ชีวิตนี้มีปัญหา
๑
- สมณะโพธิรักษ์ - (ต่อจากฉบับที่
๑๕๔)
๙. สัตว์พวกหนึ่ง ล่วงเสียซึ่งอากิญจัญญายตนะ
โดยประการทั้งปวง แล้วเข้าถึง เนวสัญญานาสัญญายตนะ ด้วยมนสิการว่า
นี่สงบ นี่ประณีต
อ่านคำตรัสก็คงเข้าใจกันแล้วว่า
หมายถึง ผู้ปฏิบัติ"อรูปฌาน"ขั้นที่ ๔ แบบฤาษีนี้เองแหละ
สูงขึ้นไปถึง "เนวสัญญานาสัญญายตนภูมิ"
"เนวสัญญานาสัญญา"
แปลว่า มีสัญญา ก็มิใช่ ไม่มีสัญญา ก็มิใช่ หรือความรู้สึกตัว
ก็มิใช่ ความไม่รู้สึกตัว ก็มิใช่ ซึ่งเป็นอารมณ์ที่พยายามจะดับจิตอยู่นั่นเอง
แต่เป็นการฝืนสัจจะ ของความเป็นธาตุจิต ธาตุวิญญาณ อย่างถึงที่สุด
ก็ฝืนได้สุดๆ จนเป็นที่สุดตรงภูมิ "เนวสัญญานาสัญญายตนสัญญัง"
เท่านี้
เพราะตามสัจจะแล้ว จิตวิญญาณของคนนั้น
คือ "ธาตุรู้" แม้จะสะกดจิต หรือฝึกฝน "ดับจิต"
ลงไปด้วย วิธีอย่างไร เมื่อ หมดฤทธิ์หมดแรงแห่งการสะกดไว้ จิตมันก็ต้องตื่นขึ้นมาทำหน้าที่"รู้"
เป็นธรรมชาติ"รู้" เมื่อคนยังไม่ตายก็ต้องยังมีจิต และต้องมี"ความรู้สึก"(เวทนา)
มี"ความกำหนดรู้, ความสำคัญมั่นหมาย, ความจำได้"(สัญญา)
เป็นต้น ถึงจะดับไว้ด้วย แรงกดแรงข่มเก่งปานใด จิตมันก็ต้องรู้สึกตัวขึ้นมาจนได้
ไม่วาระใดก็วาระหนึ่ง เพราะยังเป็นคนดีๆ สมองไม่ได้ชำรุด อะไร จิตก็ต้องขึ้นมาทำงาน"รู้"
จะด้วยการทำงาน ในหน้าที่..ลักษณะมี"ความรู้สึกหรืออารมณ์"
(เวทนา) ก็ตาม หรือจะ ทำงานในหน้าที่.. ลักษณะมี"ความกำหนดหมายรู้"
(สัญญา) ก็ตาม มันก็ต้องกลับมาทำหน้าที่อีกจนได้
แต่เพราะเชื่อสนิทว่า ทฤษฎีนี้
อันคือ "การนั่งทำสมาธิ
หรือ นั่งสะกดจิตเข้าไปอยู่ในภวังค์ แล้วทำ'อารมณ์ฌาน' ให้ได้ปานฉะนี้นี่แหละ"
คือวิธีที่จะพาไปนิพพาน และหลงกันนักกันหนาว่า ถ้าฝึกทำ
สมาธิ อย่างนี้แล้ว ก็จะได้ "อารมณ์"อย่างนี้ๆไปเรื่อยๆ
แล้วจะเกิดปัญญาเห็น "ไตรลักษณ์" บ้าง เห็น"อารมณ์
นิโรธ" (นิโรธแปลว่าความดับสนิท) บ้าง
เช่น เห็น"อารมณ์อากิญจัญญายตนฌาน" นี่แหละ เป็นต้น และเห็นอะไรต่อมิอะไรสารพัด
ที่แต่ละอาจารย์จะว่า กันไป
ทีนี้..ผู้ยังพอมีไหวพริบว่า "จิต"นั้น
มันคือ"ธาตุรู้" ที่ต้องทำหน้าที่ขึ้นมา"รู้"
จนได้อยู่ดี แม้จะสะกดมันไว้ได้ เยี่ยมยอดสุดๆ ปานใด มันก็ยังต้องมี"ส่วนเศษแห่งการรู้"
อยู่นั่นเอง ไม่มากก็น้อย แต่..เมื่อเชื่อ ปักใจใน
วิธีนั่งสมาธิแบบนี้ ว่า ไม่มีวิธี อื่นดีกว่าเสียแล้ว แม้ต้องจำนนต่อความจริง
ว่า "มันดับหมดถาวรไม่ได้" ดังที่ "อุทกดาบส"
ซึ่งเป็นอาจารย์เจ้าสำนัก ใหญ่คนสำคัญ อีกคนในยุคนั้น ยอมจำนน
จึงต้องยอมให้แก่ภาวะ
"รู้" ซึ่งมันต้อง"เกิดมารู้"ในวาระใดวาระหนึ่งจนได้
ทว่า"เกิด"คราใด ผู้นั้นก็จัดการ"ดับ"ให้
มัน"ไม่รู้" ลงไปอีกอยู่นั่นแหละ การณ์จึงเป็นว่า"รู้ก็ไม่ได้รู้"
จะว่า" ดับก็ยังมีรู้แซมปนขึ้นมาอยู่เป็นช่วงๆ"
สภาพเช่นนี้เอง คือ "จะว่ารู้ก็ไม่เชิง จะว่าไม่รู้ ก็มิใช่"
เพราะ "สัญญา" หรือ "ตัวรู้ที่มันจะขึ้นมาทำหน้าที่กำหนดหมายอะไรต่ออะไรไป
ตามหน้าที่ของมัน" นี้นั้น ครั้นมันจะขึ้นมาทำงาน ก็สะกดมันไว้
ถ้าไม่สะกดไว้ ก็จะไม่ชื่อว่า "ดับ" แต่แม้จะดับได้นานสุด
นานเท่าใด มันก็ต้องกลับฟื้นขึ้นมา"รู้"อีกอยู่ดี เพราะมันคือธรรมชาติแห่งจิตวิญญาณ
ที่ยัง "ไม่ปรินิพพาน" มันก็ต้อง เป็น "ธาตุรู้"
ที่มีหน้าที่ "รู้" จึงต้องทำหน้าที่ตามธรรมชาติของมัน
ทว่าถูกเจ้าของ "จิตวิญญาณ" กระทำกับมัน ตามที่กล่าว มานั้น
มันก็เลยตกอยู่ในสภาพ"จะว่ามีสัญญาก็มิใช่
จะว่าไม่มีสัญญาก็มิใช่"
นี่คือ การบรรลุ "เนวสัญญานาสัญญายตนฌาน"
แต่ที่แน่ๆ ก็คือ ยังเป็น "อายตนะ" และยังมี "สัญญา"
ฉะนี้เองคือ "สัตตาวาส"
ขั้นที่ ๙ หรือ "อารมณ์อรูปฌาน" ขั้นที่ ๔ ที่เรียกว่า
"เนวสัญญานาสัญญายตนฌาน" หรือ "เนวสัญญานาสัญญายตนสัญญา"
ซึ่งเป็นการ"ดับสัญญา"อย่างหนึ่ง
นั่นคือ "ดับอากิญจัญญายตนสัญญา"
กลายเป็นผู้ "ไม่มีสัญญา" อย่างนั้นแล้ว
แล้ว ไปเป็นผู้ "มีสัญญา" อีกอย่างหนึ่ง
คือ มี "เนวสัญญานาสัญญายตนสัญญา"
นั่นเอง
หรือจะพูดว่า "ไม่กำหนดหมายในอากิญจัญญายตนฌาน"
เสียแล้ว แล้วเลื่อนออกไป "กำหนดหมาย
ในเนวสัญญา นาสัญญายตนฌาน" แทน ก็ถูกต้อง
"การกำหนดหมาย"
ก็คือคำว่า "สัญญา" นั่นแหละ
พฤติการเช่นนี้
คือ การล่วงพ้นสัญญาชนิดหนึ่ง หรือดับสัญญาชนิดหนึ่ง ไม่มีสัญญาชนิดนั้นแล้ว
แล้วกลาย ไปเป็น ผู้มีสัญญา อีกชนิดหนึ่ง
"อุทกดาบส"อาจารย์คนสำคัญยุคนั้น
ก็จำนนด้วยสัจจะข้อนี้ เพราะเห็นว่า ขั้น"อากิญจัญญายตนฌาน"นั้น
มันไม่สุด สิ้นอยู่แค่นี้ ถึงจะ"ดับ"ลงไป ไม่ให้มีการเกิดของ
"ความรับรู้" ไม่ให้มีสัญญาอีกเลย ใช้ความสามารถ ดับลงไปให้สนิท
ความรับรู้ใดๆแม้ "นิดหนึ่งน้อยหนึ่ง" ก็ไม่ให้มี ทำจนถึงขั้น
"ความไม่มี" (อากิญจัญญ) อย่างนี้ก็
"ทำได้" ที่เรียกว่า "อากิญ จัญญายตนฌาน" นั่นแหละ
แต่จะให้คงอยู่ เป็นอยู่ในสภาพ "อากิญจัญญายตนะ" ตลอดไปนั้น
มันไม่ใช่ที่สุด
นี่คือ สภาพที่อุทกดาบสพบจุดสูงสุดด้วยตนเอง
จึงยอมจำนนว่า ที่สุดแห่งที่สุดนั้น มิใช่ "อากิญจัญญายตนะ"
ต้องยอมรับ ลักษณะอาการของ "เนวสัญญานาสัญญายตนะ" ว่า
เป็นที่สุดยิ่งกว่า "อากิญจัญญายตนะ"
"...ล่วงเสียซึ่งอากิญจัญญายตนะ
โดยประการทั้งปวง แล้วเข้าถึง เนวสัญญานาสัญญายตนะ ด้วยมนสิการว่า
นี่สงบนี่ประณีต" อุทกดาบส หรือใครก็ตาม สามารถ
"โยนิโส มนสิการ" (การทำใจในใจ อย่างแยบคาย)
ว่า "นี่สงบ นี่ประณีต" ได้สูงสุด จบอยู่ที่ "เนวสัญญานาสัญญายตนฌาน"
ก็เป็น "สัตตาวาส" ที่ ๙
"สัตตาวาส"ของบรรดาผู้ยังมี"ภพ"มี"ชาติ"หรือสัตว์ผู้ยังไม่สิ้นภพจบชาติ
ยังมี"ที่อยู่" (อาวาส) ที่พระพุทธเจ้า
ตรัสไว้ ๙ ชนิด ก็มีก็เป็นกัน ด้วยประการฉะนี้
ผู้ที่มีปฏิภาณ เพียงได้ฟังว่า
วิธีปฏิบัติที่นำพาไปสู่สภาพยังมี"สัตตาวาส" ทั้ง ๙ ก็ต้องเข้าใจแล้วว่า
นี่ไม่ใช่ "แนว ทางของพุทธ" เพราะคำว่า "สัตตาวาส" ก็หมายถึง "การยังมีภพมีชาติ"
อยู่ตรงๆ ก็เห็นอยู่แล้วโต้งๆว่า มันยังไม่ใช่ สภาพของ "การดับภพจบชาติ"
เลย จึงชัดเจนที่สุดว่า การปฏิบัติที่ยังไม่นำพาไปสู่ "การลดละ
จางคลายภพชาติ กระทั่งถึงดับภพจบชาติ" ได้สิ้นสนิทเช่นนี้ ย่อมไม่ใช่ทางที่จะพาไปสู่
"นิพพาน" แน่แท้
พระพุทธเจ้าตรัสถึงลักษณะที่บ่งบอกว่า
สภาพ ที่ยังไม่ใช่ทาง"นิพพาน"นั้น
มีอยู่ ๙ ชนิดใหญ่ๆ อย่าง ชัดเจน แจ่มแจ้งปานฉะนี้แล้ว ชาวพุทธก็ไม่น่าจะหลงผิดทาง
ผู้ยังไม่เข้าใจก็กลับไปอ่านทบทวนดีๆ
"สัตตาวาส ๙" จึง ไม่ใช่ทางไปนิพพาน
แต่เป็นทางที่ยังนำพาไปสู่ภพสู่"ที่อยู่ของสัตว์"
(สัตตาวาส) ทางที่จะนำพาไปสู่ นิพพานนั้น เป็นทางสู่ความสิ้นภพจบชาติแห่ง
ความเป็นสัตว์ ตั้งแต่เป็นสัตว์ ที่อยู่ในภพอบาย
(สัตว์ชั้นต่ำ) ไปจนเป็น สัตว์ที่อยู่ในภพของกัลยาณชน หรือเป็นสัตว์ที่เรียกว่า
เทวดา และ ยิ่งไปกว่านั้นก็คือ เป็นสัตวโลกที่พาตนออกจาก (เนกขัมมะ)
ภพต่างๆ มาตามลำดับ ได้กระทั่งเข้าสู่โลกใหม่ ที่เรียกว่า โลกุตระ
อันไปสู่นิพพานชื่อสัตว์ชนิดนี้เรียกว่า สัตว์โลกุตระ หรือ อาริยชน
หลายคนอาจจะแย้งอาตมาว่า ก็ฉันไม่อยากจะไปนิพพานนี่
ฉันจะเอาแค่บุญสามัญ ทำความดี ไม่ทำ ความชั่ว ฉันก็พอใจแล้ว จะสุขๆทุกข์ๆอยู่กับโลกีย์นี่แหละ
แล้วจะว่าฉันไม่ใช่พุทธได้ยังไง?
ก็ขอย้ำซ้ำๆซากๆอีกครั้ง
ว่า ศาสนาทุกศาสนานั้น เป็นโลกียะ มีศาสนาเดียวเท่านั้น ที่เป็นโลกุตระ
คือ "พุทธ" และทุกศาสนาแม้แต่พุทธ ต่างก็ล้วนนำพา ให้แสวงบุญ
คือ ทำความดี ละเลิกความชั่ว กันทุกศาสนา เพียงแต่วิธีทำ อาจจะเหมือนกัน
และต่างกันบ้าง ซึ่งก็ "แสวงสุข" อีกแหละ มีศาสนาพุทธ
ศาสนาเดียวเท่านั้น ที่มีพิเศษไม่เรียกว่า "แสวงสุข" แต่เรียกว่า
"ดับทุกข์" ซึ่งก็คือ "สุขแท้" และเป็น "สุข"
ที่สงบวิเศษยิ่งกว่า (วูปสม สุข) ที่สำคัญก็คือ
หากปฏิบัติธรรมแบบพุทธถูกต้อง "สัมมามรรค" เป็นโลกุตระ
ก็จะเกิด "สัมมาอาริยผล"
ซึ่ง"สัมมาอาริยผล"นี้
จะมีทั้งโลกียกุศลอันเป็น "บุญ" แบบโลกียะอย่างเดียวกันกับศาสนาทั้งหลายได้
และได้พร้อมไปกับ "บุญ" แบบโลกุตรกุศล ที่เป็น "บุญ"
แบบโลกุตระ เฉพาะศาสนาพุทธเท่านั้น อีกด้วย
กล่าวคือ หากปฏิบัติเป็น "สัมมาทิฏฐิ"
ผลที่ได้ของพุทธ จะได้"บุญ"ทั้งสองประการพร้อมกัน
ส่วน ศาสนาเทวนิยม นั้น จะได้"บุญ"แบบโลกียะอย่างเดียว
ยกตัวอย่างง่ายๆ ชาวพุทธคนใดที่ปฏิบัติธรรมขั้นโลกุตระได้แล้วเป็นสัมมาทิฏฐิ
เช่น เมื่อทำทาน ให้เงินหนึ่งล้านแก่ ใครไป "บุญ"แบบโลกียะก็ได้แล้วจากการทำทานเงินหนึ่งล้านนั้น
เหมือนศาสนาอื่นๆ ใดๆ
แต่เมื่อคนผู้นี้ปฏิบัติปรมัตถธรรม
ที่เป็นโลกุตรธรรมก็ได้ด้วย ชาวพุทธผู้นี้ก็จะ"ทำใจในใจ"
(มนสิการ) ของตนไปพร้อม กับการทำทานนั้น อย่าง
"แยบคาย หรือลงไปถึงที่เกิด" (โยนิโส)
ซึ่งจะเกิดผล ในการปฏิบัติถึง "จิตในจิต" ด้วยความสามารถ
ของผู้ปฏิบัติ โดยหยั่งรู้ "จิตในจิต - ธรรมในธรรม" ถ้า"กิเลส"
มีในขณะที่ทำทานนั้น ผู้นี้ก็จะปฏิบัติธรรมทันที ด้วย "ปหานปริญญา"
หรือด้วย "สัมมัปปธาน ๔" จนเกิดมรรคเกิดผล ในการทานนั้น
ผลบุญในขณะทานนี้ จึงได้ "มรรคผล" ที่เป็นโลกุตรกุศลด้วย
ซึ่งผลที่ให้ทาน เงินหนึ่งล้านไปนี้ ก็เป็น "บุญ"
แบบโลกียะ ก็ย่อมได้อยู่แล้ว เหมือนศาสนาอื่นเขา ทำทาน หรือ ทำดีทั้งปวง
แต่ถ้าเป็นศาสนาอื่น ก็จะได้"บุญ"แบบโลกียะอย่างเดียว
ดีไม่ดี อาจจะแถมได้"บาป"ด้วยซ้ำ คือได้จิต "ขี้โลภ"
เพิ่มขึ้นมา ใส่จิตอีกด้วย ดังที่เคยอธิบายมาแล้ว ศาสนาอื่นก็มีบ้าง
ที่พยายามทำ "ใจในใจ" ให้ลดความโลภ แต่จะไม่สามารถรู้
แจ้งเห็นจริง ละเอียดลออ อย่างถูกถ้วน (สัมมา)
เหมือนศาสนาพุทธ จนสามารถ ปฏิบัติได้อย่างสมบูรณ์ ถึงสัจจะขั้น ปรมัตถ์
โดยเฉพาะถึง "อาริยสัจ ๔" ชนิดถูกถ้วน ถ่องแท้ เหมือนศาสนาพุทธ
เพราะศาสนาพุทธพระพุทธเจ้าตรัสรู้ถึงพร้อมด้วย
"วิชชาจรณสัมปันโน" แล้วนำมาประกาศให้แก่ ชาวพุทธ ทั้งหลายปฏิบัติตาม
ซึ่งได้แก่ "วิชชา ๙" และ "จรณะ ๑๕" นี้แลคือ
เนื้อแท้ของความเป็นพุทธ
ดังนั้น หากผู้ใดยังยืนยันอยู่ว่า
จะไม่เอานิพพานจะขอเอาแค่สุขๆทุกข์ๆ เอาแค่ละชั่ว-ประพฤติดี เท่านั้น
ไม่เรียนรู้ โลกุตระ ไม่เป็นหรอก...โสดาบัน สกิทาคามี อนาคามี
อรหันต์ จะเอาแค่กัลยาณชนก็พอ ไม่ตัดกิเลส ให้ได้ถ่องแท้
(โยนิโส) ตามแบบพุทธอย่างถูกถ้วน (สัมมา)
หากเอาแค่ปฏิบัติดีได้ หรือได้ "บุญ" ไม่มีโลกุตรธรรม
มันก็เท่ากับได้ "บุญ" โลกียะเหมือนศาสนาทั่วๆไปนั่นเอง
"บุญ" เหมือนกัน ก็จะได้รับผลวิบาก ดังเดียวกัน ตายเกิด-เกิดตายมารับบุญ
รับบาปกันอยู่ ในมหาสังสารวัฏนี้ ดังที่คนทั้งหลายเป็นกัน ไม่ว่าในศาสนาใดๆในโลก
ก็ย่อมรับวิบาก "บุญ" โลกียะ "บาป" โลกียะ ด้วยกันทั้งนั้น
จะเป็นพุทธกันตรงไหนล่ะ?
เพราะถึงแม้จะอยู่ในศาสนาไหน ถ้าปฏิบัติดี-ละชั่ว
มันก็ได้ "บุญโลกียะ" เหมือนกันทั้งนั้น เท่ากับได้ "กุศลกรรม"
"กรรม" ไม่ว่าศาสนาใดๆ ก็ล้วนเป็นสัจจะ ทำดีได้ดี-ทำชั่วได้ชั่ว
ดังนั้น จึงไม่มีความพิเศษ ที่พิเศษ ต่างจากศาสนาอื่นเลย เพียงแต่อาจจะมีกรรมวิธีที่ละชั่ว-ประพฤติดี
ต่างกันบ้าง ตามวิธีที่พระพุทธเจ้า ตรัสสอนไว้เท่านั้น แต่ผลที่ได้ก็เป็น
"บุญ" โลกียะ ดังเดียวกัน
แต่ของพุทธนั้น เป็นอเทวนิยม มี"บุญ"ได้พร้อมกันทั้ง
๒ แบบ พ้นจากความเป็น "สัตตาวาส" หลุดพ้นจาก "ภพ"
ของสัตวโลก ทั้ง "กามภพ-รูปภพ-อรูปภพ" สิ้นภพจบชาติ มีนิพพาน
มี "สุขวิเศษ" (ปรมังสุขัง) อีกด้วย
ก็ลองฟัง ...ทางหรือการออกจากภพจากที่อยู่
หรือออกจากความเป็นสัตวโลก ไปจน..สิ้นภพ จบชาตินั้น จะเป็นฉันใด
อาตมาจะพยายามตั้งใจอธิบายสู่ฟัง
พุทธก็ต้องปฏิบัติฌาน ปฏิบัติสมาธิ
เช่นกัน แต่เป็นฌานเป็นสมาธิแบบของพุทธแท้ๆ ที่เป็นอเทวนิยม
นั่นคือ มีแบบประพฤติโดยเฉพาะ
เช่น จรณะ ๑๕ และวิธีปฏิบัติหรือทฤษฎีอันเลิศ ก็คือ โพธิปักขิยธรรม
๓๗ หรือย่อๆ ก็.. โพชฌงค์ ๗ มรรค ๘ นั่นเอง ซึ่งเป็นการปฏิบัติธรรม
ปฏิบัติฌาน ปฏิบัติสัมมาสมาธิ ไปพร้อมกับ จรณะ ๑๕ ทำได้ ทุกขณะ ในชีวิตปกติสามัญ
ไม่ใช่...แบบที่ต้องแยกตัวออกไปจากชีวิตปกติสามัญที่ทำอะไรต่ออะไรไปตามธรรมดา
เช่น หากจะปฏิบัติธรรม ก็ต้อง แยกตัวออกไปนั่งหลับตา ทำฌาน ทำสมาธิต่างหาก
หรือ ออกไปนั่ง ไปเดิน ไปทำการปฏิบัติ ธรรมเฉพาะ ซึ่งจะทำการงานอาชีพอะไรไม่ได้
อันเป็นเรื่องต่างหาก จากชีวิตสามัญที่คิด (สังกัปปะ)
ที่พูด (วาจา) ที่มีการงานทั้งหลาย (กัมมันตา)
ที่ประกอบอาชีพทำมาหากิน (อาชีวะ) อยู่อย่างสามัญ
ซึ่งอาตมาก็ได้อธิบาย ขยายความกันมายาวยืดแล้วตลอด
เอาอย่างนี้... เอา "สัตตาวาส
๙" นี้แหละ มาเป็นจุดตั้ง แล้วอธิบาย ขยายความ เทียบเคียงไปเรื่อยๆ
ให้เห็นความแตกต่าง ของพุทธโลกุตระ หรือ "อเทวนิยม" กับความเป็นโลกียะ
หรือ "เทวนิยม" กันไปตามลำดับ
[มีต่อฉบับหน้า]
(เราคิดอะไร
ฉบับที่ ๑๕๕ มิถุนายน ๒๕๔๖) |