>เราคิดอะไร

เรื่องสั้น น้ำตาเทียน
- ธารธรรม -

วามเป็นคนไม่กล้าแสดงออกของข้าพเจ้านั้น ทำให้กลายเป็นคนโง่ขลาดเขลาไปโดยปริยาย ประการแรก คือ ความรู้สึกเกรงใจเป็นที่ตั้ง ประการต่อมา คือ การไม่รู้ว่าจะเริ่มต้น ทักทาย ด้วยประโยคไหนก่อน ถึงจะดี และอีกประการหนึ่ง เมื่อเห็นบุคคลสำคัญอยู่รวมกันหลายๆ คน จะมีความรู้สึกปอดๆ ไม่กล้าเข้าไปหา ถึงจะมีธุระสำคัญ มากเพียงใดก็ตาม เรื่องของความ ไม่ค่อยกล้าเช่นนี้ ใช่ว่าจะเกิดขึ้นมาในใจ เมื่อเห็นบุคคล ที่รู้สึกว่าสำคัญเท่านั้น แม้แต่กับบุคคลธรรมดาทั่วไป ข้าพเจ้าก็เกรง เพราะตลอดเวลา ที่ผ่านมา ในการดำเนินชีวิต คิดอยู่แต่เพียงว่า คนอื่นมีความรู้ มีความสำคัญ และมีศักดิ์ศรี เหนือข้าพเจ้า เสมอ ทั้งที่คิดดูดีๆ แล้ว ค่าของความเป็นคน ไม่ได้แตกต่างกันสักเท่าไหร่เลย

ครั้งนี้ก็เช่นเดียวกัน ข้าพเจ้าเข้ามาถึงวัดตั้งแต่ก่อนบ่ายแล้ว แต่ด้วยความรู้สึกเกรงใจ จึงไม่กล้า จะเข้าไป กราบนมัสการพระคุณเจ้า ให้สมกับที่คิดถึงท่าน ได้แต่เดินเลียบๆ เคียงๆอยู่แถวนั้น จนเวลาล่วง ถึงบ่ายแก่ๆ ก็ยังไม่กล้า จะเข้าไป

ในที่สุดก็ตัดสินใจเดินมุ่งหน้าเข้าศาลาเพื่อจะกราบขอฟังธรรมจากท่านให้จงได้ ไม่เช่นนั้น ก็จะเสียโอกาส ไปเสียเปล่าๆ ทั้งที่ต้องเดินทางมาไม่ต่ำกว่าสองร้อยกิโลเมตร หากรีรอถึงค่ำมา ท่านก็มีวัตร ที่จะต้อง ปฏิบัติ อยู่อีกมากมาย เหลือบดูเวลาก็จะฟังเทศน์จากท่านได้ไม่มากนัก แต่พอข้าพเจ้า เดินมาถึงศาลา ก็เห็นมีโยม ญาติธรรมนั่งสนทนาอยู่หลายคน ความไม่กล้าบวก กับความเกรงใจ ทำให้ ข้าพเจ้าเก้ๆ กังๆ อยู่ข้างศาลา หลายนาที ทำทีเป็นเดินดูภาพเขียนชาดกบ้าง ดูบทกลอนตามผนังบ้าง หลวงพ่อเห็นแล้ว ก็คงจะเกิด ความรำคาญ หรือไม่ก็คงจะรู้สึกขำๆ ในท่าทางเปิ่นๆ ของข้าพเจ้าอยู่บ้าง ก็อาจจะเป็นได้ ท่านจึงส่งเสียง ปฏิสันถารว่า

"อ้าวโยม ยืนดูอะไรอยู่ล่ะ ทำไมไม่เข้ามา?"

ข้าพเจ้าหันไปตามเสียงของท่าน ดีใจที่หลวงพ่อท่านทัก แต่ก้าวขาไม่ออก เพราะสายตาญาติโยม หลายคู่ ที่กำลังจ้องมาที่ตัวข้าพเจ้า อย่างสงสัย ค่อยคุกเข่าคลานเข้าไปหาท่าน โดยไม่รู้ตัว นึกตำหนิตัวเอง อยู่ในใจว่า 'ช่างเถื่อนเสียจริงๆ เกิดมาเป็นคนกับเขาชาติหนึ่ง พิโธ่-พิถังเอ๋ย หาความกล้าสักนิด ก็ไม่มีเลย ดูซิ เพียงแค่นี้ก็ใจเต้นยังกับเสียงกลอง นึกอยากจะไปนอนตาย ให้อีแร้งมันกินเสีย ให้รู้แล้วรู้รอดไป'

พอกราบหลวงพ่อแล้ว ญาติธรรม ต่างก็กราบลาท่านเช่นกัน คงจะเห็นใจความเปิ่นของผู้มาใหม่ ทำให้ข้าพเจ้า หายเกร็งไปมากทีเดียว

หลวงพ่อกล่าวพร้อมรอยยิ้ม

"ไม่เป็นไรขอรับหลวงพ่อ"

"มาถึงนานหรือยัง?" หลวงพ่อถาม

"สักสองชั่วโมงเห็นจะได้ขอรับ"

"อ้าว ไปอยู่ไหนทำไมไม่เข้ามา?"

"เกรงใจหลวงพ่อขอรับ"

"เกรงใจอะไรกัน วันหลังมาถึงแล้วก็อย่ามัวเสียเวลาเข้ามาได้เลย หากไม่มีกิจไปที่ไหน อาตมา
ก็นั่งอยู่ในศาลานี่แหละ หรือถ้าไม่เห็นก็ไปที่ฝ่ายประชาสัมพันธ์ ให้เขาประกาศให้ก็ได้ ไม่ยากหรอก"
หลวงพ่อแนะนำ

"ขอรับหลวงพ่อ" ข้าพเจ้าพนมมือตอบรับ "หลวงพ่อสบายดีหรือขอรับ?"

"สบายดีโยม ช่วงนี้ไม่ค่อยเจ็บป่วยอะไร" ท่านตอบ "โยมมาคนเดียวรึ?"

"ขอรับ มาคนเดียว"

"ทำไมไม่ชวนคนอื่นมาบ้าง จะได้มีเพื่อนเดินทางไกลๆ คนเดียวไม่ค่อยดีนะ" ท่านชี้แนะด้วยความเป็นห่วง

"ชวนเพื่อนอยู่บ้างเหมือนกัน แต่เขาไม่ยอมมา ว่ายังไม่ถึงวัยที่จะเข้าวัด"

"เขาอายุเท่าไหร่แล้ว?"

"เกือบสี่สิบแล้วกระมัง ขอรับ"

"การเข้าวัดฟังเทศน์ฟังธรรม ไม่ได้เกี่ยวกับวัยหรืออายุหรอก ขึ้นอยู่กับความพอใจ และความใฝ่หา ของแต่ละคนต่างหาก บางทีวัดนี้เขาไม่คุ้นเคย เขาจึงไม่อยากมาก็ได้ เพราะเขาอาจจะอยากไป แต่วัดที่เขาคุ้นเคย และมั่นใจ เพราะคนเราย่อมถือเอาความพอใจเป็นหลัก แต่การที่เราจะวินิจฉัยว่า อะไรดี หรือไม่ดีนั้น ถ้าเอาแต่ความพอใจเข้าวัด คือชอบอะไรก็ว่าดี ฝากฝังความดีไว้กับความพอใจ อย่างนี้ ก็เอาแน่อะไรไม่ได้ เพราะความพอใจของคนมันกลับกลอกได้ อย่างเช่นวันนี้ โยมมาหาอาตมา แต่เกิดว่า โยมไม่ประทับใจ ในข้อวัตรปฏิบัติของอาตมา โยมอาจไม่เข้ามาอีกเลยก็ได้ แต่ถ้าโยมแยกแยะออกว่า วัดนี้ยังมีสมณะ ที่มีวัตรปฏิบัติศีลวินัยดีๆ อยู่อีกหลายองค์ เหมาะที่จะมานั่งฟังเทศน์ สนทนาธรรม ให้เกิดความสว่าง ในจิตใจได้ วันต่อไปโยมก็อาจมาอีก หรือโยมว่าไง?"

"คงเป็นเช่นนั้นกระมัง ขอรับ" ข้าพเจ้าตอบ

"นั่นซี บางทีเพื่อนกับเรามันอยู่กันคนละขั้วของความคิด ทางที่เราเดินเราก็ว่าดี ทางที่เขาเดินเขาก็ว่าดี อาตมาจะเล่านิทานประกอบสั้นๆ ให้ฟังสักเรื่อง พอเป็นคติเตือนใจนะ"

"ขอรับ หลวงพ่อ" ข้าพเจ้าตอบ

"มีคนสองคนเป็นเพื่อนที่รักกันมาก แต่นิสัยไม่เหมือนกัน คนหนึ่งมีใจบาปหยาบช้า ทำแต่บาปสร้าง แต่กรรมต่างๆ ไว้มากมาย อีกคนหนึ่งเป็นคนใจดีใจบุญ ตลอดเวลาสร้างแต่บุญกุศล แต่คนทั้งสอง ก็เป็นเพื่อนกันได้อย่างไม่มีอุปสรรค ต่อมาคนทั้งสองแก่ตัวลง และต่างฝ่ายต่างก็ล้มหายตายจากกันไป เพื่อนคนใจบุญได้ไปเกิดเป็นเทวดาอยู่บนสวรรค์ มีความสุขสะดวกสบายมาก เรื่องของเทวดา ก็อย่าง ที่เราเคยได้ยินกันมานั่นแหละ เป็นเทวดาแล้วมีทรัพย์สมบัติเป็นทิพย์ ไม่ต้องทำงานเหน็ดเหนื่อย เหมือนพวกมนุษย์เรา อยากกินอะไรก็สำเร็จได้ด้วยการเนรมิต เช่น อยากกินโอวัลติน ก็นึกโอวัลติน เท่านั้น ก็มีให้เทวดานั่งซดอย่างสบาย

"ทีนี้อยู่มาวันหนึ่ง อยู่ว่างๆ เทวดา ก็คิดถึงเพื่อนที่เคยอยู่เมืองมนุษย์ด้วยกัน อยากรู้ว่าเมื่อเพื่อนตาย ไปแล้วได้ไปเกิดเป็นอะไร อยู่ที่ไหน จึงเล็งตาทิพย์สำรวจดูไปทั่วๆ จึงรู้ว่าขณะนี้เพื่อนรักเมื่อตายไปแล้ว ได้เกิดเป็นหนอนอยู่ในบ่อส้วมของพระ ให้รู้สึกสงสารยิ่งนัก จึงคิดอยากหาทางช่วยให้ขึ้นมา อยู่สวรรค์ ด้วยกัน คิดได้เช่นนี้จึงไปรอที่ปากหลุมส้วม พอหนอนโผล่ขึ้นมาเห็นเทวดาก็ดีใจ

"เป็นไงเพื่อน ไม่เห็นกันเสียนาน สบายดีเรอะ?" หนอนร้องถาม

"เออ สบายดีโว้ยเพื่อน" เทวดาร้องตอบ

"แล้วแกไปอยู่ที่ไหนมาวะ?"

"ไปอยู่สวรรค์ว่ะ รู้มั้ย ขณะนี้กันเป็นเทวดาแล้ว"

"อ้อ เป็นเทวดา แล้วนี่แกจะไปไหนต่อล่ะ?"

"ก็ลงมาหาแกนี่แหละ เห็นแกลำบากจึงนึกอยากจะมาชวนให้แกขึ้นไปอยู่บนสวรรค์ด้วยกัน"

"สวรรค์ของแกดียังไงวะ? ถึงได้อุตส่าห์ลงมาชวน" หนอนชักสงสัย

"สวรรค์ที่เราอยู่น่ะหรือเพื่อนเอ๋ย งานการอะไรก็ไม่ต้องทำ อยากกินอะไรก็นึกเอา ทุกอย่างก็ลอยมา ตามใจเราคิดเสมอ"

เมื่อได้ยินเช่นนั้น หนอนร้องไห้โฮ

"โธ่ถัง กันอดสงสารแกไม่ได้เลยว่ะ เพิ่งรู้จริงๆ ว่าแกไปตกระกำลำบากวันนี้เอง เพื่อนเอ๋ย เอาอย่างนี้เถอะ เพื่อนลงมาอยู่ในบ่อส้วมด้วยกันกับเราจะดีกว่า ยังพอมีที่ว่างอยู่บ้าง กันพอจะช่วยเหลือแกได้" หนอนชวนเทวดาบ้าง

"อ้าวเฮ้ย ส้วมของแกดีอย่างไรรึ?" เทวดาสงสัยนัก

"โอ้ ดีกว่าสวรรค์ของแกหลายเท่านัก บนสวรรค์ถ้าแกจะกินอะไรจะต้องนึก แบบนั้นเสียเวลา แต่ที่บ่อส้วม ของข้าไม่ต้องเสียเวลานึกเลย เพียงลืมตาอ้าปากก็ได้กินแล้วโว้ยเพื่อน เพราะทุกวันนี้ ทั้งพระทั้งเณร และใครต่อใคร ต่างหมุนเวียนกันจัดเวรเอาอาหารมาส่งจนเหลือเฟือ พวกเรา ไม่ต้อง เดือดร้อนอะไรเลย" หนอนชี้แจงอย่างภูมิใจ

"กันเสียใจจริงๆ เพื่อนเอ๋ย ที่ไม่สามารถลงไปอยู่ร่วมกับแกได้ ขอให้เพื่อนจงมีความสุขไปกับอาหาร อันโอชะของแกต่อไปก็แล้วกัน กันลาละ" เทวดาขอตัว

"เออ โชคดีโว้ยเพื่อน เช่นเดียวกันว่ะ ขอให้แกจงมีความสุขกับอาหารทิพย์สวรรค์อะไรของแกนั้นเถิดนะ เมื่อต่างคนต่างสุขสบายแล้วก็ทางใครทางมันแล้วกันเพื่อน สวัสดี" หนอนกล่าวส่งท้าย

"ก็เป็นอันว่า หนอนก็ไม่ยอมขึ้นไปอยู่กับเทวดา ส่วนเทวดาเล่าก็ไม่ยอมลงมาอยู่กับหนอน ต่างฝ่ายต่าง ก็ยังสงสารเห็นใจกัน และต่างก็พอใจ ในเส้นทางของตัวเอง โยมได้ฟังนิทานเรื่องนี้ ก็คงจะพอคิดอะไร ได้บ้างระหว่างหนอนกับเทวดา อาตมาจึงบอกว่านี่คือผลของการตัดสินเรื่องสิ่งใดดี หรือไม่ดี โดยใช้ ความพอใจของแต่ละคนเป็นเกณฑ์ ถ้าในกรณีขัดแย้งกันระหว่างหนอนกับเทวดานี้ ต่อให้มีมติโดย เสียงข้างมาก เทวดาก็แพ้อยู่วันยังค่ำแหละ"

"พระพุทธองค์ทรงให้หลักตัดสินดีชั่วไว้ดีมาก คือท่านทรงให้ใช้หลักของเหตุผล ถ้าเหตุดี-ผลดี ก็ถือว่าดี แต่เหตุชั่ว-ผลชั่ว ก็ถือว่าไม่ดี ในประเทศชมพูทวีปสมัยพระพุทธเจ้าตรัสรู้ ประชาชนมีวิธีตัดสินดี-ชั่ว อยู่เพียงสองวิธี คือใช้ความพอใจ และความเกลียดชังเป็นเครื่องวัด ฉะนั้น การแบ่งชั้นวรรณะ จึงเป็นไป อย่างรุนแรง เมื่อพระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้แล้ว จึงทรงประกาศวิธีตัดสินใหม่อีกวิธีหนึ่งคือ วิธีการพิจารณา กันด้วยเหตุด้วยผล ผิดถูกชั่วดีว่ากันด้วยเหตุผล จนทำให้วรรณะต่างๆ หันหน้าเข้าหากัน อย่างน่าอัศจรรย์ ถึงกระนั้นก็ตาม ยังมีบางพวก ยึดหลักการตัดสินดั้งเดิมอยู่ และคนเหล่านี้แหละ ที่สร้างความอ่อนแอขึ้น ในประเทศอินเดีย สมัยนั้น ซึ่งเป็นชาติที่มีประชากรมาก ถึงขนาดที่จะครองโลกได้ แต่ไม่สามารถ จะปกป้อง เอกราชของตัวเองไว้ได้ ต้องกลายเป็นเมืองขึ้น ของประเทศมหาอำนาจ อยู่นานหลายปี"

"แม้แต่ไทยเรานี้ก็เถอะโยม ถ้าต่างคนต่างบูชาความพอใจของตนเป็นใหญ่ โดยไม่เชื่อหลักของ พระพุทธเจ้า คือหลัก 'เหตุผล' กันแล้วละก็ ไม่วันหนึ่งวันใด ก็ต้องเกิดวิกฤติการณ์ขึ้นมาจนได้ โยมต้อง เข้าใจนะว่า ศาสนาพุทธ ดีเด่นอยู่บนโลกนี้ได้ก็เพราะยึดหลัก เหตุผล พวกเราเป็นพุทธศาสนิก ก็ควรบำเพ็ญตน เป็นคนประพฤติ ปฏิบัติเช่นนี้ได้ ก็จะกลายเป็นคนที่ดีของสังคม อยู่กับหมู่กลุ่ม ได้อย่างสง่าผ่าเผย"

"ขอรับ หลวงพ่อ" ข้าพเจ้าพนมมือตอบรับด้วยความเคารพ

"เมื่อยหรือโยม เห็นขยับหลายที?" หลวงพ่อมองหน้าเมื่อเห็นข้าพเจ้าเริ่มขยับมองดูเวลา

"ไม่หรอกครับหลวงพ่อ แต่เห็นว่าเวลาใกล้ค่ำเต็มทีแล้ว รู้สึกเกรงใจ เพราะหลวงพ่อจะลงทำวัตรเย็นมิใช่หรือขอรับ?"

"ใช่โยม อาตมาดูเวลาอยู่เหมือนกัน เอาอย่างนี้ วันนี้โยมมีธุระที่อื่นอีกหรือเปล่า? ถ้าไม่มี อาตมาอยากให้โยม นอนค้างเสียที่นี่ พรุ่งนี้เช้าค่อยกลับ อยู่ทำวัตรเย็นกันก่อนดีไหม จะได้คุ้นๆ กับวัด"

"ขอรับหลวงพ่อ"

"ดี ถ้าเช่นนั้นอาตมาขอตัวก่อน เดี๋ยวโยมไปนั่งรอทำวัตรเย็นที่ศาลาโรงธรรมก็แล้วกัน"

ข้าพเจ้าก็ก้มลงกราบท่านอีกครั้ง ก่อนที่หลวงพ่อจะลุกเดินเข้ากุฎี

เป็นอันว่าข้าพเจ้าได้พักค้างอยู่ที่วัดคืนหนึ่ง รุ่งขึ้นหลังจากทำวัตรเช้าเสร็จแล้ว จึงได้เข้าไปกราบ ลาท่าน เดินทางกลับ

ทุกครั้งที่ได้ไปกราบหลวงพ่อ และฟังท่านแสดงธรรม ข้าพเจ้าจะกลับมาที่ทำงาน ด้วยความสบายใจ ได้ความรู้สึกที่เย็น ลึก สุขุม และมีสมาธิ ไม่วอกแวกวุ่นวายไปกับเสียงเจาะแจะจอแจ อึกทึกครึกโครม ของคนภายนอก โดยเฉพาะเสียงของสุภาพสตรี ที่บางครั้งส่งเสียงกรีดร้อง จนแสบแก้วหู เมื่อมีใคร ทำผิดใจ พวกเธอ มนุษย์เรามีเพียงเท่านี้กระมัง ถูกใจก็หัวเราะ ไม่ถูกใจก็ร้องเอ็ดตะโร คร่ำครวญ ยามรัก ก็สุขสันต์ โกรธกันก็ก่นด่าไม่เหลือโคตร ต่างคนต่างเก่ง ต่างคนต่างถูก ด่ากันหมดวัน ก็ยังหาคนผิดไม่ได้

อ่านต่อฉบับหน้า
(เราคิดอะไร ฉบับที่ ๑๕๖ กรกฎาคม ๒๕๔๖)