ขึ้นชื่อว่ากิเลส
ก่อเหตุให้เกิดทุกข์
อย่าหลงเป็นความสุข
โดนฉุดลงนรก
ครั้งหนึ่งได้มีชาวกรุงสาวัตถี
๕๐๐ คน ซึ่งทั้งหมดเป็นสหายกัน พอฟังธรรมเทศนาของ พระผู้มีพระภาคเจ้า
องค์สมณโคดมแล้ว ก็เกิดจิตเลื่อมใสศรัทธาแรงกล้า จึงพากันบวช
อยู่ในพระพุทธศาสนา
ไม่นานนักมีอยู่คืนหนึ่ง...ภิกษุทั้ง
๕๐๐ รูปนั้น ต่างก็บังเกิดกิเลสกามวิตก (การครุ่นคิดไปในกาม)
ขึ้นมา พระอานนท์จึงให้ภิกษุทั้งหลายมาประชุมกัน ตามพระดำรัสของพระศาสดา
แล้วพระศาสดา ก็ทรง แสดงธรรม ช่วยเหลือแก่ภิกษุทั้งปวงว่า
"ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย
ขึ้นชื่อว่ากิเลส ถือเป็นของเล็กน้อย ไม่ได้เลย ภิกษุต้องข่มกิเลสที่เกิดขึ้นแล้วเสีย
แม้บัณทิตในกาลก่อน ต่างก็ข่มกิเลสทั้งหลายเสีย จนบรรลุปัจเจกพุทธญาณ
(ญาณรู้แจ้งของ พระปัจเจกพุทธเจ้า)ได้" แล้ว ทรงนำอดีต
ชาดกนั้นมาตรัสเล่า
ในอดีตกาล ปรากฏพระปัจเจกพุทธเจ้า(พระพุทธเจ้าที่มิได้สร้างหมู่กลุ่มเป็นศาสนา)
๕ พระองค์ มาจากเงื้อมเขานันทมูลกะ เสด็จบิณฑบาตเข้าไปในกรุงพาราณสี
เที่ยวโปรดสัตว์ด้วย อิริยาบถ อันน่าเลื่อมใสงดงามยิ่ง
กระทั่งมาถึงประตูพระราชวังของพระเจ้ากรุงพาราณสี
พอดีกับพระราชาทรงทอดพระเนตรเห็น แล้วทรงบังเกิดจิตศรัทธายิ่งนัก
จึงได้นิมนต์พระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลาย ให้เข้าสู่พระราชนิเวศน์ ทรงล้างเท้าให้แล้ว
ทาน้ำมันหอมด้วยพระองค์เอง จากนั้นก็ทรงอังคาส(ถวายพระ) ด้วยอาหารอันประณีต
ประทับนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง แล้วตรัสถามพระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหมดว่า
"พระคุณเจ้าผู้เจริญทั้งหลาย พวกท่านบวชได้แม้ในวัยหนุ่มเยี่ยงนี้
ดูช่างงดงามจริง ก็แล้วด้วยสาเหตุใด หรือ เห็นโทษภัยใดกันเล่า
จึงออกบวชในวัยนี้ได้"
พระปัจเจกพุทธเจ้าองค์แรกจึงได้เปิดเผยเรื่องราวว่า
"ขอถวายพระพรมหาบพิตร อาตมภาพเคยเป็นผู้ปกครองหมู่บ้านแห่งหนึ่ง
ในแคว้นกาสีนี้เอง คราวนั้นชาวบ้านมักมีพลีกรรมชื่อว่า โสมยาคะ (การบูชายัญอย่างหนึ่ง)
จึงได้มาขออนุญาตว่า
ข้าแต่เจ้านาย พวกเราต้องการฆ่าเนื้อและสุกร
ฯลฯ กระทำบูชายัญแก่หมู่ยักษ์ ในเวลานี้ ก็ถึงเทศกาล แห่งการพลีกรรมแล้ว
เราได้บอกอนุญาตไปว่า พวกท่านจงกระทำเถิด
จงทำไปอย่างที่เคยกระทำมาแล้วในครั้งก่อนๆ
ชาวบ้านทั้งหลายจึงพากันกระทำปาณาติบาตมากมาย แต่เมื่ออาตมภาพได้เห็นการถูกฆ่า
เห็นซากศพ ของปลาและเนื้อจำนวนมากที่ตายไป ทำให้บังเกิดความสลดแสนเศร้าใจว่า
อาตมภาพได้ยอมอนุญาตให้แก่พวกเขา
ชีวิตสัตว์มากมายต้องถูกฆ่าตาย ตามคำอนุญาต ของเรา ผู้เดียวเท่านั้น
จึงได้รังเกียจว่า เราได้กระทำบาปกรรมเอาไว้แล้ว ฉะนั้นอย่าได้ กระทำบาปกรรมต่อไปอีกเลย
จึงพิจารณาไปในธรรม เจริญวิปัสสนา (ฝึกอบรมปัญญาให้เกิดความรู้แจ้งเห็นจริง)
ได้ทำปัจเจกพุทธญาณ ให้เกิดขึ้น แล้วจึงออกบวช
ไปพำนักอยู่ ณ เงื้อมเขานันทมูลกะ"
สิ้นสุดคำกล่าวนั้น พระปัจเจกพุทธเจ้าองค์ที่
๒ ก็เอ่ยขึ้นบ้างว่า
"มหาบพิตร สำหรับอาตมภาพนั้นเคยอยู่ที่บ้านน้อยตำบลหนึ่ง
ในแคว้นกาสีนี้เช่นกัน มีอยู่วันหนึ่ง ได้สะพาย กระบอกน้ำดื่ม
ไปทำไร่ในป่า กับสหายคนหนึ่ง พอเวลาที่เหนื่อยกระหายน้ำ
ก็มาแอบดื่มน้ำ จากกระบอก ของเพื่อน ส่วนน้ำในกระบอกของตนก็เก็บไว้
จนกระทั่ง ตอนเย็นเลิกงาน อาบน้ำ ชำระร่างกาย จากความสกปรก ได้เกิดความคิดสลดใจขึ้นมาว่า
อาบน้ำมิอาจชำระบาปจากการที่เราขโมยน้ำของเพื่อนมาดื่ม
บาปนี้คงจะนำเราเข้าสู่อบาย (ความฉิบหาย) ทั้งหลาย เป็นแน่แท้ ฉะนั้น
เราควรข่มกิเลสนี้เสียให้ได้ เรารังเกียจบาปที่กระทำไว้แล้ว เราจะไม่กระทำบาป
อีกต่อไป
จึงเจริญวิปัสสนา ณ ที่นั้น ได้กระทำปัจเจกพุทธญาณให้บังเกิดขึ้นแล้ว
ขณะนั้นเอง เพื่อนอาบน้ำเสร็จก็มาชวนว่า มาเถิดสหาย
พวกเราพากันกลับบ้านกันเถอะ
ตอนนั้น อาตมภาพได้ตอบสหายไปว่า เจ้าจงกลับไปผู้เดียวเถิด
เราจะไปบวช
แล้วจึงออกบวช อาศัยอยู่ที่เงื้อมเขานันทมูลกะ"
จากนั้นพระปัจเจกพุทธเจ้าองค์ที่
๓ ก็ได้บอกสาเหตุการออกบวช ของตนบ้างว่า
"มหาบพิตร อาตมภาพเคยเป็นกุฎุมพี(คนร่ำรวย)
คนหนึ่งอยู่ในแคว้นกาสีนี้ ครั้งหนึ่ง ขณะอยู่ที่ตลาด ได้พบเห็น
สามีภรรยาคู่หนึ่ง เดินผ่านมา ภรรยาของเขาช่างดูงามตานัก
ความกำหนัดพอใจนาง บังเกิดขึ้น แก่เรา เมื่อได้สตินั่นแหละ
จึงรู้สึกสังเวชตนเองว่า กามนี่แหละหนอ จะเติบใหญ่ จะโยนเราเข้าไป
ในอบายทั้งหลาย
ทำให้บังเกิดความรังเกียจบาปว่า เราได้กระทำบาปไปแล้ว
อย่าได้กระทำบาปอีกเลยในชีวิต จึงได้อาศัยเหตุนี้ เจริญวิปัสสนา กระทั่งบรรลุ
ปัจเจกพุทธญาณ ออกบวชแล้ว ไปยังเงื้อมเขานันทมูลกะ"
แล้วพระปัจเจกพุทธเจ้าองค์ที่
๔ ก็เล่าให้ฟังว่า
"มหาบพิตร อาตมภาพเคยเป็นชาวบ้านในแคว้นกาสี
คราวหนึ่งเดินทางไปกับบิดา ผ่านป่าแห่งหนึ่ง
ได้ถูก พวกโจรป่า จับตัวเอาไว้ โจรซักถามเราว่า
รู้จักกับชายแก่คนนี้หรือไม่
เพราะกลัวว่าโจรจะจับบิดาเอาไว้เรียกค่าไถ่
เราแม้รู้อยู่ ก็แกล้งยืนยันหนักแน่น ตอบเท็จว่า
ไม่รู้จักกันเลย บังเอิญ ได้เดินทางผ่านป่านี้ ร่วมกันเท่านั้น
โจรจึงยอมปล่อยทั้งคู่ออกพ้นป่าไป เมื่อปลอดภัยแล้ว
เราบังเกิดความรู้สึกรังเกียจ การกล่าวเท็จว่า เราได้ทำบาปนั้นแล้ว
จงอย่าได้กระทำบาปนั้นอีกเลย เพราะการมักพูดโกหก จะนำเข้าสู่อบาย เราจะต้อง
ข่มกิเลสนี้ให้ได้ จึงเจริญวิปัสสนา กระทำปัจเจกพุทธญาณให้เกิดขึ้น
ออกบวชอยู่ที่ เงื้อมเขานันทมูลกะแล้ว"
สุดท้าย พระปัจเจกพุทธเจ้าองค์ที่
๕ ได้บอกถึงต้นเหตุของการออกบวช
"มหาบพิตร ในกาลก่อนอาตมภาพ
ดูแลหมู่บ้านแห่งหนึ่งในแคว้นกาสี ได้ห้ามการซื้อขาย ของมึนเมาเอาไว้
อย่างกวดขัน แต่เมื่อหน้าเทศกาล จัดงานมาถึง ชาวบ้านทั้งหลาย พากันมาถามว่า
นี่ก็เป็นเวลาแห่งเทศกาลงานฉลองแล้ว ปกติจะมีสุราดื่มกันในวันที่มีมหรสพ
แต่ท่านได้ห้ามเอาไว้ ฉะนั้น ตอนนี้จะให้พวกกระผมรื่นเริง ฉลองกันให้ครึกครื้นได้อย่างไรเล่า
เราจึงกล่าวอนุญาตว่า พวกท่านจงฉลองเทศกาลกันตามที่เคยทำมาเก่าก่อนเถิด
ชาวบ้านเหล่านั้นซึ่งนิยมชมชอบอยู่แล้วว่า
สุรา (น้ำเมาที่กลั่นมา) และเมรัย (น้ำเมาที่หมักหรือแช่มา) เป็นดุจ
น้ำหวาน จึงพากันดื่มน้ำเมาทั่วหมู่บ้าน เมื่อเมาแล้ว ก็ทะเลาะวิวาทกัน
ตบตีชกต่อยกัน ตายบ้าง บาดเจ็บบ้าง ถูกจองจำปรับสินไหม เป็นจำนวนมาก
ทำให้เราสลดใจยิ่งนัก เพราะเรายอมอนุญาตให้พวกเขาดื่มน้ำเมานี่เอง
ได้ก่อความฉิบหาย แก่หมู่ชน เป็นอันมาก จึงรังเกียจบาปของตนว่า
เราได้ทำบาปกรรมนั้นไว้แล้ว อย่าได้ทำบาปกรรมนั้นอีกเลย จึงได้อาศัย
เหตุนี้ เจริญวิปัสสนา กระทั่งสามารถบรรลุ ปัจเจกพุทธญาณได้
แล้วออกบวช อยู่ที่เงื้อมเขา นันทมูลกะนั่นเอง"
พระเจ้ากรุงพาราณสีทรงรับฟังสาเหตุที่พระปัจเจกพุทธเจ้าทั้ง
๕ ออกบวชแล้ว ทรงมีจิตเลื่อมใส เคารพ อย่างยิ่ง ได้ถวายผ้าจีวร และเภสัชอย่างดีเลิศ
แล้วจึงส่งพระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหมด เสด็จกลับไป
นับตั้งแต่วันนั้นมา พระราชาทรงมีจิตน้อมไปในธรรม
ทรงเบื่อหน่ายไม่ยินดี ในกามคุณทั้งหลาย มิได้ทรงทอดพระเนตร เหล่าสตรีทั้งปวง
มิได้ทรงเรียกร้อง เสวยพระกระยาหาร รสเลิศต่างๆ มักประทับ อยู่ในห้องกระทำฌาน
(สภาวะสงบจากกิเลสอันประณีตยิ่ง) ให้บังเกิดขึ้น บางครั้ง ก็ทรงติเตียนกาม
ทั้งหลายว่า
"น่าติเตียนแท้ กามทั้งหลายมักมีกลิ่นเหม็น
มีเสี้ยนหนามมาก หากเราเสพอยู่ ย่อมได้รับความทุกข์"
พอดีพระอัครมเหสีเสด็จมาได้ยินเข้า
ทรงตกพระทัยยิ่งนัก รีบทูลแก้ว่า
"กามทั้งหลายมีความน่าพอใจมาก สุขอื่นยิ่งกว่ากามไม่มี
ผู้ใดได้เสพกามทั้งหลายแล้ว ผู้นั้นย่อม เข้าถึงสวรรค์"
พระราชาทรงสดับคำนั้นแล้ว ทรงบังเกิดความปรารถนาจะถอนทิฏฐิของ
พระอัครมเหสีเสีย จึงทรงแสดง โทษของกาม แก่พระนาง
"กามทั้งหลายมีความน่าพอใจน้อย
ทุกข์อื่นยิ่งกว่ากามไม่มี ผู้ใดได้เสพกามทั้งหลาย ผู้นั้นย่อมเข้าถึงนรก
เหมือนโดนดาบที่ลับคมดีแล้วเชือด
เหมือนโดนกระบี่ที่ขัดดีแล้วแทง เหมือนโดนหอกที่พุ่งปักอก กามทั้งหลาย
เป็นทุกข์ (เจ็บปวด)ยิ่งกว่านั้น
เหมือนหลุมถ่านเพลิงร้อนที่ลุกโพลงลึกกว่าตัวบุรุษ
เหมือนผาลที่เขาเผาร้อนอยู่ ตลอดวัน กามทั้งหลาย เป็นทุกข์ (เร่าร้อน)
ยิ่งกว่านั้น
เหมือนยาพิษชนิดร้ายแรง เหมือนน้ำมันที่เดือดพล่าน
เหมือนทองแดงที่กำลังละลายคว้าง กามทั้งหลาย เป็นทุกข์ (ทำลาย) ยิ่งกว่านั้น"
ตรัสกับพระอัครมเหสีแล้ว ทรงรับสั่งให้พวกอำมาตย์มาประชุมกัน
แล้วทรงประกาศว่า
"ดูก่อนอำมาตย์ผู้เจริญทั้งหลาย บัดนี้เราได้เห็นทุกข์ในการบริโภคกามสมบัติ
ทั้งปวงแล้ว เราขอสละ ราชสมบัติ เพื่อออกบวช พวกท่านจงหาผู้ครองราชย์
สืบต่อไปเถิด"
แม้มหาชนทั้งหมด จะพากันร้องไห้คร่ำครวญอยู่
พระเจ้ากรุงพาราณสี ก็มิได้หวั่นไหว เสด็จไปสู่ป่า หิมพานต์ ผนวชเป็นฤาษี
มีพรหมโลกเป็นที่ไปในที่สุด
พระศาสดาทรงแสดงชาดกนั้นจบแล้ว ตรัสว่า
"พระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลายนั้น
ได้ปรินิพพานไปแล้ว ส่วนพระอัครมเหสีในครั้งนั้น ได้มาเป็น พระนางพิมพา
ในบัดนี้ พระเจ้ากรุงพาราณสีนั้น ได้มาเป็นเราตถาคต"
แล้วทรงย้ำเตือนภิกษุทั้ง ๕๐๐ รูปนั้นว่า
"ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ขึ้นชื่อว่ากิเลสที่เป็นของเล็กน้อยนั้นไม่มีเลย
ถึงจะมีประมาณน้อย บัณฑิตทั้งหลาย ก็พากันข่มกิเลส เสียได้ทั้งนั้น"
"จากนั้นทรงประกาศสัจจะทั้งหลาย เมื่อจบสัจจะนั้น
ภิกษุทั้ง ๕๐๐ รูป ก็ได้ดำรงอยู่ในพระอรหัตตผลแล้ว
(พระไตรปิฎกเล่ม ๒๗/ข้อ๑๕๔๒ อรรถกถาแปลเล่ม ๖๐/หน้า
๕๑)