ่วงดุลสังคม ให้ลดละ ความอยาก ซึ่งถ้าทำได้ เขาก็จะเครียดน้อยลง นี้คือ หัวใจซึ่งจะทำ ให้คนมีความสุขแบบโลกุตระ อันคือ ความสุขสงบ อย่างแท้จริง ไม่ใช่แค่อยู่ในสังคม อย่างมีความสุขเท่านั้น

* * * ฝากความถึง สธ.
อยากให้กระทรวงสาธารณสุข ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้จริงจัง และพัฒนาให้มีหลักเกณฑ์ หรือมีมาตรฐาน ขององค์รวม ให้ชัดเจน เพราะองค์รวมตอนนี้ คิดกันคนละอย่าง ควรจะมาร่วมกันคิด องค์รวมจะเอาแค่ไหน พอได้แล้ว ซึ่งตรงนี้ กระทรวงจะทำได้ อยากให้กลั่นกรอง เรื่องสุขภาพองค์รวม ออกมาให้เร็ว และ ขยายออกไป ตามที่มีอำนาจจัดการ

* * * ฝากถึงประชาชน
ให้เลิกคิดพึ่งคนอื่นได้แล้ว โดยเฉพาะการพึ่งหมอ พึ่งโรงพยาบาล เพราะสุขภาพคือคุณ เป็นหน้าที่ของคุณ คุณต้อง ใฝ่หาความรู้ ช่วยตัวเอง ต้องทำเอง เพื่อไม่ให้เจ็บป่วย และมีสุขภาพที่ดี

* * * พูดถึงตัวเอง
คิดว่ามีทุนเก่ามาส่วนหนึ่ง และเป็นคนดีระดับหนึ่ง แต่เมื่อศึกษาเรียนรู้ศาสนา เห็นช่องทางว่า เราต้องทำ ที่ตัวเอง ทุก อย่างแก้ไขที่ตัวเอง ไม่ต้องไปเปลี่ยนคนอื่น ไม่ต้องไปเปลี่ยนสิ่งแวดล้อม เปลี่ยนตัวเราก่อน นี่คือ สิ่งที่คิดอยู่เสมอ ถ้าเราทุกข์ ต้องจัดการตัวเองก่อน สิ่งอื่นเป็นอย่างนั้น ต้องเป็นไปอย่างนั้น ผมก็ยัง มีความทุกข์ อยู่บ่อยๆ ทุกข์แล้วก็พยายามคิดแบบนี้ และปรับเปลี่ยน... เขียนหนังสือ หลายเล่ม มีแรงบันดาลใจ อยากจะเขียน อยากจะเผยแพร่ ถ้าไม่มี ก็ไม่อยากเขียน เขียนเรื่อง กายภาพบำบัด หลังๆ เขียนเรื่อง สุขภาพองค์รวม แนวหลักคือ ให้ประชาชนเรียนรู้ มีความรู้พื้นฐาน ที่จะพึ่งตัวเองได้ ปัจจุบัน ชีวิตยังคง มีความสุข กับการทำงาน ทั้งงานกายภาพบำบัด และ การแพทย์ทางเลือกอื่นๆ รวมทั้ง เป็นวิทยากร ด้านส่งเสริมสุขภาพ ของโรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ จังหวัดอุบลราชธานี และ มีความสุขกับ ครอบครัวที่อบอุ่น

* * * ผลงานเขียน
๑. คุยเฟื่องเรื่องกายภาพบำบัด
๒. รู้กันรู้แก้ด้วยกายภาพบำบัด
๓. เสริมสง่าด้วยท่าทาง
๔. กายภาพบำบัดเพื่อสุขภาพ
๕. ยืดเส้นสาย คลายสารพัดโรค เล่ม ๑,๒
๖. ไม่ยากถ้าอยากมีสุขภาพดี
๗. พลังจักรวาลรักษาโรค
๘. พลังธรรมชาติเสริมสร้างสุขภาพ
๙. สุขภาพดีด้วยวิถีธรรมชาติ
๑๐. ฝังเข็ม
๑๑. อนามัยวัยรุ่น
๑๒. ดำน้ำแสนสนุก
๑๓. เราอยู่ร่วมกันได้
๑๔. เรื่องไม่เล็กของคนมีรัก

* * * งานแปล
๑. โยคะสำหรับผู้เริ่มต้น
๒. ฝ-กกายสู่ความสง่างาม
๓. ลดไขมันให้ได้ผลอย่างเร็ว
๔. นวดแผนโบราณ
๕. แปะก๊วย


การฝึกจิต

ร่างกายและจิตที่ดีพร้อมทั้งสองอย่าง จะช่วยให้มีสุขภาพดี เมื่อส่วนใดบกพร่อง ย่อมกระทบกระเทือน อีกส่วนเสมอ การฝึกจิตที่ดีต้องเริ่มจาก "มองตน"

มองดูพฤติกรรมที่ผ่านๆ มา
มองวิธีการใช้ชีวิตอย่างเป็นจริง
พิจารณาดูสิ่งที่ผ่านมานั้น ชีวิตเราเป็นอย่างไร
มีตรงไหนต้องปรับปรุงแก้ไข
มีตรงไหนเป็นจุดเด่น จุดดีที่ควรรักษาไว้
ชีวิตที่ผ่านมาได้ทำอะไรเป็นประโยชน์หรือเป็นโทษ
พิจารณาตัวเองในทุกเรื่องเพื่อรู้จักตัวเอง
มีอะไรที่จะพัฒนาได้ อะไรที่เป็นข้อจำกัดไม่อาจเปลี่ยนแปลงได้

เรารู้จักและต้องยอมรับตัวเองได้
การยอมรับตัวเองจะทำให้เข้าใจการกระทำของตัวเรา
และทำให้เราเข้าใจผู้อื่น
เพราะทุกคนล้วนมีจุดเด่น จุดด้อยที่ไม่เหมือนกัน
เราไม่สามารถทำให้คนอื่นเป็นอย่างที่เราอยากให้เป็น
และเราก็ไม่สามารถเป็นอย่างที่คนอื่นอยากให้เราเป็น

เมื่อรู้ความจริง เราจะสามารถยอมรับการกระทำของผู้อื่น
เราจะไม่โกรธเคืองหรือหงุดหงิด
ไม่คิดว่า ทำไมเขาทำแบบนี้ ไม่ทำแบบนั้น
เราจะยอมรับในสิทธิส่วนบุคคลของทุกคนได้
แม้คนๆ นั้นอาจจะเป็นลูกของเรา
เพราะเขาต่างก็มีชีวิตเป็นตัวของเขาเอง
ไม่มีใครลิขิตชีวิตใครได้

เมื่อยอมรับผู้อื่น เราจะสามารถให้อภัยทุกสิ่งได้
เราเข้าใจความเป็นตัวเรา เราไม่มีสิทธิไม่พอใจด้วยซ้ำ
เราอาจทำได้เพียงการให้คำแนะนำที่เราเห็นว่าถูกต้องดีกว่า
แต่การตัดสินใจย่อมเป็นของเขา
การให้อภัยต่อทุกสิ่งนั้น
จริงๆแล้วได้ประโยชน์ต่อตัวเองทันที
เพราะเราไม่ต้องแบกความไม่สบายใจไว้กับตัวเอง
ปลดปล่อยความเครียดให้ออกไป
เราจะโล่งโปร่งสบายทั้งทางร่างกายและจิตใจ
เท่านั้นยังไม่พอ

มอบความรักให้ทุกสรรพสิ่ง
ความรักเป็นสิ่งที่มีค่าและสำคัญมาก
เป็นน้ำทิพย์ชโลมใจให้คลายทุกข์
เพิ่มเติมความสุขให้ชีวิต
คนที่ไม่เคยรักใคร
ชีวิตย่อมตกอยู่ในกองทุกข์
และจะมีสุขภาพที่ไม่ดีตลอดเวลา

- มานพ ประภาษานนท์ -