>เราคิดอะไร

ร้อยรู้ "ไม่สู้หนึ่งทำ"

สังคมไทย มีพรหมวิหาร แต่เป็นพรหมวิหารแบบอัปลักษณ์ที่ผิดฝาผิดตัว ผิดช่อง

ที่เป็นหน้าก็เลยเป็นหลัง ที่เป็นมือก็กลายเป็นเท้า

หากจะถามพระพรหมของสังคมไทย ถึงอวัยวะทีละชิ้นก็มีครบเหมือนพระพรหมองค์อื่นๆ

แต่หากดูภาพรวมก็จะต๊กกะใจ

เรามีเมตตาขี้สงสาร เห็นใครเดือดร้อนก็สงสารน้ำตาไหล แล้วก็นึกว่าตัวเองใจดี

บางทีสงสารทั้ง ๒ ข้าง ทั้งโจทย์และจำเลย แล้วก็ปล่อยให้ข่มเหงกันต่อไป

บางทีเห็นความเดือดร้อนลำบากยากแค้น รีบปรุงแต่งจิตให้รีบอุเบกขาในทันที แล้วก็นึกว่าตัวเอง
ใจประเสริฐ

คงต้องตีความกันใหม่ ที่สงสารแค่อยู่ในใจ แต่นั่งนิ่งๆ โดยไม่ยอมเคลื่อนไหวเขาเรียก "ไร้น้ำใจ" ต่างหาก

พระพรหมประเภท "เอาตัวรอด" ไปวันๆ สังคมไทยมีเยอะ ขอตัวเองไม่เดือดร้อน ก็ไม่ยอมลุกออกมาจากห้อง!

ยิ่งมาเป็นผู้บริหารบ้านเมือง ก็ยิ่งยุ่งกันใหญ่ อยู่เพื่อประคองตัวรอดไปวันๆ

เหมือนนักฟุตบอล ที่เล่นแต่ฟุตบอล เตะไปเตะมา แต่ไม่เคยคิดจะยิงประตูกับเขา

เป็นความอยู่รอด เพื่อรอวันตายจริงๆ!

"ความรู้" ต้องนำไปสู่การ "ปฏิบัติ"

Planning ต้องดึงออกจากแฟ้มไปสู่ Action กฎระเบียบ มีให้ครบพร้อม แต่แอบละเลย ปกปิดอยู่กันหลายๆ ปี พฤติกรรมเช่นนี้ เรียกว่า "เอาตัวรอด"

อ.ปุระชัย แค่จัดระเบียบสังคม หยิบของเก่ามาปัดฝุ่นก็ดังระเบิดเถิดเทิง

ท่านนายกฯสานต่อ ผู้คนต่างยกนิ้วให้

การบริหารประเทศ ท่านนายกฯ นำรูปแบบบริษัทไปตั้งไว้ ทำให้คิดง่ายขึ้น

จัดการกับบริษัทจะไปยากอะไร ดึงเม็ดเงินที่รั่วไหลให้เข้าบัญชี สภาพคล่องก็จะเกิดขึ้น

ธุรกิจผิดกฎหมาย หากเด็ดออกไปได้ บริษัทก็จะรวย จะมั่นคง

คิดง่ายๆ ทำให้จริง ฝันก็ไม่ไกลเกินเอื้อม

พระพุทธเจ้าอธิบายนิพพานคือความสูญเปรียบเทียบเหมือนห้องนี้มีช้าง ม้า มีโต๊ะ เก้าอี้ เมื่อเอาช้างออก ห้องนี้ก็จะนิพพานจากช้าง เอาโต๊ะออกห้องนี้ก็จะนิพพานจากโต๊ะ

ความหมายของพระนิพพานจึงชัดเจน ตรงๆ ไม่อ้อมค้อม

ห้องนี้วุ่นจริงหนอ วันนี้เรากำลังจะนิพพานจากยาบ้า

ห้องนี้วุ่นจริงหนอ เรากำลังจะนิพพานจากอั้งยี่อิทธิพล

สะสมนิพพานเล็ก สักวันจะได้นิพพานใหญ่

การทำความดี มีได้แค่ ๓ ทาง กาย วจี มโน

ถ้าเป็นมนุษย์จะต้องเริ่มที่สิ่งที่ตัวเองเข้าไป "ผูกพัน"

ถ้าเป็นสังคม ก็จะต้องเริ่มที่ "สิ่งแวดล้อม"

"กายสักขี" เป็นความงามในเบื้องต้น เป็นความรีบด่วนของสังคม

เพราะ "ค่านิยม" เกิดจากการทำซ้ำใน "กายสักขี"

มีความดีมากมายที่ต้องลงมือปฏิบัติ มิใช่แค่คิดสงสาร เพราะเราคงไม่ทำดีแบบ "เลขในใจ"

หากมี "เมตตา" เป็นแค่ความคิด (Planning)

"กรุณา" ก็จะต้องเป็นตัวปฏิบัติ ลงมือทำ (Doing Action)

มนุษย์เรามักจะเข้าใจผิดในกฎแห่งกรรมเสมอด้วยมักจะคิดในแง่ "ผู้รับประทาน" หรือ "ผู้บริโภค" จนลืมหน้าที่หลักอีกตัวหนึ่ง ในฐานะ "ผู้ประทาน" หรือ"ผู้ปกป้องรักษา" หรือ "ผู้ดูแล

"คนดีผีคุ้ม" อย่ามัวปล่อยให้ผีดูแล ธุระไม่ใช่ของเรา!

คนดี มนุษย์ต้องคุ้มครองช่วยกันส่งเสริม จึงจะเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์แบบ

เราเป็นมนุษย์ พระเจ้าดูแลก็จริง แต่ในหลายๆ ครั้ง มนุษย์ต้องทำหน้าที่เป็น "ตัวแทน" พระเจ้า โลกจึงจะสงบสุข

เมืองไทย วันนี้มีเจ้าหนี้มากมาย หลักการชำระหนี้ขั้นต้น ตัดเจ้าหนี้ทั้งหลายแหล่ออกไป ให้เหลือรายเดียว การชำระเงิน ก็จะง่ายขึ้น

เจ้าหนี้คนใหม่จะร้ายกว่าเก่าหรือไม่ โปรดอดใจแต่ที่แน่ๆ

วันนี้ดีกว่าเมื่อวาน !

(เราคิดอะไร ฉบับที่ ๑๕๕ มิถุนายน ๒๕๔๖)